แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2080
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๕
ขอกล่าวทบทวนเรื่องเจตสิก ๕๒ ประเภท ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต และเกิดพร้อมจิตตลอดเวลา ไม่มีขณะใดที่ปราศจากเจตสิกเลย
เจตสิก ๕๒ ประเภท แบ่งเป็น อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ประเภท
อกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท
โสภณเจตสิก ๒๕ ประเภท
สำหรับอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ แบ่งเป็น
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง เกิดกับจิตทุกประเภท
ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง เว้นไม่เกิดกับจิตบางประเภท
ที่กล่าวถึงสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่า ขณะนี้มีสภาพธรรม ท่านจะรู้หรือไม่รู้ เมื่อได้ฟัง พิจารณา และเข้าใจได้ว่า มีจริงๆ แต่เมื่อยังไม่รู้ ก็ค่อยๆ พิจารณาไป จนกว่าจะรู้ขึ้น
สำหรับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง ซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท ได้แก่
๑. ผัสสเจตสิก ๒. เวทนาเจตสิก ๓. สัญญาเจตสิก ๔. เจตนาเจตสิก ๕. เอกัคคตาเจตสิก ๖. ชีวิตินทริยเจตสิก ๗. มนสิการเจตสิก
มีสัตว์บุคคลตรงไหนบ้าง แม้แต่เจตนาเจตสิก ความตั้งใจ ความจงใจ ก็เป็นเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกับผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ซึ่งในขณะนี้ไม่ปราศจาก เจตสิกทั้ง ๗ สักขณะจิตเดียว
สำหรับปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเว้นไม่เกิดกับจิตบางประเภท ได้แก่
๑.วิตกเจตสิก ๒.วิจารเจตสิก ๓.อธิโมกขเจตสิก ๔.วิริยเจตสิก ๕. ปีติเจตสิก ๖. ฉันทเจตสิก
แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตแต่ละขณะ ซึ่งถ้าพระผู้มีพระภาค ไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสดง ก็ไม่มีผู้ใดสามารถเห็นความเป็นอนัตตาของจิตซึ่งเกิดดับว่าต้องอาศัยปัจจัย เป็นจิตแต่ละประเภทเพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยมากน้อย แต่ละประเภทนั่นเอง
สำหรับอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท หรือ ๑๔ ดวง คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ มานเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ กุกกุจจเจตสิก ๑ ถีนเจตสิก ๑ มิทธเจตสิก ๑ วิจิกิจฉาเจตสิก ๑
อกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท แบ่งเป็น ๕ จำพวก คือ
โมจตุกะ ๔ เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง ได้แก่ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑
โลติกะ ๓ เกิดร่วมกับโลภมูลจิต ได้แก่ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ มานเจตสิก ๑
โทจตุกะ ๔ เกิดร่วมกับโทสมูลจิต ได้แก่ โทสเจตสิก ๑ อิสสาเจตสิก ๑ มัจฉริยเจตสิก ๑ กุกกุจจเจตสิก ๑
ถีทุกะ ๒ ได้แก่ ถีนเจตสิก ๑ มิทธเจตสิก ๑
และเอกวิจิกิจฉา ๑ คือ วิจิกิจฉาเจตสิก ๑
รวมเป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ ทุกคนมี ให้ทราบว่า มากน้อยประการใด ถ้าเป็นพวกของโลภะก็มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยบ้าง มานะเกิดร่วมด้วยบ้าง ถ้าเป็น พวกของโทสะก็มีอิสสาคือริษยาเกิดร่วมด้วยบ้าง มัจฉริยะคือความตระหนี่ เกิดร่วมด้วยบ้าง กุกกุจจะคือความเดือดร้อนรำคาญใจเกิดร่วมด้วยบ้าง นอกจากนั้น ก็มีถีนมิทธเจตสิกเกิดร่วมกับจิตที่มีกำลังอ่อน และวิจิกิจฉาเจตสิกคือความสงสัย ในสภาพธรรมเกิดกับโมหมูลจิต ซึ่งนี่คือชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะได้ทบทวนว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย
สำหรับเจตสิกฝ่ายดีนานๆ จะเกิด ไม่ได้เกิดบ่อยเหมือนอย่างอกุศลเจตสิก ๑๔ ซึ่งอกุศลเจตสิกทั้ง ๑๔ ดวง ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลยังมีอยู่ครบ และใน บางกาล บางเวลา ก็จะเป็นขณะที่โสภณเจตสิกทั้งหลายที่สะสมมามีปัจจัยที่จะ เกิดขึ้น
สำหรับโสภณเจตสิกมี ๒๕ ดวง ได้แก่ ๑. สัทธาเจตสิก ๒. สติเจตสิก ๓. หิริเจตสิก ๔. โอตตัปปเจตสิก ๕. อโลภเจตสิก ๖. อโทสเจตสิก ๗. ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก
นี่เป็นเรื่องทบทวน ท่านผู้ฟังก็คงจะคุ้นหู และทราบลักษณะของโสภณเจตสิกว่า ชื่อต่างๆ เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณอย่างไร
๘. กายปัสสัทธิเจตสิก ๙. จิตตปัสสัทธิเจตสิก
๑๐. กายลหุตาเจตสิก ๑๑. จิตตลหุตาเจตสิก
๑๒. กายมุทุตาเจตสิก ๑๓. จิตตมุทุตาเจตสิก
๑๔. กายกัมมัญญตาเจตสิก ๑๕. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก
๑๖. กายปาคุญญตาเจตสิก ๑๗. จิตตปาคุญญตาเจตสิก
๑๘. กายุชุกตาเจตสิก ๑๙. จิตตุชุกตาเจตสิก
ขณะนี้ไม่ทราบ ใช่ไหม โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง กำลังเกิด ขณะที่ มีศรัทธา มีการฟังพระธรรม ขณะนั้นมีสติ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโลภะ มีอโทสะ มีตัตรมัชฌัตตตา และมีโสภณธรรม ๖ คู่ คือ กายปัสสัทธิเจตสิก จิตตปัสสัทธิเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ระงับความ กระวนกระวายของจิต
กายลหุตาเจตสิก จิตตลหุตาเจตสิก เป็นภาวะที่เบา เป็นไปเร็ว ระงับความหนักของกายและจิต ขณะนี้เอง
กายมุทุตาเจตสิก จิตตมุทุตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่อ่อนโยน ไม่กระด้างของกายและจิต
กายกัมมัญญตาเจตสิก จิตตกัมมัญญตาเจตสิก เป็นสภาพของกายและจิต ที่ควรแก่การงานที่เป็นกุศล
กายปาคุญญตาเจตสิก จิตตปาคุญญตาเจตสิก เป็นสภาพความคล่องแคล่วของกายและจิต ไม่อืดอาด ไม่ป่วยไข้
กายุชุกตาเจตสิก จิตตุชุกตาเจตสิก เป็นความตรงของกายและจิต ซึ่งย่ำยีความคดแห่งกายและจิต
โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงนี้ เป็นสภาพธรรมที่ขาดไม่ได้เลยทุกขณะที่ กุศลจิตเกิด
กำลังมีเจตสิกเหล่านี้ แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงโดยละเอียด จะไม่รู้ในสภาพธรรมเหล่านี้เลย
ขณะนี้สงบไหม ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่สามารถบอกได้เลย เพราะว่ากุศล กับอกุศลเกิดสลับเร็ว ถ้ามีความสงบมาก นาน จนปรากฏ เมื่อนั้นก็รู้ว่า เป็นความสงบ เวลาที่ฟังและเกิดปีติ เกิดโสมนัส ขณะนั้นจะปรากฏลักษณะ สภาพของกุศลจิตได้ แต่ถ้าฟังไปและมีอกุศลจิตเกิดแทรกสลับ ลักษณะของ โสภณสาธารณเจตสิกเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว อกุศลมากและมีกำลัง เพราะฉะนั้น สำหรับธรรมที่เป็นกุศลที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัย โสภณสาธารณเจตสิกถึง ๑๙ ประเภท เช่น กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิเกิดขณะใด ขณะนั้นกายปัสสัทธิระงับความกระวนกระวายของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และจิตตปัสสัทธิระงับความกระวนกระวายของจิต เพราะว่าขณะที่จิต ๑ ขณะเกิดขึ้น ต้องประกอบด้วยเจตสิกมากกว่า ๑ ประเภท
เพราะฉะนั้น จากอกุศลเจตสิก คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ซึ่งต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง ทางฝ่ายกุศลก็ต้องมีโสภณเจตสิกถึง ๑๙ ประเภท รวมทั้งกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ ซึ่งเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับทางฝ่ายอกุศล คือ อุทธัจจะ เป็นสภาพที่ไม่สงบ แต่กายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิเกิดกับกุศลจิตขณะใด ขณะนั้นสงบจากอกุศล แม้เพียงชั่วขณะสั้นๆ ก็จะเห็นความต่างกันที่ได้ทรงแสดง ไว้ว่า สำหรับอุทธัจจะซึ่งเป็นสภาพที่ไม่สงบเปรียบเหมือนน้ำกระเพื่อมเมื่อลมพัด หรือเหมือนธงชายหรือธงแผ่นผ้าที่โบกพลิ้วเพราะลมพัด ซึ่งมีอาการพลุกพล่าน เป็นอาการปรากฏ หรือเหมือนเถ้าที่ฟุ้งเพราะหินทุ่มลง นั่นเป็นลักษณะของอุทธัจจะ มีอโยนิโสมนสิการเป็นเหตุใกล้ เพราะเมื่อพิจารณาโดยไม่แยบคายขณะใด ขณะนั้นจิตย่อมไม่สงบ แต่ก็ไม่รู้เลย ใช่ไหม เวลาที่โลภะเกิด โทสะเกิด ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ จะไม่เห็นสภาพความไม่สงบ แต่ถ้าสติปัฏฐานเกิดจะสามารถเห็นลักษณะที่ต่างกันว่า เวลาที่เป็นกุศล สงบจากความฟุ้งซ่าน สงบจากความที่เหมือนน้ำที่กระเพื่อม เพราะอกุศลต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ขณะใดที่กุศลจิตเกิด จะขาดกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิไม่ได้ เช่นเดียวกับโสภณเจตสิกที่เป็นคู่ๆ เช่น กายลหุตาเจตสิกและจิตตลหุตาเจตสิก
กายลหุตาเป็นภาวะที่บรรเทาความหนักของกายคือเจตสิก และจิตตลหุตา ก็เป็นเจตสิกที่บรรเทาความหนักของจิต ซึ่งทำให้จิตมีสภาพไม่เฉื่อยชา เป็นข้าศึกต่อ ถีนะมิทธะซึ่งทำให้กายและจิตหนักเป็นอกุศล
เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น อกุศลนั้นหนักจริงๆ เดือดร้อนมากจริงๆ ขวนขวายทำสิ่งต่างๆ ด้วยความพอใจ ด้วยความเพลิดเพลินก็จริง แต่แฝงไว้ด้วยทุกข์ มีใครบ้างที่ต้องการความสนุก และไม่เป็นทุกข์ในการจัดหาความสนุกนั้นๆ แม้แต่ การปรุงอาหารให้อร่อย ก็ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนในการทำอาหารนั้นให้มีรสชาติอย่างที่ต้องการ
แสดงให้เห็นถึงภาวะที่หนักของความต้องการสิ่งที่จะทำให้เพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นในศิลปะหรือในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้นที่กำลังขวนขวาย ในขณะนั้นต้องเป็นสภาพธรรม ที่หนัก แต่กายลหุตาและจิตตลหุตา เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตมีสภาพที่เบาและระงับความหนักของอกุศล ทำให้จิตไม่เฉื่อยชาเป็นกุศลในขณะนั้น
ขณะนี้ถ้าเป็นกุศล ก็ต้องมีกายลหุตาเจตสิก และจิตตลหุตาเจตสิกด้วย
สำหรับกายมุทุตาเจตสิกและจิตตมุทุตาเจตสิก กายมุทุตาเจตสิกเป็นเจตสิกที่ทำให้เจตสิกอื่นที่เกิดกับจิตอ่อนโยน และจิตตมุทุตาเจตสิกก็ทำให้จิตอ่อนโยน ซึ่งจะต้องคู่กันเสมอ ทั้งเจตสิกที่ทำให้เจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกับจิตเป็นกุศล และเจตสิก ที่เป็นจิตตมุทุตาเจตสิกก็จะทำให้จิตนั้นเป็นสภาพที่อ่อนโยน ไม่กระด้าง
สังเกตได้ไหม กุศลจิตกับอกุศลจิต ถ้าเป็นกุศลจิตจะเป็นสภาพจิตที่อ่อนโยน เป็นกุศล แต่ถ้าเป็นอกุศลจะเป็นสภาพที่กระด้าง ด้วยเหตุนี้กายมุทุตาและจิตตมุทุตาเป็นสภาพที่ไม่กักขฬะ เป็นความสนิทเกลี้ยงเกลาไม่ขรุขระของกายและจิต คือ ของจิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกันในขณะที่เป็นกุศล
กายกัมมัญญตาและจิตตกัมมัญญตา เป็นเจตสิกที่ทำให้กายและจิต ควรแก่การงานที่เป็นกุศล
ถ. เจตสิก ๖ คู่ มีคำว่า กาย มีคำว่า จิต เช่น กายลหุตา หมายถึง เป็นเจตสิกที่ทำให้เจตสิกอื่นๆ เบา หรือทำให้กายเบา
สุ. ไม่ใช่รูป ต้องหมายความถึงเจตสิก เพราะเวลาที่อกุศลจิตเกิด ประกอบด้วยเจตสิกหลายประเภทที่เป็นอกุศลที่ช่วยกันทำกิจการงานฉันใด …
ถ. กายลหุตาเป็นเจตสิกที่ทำให้เจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วยเบา
สุ. ถูกต้อง
ถ. และจิตตลหุตาเป็นเจตสิกที่ทำให้จิตอื่นที่เกิดร่วมด้วยเบา
สุ. ไม่ใช่จิตอื่น ที่เจตสิกนั้นเกิดร่วมด้วยเบา
ถ. จิตตลหุตา
สุ. จิตตลหุตาเจตสิก ทำให้จิตที่เกิดร่วมด้วยกับเจตสิกนั้นเป็นภาวะที่เบา
ถ. อันหนึ่งทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเบา อีกอันหนึ่งทำให้จิตที่เกิด ร่วมด้วยเบา
สุ. ถูกต้อง คำว่า กาย ในที่นี้หมายความถึงนามกาย คือ เจตสิก
สำหรับกายปาคุญญตาเจตสิกและจิตตปาคุญญตาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ทำให้กายและจิตคล่องแคล่วไม่อืดอาด เหมือนคนที่ไม่ป่วยไข้ เพราะคนที่ป่วยไข้ ทำอะไรก็ไม่คล่องแคล่ว ซึ่งเหมือนกับอกุศลจิต ยากที่จะปรับหรือเปลี่ยนปรุงแต่งให้เป็นกุศลได้ จึงต้องอาศัยกายปาคุญญตาเจตสิก และจิตตปาคุญญตาเจตสิกด้วย
สำหรับคู่ที่ ๖ คือ กายุชุกตาเจตสิกและจิตตุชุกตาเจตสิก กายุชุกตาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมกันตรง ไม่คด และสำหรับจิตตุชุกตาเจตสิก ก็เป็นเจตสิกที่ทำให้จิตที่เกิดร่วมด้วยนั้นตรงต่อกุศล ย่ำยีความคดแห่งกายและจิต เพราะขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นคด ไม่ตรง เป็นข้าศึกต่อกิเลสที่เป็นมายา และสาเถยยะเป็นต้น เพราะว่ามายาและสาเถยยะทำให้กายและจิตคดโกง
ข้อความใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบาย อุชุกตา แสดงความที่สภาพธรรมเป็นอกุศล ไม่ตรง ตามลำดับขั้น คือ ถ้าไม่ตรงบ้างก็มีลักษณะเหมือนงอนไถ ถ้าไม่ตรงยิ่งกว่านั้นก็มีลักษณะโค้งเหมือนเสี้ยวพระจันทร์ ถ้าไม่ตรง มากกว่านั้นอีกก็มีลักษณะที่คดงอ เป็นภาวะที่คด ซึ่งข้อความมีว่า
ผู้ใดขณะที่ทำบาป แต่พูดว่า ใครจะไม่กลัวบาป ผู้นั้นชื่อว่างอนเหมือนงอนไถ เพราะไม่คดโกงเกินไป
ผู้ใดกำลังทำบาป พูดว่า กลัวบาป ผู้นั้นชื่อว่าโค้งเหมือนเสี้ยวดวงจันทร์ เพราะโดยมากเป็นคนโกง
ผู้ใดทำบาป แต่กลับพูดว่า ไม่ทำ ผู้นั้นชื่อว่าคด เพราะวกวน ไม่ตรง
แสดงให้เห็นถึงกำลังของอกุศล ซึ่งทุกท่านจะสังเกตตนเองได้ว่า ตราบใดที่ ยังไม่หมดกิเลส จะมีบางกาลซึ่งอาจจะเป็นผู้ที่คดบ้าง โกงบ้าง คดงอบ้าง เล็กๆ น้อยๆ หรือโค้ง
ข้อความต่อไปมีว่า
อนึ่ง ผู้ใดมีกรรมและทวารอย่างใดอย่างหนึ่งไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่างอน เหมือนปลายงอนไถ
ผู้ใดมีกรรมและทวารสองไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่าโค้งเหมือนเสี้ยววงจันทร์
ผู้ใดมีกรรมและทวารทั้ง ๓ ไม่บริสุทธิ์ ผู้นั้นชื่อว่าคด
ซึ่งข้อความในอรรถกถาแสดงย้ำว่า
ความคดหรือความไม่คดนั้นเป็นสภาพของขันธ์ คือ นามธรรม
ถ้าเป็นความคดก็เป็นนามธรรมที่เป็นอกุศล ถ้าเป็นความไม่คดก็เป็นนามธรรมที่ไม่มีกิเลสในขณะนั้น แสดงว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เป็นสภาพธรรม แต่ละอย่าง ซึ่งปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งสามารถเห็นสภาพธรรมตามความ เป็นจริงได้
นี่ก็เป็นโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง โสภณเจตสิกทั้งหมดมี ๒๕ ดวง เพราะฉะนั้น ยังเหลืออีก ๖ ดวง ที่เป็น โสภณเจตสิก ซึ่งไม่ได้เกิดทั่วไปเหมือนอย่างโสภณสาธารณเจตสิก ได้แก่ วิรตีเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ และปัญญินทรีย์ คือ ปัญญาเจตสิก ๑
วิรตีเจตสิก ๓ ได้แก่ เจตสิกซึ่งทำกิจวิรัติทุจริต มี ๓ ดวง หรือ ๓ ประเภท คือ สัมมาวาจาเจตสิก ๑ สัมมากัมมันตเจตสิก ๑ สัมมาอาชีวเจตสิก ๑
สัมมาวาจาเป็นเจตสิกที่วิรัติวจีทุจริต สัมมากัมมันตะเป็นเจตสิกที่วิรัติ กายทุจริต และสัมมาอาชีวะเป็นเจตสิกที่วิรัติทั้งกายทุจริตและวจีทุจริตในเรื่องของ การอาชีพ ซึ่งต่างกับสัมมากัมมันตะและสัมมาวาจา เพราะว่าเสพเป็นประจำ เป็นความเป็นอยู่ของการเลี้ยงชีพของชีวิต ขณะใดที่เว้นอาชีพที่ทุจริต ขณะนั้นเป็นสัมมาอาชีวะ
ลักษณะของวิรตีเจตสิกทั้ง ๓ คือ
มีการไม่ล่วงละเมิดวัตถุแห่งกายทุจริตเป็นต้น เป็นลักษณะ
มีการเบือนหน้าจากวัตถุแห่งกายทุจริตเป็นต้น เป็นรส
มีการไม่กระทำวัตถุแห่งกายทุจริตเป็นต้น เป็นปัจจุปัฏฐาน
มีคุณธรรม คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ และอัปปิจฉตาคือความเป็นผู้มีปรารถนาน้อย เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน
วิรตีเจตสิกนั้นพึงเห็นว่า มีภาวะที่ทำจิตให้เบือนหน้าแม้จากการทำบาป