แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 2079

ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

วันอาทิตย์ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๕


พระมหาบุรุษเห็นพวกเด็กเกเรเหล่านั้นเที่ยวไปในนิคมนั้น จึงคิดว่า บัดนี้ เราได้อุบายเครื่องบำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้ว จึงอยู่ ณ ที่นั้น พวกเด็กเกเรเห็น พระมหาบุรุษนั้น จึงเริ่มที่จะทำความไม่เหมาะสม

พระมหาสัตว์ลุกขึ้นเดินไปทำคล้ายกับทนไม่ได้ และทำคล้ายกลัวเด็กพวกนั้น พวกเด็กเหล่านั้นก็ตามพระโพธิสัตว์ไป พระโพธิสัตว์เมื่อถูกพวกเด็กตามไป จึงไปป่าช้าด้วยเห็นว่า ที่ในป่าช้านี้คงไม่มีใครขัดขวางการกระทำของพวกเด็กๆ เหล่านั้น ท่านเอาโครงกระดูกทำเป็นหมอนหนุนแล้วนอน พวกเด็กเหล่านั้นก็ทำความ ไม่เหมาะสมหลายอย่าง มีการถ่มน้ำลายเป็นต้น แล้วก็กลับไป ทำอย่างนี้ทุกวัน

พวกที่เป็นวิญญูชน (คือ คนที่มีปัญญา) เห็นเด็กๆ ทำอย่างนั้นก็ห้าม แล้วบอกว่า ท่านผู้นี้มีอานุภาพมาก มีตบะเป็นมหาโยคี พวกที่มีปัญญาเหล่านั้น จึงพากันกระทำสักการสัมมานะอย่างมากมาย

ฝ่ายพระมหาสัตว์เป็นเช่นเดียวเสมอกัน คือ เป็นกลางในทุกอย่าง ดังที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

สุสาเน เสยฺยํ กปฺเปมิ ฯลฯ ทยา โกโป น วิชฺชติ

ซึ่งมีคำแปลว่า

เรานอนอยู่ในป่าช้า เอาซากศพอันมีแต่โครงกระดูกทำเป็นหมอนหนุน เรามี จิตเสมอกันในสิ่งที่สะอาดและไม่สะอาด เด็กชาวบ้านเหล่านั้นกระทำความ ไม่เหมาะสมความหยาบช้าหลายอย่าง ด้วยการถ่มน้ำลาย หัวเราะเยาะ และ ถ่ายปัสสาวะเป็นต้น และด้วยการแยงเส้นหญ้าเป็นต้นเข้าไปในช่องหู เพราะเล่นได้ตามความพอใจ

เด็กชาวบ้านพวกใดนำทุกข์ในร่างกายมาให้เรา มนุษย์ที่เป็นวิญญูชนพวกใด ให้ความสุขแก่เรา นำความสุขมาให้เราด้วยเครื่องบำรุงความสุข มีดอกไม้ของหอม และอาหารเป็นต้น เราเป็นผู้มีจิตเสมอ คือ เป็นเช่นเดียวกันแก่ชนเหล่านั้น เพราะเรามีจิตเสมอโดยไม่เกิดความผิดปกติในที่ไหนๆ เพราะความเอ็นดู กล่าวคือความมีจิตเมตตาในผู้ทำอุปการะไม่มีแก่เรา แม้ความโกรธ กล่าวคือความประทุษร้ายทางใจ ในผู้ไม่ทำอุปการะก็ไม่มี ฉะนั้น เราจึงเป็นผู้มีจิตเสมอแก่ชนทั้งปวง

คือ ไม่ว่าใครจะนำดอกไม้ของหอมหรืออาหารเครื่องบำรุงความสุขมาให้ หรือใครจะแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะไม่ควร จิตของพระโพธิสัตว์ก็ไม่หวั่นไหว คือ ไม่เอนเอียงไปในทางรักผู้ที่นำเครื่องบำรุงความสุขมาให้ และไม่มีความชังในบุคคลที่นำความเดือดร้อนหรือความทุกข์มาให้

บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าในกาลนั้น เพื่อทรงแสดงถึงความไม่ผิดปกติ และความไม่ติดอยู่ในโลกธรรมทั้งหลาย เพราะพระองค์ทรงสะสมญาณสัมภารไว้ จึงมีพระทัยเสมอในสัตว์ทั้งหลายทั้งผู้มีอุปการะและไม่มีอุปการะ จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า

เราเป็นผู้วางเฉยในสุขและทุกข์ ในยศและความเสื่อมยศ เป็นผู้มีใจเสมอใน สิ่งทั้งปวง นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา

อุเบกขาบารมี คือ

เป็นผู้วางตนเป็นกลาง เว้นการยินดียินร้าย คือ ไม่ยินดียินร้าย ดุจตาชั่งที่ จับไว้เสมอกัน

พระผู้มีพระภาค ครั้นแสดงความที่พระองค์เป็นกลางในสรรพสัตว์และใน โลกธรรมทั้งปวง ไม่ทั่วไปแก่ผู้อื่น

ข้อความในอรรถกถาแสดงว่า

พระโพธิสัตว์ย่อมได้บารมี ๑๐ ครบ โดยเฉพาะทานบารมีก่อน (คือ) การบริจาคสมบัติทั้งปวงและการบริจาคอัตภาพของตนโดยไม่คำนึงว่าใครๆ ถือเอาสรีระนี้ แล้วจงทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนปรารถนา เป็นทานบารมี

การไม่ทำสิ่งไม่ควรทำทั้งปวง มีความเลวเป็นต้น เป็นศีลบารมี

การเพิ่มพูนอสุภสัญญาในกายของพระโพธิสัตว์ผู้หันหลังให้ความยินดีในกาม ออกจากเรือน เป็นเนกขัมมบารมี

ความเป็นผู้ฉลาดในการกำหนดธรรมเป็นอุปการะแก่สัมโพธิสมภาร และในการละธรรมอันเป็นปฏิปักษ์ต่ออุปการะธรรมนั้น และการคิดถึงสภาวธรรมจากธรรม อันไม่วิปริต เป็นปัญญาบารมี

การบรรเทากามวิตกเป็นต้น และการพยายามอดกลั้นความทุกข์ เป็น วิริยบารมี

ความอดทนด้วยความอดกลั้น เป็นขันติบารมี

จริงวาจา และจริงด้วยการเว้นโดยไม่ผิดสมาทาน เป็นสัจจบารมี

การตั้งใจสมาทานไม่หวั่นไหวในธรรมอันไม่มีโทษ เป็นอธิษฐานบารมี

ความเป็นผู้มีเมตตาและความเอ็นดูในสรรพสัตว์โดยไม่เจาะจง เป็น เมตตาบารมี

ส่วนอุเบกขาบารมีของพระโพธิสัตว์นั้น พึงทราบตามที่กล่าวแล้วนั่นแล

อนึ่ง ในจริยานี้ ท่านทำอุเบกขาบารมีให้เป็นบารมียอดเยี่ยมอย่างยิ่ง จึงยกอุเบกขาบารมีนั้นขึ้นสู่เทศนา

อนึ่ง ในจริยานี้ พึงประกาศคุณานุภาพของพระโพธิสัตว์ มีอาทิอย่างนี้ คือการละกองโภคสมบัติใหญ่และวงศ์ญาติใหญ่ แล้วออกจากเรือนเช่นกับการออกบวช

แสดงว่า แม้ไม่ต้องบวช ก็มีความเป็นอยู่อย่างผู้บวชได้

การไม่ถือเพศบรรพชิตของพระมหาสัตว์ผู้ออกไปอย่างนั้น แล้วรังเกียจลาภ และสักการะประสงค์จะรักษาความนับถือของผู้อื่น แล้วอธิษฐานคุณของบรรพชา ไม่ให้มีเหลือด้วยจิตเท่านั้น แล้วอยู่เป็นสุขอย่างยิ่ง

นี่คือการบวชใจ คือ แม้ไม่อุปสมบท เพราะรังเกียจลาภและสักการะ เห็นว่าเพศบรรพชิตนั้นย่อมนำมาซึ่งลาภสักการะ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ประสงค์ลาภ และสักการะจึงไม่บวช แต่บวชใจโดยทำความดีให้คนอื่นนับถือได้จริงๆ แม้ไม่ใช่ เพศบรรพชิต

ความเป็นผู้มักน้อยอย่างยิ่ง ความยินดีในความสงัด การไม่คำนึงถึงกาย และชีวิตของตนด้วยประสงค์จะวางเฉย การประพฤติขัดเกลากิเลสถึงขั้นอุกฤษฏ์ อดกลั้นความน่าเกลียดที่ผู้อื่นทำแก่ตน การยังตนให้ตั้งมั่นด้วยความที่กิเลสอันเป็นปฏิปักษ์ต่อโพธิสมภารมีน้อย ด้วยความเป็นกลางในที่ทั้งปวง อันเป็นเหตุแห่งความ ไม่ผิดปกติในผู้มีอุปการะและไม่มีอุปการะของคนอื่น ดุจพระขีณาสพฉะนั้น แล้วไม่ติดด้วยโลกธรรมทั้งหลาย การถึงยอดแห่งอุเบกขาบารมี อันเป็นพุทธบารมี ของบารมีทั้งปวง

เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ซึ่งต้องเป็นอุเบกขาบารมี เพราะว่าสามารถมีความเป็นกลาง ในสรรพสัตว์ทั้งปวงได้

และสำหรับปัญญาบารมี คือ ขณะที่พิจารณารู้ธรรมอันเป็นอุปการะแก่การ รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และคิดถึงสภาวธรรมอันไม่วิปริตตามความเป็นจริง ซึ่งก็เป็นชีวิตประจำวันที่ทุกคนจะพิจารณาเห็นได้ว่า ขณะใดที่สามารถเข้าใจพิจารณารู้ว่า การประพฤติอย่างใดจะเป็นการอุปการะแก่การสะสมปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ขณะนั้นก็เป็นปัญญาบารมี ซึ่งข้อความใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก สโมธานกถา ข้อ ๓๖ ได้แสดงว่า พระชาติใดเป็นบารมี ๓๐ คือ เป็นบารมี ๑๐ เป็นอุปบารมี ๑๐ และเป็นปรมัตถบารมี ๑๐

ยาก แต่ค่อยๆ ทำได้ เพราะว่าคำพูดหรือการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ของคนอื่น ซึ่งท่านมีความอดทน มีความไม่หวั่นไหว นั่นก็เป็นอุเบกขาบารมี

ถ. อนัตตาไม่น่าจะแปลว่า ไม่มีตัวตน น่าจะแปลว่า ไม่มีความเก็บกด โดยสมมติขึ้นเป็นตัวตน ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร

สุ. มีตัวตนหรือไม่มีตัวตน รูปเป็นรูป จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ถ. เมื่อเราเก็บกดนานๆ เราจะสมมติขึ้นเป็นตัวตนขึ้นมา

สุ. เพียงสมมติเท่านั้นเอง แต่ตามความเป็นจริงแล้วเป็นสภาพธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป

ในบารมีทั้ง ๑๐ ท่านผู้ฟังที่จะสะสมบารมีต่อไปอีก ซึ่งไม่ทราบว่าจะนานเท่าไร แต่ในชาติที่สามารถสะสมได้ ก็ควรสะสมแต่ละบารมีไปตามกำลังความสามารถ

สำหรับบารมีทั้ง ๑๐ มีโลภะเป็นปฏิปักษ์ เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่า การที่ท่านจะเจริญบารมีนั้น ไม่ใช่เพราะต้องการผลของกุศล แต่ต้องเป็นเพราะ เห็นโทษของอกุศลแต่ละประเภท ไม่ใช่ว่าท่านต้องการเจริญบารมีเพื่อผลคือสังสารวัฏฏ์ แต่บำเพ็ญบารมีเพื่อขัดเกลากิเลสจนกว่าจะดับสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะการดับสังสารวัฏฏ์หมายความถึงการดับกิเลสทั้งหมด เมื่อไม่มีกิเลส สังสารวัฏฏ์จึงจบได้ แต่ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ไม่ใช่หนทางที่จะสิ้นสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทำกุศลเพื่อหวังกุศลในสังสารวัฏฏ์

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เห็นโทษของความตระหนี่ จึงให้ทาน บำเพ็ญทานบารมี

ผู้ที่เห็นโทษในความเป็นผู้ทุศีล จึงรักษาศีล เห็นว่าการไม่สำรวมกายวาจา คือ การที่กายวาจาประพฤติในทางทุจริตย่อมนำโทษมาให้ แม้เพียงคำพูดซึ่งถ้า ไม่สำรวมก็อาจจะไม่รู้เลยว่านำโทษมาให้แล้วกับผู้พูดและกับบุคคลอื่นด้วย เพราะฉะนั้น ในเรื่องของกายและวาจา ถ้าเป็นผู้ที่เห็นโทษของความเป็นผู้ทุศีล จึงรักษาศีล หรือสำรวมกายและวาจาขึ้น

เพราะเห็นโทษในกามและในการครองเรือน จึงมีอัธยาศัยในเนกขัมมะ

เพราะเห็นโทษในความไม่รู้และความสงสัย จึงมีอัธยาศัยในการรู้ตามความ เป็นจริง คือ อบรมเจริญปัญญา

เพราะเห็นโทษในความเกียจคร้าน จึงมีความเพียร

เพราะเห็นโทษในความไม่อดทน จึงมีความอดทน

เพราะเห็นโทษในการพูดผิด จึงมีอัธยาศัยในสัจจะ

เพราะเห็นโทษในความไม่ตั้งใจมั่น จึงมีอัธยาศัยในความตั้งใจมั่น

เพราะเห็นโทษในพยาบาท จึงมีอัธยาศัยในเมตตา

เพราะเห็นโทษในโลกธรรม จึงมีอัธยาศัยในการวางเฉย

นี่ก็เป็นบารมีทั้ง ๑๐ ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมอบรมไป

สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องของบารมี จะศึกษาด้วยตนเองได้ใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ซึ่งมีเรื่องของบารมีมาก ทั้งบารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี

ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย จริยาปิฎก แสดงทั้งลักษณะ ทั้งกิจ ทั้งอาการปรากฏ และเหตุใกล้ให้เกิด ของบารมี ๑๐ ทุกบารมี ว่า

ทานบารมี

มีการบริจาคเป็นลักษณะ

มีการกำจัดโลภะในไทยธรรมเป็นรส

มีความสามารถ (คือ การสละได้) เป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีภวสมบัติและ วิภวสมบัติเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีวัตถุอันควรบริจาคเป็นปทัฏฐาน

ศีลบารมี

มีการละเว้นเป็นลักษณะ

มีการกำจัดความเป็นผู้ทุศีลเป็นรส หรือมีความไม่มีโทษเป็นรส

มีความสะอาดเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีหิริโอตตัปปะเป็นปทัฏฐาน

เนกขัมมบารมี

มีการออกจากกามและการออกจากภพเป็นลักษณะ

มีการประกาศโทษของกามนั้นเป็นรส

มีการหันหลังจากโทษนั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีความสังเวชเป็นปทัฏฐาน

ปัญญาบารมี

มีการรู้แจ้งแทงตลอดตามสภาวธรรมเป็นลักษณะ หรือการรู้แจ้งแทงตลอด ไม่พลาดเป็นลักษณะ ดุจการซัดธนูและยิงด้วยลูกศรของคนฉลาด

มีแสงสว่างตามวิสัยเป็นรส ดุจประทีป

มีความไม่หลงเป็นปัจจุปัฏฐาน ดุจคนนำทางไปในป่า

มีสมาธิเป็นปทัฏฐาน หรือมีอริยสัจจ์ ๔ เป็นปทัฏฐาน

วิริยะบารมี

มีอุตสาหะเป็นลักษณะ

มีการอุปถัมภ์เป็นรส

มีการไม่จมเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีวัตถุปรารภความเพียรเป็นปทัฏฐาน หรือมีความสังเวชเป็นปทัฏฐาน

ขันติบารมี

มีความอดทนเป็นลักษณะ

มีความอดกลั้นสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาเป็นรส

มีความอดกลั้นเป็นปัจจุปัฏฐาน หรือมีความไม่โกรธเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีเห็นตามความจริงเป็นปทัฏฐาน

สัจจบารมี

มีการไม่พูดผิดเป็นลักษณะ

มีการประกาศตามความเป็นจริงเป็นรส

มีความชื่นใจเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีความสงบเสงี่ยมเป็นปทัฏฐาน

อธิษฐานบารมี

มีความตั้งใจในโพธิสมภารเป็นลักษณะ

มีการครอบงำสิ่งเป็นปฏิปักษ์ของโพธิสมภารเหล่านั้นเป็นรส

มีความไม่หวั่นไหวในการครอบงำสิ่งเป็นปฏิปักษ์เป็นปัจจุปัฏฐาน

มีโพธิสมภารเป็นปทัฏฐาน

เมตตาบารมี

มีความเป็นไปแห่งอาการเป็นประโยชน์เป็นลักษณะ

มีการนำประโยชน์เข้าไปเป็นรส หรือมีอาการกำจัดความอาฆาตเป็นรส

มีความอ่อนโยนเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีการเห็นสัตว์ทั้งหลายเป็นที่น่าพอใจเป็นปทัฏฐาน

อุเบกขาบารมี

มีความเป็นไปโดยอาการที่เป็นกลางเป็นลักษณะ

มีเห็นความเสมอกันเป็นรส

มีการสงบความเคียดแค้นและความเสื่อมเป็นปัจจุปัฏฐาน

มีการพิจารณาความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตนเป็นปทัฏฐาน

นอกจากนั้นยังมีข้อความโดยละเอียดอีกหลายประการใน ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ซึ่งเป็นเรื่องของบารมี และในแต่ละชาติเมื่อได้ทราบบารมี ๑๐ แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคล การเห็นประโยชน์ และการพิจารณา สภาพธรรมซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะว่าทุกคนก็อยากมีบารมีครบพร้อม ทั้ง ๑๐ อย่างมาก แต่กว่าจะถึงได้ ก็จะต้องค่อยๆ สะสมอบรมไปทีละเล็กทีละน้อย

มีท่านผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษาธรรม ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ท่านปรารภกับเพื่อนของท่านว่า ท่านอยากให้มานะของท่านลดลง อยากให้ความเจ้าอารมณ์ของ ท่านลดลงในชาตินี้ ซึ่งท่านก็รู้ว่าแสนยาก เพราะท่านเองท่านก็ไม่ทราบว่าท่าน จะสิ้นชีวิตลงในวัยที่ไม่สมควร แต่แม้กระนั้นก็ยังดีที่ท่านยังเห็นโทษของตนเองที่สะสมในสิ่งที่ไม่อยากจะให้มีเลย เช่น ความมานะ หรือความเจ้าอารมณ์ต่างๆ แต่ก็จะ เห็นได้ว่า ความคิดกับการทำ อย่างไหนยากกว่ากัน เพราะบางคนถ้าสะสม เพียงความคิดที่จะละอกุศล แต่ยังไม่ละ หรือยังไม่ทำ การละนั้นก็ยังต้องยากอยู่ แต่ถ้าสามารถกระทำได้ทันที และเห็นผลทันที ผู้นั้นจะมีกำลังใจขึ้นและรู้ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ยาก โดยการที่เมื่อเห็นอกุศลใดๆ ของตนเองที่คิดจะละ ก็ละในขณะนั้น เพราะถ้าไม่ละชาตินี้ จะคอยไปถึงชาติหน้า อกุศลนั้นก็เพิ่มขึ้น และจะติดตามไป ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว จะติดตามไปอีก อาจจะเป็นแสนโกฏิกัปป์ก็ได้ เพราะคงไม่ลืมว่า อดีตแสนโกฏิกัปป์ผ่านมาจนถึงเดี๋ยวนี้ได้ เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ที่กำลังผ่านไปทีละขณะ ก็จะถึงแสนโกฏิกัปป์ข้างหน้าได้ อีกไม่นาน ค่อยๆ ไป ทีละขณะ

บางท่านก็กล่าวว่า ช่วยท่านหน่อย เพราะท่านเป็นคนที่เบื่อเหลือเกินกับการที่ไม่ว่าจะทำอะไรคนก็ชมว่าดี ว่าถูก ซึ่งทำให้ท่านรู้สึกตัวว่ามีมานะมากเหลือเกิน และไม่มีใครที่จะเอามานะของท่านออกไปหรือช่วยทำให้ท่านละคลายมานะนี้ได้ ท่านก็ขอว่า อย่าทิ้งท่าน ให้ช่วยท่านละคลายการที่มีคนชื่นชมในตัวท่านอย่างมากๆ ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนให้ทราบว่า พระธรรมเท่านั้นที่เจาะลึก คนอื่นไม่สามารถทำอะไร ได้เลย ต้องเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงโดยละเอียด ทุกประการเพื่อให้ผู้ฟังพิจารณา และสามารถคลายความยึดมั่นในตัวตนและในมานะลงได้

อีกท่านหนึ่ง ท่านไม่ชอบศึกษาพระอภิธรรม เพราะว่าตัวเลขมากเหลือเกิน และท่านก็เห็นว่าเพียงแต่รู้ตัวเลข ไม่เป็นการขัดเกลากิเลส ไม่ได้พิจารณาสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ท่านจึงมีความเห็นว่า เมื่อท่านยังไม่สามารถรู้ทั่วธรรม ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านจะไปรู้เรื่องจำนวนของสภาพธรรมอื่นๆ ทำไม เช่น เจตสิกต่างๆ หรือรูปอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

แต่ไม่ควรประมาท ถ้าคิดอย่างนั้น ไม่มีทางที่จะพิจารณาให้เข้าถึงลักษณะที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้เห็นประโยชน์ของการรู้ความละเอียดของปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ที่มุ่งจำตัวเลขเท่านั้น แต่ต้องรู้ประโยชน์ว่า การศึกษาตัวเลขที่ละเอียด ก็เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ คือ เพื่อเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่ กำลังปรากฏจนสามารถประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า เป็นเพียงสภาพนามธรรม หรือรูปธรรม เพราะถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการพิจารณาเรื่องของธรรมโดยละเอียด วันหนึ่งๆ ทุกคนก็คิดเรื่องอื่น มีเรื่องอื่นที่จะให้คิดมาก แต่ถ้ามีใจที่ผูกไว้กับ ความละเอียดของธรรมที่จะทำให้คิดถึงบ่อยๆ และพิจารณาเนืองๆ จะทำให้ปัญญาค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น เพราะรู้ว่าจิตคิดนึกไม่มีใครสามารถที่จะห้ามได้ และวันหนึ่งๆ คิดตามเรื่องอื่นก็มาก ทำไมไม่ให้ประโยชน์ คือ คิดตามเรื่องความละเอียดของ สภาพธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม

ถ. คิดนึก มีคิดดี คิดไม่ดีก็ได้ เราสามารถจะเลือกคิดนึกได้ คิดนึก ก็เป็นกรรมอย่างหนึ่งนี่

สุ. ความคิดเป็นตัวตนหรือเปล่า

ถ. เป็นสมมติ

สุ. ปรมัตถธรรมมีจริง ใช่ไหม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ฟังแล้ว ก็ต้องพิจารณาให้เข้าถึงว่า ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คือจิต เจตสิก รูป เท่านั้นเอง แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรมบ่อยๆ ก็จะลืม และจะไม่คิดเรื่องของสภาพธรรม

เปิด  246
ปรับปรุง  2 มิ.ย. 2565