แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2073

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๒๙ กันยายน ๒๕๓๔


ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวีนั้น เมื่อ พระโพธิสัตว์ประสูติ กุมาร ๕๐๐ คนก็เกิดในเรือนของพวกอำมาตย์ทั้งหลาย พระราชาทรงให้กุมารเหล่านี้เป็นบริวารของพระโอรส ทรงส่งแม่นม ๕๐๐ คน และเครื่องประดับของกุมารให้แก่กุมาร ๕๐๐ คนนั้น

อนึ่ง พระราชาทรงให้แม่นม ๖๔ คน ปรนนิบัติดูแลพระกุมาร เมื่อพระกุมารทรงเจริญมีพระชนม์ได้ ๑ เดือน พวกแม่นมนำพระกุมารมาเฝ้าพระราชา พระราชาทรงให้พระกุมารประทับนั่งบนพระเพลา

ในขณะนั้นโจร ๔ คนถูกนำมาให้ทรงพิพากษาโทษ ในโจร ๔ คนนั้น คนหนึ่งพระราชาทรงตัดสินให้เฆี่ยนด้วยหวายมีหนาม ๑,๐๐๐ ครั้ง คนหนึ่งให้ใส่ตรวนส่งเข้าเรือนจำ คนหนึ่งให้เอาหอกทิ่มแทงบนร่างกาย คนหนึ่งให้เสียบด้วยหลาว

พระโพธิสัตว์ได้ทรงฟังคำพิพากษาของพระบิดาก็เกิดสลดใจ กลัวการกระทำกรรมหนักอันจะนำไปสู่นรก

รุ่งขึ้นพวกแม่นมให้พระมหาสัตว์บรรทมภายใต้เศวตฉัตร พระโพธิสัตว์บรรทมหลับไปได้หน่อยหนึ่ง ทรงลืมพระเนตรแลดูเศวตฉัตร ทรงรำพึงว่า เรามาสู่ พระราชวังนี้จากไหนหนอ ครั้นทรงทราบว่ามาจากเทวโลก ด้วยทรงจำชาติได้ จึงทรงระลึกถัดจากพระชาตินั้นไปอีก ทรงเห็นว่า พระองค์เคยหมกไหม้อยู่ใน อุสสทนรก ทรงระลึกถัดจากชาตินั้นไปอีก ทรงทราบว่า พระองค์เคยเป็นพระราชา อยู่ในนครนี้เอง ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เราไม่ต้องการราชสมบัติ เราจะพึงพ้นไปจากเรือนโจรนี้ได้อย่างไรหนอ

สำหรับคนที่สะสมกุศลมามากๆ แม้อยู่ในพระราชวังใต้พระเศวตฉัตร ก็เห็นว่าเป็นเรือนโจร เพราะว่าตราบใดที่ยังมีอกุศลจิตก็ยังมีเหตุให้ทำอกุศลกรรม ไม่พ้นไปจากเรือนโจรนั้นได้

ลำดับนั้น เทพธิดาองค์หนึ่งผู้เป็นมารดาของพระโพธิสัตว์ในอัตภาพหนึ่ง สิงสถิตอยู่ในเศวตฉัตรนั้น เป็นผู้ใคร่ประโยชน์ แสวงหาประโยชน์แก่พระโพธิสัตว์ จึงแนะนำให้ทำเป็นคนใบ้ เป็นคนง่อยเปลี้ย เป็นคนหนวก เพื่อจะได้พ้นจาก ราชสมบัติ

ยากไหม ใครทำได้ แสดงให้เห็นถึงความหนักแน่นมั่นคง เมื่อได้ตั้งใจที่จะทำอย่างไรก็ไม่ท้อถอย ไม่คลอนแคลนที่จะทำอย่างนั้น

ตั้งแต่นั้น พระโพธิสัตว์ก็ทรงแสดงพระองค์เหมือนเป็นใบ้เป็นต้น พระมารดา พระบิดาและพวกนางนมเป็นต้นคิดว่า ธรรมดาปลายคางของคนใบ้ ช่องหูของ คนหนวก มือเท้าของคนง่อยเปลี้ย มิได้เป็นอย่างนี้ ในเรื่องนี้พึงมีเหตุ จึงเริ่มทดลองพระกุมาร โดยไม่ให้ดื่มน้ำนมตลอดวัน พระกุมารนั้นหิว แต่ก็ไม่ทรงร้องเพื่อเสวยนม

พระมารดาทรงดำริว่า พระกุมารคงหิว จึงให้พวกแม่นมให้น้ำนมแก่พระกุมาร พวกแม่นมให้น้ำนมและไม่ให้น้ำนมเป็นระยะๆ อย่างนี้ แม้ทดลองอยู่ปีหนึ่ง ก็ยังไม่เห็นทางที่พระกุมารจะเปลี่ยนใจ

เด็กมากทีเดียว แต่ก็สามารถทำอย่างนั้นได้

แต่นั้นพวกแม่นมคิดว่า ธรรมดาเด็กย่อมชอบขนมและของเคี้ยว ชอบผลไม้ ชอบของเล่น ชอบอาหาร จึงนำของเหล่านั้นเข้าไปให้เพื่อทดลองให้พระกุมาร แสดงความไม่ใบ้ แต่ก็ไม่มีทางเปลี่ยนใจพระกุมารได้ตลอดเวลา ๕ ปี

ลำดับนั้น พวกแม่นมคิดว่า ธรรมดาเด็กย่อมกลัวไฟ กลัวช้างตกมัน กลัวงู กลัวคนเงื้อดาบ เราจักทดลองด้วยเหตุนั้นๆ จึงได้ทดลองดังกล่าวโดยไม่ให้เป็นภัยแก่พระกุมาร

พระโพธิสัตว์ทรงรำพึงถึงภัยในนรก จึงไม่หวั่นไหวด้วยทรงเห็นว่า นรกน่ากลัวยิ่งกว่านี้ร้อยเท่า พันเท่า แสนเท่า พวกแม่นมทดลองอยู่แม้อย่างนี้ ก็ไม่เห็นทางที่จะเปลี่ยนใจของพระโพธิสัตว์ได้ จึงคิดว่า ธรรมดาเด็กต้องการดูมหรสพ จึงให้สร้าง โรงมหรสพ แล้วให้ประโคมด้วยเสียงสังข์และเสียงกลองให้กึกก้อง ก็ไม่มีทางที่จะเปลี่ยนพระหทัยพระกุมารได้ แม้จะจุดตะเกียงส่องในที่มืด หรือจุดไฟให้สว่าง

คงหมายถึงให้สว่างจ้า

เอาน้ำอ้อยทาทั่วตัว และให้นอนในที่มีแมลงวันชุม และไม่ให้อาบน้ำ ให้นอนบนอุจจาระและปัสสาวะเป็นต้น แม้เสียดสี เยาะเย้ย ด่าว่า พระโพธิสัตว์ซึ่งนอนจมมูตรและกรีส หรือแม้ทำกระเบื้องไฟไว้ใต้เตียงแล้วเผาให้ร้อนบ้าง แม้ทดลองด้วยอุบายหลายๆ อย่าง ก็ไม่มีช่องทางที่จะเปลี่ยนพระทัยของพระกุมารได้เลย

พวกแม่นมทดลองอย่างนี้ถึง ๑๕ ปี ครั้นพระชนม์ได้ ๑๖ พระพรรษา พวกแม่นมคิดว่า คนง่อยเปลี้ยก็ตาม คนใบ้คนหนวกก็ตาม จะไม่พอใจในสิ่งที่ ควรพอใจ จะไม่อยากเห็นในสิ่งควรเห็น ย่อมไม่มี ฉะนั้น เราจะหานาฏศิลป์ มาทดลองพระกุมาร จึงเอาน้ำหอมอาบพระกุมาร ประดับประดาดุจเทพบุตร เชิญขึ้นบนปราสาท อันมีความบันเทิงเบิกบานอย่างเดียว ด้วยดอกไม้ของหอมและพวงมาลัยเป็นต้น เหมือนเทพวิมาน แล้วให้สตรีล้วนมีรูปร่างงดงามเปรียบด้วยเทพอัปสร คอยบำเรอให้พระกุมารทรงอภิรมย์ด้วย สตรีเหล่านั้นต่างก็พยายามให้พระกุมาร ทรงอภิรมย์ด้วย แต่เพราะพระองค์ทรงสมบูรณ์ด้วยพระปัญญาจึงทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะด้วยทรงหวังว่า สตรีเหล่านี้อย่าได้สัมผัสร่างกายของเราเลย

ไม่ยอมหายใจ กลั้นลมหายใจให้ตัวแข็ง

สตรีเหล่านั้น เมื่อไม่ได้สัมผัสร่างกายของพระกุมารจึงคิดว่า พระกุมารนี้ มีพระวรกายกระด้าง คงไม่ใช่มนุษย์แน่ คงจักเป็นยักษ์ จึงพากันกลับไป

พระมารดาพระบิดาไม่ทรงสามารถเปลี่ยนพระทัยพระโพธิสัตว์ด้วยการ ทดลองใหญ่ ๑๖ ครั้ง และด้วยการทดลองเล็กๆ น้อยๆ อีกหลายครั้งตลอด ๑๖ ปีอย่างนี้ จึงทรงขอร้องต่างๆ กัน และหลายครั้งว่า

เตมิยกุมารลูกรัก พ่อและแม่รู้ว่า ลูกไม่เป็นใบ้ เพราะปาก หู และเท้าอย่างนี้ไม่ใช่ของคนใบ้ คนหนวก และคนง่อยเปลี้ยเลย ลูกเป็นบุตรที่พ่อและแม่ปรารถนา จะได้มา ลูกอย่าให้พ่อแม่ต้องพินาศเสียเลย จงปลดเปลื้องข้อครหาจากราชสำนัก ในชมพูทวีปทั้งสิ้นเถิด

พระกุมารนั้น แม้พระมารดาพระบิดาทรงขอร้องอยู่อย่างนี้ ก็บรรทมทำเป็นไม่ได้ยิน

ลำดับนั้นพระราชารับสั่งให้บุรุษผู้ฉลาดตรวจดูพระบาททั้งสอง ช่องพระกรรณทั้งสอง พระชิวหา และพระหัตถ์ทั้งสองแล้ว ทรงสดับคำที่อำมาตย์กราบทูลว่า

บัดนี้ผู้ชำนาญการทายลักษณะกล่าวว่า ผิว่าพระบาทเป็นต้นของพระกุมารนี้ เหมือนของคนไม่ง่อยเปลี้ยเป็นต้น พระกุมารนี้ก็จะไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย ใบ้ และหนวกจริง เห็นจะเป็นกาลกรรณี เมื่อคนกาลกรรณีเช่นนี้อยู่ในพระราชวัง จะปรากฏอันตราย ๓ อย่าง คือ อันตรายของชีวิต ๑ อันตรายของเศวตฉัตร ๑ อันตรายของพระมเหสี ๑ แต่ในวันประสูติเพื่อมิให้พระองค์ทรงเสียพระทัยจึงทำนายว่า กุมารนี้มีบุญลักษณะครบถ้วน

พระราชาทรงกลัวภัยจึงมีพระบัญชาว่า พวกท่านจงไป ให้กุมารนั้นบรรทม ในรถอวมงคล นำออกทางประตูหลัง แล้วฝังเสียในป่าช้าผีดิบ

พระโพธิสัตว์ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงร่าเริงยินดีอย่างยิ่งว่า ความปรารถนาของเราเป็นเวลาช้านานจักถึงความสำเร็จ

เมื่อพระนางจันทาเทวีทรงทราบว่า พระราชามีพระบัญชาให้นำพระกุมารไปฝัง จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลขอพรให้ทรงประทานราชสมบัติแก่โอรส พระราชาตรัสว่า โอรสของพระนางเป็นกาลกรรณี ให้ราชสมบัติไม่ได้

พระนางทูลว่า ข้าแต่พระองค์ เมื่อพระองค์ไม่ทรงให้ตลอดชีวิต ก็ขอทรง โปรดให้ ๗ ปีเถิด พระราชาตรัสว่า ให้ไม่ได้

พระนางทูลว่า ขอได้ทรงโปรดให้ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน ครึ่งเดือน จนถึง เพียง ๗ วันเถิด

พระราชาตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้ได้

พระเทวีตกแต่งพระโอรส ทรงให้ตีกลองป่าวประกาศในพระนครว่า นี้เป็น ราชสมบัติของเตมิยกุมาร แล้วให้พระโอรสขึ้นคอช้าง ยกเศวตฉัตรให้พระโอรส ซึ่งทำประทักษิณพระนครเสด็จกลับมา แล้วบรรทม ณ สิริไสยาสน์ที่ตกแต่งแล้ว พระนางจันทาเทวีทรงขอร้องอยู่ตลอดคืนว่า พ่อเตมิยะ แม่นอนไม่หลับมา ๑๖ ปีแล้ว ร้องไห้เพราะลูกจนนัยน์ตาบวม หัวใจของแม่เพียงจะแตกด้วยความเศร้าโศก แม่รู้ว่าลูกไม่ง่อยเปลี้ยเป็นต้น ลูกอย่าทำให้แม่หมดที่พึ่งเลย

พระเทวีทรงขอร้องโดยทำนองนี้ล่วงไป ๖ วัน

ในวันที่ ๖ พระราชาตรัสเรียกสุนันทสารถีมาแล้วตรัสว่า พรุ่งนี้จงนำพระกุมารโดยรถอวมงคลออกไปแต่เช้าตรู่ ฝังลงในแผ่นดินที่ป่าช้าผีดิบ กลบดินให้เรียบ แล้วจงกลับ

พระเทวีได้ฟังดังนั้นตรัสว่า ลูกเอ๋ย พระเจ้ากาสีมีพระบัญชาให้ฝังลูกที่ป่าช้า ผีดิบในวันพรุ่งนี้ พรุ่งนี้ลูกก็จักถึงความตาย

พระโพธิสัตว์ทรงสดับดังนั้น จึงร่าเริงยินดีอย่างยิ่งที่การทรงกระทำความเพียรถึง ๑๖ ปีนั้น ใกล้จะถึงที่สุดแล้ว แต่พระหทัยของพระมารดาของพระโพธิสัตว์ ได้เป็นดุจมีอาการแตกสลายไป

เมื่อราตรีนั้นผ่านไป สารถีนำรถมาแต่เช้าตรู่ จอดไว้ที่ประตู เข้าไปทูล พระนางจันทาเทวีว่า ข้าแต่พระเทวี พระองค์อย่าทรงพิโรธหม่อมฉันเลย หม่อมฉัน ทำตามพระราชบัญชา แล้วอุ้มพระกุมารลงจากปราสาท

พระเทวีทรงพระกันแสงด้วยพระสุรเสียงดัง แล้วทรงล้มลง

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ทรงมองดูพระมารดา ทรงดำริว่า เมื่อเราไม่พูด พระมารดาจักเศร้าโศกสุดกำลัง แม้อยากจะพูดแต่ก็อดกลั้นไว้ด้วยพระดำริว่า หากเราจักพูด ความพยายามที่เราทำมาตลอด ๑๖ ปีก็จะไร้ผล แต่เมื่อเราไม่พูด จักเป็นปัจจัยแก่ตัวเรา แก่พระมารดา และพระบิดา

สารถีนำพระโพธิสัตว์ขึ้นรถ แล่นไปยังที่ประมาณ ๓ โยชน์ แนวป่า ณ ที่นั้น ได้ปรากฏแก่สารถีดุจป่าช้าผีดิบ สารถีคิดว่า ที่นี้ดีแล้ว จึงหยุดรถจอดไว้ข้างทาง แล้วลงจากรถ เปลื้องเครื่องประดับของพระโพธิสัตว์ออกห่อ วางไว้ ถือเอาจอบ เริ่มขุดหลุมไม่ไกลนัก

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อสุนันทสารถีกำลังขุดหลุม คิดว่า นี้เป็นความพยายามของเรา จึงลุกขึ้น แล้วบีบพระหัตถ์และพระบาทของพระองค์ ทรงทราบว่าเรามีกำลังอยู่ จึงทรงดำริจะเสด็จลงจากรถ

พระโพธิสัตว์เสด็จลงจากรถ ทรงดำเนินไปๆ มาๆ เล็กน้อย ทรงทราบว่า มีกำลังพอที่จะไปได้แม้ตั้ง ๑๐๐ โยชน์ จึงทรงจับรถข้างท้ายแล้วยกขึ้นดุจยานน้อยสำหรับเด็กเล่น ทรงสังเกตว่า หากสารถีจะพึงทำร้ายพระองค์ พระองค์ก็มีกำลังพอที่จะป้องกันการทำร้ายได้

ซึ่งข้อความละเอียดตอนนี้ ท่านผู้ฟังจะอ่านได้จาก อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก

พระโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่นายสารถีว่า

ท่านอาศัยเราผู้เป็นโอรสของพระราชาพระองค์นั้นเป็นอยู่ ดูกร สารถี หากท่านฝังเราในป่า ท่านพึงทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรม บุคคลพึงนั่งหรือพึงนอนใต้ร่มไม้ใด ไม่พึงหักกิ่งไม้นั้น เพราะผู้ทำลายมิตรเป็นคนลามก พระราชาเหมือนต้นไม้ เราเหมือนกิ่งไม้ ดูกร สารถี ท่านเหมือนบุรุษที่เข้าไปอาศัยร่มเงา หากท่านฝังเรา ในป่า ท่านพึงทำสิ่งที่ไม่ชอบธรรม

สารถีได้ฟังก็ทูลอ้อนวอนให้พระโพธิสัตว์เสด็จกลับ

เพราะรู้แล้วว่า ไม่ได้เป็นใบ้เลย

พระองค์จึงตรัสถึงเหตุที่ไม่เสด็จกลับ และความพอใจในบรรพชา ตลอดถึงเรื่องราวของพระองค์ในภพที่ล่วงไปแล้วมีภัยในนรกเป็นต้น

แม้เมื่อสารถีนั้นประสงค์จะบวชเพราะธรรมกถานั้น และเพื่อการปฏิบัตินั้น พระองค์จึงตรัสคาถานี้ว่า

ดูกร สารถี ท่านจงนำรถกลับไป แล้วเป็นคนไม่มีหนี้กลับมา เพราะบรรพชาเป็นของคนไม่มีหนี้ ข้อนี้ฤๅษีทั้งหลายสรรเสริญแล้ว

แล้วทรงส่งสารถีกลับไปทูลแด่พระราชา

สารถีนำรถและเครื่องอาภรณ์ไปเฝ้าพระราชา ทูลความนั้นให้ทรงทราบพระราชาเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยจตุรงคเสนา นางสนม ชาวพระนคร และชาวชนบท เพื่อไปหาพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์ถือเพศเป็นดาบส นั่งบนเครื่องลาดทำด้วยไม้ ยังสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิด ประทับนั่งในอาศรมด้วยความสุขในการบรรพชา

แม้พระเจ้ากาสีเสด็จไปหาพระโพธิสัตว์ แล้วทรงเชื้อเชิญพระโพธิสัตว์ ให้ครองราชสมบัติ เตมิยบัณฑิตทรงปฏิเสธ ทรงแสดงธรรมให้พระราชาเกิดสังเวช ในความเป็นของไม่เที่ยง ในโทษของกามอันเป็นของต่ำช้าด้วยอาการหลายอย่าง

พระราชาทรงสลดพระทัย และทรงผนวช พร้อมด้วยพระนางจันทาเทวี และอำมาตย์บริวารเป็นอันมาก บุคคลทั้งหมดนั้นเมื่อสิ้นชีวิตก็เกิดในพรหมโลก

ข้อความตอนท้ายมีว่า

เทพธิดาผู้สิงสถิต ณ เศวตฉัตรในครั้งนั้น ได้เป็นนางอุบลวรรณาในครั้งนี้ สารถี คือ พระสารีบุตรเถระ พระมารดาและพระบิดา คือ ตระกูลมหาราช บริษัททั้งหลาย คือ พุทธบริษัท เตมิยบัณฑิต คือ พระโลกนาถ

อธิษฐานบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น ถึงที่สุดในจริยานี้

คือ เป็นอธิษฐานปรมัตถบารมี

แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละชาติ ชาติไหนใครจะสะสมบารมีไหนอย่างอุกฤษฏ์ แม้อธิษฐานบารมี ความตั้งใจมั่นในกุศล ก็เป็นไปในชาติหนึ่งๆ ตามกรรมที่ได้สะสมให้เกิดเป็นบุคคลนั้นๆ ในชาตินั้น ซึ่งท่านผู้ฟังก็เป็นผู้ที่กำลังเจริญบารมีแน่นอน แต่บารมีไหน ก็จะต้องตรวจสอบว่า มีความมั่นคงในบารมีใด หรือยังขาดการ เห็นประโยชน์ในบารมีใดบ้าง

ถ. เมื่อกี้ผมนั่งฟังเรื่องพระเตมีย์ที่ท่านอาจารย์อ่านด้วยความซาบซึ้ง อย่างยิ่ง ขณะเดียวกันก็เจริญสติปัฏฐานไปด้วย แต่ปัญหาที่เกิดเมื่อสักครู่นี้คือ ขณะที่นั่งฟังอยู่นั้น ถ้าฟังโดยจับเอาเรื่องราวต่างๆ แล้ว ธัมมารมณ์ก็เกิดขึ้น ในขณะที่ธัมมารมณ์เกิดขึ้นนั้น อย่างเช่น รู้ว่าเป็นเรื่องพระเตมีย์ใบ้ ฟังเรื่องราวแล้ว มีความยินดีพอใจ มีความซาบซึ้งใจ รู้ว่าเวทนาเกิดขึ้นและขณะเดียวกันก็รู้ว่า การรู้เรื่องราวนั้นเป็นสัญญา คือ ภาษาที่ท่านอาจารย์พูดนั้นรู้ว่าเป็นเพียงสัญญาขันธ์อย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกันเรื่องราวต่างๆ ที่คิดเรื่องพระเตมีย์นั้นก็รู้ว่าเป็นสังขารขันธ์เกิดขึ้น เมื่อคิดอย่างนี้ขึ้นมาก็รู้ว่า นี่เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง ก็เลยไม่คิด เมื่อไม่คิดก็เอาแต่เสียงเป็นอารมณ์ คือ ตัดเรื่องราวออกไป ตัดความยินดีพอใจออกไป ตัดสัญญาออกไป ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือเฉย ในขณะที่เฉยนั้นก็คิดว่า อันนี้หรือเปล่าที่เรียกว่าเป็นปรมัตถธรรม มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ซึ่งกำลังปรากฏในสภาวะรูป รูปที่เราได้ยินทางหูในขณะนั้น และขณะที่เราเลิกคำนึงถึงว่าปรมัตถธรรมเป็น อารมณ์นั้น ความรู้สึกทางมโนวิญญาณก็รู้ว่าธัมมารมณ์เกิด รู้อีกว่าเป็นเพียง สิ่งที่ปรากฏ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนกับที่ท่านอาจารย์พูด

ด้วยความรู้สึกเช่นนี้ จึงใคร่กราบเรียนขอความกระจ่างจากท่านอาจารย์ด้วยว่า การที่เรานั่งฟังและพินิจพิจารณาในลักษณะเช่นนี้ จะถูกต้องตามแนวทางที่ ท่านอาจารย์สอนหรือไม่อย่างไร ช่วยกรุณาสอนและอธิบายด้วย ขอบพระคุณ

เปิด  264
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565