แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2049

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๔


ผู้ฟัง เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน สำหรับผู้ที่เจริญใหม่ๆ ก็อดจะคิดไม่ได้ ถึงแม้เราเจริญมาแล้วระยะหนึ่งก็ยังอดคิดไม่ได้ แม้กระทั่งบางท่านฟังๆ ไป ก็กลับมาสนทนากันในเรื่องต้นๆ และสงสัยกันใหญ่ เมื่อวานวันเสาร์มีการสนทนาธรรมเรื่องสติปัฏฐาน ท่านก็พูดขึ้นมาว่า จะพิสูจน์ได้หรือว่าสภาพธรรมเกิดดับ เอาแค่ขั้นเข้าใจ และมีเทปที่ท่านอาจารย์ได้ตอบท่านผู้ฟังคนหนึ่งเรื่องสภาพธรรม เกิดดับขั้นเข้าใจ ไม่เอาขั้นประจักษ์ ท่านผู้นั้นก็ได้เปิดเทปที่อาจารย์ตอบเป็นสิบๆ ครั้ง ท่านบอกว่า คำตอบของท่านอาจารย์ดีมากทีเดียว และเขาก็เอามาเปิดให้พวกเราสหายธรรมฟังกัน ซึ่งผมคิดว่าท่านอาจารย์ก็พูดอยู่ ก็ฟังกันอยู่ทั้งนั้น จึงไม่มีความสะดุดใจว่าดีอย่างไร

สภาพธรรมที่เกิดดับ อาจารย์พูดว่า การจะพิสูจน์สภาพธรรมเกิดดับ ขณะเห็นกับขณะได้ยินคนละขณะกัน ใช่ไหม นี่ก็เป็นเรื่องความเข้าใจ ขั้นเข้าใจว่าสภาพธรรมเกิดดับ ทางตาก็ดี เดี๋ยวก็ระลึกทางหูบ้าง เดี๋ยวก็ระลึกทางจมูก ทางลิ้น ทางกายบ้าง นั่นคือสภาพธรรมที่เกิดดับ นั่นคือขั้นเข้าใจ ผมก็ว่ามันพื้นๆ

สำหรับท่านผู้ฟังเมื่อสักครู่ ท่านพูดถึงเรื่องรูปทางใจว่าเป็นอย่างไร นี่เกิดจาก ผู้เจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ ผมจำได้ว่า ผมก็เคยอยากจะรู้สภาพธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ได้เริ่มระลึกบ้างแล้ว แต่ทางใจระลึกยากเหลือเกิน จึงเกิดสงสัยทางใจ ครั้งหนึ่งเคยสงสัยว่า รูปทางใจเป็นอย่างไรเหมือนกัน ก็เป็นความสงสัยที่คล้าย ๆ กัน ตอนเจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ

สุ. แต่เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว หายสงสัยแน่นอน เพราะว่ารูปทางใจ ก็คือรูปที่รู้ต่อจากทางตา ต่อจากทางหู ต่อจากทางจมูก ต่อจากทางลิ้น ต่อจาก ทางกาย มีอยู่คำหนึ่งที่น่าคิดว่า ทำไมจึงใช้คำว่า อดคิดไม่ได้

ผู้ฟัง คิดนึกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

สุ. ไม่ต้องไปอด ทำไมจะต้องไปอด คิดก็คิด คิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ฟังดูเหมือนกับว่าไม่อยากคิด ที่ใช้คำว่า อดคิดไม่ได้ เหมือนกับจะบอกว่า ไม่อยากจะคิด แต่เป็นเรื่องธรรมดา ให้รู้ว่าความคิดเป็นธรรมดา ไม่ใช่เรา

ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่เราที่คิด การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องละเอียดจริงๆ แม้แต่ขณะที่คิด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งทุกคนกังวลกับความคิดของตัวเอง ไม่ชอบเลยความคิดอย่างนั้นอย่างนี้ในวันหนึ่งๆ และเดือดร้อนต่างๆ และก็รู้ว่า คิดมากก็ทุกข์มาก ก็เป็นเรื่องที่ไม่ชอบความคิด ทำให้มีความรู้สึกเหมือนกับว่าไม่อยากจะคิด จึงใช้คำว่า อดคิดไม่ได้

แต่ความจริง ไม่ต้องอด ถ้าคิดเกิดขณะใด ก็มีเหตุปัจจัยที่ให้คิดเกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ลักษณะที่คิดเป็นสภาพนามธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน และการคิดนึกแต่ละครั้งแต่ละขณะก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด ไม่ใช่ว่าเราเพิ่งคิดชาตินี้ ไม่ใช่ว่าเราเพิ่งคิดวันนี้ แต่เราคิดมาแล้วในอดีตกาลเนิ่นนานในแสนโกฏิกัปป์

เพราะฉะนั้น ความคิดของแต่ละคน ถ้าไม่ทรงแสดงไว้โดยชาดกต่างๆ ก็จะไม่มีการพิจารณาเลยว่า แม้ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์ท่านก็คิด และความคิดของเราในสมัยนี้เป็นแนวทางเหมือนที่ท่านคิดหรือเปล่า ซึ่งความคิดของท่านเป็นไปด้วยกุศลและบารมีอื่นๆ เช่น ขันติ วิริยะ อธิษฐาน มีความมั่นคงที่จะให้จิตของท่าน กลับจากอกุศล โดยที่ว่าระลึกได้อยู่เสมอ เพราะว่าแต่ละคนคิดเป็นกุศลต้องน้อยกว่าคิดเป็นอกุศล เว้นเสียแต่ว่าจะไม่รู้ แต่สำหรับพระโพธิสัตว์ แม้ว่าจิตเป็นอกุศลแล้ว สติสัมปชัญญะเกิดระลึกได้ ท่านก็กลับจิตของท่านให้ตั้งมั่นคงในกุศลใหม่ เหมือนกับคนที่ล้มแล้วก็ลุกอีก และก็ล้มอีก และก็ลุกอีก ไม่ใช่ล้มแล้วไม่ลุกเลย ปล่อยให้ ล้มอยู่อย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ผู้มีปัญญา ไม่ใช่ผู้มีสติสัมปชัญญะ

เพราะฉะนั้น เรื่องราวทั้งหมดในพระไตรปิฎกเป็นวิริยารัมภกถา ทำให้ แต่ละท่านที่เข้าใจสภาพจิตของตนเอง มีความเพียรที่จะอบรมเจริญกุศลเพื่อขัดเกลาอกุศล พร้อมกับการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพื่อจะได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ถ. เรื่องสภาพธรรมที่เกิดดับ ซึ่งอาจารย์พูดเสมอๆ ว่า ให้ฟังมากๆ แม้กระทั่งเรื่องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ฟังมากๆ ไม่ใช่ ฟังอย่างเดียว ฟังแล้วต้องพิจารณาด้วย อย่าให้เป็นเพียงฟังแล้วจำได้เท่านั้น ฟังแล้วเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน นั่นคือการพิจารณา สังเกต สำเหนียก และจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไปฟังมาทีแล้วก็บอกว่า ดีจัง ต้องฟัง บ่อยๆ สำหรับผู้ที่ฟังบ่อยๆ และเข้าใจ และนำคำพูดที่อาจารย์พูดเรื่องการ เจริญสติปัฏฐานมาพิจารณา มาวิเคราะห์ มาสังเกต จะได้ประโยชน์

มีคำถามอีกข้อหนึ่งว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว สภาพธรรม ก็มีแต่รูปธรรมกับนามธรรมเท่านั้น การเจริญสติปัฏฐานนั้น เมื่อเจริญใหม่ๆ ก็ระลึก ในรูปธรรม นามธรรมไม่เคยระลึกเลย แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า จะต้องระลึกทั้งรูปธรรมและนามธรรม ไม่อย่างนั้นจะไม่มีนามรูปปริจเฉทญาณ เกิดขึ้นมาได้ ก็มีคำถามว่า ระลึกนามธรรม ระลึกได้หรือ พิสูจน์ให้ดูซิ จะตอบกันอย่างไร

สุ. ทำไมใช้คำว่า ระลึกได้หรือ ไม่ใช่เป็นเรื่องทำ หรือไม่ใช่เป็นเรื่องแสดง การฟังพระธรรมของทุกท่าน เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ ใช้คำว่า เข้าใจ ไม่ใช่จำว่า จิตมีกี่ดวง รูปมีเท่าไร เจตสิกมีเท่าไร จิตดวงนี้มีเจตสิกเกิด ร่วมด้วยเท่าไร ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

การฟังความละเอียดเรื่องจิต เรื่องรูป เรื่องเจตสิก ก็เพื่อให้เห็นสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมจริงๆ ซึ่งจะทำให้ขณะใดที่ระลึกก็มีปัญญาที่สามารถรู้ สามารถเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ คือ เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และถ้า เข้าใจแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกได้ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะอยู่ ณ สถานที่ใด จะกระทำกิจการงานอย่างใด จะคิดนึกเรื่องอะไร จะสุขจะทุกข์อย่างไร ก็มีปัจจัยทำให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้

ถ. ผมเกิดวุ่นวายอีกแล้ว นึกว่ารู้ แต่ไม่รู้อีกแล้ว

สุ. ที่คุณชินวุฒิพูด ถูกต้อง จะต้องเป็นอย่างนี้ รู้ แล้วก็ไม่รู้ แล้วก็รู้ แล้วก็ไม่รู้ เพราะว่าตราบใดที่ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะมีความรู้ ความเข้าใจขั้นฟัง และบางตอนของพระธรรมก็อาจจะทำให้เกิดความ ไม่รู้ขึ้นมาบ้าง เพราะว่าอาจจะเพิ่งเริ่มรับฟังข้อความตอนนั้น ยังใหม่ ยังไม่รู้ ยังไม่เข้าใจชัดเจน และเมื่อได้ฟังแล้วก็รู้อีก และมีบางตอนซึ่งไม่รู้อีก หรือแม้แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ บางขณะก็ดูเหมือนรู้ ค่อยๆ รู้ ตามที่ได้ยิน บางๆ เบาๆ และก็กลับไม่รู้อีก เพราะว่ากำลังของอวิชชา ความไม่รู้ มีมากกว่าการที่สติระลึกและเพิ่มความรู้ในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นความจริง ถูกต้อง

ถ. ขอบพระคุณ ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะถาม บางครั้งก็กลัวว่าจะ แสดงความโง่ของตัวออกไป ซึ่งความจริงก็โง่ ไม่รู้ ผมจะถามเรื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือเกิดดับนี่แหละ คุณอดิศักดิ์พูดว่า เมื่อเรากำลังมอง และได้ยิน แสดงว่าที่เห็นนั้น ดับไปแล้ว เหมือนจะเข้าใจ แต่ไม่เข้าใจเสียแล้ว

ผมเปรียบเทียบเหมือนเราเข้าไปในห้องสว่าง เราเห็นอะไร และดับไฟ มืด และเราเปิดวิทยุฟัง แค่นี้ ที่เราดับไฟ ไฟมันดับ ผมอยากจะรู้ว่า เกิดดับ หมายความอย่างนั้น หรือหมายความว่า ไฟเกิดดับเป็นไซเคิลตลอดเวลา เกิดดับๆ อย่างนี้ตลอดเวลา หรือเป็นอย่างที่เปรียบเทียบ

ที่คุณอดิศักดิ์พูดว่า เห็นก็เห็น และได้ยิน เป็นคนละขณะ ตอนนั้นเห็น ตอนนี้ได้ยิน เห็นดับไปแล้ว ตรงนี้เหมือนกับที่ผมยกตัวอย่างที่ว่าเข้าห้องไฟสว่าง ปิดไฟปั๊บ เปิดวิทยุ ไฟดับมืด และได้ยินวิทยุ

ถามว่า เกิดดับมันหยาบเหมือนดับไฟแล้วเปิดวิทยุ หรือว่าแม้ไม่ดับไฟ ไฟก็เกิดดับๆ ตลอดเวลา ที่เราเห็นก็เห็นแบบเกิดดับๆ ตลอดเวลา แม้เปิดไฟตลอดหนึ่งชั่วโมง เห็น ไม่ต้องไปนึกอะไร เห็นก็เกิดดับอย่างนี้ สงสัยว่า เกิดดับคืออะไรแน่

สุ. เวลานี้ในขณะที่คุณชินวุฒิกำลังพูด สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ทั้งๆ ที่ไฟไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น จะไปเปรียบเทียบกับไฟดับไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ใช้คำว่า แทงตลอดลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ในขณะที่ไม่มีปัญญา จะเปรียบเทียบอย่างไรก็ไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะว่านั่นเป็นเรื่องของอวิชชา ต้องดับไฟ จึงจะดูเหมือนกับว่าดับ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะว่าในขณะนี้เองสภาพธรรมเป็นอย่างไรตามความเป็นจริงก็เป็นไปอย่างนั้น ใครจะรู้หรือไม่รู้เท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเราไม่รู้ สภาพธรรมก็ไม่เกิดดับ ไม่ใช่อย่างนั้น

ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ถ้าเป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลัง ปรากฏทางตา จะเริ่มเข้าใจถูกต้องในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะว่าเป็นเพียงหลายๆ สี เวลาหลับตามีสีเดียว ไม่มีตัวตน คน สัตว์ในห้องนี้เลย แต่ลืมตา ทำไมว่ามีคนอยู่ที่นี่ ก็เพราะมีสีหลายๆ สี ให้จำ ให้นึกถึงแต่ละคนๆ

แสดงให้เห็นว่า การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้อง ค่อยๆ เข้าใจ และค่อยๆ เริ่มรู้ในขณะที่กำลังเห็น นี่คือสติปัฏฐานเกิดแล้วในขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และถ้าปัญญาเพิ่มขึ้นจริงๆ จะรู้ได้ว่า เวลาที่ไม่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาเพราะรู้แล้วว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ปล่อยวางจริงๆ ลักษณะของสภาพธรรมอื่นๆ จะปรากฏทีละเล็กน้อย สั้นที่สุด ทุกอย่าง ใกล้ต่อการที่จะเห็นว่าเป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง เพราะว่าขณะนั้นมีสติสัมปชัญญะ จึงสามารถรู้ลักษณะสภาพธรรม แต่ละทวาร

ในขณะนี้สภาพธรรมก็ปรากฏแต่ละทวาร แต่บางทวารก็ผ่านไป หรือเพราะ โมหมูลจิตเกิดก็ไม่รู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น จึงทำให้ดูเหมือนกับว่า มีไม่เท่าไร เช่น ทางตาเห็น และนานๆ ก็มีสักเสียงหนึ่ง แต่ความจริงแล้วสภาพธรรมทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องเจริญขึ้นตามลำดับ ที่จะเป็นความรู้ชัดเจนต้องตามลำดับด้วย

สำหรับการประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมนั้น ต้องเป็นอุทยัพพยญาณ ไม่ใช่วิปัสสนาญาณแรก เพราะฉะนั้น จะไม่มีการข้ามขั้นเลย และผู้ที่อบรม เจริญปัญญาจะเป็นผู้ที่รู้ด้วยตัวเองว่า ค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เพราะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็คลาย ไม่ยึดถือแล้วขันธ์ ๕ อย่างนั้นไม่มีความรู้อะไรเลย

เพราะฉะนั้น ความรู้แต่ละทาง แต่ละทวาร แต่ละลักษณะของสภาพธรรม ผู้ที่สติเกิดจะรู้ด้วยตนเองว่า เริ่มรู้ลักษณะของสภาพธรรมอะไรขึ้น และยังมีความ เป็นตัวตนอยู่มากในลักษณะของสภาพธรรมที่สติไม่ได้ระลึก

ถ. ฟังแค่นี้ ถ้าสรุปตามที่คุณอดิศักดิ์บอก ก็คือ เวลาเห็น ได้ยินปั๊บ เห็นดับ ได้ยินเกิด

สุ. ก็พูดตาม ตามความเป็นจริง

ถ. ผมกำลังฟังอาจารย์ ผมเห็นอาจารย์ตลอด ได้ยินตลอด แต่ความจริงสลับกันไปเรื่อยๆ สลับไปสลับมา อย่างนั้นใช่ไหม

สุ. ถูกต้อง

ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่า เดี๋ยวก็เห็นถูก เดี๋ยวก็เข้าใจยังไม่ถูก นี่เป็นเรื่องจริง อย่างเช่นสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อวานคุยกันมีท่านผู้หนึ่งบอกว่า ถ้าเห็นเสื้อ ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้ว เสื้ออยู่ในมหาภูตรูป เราต้องเห็น มหาภูตรูปด้วย ตามการศึกษามา มหาภูตรูปเห็นไม่ได้ ดินเราเห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราเห็นอะไร ก็ต้องตอบว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จะไปตอบว่าเห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ ก็ไม่ได้อีก นี่แหละที่เราว่าเข้าใจแล้ว ก็ยังมีอะไรลึกซึ้งกว่านั้นอีก ช่างจริงแสนจริงเหลือเกินว่า สภาพธรรมยังมีอะไรที่จะต้องศึกษาให้ลึกซึ้งกันต่อไป แม้กระทั่งทางตา หรือทางอื่นก็แล้วแต่

ถ. ที่อาจารย์บอกว่า ทางใจรู้ได้ทุกรูป รู้อย่างไร และรู้ขณะไหน มีพระสูตรรับรองไหม

สุ. จิตมีไหม

ถ. จิตมี

สุ. ถ้าไม่รู้เรื่องจิต จะพูดเรื่องจิตได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. เจตสิกมีไหม

ถ. มี

สุ. ถ้าไม่รู้เรื่องเจตสิก พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องเจตสิกได้ไหม

ถ. ไม่ได้

สุ. รูปทุกรูป พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ทางไหน ถ้าทางตา สีเท่านั้นปรากฏ อย่างอื่นไม่ปรากฏเลย ทางหู เสียงเท่านั้นปรากฏ จิตที่รู้ทางจมูก ก็รู้เฉพาะกลิ่น จิตที่รู้รสก็รู้เฉพาะทางลิ้น อาศัยลิ้น เพราะฉะนั้น อารมณ์อื่น เรื่องอื่นที่มีจริงๆ สภาพธรรมที่มีจริงที่รู้ได้ ก็ต้องรู้ทางใจ

ถ. ถ้าจักขุปสาทรูปกระทบรูปแล้วเกิดรู้สี โสตปสาทรูปกระทบเสียง ก็รู้เสียง เป็นคนละขณะจิต ใช่ไหม

สุ. ใช่

ถ. คนละขณะวิญญาณ ไม่รวมกัน ใช่ไหม

สุ. ไม่รวมกัน เหมือนไฟ ๕ กอง ก็อยู่ห่างๆ กัน ตาอยู่ตรงนี้ หูอยู่ตรงนั้น จะเป็นกองเดียวกันได้อย่างไร

ถ. พระสูตรรับรองที่ว่า ผมนึกขึ้นมาได้เรื่องของพราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถามว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อินทรีย์ ๕ มีอารมณ์ต่างกัน มีโคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นของกันและกัน ก็อะไรเล่าย่อมเสวยอารมณ์ อันเป็นโคจรของอินทรีย์ ๕ เหล่านั้น และอะไรเป็นที่อาศัยแห่งอินทรีย์ ๕ เหล่านั้น พระองค์ตรัสตอบว่า ใจย่อมเป็นที่อาศัยแห่งอินทรีย์ ๕ เหล่านั้น และย่อมเสวยอารมณ์ อารมณ์ก็คือเวทนานั่นเอง ใช่ไหม

สุ. เวทนาเป็นความรู้สึก

ถ. เป็นความรู้สึกที่สืบเนื่องมาจากการกระทบ และชวนวิถีจิตแล่นไป ใช่ไหม

สุ. ชวนวิถีจิต ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต และโลกุตตรจิต

ถ. จากจุดนี้ ผมสงสัยเรื่องจิตว่า ถ้าเราจะยึดถือจิตว่าเป็นตัวตนของเรา จะยึดถืออย่างไร

สุ. เวลานี้กำลังยึดถือเห็นว่าเป็นเราเห็น ใช่ไหม

ถ. ใช่

สุ. ก็ยึดอย่างนี้ ขณะที่เห็นก็เป็นเราเห็น ขณะที่ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ก็เป็นเราได้กลิ่น ขณะที่คิดนึกก็เป็นเราคิดนึก

เปิด  218
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565