แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2060
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๔
นึกถึงวันที่ไม่ฟังพระธรรม วันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง อกุศลมากมายสักแค่ไหน
เพราะฉะนั้น การฟังแต่ละครั้ง ก็เหมือนเป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้หายจากความมัวเมา ด้วยอกุศลในวันหนึ่งๆ เพราะไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะ คิดนึก ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส อกุศลก็เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่รู้ เพราะฉะนั้น การที่กุศลจะเกิดแต่ละขณะ ก็เหมือนคนที่ไม่มีกำลัง ป่วยหนัก เป็นไข้ แม้แต่จะ พลิกตัวเพื่อกลับเป็นกุศล หรือเพื่อลุกขึ้นที่จะเป็นกุศล ก็ยังต้องอาศัยเชือกที่ขึงไว้ และโหนจับเชือกนั้นเพื่อพยุงตัวให้ลุกขึ้น นี่คือการอาศัยพระธรรมเพื่อให้กุศลจิตเกิด แต่ละครั้งๆ
ถ้าท่านผู้ใดไม่เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม หรือคิดว่า ก็รู้แล้วว่า ทุกอย่างเป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น รู้แค่นั้น เมื่อไรจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เมื่อไรกิเลสจะดับ ก็ต้องอาศัยการฟังความละเอียดของสภาพธรรมและพิจารณาให้เข้าใจจริงๆ ยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้คิดจริงๆ ว่า สภาพธรรมมี และปัญญาสามารถ รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นแทนอวิชชาได้ เพราะว่าขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา โลภะ หรืออกุศลได้
คราวก่อนได้พูดถึงเหตุให้เกิดตัณหาหรือโลภะ ซึ่งเพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวลาที่ฟัง กำลังเข้าใจ แต่หลังจากนั้นสักครู่หนึ่งก็จะลืม เวลาที่โลภะเกิดก็ลืมไปอีกว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เพราะมีการกระทบอารมณ์จึงทำให้มีความยินดีชอบใจในสิ่งที่กำลังเห็น ถ้าอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ซึ่งถ้าพิจารณาโดยละเอียดจะเห็นความ น่าอัศจรรย์ของสภาพธรรม ที่สภาพธรรมทุกอย่างต้องอาศัยเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น และกระทบโดยผัสสะทำให้เห็นสิ่งนั้นบ้าง หรือได้ยินเสียงต่างๆ บ้าง
สำหรับผัสสะก็ควรที่จะได้พิจารณาว่าเกิดเพราะอะไร เพราะต้องมีปัจจัยทั้งนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ผัสสะจะเกิดได้ ซึ่งในเรื่องปฏิจจสมุปปาทก็ทราบว่า ผัสสะเกิดเพราะอายตนะ
ถ้าพูดคำว่า อายตนะ รู้สึกว่าจะยากสำหรับบางท่านที่ไม่คุ้นกับภาษาธรรม แต่ความจริงก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และอารมณ์ที่รู้ได้ทางใจซึ่งใช้คำว่า ธัมมายตนะ
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ภาษาบาลีซึ่งดูเหมือนจะยาก แต่ความจริงแล้ว เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทุกขณะในชีวิตประจำวัน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง แต่เมื่อไม่มีการฟังให้เข้าใจก็เลยคิดว่า เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อชีวิตดำเนินไปทุกขณะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะฉะนั้น ย่อมสามารถฟังและพิจารณา และเกิดความเข้าใจ และอาจจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ได้
สำหรับวันนี้ ขอกล่าวถึงเรื่องของอายตนะ ๑๒ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมายตนะ
ไม่ยากแล้ว ใช่ไหม อายตนะ
ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ อายตนวิภังคนิทเทศ แสดงอายตนะ ๑๒ มีข้อความว่า
อายตนะ ๑๒ คือ
๑.จักขายตนะ ๒.รูปายตนะ ๓.โสตายตนะ ๔.สัททายตนะ ๕.ฆานายตนะ ๖.คันธายตนะ ๗.ชิวหายตนะ ๘.รสายตนะ ๙.กายายตนะ ๑๐.โผฏฐัพพายตนะ ๑๑.มนายตนะ ๑๒.ธัมมายตนะ
ค่อยๆ คุ้นหูขึ้น ก็จะทำให้เข้าใจความหมายและลักษณะของสภาพธรรมขึ้น ซึ่งภาษาบาลีก็ได้ยินบ่อยๆ ในภาษาไทย
จักขุ เมื่อเป็นอายตนะคือที่ประชุม ก็เป็นจักขายตนะ
รูป คือ สีสันวัณณะ เมื่อเป็นที่ประชุมที่ทำให้มีการเห็นเกิดขึ้น ก็เป็นรูปายตนะ
โสต คือ หู โสตปสาทรูป เมื่อเป็นที่ประชุมที่ทำให้เกิดการได้ยินเสียง โสตปสาทรูปนั้นก็เป็นโสตายตนะ
เสียง คือ สัททะ เมื่อกำลังได้ยิน กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ ก็หมายความว่ากำลังประชุมอยู่ตรงที่ที่จะทำให้โสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงนั้นจึงเป็น สัททายตนะ
ฆานายตนะก็คือฆานะ ได้แก่ ฆานปสาทรูปซึ่งเป็นรูปที่กระทบกลิ่น ขณะใดที่กลิ่นไม่ปรากฏ ฆานปสาทรูปก็เกิดแล้วดับไป ขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ มีใครรู้สึกว่า มีฆานปสาทรูปบ้าง มีไหม ขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่
ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ขณะนี้ที่เสียงกำลังปรากฏ มีใครรู้ว่าบ้างว่า มีฆานปสาทรูป
ขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ฆานปสาทรูปเกิดแล้วดับแล้วโดยไม่เป็นอายตนะ แต่ขณะใดก็ตามซึ่งกำลังได้กลิ่น ไม่ใช่รู้กลิ่นทางตา ไม่ใช่รู้กลิ่นทางหู แต่ขณะนั้นเพราะมีฆานปสาทรูปกระทบกับกลิ่น เพราะฉะนั้น ทั้งฆานปสาทรูปก็เป็นฆานายตนะ กลิ่น คือ คันธะ ก็เป็นคันธายตนะ เพราะว่าประชุมกันชั่วในขณะที่เกิดและยังไม่ดับ
นี่คือชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน สั้นแสนสั้น คือ มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ชั่วขณะๆ เท่านั้นเอง
อายตนะที่ ๗ ชิวหายตนะ ได้แก่ ชิวหาปสาทรูปขณะที่กระทบกับรส ขณะนี้ใครรู้ว่ามีชิวหาปสาทรูปบ้าง มีไหม
บางท่านก็ส่ายหน้า บางท่านก็พยักหน้า
ให้ชัดอีกครั้งหนึ่ง จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ในขณะที่กำลังเห็น ใครรู้บ้างว่า มีชิวหาปสาทรูป
ไม่มี เพราะอะไร รูปเกิดดับเร็วมาก ๑๗ ขณะจิตนี่สั้นแสนสั้นทีเดียว ชิวหาปสาทรูปเกิดแล้ว ดับแล้ว ไม่เป็นอายตนะ เพราะว่าไม่ได้กระทบกับรส
เวลาที่มีการรับประทานอาหาร และมีการลิ้มรส ในการสนทนาธรรมก็อาจจะ มีการเตือนว่า ชิวหายตนะ กับรสายตนะ
ขณะที่กำลังลิ้มรสต่างๆ ชิวหาปสาทรูปก็เป็นชิวหายตนะ รสะ คือ รส ก็เป็นรสายตนะ ชั่วขณะที่รสปรากฏ หมดแล้วชีวิตขณะหนึ่งๆ เท่านั้นเอง
อายตนะที่ ๙ กายายตนะ ได้แก่ กายปสาทรูป แต่ขณะที่ได้ยินเสียง มีใครรู้บ้างว่ามีกายปสาทรูป ขณะที่ได้ยินเสียง มีไหม ไม่มี มีไม่ได้เลย จิตเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว แต่ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส หลงลืมสติบ่อยเหลือเกินในวันหนึ่งๆ แต่เมื่อได้ฟังเรื่องของอายตนะ จะเกื้อกูลกับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานให้ระลึกได้ว่า ในขณะนั้นอย่างอื่นไม่มีเลย ไม่มีจริงๆ ถ้ามี คือความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญา ซึ่งจะต้องถ่ายถอนจนกว่าจะหมดสิ้น เพราะพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่สภาพธรรมที่เกิดและปรากฏ จิต เจตสิก รูป เกิดดับ สืบต่อกันตั้งแต่เกิดจนตายเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังกระทบกับสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ปัญญาต้องรู้ว่า ขณะนั้นพิจารณารู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน โดยรู้ว่า สภาพที่แข็ง ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย นอกจากสภาวธรรมซึ่งไม่ต้องเรียกชื่อและไม่เป็นของใคร และขณะนั้นก็มีสภาพที่รู้แข็งซึ่งอาศัยกายปสาทเป็นกายายตนะ และโผฏฐัพพะ ในขณะนั้นก็ประชุมที่นั่นเป็นโผฏฐัพพายตนะ ทำให้ขณะนั้นกำลังรู้สิ่งที่แข็ง แม้ในขณะนี้ ก็ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง
นี่คือผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อที่จะถ่ายถอนว่า ขณะที่กำลังรู้แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ไม่มีการทรงจำไว้ว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ายังมีปอด ยังมีตับ ยังมีผม ยังมีตา ยังมีหู ยังมีคิ้ว ยังมีจมูก ซึ่งความจริงแล้วนั่นคืออัตตสัญญาทั้งหมดที่จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า เมื่อไหร่สามารถลบหรือถ่ายถอนอัตตสัญญาได้ เมื่อนั้นสภาพธรรมจะปรากฏ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ โดยไม่เหลือเยื่อใยของความเป็นสัตว์ เป็นตัวตน เป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ ซึ่งต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาโดย เป็นผู้ที่รู้ว่า ขั้นการฟังเป็นขั้นเข้าใจ แต่ประโยชน์สูงสุด คือ ขั้นที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ
อายตนะที่ ๑๑ มนายตนะ ได้แก่ จิตซึ่งเป็นสภาพที่รู้อารมณ์
อายตนะที่ ๑๒ ธัมมายตนะ ได้แก่ อารมณ์ที่รู้ทางอื่นไม่ได้ รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น
และอายตนะ ต้องเป็นปรมัตถธรรม
ข้อความต่อไปใน อายตนวิภังคนิทเทศ มีว่า
วินิจฉัยโดยอรรถ คือ คำว่า อายตนะ หรือความหมายของคำว่า อายตนะ ในคำวินิจฉัยเหล่านั้น พึงทราบอรรถโดยแปลกกันก่อน
อายตนะไม่ได้มีอายตนะเดียว มีถึง ๑๒ อายตนะ เพราะฉะนั้น แต่ละอายตนะก็แปลก คือ ต่างกัน
อายตนะที่ ๑ จักขายตนะ
ชื่อว่าจักขุ เพราะอรรถว่า ย่อมทำรูปให้แจ่มแจ้ง คือ ให้ปรากฏ
เวลานี้ทุกคนเห็นรูป และมีความคิดนึกเรื่องรูปต่างๆ มากมาย รูปหนังสือ รูปโต๊ะ รูปเก้าอี้ รูปต่างๆ แต่ถ้าไม่มีจักขุปสาท มีทางหนึ่งทางใดบ้างไหมที่รูปเหล่านี้จะปรากฏ
แสดงให้เห็นว่า อะไรทำให้รูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิต กระทบกับจักขุปสาทรูป ซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะจิต และรูปทั้งสองนี้ต้องยังไม่ดับ จึงทำให้เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ได้ นี่เป็นเรื่องของกรรมที่วิจิตรมาก ที่แต่ละคนจะมีการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในวันไหน ก่อนจะตาย หรือยังไม่ตาย จะมีอารมณ์อะไรปรากฏทางหนึ่งทางใด เหมือนกันหมด คือ เป็นเรื่องของกรรมทั้งสิ้น เพราะว่าจิตเห็นเป็นจักขุวิญญาณ เป็นวิบากจิต ไม่มีใครสามารถสร้างวิบากจิตได้เลย และวิบากจิตแต่ละขณะนั้น จะเป็นกุศลวิบากหรือเป็นอกุศลวิบากก็แล้วแต่กรรม ซึ่งถ้าไม่พิจารณาจะไม่เห็น ความน่าอัศจรรย์ว่า ทำไมเห็นสิ่งนี้สำหรับคนนี้ และสำหรับคนอื่นทำไมเห็นสิ่งอื่น ที่ไม่เหมือนกัน และถ้าไม่มีจักขุปสาท ไม่มีทางที่รูปทางตานี้จะปรากฏได้เลย
ทุกคนเคยชินกับการเห็น สำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท ตั้งแต่เกิดลืมตาขึ้นมาในโลกนี้ก็เห็น โดยที่ไม่รู้เลยว่า เห็นแต่ละขณะต้องมีกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้จักขุปสาทรูปเกิดดับๆ และประชุมรวมกันกับรูปารมณ์ขณะไหน ก็รู้รูปารมณ์ในขณะนั้น ชั่วขณะเดียวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น แต่ละสภาพธรรมก็มีลักษณะ มีอรรถที่ว่า ชื่อว่าจักขุ เพราะอรรถว่า ย่อมทำรูปให้แจ่มแจ้ง คือ ให้ปรากฏ
ถ้าตาบอดในขณะนี้ หมดเลย ไม่มีการเห็นสีต่างๆ รูปร่างต่างๆ อีกต่อไป
อายตนะที่ ๒ รูปายตนะ
ชื่อว่ารูป (คือ รูปายตนะ) เพราะอรรถว่า ย่อมให้ปรากฏ อธิบายว่า รูปเมื่อถึงวิการแห่งวัณณะ ย่อมแสดงภาวะของตนไปสู่หทัย
นี่คือสำนวนแปลจากภาษาบาลี ซึ่งหมายความว่า รูปที่ปรากฏต่างๆ กัน ทำให้มโนทวารรู้และเข้าใจความหมายต่างๆ ของรูปนั้น ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นเพียงสี แต่เมื่อถึงใจแล้ว สีนี้เป็นตา สีนั้นเป็นจมูก สีนี้เป็นคิ้ว สีนั้นเป็นสิ่งต่างๆ แสดงให้เห็นถึงลักษณะของรูปซึ่งเมื่อปรากฏแล้วมีวิการต่างๆ และเมื่อถึงมโนทวาร ก็ทำให้รู้และเข้าใจความหมายต่างๆ ของรูปนั้น
อายตนะที่ ๓ โสตายตนะ
ชื่อว่าโสต เพราะอรรถว่า ทำให้ได้ยิน
ถ้าไม่มีโสตปสาท ใครจะให้ได้ยินเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ของใครเลย โสตปสาทเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ถ้ากรรมไม่ทำให้ โสตปสาทรูปเกิด คนนั้นก็หูหนวก เสียงต่างๆ ก็ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น โสตปสาทรูป ชื่อว่าโสต เพราะอรรถว่า ทำให้ได้ยิน
อายตนะที่ ๔ สัททายตนะ
ชื่อว่าสัททะ เพราะอรรถว่า เปล่งออกไป
ขณะนี้มีสิ่งที่แข็ง ยังไม่มีการเปล่งออกจนกว่าจะกระทบสัมผัสทำให้ มีเสียงดังเกิดขึ้น ซึ่งการเปล่งออกหมายความถึงเสียงนั่นเอง เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เงียบ ขณะนั้นไม่ใช่เสียง แต่ขณะใดที่มีการได้ยินเกิดขึ้น ขณะนั้นมีรูปที่เปล่งออก เป็นเสียง คือ สัททะ
อายตนะที่ ๕ ฆานายตนะ
ชื่อว่าฆานะ เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องสูดดม
กลิ่นซึ่งมีอยู่ในมหาภูตรูปสามารถรู้ได้เมื่อมีฆานปสาท ทั้งๆ ที่เวลานี้ก็มี กลิ่นอยู่ในมหาภูตรูป แต่ถ้าใครไม่มีฆานปสาทกลิ่นก็ไม่ปรากฏ
ในขณะที่เห็นมีฆานายตนะไหม ไม่มี ตอนนี้ทุกท่านก็ทราบดีแล้วว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว และแต่ละขณะก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ
ขณะใดที่ได้กลิ่น ก็น่าอัศจรรย์อีก ในมหาภูตรูปมีกลิ่น แต่ถ้าไม่มีฆานปสาท กลิ่นก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อมีฆานปสาทซึ่งเป็นเครื่องสูดดม ขณะที่กลิ่นกระทบกับจมูก ขณะนั้นก็มีการรู้กลิ่นชั่วขณะหนึ่ง
อายตนะที่ ๖ คันธายตนะ
ชื่อว่าคันธะ เพราะอรรถว่า ส่งกลิ่น คือ ย่อมแสดงที่อยู่ของตนให้ปรากฏ
กลิ่นอะไรอยู่ที่ไหนก็ทราบใช่ไหม กลิ่นดอกกุหลาบจะอยู่ที่อื่นได้ไหมนอกจากจะอยู่ที่ดอกกุหลาบ กลิ่นแกงจะอยู่ที่อื่นได้ไหม ก็ต้องอยู่ที่แกง จะอยู่ที่อื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ลักษณะของกลิ่น ชื่อว่าคันธะ เพราะอรรถว่า ส่งกลิ่น คือ ย่อมแสดง ที่อยู่ของตนให้ปรากฏ
อายตนะที่ ๗ ชิวหายตนะ
ชื่อว่าชิวหา เพราะอรรถว่า นำมาซึ่งชีวิต
มีการลิ้มรสต่างๆ ที่บริโภคเข้าไป ถ้าไม่มีการบริโภคชีวิตก็ดำเนินไปไม่ได้ และขณะใดที่บริโภค ทางลิ้นจะต้องมีรสปรากฏด้วยทุกครั้ง
มีใครที่บริโภคอะไรแล้วไม่มีการรู้รสไหม เป็นไปไม่ได้เลย แต่ถ้าสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมละเอียดขึ้นทั่วขึ้น สภาพธรรมจะปรากฏอย่างรวดเร็ว สั้นและมากขึ้นด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เข้าใกล้ต่อการที่จะรู้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นปริตตธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่เล็กน้อยจริงๆ
ขณะนี้ เสียง และก็เห็น และก็คิดนึก ถ้าสติระลึกตรงลักษณะจะสามารถรู้ชัด ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง และย่อมจะได้ยินแม้เสียงที่ผ่านไป โดยเหมือนไม่ปรากฏ แต่ความจริงทุกอย่างปรากฏ ท่านที่อัดเทปก็คงจะเห็นจริง ใช่ไหม กำลังสนทนากัน คุยกัน ไม่ได้สังเกตว่ามีเสียงนกร้อง หรือมีเสียงอะไร แต่เวลาฟังเทปอีกครั้งหนึ่ง มีเสียงอีกมากมายซึ่งในขณะนั้นเหมือนกับไม่ได้ยินเลย แต่เวลาที่ฟังอีกครั้งหนึ่งก็ได้ยิน เพราะฉะนั้น ขณะหนึ่งขณะใดก็ตาม ไม่ใช่มีเพียงสภาพธรรมบางอย่างเท่านั้นปรากฏ ถ้ามีการระลึกรู้จริงๆ สภาพธรรมจะสั้น และละเอียดขึ้น สามารถที่จะเห็นจริงว่า แต่ละลักษณะเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
อายตนะที่ ๘ รสายตนะ
ชื่อว่ารส เพราะอรรถว่า เป็นที่ยินดี คือ เป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย
มีใครจะปฏิเสธบ้าง มีไหม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หญิง ชาย วัยไหน ป่วยไข้ แข็งแรง ทุกคนปรารถนารส เพราะว่ารส เป็นที่ยินดี คือ เป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย
มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย สำหรับติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ วันแล้ววันเล่า เพราะฉะนั้น มีแต่หนทางที่จะเกิดอีก เกิดอีก ไม่ใช่หนทางที่จะดับสังสารวัฏฏ์ ถ้าปัญญาไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมในชีวิตประจำวัน