แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2064

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๔


ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อุทาน อรรถกถาปฐมโพธิสูตร แสดงความหมายของอภิสมัย มีข้อความว่า

การแทงตลอด ชื่อว่าอภิสมยะ

สมยะ คือ การละ

อนึ่ง สมัย ชื่อว่าอภิสมยะ เพราะเป็นสมัยยิ่งโดยละได้เด็ดขาด

ชื่อว่าอภิสมยะ เพราะพึงถึง คือ พึงบรรลุโดยญาณเฉพาะหน้า ได้แก่ หยั่งรู้ถึงสภาวะแห่งธรรมที่ไม่แปรผัน

ชื่อว่าอภิสมยะ เพราะไป คือ บรรลุ ตรัสรู้ โดยภาวะเฉพาะหน้า คือ โดยชอบ ได้แก่ ความหยั่งรู้สภาวะตามความเป็นจริงแห่งธรรม

นี่เป็นการเตือนผู้ที่ฟังธรรมและผู้ที่อบรมเจริญปัญญาให้รู้ว่า การรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมไม่ใช่รู้อื่น แต่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปกติตามความเป็นจริง ตามที่ได้ฟัง ตามที่ได้เข้าใจในไตรลักษณะ คือ ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ของสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นในขณะนี้ และกำลังดับไปในขณะนี้

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงเวลานั้น ทุกท่านก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้หนทางว่า สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเริ่มที่จะเข้าใจถูกในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะกำลังเข้าใจในลักษณะที่เป็นสภาพรู้และรูปธรรมซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ในขณะที่กำลังปรากฏเท่านั้น ละอัตตสัญญา คือ ความทรงจำทั้งหมดที่เกี่ยวกับนามรูปใดๆ ที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา เป็นตัวตน ไม่มีเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเฉพาะทางทวารหนึ่งทวารใดแต่ละทวาร ทีละลักษณะเท่านั้น ในขณะนี้ ค่อยๆ อบรมเจริญไปจนกว่าจะประจักษ์การเกิดดับ และวิปัสสนาญาณก็สมบูรณ์จนกระทั่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับความเห็นผิด ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะเป็นสมัยยิ่งโดยละ ได้เด็ดขาด ไม่มีกิเลสที่ดับแล้วเกิดขึ้นอีกได้เลย

ขณะนี้นามธรรมและรูปธรรมแต่ละประเภทมีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไปๆ อาศัย กันและกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สภาพที่เป็นนามธรรม ก็เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม สภาพที่เป็นรูปธรรมก็เป็นรูปธรรม แต่ถ้าปัญญา ไม่รู้จริงๆ ในลักษณะที่แยกขาดจากกันในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังถูกต้อง หรือกำลังคิดนึก ก็ไม่มีทางเลย ที่จะประจักษ์ได้ว่า สภาพธรรมในขณะนี้มีไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกอย่างก็เป็นเพียงขั้นฟังและพิจารณา และค่อยๆ สะสมไป จนกว่าความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนามธรรมและรูปธรรมจะเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัย เป็นสังขารขันธ์ ให้สติเกิดระลึกได้บ่อยๆ และรู้ชัดในความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

ขณะนี้นามธรรมทางตาดับแล้ว การดับไปของนามธรรมคือจิตและเจตสิก ขณะก่อนเป็นปัจจัยให้นามธรรมขณะต่อไปเกิด ในขณะที่จิตเกิดขึ้นมีเจตสิกเกิด ร่วมด้วยในขณะหนึ่ง ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันโดยขณะนั้นยังมีอยู่ ยังไม่ปราศไป เพราะฉะนั้น ความเป็นปัจจัยละเอียดมาก ตั้งแต่ในจิต ๑ ขณะ จนกระทั่งจิต ขณะก่อนเป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเข้าใจเรื่องนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น จะทำให้ละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน

แต่ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการพิจารณาให้เข้าใจความเป็นปัจจัย หรือลักษณะ ของนามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียด แม้สติจะระลึกก็ไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้ ต้องอาศัยการฟังจนกระทั่งเข้าใจเป็นกำลังส่งเสริมให้สามารถละการยึดถือสภาพธรรมในขณะนั้นว่า เมื่อเป็นรูปจึงไม่ใช่ตัวตน เมื่อเป็นนามธรรมก็เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้นจริงๆ

ผู้ฟัง ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่แล้วจนถึงวันนี้ ท่านอาจารย์ก็พูดถึงเรื่องอายตนะ คือ ปฏิจจสมุปบาท ก็คือสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อกี้อ่านจดหมายของ ท่านผู้ฟัง มีความซึ้งใจอยู่คำหนึ่งที่ว่า ขอหนังสืออาจารย์เพื่อจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ เขาขอหนังสือ และเขาไม่รู้จะลงตรงไหน ก็ลงตรงเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แสดงว่าบุคคลผู้นี้ได้ฟังเรื่องสภาพธรรม ซึ่งก็คงจะไม่มากครั้ง ตามที่ท่านเขียนจดหมายมา แต่สามารถใช้คำว่า สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งคำนี้กว่าเราจะเข้าใจ กว่าเราจะรู้สึกว่าพูดคำนี้ได้ เราใช้เวลาเป็นปีๆ แต่ท่านผู้นี้สงสัยจะสะสมมามากพอสมควร ฟังวิทยุเพียงเท่านี้ ก็สามารถใช้คำว่า ขอหนังสืออาจารย์เพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

สุ. ซึ่งไม่ทราบว่าเมื่อไรจะรู้ได้ และก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาต่อไปเรื่อยๆ

ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดถึงเรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริง คราวที่แล้วเน้นเรื่องอายตนะภายนอกและภายใน และบอกว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นการยืนยันได้ว่าจริง ในชีวิตประจำวัน ตลอดเวลาเรานึกถึงสิ่งที่ปรากฏทางตากับเห็น เสียงกับได้ยิน ชีวิตก็มีอยู่เท่านี้ และตรงกับวันนี้ที่ว่า ชีวิตก็มีแต่รูปธรรมกับนามธรรมเท่านั้น นามธรรมก็เป็นจิตกับเจตสิกที่ทำกิจของเขา เขาก็ทำหน้าที่ของเขาไป แต่เราเข้าไปยุ่งกับจิต เจตสิก รูปมาก จึงทำให้สภาพธรรมไม่เป็นไปตามความเป็นจริง เป็นตัวตนเสียมาก ก็ขอยืนยันไว้เท่านี้

สุ. เพราะอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้สภาพธรรมปรากฏ อวิชชาไม่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ เช่น ทางตากำลังปรากฏ อวิชชาก็ไม่สามารถรู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนในสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏเลย แต่ความนึกคิดสามารถเห็นไปต่างๆ และคิดนึกไปต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะในจอโทรทัศน์ หรือในหน้าหนังสือพิมพ์ ในหนังสือวารสารต่างๆ หรือแม้ในขณะนี้ ก็เป็นเรื่องของความคิดนึก ซึ่งถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาจะไม่สามารถรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลใดๆ เลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อหลับตาแล้วสภาพธรรม ในขณะนี้ไม่ปรากฏ

การเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องอาศัยกุศลธรรมที่มีกำลัง คือ ธรรมที่เป็นพละ ซึ่งข้อความใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ปฐมพลสูตรที่ ๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้ ๗ ประการเป็นไฉน คือ สัททาพละ ๑ วิริยพละ ๑ หิริพละ ๑ โอตตัปปพละ ๑ สติพละ ๑ สมาธิพละ ๑ ปัญญาพละ ๑ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พละ ๗ ประการนี้แล

สัททาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละเป็นที่ ๗ ภิกษุผู้มีพละ ๗ ประการนี้เป็นบัณฑิต ย่อมอยู่เป็นสุข พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ย่อมเห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญา ความหลุดพ้นแห่งจิต (คือ การดับของจิตขณะสุดท้าย) คือ ความดับของภิกษุนั้นย่อมมีได้ เหมือนความดับแห่งประทีปฉะนั้น

จบ ปฐมพลสูตรที่ ๓

เหมือนกับว่ากระแสของนามธรรมและรูปธรรมไม่มีทางที่จะดับได้เลย แต่ถ้า มีธรรมที่เป็นพละแล้วย่อมถึงทางที่ ความหลุดพ้นแห่งจิต คือ การดับของจิตขณะสุดท้าย ย่อมมีได้ เหมือนความดับแห่งประทีปฉะนั้น

ข้อความในพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก เป็นข้อความสั้นๆ แต่ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาโดยละเอียดและเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาธรรมว่า เพื่ออบรมเจริญปัญญา เจริญกุศล ขัดเกลาอกุศล แม้ข้อความสั้นๆ ก็ทำให้ท่านผู้ฟังไม่หลงลืมที่จะ รู้ว่า สภาพธรรมที่เป็นพละนั้นเป็นพละได้อย่างไร เช่น พละ ๗ ประการนี้ คือ สัททาพละ ๑ แม้แต่เพียงการฟังพระธรรม ก็ต้องมีศรัทธา ถ้าไม่มีศรัทธาขณะไหน วันไหน วันนั้นไม่ฟัง หรือมีธุระเสียแล้ว มีกิจการงานอื่นเสียแล้ว ในขณะนั้นจะเห็น ได้เลยว่า ศรัทธามีกำลังหรือไม่มีกำลัง

นอกจากสัททาพละแล้ว ยังต้องมีวิริยพละ ความเพียรก็เป็นกำลังด้วย ต้องอาศัยความเพียรอย่างมากในการที่จะฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรม และ เจริญกุศล ซึ่งถ้าขาดหิริพละและโอตตัปปพละ กุศลก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าไม่ละอาย ในอกุศล ไม่เห็นโทษของอกุศล แล้วกุศลจะเกิดได้อย่างไร ซึ่งทุกคนก็ทราบว่า มีโลภะตลอดวัน หิริพละอยู่ในขณะไหน อหิริกพละอยู่ในขณะไหน เป็นเรื่อง ที่จะต้องฟันฝ่า เป็นเรื่องที่จะต้องสะสมจนกระทั่งแม้หิริโอตตัปปะก็เพิ่มกำลังขึ้น เพราะสามารถรู้ได้ว่าขณะใดเป็นอหิริกะ ขณะใดเป็นอโนตตัปปะ ก็คือขณะที่ อกุศลธรรมเกิด

แต่ถ้าในขณะนั้นไม่มีการพิจารณาเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ย่อมไม่สามารถเจริญขึ้นในกุศลธรรม เช่น ขณะใดที่เป็นกุศล ท่านผู้ฟังอาจจะไม่ทราบว่า ขณะนั้นเป็นการเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย โดยมนสิการแล้ว โดยที่ไม่ใช่ตัวท่านที่เลือก แต่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ขณะนั้นมีโยนิโสมนสิการที่จะเกิดขึ้นเป็นกุศล เช่น วันหนึ่งๆ ระหว่างโกรธกับไม่โกรธ เป็นเรื่องที่จะพิจารณาแล้วว่า ขณะใดเป็นอโยนิโสมนสิการ ขณะใดเป็นโยนิโสมนสิการ ขณะใดเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย

ถ้าเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ขณะนั้นสติพละเกิด ระลึกได้ทันทีว่าสภาพนั้นเป็นอกุศล มีหิริ มีโอตตัปปะที่จะเห็นโทษ ที่จะรังเกียจในอกุศลนั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องมีทั้งสัททาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ สติพละ และถ้าจะถึงการ ดับกิเลสก็ต้องประกอบด้วยสมาธิพละ ปัญญาพละ จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญา แต่ชีวิตประจำวันขณะใดที่ยังโกรธ จะชื่อว่า เห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญาได้ไหม

ระหว่างมานะ ความสำคัญตน กับความอ่อนน้อมถ่อมตน ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ขณะที่เป็นกุศล คือ ขณะนั้นเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย เป็นโยนิโสมนสิการ เพราะฉะนั้น โยนิโสมนสิการก็เป็นชีวิตประจำวัน และพละทั้ง ๗ ก็เป็นชีวิตประจำวันด้วย

นอกจากนั้นชีวิตประจำวันยังละเอียดที่ผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานสามารถที่จะเห็นอหิริกะ อโนตตัปปะ หรือความไม่มีศรัทธา ความไม่มีวิริยะ ความไม่มีสติ สมาธิ ปัญญาได้ แม้ในขณะระหว่างมุ่งลาภกับไม่มุ่งลาภ โยนิโสมนสิการก็พิจารณาได้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ระหว่างมุ่งสักการะกับไม่มุ่งสักการะ ขณะใดเป็นการเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ระหว่างมุ่งความมีชื่อเสียงกับไม่มุ่งความมีชื่อเสียง ระหว่างริษยากับไม่ริษยา ระหว่างตระหนี่กับไม่ตระหนี่ ระหว่างไม่มีหิริกับมีหิริ ระหว่างไม่มีโอตตัปปะกับมีโอตตัปปะ

นี่เป็นเรื่องที่จะทำให้กุศลธรรมที่เป็นพละเจริญขึ้น

เมื่อประกอบด้วยพละทั้ง ๗ เป็นบัณฑิต ย่อมอยู่เป็นสุข เลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย ย่อมเห็นอรรถแห่งธรรมชัดด้วยปัญญา และสุดท้ายก็คือ ความหลุดพ้น แห่งจิต คือ การดับของจิตขณะสุดท้าย ย่อมมีได้ เหมือนความดับแห่งประทีป

เดิมชีวิตประจำวันก่อนที่จะได้ฟังธรรมคงจะเป็นบุคคลหนึ่ง และเมื่อได้ฟังธรรมแล้ว แต่ละท่านก็คงจะเห็นตัวท่านค่อยๆ เปลี่ยนไป มีการพิจารณาธรรมแยบคายขึ้น และมีกุศลที่เกิดได้บ่อยกว่าแต่ก่อนซึ่งพิจารณาโดยไม่แยบคาย ทำให้มีความพอใจในโลภะ ความพอใจในโทสะ คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นต้องมีในโอกาสต่างๆ ในกาลต่างๆ

แต่ชีวิตย่อมเปลี่ยนไป ถ้าได้พิจารณาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน พระสูตรต่างๆ แม้โดยย่อ ซึ่งเป็นการเตือนพุทธบริษัท เช่น ข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวรรค ชราสุตตนิทเทสที่ ๖

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้คดโกง กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่ตั้งมั่น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ไม่นับถือเรา

นี่ก็เตือนได้

ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เป็นผู้ไปปราศแล้วจากธรรมวินัยนี้ และย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

อกุศลแม้เพียงเล็กน้อยนิดหน่อย ซึ่งอาจจะไม่ได้สังเกตเลย แต่พระผู้มีพระภาคก็ตรัสโดยเฉพาะกับพระภิกษุให้เห็นว่า ในเพศของบรรพชิตซึ่งเป็นเพศของการขัดเกลากิเลส ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ต้องมีความระมัดระวังที่จะแสดง ให้เห็นว่า เป็นการเคารพนับถือในพระศาสดา ในพระผู้มีพระภาคหรือไม่ เพราะถ้า ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้คดโกง กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มีมานะจัด มีจิตไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ไม่นับถือเรา เท่านี้ก็เตือนได้แล้วทุกครั้งที่อกุศลจิตจะเกิด

และสำหรับคฤหัสถ์ก็เช่นเดียวกัน พระธรรมทั้งหมดแม้ว่าจะแสดงกับพระภิกษุ แต่ก็สำหรับพุทธบริษัททั้งหมดด้วย ไม่ใช่เฉพาะกับพระภิกษุเท่านั้น ซึ่งท่านผู้ฟัง ก็จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างต้องมีเหตุ คือ เหตุที่จะทำให้เป็นผู้คดโกง เป็นผู้กระด้าง พูดพล่อย กรีดกราย มานะจัด จิตไม่ตั้งมั่น ก็ต้องมีเหตุ คือ มีความสำคัญติดข้อง ยึดมั่นในตัวตน มีความรักตน มีความต้องการสมบัติต่างๆ เพื่อตน ซึ่งทำให้ผู้นั้น มีจิตไม่ตั้งมั่น หวั่นไหว

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะดับอกุศลได้หมดสิ้น จะต้องดับการยึดถือสภาพธรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งหมด เพราะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งมีหนทางเดียว คือ ต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะว่าในขณะนี้เอง สติปัฏฐานสามารถเกิดระลึกรู้สภาพธรรมได้

ถ. ในเรื่องนี้จะเน้นที่หิริโอตตัปปะ เพราะในชีวิตประจำวันก่อนศึกษาธรรม ทำอะไรไปก็ตามสบาย ไม่ได้กลัวบาปกลัวกรรม แต่เมื่อศึกษาธรรมแล้ว ชีวิตประจำวันก็มีทานบ้าง ศีลบ้าง ภาวนาบ้าง เมื่อก่อนเราจะทำอะไรก็ทำเลย แต่เดี๋ยวนี้มีการถอย ไม่ทำ กลัวบาป แต่เราก็ไม่ได้นึกถึงคำว่า หิริโอตตัปปะ ซึ่งก็มี อยู่แล้ว ใช่ไหม

สุ. ขณะนั้นไม่มีตัวตน แต่ขณะใดที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นกุศลจิต ขณะนั้นต้องประกอบด้วยโสภณเจตสิก ซึ่งต้องมีหิริเจตสิกและโอตตัปปะเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ถ. แต่หิริโอตตัปปะยังไม่ถึงขั้นไม่เป็นตัวตน ยังเป็นตัวตนอยู่ ถ้า ไม่เป็นตัวตนเลย แม้หิริก็ไม่เป็นตัวตน เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คงยังไม่ถึง ขั้นนั้น อย่างดีก็แค่เราถอยจากอกุศลเท่านั้นเอง

สุ. โสภณธรรมมีหลายขั้น หลายระดับ เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะเห็นได้ว่า การเป็น พระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน ซึ่งดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนนั้น เป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ทุกอย่างที่ปรากฏ ไม่เหลือสภาพธรรมใดที่ยังเป็นตัวตนอยู่ เพราะถ้ายังเหลือสภาพธรรมใดที่ยังยึดถือว่า เป็นตัวตน ก็ไม่ใช่พระโสดาบัน ยังไม่ได้ดับความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนเป็นสมุจเฉท

ถ. คงจะต้องค่อยๆ ไป

สุ. จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังรักตัว ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ต้องการ ให้ตัวตนมีความสุข ก็คงเป็นผู้ที่คิดว่า ชีวิตจะเป็นสุขได้ ต้องเป็นชีวิตที่มีทรัพย์สมบัติ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโลภะที่จะแสวงหาสมบัติให้ตาเห็น ให้หูได้ยิน ให้จมูกได้กลิ่น ให้ลิ้นลิ้มรส ให้กายกระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ แต่ต่างกับสมบัติในพระธรรมซึ่งมี ๒ อย่าง คือ ประเภทหนึ่งทำให้ติดข้องวนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ อีกประเภทหนึ่ง ทำให้ละคลายความติดข้อง ทำให้ไปสู่ทางดับ ไม่ใช่ไปสู่ทางเกิด

เปิด  254
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565