แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2050

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๔


ถ. อาจารย์แสดงขันธ์ ๕ แล้ว ข้ามไปเป็นอายตนะ ยังไม่แสดงธาตุ ซึ่งอยู่ตรงกลาง ที่ว่า ขันธ์ ธาตุ อายตนะ อยากจะถามเรื่องธาตุ

สุ. ถ้าสภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตนก็คือธาตุ

ถ. ธาตุอย่างไร ตามศัพท์บาลี จะแปลให้ฟังได้ไหม

สุ. ต้องขอความกรุณาท่านผู้รู้บาลี อาจารย์สมพร

สมพร ธาตุหมายถึงสภาวะที่มีอยู่จริง ในพระบาลีท่านใช้ว่า นิสสัตตะ นิชชีวะ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นของที่มีอยู่จริง หมายถึงธาตุนั่นเอง ศัพท์เดิมมาจาก ธร เหมือนธรรม ก็เป็นสภาพที่มีอยู่จริง เป็นสภาพที่ทรงไว้

คำว่า ธาตุ หมายความว่า ธรรมที่ปราศจาก คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั่นเอง เรียกว่า ธาตุ แต่เป็นของมีอยู่จริง

สุ. ขอบพระคุณ

ถ. ยังมีศัพท์ที่แปลได้สูงกว่านั้นอีกไหม ความหมายของคำว่า ธาตุ ผมศึกษามาได้เจอผู้แปลผู้หนึ่งท่านบอกว่า จริงอยู่ ธาตุ แปลว่า สิ่งที่ทรงไว้ แต่จริงๆ แล้วเขากล่าวว่า เป็นสิ่งที่ยกไม่ได้ อย่างธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ถ้าเป็นอดีต ไปแล้ว ไม่มีใครไปทำอะไรได้

สุ. ดับไปแล้ว

ถ. ดับไปแล้ว และถ้าพูดถึงธาตุ ๑๘ ที่ว่า จักขุธาตุ รูปธาตุ วิญญาณธาตุ และจักขุวิญญาณธาตุ …

สุ. โลภธาตุ โทสธาตุ โมหธาตุ อิสสาธาตุ มัจฉริยธาตุ ทุกอย่างเป็น ธาตุหมด

ถ. เพราะว่าต้องดับ ต้องสูญ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

สุ. สภาพธรรมใดเกิดขึ้น ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด เมื่อเกิดแล้วก็ดับ

ท่านผู้ฟังคิดเยอะไหม ตั้งแต่มานั่ง คิดมากมาย และยังไม่จบ และยังจะต้องคิดต่อไปอีก แสดงให้เห็นว่า เรื่องของความคิดไม่เคยหยุดเลยในสังสารวัฏฏ์ แล้วแต่ว่าจะคิดเรื่องอะไร

เมื่อได้ทราบเรื่องของอกุศลธรรม ๙ กองแล้ว จะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่พ้นไปเลยจากอกุศลธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริงจะเห็นชัดว่า กำลังก้าวไปสู่อะไร

ไปสู่เหวที่จะตกลงไปลึกๆ ไปสู่ห้วงน้ำใหญ่ หรือค่อยๆ ขยับออกให้พ้นจากทางนั้น แต่ในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ก้าวไปสู่ทางที่จะทำให้มัวเมามากกว่าการก้าว ไปสู่ทางที่จะสร่างจากความเมา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ทุกวันจะต้องถูกครอบงำ ด้วยอกุศล ซึ่งเหมือนกับสลบไสลไปด้วยความมัวเมา ไม่มีวันสร่าง แต่เมื่อใดที่มี ความเข้าใจพระธรรมและพิจารณารู้ความคิดของตนเองก็จะรู้ว่า ทางที่ควรจะก้าวไปนั้น ควรเป็นทางกุศลมากกว่าจะให้มัวเมาโดยไม่สร่าง

ถ้าท่านสังเกตชีวิตของท่านเองโดยละเอียดขึ้นก็จะรู้ว่า กายกรรม คือ การกระทำทางกายในวันหนึ่งๆ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศลมาก และทางวาจา ซึ่งดูเหมือนกับว่าไม่ใช่เป็นภัยร้ายแรง แต่ขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิดจะรู้ได้ว่า บางขณะคำพูดนั้นก็พูดไปตามความคิดที่กำลังโกรธ คือ คำพูดนั้นเองพูดเพื่อให้คนอื่น รู้ว่าท่านกำลังโกรธ แม้ไม่ใช้คำหยาบคาย เป็นอย่างนี้ไหม เวลาโกรธ คิดโกรธ เพราะฉะนั้น วาจาก็ตามความคิด แม้ไม่ใช่คำหยาบ แต่ก็เป็นคำพูดที่ทำให้คนฟังรู้ว่า ท่านกำลังโกรธ

นี่ในวันหนึ่งๆ คือ ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง แม้ว่าจะสะสมกุศลมากสักเท่าไร แต่ถ้าไม่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ก็ไม่สามารถละคลายอกุศลนั้นๆ เพียงแต่ จะเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ มีการระลึกได้เร็วกว่าบุคคลที่ไม่เคยฟังพระธรรม เพราะว่าทุกคนก็โกรธ แต่โกรธแล้วจะระลึกได้ในขณะนั้นไหมว่า ขณะนั้นมีการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นไปตามความคิดหรือความโกรธในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ผลจากการฟังพระธรรม และเข้าใจพระธรรม ก็เป็นการที่จะรู้ว่า ความคิดของท่านเองในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่ คือ คิดที่จะละคลายอกุศลมากขึ้นหรือยัง เช่น คิดที่จะไม่ผูกโกรธ เตือนบ่อยๆ เพราะว่า ความโกรธทุกคนมี และบางคนก็ไม่ลืม โกรธนาน ก่อนนี้โกรธ ๓ วัน ก็อาจจะลดลงเหลือสัก ๒ วัน หรือเหลือสักครึ่งวัน หรือสักชั่วครู่ แต่เห็นประโยชน์ไหมว่า จาก ๓ วัน เหลือ ๒ วัน เหลือ ๑ วัน เหลือครึ่งวัน หรือเหลือเพียงชั่วครู่ นี่คือผลของ การได้เข้าใจพระธรรมและพิจารณาพระธรรม มีการคิดที่จะอภัย มีการคิดถึงคนอื่น ด้วยความเมตตา ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก เพราะสำหรับปฏิปทาจริยาของ พระโพธิสัตว์นั้น มีสังคหวัตถุในบุคคลทั้งที่เป็นมิตรและเป็นศัตรู

จริยา คือ ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ เกิดจากความคิดอย่างละเอียดมาก เห็นประโยชน์ของทุกอย่างที่เป็นกุศล มีสติสัมปชัญญะที่จะพิจารณาการกระทำทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่ความคิดในขณะนั้น และสามารถมีความมั่นคงที่จะประพฤติปฏิบัติตาม

ในขณะที่ฟังพระธรรมขณะนี้ หมั่นไส้ใครบ้างหรือเปล่า เรื่องจริงๆ เลย ขณะที่ฟังพระธรรมแท้ๆ ยังหมั่นไส้ ยังไม่ได้ปฏิบัติตามพระธรรม ยังไม่ได้ละคลายอกุศล ยังไม่เลิกคิดหมั่นไส้ และขณะอื่นที่ไม่ได้ฟังพระธรรมจะเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น จิตใจเป็นเรื่องซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมทั้งที่เป็นอกุศล และกุศลไว้มาก สำหรับอัธยาศัยที่ต่างกัน ผู้ที่มีอัธยาศัยอ่อนโยน พระผู้มีพระภาค ก็ทรงแสดงพระธรรมในเรื่องของกุศลทั้งหลาย แต่ผู้ที่มีอุปนิสัยยังดื้อ หรือยังกระด้าง หรือยังแข็ง ยังไม่อ่อนโยน ก็ทรงแสดงเรื่องของอกุศลไว้มากๆ ให้เห็นโทษของอกุศล

ถ้าระลึกได้ เคยโกรธใครไว้ เคยไม่ชอบใคร ในขณะที่กำลังฟังพระธรรมเดี๋ยวนี้คิดอย่างไร คือ ควรจะได้พิจารณาและได้ประโยชน์จากการฟังพระธรรม ถ้าขณะนี้ คิดไม่ได้ ขณะอื่นก็คิดไม่ได้แน่ๆ เพียงขณะที่กำลังฟังพระธรรมแท้ๆ ยังไม่ยอม ขณะอื่นจะเป็นอย่างไร

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า แต่ละชีวิตแม้จะได้เคยฟังพระธรรมมามาก และเจริญบารมีมาบ้างแล้ว แต่กำลังของกิเลสที่ยังไม่ได้ดับก็เป็นปัจจัยให้เกิด อกุศลประเภทต่างๆ ขั้นต่างๆ เกิดความคิดซึ่งบางท่านไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ท่านทำนั้น ถูกต้องไหม หรือว่าควรทำไหม แต่ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาเหตุผลก่อนที่จะกระทำสิ่งหนึ่ง สิ่งใด และมีความมั่นใจว่า ขณะนั้นท่านมีความหวังดี สิ่งที่ทำเป็นความถูกต้อง ขณะนั้นก็ไม่หวั่นไหวว่าจะเป็นที่รักหรือจะเป็นที่ชังของใคร เพราะท่านได้พิจารณา แล้วว่า สิ่งที่ท่านทำ ท่านทำด้วยความหวังดี

ขอยกตัวอย่างพระชาติหนึ่งของพระผู้มีพระภาค

ข้อความใน อรรถกถา ติกนิบาตชาดก ติลมุฏฐิชาดก มีว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระองค์ทรงปรารภภิกษุผู้มักโกรธรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้

มีภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกใครว่าอะไร แม้เพียงนิดเดียวก็โกรธ ข้องใจ กระทำความโกรธ ความประทุษร้าย และความน้อยใจให้ปรากฏ อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า

ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุรูปโน้นเป็นคนโกรธง่าย มากไปด้วยความคับแค้นใจ เที่ยวทำเสียงเอะอะเหมือนเกลือที่เขาใส่ในเตาไฟ เป็นผู้บวชในศาสนาที่สอนมิให้ โกรธเห็นปานนี้ แม้แต่ความโกรธเท่านั้นก็ไม่อาจข่มได้

พระผู้มีพระภาคทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น จึงทรงสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้ไปเรียกภิกษุรูปนั้นมา แล้วตรัสถามว่า

ข่าวว่าเธอเป็นผู้โกรธง่ายจริงหรือ

เมื่อภิกษุรูปนั้นรับว่าจริง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ภิกษุนี้ก็เป็นคนมักโกรธเหมือนกัน

ใครที่มักโกรธในชาตินี้ ให้ทราบว่า ชาติก่อนๆ ก็ต้องมักโกรธ และถ้า ยังมักโกรธอย่างชาตินี้ต่อไปอีก ก็นึกถึงภาพชาติหน้าได้ว่าจะเป็นอย่างไร อยากจะ เป็นอย่างนั้นต่อไป หรืออยากจะเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่อย่างนี้ ถ้าอยากจะเป็นอย่างอื่น ก็ต้องเริ่มสะสมทางฝ่ายกุศลเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้

บางท่านบอกว่า ท่านมีอายุมากแล้ว เวลาของท่านเหลือน้อยแล้ว

แต่นั่นไม่เกี่ยวกับการที่จะประพฤติปฏิบัติ ถ้าทำเสียวันนี้ ไม่เรียกว่า น้อยสำหรับเวลาที่ยังเหลืออยู่ เพราะว่าท่านเริ่มทำแล้ว ตรงกันข้าม แม้จะมีเวลาอีกนานมากสักเท่าไรก็ตาม แต่ไม่เริ่มทำสักทีหนึ่ง ก็ต้องเรียกว่า มีเวลาเหลือน้อย เพราะว่าชาติหน้าจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่จะขัดเกลาอกุศลอย่างนี้อีกหรือไม่ ก็เป็นสิ่งซึ่ง ไม่มีใครสามารถรู้ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องในอดีตกาล ดังต่อไปนี้

เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี โอรสของพระเจ้าพรหมทัตนั้นได้มีนามว่า พรหมทัตตกุมาร แท้จริงพระราชาครั้งเก่าก่อน แม้จะมีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในนครของตน ก็ย่อมส่งพระราชโอรสของตนๆ ไปเรียนศิลปะ ยังภายนอกรัฏฐะในที่ไกล ด้วยหวังใจว่า เมื่อกระทำอย่างนี้พระราชโอรสเหล่านั้น จักเป็นผู้ขจัดความเย่อหยิ่งด้วยมานะ ๑ จักเป็นผู้อดทนต่อความหนาวและความร้อน ๑ จักได้รู้จารีตประเพณีของชาวโลก ๑

เพราะฉะนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้พระราชโอรสซึ่งมีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา ไปศึกษาศิลปวิทยาที่เมืองตักกศิลา พระราชทานฉลองพระบาทชั้นเดียวคู่หนึ่ง ร่มใบไม้คันหนึ่ง และทรัพย์ ๑,๐๐๐ กหาปณะ

เมื่อพระราชโอรสเสด็จไปถึงเมืองตักกศิลา ได้ไปถามหาบ้านอาจารย์ ก็ในเวลานั้นอาจารย์สอนศิลปะแก่พวกมาณพเสร็จแล้วลุกขึ้นมานั่ง ณ ที่ข้างหนึ่ง ที่ประตูเรือน พระราชโอรสนั้นเห็นอาจารย์นั่งอยู่ในที่นั้น ครั้นแล้วจึงถอดรองเท้า ลดร่ม ไหว้อาจารย์แล้วยืนอยู่ อาจารย์นั้นรู้ว่าพระราชโอรสนั้นเหน็ดเหนื่อยมา จึงให้กระทำ อาคันตุกสงเคราะห์ พระกุมารเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว พักผ่อนอยู่ครู่หนึ่ง จึงเข้าไปหาอาจารย์ ไหว้ แล้วยืนอยู่

เมื่ออาจารย์ทิศาปาโมกข์ถามว่า เธอมาจากไหนน่ะพ่อ จึงกล่าวตอบว่า มาจากเมืองพาราณสี

เธอเป็นลูกใคร

เป็นโอรสของพระเจ้าพาราณสี

พระองค์เสด็จมาด้วยประสงค์อะไร

ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้ามาเพื่อต้องการเรียนศิลปะ

พระองค์นำทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์มาด้วยหรือเปล่า หรือพระองค์จะเป็นธัมมันเตวาสิก

พระราชกุมารนั้นกล่าวว่า

ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ข้าพเจ้านำมาด้วยแล้ว

ว่าแล้วก็มอบถุงทรัพย์พันกหาปณะลงที่ใกล้เท้าของอาจารย์ แล้วก็ไหว้

อันศิษย์ที่เป็นธัมมันเตวาสิก เวลากลางวันต้องทำการงานให้อาจารย์ กลางคืนจึงจะได้เรียน ส่วนศิษย์ที่ให้ทรัพย์อันเป็นส่วนของอาจารย์ เป็นเหมือนบุตรคนโต ในเรือน เรียนแต่ศิลปะเท่านั้น

พระราชกุมารเรียนเอาศิลปะด้วยความตั้งใจ วันหนึ่งพระองค์ได้ไปอาบน้ำพร้อมกับอาจารย์

ครั้งนั้นมีหญิงชราคนหนึ่ง ขัดสีเมล็ดงาให้หมดเปลือก แล้วเอามาแผ่ตากไว้ นั่งเฝ้าอยู่ พระกุมารเห็นเมล็ดงาที่ตากไว้ก็อยากจะเสวย จึงหยิบเมล็ดงามาหนึ่งกำมือแล้วเคี้ยวเสวย หญิงชราคิดว่า มาณพนี้คงอยากกิน จึงนิ่งเสียมิได้กล่าวประการใด แม้ในวันรุ่งขึ้น พระกุมารนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้น ในเวลานั้น แม้หญิงชรานั้น ก็ไม่กล่าวอะไรกะพระราชกุมารนั้น

แม้ในวันที่ ๓ พระราชกุมารก็ได้ทำเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ คราวนั้น หญิงชราเห็นเข้าจึงประคองแขนทั้งสองร้องคร่ำครวญว่า อาจารย์ทิศาปาโมกข์ใช้ให้ พวกศิษย์ของตนปล้นเรา อาจารย์หันกลับมาถามว่า นี่อะไรกันน่ะ หญิงชรากล่าวว่า นาย ศิษย์ของท่านเคี้ยวกินเมล็ดงาร่อนที่ข้าพเจ้าทำไว้ วันนี้กำมือหนึ่ง เมื่อวาน กำมือหนึ่ง เมื่อวานซืนกำมือหนึ่ง ก็เมื่อศิษย์ของท่านเคี้ยวกินอยู่อย่างนี้ เมล็ดงาที่มีอยู่ก็จักหมดสิ้นไปมิใช่หรือ อาจารย์ทิศาปาโมกข์กล่าวว่า อย่าร้องไห้ไปเลย ฉันจักให้มูลค่าแก่ท่าน

นี่คือความคิดของแต่ละคน ซึ่งคิดไปตามเรื่องตามราว ตามเหตุการณ์ ในแต่ละชาติ

หญิงชรากล่าวว่า ฉันไม่ต้องการมูลค่าดอกนาย ฉันขอให้ท่านสั่งสอน โปรดอย่าให้กุมารนี้กระทำอย่างนี้อีกต่อไป

อาจารย์กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น จงคอยดูนะแม่

แล้วให้มาณพ ๒ คน จับพระราชกุมารนั้นที่แขนทั้ง ๒ ข้างไว้ แล้วเอาซีกไม้ไผ่มาเฆี่ยนที่กลางหลัง ๓ ครั้ง พร้อมกับสอนว่า เธออย่าได้ทำอย่างนี้อีกต่อไป

พระราชกุมารโกรธอาจารย์ ทำนัยน์ตาแดงมองดูตั้งแต่หลังเท้าจนถึงปลายผม แม้อาจารย์นั้นก็รู้ว่า พระราชกุมารนั้นมองดูเพราะโกรธเคือง

จะให้ใครรู้ว่าโกรธนี่ยากไหม มองดูตั้งแต่หลังเท้าจนถึงปลายผม ซึ่งปกติก็คง ไม่ทำอย่างนั้น แต่อาการที่จะให้คนอื่นรู้ ก็มีความหมายต่างๆ มีกิริยาอาการต่างๆ

พระราชกุมารเรียนศิลปะจบแล้วทำการฝึกซ้อม เก็บโทษที่อาจารย์ทำไว้ในใจ โดยอาฆาตว่า เราต้องฆ่าอาจารย์ผู้นี้ ครั้นเวลาจะไป จึงไหว้อาจารย์ ทำทีมีความเคารพรักอย่างสุดซึ้ง รับเอาปฏิญญาว่า ท่านอาจารย์ เมื่อใดข้าพเจ้าได้ราชสมบัติ ในพระนครพาราณสีแล้วส่งข่าวมาถึงท่าน เมื่อนั้นขอให้ท่านพึงมาหาข้าพเจ้า กล่าวดังนี้แล้วก็จากไป

เมื่อเสด็จถึงพระนครพาราณสีแล้ว ถวายบังคมพระชนกชนนี แล้วแสดงศิลปะให้ทอดพระเนตร พระราชาจึงทรงสถาปนาพระราชโอรสไว้ในราชสมบัติ เมื่อ พระราชโอรสได้ครอบครองราชสมบัติ คิดถึงโทษที่อาจารย์ได้กระทำไว้ ก็ทรงพระพิโรธ จึงทรงส่งทูตไปถึงอาจารย์เพื่อให้มาเฝ้า ด้วยตั้งพระทัยว่า เราจักฆ่าอาจารย์

อาจารย์คิดว่า ในเวลาที่เขายังหนุ่มแน่น เราจักไม่อาจให้พระราชานั้นเข้าใจได้ จึงมิได้ไป ในเวลาที่พระราชานั้นล่วงเข้ามัชฌิมวัย อาจารย์ก็คิดว่า บัดนี้เราจักอาจ ทำให้พระราชานั้นเข้าใจได้ จึงได้เดินทางไป ยืนอยู่ที่ประตูพระราชวัง ให้กราบทูลว่า อาจารย์จากเมืองตักกศิลามาแล้ว

พระราชาทรงโสมนัสยินดีรับสั่งให้อาจารย์เข้าเฝ้า พอเห็นอาจารย์นั้นมาเฝ้าพระองค์เท่านั้น ทรงพระพิโรธจนพระเนตรทั้งสองข้างแดง ตรัสเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาว่า แน่ะผู้เจริญ ที่ที่อาจารย์เฆี่ยนยังเสียดแทงเราอยู่จนทุกวันนี้

นี่คือความผูกโกรธ หลายปีก็ยังคิดถึงได้

อาจารย์บากหน้าพาเอาความตายมาโดยไม่รู้ว่า จักตายวันนี้ อาจารย์ผู้นั้น จะไม่มีชีวิตแล้ว จึงได้ตรัสคาถา ๒ คาถา อันมีในเบื้องต้นว่า

การที่ท่านให้จับแขนเราไว้ แล้วเฆี่ยนตีเราด้วยซีกไม้ไผ่ เพราะเหตุเมล็ดงา กำมือหนึ่งนั้น ยังฝังใจเราอยู่จนทุกวันนี้

ดูก่อนพราหมณ์ ท่านไม่ใยดีในชีวิตของท่านแล้วหรือ จึงมาหาเราถึงที่นี่ ผลที่ท่านให้จับแขนทั้งสองของเราแล้วเฆี่ยนตีเราถึง ๓ ทีนั้น จักสนองท่านในวันนี้

อาจารย์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า

อริยชนใดย่อมเกียดกันอนารยชน ผู้กระทำชั่วด้วยการลงโทษ กรรมของอริยชนนั้นเป็นการสั่งสอน หาใช่เป็นเวรไม่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้ชัดข้อนั้นอย่างนี้แล

แสดงให้เห็นถึงเจตนาของผู้กระทำว่า ทำด้วยความหวังดี ไม่ใช่ทำด้วยความหวังร้าย เพราะฉะนั้น ก็ควรจะเข้าใจเจตนาดีของผู้นั้นด้วย

คำอธิบายความหมายของอริยชนมีว่า

ก็อริยชนนี้นั้นมี ๔ ประเภท คือ อาจารอริยชน อริยชนผู้มีอาจาระ (คือ กิริยามารยาท) ๑ ทัสสนอริยชน อริยชนที่ควรแลดู ๑ ลิงคอริยชน อริยชน ผู้ถือเพศ ๑ ปฏิเวธอริยชน อริยชนผู้รู้แจ้งแทงตลอด ๑

ในอริยชน ๔ ประเภทนั้น อริยชนผู้ตั้งอยู่ในมารยาทอันประเสริฐ จะเป็นมนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉานก็ตาม ชื่อว่าอาจารอริยชน

สัตว์ดิรัจฉานที่มีมารยาทเคยเห็นไหม

มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า สุนัขที่บ้านท่านเรียบร้อยจริงๆ เวลาจะรับประทานอาหารก็แสนจะช้า มีอาหารตั้งอยู่ตรงหน้าก็ยังไม่ยอมรับประทาน ยังกับจะพิจารณาก่อนกระนั้น เหมือนกับพระภิกษุที่ท่านพิจารณาอาหาร คือ ไม่ใช่เปรียบกับพระภิกษุ แต่หมายถึงกิริยาอาการ ความเรียบร้อย มารยาท แสดงให้เห็นความต่างกันแม้เป็น สัตว์ดิรัจฉาน ซึ่งบางตัวไม่เป็นอย่างนั้นเลย ตรงกันข้ามทีเดียว

ส่วนอริยชนผู้ประกอบด้วยรูปและอิริยาบถอันน่าเลื่อมใส น่าดู (สง่าผ่าเผย) ชื่อว่าทัสสนอริยชน …

อริยชนผู้เป็นคล้ายสมณะ โดยถือเพศด้วยการนุ่งห่มเที่ยวไปอยู่ แม้จะเป็น ผู้ทุศีล ก็ชื่อว่าลิงคอริยชน ...

ฝ่ายพระอริยบุคคลทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชื่อว่าปฏิเวธอริยชน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธสาวกทั้งหลาย เรียกว่า พระอริยะ

บรรดาอริยชนเหล่านั้น ในที่นี้ พราหมณ์ประสงค์เอาอาจารอริยชนอย่างเดียว

ข้อความต่อไป

อาจารย์ทูลว่า

ข้าแต่มหาราช ชื่อว่าการเฆี่ยนตี กีดกันบุตรธิดาหรือศิษย์ผู้กระทำ สิ่งไม่ควรทำด้วยอาการอย่างนี้ เป็นการสั่งสอนในโลกนี้ คือ เป็นการพร่ำสอน เป็นโอวาท หาใช่เป็นการก่อเวรไม่ บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้ชัดข้อนั้นอย่างนี้ทีเดียว

ข้าแต่มหาราช เพราะฉะนั้น แม้พระองค์ก็โปรดทรงทราบอย่างนี้ พระองค์ ไม่ควรก่อเวรในฐานะเห็นปานนี้ ถ้าแม้ข้าพระองค์จักไม่ได้ให้พระองค์ทรงสำเหนียกอย่างนี้แล้ว ต่อไปภายหน้า พระองค์ลักขนม น้ำตาลกรวด และผลไม้เป็นต้น ติดในโจรกรรมทั้งหลาย จะทำการตัดช่องย่องเบา ฆ่าคนในหนทางและฆ่าชาวบ้าน เป็นต้นโดยลำดับ ถูกจับพร้อมทั้งของกล่าวว่า โจรผู้ผิดต่อพระราชา แล้วแสดงต่อพระราชา จักได้รับภัยคืออาญา โดยพระดำรัสว่า พวกท่านจงไปลงอาญาอันสมควร แก่โทษของโจรนี้ สมบัติเห็นปานนี้จักได้มีแก่พระองค์มาแต่ไหน พระองค์ได้ความ เป็นใหญ่โดยเรียบร้อย เพราะอาศัยข้าพระองค์มิใช่หรือ

อาจารย์ได้ทำให้พระราชายินยอม ด้วยประการดังกล่าวมานี้

ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายผู้ยืนห้อมล้อมอยู่ ได้ฟังถ้อยคำของอาจารย์นั้นแล้ว จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ คำที่อาจารย์กล่าวนั้นเป็นความจริง ความเป็นใหญ่นี้เป็นของ ท่านอาจารย์ของพระองค์

เพราะว่าอาจารย์สั่งสอน เฆี่ยนตี ทำให้พระราชามีความประพฤติที่ดี

ขณะนั้นพระราชาทรงกำหนดได้ถึงคุณของอาจารย์จึงกล่าวว่า ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าให้ความเป็นใหญ่นี้แก่ท่าน ขอท่านจงรับราชสมบัติเถิด

อาจารย์ปฏิเสธว่า ข้าพระองค์ไม่ต้องการราชสมบัติ

พระราชาทรงส่งข่าวไปยังเมืองตักศิลา ให้นำบุตรและภรรยาของอาจารย์มา แล้วประทานอิสริยยศใหญ่ ทรงตั้งอาจารย์นั้นให้เป็นปุโรหิต แล้วตั้งไว้ในฐานเป็นบิดา ตั้งอยู่ในโอวาทของอาจารย์นั้น บำเพ็ญบุญทั้งหลายมีทานเป็นต้น ได้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศอริยสัจจ์ ๔ ทรงประชุมชาดก ในเวลาจบอริยสัจจ์ ภิกษุผู้มักโกรธดำรงในอนาคามิผล คนอื่นๆ ได้เป็นพระโสดาบัน และพระสกทาคามี

พระราชาในคราวนั้น ได้เป็นภิกษุผู้มักโกรธในบัดนี้ ส่วนอาจารย์ในคราวนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล

เพราะฉะนั้น ถ้ามีความหวังดี มีความมั่นคง มีความมั่นใจในสิ่งที่จะทำว่า เป็นประโยชน์ ก็ทำ เพราะว่าไม่ได้กระทำด้วยอกุศลจิต และจะเห็นได้ว่า พระราชา ในครั้งนั้นซึ่งเป็นภิกษุผู้มักโกรธในบัดนี้ เมื่อจบเทศนาดำรงอยู่ในอนาคามิผล เพราะว่าเป็นผู้ที่ว่าง่าย ฟังแล้วรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรควร

เปิด  229
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565