แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2046

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๔


สำหรับคันถะ ๔ เป็นอกุศลธรรมที่ผูกมัดไว้ นอกจากจะตรึงไว้ไม่ให้ไปไหน ก็ยังผูกไว้ด้วย ไม่ให้ขยับเขยื้อน

คันถะ ๔ คือ อภิชฌากายคันถะ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

พยาปาทกายคันถะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ

คนที่โกรธบ่อยๆ สามารถรู้ได้ว่า ใจขุ่นนาน ไม่เห็นหมดไปจากใจสักที อยากจะให้หมดๆ ไป ก็ไม่หมด บางทีขุ่นอยู่นาน และกลับมาขุ่นอีก แสดงให้เห็นว่า เป็นอกุศลธรรมที่ผูกมัดไว้ไม่ปล่อยไปสู่กุศล ยากแสนยากที่สภาพของจิตซึ่งชิน และสะสมอกุศลมามากๆ จะเป็นกุศลได้บ่อยๆ และโดยรวดเร็ว แต่ถ้าพิจารณา เห็นโทษ ไม่ใช่เพียงรู้เรื่องโทษของอกุศล ถ้ารู้เรื่องโทษของอกุศล พูดได้ อกุศลแต่ละชนิดมีโทษอย่างไรบ้าง โทสะมีโทษอย่างไรบ้าง โลภะมีโทษอย่างไรบ้าง ตามที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องโทษของอกุศล ใครๆ ก็พูดได้ แต่กี่คนที่เห็นโทษ ของอกุศล เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า พยาปาทผูกมัดใจไว้ไม่ให้ไปสู่กุศล

สำหรับคันถะที่ ๓ กับคันถะที่ ๔ คือ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ และ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ได้แก่ ความเห็นผิด สีลัพพตปรามาสกายคันถะ คือ เครื่องผูกไว้ในข้อปฏิบัติที่ผิด ไม่ปล่อยไปสู่ ข้อปฏิบัติที่ถูก อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ คือ ความเห็นผิดอื่นทั้งหมด ที่ไม่ใช่ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ

ต่อไปกองที่ ๖ นิวรณ์ ๕ ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะชิน บางคนก็ท่องได้เพราะว่า ได้ยินบ่อยๆ

นิวรณ์ ๕ ได้แก่ กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑ พยาปาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑

สำหรับอกุศลธรรมที่เป็นนิวรณธรรม เป็นอกุศลธรรมที่กลุ้มรุม กั้น ขัดขวางจิต

ทุกท่านพอใจที่จะสนุกสนาน รื่นเริง เพลิดเพลิน เพราะฉะนั้น ที่บางครั้ง บางโอกาสจะฟังพระธรรม หรือจะดูโทรทัศน์ หรือจะสนุกสนานรื่นเริงด้วยเหตุใดนั้น เป็นไปตามเครื่องกั้นคือนิวรณธรรมหรือเปล่า อกุศลธรรมสามารถจะกั้น หรือ ไม่สามารถจะกั้นได้

กามฉันทะ ความยินดีพอใจ ก็เป็นเครื่องขัดขวาง เครื่องกั้นกุศล พยาปาท ความผูกโกรธ ก็เป็นเครื่องกั้น เครื่องขัดขวาง แทนที่จะเจริญเมตตา ขณะนั้นก็เกิดไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เข้าใจประโยชน์ของการเจริญเมตตา แต่เมื่อพยาบาทเกิดขึ้น ความโกรธเกิดขึ้น ความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น ชั่วขณะนั้นก็ไม่เอาแล้ว แต่ถ้า เป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ สติสัมปชัญญะเกิดระลึกทันที เห็นโทษของพยาบาท ในขณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับเมตตาซึ่งทุกคนใคร่จะมีมากๆ ใคร่ที่จะสะสม ใคร่ที่จะอบรมเจริญ ถ้าขณะนั้นมีการระลึกได้และมีกำลัง ขณะนั้นจะ หมดความโกรธ และมีความเมตตาแทน แต่ก็แล้วแต่การสะสม บางกาลก็ได้ บางกาลก็ไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมทั้งหลายแต่ละขณะที่เกิดขึ้นต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ บังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าบังคับบัญชาได้ ทุกท่านในขณะนี้จะไม่มีนิวรณธรรมเลย

นิวรณธรรมประการที่ ๓ ถีนมิทธะ ความท้อถอย ความง่วงเหงา ความหดหู่ มีหรือเปล่า แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่เกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นของธรรมดาๆ ประจำวัน ประจำใจอีกเหมือนกัน สำหรับผู้ที่ยังมีอกุศลธรรม

นิวรณธรรมประการที่ ๔ อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ บางคนทำอกุศลไปแล้ว ทางกาย ทางวาจา เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ เวลาที่ นึกขึ้นได้ก็เดือดร้อน รำคาญใจ ไม่น่าเลยที่จะทำอย่างนั้น ไม่น่าเลยที่จะพูดอย่างนั้น ไม่น่าเลยแม้แต่จะคิดอย่างนั้น แสดงให้เห็นถึงสภาพของความรำคาญใจจาก การกระทำหรือคำพูดในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นไปแล้วกับอกุศล แทนที่สติสัมปชัญญะจะเกิดเป็นกุศลว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ใช่เรา

ขอให้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีเราและไม่ใช่เรา ขณะที่กำลังฟุ้งซ่านรำคาญใจต่างๆ ก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏให้เห็นชัดว่า ลักษณะของสภาพธรรมนี้ไม่ใช่สภาพธรรมอื่น ลักษณะของความฟุ้งซ่านรำคาญใจเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ความขุ่นเคืองพยาบาท ปองร้าย คิดร้ายต่อคนอื่น

ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะไม่หวั่นไหวในลักษณะของ สภาพธรรม แม้ขณะนั้นจะปรากฏเป็นความฟุ้งซ่านรำคาญใจก็รู้ว่า เกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัยชั่วขณะหนึ่ง และหมดไป

นิวรณธรรมประการที่ ๕ วิจิกิจฉานิวรณ์ ความสงสัยในลักษณะของ สภาพธรรม ในพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค ในหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา

บางคนอาจจะสงสัยว่า จะรู้ได้จริงหรือว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดขึ้นและ ดับไป ถ้าไม่เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็จะเกิดความสงสัยอย่างนี้ได้ แต่ถ้าเป็น ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง การเห็นเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ความชอบไม่ชอบที่เกิดหลังการเห็นเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ทางหู ที่ได้ยิน ก็ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ถ้าพิจารณาสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง จะสามารถรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นจริงๆ จะสงสัยไหมว่า สภาพธรรมเกิดแล้วดับ เพราะว่าทางตาไม่ใช่ทางหู ไม่ใช่ ทางจมูก ไม่ใช่ทางลิ้น ไม่ใช่ทางกาย ไม่ใช่ทางใจ และถ้าอบรมเจริญความรู้ลักษณะของสภาพธรรมชัดขึ้นก็จะรู้ว่า สภาพธรรมปรากฏเพียงทีละอย่าง รวมกันไม่ได้เลย ซึ่งจะทำให้ใกล้ชิดต่อการที่จะรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นและดับไป และจะคลายความสงสัยในลักษณะของ สภาพธรรม ในพระปัญญาของพระผู้มีพระภาค

อกุศลธรรมกองที่ ๗ สังโยชน์ เป็นสภาพอกุศลธรรมที่เกี่ยว ผูก คล้องไว้ ได้แก่

โอรัมภาคิยสังโยชน์ คือ สังโยชน์ขั้นต่ำ ๕ ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และปฏิฆะ

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ คือ สังโยชน์ขั้นสูง ๕ ได้แก่ ความยินดีพอใจในรูปฌานในอรูปฌาน มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา

ชื่อเริ่มจะชินหูขึ้น อย่างสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ถ้าได้ศึกษาธรรมแล้ว ใครบอกว่าไม่มี หมายความว่า คนนั้นเป็นพระโสดาบัน แต่คนที่รู้ตัวเองตามความเป็นจริงก็รู้ว่า มี หรือไม่มี สักกายทิฏฐิ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสังโยชน์ เป็นธรรมที่คล้องไว้ ไม่ให้ไปไกล ไม่ให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์

สำหรับวิจิกิจฉา ความสงสัยที่ได้กล่าวถึงแล้วเมื่อกี้นี้ นอกจากจะเป็นนิวรณ์ ก็เป็นสังโยชน์ สีลัพพตปรามาสก็เป็นสังโยชน์ด้วย กามราคะ ความยินดีพอใจ ก็เป็นสังโยชน์ ปฏิฆะ ความขุ่นเคืองใจหรือความโกรธก็เป็นสังโยชน์ด้วย

กามราคะ เห็นได้จริงๆ ว่า เป็นสังโยชน์ เพราะว่าผูกไว้ คล้องไว้ ไม่ให้ไปสู่ภพที่พ้นจากความยินดีพอใจในกาม คือ จะเกิดอีกเมื่อไร อย่างไร แม้จะทำกุศลไว้มากมายประการใด ก็ไม่พ้นจากการเกิดในภูมิที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ทำกุศล เมื่อสิ้นชีวิตลง กุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดในภูมิมนุษย์ ก็เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เกิดในสวรรค์ก็ยังเต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าเพลิดเพลินน่าพอใจทั้งนั้น ไม่พ้นไปจากสังโยชน์นี้ เพราะคล้องเอาไว้ ในภูมิที่เป็นกามภูมิ

สำหรับสังโยชน์ขั้นต่ำ ๕ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์นั้น สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส พระโสดาบันดับเป็นสมุจเฉท สังโยชน์ขั้นต่ำอีก ๒ คือ กามราคะ และปฏิฆะ พระอนาคามีดับเป็นสมุจเฉท

ส่วนอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สังโยชน์ขั้นสูง ได้แก่ ความยินดีพอใจ ในรูปฌาน ในอรูปฌาน มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา ซึ่งบางท่านเห็นโทษของกาม เห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สามารถเจริญสมถภาวนาระงับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นพระอนาคามีบุคคล ไม่ได้ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงเป็นเพียงฌานบุคคล คือ ถ้าบรรลุถึงรูปฌานก็เกิดในรูปพรหมภูมิ ถ้าบรรลุถึงอรูปฌานก็เกิดใน อรูปพรหมภูมิ ยังออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ เพราะยังเป็นสังโยชน์ที่เกี่ยวไว้ คล้องไว้ ไม่ให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ที่จะดับรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาได้ คือ อรหัตตมรรค

จากความเป็นปุถุชนผู้ไม่รู้อะไรเลย ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ อบรมเจริญกุศลขึ้น จนกว่าปัญญาจะเจริญขึ้นจริงๆ แต่ถ้าปัญญาไม่เจริญ มีเพียงกุศลระดับอื่น เช่น ขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นสมถภาวนา ไม่สามารถออกไปจากสังสารวัฏฏ์ได้

อกุศลธรรมกองที่ ๘ กิเลส ๑๐ ได้แก่ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ถีนะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑

อกุศลธรรมกองที่ ๙ อนุสัยกิเลส คือ กิเลสอย่างละเอียด ซึ่งนอนเนื่องอยู่ใน จิตสันดาน แม้แต่ขณะที่หลับสนิท ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ถ้าบุคคลนั้นไม่ใช่พระอริยบุคคล ยังไม่ได้ดับอนุสัยกิเลส ซึ่งเป็นพืชเป็นเชื้อของกิเลสอื่นๆ ที่จะเกิดภายหลัง คือ หลังจากที่มีการเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เป็นต้น

อนุสัยกิเลส กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน มี ๗ ประเภท คือ

กามราคะ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑

ปฏิฆะ ความโกรธ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจ ๑

ทิฏฐิ ความเห็นผิด ๑

วิจิกิจฉา ๑

มานะ ความสำคัญตน ๑

ภวราคะ ความยินดีพอใจในภพภูมิ ๑

อวิชชา ๑

เพราะฉะนั้น ทันทีที่ตื่น ก็ไม่น่าสงสัยเลย ในเมื่อยังมีเชื้อของอกุศลที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจ ผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรเลย ตื่นขึ้นมาอกุศลธรรมก็เกิดขึ้นเป็นไป กระทำกิจในวันหนึ่งๆ โดยที่ไม่รู้ตัวเลย จนกว่าปัญญาจะรู้จริงๆ ว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

สำหรับวิปลาส คือ ความคลาดเคลื่อนด้วยสัญญา คือ ความจำ ด้วยจิต คือ ความคิด ด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็น ซึ่งเป็นไปในสภาพที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสภาพที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา ๑ ในสภาพที่เป็นอสุภ ไม่งามว่างาม ๑ นี่แสดงให้เห็นถึงความละเอียด ซึ่งรวมถึงอกุศลจิตทั้งหมด ไม่ว่าอกุศลจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นแสดงว่า เป็นความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงของสภาพธรรม จึงเป็นอกุศล

ในคราวก่อนได้กล่าวถึงข้อความในอรรถกถาซึ่งแสดงว่า เวลาที่อกุศลจิตเกิด เหมือนคนสลบไสล เมามัวด้วยอกุศล คือ ตรงกันข้ามกับสติสัมปชัญญะ คนที่มีสติ มีลักษณะอาการอย่างหนึ่ง และคนที่สลบไสลเมามัวนั้นก็มีลักษณะอาการ อีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจิตจะเป็นอกุศลประเภทใด จะเป็นโลภมูลจิต หรือ โทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต ขณะนั้นเหมือนวิสัญญี คือ สลบ ไม่รู้สึกตัว ไม่สามารถเป็นกุศล หรือรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพที่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน และไม่งาม

ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่มีมากในแต่ละคน ในแต่ละวัน ความเข้าใจสัจจะ ความจริงของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะทำให้ฟังพระธรรมด้วยความซาบซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาดก ก็คือ เรื่องของสภาพธรรมที่เป็นกุศลอกุศลในแต่ละวัน ในแต่ละชาติ ตามความเป็นจริง หรือแม้ข้อความเล็กๆ น้อยๆ ในพระไตรปิฎก ก็รู้ว่าเป็นสัจจธรรม ความจริงทั้งสิ้น เช่น ข้อความสั้นๆ ใน อรรถกถา ติกนิบาตชาดก สังกัปปราคชาดก ซึ่งมีข้อความว่า

ลูกศรแทงจิตที่คิดโดยไม่แยบคายได้อย่างมั่นเหมาะเหลือเกิน

เพียงเท่านี้ ก็แสดงให้เห็นถึงความทุกข์ ความเร่าร้อน ความเดือดร้อน เพราะอกุศล ในขณะที่จิตคิดโดยไม่แยบคาย ขณะใดที่จิตคิดโดยไม่แยบคาย ขณะนั้นรู้ได้ว่าเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด อาจจะเป็นเล็กๆ น้อยๆ หรืออาจจะเป็นอกุศลที่มีกำลังมาก จนปรากฏอาการที่เร่าร้อน เดือดร้อน เป็นทุกข์ กระสับกระส่าย เพราะอกุศลธรรมนั้นๆ ท่านผู้ฟังก็มีอกุศลอยู่ เคยรู้สึกถึงความเร่าร้อน ความกระสับกระส่าย ความเป็นทุกข์ในขณะนั้นไหม และสามารถรู้ไหมว่า ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้น ตนเองเท่านั้นนำทุกข์มาให้แก่ตนเอง ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่สิ่งอื่น จะโทษใครไม่ได้เลย นอกจากอวิชชา นอกจากโลภะ นอกจากอกุศลเจตสิกของตนเองซึ่งสะสมมา แสดงให้เห็นว่า การฟังพระธรรม การพิจารณา และการอบรมเจริญกุศล เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะต้องกระทำด้วยตนเอง

ถ. คำว่า แยบคาย เป็นอย่างไร

สุ. ถูกต้อง ฉลาด เป็นกุศล

เรื่องของความคิด เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะว่าความคิดมีตลอดชีวิต และตลอดชีวิตของแต่ละชาติ ทุกคนก็คิดวิจิตรไปต่างๆ นานามากมาย เป็นวิชาการสาขาต่างๆ เป็นเรื่องราวต่างๆ แต่เมื่อไรจะคิดเป็นกุศลบ่อยๆ

ไม่ว่าใครจะศึกษาวิชาการทางโลก หรือจะทำอะไรก็ตามในวันหนึ่งๆ ก็ควร ที่จะเกิดสติระลึกได้ว่า เมื่อไรจะคิดเป็นกุศลบ่อยๆ ถ้าถามท่านผู้ฟังเดี๋ยวนี้ว่า คิดอะไรบ้าง มีใครบอกได้ไหม มากมายเหลือเกิน แล้วแต่สังขารขันธ์จะปรุงแต่ง ให้เป็นบุคคลใดในชาติใด และมีความคิดอย่างใด

แม้แต่เรื่องในชาดกก็เป็นชีวิตจริงๆ ถ้าผ่านยุคนี้สมัยนี้ไปอีก ๗,๐๐๐ ปี นี่แค่ชาดกก็ ๒,๐๐๐ ปี ย้อนไปจนถึงแสนโกฏิกัปป์ เพราะฉะนั้น วันเวลาก็ต้องผ่านไป ทีละวันๆ จากเดือนเป็นปี จนถึง ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ๗,๐๐๐ ปี ล้านปี เรื่องความคิดของแต่ละคนในชาตินี้เป็นอย่างนี้ และจะปรุงแต่งให้คิดต่อไปอีกใน ชาตินั้นๆ อย่างไร จะยังคงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ในความคิดอย่างนี้ต่อไปอีก หรือว่าความคิดนั้นเริ่มที่จะปรุงแต่งเป็นกุศลยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถใกล้ต่อการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

เปิด  230
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565