แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2058

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๔


สุ. เมื่อมีปฏิสนธิจิตเป็นที่อาศัยของกัมมชรูปแล้ว ต่อจากนั้นกัมมชรูป มีสิทธิ์เกิดตลอดไป แม้แต่นิโรธสมาบัติซึ่งดับจิตเจตสิก กัมมชรูปก็เกิด แสดงให้เห็นว่า กัมมชรูปอาศัยปฏิสนธิจิตเป็นทางเกิดขึ้นของกรรมที่จะทำให้รูปนั้นเกิด และเมื่ออาศัยปฏิสนธิจิตแล้ว ต่อจากนั้นเป็นเรื่องของกรรมที่ทำให้กัมมชรูปเกิดทุกๆ อนุขณะของจิต ไม่เว้นเลย นอกจากอีก ๑๗ ขณะจะถึงจุติจิต กัมมชรูปจึงไม่เกิด เพราะฉะนั้น กัมมชรูปจะดับพร้อมกับจุติจิต ด้วยเหตุนี้ร่างกายซึ่งไม่มีใจครองจึงไม่ถือว่า เป็นบุคคลนั้นอีกต่อไป ดับทั้งจิตเจตสิกและกัมมชรูป

ถ. กัมมชรูปตั้งแต่ตอนเกิดกับตลอดชีวิตที่มีอยู่ เป็นกัมมชรูปลักษณะเดียวกัน หรือมีปัจจัยปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

สุ. กัมมชรูปที่ทำให้เกิดเป็นสัตว์ เป็นเทวดา เป็นรูปร่างต่างๆ เกิดเพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัย แต่ภายหลังก็มีกรรมอื่นเป็นปัจจัยให้กัมมชรูปเกิดด้วย เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็มีตาต่างกันตามกรรมปลีกย่อยซึ่งให้ผลในภายหลัง หรือระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ กัมมชรูปก็เกิดทำให้เป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็ได้ และถ้าเป็นโรคที่เกิดเพราะกรรมแล้วไม่มีทางรักษา ตราบใดที่กรรมนั้นยังให้ผล เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมก็เป็นเรื่องที่ทำให้รูปร่างกายเป็นไปต่างๆ หรือถึงกับเปลี่ยนภาวรูปก็ได้

ถ. กัมมชรูปที่เกิดระยะหลังๆ ที่ว่าเปลี่ยน เกิดจากวิญญาณหรือเปล่า

สุ. เกิดจากเจตนา ถ้าพูดถึงกรรมเป็นปัจจัยหมายความถึงเจตนาเจตสิก ซึ่งเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม นี่จิตขณะแรก ยังไม่มีจิตตชรูป แต่ในปฏิสนธิจิตขณะแรก เมื่อกี้พูดเฉพาะกัมมชรูปซึ่งเกิดทุกอนุขณะของปฏิสนธิจิต คือ ตั้งแต่ อุปาทขณะก็มีกัมมชรูปเกิด ฐีติขณะก็มีกัมมชรูปเกิด ภังคขณะก็มีกัมมชรูปเกิด แต่ยังมีอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นอุตุชรูป เกิดในฐีติขณะของปฏิสนธิจิต เพราะว่ามหาภูตรูป มี ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นใหญ่เป็นประธาน รูปใดๆ ก็ตามจะปราศจากมหาภูตรูปไม่ได้เลย เสียงก็ต้องมีมหาภูตรูป กลิ่นก็ต้องมีมหาภูตรูป เพราะว่ารูปทั้งหมดที่เป็นมหาภูตรูปมีเพียง ๔ ที่เหลือเป็นอุปาทายรูป คือ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป

มหาภูตรูป ๔ มีธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ ธาตุไฟเป็นอุตุ เป็นอุณหภูมิที่สม่ำเสมอซึ่งเป็นปัจจัยทำให้รูปอื่นเกิด เพราะฉะนั้น ธาตุไฟทำให้รูปเกิดในฐีติขณะของปฏิสนธิจิต นี่เป็นอุตุชรูป เพราะฉะนั้น จะมีรูปซึ่งเกิดในปฏิสนธิจิต ต่างวาระ คือ กัมมชรูปเกิดในอุปาทขณะ ในฐีติขณะ ในภังคขณะ แต่อุตุชรูปเริ่มเกิดในฐีติขณะ เพราะอาศัยมหาภูตรูปในอุปาทขณะของกัมมชรูปนั่นเองทำให้อุตุชรูปเกิดขึ้น

ถ. และอาหารชรูป

สุ. นี่ ๒ รูปแล้ว

ถ. ๓ แล้ว กัมมชรูป อุตุชรูป จิตตชรูป

สุ. ยัง ปฏิสนธิจิตมีแต่กัมมชรูปกับอุตุชรูปเท่านั้น ไม่มีจิตตชรูป เมื่อ ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ปฐมภวังค์เกิดต่อ ซึ่งในอุปาทขณะของปฐมภวังค์ จิตตชรูป เริ่มเกิด ส่วนกัมมชรูปก็เกิดไปทุกๆ อนุขณะของจิต

เพราะฉะนั้น ในปฏิสนธิขณะ มีกัมมชรูปเกิดทั้งอุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ แต่ไม่มีจิตตชรูป สำหรับอุตุชรูปเกิดในฐีติขณะ เมื่อถึงจิตขณะที่ ๒ คือ ปฐมภวังค์ จิตตชรูปก็เกิดพร้อมกับอุปาทขณะของจิต ส่วนกัมมชรูปก็เกิดไป อุตุชรูปก็เกิดไป

อาหารชรูปจะเกิดเมื่อโอชาซึมซาบแล้ว โอชาก็ได้รับจากมารดาไปสู่ทารกในทางไหนก็ตาม เมื่อซึมซาบเข้าไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้รูปเกิดเป็นอาหารชรูป และเจริญเติบโตมาจนกว่าจะเป็นสฬายตนะ ถ้าขณะนั้นไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ก็ไม่มีจักขุปสาทซึ่งเป็นจักขายตนะ เพราะถ้าจะเป็นจักขายตนะหมายความว่า ต้องเป็นที่เกิด เป็นที่ประชุมที่ทำให้จิตรู้อารมณ์

ถ. อาหารชรูปที่ซึมซาบจากมารดา เกิดจากวิญญาณตรงไหน เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป แต่เราพูดถึงอาหารชรูปซึมซาบจากมารดา ไม่ใช่วิญญาณ

สุ. ไม่ใช่ ต้องทราบว่า รูปมีสมุฏฐานเพียง ๔ รูปใดเกิดเพราะกรรม ก็มีกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปใดเกิดเพราะจิตก็มีจิตเป็นสมุฏฐาน รูปใดเกิดเพราะอุตุ ก็มีอุตุเป็นสมุฏฐาน รูปใดมีอาหารเป็นสมุฏฐานก็เกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน และถ้าเป็นสภาวรูปก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปที่ดับไปแล้วไม่เป็นปัจจัย ให้รูปอื่นเกิด ไม่เหมือนกับจิตและเจตสิกที่การดับไปของจิตและเจตสิกดวงก่อน เป็นปัจจัยให้จิตและเจตสิกขณะต่อไปเกิดสืบต่อกันมาตลอด

แต่รูปไม่เป็นอย่างนั้นเลย รูปใดเกิดเพราะปัจจัยใดแล้วก็ดับ ไม่เป็นปัจจัยให้ รูปอื่นเกิดต่อ แต่รูปที่เกิดนั้นมีสมุฏฐานหนึ่งสมุฏฐานใด คือ รูปนั้นเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน หรือรูปนั้นเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน หรือรูปนั้นเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฏฐาน หรือรูปนั้นเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน

ถ. ตรงนี้เข้าใจ แต่ไม่เข้าใจปฏิจจสมุปปาทตรงที่ว่า สังขารทำให้เกิดวิญญาณ วิญญาณทำให้เกิดนามรูป ไม่เข้าใจว่า วิญญาณที่ทำให้เกิดอาหารชรูปนั้น ตรงไหน

สุ. ไม่ใช่เลย ถ้าจะเข้าใจปฏิจจสมุปปาท ต้องเข้าใจช่องว่างระหว่างแต่ละองค์ด้วย นี่คือการเก็บองค์ของสังสารวัฏฏ์ที่เป็นปฏิจจสมุปปาท ซึ่งเป็นแกนที่แสดง ให้เห็นถึงความเป็นปัจจัย แต่ในระหว่างช่องว่างมีอีกมาก เพราะฉะนั้น ก็กล่าวเฉพาะที่เป็นองค์ๆ เท่านั้นเอง

ถ. คำว่า ช่องว่าง หมายถึงอะไร

สุ. เช่น อาหารชรูปก็ไม่ต้องกล่าวถึง เป็นที่รู้ต่อไปเมื่อศึกษาว่า รูปใดเกิดเพราะจิต รูปใดเกิดเพราะกรรม รูปใดเกิดเพราะอุตุ รูปใดเกิดเพราะอาหาร แต่เมื่อกล่าวถึงปฏิสนธิจิต ให้ทราบว่า ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยแก่นามรูปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ การเริ่มมีจิตเจตสิกและรูป เริ่มในขณะนั้นอย่างไร ก็เพราะปฏิสนธิจิตนั่นเอง

ถ. หมายความว่า ที่เขาพูดกันว่า ปฏิจจสมุปปาทมี ๒ นัย คือ ข้ามภพข้ามชาตินัยหนึ่ง กับทุกขณะจิตอีกนัยหนึ่ง ทุกขณะจิตก็เป็นจริงไม่ได้ เพราะว่ายังมีช่องว่างอยู่อย่างนั้นหรือ

สุ. ต้องเข้าใจว่า แต่ละองค์ หมายถึงภพอดีตเป็นปัจจัยแก่ภพปัจจุบัน ภพปัจจุบันเป็นปัจจัยแก่ภพอนาคต หรือหมายถึงเฉพาะในขณะที่เป็นปัจจุบันภพนี้เองซึ่งถ้ากล่าวถึงสฬายตนะกับผัสสะ กับเวทนา กับตัณหา ก็เป็นภพปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ต้องแบ่งแยกด้วย การฟังต้องพิจารณาว่า อวิชชาเป็นปัจจัย แก่สังขาร หมายความถึงเจตนาที่เกิดกับกุศลจิตและอกุศลจิตที่เป็นอภิสังขาร ๓ ซึ่งได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร สังขารเป็นปัจจัย แก่วิญญาณ ก็ต้องจากปฏิสนธิจิต วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป ก็ต้องในภูมิ ที่มีขันธ์ ๕ แต่ในภูมิที่มีขันธ์ ๔ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นาม เพราะฉะนั้น จะตรงตัวโดยไม่เว้นนั่นเว้นนี่ไม่ได้

เมื่อกล่าวว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป รู้ทันทีว่าหมายความถึงเฉพาะ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แต่ถ้ากล่าวว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นาม ก็หมายถึงในอรูปพรหมซึ่งไม่มีรูป นี่คือช่องว่างที่เว้น ที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจความชัดเจน

ถ. ที่มีภพปัจจุบัน อดีต อนาคต แต่ของปัจจุบันเฉพาะอย่างเดียวก็มี ใช่ไหม

สุ. แน่นอน อย่างปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยแก่นามรูป ก็ภพปัจจุบันนี้ และ นามรูปเป็นปัจจัยแก่สฬายตนะ เมื่อเจริญเติบโตก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจสำหรับเป็นที่ประชุม เป็นที่เกิด ที่จะทำให้จิตรู้อารมณ์ต่างๆ

ถ. เราสามารถอธิบายในภพปัจจุบันก็ได้เหมือนกัน แต่ยังมีช่องว่างอยู่

สุ. ถ้าไม่มีภพปัจจุบัน จะหายไปไหน

ถ. แต่ยังมีช่องว่าง

สุ. มากมาย เช่น แม้แต่ข้อความที่ว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป ก็ยังต้องตัดรูปออกในภูมิที่ไม่มีรูป คือ ในอรูปพรหม

ถ. ในภพที่มีขันธ์ ๕ ก็ยังตัด ใช่ไหม ที่ว่าอาหารชรูปไม่เกี่ยวกับวิญญาณ

สุ. ใช่ แต่ถ้ากล่าวว่า วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป หมายความว่า ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และเป็นปัจจัยแก่กัมมชรูปเท่านั้น

เรื่องของสภาพธรรม เป็นเรื่องที่ถ้าไม่ศึกษาหรือพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ก็มีชีวิตไปวันหนึ่งๆ จริงๆ โดยที่เป็นไปในทางเกิด เป็นไปในสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่เป็นทางดับสังสารวัฏฏ์ ปฏิจจสมุปปาทเป็นปัจจัยฝ่ายเกิดโดยย่อๆ โดยคร่าวๆ ให้รู้ว่า ปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยแก่นามรูป โดยที่ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม นามรูปก็เกิดดับสืบต่อเป็นสภาพของนามธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพของรูปธรรมอย่างหนึ่ง รูปก็เป็นรูป นามก็เป็นนาม

ถ. อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร มุ่งหมายเอาอวิชชาในภพก่อน ใช่ไหม

สุ. เพราะว่ากล่าวถึงปฏิสนธิจิตในชาตินี้ ถ้ากล่าวถึงปฏิสนธิจิตในชาตินี้ ก็ต้องสังขารในชาติก่อนเป็นปัจจัย

ถ. สังขารในชาติก่อนเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ซึ่งหมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณในชาตินี้

สุ. การศึกษาธรรมก็เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ ที่จะรู้ว่า ขณะนี้มีสังขารไหม ถ้ามี สังขารนี้มาจากอะไร และถ้ายังเป็นความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมอยู่ ก็ต้องเป็นปัจจัยให้มีการเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นในอบายภูมิ หรือในสุคติภูมิ และจะเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ เป็นปัจจัย ให้เกิดเวทนา เหมือนทุกๆ วันอย่างนี้ นานมาแล้ว และต่อไปข้างหน้าด้วย

นี่คือการที่จะเข้าใจความเป็นอนัตตา เพื่อเห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพื่อให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ถ้าใครสามารถเกิดอกุศลจิตและเห็นว่า ควรจะมีชีวิตในทางดับมากกว่ามีชีวิตในทางเกิด ก็จะเป็นประโยชน์ มิฉะนั้นแล้วก็ยังไม่เห็นโทษ ถ้าเพียงแต่กล่าวว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมเท่านั้น บางคนก็บอกว่า ไม่เป็นไร ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมแล้วจะเป็นอะไร ก็อยู่ไปวันๆ ก็ไม่เป็นอะไร แต่ไม่ได้พิจารณาโดยละเอียดว่า ทุกขณะชีวิตก้าวไปสู่ชราและมรณะ ถ้าเป็นชีวิต ที่สนุก สบาย มีความสุข แต่ไม่สามารถนำสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งเป็นความสุขที่เคยชอบ เคยติด เคยพอใจไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นภพไหน ชาติไหน เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกับ คนที่ติดยึดมั่นในสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นสุข และกำไว้เพราะความติดข้อง แต่กำมือนั้นก็เป็น กำมือเปล่า

และแทนที่จะให้รู้เมื่อตอนตายว่า เอาความสุขทั้งหลายในโลกนี้ที่เคยชอบ เคยพอใจสมบัติต่างๆ ไปด้วยไม่ได้ ไม่ต้องไปคอยรู้ตอนตาย แต่ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ สามารถเข้าใจตามความเป็นจริงแม้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ว่า สิ่งที่เคยเห็นว่าเป็นสาระ เป็นสุข แท้ที่จริงแล้วเป็นความว่างเปล่า ยังดีกว่าที่จะหลงและติด เป็นไปในทาง ฝ่ายเกิดตลอด เพราะว่าไม่มีใครสามารถดับจิตเจตสิกได้ ถ้าปัญญาไม่เกิด มีแต่ธรรมที่เป็นฝ่ายเกิดอยู่เรื่อยๆ

ผู้ฟัง อวิชชาทำให้สังขารเกิด ปฏิจจสมุปปาทเป็นเรื่องยาก อาจารย์พูดที่นี่ ถ้าจะประมวลกันแล้วก็ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ครั้ง ถ้าถามว่าผมฟังแล้วได้ประโยชน์อะไรบ้างจากปฏิจจสมุปปาท ผมก็อยากจะเรียนว่า เมื่อฟังแล้วและได้อ่านอรรถกถาบ้าง อ่านอภิธัมมัตถสังคหะบ้าง ฟังการเจริญสติปัฏฐาน ๔ จากอาจารย์บ้าง ก็เกี่ยวกันทั้งหมดเลย เกี่ยวกันอย่างไร ผมจะพยายามทำความเข้าใจกับท่านอาจารย์และ ผู้ฟังอื่นๆ ด้วย อาจจะเป็นประโยชน์

คือ อย่างที่พูดว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร อาจารย์ก็บอกแล้วว่า สังขารในที่นี้ก็คือเจตนาเจตสิก คือ กรรม เจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ซึ่งเจตนาเจตสิกในที่นี้หมายถึงเจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ มีโลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ เจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้เป็นกรรม ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนเข้าใจเจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงและจำได้

ในขณะที่จิตโกรธก็ดี โลภก็ดี หรือหลงก็ดี ขณะนั้นมีเจตนาเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นกรรมเกิดกับอกุศลจิต ๑๒ ขณะนั้นเป็นอปุญญาภิสังขาร คือ ไม่ใช่บุญ ถ้าพูดเป็นภาษาบาลีก็จะยาก แต่ความหมายก็คือ เจตนาที่เกิดกับอกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่บุญ และถ้าเจตนาเจตสิกซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิกเกิดกับ มหากุศลจิต ๘ ขณะนั้นก็เป็นปุญญาภิสังขาร ขณะที่กุศลจิตเกิด จะเป็นทานก็ดี จะเป็นศีลก็ดี หรือจะเป็นภาวนาก็ดี ขณะนั้นเป็นปุญญาภิสังขาร ก็เป็น ๒๐ คือ อกุศล ๑๒ มหากุศล ๘ เป็น ๒๐ ผมค่อยๆ ไป และรูปาวจร ๕ กับอรูปาวจร ๔ ซึ่งเป็นกุศล ก็เป็น ๒๙ เจตนาเจตสิก ๒๙ นี้เป็นกรรม

นี่คือเท่าที่ผมพยายามทำความเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปปาท ถ้าอยากจะ ศึกษากันตรงนี้ก็ต้องไปจำเพิ่มขึ้นอีก แต่ถ้าพูดถึงปฏิจจสมุปปาทก็คืออวิชชาทำให้ ทำบุญ ทำบาป ทำให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ ต้องเกิดกันอีก และถ้าเราเรียนเรื่องปฏิจจสมุปบาท เราเรียนเรื่องวัฏฏะ ๓ ด้วย ก็จะเข้าใจเพิ่มขึ้น เพราะว่ากิเลสทำให้ ก่อกรรม กรรมทำให้มีวิบาก ก็วนเป็นวัฏฏะ ๓ ปฏิจจสมุปปาทก็คือเรื่องวัฏฏสงสารนั่นเอง

ผมมีความเข้าใจบ้างพอสมควร ก็แบ่งๆ กันไป ไม่ทราบจะเป็นประโยชน์ หรือเปล่า

สุ. เรื่องอกุศลจิต ๑๒ ต้องถึงความเป็นอกุศลกรรมบถด้วย ธรรมแม้แต่ที่ทรงแสดงไว้ว่า อปุญญาภิสังขาร ได้แก่ อกุศลเจตนาที่เกิดกับอกุศลเจตสิก ก็ต้องรู้ว่าหมายความถึงที่เป็นกรรมบถ จึงจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ เพราะถ้าจะกล่าวทุกสิ่งทุกอย่างรวมกันไว้ในที่เดียวกันทั้งหมด ก็ไม่ต้องไปถึงไหน ก็ทรงแสดงไว้ในที่ ต่างๆ แล้ว เพราะฉะนั้น เวลากล่าวถึงปฏิจจสมุปปาท ก็ยกข้อซึ่งจะเป็นองค์ที่สำคัญ ที่เป็นแกน ที่เป็นปัจจัย โดยแสดงให้เห็นว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนั้นก็มี เมื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น โดยหัวข้อใหญ่ๆ ที่เป็นปฏิจจสมุปปาท แต่โดยละเอียดจะแสดงถึงปัจจัย โดยย่อย โดยละเอียดว่า เป็นปัจจัยโดยปัจจัยอะไรบ้าง

และเมื่อเติบโตมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ทุกคนคงไม่สงสัยเรื่องอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งก็ต้องมาจากปฏิสนธิจิตที่เป็นปัจจัยแก่นามรูป เจริญเติบโตมาจนกระทั่งถึงกาลที่สภาพธรรมนั้นเป็นที่อาศัย เป็นบ่อเกิด เป็นที่ประชุม เป็นแดนเกิด เป็นเหตุ นี่คือความหมายของอายตนะ

เปิด  316
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565