แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2072

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๔


สุ. ขอกล่าวถึงข้อความในอรรถกถา ปฐมราชสูตร ซึ่งเป็นเรื่องของ อุโบสถศีล มีข้อความว่า

การรักษาอุโบสถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโปสถํ อุปวสนฺติ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายอธิษฐานองค์อุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง

ใช้คำว่า อธิษฐาน

บทว่า ปฏิชาคโรนฺติ ความว่า ทำการ (รักษา) ปฏิชาครอุโบสถ

นี่เป็นชื่อของอุโบสถ

ชนทั้งหลายเมื่อทำการ (รักษา) ปฏิชาครอุโบสถนั้น ย่อมทำด้วยการรับและ การส่งวันอุโบสถ ๔ วันในกึ่งเดือน ๑ (คือ)

เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๕ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๔ ค่ำ เมื่อจะ ส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๖ ค่ำ

เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๘ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๗ ค่ำ เมื่อจะ ส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๙ ค่ำ

เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๓ ค่ำ เมื่อจะ ส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๑๕ ค่ำ

เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๕ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๔ ค่ำ เมื่อจะ ส่งอุโบสถก็ส่งในวันแรม ๑ ค่ำ

แต่ไม่ได้บอกไว้ว่า จะต้องกล่าวต่อหน้าพระภิกษุหรือพระพุทธรูป เพียงแต่ บอกว่ามีการรับและการส่ง ถ้าเป็นปฏิชาครอุโบสถ

ถ. การอธิษฐาน ผมก็อธิษฐานทุกวันพระ แต่ไม่มีวันรับและวันส่ง คือ จะทำไปตลอดถ้าสามารถทำได้ ก็ยังยึดติด เพราะธรรมเป็นของละเอียด ความเข้าใจยังน้อย การศึกษาก็ยังน้อย ก็เลยกังวลว่า อาจจะทำอะไรที่ผิดหรือบกพร่องไป ถ้าขาดสติเมื่อไร กิเลสก็จะเกิดขึ้นทันทีในทุกขณะจิตไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มักจะคำนึงว่า เมื่อเราอธิษฐานไปแล้ว เราต้องทำให้ดีที่สุด แต่บางทีเมื่อเกิดมีลาภยศ สรรเสริญหรือสิ่งที่มาล่อ ทำให้จิตไขว้เขว ก็นึกขึ้นมาได้ว่า ทำไมเป็นแบบนี้ แสดงว่าเราศึกษาและเข้าใจธรรมไม่เพียงพอ

สุ. ขอถามว่า จุดประสงค์ที่ต้องการรักษาอุโบสถศีลนั้นเพื่ออะไร

ถ. จุดประสงค์ของผม คือ ต้องการทำแบบพระอรหันต์ในวันหนึ่งและ คืนหนึ่งให้ได้

สุ. แต่การที่จะเป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่ด้วยศีล นี่เป็นข้อที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น ที่ว่าจะกระทำแบบพระอรหันต์ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ต้องทราบด้วยว่า ไม่ใช่เพียงอุโบสถ แต่วันอุโบสถเป็นวันที่มีโอกาสจะได้กระทำการเจริญกุศลต่างๆ เช่น การฟังธรรม การพิจารณาธรรม การระลึกถึงกุศล เช่น ศีลของตน หรือการระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ หรือเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความเข้าใจอะไรเลยและจะกระทำตามพระอรหันต์ เพราะคิดว่าพระอรหันต์ ท่านมีศีล ๘ ข้อนี้

ถ. คือ ปฏิบัติให้ได้มาก ในทำนองว่า ท่านสามารถนอนบนที่นอนที่แข็งได้ ข้าพเจ้าก็สามารถนอนได้ ท่านอดมื้อเย็นได้ ข้าพเจ้าก็สามารถอดมื้อเย็นได้ ทำนองนี้

สุ. ตามพยัญชนะเป็นอย่างนั้น เพื่อจะได้อบรมอุปนิสัยเพื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง แต่จบเท่านั้นไม่ได้ เพราะถ้าเพียงแต่รักษาอุโบสถศีล ไม่นอนบนที่นอนสูงใหญ่ ไม่ประดับตบแต่ง และไม่บริโภคอาหารในเวลาวิกาล เท่านั้นไม่พอ นั่นเป็นแต่เพียงหนทางที่จะมีโอกาสระลึกถึงธรรม ปฏิบัติธรรม และเจริญกุศล

ถ. แสดงว่าไม่ควรยึดติดในสิ่งที่กระทำมาแล้ว หมายความว่าควรจะ กระทำกุศลให้มากยิ่งๆ ขึ้น ไม่ควรพะวงเมื่อทำผิดไปแล้ว ควรจะเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่ดี เมื่อมีสติ

สุ. ดิฉันคิดว่า ทุกคนถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในศีล ๕ เป็นนิจศีลแล้ว เป็นคนดี แล้วก็ต้องการที่จะเป็นคนดีขึ้น ซึ่งก็ต้องมีความมั่นใจในตัวเองว่า เป็นผู้ไม่ริษยา ไม่หลอกลวง ไม่พูดเท็จ เป็นผู้ไม่แข่งดี ไม่ได้มีอกุศลต่างๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้น ก็จะขัดเกลายิ่งขึ้นโดยการรักษาอุโบสถศีล พร้อมกับการศึกษาและปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมด้วย

ถ้าจะดูถึงคุณธรรม ศีล ๘ เป็นคุณธรรมประจำตัวของพระอนาคามีบุคคล คือ เป็นพื้นอัธยาศัยของท่านด้วยปัญญาที่ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น ท่านจะไม่มีการถอยกลับที่จะไม่เป็นผู้รักษาศีล ๘ เพราะว่าเป็นอัธยาศัยของท่าน แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็จะต้องรู้ว่า เพียงศีล ไม่ได้ทำให้สามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้ แต่เป็นเพียงอุปนิสัยของการขัดเกลากิเลส ซึ่งจะต้องศึกษา และเข้าใจธรรม และอบรมเจริญปัญญา มิฉะนั้นแล้วไม่พ้นจากโลภะ เพราะว่า หวังในผลของอุโบสถศีล

ผู้ฟัง ผมจะมาขออภัยท่านอาจารย์ที่กล่าวไม่ดีเอาไว้หลายอย่าง ซึ่งตามที่อาจารย์บรรยายธรรมมา โดยผมฟังทางวิทยุก็รู้สึกว่า ตัวเองพูดไม่จริงก็มีบ้าง อีกอย่างหนึ่งอาจารย์กล่าวถึงเรื่องสัจจะ หรือบารมีใดๆ ผมฟังแล้วหวนนึกถึงตัวเอง ที่เคยแสดงความโง่เขลาออกมา จึงมากราบขอให้อาจารย์อโหสิกรรมที่พูดจาไม่ดีออกไปแต่ปางก่อนก็มีบ้าง เท่าที่ระลึกได้ และระลึกไม่ได้คิดว่าก็คงมี โอกาสนี้ จึงขอประกาศไว้ ณ ที่นี้ เพราะผมยอมรับว่ามีโมหะเหมือนกัน ทำสิ่งใดไปก็ด้วยอำนาจกิเลสที่อยู่ในตัว ก็ขอสรรเสริญอาจารย์ที่กล่าวธรรมตรง และที่ผมเคยพูดถึง คำว่า ธาตุ ซึ่งอาจารย์ก็เคยกล่าวแล้ว แต่ผมกลับมดเท็จไปว่า อาจารย์ไม่เคยกล่าว คือ อาจารย์กล่าวขันธ์และอายตนะ แต่ไม่ได้กล่าวธาตุ ซึ่งจริงๆ อาจารย์กล่าวแล้ว ในอดีต เทปเก่ามี ผมปัญญาไม่ถึง เมื่อได้รับฟังแล้วจึงเกิดกุศลจิตนึกคิดว่า อาจารย์มีพระคุณทางธรรมต่อผม ที่ออกมานี้เพื่ออธิบายความในใจ ถ้าไม่ได้อธิบายมันร้อนรุ่ม จึงขออโหสิกรรมต่ออาจารย์ต่อหน้าพระปฏิมา

สุ. ขออนุโมทนาในผลของการฟังพระธรรม เพราะว่ายิ่งฟังพระธรรม มากเท่าไรก็จะได้รับประโยชน์แก่ตนเอง คือ เมื่อได้พิจารณาแล้วรู้จักตนเองขึ้น เพราะถ้าฟังพระธรรมแล้วไม่รู้จักตัวเอง แต่รู้จักคนอื่น ก็จะไม่ได้รับประโยชน์จาก พระธรรม เพราะฉะนั้น ก็ขออนุโมทนาในการเป็นผู้ได้รู้จักตนเอง

พระ เห็นโยมท่านผู้ฟังออกมาขอขมาโทษท่านอาจารย์ อาตมาก็คิดว่า ปกติในวันหนึ่งๆ พระภิกษุเมื่อได้ล่วงสิ่งที่ไม่ดี ไม่สมควร จะมีการแสดงอาบัติ หรือในวันปวารณาหลังจากอยู่จำพรรษาร่วมกัน ได้มีการกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่ไม่ดี ก็ได้มีการเปิดเผยเพื่อสละความชั่วต่างๆ หรือความไม่ดีต่างๆ ออกจากใจ ซึ่งอาตมาคิดว่า ดีมาก น่าอนุโมทนา เพราะเป็นปกติของผู้ที่ขัดเกลากิเลสจนกว่า จะเป็นพระอริยเจ้า ควรจะเปิดเผยสิ่งที่ไม่ดีออก

สุ. เจ้าค่ะ และเป็นที่อนุโมทนาในความจริงใจ ในความกล้าหาญที่จะเปิดเผยความผิดของตนเองด้วย เพราะว่าเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลยที่ใครจะเปิดเผยความผิดของตนเอง เมื่อท่านผู้ฟังพิจารณารู้จักตนเอง และกล้าเปิดเผยความผิดของตน และเป็นความจริงใจ ก็เป็นผลของการที่ได้ฟังพระธรรม ขออนุโมทนา

เรื่องของอุโบสถศีล ไม่ทราบอาจารย์สมพรจะเพิ่มเติมไหม เรื่องของการสมาทาน

สมพร เรื่องอุโบสถนี้มีเรื่องมาก เพราะว่าในสมัยนี้กับสมัยก่อนคนละอย่าง สมัยก่อนมีเจตนางดเว้น เช่น สัตว์บางอย่างมีความโกรธ แล้วบอกว่าจะเข้าจำอุโบสถ ตราบใดยังมีความโกรธอยู่จะไม่ออกไปหาอาหารกิน อุโบสถของเขาเป็นการขัดเกลากิเลสโดยตรง สมัยนี้เมื่อมีอุโบสถ พระพุทธเจ้าประกาศว่าควรเข้าจำอุโบสถ พวกเรา ก็ต้องพึ่งพระพุทธเจ้า ในสมัยที่มีพระพุทธเจ้าก็พึ่งพระพุทธเจ้า พึ่งพระสงฆ์ แต่ถ้าเราไม่มีโอกาสที่จะพึ่งพระสงฆ์คือสมาทานจากพระจริงๆ เจตนางดเว้นก็เป็นการ ขัดเกลากิเลสเหมือนกัน การขัดเกลากิเลสไม่จำเป็นต้องพึ่งพระก็ได้ ในสมัยพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็ควรพึ่งพระ ถ้ามีที่พึ่งก็ควรพึ่ง เพราะเราจะได้สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อีก เช่น การฟังธรรม แนะนำในการปฏิบัติต่างๆ ก็สามารถจะได้ด้วย แต่ถ้าเรามี โอกาสน้อย อย่างเรามาวัดอาจจะเสียงานเสียการ เราก็สมาทานวิรัติงดเว้นของเรา เป็นการขัดเกลากิเลสได้เหมือนกัน

สุ. โดยศัพท์ สมาทาน หมายถึงการถือเอาข้อปฏิบัติ ถ้าไม่มีภิกษุเลย จะไม่รักษาศีล ๕ หรือไม่รักษาอุโบสถก็คงจะขาดประโยชน์ เพราะฉะนั้น ถ้ามี และจะสมาทานกับพระภิกษุ ก็แล้วแต่อัธยาศัย ถ้าไม่มี ก็สมาทานเอง งดเว้นเอง

สมพร ในพระสูตรกล่าวไว้อย่างนี้ว่า ในเมื่อพระศาสนาเกิดขึ้นแล้ว มีที่พึ่งแล้ว ส่วนมากจะมาสมาทานจากพระ แต่มีส่วนน้อยที่สมาทานด้วยตนเอง เพราะว่าไม่มีเวลา ไม่มีโอกาส

พระ แต่ข้อความของศีล ๕ ไม่ได้ระบุว่า วันหนึ่งคืนหนึ่ง แต่เป็นปกติศีล

สุ. เพราะฉะนั้น อุโบสถศีลต่างจากศีล ๕ ซึ่งเป็นปกติและเป็นนิจศีล ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจละเอียดในวินัยด้วย มิฉะนั้นแล้วบางท่านอาจจะรักษาแล้วก็ บริโภคนม อย่างนั้นก็ไม่ใช่อุโบสถศีล

พระ อย่างการที่อาหารจะล่วงลำคอ เช่น เคี้ยวหมาก ซึ่งเป็นน้ำที่ล่วงลำคอก็จริง อาตมาก็ไม่เคยฉัน อาจจะเศษต่างๆ กลืนลงไป มีเจตนากลืนลงไปหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ต้องศึกษาให้ละเอียดขึ้น เพราะว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจธรรมมากกว่า ที่จะหวังบุญมากๆ ซึ่งอาจจะแทรกความเข้าใจผิด มิฉะนั้นแล้วศีล ๕ จะเป็นปกติ ที่ดีกว่า เข้าใจได้ง่ายกว่า

สุ. เมื่อเป็นผู้ที่สามารถรักษาศีล ๕ ได้ ก็เป็นอุบาสกที่ดี เพราะสามารถ มีศีล ๕ เป็นนิจศีล และถ้าสามารถขัดเกลาตนเองยิ่งขึ้นก็ยิ่งเป็นการดี เพียงแต่อาจจะไม่ต้องนับเป็นข้อๆ เพราะถ้ารู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีแล้วกระทำ เช่น อาชีวัฏฐมกศีล เป็นศีล ๘ ข้อเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นในวันอุโบสถ เมื่อไรก็ได้ เพราะเป็น การละเว้นกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ และอาชีวะเป็นที่ ๘ คือ เป็นผู้ที่ไม่กระทำ กายทุจริต ๓ ไม่กระทำวจีทุจริต ๔ และมีอาชีวะที่บริสุทธิ์ นั่นก็สามารถเป็นศีล ๘ ที่เป็นปกติประจำวัน ชื่อว่าอาชีวัฏฐมกศีล ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ในวันอุโบสถเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรักษาอุโบสถจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ มีความละเอียด และมีความเข้าใจในจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีลว่า ผู้ที่จะดับกิเลสเป็น พระอรหันต์ต้องมีปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย ไม่ใช่คิดว่าจะรักษาอุโบสถศีลเพราะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก แล้วก็จะเป็นเหมือนท้าวสักกะ

ขณะนี้ก็เป็นเรื่องของสัจจบารมี ซึ่งสัจจธรรมคือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ก็ไม่ง่ายที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น

นี่เป็นเรื่องของอริยสัจจธรรม เป็นสัจจธรรมที่ทำให้ผู้ที่สามารถรู้แจ้ง สภาพธรรมนั้นเป็นพระอริยบุคคล แต่ต้องทราบว่าเป็นเรื่องอบรมเจริญปัญญา ฟัง พิจารณา แล้วอบรมเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตรงกับสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครจะรู้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ใครรู้ ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่กำลังคิดนึก ทุกวันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น อริยสัจจธรรมเป็นสิ่งที่ยาก แต่สามารถอบรมเจริญปัญญาและบารมีทั้งหลายจนกว่าจะเพิ่มความรู้ลักษณะของสภาพธรรมขึ้น

เทียบกับในทางโลก ความจริงในทางโลกก็รู้ไม่ง่ายเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ข่าวคราวที่ได้ยินได้ฟังทางหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าเรื่องใกล้ เรื่องไกล จะเห็นได้ว่า เรื่องจริงๆ รู้ยาก เพราะบางทีสิ่งที่รู้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จริง แต่เข้าใจว่าจริง เพราะว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามความคิด ความสับสนของจิต ของกิเลสของแต่ละคน ที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างยากที่จะรู้ความจริงได้

สำหรับการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งยากกว่าความจริงทางโลก ต้องเป็นผู้ที่นิยมในสัจจะ ในความจริงของตนเอง ซึ่งจะต้องอบรมทั้งกาย ทั้งวาจา และใจด้วย ทั้งในเรื่องที่อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เหมือนกับเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ เช่น เรื่องคำพูด หรือเรื่องการนัดหมาย เรื่องสัญญา สิ่งเหล่านี้บางท่านคิดว่า ไม่เป็นไร เล็กน้อย แต่ความจริงแล้วจิตอะไรในขณะนั้นที่รู้สึกว่าเรื่องนั้นไม่จำเป็นจะต้องตรงหรือจริงตามที่ได้พูด หรือตามที่คิดไว้

แสดงให้เห็นว่า จิตของแต่ละคนละเอียดและลึก ถ้าไม่มีปัญญาพร้อมสติจริงๆ ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า แม้แต่เพียงกิเลสอย่างบางเบา เล็กน้อย นั่นก็เกิดจากการสะสม ไม่ใช่เป็นเฉพาะในชาตินี้ชาติเดียว เพราะถ้าชาตินี้เป็นอย่างนี้ ก็ย้อนไปได้เลยว่า ชาติก่อน และชาติก่อนๆ และชาติก่อนๆ โน้น ไม่ว่าจะเคยเกิดเป็นใคร มีชีวิตอย่างไร แต่กิเลสเหล่านี้ไม่ได้เบาบางเลย เพราะว่าแม้ในชาตินี้ก็ยังเป็นอย่างนี้

ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ นอกจากจะเป็นผู้ที่รักสัจจะ ความจริง ต้องการที่จะรู้ความจริงแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่นิยมขัดเกลาตนเองให้เป็นผู้ที่ มีกายวาจาจริง และต้องเป็นผู้ที่หนักแน่นมั่นคงในการเจริญกุศลซึ่งเป็นบารมีต่อไป คือ อธิษฐานบารมี

จิตเปลี่ยนแปลงได้ เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล บางทีตั้งใจเหลือเกิน ที่จะเป็นกุศล แต่เมื่อมีอกุศลผ่านมาชักชวน คนนั้นก็ทิ้งกุศลอย่างง่ายๆ และไป ตามอกุศล แสดงให้เห็นถึงความหนักแน่นว่า มีมาก หรือมีน้อย ในการที่จะเป็น ผู้ที่ขัดเกลากิเลส หรือไม่คลอนแคลนในกุศลธรรม ซึ่งความตั้งมั่นคงไม่อ่อนไหวไป ตามกิเลส ไม่คลอนแคลนในกุศลธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ทุกท่านที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องเห็นประโยชน์ เพราะถ้าขาดบารมีนี้ กุศลทั้งหลายเจริญไม่ได้

ขอกล่าวถึงพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในพระชาตินั้นพระองค์ทรงมีอธิษฐานปรมัตถบารมีอย่างไร

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าเรื่องพระชาติในอดีตของพระองค์ว่า

ในกาลเมื่อเราเป็นโอรสของพระเจ้ากาสี ในกาลนั้นชื่อว่ามูคผักขะ ชนทั้งหลายเรียกเราว่า เตมิยะ ชนทั้งหลายทั้งปวงตั้งแต่พระมารดาพระบิดาเป็นต้นเรียกเราว่า มูคผักขะ เพราะอธิษฐานเป็นคนใบ้และเป็นคนง่อยเปลี้ย

อนึ่ง พระโพธิสัตว์นั้น ยังพระทัยของพระราชาและใจของอำมาตย์ทั้งหลาย เป็นต้นให้ชุ่มชื่นด้วยปีติและสิเนหาอย่างยิ่ง ฉะนั้น จึงได้นามว่า เตมิยกุมาร

มี ๒ ชื่อ เพราะมีเหตุ ๒ อย่าง

ในพระชาตินั้น

ในอดีตกาลครั้งพระเจ้ากาสีครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระองค์มีสนม ๑๖,๐๐๐ นาง สนมเหล่านั้นไม่ได้มีบุตรหรือธิดาแม้แต่คนเดียว ชาวพระนคร ก็เดือดร้อนว่า ไม่มีพระโอรสที่จะรักษาพระราชวงศ์ต่อไป จึงได้กราบทูลพระราชาให้ปรารถนาพระโอรสเถิด พวกสนมเหล่านั้นก็ทำการบวงสรวงพระจันทร์เป็นต้น แต่ก็ไม่มีบุตร ฝ่ายพระนางจันทาเทวีพระธิดาของพระเจ้ามัททราช อัครมเหสี ของพระราชานั้น พระนางสมบูรณ์ด้วยศีล เมื่อพระราชาตรัสให้พระนางปรารถนาโอรส ในวันเพ็ญพระนางทรงรักษาอุโบสถ ระลึกถึงศีลของตนแล้วทรงตั้ง สัจจกิริยาว่า หากเรามีศีลไม่ขาด ด้วยสัจจะของเรานี้ ขอให้มีพระโอรส

เปิด  316
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565