แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2075

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๒ มกราคม ๒๕๓๕


ถ. พุทธวจนะท่านบอกว่า สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ แปลว่า เมื่อมีจิตตั้งมั่นจะเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง ผมก็มีแนวโน้มอย่างนี้ และพิจารณาแล้วรู้สึกว่า ถ้าเราไม่มีสมาธิคือจิตไม่ตั้งมั่นแล้ว ความฟุ้งซ่านย่อมเข้ามา เมื่อความฟุ้งซ่านเข้ามาจะเห็นรูปนามได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ ผมพูดถึงเห็นรูปนามเลย

สุ. ก็เลยเป็นเราคิด แต่ตามความจริงแล้วมรรคมีองค์ ๕ เว้นวิรตีเจตสิก ๓ มีสัมมาสมาธิเกิดร่วมด้วย แต่ต้องเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ จะเกิดลำพังเพียงสมาธิ ยกสมาธิมาเฉยๆ และบอกว่า เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วปัญญาก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม นั่นไม่ใช่ ต้องประกอบด้วย องค์อื่น คือ สัมมาทิฏฐิ ...

ถ. ผมลืมเรียนท่านอาจารย์ไป คือ พื้นฐานผม ก่อนนี้ผมไม่ได้ศึกษาแนวทางอาจารย์ ถ้าท่านอาจารย์สงสัย ผมก็อยากให้ท่านอาจารย์ช่วยพิสูจน์ ผมเองก็จะได้รู้ว่าผมไม่รู้ตรงไหนบ้าง ผมไม่อยากจะอวดความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น ผมสนใจธรรมที่ท่านอาจารย์สอนมาก เพราะว่าเป็นสภาวะที่เรารู้ด้วยตัวเองจริงๆ โดย ไม่ต้องงม ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณาอะไร ขอให้เห็นสภาวธรรมเกิดดับ

สุ. เมื่อกี้บอกว่าขอคำแนะนำ ดิฉันขอเรียนให้ทราบว่า ปัญญามี ๓ ขั้น ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นประจักษ์แจ้ง ท่านผู้ฟังกำลังอยู่ในขั้นฟัง เข้าใจ ถ้าพิจารณา คือ รู้ว่าสภาพธรรมมีจริงๆ กำลังปรากฏ และจะต้องมีสติที่ระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมโดยที่ไม่ใช่เรา แต่ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นสภาพธรรมนั้นปรากฏลักษณะของสภาพธรรมนั้น ขอยกตัวอย่าง ทุกท่านรู้ว่ามีโลภะ ถามว่า ขณะไหน

พูดเรื่องโลภะเวลาที่โลภะดับไปๆ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของโลภะ รู้ชื่อ บอกได้ว่า ทุกคนมีโลภะ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ฟังเรื่องโลภะ พิจารณา รู้ว่าโลภะมี มีความต้องการ มีความอยากได้ เช่น ถ้าเห็นดอกไม้สวยแล้วอยากดู อยากถ่ายรูป หรืออยากได้ รู้ลักษณะของโลภะจริงๆ หรือว่ารู้เห็นที่กำลังเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา และเวลาที่มีการพูดคุยเรื่องดอกไม้สวยๆ ขณะนั้นรู้เสียง รู้ได้ยิน หรือรู้ลักษณะของโลภะจริงๆ

เพียงแต่รู้ตัวเองเท่านั้นเองว่า มีโลภะ แต่โลภะเกิดเมื่อไหร่ โลภะดับเมื่อไหร่ ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง

ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงมี ๓ ขั้น ขั้นฟังเข้าใจ พิจารณา แต่ขั้นประจักษ์แจ้ง ต้องรู้ว่าไม่ใช่เพียงฟังว่า โลภะเกิดดับ สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดดับ เสียงเกิดดับ นามขันธ์รูปขันธ์เกิดดับ และก็เข้าใจว่าขณะนี้กำลังเกิดดับ นั่นคือคิดว่าเข้าใจ แต่จริงๆ แล้วจะเห็นความต่างกันขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ

ขณะที่หลงลืมสติ มีทุกอย่าง โลภะมี เห็นมี ได้ยินมี คิดนึกมี แต่ไม่ได้รู้ลักษณะแท้ๆ ของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดจริงๆ ทีละอย่าง นั่นคือขณะที่ สติปัฏฐานไม่เกิด เพราะฉะนั้น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด เป็นปกติทุกอย่าง เห็นก็เหมือนเห็นเดี๋ยวนี้ ได้ยินก็คือได้ยินเดี๋ยวนี้ กระทบสัมผัสสิ่งที่แข็งก็คือแข็งเดี๋ยวนี้ แต่เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด ทุกอย่างผ่านไปโดยไม่มีลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดปรากฏจริงๆ

แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด เมื่อกี้ก็แข็ง กระทบสัมผัสเกือบจะไม่รู้สึกตัวว่า มีแข็งปรากฏ แต่พอสติระลึก ลักษณะแข็งปรากฏจริงๆ ในขณะนั้น คือ ขณะที่ สติระลึกที่แข็ง และปัญญาก็จะต้องเริ่มพิจารณารู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรอื่นใดเลยนอกจากแข็งที่สติกำลังระลึกรู้และสภาพที่กำลังรู้แข็งเท่านั้น ตัวตนไม่มีจริงๆ นี่คือ ขั้นที่จะอบรมจนกว่าตัวตนจะไม่ปรากฏทางมโนทวาร มีแต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทีละลักษณะ และเป็นเพียงลักษณะเท่านั้นจริงๆ ไม่ใช่คิดรวมๆ ไปว่า มีโลภะ และก็โลภะเกิด แต่ไม่รู้จริงๆ ว่าโลภะตอนไหน

ตอนเห็นไม่ใช่โลภะ ตอนได้ยินก็ไม่ใช่โลภะ แต่หลังเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว คิดนึกแล้วก็เป็นโลภะ หรือยิ่งกว่านั้น สามารถรู้ได้ว่า หลังเห็นขณะนี้เป็นโลภะ

นี่คือการที่จะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียง ขั้นเข้าใจ แต่เป็นขั้นที่จะรู้ว่า ขณะใดสติปัฏฐานเกิด ต่างกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไร เพราะบางคนเคยทำสมาธิแล้วก็เข้าใจว่า สมาธินั้นคือสติ เพราะฉะนั้น ก็พยายาม จ้องอยู่ที่ลักษณะของธรรมอะไรก็ตามอย่างหนึ่งอย่างใด โดยที่ปัญญาไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่รู้ความต่างกันของสติกับสมาธิ เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทาและมรรคมีองค์ ๘

แสดงให้เห็นว่า ต้องอาศัยความเข้าใจตั้งแต่ต้นเพื่อละความเห็นผิด แม้แต่ ขณะใดที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ผู้ที่สติเกิดจริงๆ จะเริ่มเข้าใจว่าทำไมข้อความในพระไตรปิฎกจึงกล่าวว่า สติปรากฏ และถ้าเป็นการระลึกที่กาย กายก็ปรากฏ ถ้าเป็นการระลึกที่เวทนา สติปรากฏ เวทนาปรากฏ

เวลานี้เวทนาก็มี อุเบกขาเวทนาเกิดกับจักขุวิญญาณ อุเบกขาเวทนาเกิดกับโสตวิญญาณ เวทนาอื่นก็มีทางกายที่กระทบสัมผัส แต่เหมือนไม่ปรากฏเลย เพราะว่าสติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะของเวทนาหนึ่งเวทนาใด เพียงแต่รู้รวมๆ ว่า เวทนาเป็นความรู้สึก แต่ความรู้สึกแท้ๆ จริงๆ เป็นนามธรรม เป็นเพียงความรู้สึก

ถ. อาจารย์ช่วยขยายความหน่อยได้ไหม สมมติว่าเรามาเริ่มต้นใหม่ เริ่มตั้งแต่การเจริญสติปัฏฐาน คือ ผมเชื่อว่าท่านอาจารย์ต้องทราบทันที คนที่รู้จริงกับคนที่บอกว่ารู้หรืออาจจะรู้ไม่จริงแล้วบอกว่ารู้ แต่ต้องมีผู้รู้จริงอยู่คนหนึ่ง โดยเฉพาะท่านอาจารย์ผมเชื่อว่าต้องรู้จริงจึงอธิบายออกมาได้อย่างชัดเจน ในเมื่อรู้จริงแล้ว ผู้รู้จริงจะให้ผู้ไม่รู้จริงตอบได้ทุกอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ต้องไม่ตรงกับความเป็นจริง คือ ความรู้ขั้นอ่านอย่างหนึ่ง อ่านนี่ผมก็เข้าใจ ถ้าไม่แปลออกมาตามสภาวะที่เป็นจริงแล้ว ก็แค่จำ แค่ท่อง ไม่มีประโยชน์ ข้อนี้ผมก็เข้าใจ เพราะที่ผมปฏิบัติมาผมก็รู้ว่าไม่ได้ผล เมื่อท่านอาจารย์เอาแนวทางสภาวะความเป็นจริงขึ้นมา ผมก็เอาแนวทางนี้ ผมเห็นด้วยว่า แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง

สุ. เพราะฉะนั้น ค่อยๆ ฟัง ใจเย็นๆ

ขอต่อบารมีที่เหลือ สำหรับอธิษฐานบารมี ความมั่นคงในการเจริญกุศล เพื่ออบรมเจริญปัญญาขัดเกลาละคลายกิเลสนั้น บางท่านก็น้อยมาก จะเห็นได้ว่า ไม่มั่นคงพอ ทั้งๆ ที่รู้ว่ากุศลเป็นสิ่งที่ดี ควรจะมีมากๆ ควรจะเจริญ ควรจะสะสม และควรมีความมั่นคงขึ้นด้วย แต่แม้กระนั้นก็จะเห็นได้ว่า ยากที่จะมั่นคง เพราะว่า ทุกคนมีอกุศลมากมายพร้อมที่จะทำให้กุศลรวนเร กลับกลอก ไม่มั่นคง เพราะว่าจิตใจเปลี่ยนแปลง เกิดดับรวดเร็ว ถ้าอกุศลน้อยลง ความมั่นคงของอธิษฐานบารมี ก็จะมากขึ้น

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเคยปรารภว่า ท่านเห็นการเกิด การตาย การเวียนว่าย ตายเกิด การเปลี่ยนแปลง การที่จะต้องมีชีวิตที่เพียงเล็กน้อยและก็มากด้วยอกุศล และจะต้องเกิดอีกไม่รู้จบ ท่านก็มีความรู้สึกไม่อยากเกิดอีกต่อไป อยากพ้นจากสังสารวัฏฏ์ นี่คือกาลครั้งหนึ่ง ซึ่งมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ได้

ทุกท่านก็อาจจะพิจารณา แม้ว่าบางท่านอายุยังน้อย แต่ก็คงมีบางครั้งที่ มีความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของการสะสมที่จะทำให้รู้สึกว่า ชีวิตจริงๆ น่าเบื่อ น่าหน่าย เพราะว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนกันทุกวัน เห็นแล้วก็คิดนึก แล้วก็ ชอบ ไม่ชอบ ผูกพัน ติดข้อง โกรธเคือง เปลี่ยนไปทุกวัน ทุกเรื่อง และเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วก็จบ ไม่มีอะไรเหลือ

นั่นก็เป็นการสะสม ซึ่งบางครั้งบางขณะก็มีความรู้สึกอย่างนี้ แต่ไม่นาน และไม่บ่อย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ อะไรปรากฏให้เห็นมาก กุศล หรืออกุศล ไม่มั่นคงในการฟังพระธรรม ทั้งๆ ที่ท่านฟังแล้วท่านก็เห็นประโยชน์ แต่บางวันก็เหมือนกับว่าท่านรู้แล้ว ท่านเคยฟังแล้ว ท่านเข้าใจแล้ว เพราะฉะนั้น วันนี้ท่านก็จะตื่นสาย หรือท่านจะทำธุระอื่น แสดงให้เห็นว่า ประมาทไม่ได้ แม้แต่การอบรมเจริญปัญญาเพื่อให้เป็นอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงในการเจริญกุศล เพราะว่าทุกคนคิดทุกวันตามสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วแต่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังพระธรรม ก็จะคิดเรื่องธรรม จะพิจารณา จะเพิ่มความเข้าใจขึ้น และถ้าฟังบ่อยๆ ฟังเป็นประจำ วันหนึ่งๆ ก็มีโอกาสที่จะคิดถึงเรื่องธรรม ซึ่งปกติแล้วนอกจากเวลาฟังธรรมก็มักจะคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าวันหนึ่งๆ มีโอกาสฟังมาก ก็จะทำให้คิดถึงเรื่องของธรรมมาก และถ้าฟังจนกระทั่งเป็นอุปนิสัย เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็อาจจะคิดเรื่องธรรมแทนที่จะคิดเรื่องอื่นก็ได้ แสดงให้เห็นถึงกำลังของการสะสม ซึ่งไม่ควรประมาทเลย แม้แต่ในเรื่องของความมั่นคงซึ่งเป็นอธิษฐานบารมี

และสำหรับอธิษฐานบารมีนั้น ควรรู้ให้ละเอียดขึ้น แทนที่จะรู้กว้างๆ ว่า ควรที่จะมีอธิษฐานบารมี มีความมั่นคงในการเจริญกุศล แต่กุศลอะไร มั่นคงในอะไร มิฉะนั้นแล้วก็ยังผิวเผิน ยังไม่ทราบว่า จะมั่นคงตรงไหนดี

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา แสดงอธิษฐานธรรม ๔ อย่าง คือ

สัจจาธิษฐาน ๑ จาคาธิษฐาน ๑ อุปสมาธิษฐาน ๑ ปัญญาธิษฐาน ๑

ซึ่งอธิษฐานธรรมทั้ง ๔ นี้ รวมบารมีอื่นๆ ไว้ทั้งหมด คือ

อธิษฐานธรรมที่ ๑ สัจจาธิษฐาน

เป็นความจริง ความมั่นคงในสัจจะ ในความจริง ซึ่งทุกท่านพิสูจน์สำรวจตัวเองได้ว่า ท่านเป็นที่ผู้มั่นคงในความจริงแค่ไหน เป็นผู้ที่ซื่อตรงและมั่นคงต่อ ความจริงและความตรงมากหรือน้อย เพราะบางท่านอาจจะรู้ตัวเองเลยว่า ไม่ค่อยจะมั่นคงนักในเรื่องของสัจจะ ซึ่งก็จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดและเห็นโทษของกายวาจา ที่ไม่จริง แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะใดที่ผิดพลาดไปจากความจริง ขณะนั้นเป็นไปตามกำลังของกิเลสที่สะสมมา

ถ้าสังเกตตัวเอง พิจารณาตัวเอง เห็นโทษของอกุศลซึ่งสะสมมาที่จะทำให้ขณะนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในอกุศลอย่างนั้นๆ ก็เป็นทางที่จะทำให้เห็นโทษของความ ไม่จริง และจะเป็นผู้ที่มีความมั่นคงในความจริงขึ้น เพราะสำหรับผู้ที่ไม่มีกิเลสนั้น จะไม่พูดเท็จ หรือเมื่อคิดแล้ว พูดแล้วว่าจะทำ ผู้ที่มีความมั่นคงในสัจจะก็ทำตาม ที่พูด แต่ผู้ที่ไม่มั่นคง แม้คิดแล้ว พูดแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำตามที่พูดไว้ เพราะกำลังของกิเลสอกุศลเกิดขึ้น ทำให้จิตใจไม่ตรง และไม่มั่นคงในขณะนั้น

ท่านผู้หนึ่งท่านก็คิดถึงทหารชายแดนที่ต้องตรากตรำลำบาก และมีมิตรสหายที่ช่วยกันถักผ้าพันคอไหมพรมให้พวกทหารชายแดน ท่านก็คิดที่จะช่วย และก็พูดว่า จะช่วยถักด้วย แต่ใครๆ ก็ถักกันไปหมดแล้ว ส่งไปให้ทหารชายแดนแล้ว แต่ท่านก็ ยังไม่ได้ถักเลย แสดงให้เห็นว่า แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่าคิดว่าเรื่องเล็ก เพราะว่า เรื่องเล็กๆ รวมกันก็ต้องเป็นเรื่องใหญ่ แล้ววันไหนจะเป็นผู้ที่ตรงต่อความคิด คำพูด และมีความมั่นคงในกุศลเพิ่มขึ้น

เช่น ในเรื่องของการนัดหมาย บางท่านอาจจะคิดว่าไม่สำคัญเลย ผิดนัดก็ได้ ไม่เป็นไร นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการสะสมทางฝ่ายอกุศลซึ่งทำให้เป็น ผู้ที่ไม่ตรงต่อวาจาหรือคำสัญญา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ทุกชาติ และก็ไม่รู้เลยว่าเพราะอะไร ซึ่งก็เพราะว่าไม่เห็นความสำคัญของความจริงหรือสัจจวาจา และจะทำให้เป็นผู้ที่ ไม่ตรงต่อการแสวงหาความจริงซึ่งเป็นอริยสัจจธรรมด้วย

สำหรับผู้ที่รักษาสัจจวาจา แม้เป็นเด็กเล็กๆ ก็จะเห็นได้ว่า บางคนทำตามที่พูดจริงๆ เมื่อพูดแล้วก็ทำ และเมื่อโตขึ้นก็จะยิ่งเป็นผู้รังเกียจโวหารคือคำพูดที่ไม่เป็นอริยะ คือ คำพูดที่ไม่จริง

สำหรับผู้ที่รักษาสัจจวาจา แม้เวลาที่มีอันตรายถึงชีวิต ก็คงรักษาไว้ คือ รักษาคำพูดที่ไม่ผิดความจริงโดยประการทั้งปวง

นี่คือสัจจาธิษฐาน ซึ่งถ้าจะรู้ว่า จะมั่นคงในกุศลธรรมอะไรบ้างที่จะทำให้ถึง ฝั่ง คือ พระนิพพาน ก็จะขาดสัจจาธิษฐาน ความมั่นคงในสัจจะ ในความจริงไม่ได้

อธิษฐานธรรมที่ ๒ จาคาธิษฐาน

การสละกิเลส ซึ่งไม่ใช่เพียงสละวัตถุเป็นทานเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น เพราะนั่นเป็นประโยชน์บุคคลอื่น แต่นี่เป็นจาคะ เป็นการสละ เป็นประโยชน์ตน เพราะว่าเมื่อสละวัตถุเพื่อบุคคลอื่นแล้ว ก็ยังจะต้องพิจารณาถึงกายวาจาของตน ซึ่งควรจะเป็นกุศลด้วย มิฉะนั้นก็เพียงแต่สละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น แต่ไม่ได้พิจารณาที่จะสละกิเลสของตนเพื่อขัดเกลาตนเอง เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง

สำหรับทานบารมี ก็คงไม่มีกันทุกวัน ซึ่งทำให้บางท่านวิตกกังวลและก็คิดเรื่องทานบารมีว่า เมื่อไม่มีทานบารมีทุกวัน ก็ควรจะมีทุกวัน หรือว่าอย่างไร

คือ คนที่ช่างคิด ช่างกังวล ก็อดไม่ได้ แม้แต่ในเรื่องของทานบารมีรู้ว่า เป็นประโยชน์ แต่เมื่อเห็นว่าไม่สามารถมีทานบารมีได้ทุกวัน ก็เกิดความกังวล เป็นห่วงขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องนั่งคิดหรือมัวห่วงกังวลเรื่องไม่มีทานกุศล เพราะว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลแล้วที่ห่วง ที่ต้องการ ไม่ใช่เป็นเรื่องการสละ ไม่ใช่เป็นเรื่อง การละความติดข้องในทาน ซึ่งเป็นการขัดเกลากิเลส

เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่เหตุการณ์ แล้วแต่โอกาส เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่ควรจะให้ ก็ให้ เพื่อให้เป็นอุปนิสัย แต่ไม่ใช่ไปกังวลเรื่องอยากจะมีทานกุศลทุกๆ วัน

และสำหรับในเรื่องของจาคะ การสละกิเลส ควรพิจารณาแม้ในเรื่องการให้ คือ ไม่ให้เพื่อหวังผลตอบแทน เพราะว่าบารมีทุกบารมี มีโลภะเป็นปฏิปักษ์ มีโลภะเป็นข้าศึก ถ้ามีโลภะ มีความผูกพัน หรือมีการหวังผลใดๆ ตอบแทน ขณะนั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญบารมี

เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาว่า เมื่อให้ควรจะให้อย่างไรที่จะเป็นการขัดเกลากิเลส คือ เป็นจาคาธิษฐานด้วย นอกจากจะไม่หวังผลตอบแทนแล้ว ก็ควรจะ ไม่ให้ด้วยความเบื่อหน่าย เพราะบางคนให้จริง แต่สังเกตพิจารณาชีวิตประจำวันที่ให้ บางกาลก็ให้ด้วยความเบื่อหน่าย ไม่ใช่ให้ด้วยความเบิกบานใจ หรือไม่ใช่ให้ด้วยความเอื้อเฟื้อหรือมีความสนใจที่จะให้ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของการที่จะต้อง ขัดเกลากิเลส หรือเมื่อเห็นคนอื่นให้ก็พอใจ มีความเบิกบานปีติในการให้ของ คนอื่นด้วย และให้อภัยแก่คนอื่นในฐานะที่ไม่ควรจะเป็นโทษภัยกับบุคคลนั้น

แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการให้ไม่ควรจะคิดแต่เฉพาะเรื่องของวัตถุ แต่ควรจะพิจารณาให้ละเอียดว่า เมื่อเป็นผู้ให้ทานวัตถุแล้ว ก็ควรเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ ในขณะที่ให้ ให้ด้วยความอนุเคราะห์ และไม่เบียดเบียนด้วย

นี่เป็นเรื่องของการสละกิเลสในขณะที่ให้ทาน บางคนให้ แต่ให้อย่างไม่สุขนัก ก็จะได้มีความรู้สึกตัวว่า ควรจะให้ด้วยความสุขหรือเบิกบาน ดีกว่าให้ด้วยความ ไม่สุขนัก เพราะเมื่อจะให้ ก็ให้ด้วยความสุขดีกว่า ซึ่งในขณะนั้นจะทำให้ขัดเกลาจิตใจของตนเองด้วย

เปิด  273
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565