แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2074
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๕
สุ. ธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก คนที่ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคในครั้งนั้น เมื่อจบพระธรรมเทศนา บางท่านเป็นพระโสดาบัน บางท่านเป็นพระสกทาคามี บางท่านเป็นพระอนาคามี บางท่านถึงความเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ในขณะที่ฟังนั้นไม่เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง
แสดงให้เห็นว่า กว่าปัญญาจะรู้ชัดตามความเป็นจริงในสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดสืบต่อกัน เช่น หลังจากที่ได้ยินเสียงแล้ว ก็ยังมีการเข้าใจความหมายของเสียงและเรื่องราวต่างๆ ซึ่งจิตที่กำลังรู้เรื่องไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทาง ก็ต้องเป็น ผู้ละเอียดที่จะไม่ฝืน หรือไม่คิดว่าจะตัด ไม่ให้คิดถึงเรื่องราว ให้ได้ยินแต่เพียงเสียง ซึ่งนั่นแสดงว่า ยังมีความเป็นตัวตนที่ต้องการ และมีความเป็นตัวตนที่กำลังทำ อย่างนั้นด้วย
มัชฌิมาปฏิปทาเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความละเอียดจริงๆ ที่จะต้องเตือนตนเองเสมอว่า ไม่ต้องทำอะไร
ทันทีที่เริ่มจะทำ เพียงนิดเดียวก็ผิดแล้ว ผิดทันที เพราะว่าไม่เข้าใจลักษณะของสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึก ขณะใดที่สติเกิด ลักษณะของสติปรากฏ อารมณ์ที่ สติระลึกก็ปรากฏด้วย เป็นธรรมดา เป็นปกติจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องหวั่นไหว ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมใด รูปธรรมใด เวลาที่สติเกิดขณะนั้นเห็นความเป็นอนัตตา ไม่ใช่เราจะกั้น หรือไม่ใช่เราจะเปลี่ยน แต่เพราะสติเกิดจึงระลึกที่ลักษณะของ สภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ในขณะนี้โดยวิถีจิตทราบว่า สภาพธรรมเกิดสืบต่อกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยมีมโนทวารวิถีคั่นทุกวาระของการรู้อารมณ์ทางตาวาระหนึ่ง การรู้อารมณ์ทางหูวาระหนึ่ง เป็นความรวดเร็วมากจนกระทั่งถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่ตัวตน และไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่ ค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างเพิ่มขึ้น
ขณะที่กำลังฟังและรู้เรื่อง ให้ทราบว่า ขณะนั้นชั่วขณะหนึ่งที่รู้เรื่องก็เป็นสิ่งที่ มีจริง เป็นนามธรรม แล้วก็เปลี่ยนเป็นสภาพธรรมอย่างอื่นปรากฏ โดยไม่ต้องทำอะไร คือ ไม่ต้องมีการเปลี่ยน ได้ยินเกิดแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนจากเรื่องให้เป็นแค่ได้ยิน เพราะว่าสภาพที่รู้เรื่องก็ชั่วขณะหนึ่ง ต่อจากนั้นก็มีเหตุมีปัจจัยให้ได้ยินเกิดขึ้นตามปกติ เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ด้วยว่า เวลาที่สติเกิดระลึกได้จะรู้ความต่างกันของสภาพที่คิดกับสภาพที่เห็น หรือสภาพที่คิดกับสภาพที่ได้ยิน หรือสภาพที่คิดกับสภาพที่กำลังลิ้มรส คือ ล้วนเป็นสภาพธรรมตลอด ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ปราศจากจิตเจตสิกแต่ละชนิด และรูป แล้วแต่ว่าขณะนั้นสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ให้เป็นปกติ และให้เป็นสติที่ระลึก อย่าให้มีเราที่กำลังพยายามจะตัด จะไม่คิด หรือจะทำอย่างนั้นอย่างนี้
แม้จะได้ฟังพระธรรมว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่คน ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ แต่เวลาเห็นก็เป็นคน เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่า เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเพียง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ท่านผู้ฟังที่อบรม เจริญสติปัฏฐานเห็นชัดอย่างนี้หรือยัง
ถ้าเห็นชัดจริงๆ จะถ่ายถอนการที่เคยยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่จะเป็นไปอย่างละเอียด ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ช้าๆ จนกระทั่งเมื่อมีกำลังขึ้นทันทีที่เห็นก็จะระลึก เวลาที่สติเกิดก็รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น กำลังพูดกับสีที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น ก็จะเข้าใจชัดถึงสภาพรู้ ซึ่งกำลังเห็นในขณะที่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา และรู้ในสภาพที่กำลังคิดว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังรู้คำ
เพราะฉะนั้น ก็มีสภาพธรรมต่างๆ กัน แล้วแต่ว่าสติสามารถที่จะยิงไว คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งปรากฏสั้นมาก ตามความเป็นจริง หรือเปล่า
ทางตาในขณะนี้กำลังเห็น ต้องสั้นที่สุด เพราะว่ามีธรรมชาติที่รู้เสียง มีจิตที่ ได้ยินเสียงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทางตาที่เหมือนเห็นติดต่อกันตลอด ความจริงแล้วต้องสั้น เพราะขณะที่จิตได้ยินเสียงเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่จิตที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา
ปัญญาจะต้องรู้จริงๆ ตามปกติ และรู้ทั่ว รู้ละเอียด มีกำลัง ไม่หวั่นไหว แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดในขณะที่ทั้งเห็น ได้ยิน และคิดนึก และกระทบสัมผัสในขณะนี้ แล้วแต่สติจะเกิดระลึกทางไหน สภาพธรรมที่กำลัง ปรากฏก็เป็นสิ่งที่มีจริง ก็รู้ลักษณะที่มีจริงของสภาพธรรมนั้นด้วยว่า เป็นเพียง สภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่เป็นเหตุที่จะทำให้คลายความยึดมั่นในสัตว์ ในบุคคล ในตัวตน
เป็นญาติพี่น้องกับสีที่กำลังปรากฏหรือเปล่า
เป็นเพื่อนกับสีที่ปรากฏทางตาหรือเปล่า
แสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องของความคิดนึกหลังเห็น และก็มีเห็นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโตมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีจิตซึ่งหลังเห็นแล้วก็คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่เห็น ทำให้มีสัญญา ความจำ ในความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตา และของปรมัตถธรรมอื่นๆ
นี่เป็นทางที่จะถ่ายถอนความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน โดยไม่ใช่ไปทำอะไร แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ อย่างในขณะนี้ ถ้าเข้าใจว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปกติชั่วขณะสั้นๆ และสติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่น ที่ปรากฏ จะไม่มีเยื่อใยในสิ่งซึ่งหมดแล้ว ผ่านไปแล้ว เพราะว่าขณะใดที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมนั้นสั้นมากแล้วก็หมดไป และก็มีสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมอื่นซึ่งปรากฏ ซึ่งสั้นมาก แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น โลกนี้จะมีอะไร นอกจากสภาพธรรมที่เกิดและก็ดับ เกิดและก็ดับ
ฟังดูแล้วเหมือนกับเข้าใจ เรื่องจริงต้องเป็นอย่างนี้แน่ๆ คือ สภาพธรรมเกิดปรากฏสั้นมากและดับไป นี่คือเรื่องจริงๆ ฟังดู พิจารณา เข้าใจ เพราะฉะนั้น เวลาที่วิปัสสนาญาณเกิด มีการแทงตลอดจริงๆ ประจักษ์ความสั้นแสนสั้นของ สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับ ซึ่งขณะนั้นความจริงต้องตรงกับขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ
เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจปัญญาที่ต่างขั้นว่า ปัญญาขั้นฟัง เริ่มฟัง เริ่มคิด เริ่มเข้าใจ เริ่มเห็นความไม่เที่ยงโดยพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เป็นปกติ ก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั่วทั้ง ๖ ทวาร และไม่มีตัวตนที่จะ ทำอะไร ยิ่งเข้าใจก็ยิ่งรู้ว่า จะทำอะไรได้ ในเมื่อเห็นยังไม่ทันไรเลยได้ยินแล้ว ยังไม่ทันไรคิดอีก และความคิดของแต่ละคนก็บังคับบัญชาไม่ได้เลยที่จะให้คิดอย่างนี้ ไม่ให้คิดอย่างนั้น
นี่ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง มีความยึดมั่นในอกุศลใดมาก หรือมีการเจริญกุศลประเภทใดเพิ่มขึ้น ก็เห็น สภาพธรรมตามความเป็นจริงละเอียดขึ้น คลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ก็จะทำให้เพิ่มความรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมขึ้น แต่ถ้ามีตัวตนที่จะทำ ไม่มีทางเลยที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทุกๆ อย่างที่กำลังเป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นผู้มีปกติ ต้องปกติจริงๆ เพราะปกติอย่างนี้แหละ เมื่อมีเหตุปัจจัยสติก็เกิด สติก็ระลึก ไม่ใช่มีใครเตรียมจะทำ หรือตั้งใจไว้มากๆ ว่า จะให้ระลึกรู้ลักษณะของนามนั้น รูปนี้ ตั้งอกตั้งใจไว้ นั่นคือ ผู้ที่ไม่รู้ความเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็มีโลภะ มีความต้องการเป็นเครื่องเนิ่นช้า และจะเข้าใจความหมายของพระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงว่า เครื่องเนิ่นช้าไม่ได้อยู่ ที่อื่น แต่อยู่ในขณะที่มีความจงใจ มีความต้องการ มีความตั้งใจที่จะรู้ลักษณะของ สภาพธรรมในขณะนั้น ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจะมีการระลึกได้และรู้ว่า มัชฌิมาปฏิปทาไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ใช่ขณะที่จงใจ ไม่ใช่ขณะที่ต้องการ แต่เป็นขณะที่ปล่อยวาง เพราะรู้ว่าเป็นอนัตตา และสติก็เกิดตามปกติ แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็ถูกต้อง
ด้วยเหตุนี้จะหลงลืมสติสักเท่าไรก็เป็นเรื่องธรรมดา สังสารวัฏฏ์แสนโกฏิกัปป์มาแล้วก็หลงลืมสติ วันนี้มีอกุศลเกิดมากเท่าไรก็แสดงว่าหลงลืมสติมากเท่านั้น ทั้งวัน บางคนอาจจะเป็นอย่างนั้น และขณะใดที่สติปัฏฐานเกิดผู้นั้นก็รู้ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นสติปัฏฐานที่มีเหตุปัจจัยเกิด
นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐานที่เป็นจิรกาลภาวนา เป็นปกติ และรู้ความ เป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น
ถ. เรื่องมัชฌิมาปฏิปทา เมื่อก่อนผมไม่คิดว่าที่ท่านอาจารย์บรรยาย ให้ปฏิบัตินั้นจะเป็นสภาวะแห่งมรรคได้ แต่เมื่อมาพิจารณาตามแนวทางที่ท่านอาจารย์สุจินต์สอน และเปรียบเทียบกับสภาวะที่ว่ามรรคนั้นคืออะไร ซึ่งสภาวะมรรค รวมกันแล้วก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น …
สุ. ขอประทานโทษ ศีลอะไร
ถ. ศีลในขณะนั้น ศีลจะเกิดขึ้นได้ การที่จะเห็นสภาวธรรมตามความ เป็นจริงได้นั้น ขณะนั้นสมาธิต้องตั้งมั่นแน่นอน
สุ. ศีลอะไร
ถ. ศีลนี่ ก็เป็นศีลละเอียดมาก เมื่อเห็นสภาวะรูปธรรมนามธรรมแล้ว
สุ. ยัง สติ กำลังจะระลึก
ถ. ระลึกแล้ว
สุ. ยังไม่ระลึก เพราะก่อนที่สติจะระลึกต้องมีการฟังและรู้ความต่างกันของลักษณะของสติ ลักษณะของสมาธิ ลักษณะของปัญญา และรู้ว่าขณะที่หลงลืมสติต่างกับขณะที่มีสติ
ถ. อันนั้นทราบ ทราบชัดเจนเลย
สุ. แล้วศีลอะไร
ถ. ศีลก็คือขณะที่เราพิจารณาสภาวธรรมนั้น ถ้าจิตใจฟุ้งซ่านไม่มีทางเลย ที่จะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้
สุ. ขอประทานโทษ สภาพธรรมทุกอย่างที่มีจริงเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ขณะที่โลภะเกิด บางท่านกระสับกระส่าย กระวนกระวาย และบางท่านอาจจะไม่ชอบชื่อของโลภะ ทั้งๆ ที่ทุกท่านอยู่โดยไม่มีโลภะไม่ได้ ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ทุกวัน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย แม้แต่ลืมตาขึ้นมา ถ้า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดง บุคคลนั้นๆ จะไม่รู้เลยว่า หลังจากเห็นแล้ว ถ้าไม่เป็นอกุศลที่เป็นโทสะ โมหะ และไม่เป็นกุศล ขณะนั้นต้องเป็นโลภะ
บางคนก็เห็นแต่โลภะขั้นหยาบ เวลาที่มีความต้องการมากๆ ก็บอกว่า โลภะ แต่เวลาที่เห็นแล้วโลภะเกิดไม่เคยรู้เลย เวลาที่ได้ยินเสียงหนึ่งเสียงใดแล้วโลภะเกิด ก็ไม่เคยรู้เลย เวลาได้กลิ่นก็ไม่เคยรู้อีก เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า จะต้องรู้ลักษณะสภาพของโลภะ จึงจะละโลภะได้
ถ้าโลภะเกิดแล้วจะไปทำให้จิตสงบ โดยปัญญาไม่รู้ความจริงว่า โลภะมีจริง ลักษณะของโลภะตามที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาทุกคนก็รู้ว่า โลภะ มีลักษณะอย่างไร มีกิจอย่างไร มีอาการปรากฏอย่างไร มีเหตุใกล้ให้เกิดอย่างไร ล้วนแต่ในหนังสือทั้งนั้น แต่เวลาที่โลภะเกิดจริงๆ ลักษณะของโลภะเป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่ต้องไปเอามาจากหนังสือ เพราะว่าตัวจริงกำลังแสดงอาการของโลภะให้เห็น เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เวลาที่โลภะเกิดก็จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม สติปัฏฐานเกิดไม่ได้
โลภะเกิดเพราะเหตุปัจจัยฉันใด สติปัฏฐานก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภะในขณะนั้น ถ้าไม่รู้ตราบใด ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ตราบนั้น ละโลภะไม่ได้เลย
ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานตามเพศของคฤหัสถ์ และบรรพชิต แม้บรรพชิตก็ยังมีโลภะ ไม่ต้องกล่าวถึงคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของโลภะซึ่งเกิดกับตน ตามความเป็นจริงด้วย
ถ. ขณะนี้ผมได้ความเข้าใจจากท่านอาจารย์หลายอย่าง แต่เกิดความสับสนอยู่ว่า ที่ท่านอาจารย์แนะนำทั้งหมดนั้น ผมเข้าใจ เป็นสภาวะที่จะต้องปฏิบัติอย่างนั้นจริงๆ ในขณะเดียวกันผมก็รู้สึกว่า ผมปฏิบัติเช่นนั้นจริงๆ ด้วย ... ที่อาจารย์พูดทั้งหมดนั้น หมายความว่าจะต้องปฏิบัติอย่างนั้น ซึ่งผมก็เห็นว่า จะต้องปฏิบัติเช่นนั้น
สุ. ปฏิบัติเช่นนั้นคืออะไร
ถ. ปฏิบัติตามที่ท่านอาจารย์อธิบาย
สุ. คืออย่างไร
ถ. คือ ไม่ใช่เอาตัวตนเข้าไปแทรก หรือต้องไปนั่งทำท่าทำทาง ไม่ต้อง ไปทำอะไร คือ ถ้าทำแล้วก็หมายความว่ามีเจตนาเกิดขึ้นทั้งนั้น ผมเองก็รู้สภาวะเจตนาว่า สภาวะเจตนาและไม่เจตนานั้นเป็นอย่างไร ก็ระวังอยู่ และกลัวเหลือเกินเรื่องโลภะ เพราะผมรู้สึกว่าโลภะมากมาย มีอยู่ ตัวเองก็ต้องการกำจัดให้หมดไป
สุ. โดยวิธีไหน
ถ. โดยวิธีรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ให้รู้ว่าเป็นเพียงสภาวธรรม ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้วดับไป
สุ. มีวิธีไหม
ถ. ไม่มีวิธี นอกจากปัญญา
สุ. มัชฌิมาปฏิปทา
ถ. มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึงมรรคใช่ไหม
สุ. หมายความว่าไม่เป็นไปกับโลภะว่าเป็นเรา เพราะว่าโลภะเป็นโลภะ ไม่ใช่เรา แต่ถ้าเดือดร้อนใจอยากจะเป็นอย่างอื่น โลภะนั้นเป็นเราแล้วจึงได้ เดือดร้อนใจอยากจะเป็นอย่างอื่น แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้มัชฌิมาปฏิปทาจริงๆ โลภะ เป็นโลภะ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เป็นไปกับโลภะด้วยความเป็นตัวตน
ถ. ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาสรุปว่า ผมยังมีจุดบกพร่องตรงไหน อย่างไร เท่าที่ผมเรียนท่านอาจารย์ ผมเรียนด้วยความสัตย์จริงว่า ความรู้สึกผมเป็นเช่นนี้ แต่ถ้าความรู้สึกของผมเช่นนี้ อาจารย์ยังรู้สึกว่าผมเข้าข้างตัวตนอยู่ คือ ผมพูด ในสภาวธรรม ผมไม่ได้คิดว่าตัวผมเองจะเป็นพระอรหันต์ หรือพระโสดาบัน ผมไม่สนทั้งนั้น ผมถือว่า สภาวธรรมที่อาจารย์สอนนั้น ปัญญาเท่านั้นจึงจะละได้ ผมเข้าใจอย่างยิ่ง ... ถ้าไม่เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงแล้ว จะปฏิบัติอย่างไรก็มีแต่วิจิกิจฉาตลอด วนไปวนมาอยู่เช่นนั้น ไม่มีทางมั่นใจในตัวเองได้ และผมมั่นใจว่า ผมเห็นสภาวธรรม แต่ความมั่นใจนั้นเป็นแนวทางที่ผมไม่เคยปฏิบัติ เมื่อผมได้ฟังอาจารย์ปฏิบัติมา ผมก็พยายามติดตามหนทาง แม้กระทั่งในเรื่องของมรรคผมเชื่อว่าจะต้องมีมรรคเท่านั้น จึงจะบรรลุธรรมได้
สุ. แล้วมรรคนี่จะถึงง่ายหรือถึงยาก
ถ. อย่างที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายแล้วว่า ถ้าหากเราเข้าใจ เรามีปัญญา เรื่องถึงยากหรือง่ายนั้นไม่มีใครสามารถรู้ได้ เพียงแต่ควรรู้ว่า เราปฏิบัติผิดหรือถูก
สุ. ก่อนที่มรรคจิตจะเกิด ขณะที่กำลังเห็น มีสภาพธรรมใดเกิดดับบ้าง
ถ. อาจารย์สอนผมว่า ให้พิจารณาสภาวธรรมที่เผชิญหน้าอยู่ในขณะนั้นว่า เป็นสภาวะรูปธรรมหรือนามธรรม รู้หรือเปล่า และเมื่อรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือ รูปธรรมแล้ว เห็นหรือเปล่าที่ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ...
สุ. ถ้าท่านผู้ฟังตอบว่า เห็นแล้ว ง่ายๆ อย่างนี้ จะเป็นการรู้ลักษณะของสภาวธรรมไหม
ถ. ไม่ง่ายเลย ผมนี่เรียกว่า ทุกเวลา ทุกนาที จิตใจจดจ่ออยู่กับคำพูด คำสอน หรือแม้กระทั่งหนังสือ และผมเอาจริงเอาจังมากเรื่องสภาวธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลย แต่เรื่องความเข้าใจนี่ ผมไม่ได้มายกย่องตนเองว่า เข้าใจ แค่ไหน อย่างไร เพียงแต่เมื่อมีความสงสัยก็ต้องถาม
สุ. ยังสงสัยอยู่หรือเปล่า
ถ. ผมไม่สงสัย
สุ. ไม่สงสัยในอะไร
ถ. ผมไม่สงสัยในแง่ที่อาจารย์พูด ...
สุ. ไม่สงสัยในคำพูด
ถ. ไม่สงสัยที่ท่านอาจารย์บอกให้ไปพิจารณา
สุ. ไม่สงสัยในคำที่บอก
ถ. ผมรู้สึกว่าไม่สงสัย
สุ. แล้วในลักษณะของสภาพธรรมล่ะ ไม่เหมือนกัน
ถ. ไม่เหมือนกัน ในขณะที่ตาเห็น สติผมเกิดทันที ผมรู้สึกว่าขณะนั้นสมาธิเกิด ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นไม่มีทางเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงได้ รู้เลยว่า สภาวะคิดกับสภาวะที่เห็นจริงๆ นั้นต่างกันอย่างไร
สุ. แม้ว่าขณะนั้นมีสมาธิเกิดร่วมด้วยจริง แต่สภาพธรรมจะปรากฏ ทีละอย่าง ขณะที่สติเกิด ลักษณะของสติปรากฏ ไม่ใช่ลักษณะของสมาธิปรากฏ
ถ. ผมเข้าใจที่ท่านอาจารย์เน้นว่า ต้องเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงก่อน ผมก็ไปพินิจพิจารณาตลอดเวลา ก็รู้สึกว่า รู้ชัด ผมขอพูดอย่างนี้ว่า เมื่อใด ก็ตามที่จิตฟุ้งซ่าน ไม่มีทางที่จะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง
สุ. พูดคำนี้อีกแล้ว
ถ. โลภะอีกแล้ว ใช่ไหม
สุ. อบรมเจริญสติปัฏฐาน หมายความว่า แม้ขณะที่จิตฟุ้งซ่าน ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ลักษณะที่ฟุ้งซ่านนั้นไม่ใช่เรา สติปัฏฐานเกิดจึงรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เป็นไปกับความฟุ้งซ่านว่า เป็นเราฟุ้งซ่าน นี่คือการที่จะถ่ายถอนความเป็นตัวตนออกจากสภาพธรรม