แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2063

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๔


มีคำถามจากท่านผู้ฟัง ๒ ข้อ

ข้อ ๑. เรื่องเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ถ้าผัสสะกระทบกับอารมณ์ที่ ไม่ทำให้สุขเวทนาเกิด แต่ทำให้ทุกข์ โทมนัสเกิด เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้หรือไม่ หรือจะหมายเอาเพียงสุขเวทนาเท่านั้นที่ทำให้เกิดตัณหา

ข้อ ๒. สติปัฏฐานที่เกิดระลึกลักษณะของวาโยธาตุที่ตึงหรือไหว มีหนังสือ บางแห่งบอกมีรูปหย่อน ตึง ไหว ถามว่า สติที่ระลึกลักษณะที่หย่อนมีหรือไม่

สุ. ข้อ ๑. ไม่ว่าจะเป็นเวทนาประเภทใดทั้งสิ้น เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาได้แม้อุเบกขาเวทนา ตัณหาก็ชอบ ไม่เดือดร้อน ชอบจริงๆ พอใจที่จะได้มี อุเบกขาเวทนานั้นอีก ถ้าเป็นสุขเวทนา ตัณหาก็ชอบพอใจที่จะให้เกิดสุขเวทนา ทุกขเวทนา ตัณหาก็ชอบที่จะให้ไม่ทุกข์หรือโทมนัสในขณะนั้น เพราะท่านที่มีทุกข์ ทุกท่านอยากให้ทุกข์หมด เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียวที่จะไม่ทำให้เกิดตัณหา

เวลาที่มีทุกข์แล้ว ไม่มีตัณหา เป็นไปได้ไหม ที่ไม่อยากจะพ้นทุกข์นั้น

ทุกคนทนทุกข์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่อยากจะให้มีทุกข์นั้น อยากให้ทุกข์นั้นหมดไป ในขณะที่อยากให้ทุกข์นั้นหมดไปก็เป็นตัณหาที่ต้องการให้ทุกข์นั้นหมดไป

สำหรับโทมนัสก็เช่นเดียวกัน ไม่มีใครชอบความโศก ความทุกข์ ความ ไม่สบายใจ ทุกคนถามว่า ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์ ไม่โทมนัส ไม่เสียใจ ทราบได้เลย จากคำถาม ว่าเป็นอารมณ์ที่ไม่พึงปรารถนา แต่ปรารถนาอารมณ์อื่น เพราะฉะนั้น ก็มีตัณหา ความต้องการที่จะให้พ้นจากอารมณ์นั้น

ยังไม่หมดโลภะหรือตัณหาไปโดยง่าย เพียงแต่จะรู้หรือไม่รู้ในความละเอียดของโลภะซึ่งเกิดแทรกอยู่ตลอดเวลา ตลอดวันเป็นเรื่องของโลภะทั้งหมด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่มีการที่จะรู้จริงๆ ได้ยินแต่ชื่อ และรู้จากการอ่าน การเขียน การฟัง แต่เวลาที่โลภะกำลังเกิดอยู่จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นไปเพราะโลภะทั้งนั้นในวันหนึ่งๆ ตั้งแต่ลืมตา แม้แต่การบริหารร่างกายโดยการออกกำลัง หรือปฏิบัติกิจที่จะทำให้ร่างกายเป็นอยู่สะดวกสบายก็ตามแต่ ในขณะนั้นๆ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดจะไม่รู้เลยว่า นามรูปที่กำลังเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน กำลังเกิดดับนั้น ก็เป็นที่ตั้งของความพอใจ

ท่านที่จะดื่มน้ำ เมื่อกี้ก็คงจะมีหลายท่านที่ดื่มน้ำ ทราบไหมว่า ขณะนั้นแม้แต่กิริยาอาการที่ก้าวเดินไป ที่หยิบ ที่จับ ที่ดื่ม ที่ลิ้ม ก็เป็นไปด้วยตัณหาทั้งนั้น

ขณะที่จะวางแก้ว ขณะที่จะเปลี่ยนอิริยาบถ ขณะที่จะพูด ขณะที่จะไต่ถามกัน ด้วยเรื่องสารทุกข์ต่างๆ ก็เป็นไปด้วยโลภะทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ปัญญาไม่เกิด หรือกุศลไม่เกิด ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นโลภะ ซึ่งยากต่อการที่จะรู้จริงๆ เพราะต้องอาศัยสติระลึก และเมื่อระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันเมื่อไหร่ ตามปกติจริงๆ เมื่อนั้นจะเห็นโลภะซึ่งเป็นสราคจิต เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพแรก เพราะว่าทุกคนมีมากในชีวิตประจำวัน

คนที่บอกว่าไม่มีโลภะ คือ ผู้ที่ไม่รู้ว่ามี แต่ผู้ที่รู้ จะบอกไม่ได้เลยว่า ไม่มีโลภะ เพราะว่ามีมากเกือบจะตลอดเวลา ถ้ากุศลจิตไม่เกิด โทสมูลจิตไม่เกิด โมหมูลจิต ไม่เกิด วิบากจิตไม่เกิด ก็เป็นโลภมูลจิตทั้งนั้น

สำหรับข้อ ๒. ที่ว่า สติปัฏฐานที่เกิดระลึกลักษณะของวาโยธาตุที่ตึงหรือไหว มีหนังสือบางแห่งบอกมีรูปหย่อน ตึง ไหว ถามว่า สติที่ระลึกลักษณะที่หย่อน มีหรือไม่

นี่เป็นเรื่องของพยัญชนะ หรือสมมติบัญญัติ ไม่ใช่การระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะว่าส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงสิ่งที่กายกระทบสัมผัส ทุกคนจะไม่สงสัยลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน แต่พอถึงตึงหรือไหว เริ่มถามกันแล้วว่า ลักษณะของธาตุลมที่ตึงหรือไหวเป็นอย่างไร ดูเหมือนกับว่า เมื่อไม่รู้ก็พยายามที่จะ รู้ลักษณะของธาตุลมซึ่งตึงหรือไหว และขณะนี้ก็มีความพยายามที่จะรู้ลักษณะของหย่อนว่า หย่อนมีไหม เพราะเมื่อมีตึงก็น่าจะมีหย่อน

ข้อสำคัญที่สุด คือ ไม่ควรกังวลเรื่องชื่อ เพราะถ้ากังวลเรื่องชื่อ คำถามอื่น จะมาอีก แล้วลื่นๆ ล่ะธาตุอะไร อย่างสัมผัสกระทบสบู่ ลื่นๆ นั่นธาตุอะไร จะเป็นธาตุดิน หรือธาตุไฟ หรือธาตุลม หรือหย่อนหรือเปล่า หรือว่าลื่น จะมีอีกมากมาย และเหนียวล่ะ ก็จะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งใช้ชื่อและไม่รู้ว่าความจริงนั้น เป็นเพียงสิ่งที่กระทบสัมผัสและปรากฏเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่กระทบสัมผัส อย่ากังวลเรื่องชื่อ เพราะจะทำให้กั้น เนื่องจากไม่รู้ว่าควรจะใช้คำบัญญัติไหน แต่ความจริงสภาพปรมัตถธรรมมี และ กำลังปรากฏ

หนทางที่ดีที่สุด คือ จะเหนียวเหนอะหนะ จะลื่น จะหย่อน จะตึง จะไหว จะอะไรก็ตามแต่ ขณะนั้นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นโดยนัยนี้ก็จะหมดความสงสัย และไม่ต้องมากังวลว่า อยากจะรู้ลักษณะของธาตุลม หรือว่ายังไม่รู้ธาตุลมสักที ก็กังวลอยากจะรู้แต่ธาตุลม

เวลาที่ธาตุลมกำลังปรากฏ ถ้าลักษณะที่ไหวปรากฏ สติระลึกรู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ต้องใส่ชื่อก็ได้ ใช่ไหม และลักษณะอื่นๆ ก็จะปรากฏ สำหรับทางกาย ลักษณะใดก็ตามที่ไม่ใช่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ลักษณะนั้น ก็เป็นตึงหรือไหวได้ เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ สั้นและเล็กน้อยมาก ไม่ปรากฏนานจนกระทั่งให้ใครไปนึกถึงชื่อได้ แต่สามารถทำให้รู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โดยไม่ต้องไปกังวลว่า ลักษณะนี้ที่กำลังปรากฏจะเรียกว่าอะไรดี

ยังสงสัยไหม ท่านผู้ถาม ก็ผ่านไปได้สำหรับเรื่องของสมมติบัญญัติ

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันทั้งหมด ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่เริ่มตั้งแต่เกิด และก็แก่ เจ็บ ตาย สุข ทุกข์ เห็น ได้ยิน ทั้งหมดล้วนเป็นสภาพธรรมในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ซึ่งชาติก่อนๆ ก็เคยเป็นอย่างนี้มาแล้ว เคยเกิดแล้ว เคยแก่แล้ว เคยเจ็บแล้ว เคยตายแล้ว เคยสุขแล้ว เคยทุกข์แล้ว ทั้งหมด และก็หมดไป

เพราะฉะนั้น สังสารวัฏฏ์จะไม่สิ้นไป เพราะต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้มีการ เกิดแล้วเกิดอีก เจ็บแล้วเจ็บอีก ตายแล้วตายอีก ซึ่งในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกคนก็รู้ความจริงว่า วันหนึ่งก็ต้องตายเหมือนคนอื่นๆ ที่ตายไปแล้ว เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า วันที่จะจากโลกนี้ไป จะจากไปด้วยปัญญาที่ได้อบรมจนกระทั่งเจริญขึ้น หรือจะจากไปโดยไม่สนใจที่จะอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น ก็จากโลกนี้ไปด้วยความมัวเมา ติดข้อง เพลิดเพลิน ในลาภ ในยศ ในสักการะ ในสรรเสริญ ซึ่งเป็นเพียงชั่วขณะจิต และจะไม่ติดตามไปสู่โลกหน้าเลย

ขณะนี้ทุกคนมีร่างกายซึ่งเคยเป็นที่รัก หรือขณะนี้ก็ยังเป็นที่รักที่พอใจ ก็ให้ทราบว่า ร่างกายนี้ต้องเปื่อยเน่าผุพัง และชาติหน้ารูปร่างกายจะเป็นอย่างไร ไม่ได้เป็นอย่างนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า จิต เจตสิก การกระทำ ทางกาย ทางวาจาในชาตินี้ ที่อกุศลจะเกิดครอบงำจนทำให้ร่างกายในชาติต่อไป พิกลพิการ ตา หู จมูกไม่น่าดู หรือจนกระทั่งทำให้ถึงสภาพของเปรต อสุรกาย สัตว์นรก ซึ่งก็เป็นชั่วขณะจิตที่เร็วมาก เร็วยิ่งกว่ากระพริบตาก็สามารถเปลี่ยนสภาพนี้ทั้งหมดจากมนุษย์ในสุคติภูมิ ไปสู่อบายภูมิได้

แต่สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ย่อมได้รับประโยชน์จากพระธรรมตามลำดับของปัญญาและการสะสม ซึ่งก็เป็นที่อนุโมทนาเวลาที่ได้สนทนากับท่านผู้ฟังบางท่าน และท่านได้เล่าประสบการณ์ในชีวิตของท่านให้ฟัง เช่น ท่านผู้หนึ่งท่านเล่าว่า มีผู้ขอยืมเก้าอี้ท่านไปใช้ แต่ไม่ส่งคืนสักที ใจของท่านก็อยากใช้เก้าอี้ตัวนั้น เพราะท่านก็มีความจำเป็นจะต้องใช้ วันหนึ่งท่านก็อุตส่าห์ลงไปถึงชั้นล่างที่เขายืมเก้าอี้ไป บอกว่าจะต้องใช้เก้าอี้นี้แล้ว และก็ยกเก้าอี้จากชั้นล่างขึ้นชั้นบนด้วยความเหน็ดเหนื่อยร่างกายและหนักใจด้วย เพราะว่าขณะนั้นเป็นอกุศลซึ่งมีกำลัง เป็นความเร่าร้อน ที่ต้องการจะได้ เมื่อขึ้นไปเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นึกได้ว่า ถ้าท่านปรารถนาพระนิพพาน เพียงเท่านี้ก็ยังละไม่ได้ สละไม่ได้ ท่านจะถึงพระนิพพานได้อย่างไร คราวนี้ท่านก็ยกเก้าอี้ลงไปข้างล่าง ตัวเบา โล่งใจ จิตผ่องใส แสดงให้เห็นว่า ขณะใดที่สติไม่เกิด อกุศลเกิด อกุศลก็ทำกิจของอกุศลเต็มที่ ที่จะคิดที่จะชนะ ที่จะคิดที่จะไม่เอื้อเฟื้อ ที่จะคิดที่จะทำด้วยความรุนแรงต่างๆ มีการหอบหิ้ว ดึงลากขึ้นไปด้วยความหนัก ความเหนื่อย แต่พอนึกขึ้นได้ เบาหมด และยกเก้าอี้ลงไปให้เขาใช้ ไม่เอาคืนแล้ว เพราะท่านจะจัดหาซื้อใหม่ ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่ง เพราะถ้าเพียงเท่านี้ยังเกิดกุศลไม่ได้ และจะถึงพระนิพพานได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการฟังของแต่ละท่าน ท่านจะไม่ทราบเลยว่า จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้สติมีการระลึกได้ที่จะเป็นกุศลในระดับใด

อีกท่านหนึ่ง ท่านมีบุตรที่กำลังเรียนหนังสือและป่วย ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากการวินิจฉัยและตรวจสอบของหมอ ผลสุดท้ายก็คือบุตรของท่านพิการ ท่านมีความทุกข์มากจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ แต่จากการฟังพระธรรมและได้พิจารณา สภาพธรรม หลังจากที่ท่านไม่ต้องการมีชีวิตอยู่เพราะความเสียใจที่บุตรของท่าน พิการและคิดมากในเรื่องอนาคตต่างๆ ผลของการฟังพระธรรมทำให้ท่านเห็นลูกเหมือนเห็นแขก เพราะว่าลูกนั้นจะมาจากชาติไหนเป็นใครก็ไม่ทราบ และจะไปสู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ แต่ละคนก็มีกรรมเป็นของของตน เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็นลูก ความรู้สึกของท่านก็เหมือนกับเห็นแขกจริงๆ และท่านผู้นี้ก็เป็นผู้ที่บริจาคที่ดินที่ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ให้มูลนิธิ ฯ แสดงให้เห็นว่า แต่ละชีวิต แล้วแต่กำลังของกุศลซึ่งเป็นพละ ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนท่านให้นึกถึงบุตรธิดาตอนที่ท่านบริจาค ท่านก็บอกว่า ลูกของท่านมีกรรมเป็นของของเขา แม้ท่านให้สมบัติ แต่ถ้าเขาไม่มีบุญที่จะได้รับ หรือสมบัตินั้นจะต้องหมดสิ้นไป แม้ท่านมอบให้สมบัตินั้นก็จะหมดไป และถ้าลูกของท่านมีบุญกรรมเป็นของเขาเอง แม้ท่านไม่มอบให้ บุญของเขาก็นำสมบัติต่างๆ มาให้ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีความประสงค์มอบให้มูลนิธิ ฯ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ทางพระธรรม

มีจดหมายจากท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ซึ่งเขียนมาเล่าให้ฟังถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการฟังพระธรรม ขอเชิญท่านผู้ฟังช่วยอ่านด้วย

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๔

เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพ

ผมรู้สึกซาบซึ้งในการแสดงธรรมของท่านอาจารย์เป็นอันมาก เพราะเป็นประโยชน์แก่ผมมาก เมื่อก่อนมีความเครียดมาก และมีปัญหาทางครอบครัวมาก ตอนนั้นผมอยากจะกระทำทุกสิ่งทุกอย่างให้พินาศไปตามใจที่คิดที่นึก ผมรู้สึกปวดหัวและประสาทเครียด นอนไม่หลับ วุ่นวายไปหมด

วันหนึ่งผมคิดว่าผมจะทำอย่างไรดี หาทางระบายความทุกข์ที่อยู่ในใจ ให้ออกไป ประสาทก็เครียดหนักขึ้นทุกที นอนตาแห้งคิดว่า ไหนๆ นอนไม่หลับ เปิดวิทยุฟังเพลงดีกว่า ฟังเพลงก็ไม่ได้เรื่อง หมุนคลื่นวิทยุไปเรื่อย บังเอิญพบรายการ “ธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน” ของท่านอาจารย์ รู้สึกสบายใจขึ้น ทีนี้ผมฟังมา ตลอดเลย ประสาทและอาการดังกล่าวค่อยๆ คลายไปทีละนิดทีละนิด เดี๋ยวนี้จิตใจสบายขึ้น ตอนนี้สุขภาพจิตและกายดีขึ้นมาก เมื่อผมนำธรรมมาใช้ การงานและปัญหาครอบครัวก็เริ่มดีขึ้น การศึกษาธรรมของผมยังไม่กระจ่างนัก แต่พอคลายทุกข์ได้บ้าง ผมอยากได้หนังสือธรรมเรื่อง “การเจริญแนวทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน” เพื่อจะได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงให้ถูกต้อง

ขอจบเพียงเท่านี้ ขออานุภาพแห่งธรรมจงคุ้มครองท่านอาจารย์เถิด

สุ. ท่านผู้ฟังก็คงจะอนุโมทนา ซึ่งท่านที่ได้รับฟังพระธรรม มีความเข้าใจ ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากการฟังพระธรรม

อีกท่านหนึ่ง เพิ่งได้รับที่นี่ ท่านเขียนมาว่า

หนูฟังอาจารย์มาตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา สิ่งที่หนูได้ คือ ไม่โกรธใคร ไม่พยาบาทใคร และหนูสามารถกราบเท้าใครก็ได้ที่มีคุณ และที่หนูเคยล่วงเกินเขา ทางวาจาและทางใจ ทุกวันนี้หนูไม่ร้องไห้แล้ว ไม่ว่าชีวิตแต่ละวันจะมีทุกข์มากเพียงใด ขอให้ท่านอาจารย์จำชื่อหนูไว้

และก็เป็นชื่อของท่าน

ถ้าตราบใดยังไม่หมดกิเลส ก็ต้องมีความทุกข์เล็กๆ น้อยๆ แม้ว่าไม่มาก เพราะก่อนฟังพระธรรมมีทุกข์มาก รู้สึกว่าทุกข์นั้นยากที่จะแก้ เป็นปัญหาที่ หนักอกหนักใจกัน แต่ถ้าทราบว่าเป็นเพียงชั่วขณะจิต ไม่ว่าจะทุกข์มากสักเท่าไร ก็ตาม ก็เพียงชั่วขณะจิตเดียวและก็ดับ ไม่มีสภาพธรรมใดเลยที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ต้องมีการเกิดขึ้นและดับไป และสลับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สุขบ้าง ทุกข์บ้างไปแต่ละวัน ที่จะไม่ให้สุขเลยหรือไม่ให้ทุกข์เลยนั้น เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าแต่ก่อนเคยทุกข์มากก็จะทุกข์น้อยลง แต่ก่อนเคยร้องไห้ บ่อยๆ ก็อาจจะไม่ร้องไห้ หรืออาจจะมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่เหมือนเดิม

นี่ก็เป็นประโยชน์จากการได้เข้าใจพระธรรมทั้งสิ้น

ทุกท่านจะเห็นได้ว่า การที่จะดับทุกข์จริงๆ ต้องดับที่ต้นเหตุ คือ อวิชชา ถ้าไม่มีปัญญา ไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อวิชชาก็เต็ม และเมื่ออวิชชายัง เต็มอยู่ ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลต่างๆ เช่น ความติดข้องในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจธรรม ไม่อยากจะรู้ ไม่อยากจะเข้าใจธรรม ก็เพราะมีความติด ความพอใจ ความเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในความคิดนึกต่างๆ

ถ้าถามท่านที่ยังไม่สนใจ ก็จะเห็นได้ว่า เพราะท่านยังพอใจที่จะสนุกสนานเพลิดเพลินไปในชีวิต แต่ท่านที่สนใจแล้วก็ใช่ว่าจะหมดโลภะ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า อวิชชามีมาก และปัญญาที่เริ่มมีก็ยังน้อย ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ ตามกำลังความสามารถ เพราะเหตุว่าที่ใครจะมีกุศลจิตตลอดวัน มีการศึกษาพิจารณาธรรมตลอดวัน หรือสติปัฏฐานระลึกสภาพธรรมตลอดวันนั้น เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ชีวิตในวันหนึ่งๆ ก็จะต้องดำเนินไป คือ อกุศลบ้าง กุศลบ้าง แล้วแต่ว่าชาติหนึ่งจะสะสมกุศลได้มากกว่าอกุศล หรือถึงแม้ไม่มากกว่าอกุศล แต่กุศลนั้นก็มีกำลังเพิ่มขึ้น จนกว่าจะถึงวันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่สังขารขันธ์ปรุงแต่งทำให้ปัญญาที่ได้สะสมมาคือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ และกุศลอื่นๆ ประกอบเป็นบารมีทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ซึ่งขณะนั้นเป็นอภิสมัย เป็นขณะที่ยากจะเกิดได้ และเป็นสมัยที่เป็นอภิสมัยจริงๆ เป็นสมัยที่แทงตลอดในสัจจธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ๔

เปิด  243
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565