แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2044
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๔
สุ. ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ถึงความยาวนานของการสะสมอบรมเจริญปัญญา ในสังสารวัฏฏ์กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม จากตัวอย่างของพระอริยบุคคลที่ท่าน ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ท่านฟังพระธรรมและพิจารณาคำที่เป็นสุภาษิตต่างๆ ในชาติต่างๆ ดังเช่นท่านเกสวดาบส ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเป็น กัปปดาบส
ข้อความใน อรรถกถา พกพรหมชาดกที่ ๑๐ มีว่า
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภพกพรหมแล้ว จึงตรัสเรื่องนี้ ว่าดังนี้
ท่านพกพรหมเกิดความเห็นขึ้นอย่างนี้ว่า สิ่งนี้เที่ยง ยั่งยืน สืบเนื่องๆ กันไป ไม่มีการเคลื่อนธรรมดา สิ่งอื่นนอกจากนี้ที่ชื่อว่าพระนิพพานเป็นที่ออกไปของสัตว์โลก ไม่มี
พระพรหมองค์นี้ เมื่อก่อนบำเพ็ญฌานมาแล้ว จึงมาเกิดในชั้นเวหัปผลา ท่านให้อายุประมาณ ๕๐๐ กัปสิ้นไปในชั้นเวหัปผลานั้นแล้ว จึงเกิดในชั้นสุภกิณหา สิ้นไป ๖๔ กัป แล้วจุติจากชั้นนั้น จึงไปเกิดในชั้นอาภัสรามีอายุ ๘ กัป ในชั้น อาภัสรานั้น ท่านได้เกิดความเห็นขึ้นอย่างนี้
มีความเห็นผิด เพราะว่าในพรหมโลกเวลานาน ไม่มีใครตายให้ปรากฏ อย่างรวดเร็ว หรือจากไปอย่างรวดเร็วเลย เพราะฉะนั้น พกพรหมซึ่งเคยเป็น เกสวดาบสก็มีความเห็นผิด
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความคิดของพกพรหมนั้นด้วยเจโตปริยญาณแล้ว จึงทรงหายพระองค์ไปจากพระเชตวันมหาวิหาร ปรากฏพระองค์บนพรหมโลก อุปมาดุจคนมีกำลังแข็งแรงเหยียดแขนออกไปแล้ว คู้แขนที่เหยียดออกไปแล้ว เข้ามา ฉะนั้น
ครั้งนั้น พระพรหมเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จึงทูลว่า มาเถิดท่านสหาย ท่านมาดีแล้วท่านสหาย นานนักท่านสหาย ท่านจึงจะได้ทำปริยายนี้คือการมาที่นี้ เพราะสถานที่นี้เป็นสถานที่เที่ยง เป็นสถานที่ยั่งยืน เป็นสถานที่สืบเนื่องกันไป เป็นสถานที่ที่ไม่มีการเคลื่อนเป็นธรรมดา เป็นสถานที่มั่นคง ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แต่ว่าสถานที่อื่นที่ชื่อว่าเป็นที่ออกไปจากทุกข์ยิ่งกว่านี้ ไม่มี
เมื่อพกพรหมทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้กะพกพรหมว่า
พกพรหมผู้เจริญ ตกอยู่ในอำนาจของอวิชชาแล้วหนอ พกพรหมผู้เจริญ ตกอยู่ในอำนาจของอวิชชาแล้วหนอ เพราะได้พูดถึงสิ่งที่ไม่เที่ยงนั่นแหละว่าเป็น ของเที่ยง และได้พูดถึงธรรมที่สงบอย่างอื่นว่าเป็นธรรมเป็นที่ออกไปจากทุกข์ อันยิ่งยวด ไม่มีธรรมอื่นที่เป็นธรรมเป็นที่ออกไปจากทุกข์ยิ่งกว่า
เมื่อพระพรหมได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วคิดว่า ไม่เพียงท่านผู้เดียวเท่านั้นที่ คิดอย่างนี้ จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า
ข้าแต่พระโคดม พวกข้าพระองค์มี ๗๒ คน ล้วนได้ทำบุญมาแล้ว มีอำนาจ แผ่ไปล่วงความเกิดและความแก่ไปได้ การเกิดเป็นพรหมนี้เป็นอันติมชาติ ชาติสุดท้าย จบไตรเพทแล้ว คนจำนวนมากเอ่ยถึงพวกข้าพระองค์
จริงไหม หลายคนก็พูดถึงแต่พระพรหม พระพรหม พระพรหมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พระพรหมก็มีความคิดเห็นว่า เป็นใหญ่ที่สุด และเป็นชาติสุดท้ายแล้ว
พระศาสดาครั้นทรงสดับถ้อยคำของพกพรหมนั้นแล้ว จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า
ดูก่อนพรหม ความจริงอายุของท่านนี้น้อย ไม่มากเลย แต่ท่านสำคัญว่า อายุของท่านมาก จำนวนแสนนิรัพพุทะ ดูก่อนพรหม เราตถาคตรู้อายุของท่าน
นิรัพพุทะนี่ก็สุดที่จะนับ ถ้าท่านผู้ฟังท่านใดสนใจใคร่จะรู้ว่ามากมายสักเท่าไร จะนับกัน ข้อความใน อรรถกถา พกพรหมชาดก ก็ได้แสดงจำนวนไว้ ซึ่งจะไม่ ขอกล่าวถึงในที่นี้
พกพรหมได้สดับพระพุทธพจน์นั้นแล้ว จึงได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ตรัสว่า เราตถาคตเป็นผู้เห็นไม่มีที่สิ้นสุด สัพพัญญูก้าวล่วงชาติชราและความโศกแล้ว ขอพระองค์จงตรัสบอกการสมาทานพรต ศีลและวัตรจรณะของข้าพระองค์แต่ก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งข้าพระองค์ควรจะทราบ
คือ ถ้าเป็นพระสัพพัญญู เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง จะต้องรู้อดีตทั้งหมดของพกพรหม เพราะฉะนั้น พกพรหมก็ขอให้พระผู้มีพระภาคตรัสถึงศีลพรตของท่านในกาลก่อน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงนำเรื่องอดีตทั้งหลายมาตรัสบอก แก่พกพรหม จึงได้ตรัสคาถา ๔ คาถาว่า
ท่านได้ช่วยมนุษย์จำนวนมากผู้เดือดร้อนปางตาย กระหายน้ำจัด ให้ได้ ดื่มน้ำอันใดไว้ เราตถาคตระลึกถึงพรต ศีลและจรณะเก่าของท่านอันนั้นได้ เหมือนนอนหลับฝันไปแล้วตื่นขึ้นระลึกถึงความฝันได้ ฉะนั้น
ท่านได้ช่วยฝูงชนใดที่ถูกโจรจับเป็นเชลย นำมาให้รอดพ้นได้ที่ริมฝั่งแม่น้ำเอณิ เราตถาคตระลึกถึงพรต ศีลและจรณะเก่าของท่านนั้นได้ เหมือนนอนหลับฝันไป แล้วตื่นขึ้นนึกถึงฝันได้ ฉะนั้น
ท่านได้ทุ่มกำลังช่วยคนทั้งหลายผู้ไปเรือในกระแสแม่น้ำคงคาให้พ้นจากพญานาคตัวร้ายกาจอันใด เราตถาคตระลึกถึงพรต ศีลและจรณะเก่าของท่านนั้นได้ เหมือนนอนหลับแล้วตื่นขึ้นนึกถึงฝันได้ ฉะนั้น
อนึ่ง เราตถาคตได้มีชื่อว่ากัปปะ เป็นอันเตวาสิกของท่าน ได้รู้แล้วว่า ท่านเป็นดาบสผู้มีปัญญาดี มีพรตอันใด เราตถาคตระลึกถึงพรต ศีลและจรณะเก่าของท่านนั้นได้ เหมือนนอนหลับแล้วตื่นขึ้นระลึกถึงฝันได้ ฉะนั้น
สำหรับเรื่องชาติต่างๆ ซึ่งเกสวดาบสได้เคยมีพฤติกรรมอย่างนี้ ก็เคยกล่าวไว้ในอรรถกถา แต่จะไม่ขอกล่าวถึง
ข้อความต่อไปมีว่า
บทว่า ปตฺถจโร ได้แก่ อันเตวาสิก
บทว่า สมฺพุทฺธิวนฺตํ วติ โส อมญฺญํ ความว่า เรารู้จักท่านว่า เป็นดาบส ผู้เพียบพร้อมด้วยปัญญา ทั้งถึงพร้อมด้วยวัตร ด้วยบทนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงไว้อย่างไร ทรงแสดงไว้ว่า
ดูก่อน ท้าวมหาพรหม ในอดีตกาลในเวลาท่านเป็นเกสวดาบส เราตถาคตเป็นศิษย์ใกล้ชิด ชื่อว่ากัปปะ เมื่อท่านถูกอำมาตย์ชื่อนารทะนำมาป่าหิมพานต์ จากเมืองพาราณสี ได้ให้โรคสงบไป ลำดับนั้น นารทะอำมาตย์มาเยี่ยมท่านครั้งที่ ๒ เห็นหายจากโรค จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
ท่านเกสีผู้มีโชค ไยเล่าจึงละทิ้งจอมคนผู้ให้ความต้องการทุกอย่างสำเร็จได้ มายินดีในอาศรมของท่านกัปปะ
ท่านได้กล่าวคำนี้กะอำมาตย์นารทะนั้นว่า
ดูก่อน ท่านนารทะ สิ่งที่ดีน่ารื่นรมย์ใจมีอยู่ ต้นไม้ทั้งหลายที่รื่นเริงใจก็ยังมี ถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตของกัปปะ ให้อาตมารื่นเริงใจได้
กี่ชาติมาแล้ว ก็นับยากเหลือเกิน จนกระทั่งเกสวดาบสได้เกิดในพรหมโลกจนกระทั่งเป็นพกพรหม และพระผู้มีพระภาคเสด็จไปเพื่อให้มีความเห็นถูกเพราะว่า ได้สะสมอบรมปัญญาบารมีมาแล้ว
พกพรหมนั้น ระลึกถึงกรรมที่ตนได้ทำไว้ตามพระดำรัสของพระศาสดาได้แล้วเมื่อจะสดุดีพระตถาคต จึงได้กล่าวคาถาสุดท้ายไว้ว่า
พระองค์ทรงทราบอายุของข้าพระองค์นั่นได้แน่นอน แม้สิ่งอื่นพระองค์ก็ ทรงทราบ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแท้จริง จริงอย่างนั้น พระรัศมีอันรุ่งโรจน์ของพระองค์นี้ จึงส่องพรหมโลกให้สว่างไสวอยู่
พระศาสดา เมื่อทรงให้พกพรหมรู้พระพุทธคุณของพระองค์ จึงทรงแสดง พระธรรม ทรงประกาศสัจจธรรมทั้งหลาย ในที่สุดแห่งสัจจธรรม จิตของพระพรหมประมาณหมื่นองค์พ้นจากอาสวะทั้งหลายแล้ว เพราะไม่ยึดมั่น
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเป็นที่พึ่งของพระพรหมทั้งหลายด้วยประการอย่างนี้ ได้เสด็จจากพรหมโลกมาพระเชตวันวิหาร แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ ภิกษุทั้งหลาย ตามที่ได้ทรงแสดงแล้วในพรหมโลกนั้น แล้วทรงประชุมชาดกว่า
เกสวดาบสในครั้งนั้น ได้แก่พกพรหมในบัดนี้ ส่วนกัปปมาณพได้แก่ เราตถาคตนั่นเอง
ถ. จริงหรือเปล่าที่เขาบอกว่า รักษาพรหมวิหาร ๔ แล้วจะได้เกิดเป็นพรหม
สุ. ต้องได้ฌานจิต จิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิและไม่เสื่อม
ถ. การรักษาพรหมวิหาร ๔ หมายถึง
สุ. เจริญพรหมวิหาร ๔ และจิตสงบถึงอัปปนาสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ต้องเกิดก่อนจุติด้วย คือ ไม่เสื่อม แล้วแต่ว่าจะเป็นการเจริญเมตตาพรหมวิหาร หรือกรุณาพรหมวิหาร มุทิตาพรหมวิหาร อุเบกขาพรหมวิหาร
ถ. เกิดก่อนจุติ หมายความว่าอย่างไร
สุ. ฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต ซึ่งก่อนจุติจิตจะเกิดไม่มีใครรู้ว่าจิตอะไรจะเกิด แต่ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความชำนาญมากในฌาน เป็นผู้ที่มีวสี มีความแคล่วคล่อง ฌานไม่เสื่อม สามารถเข้าได้อย่างรวดเร็ว หรือนึกถึงฌานได้อย่างรวดเร็ว ออกจากฌานได้อย่างรวดเร็ว
ถ. อย่างเกิดเป็นมนุษย์ แสดงว่าตอนเกิด ก่อนจุตินี่ ...
สุ. จิตก่อนจุติเป็นกุศล
ถ. จึงต้องมาเกิดเป็นมนุษย์
สุ. เป็นผลของกุศล
ถ. ถ้าหากได้ฌานแล้ว ...
สุ. ถ้าฌานจิตเกิดก่อนจุติจิต เมื่อจุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิจิตก็เป็น รูปฌานวิบาก เกิดในภูมิต่างๆ ที่เป็นรูปพรหมภูมิ ๑๖ ภูมิ แต่ถ้าเป็นจิตก็ ๑๕ ภูมิ เพราะอีกภูมิหนึ่งมีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีจิต
ถ. และถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน
สุ. อกุศลจิตเกิดก่อนจุติจิต
ถ. นี่เป็นภูมิของนรก หรือว่า
สุ. อบายภูมิมี ๔ คือ นรก ๑ เปรต ๑ อสุรกาย ๑ สัตว์ดิรัจฉาน ๑
ถ. สัตว์ดิรัจฉานก็เป็นภูมิหนึ่ง
สุ. เป็นอกุศลวิบาก อกุศลจิตเกิดก่อนจุติจิต เมื่อจุติจิตดับแล้ว อกุศลวิบากก็ปฏิสนธิเป็นสัตว์ดิรัจฉาน
ถ. ถ้าสัตว์ตายไป จิตตอนจุติ ก็ต้องเป็นสัตว์อีก
สุ. แล้วแต่จิตก่อนจุติจะเป็นจิตอะไร ถ้าก่อนจุติจิตของสัตว์นั้นเป็นกุศล ก็ทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ
ถ. สำคัญตรงจิต ตอนจุติ ใช่ไหม
สุ. ใช่ บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา
ถ. แต่การที่จะเกิดเป็นพรหม ต้องเกิดจากการทำ ...
สุ. จากการเจริญสมถภาวนา จนกระทั่งฌานจิตเกิดและไม่เสื่อม ต้องมีวสี มีความแคล่วคล่อง ชำนาญ
อกุศลมีมากมาย ซึ่งโดยสภาพปรมัตถธรรมแล้ว ได้แก่ อกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท หรือที่เรียกว่า ๑๔ ดวง แต่ในวันหนึ่งๆ จะมีใครรู้ลักษณะของอกุศล ที่เกิดอยู่เป็นประจำ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรม การระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรม มีประโยชน์ ที่ทำให้เห็นอกุศลของตนเอง
บางท่านสนใจในเรื่องของกุศล แต่อาจจะไม่สนใจในเรื่องของอกุศล ซึ่ง ตามความเป็นจริงแล้วอกุศลมีมาก ถ้าจัดโดยประเภทแล้ว แบ่งอกุศลเจตสิก ๑๔ เป็นอกุศลธรรมได้ ๙ กอง ตามกิจการงานของอกุศลนั้นๆ เช่น อาสวะ ๔
ขอเชิญอาจารย์สมพร ช่วยกรุณาแปลความหมายของคำว่า อาสวะ
สมพร อาสวะ แปลว่า กิเลสที่หมักดองสันดานอยู่
สุ. เพียงพยัญชนะนี้ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า กิเลสประเภทที่หมักดอง ได้แก่ อาสวะ ๔ จำพวก คือ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ
อกุศลเจตสิก ๑๔ ก็คงจะทราบแล้วว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นอาสวะ
อกุศลธรรมประเภทที่เป็นอาสวะ เป็นประเภทที่หมักดองอยู่ในจิตใจ จนกระทั่งทำให้ไหลหลั่งออกไป ไม่ว่าจะทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส และทางใจที่คิดนึก เพราะฉะนั้น ขณะนี้มีอาสวะกิเลส มีอกุศลธรรมที่เป็นอาสวะอยู่แล้ว คือ
กามาสวะ ความยินดีชอบใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นของที่แน่นอนที่สุด ไม่มีใครเลยที่จะพ้นจากกามาสวะไปได้ นอกจาก พระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่อาจจะเข้าใจว่าตัวท่าน มีความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะน้อย ความจริงไม่น้อย แต่ไม่รู้ จึงเข้าใจว่าน้อย เพราะว่าอาสวะเป็นอกุศลธรรมที่เบาบาง หมักดอง หลั่งไหลโดย ไม่รู้สึกตัวเลย ทันทีที่เห็นสิ่งที่น่าพอใจทางตา ชอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางหู ได้ยินเสียงที่เพราะ ก็ชอบอีก เพราะฉะนั้น กามาสวะ เป็นประจำ ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ หมักดองอยู่เรื่อยๆ หมักดองแล้ว และเมื่อไรจะถ่ายเทคลายความหมักดองนั้นออก
ถ้าปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงชั่วขณะที่เห็น และแม้ความรู้สึกยินดีพอใจ ก็เพียงชั่วขณะที่เกิดต่อจากที่เห็นแล้วก็หมด ถ้ารู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ เป็นทางที่จะถ่ายความหมักดองของอาสวะออกได้
แต่ถ้าไม่รู้ความจริงอย่างนี้ ทุกวัน ทุกคืนที่มีการเห็น การได้ยิน อาสวะนั้น ก็หมักดองอยู่เรื่อยๆ ซึ่งได้แก่ กามาสวะ ความยินดี ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ภวาสวะ ความยินดีในความเป็นอยู่ ในภพ ในชาติ ในขันธ์ ทิฏฐาสวะ ความยินดีในความเห็นผิด และอวิชชาสวะ ความหมักดองของสภาพไม่รู้ ไม่สามารถ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้
พิสูจน์ได้ในขณะนี้ ธรรมเป็นเรื่องที่ฟังแล้วพิจารณาและเข้าใจ และพิสูจน์ ได้ทันทีว่า ขณะนี้ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังมาบ่อยครั้งว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่วันหนึ่งๆ จะมีขณะไหนบ้างที่ มีการระลึกได้จริงๆ และค่อยๆ รู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่น เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาที่แสนสั้น ถ้าเพียงแต่จะมีสิ่งอื่น ปรากฏแทน สิ่งที่ปรากฏทางตานี่หมด ปรากฏความขาดตอนได้ แต่เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏกับจิตที่เห็นบ่อยๆ เนืองๆ สลับกับจิตอื่นๆ ทำให้ดูเสมือนว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ตลอดเวลา นี่คือ อวิชชาสวะ
เพราะฉะนั้น ให้เห็นสภาพของแต่ละท่านตามความเป็นจริง และยิ่งเข้าใจเรื่อง ของอกุศลธรรมมากเท่าไร จะยิ่งทำให้เห็นตัวเองชัดเจนว่า กว่าจะออกจากสังสารวัฏฏ์ กว่าจะอบรมเจริญปัญญา กว่าจะฟังพระธรรม และมีความคิดที่จะดำเนินไปตามคลองของพระธรรมเป็นไปในบารมี ๑๐ เพิ่มขึ้น ในวันหนึ่งๆ ก็คงจะมีบ้าง แต่จะมากหรือจะน้อยก็แล้วแต่การสะสมของแต่ละบุคคล และยิ่งได้ฟังพระธรรมบ่อยๆ ก็เป็นโอกาสทำให้ได้พิจารณาเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดกับตน และเป็นผู้ที่ ไม่ประมาท
สำหรับอกุศลธรรมที่หมักดองอยู่ตลอดเวลา เป็นโอฆะ ๔ ด้วย เพราะว่า อกุศลธรรม ๙ กอง ได้แก่
๑. อาสวะ ๔ สภาพที่หมักดอง ๔ อย่าง
๒. โอฆะ ๔ สภาพที่เป็นห้วงน้ำใหญ่
๓. โยคะ ๔ สภาพธรรมที่ประกอบหรือตรึงสัตว์ไว้
๔. อุปาทาน ๔ ความยึดมั่น ๔ ประการ
๕. คันถะ ๔ อกุศลธรรมที่ผูกมัดไว้ ๔ อย่าง
๖. นิวรณธรรม ๕ สภาพธรรมที่กลุ้มรุม กั้น ขัดขวางกุศล
๗. สังโยชน์ สภาพธรรมที่เกี่ยว ผูก คล้องไว้ บางแห่งแสดงไว้ ๗ อย่าง บางแห่งก็แสดง ๑๐ อย่าง
๘. กิเลส ๑๐
๙. อนุสัย ๗
นอกจากอกุศลธรรม ๙ กองแล้ว พระผู้มีพระภาคยังได้ทรงแสดงวิปลาส ๑๒ ไว้ด้วย