บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
ครั้งที่ ๑
นามธรรม และรูปธรรมไม่เที่ยง
การแสวงหา ๒ อย่าง
คุณวันทนา สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง อาจารย์สุจินต์ได้พูดถึงคำจำกัดความ และความหมายของคำว่านามธรรม และรูปธรรมว่า นามธรรมในพระพุทธศาสนาหมายถึงสิ่งที่ไม่ใช่รูป ไม่มีรูปร่างลักษณะ นามธรรมได้แก่ จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ความสุข ความทุกข์ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความเมตตากรุณาเหล่านี้เป็นต้น ส่วนรูปธรรมก็ได้แก่สิ่งที่ไม่ใช่จิตใจ ไม่มีความรู้สึกนึกคิด เช่น ร่างกาย ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นต้น รูปในทางพุทธศาสนามี ๒๘ รูป สีเป็นรูปหนึ่งใน ๒๘ รูป สีเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นรูปที่ปรากฏให้เห็นทางตา แต่โดยมากนั้นเราคิดว่าเห็นวัตถุสิ่งของ ไม่ได้เห็นสี ซึ่งก็เป็นความเข้าใจผิดอันหนึ่ง สำหรับการสนทนาธรรมในวันนี้ดิฉันก็ขอเริ่มด้วยคำถามว่า มีความจำเป็นอย่างไรที่เราต้องเรียนรู้เรื่องรูปสี
ท่านอาจารย์ รูปสีเป็นรูปสำคัญมากรูปหนึ่งในชีวิตประจำวัน เพราะเราเห็นสีทุกวัน คุณวันทนามีความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดจากการเห็นสีต่างๆ บ้างไหมคะ
คุณวันทนา มีอยู่ตลอดเวลาค่ะ
ท่านอาจารย์ ทำไมล่ะคะ
คุณวันทนา คือบางทีนะคะ เราก็เกิดชอบใจ พอใจ หรือบางทีก็ไม่พอใจสิ่งที่เราเห็นนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วว่า ความพอใจ ไม่พอใจ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะไม่รู้สภาพความจริงของสิ่งที่เห็นนั่นเอง ที่มองเห็นเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ได้นั้นก็เพราะมีสี ทุกคนก็ทราบว่าวัตถุสิ่งของต่างๆ ไม่เที่ยง มีการเสื่อมสลายแปรปรวนไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เมื่อสีเป็นรูปที่มีอยู่ในวัตถุสิ่งของตางๆ สีก็ต้องไม่เที่ยงเช่นเดียวกับวัตถุสิ่งของนั้นๆ ด้วย แต่ถ้าเราไม่รู้ความจริงข้อนี้ เราก็จะยึดมั่น และติดในสีสันวัณณะต่างๆ จนเกินสมควร เป็นเหตุนำมาซึ่งความยินดียินร้ายต่างๆ
คุณวันทนา บางทีในขณะที่เห็นสิ่งหนึ่ง เราไม่รู้หรอกว่าเรายึดมั่นในสีหรือในสิ่งนั้น
ท่านอาจารย์ สมมติว่าคุณวันทนาต้องการปากกาสีแดงนะคะ แล้วก็ไปซื้อปากกาที่ร้านขายปากกา แต่ว่าวันนั้นมีปากกาที่เขียนดี รูปร่างก็ดี เบา ไม่หนัก แต่ไม่มีสีแดงเลย คุณวันทนาจะซื้อไหมคะ
คุณวันทนา อาจจะไม่ซื้อหรอกค่ะ เพราะเจตนาตั้งไปว่าอยากจะได้ปากกาสีแดง
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงเห็นแล้วนะคะ ว่า ถึงแม้ว่าวัตถุสิ่งของนั้นเป็นอย่างเดียวกัน มีประโยชน์ใช้ได้เหมือนกัน แต่เพียงสีที่ผิดกันก็เป็นเหตุนำมาซึ่งความพอใจมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ว่าจะยึดมั่นติดในสีนั้นมากน้อยเพียงใด และถึงแม้ว่าเราจะเห็นสีอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่เราเห็นทางตานั้น เป็นแต่เพียงสีที่ติดอยู่กับวัตถุสิ่งของต่างๆ วัตถุสิ่งของต่างๆ ย่อมจะต้องเก่าไป เปลี่ยนแปลงไป แตกทำลายไป สีก็ย่อมต้องมีการแตกสลาย แปรปรวน แตกทำลายเปลี่ยนแปลงไปด้วย การที่คุณวันทนาเห็นว่า วัตถุสิ่งนั้นเสื่อมไป เก่าไป แตกทำลายไป ก็เพราะเห็นสีของวัตถุนั้นเปลี่ยนแปลงไป ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ใช่ค่ะ เป็นต้นว่าเห็นมันผิดปกติไปจากสภาพเดิมที่เคยเห็น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะพูดอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า เมื่อคุณวันทนาเห็นสีเปลี่ยนไป จึงรู้ว่าวัตถุสิ่งนั้นเสื่อมไปเปลี่ยนแปลงไป ใช่ไหมคะ ดิฉันจะยกพระสูตรให้คุณวันทนาเห็นความไพเราะของการอุปมาในเรื่องนี้นะคะ
คุณวันทนา ดีทีเดียวค่ะ
ท่านอาจารย์ ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรค นันทโกวาทสูตร ข้อ ๗๖๖ - ๗๙๔ มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ กราบทูลขอให้พระองค์ทรงสั่งสอนภิกษุณี พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า วันนั้นเป็นเวรของพระภิกษุรูปใด เพราะสมัยนั้นภิกษุผู้เถระทั้งหลายย่อมโอวาทภิกษุณีโดยเป็นเวรกัน ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ภิกษุทั้งปวงทำเวรโอวาทภิกษุณีโดยเป็นเป็นเวรกันหมดแล้ว แต่ท่านพระนัททกะรูปนี้ ไม่ปรารถนาจะโอวาทพวกภิกษุณีโดยเป็นเวรกัน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสให้ท่านพระนันทกะโอวาทสั่งสอนภิกษุณี ท่านพระนันทกะก็ได้เข้าไปในวิหารราชการามแสดงธรรมแก่ภิกษุณี แต่ก่อนที่ท่านจะแสดงธรรม ท่านกล่าวว่าจักต้องมีข้อสอบถามกัน ในข้อสอบถามนั้น ถ้าภิกษุณีทั้งหลายรู้พึงตอบว่ารู้ ไม่รู้พึงตอบว่าไม่รู้ หรือเมื่อมีความเคลือบแคลงสงสัย พึงทวนถามในเรื่องนั้นว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร ข้อนี้มี่เนื้อความอย่างไร ซึ่งภิกษุณีพวกนั้นก็รับคำ ในนันทโกวาทสูตรกล่าวถึงเรื่อง ความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลายอุปมาเหมือนประทีปน้ำมันที่กำลังติดไฟอยู่ น้ำมันก็ไม่เที่ยง ไส้ก็ไม่เที่ยง เปลวไฟก็ไม่เที่ยง แสงสว่างก็ไม่เที่ยง ซึ่งจะเห็นได้นะคะ ว่าท่านไม่ได้อุปมาเฉพาะน้ำมันหรือไส้เท่านั้น แต่ท่านยังได้อุปมาถึงเปลวไฟ และแสงสว่างก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน ซึ่งความไพเราะของอุปมานี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อวัตถุใดๆ ไม่เที่ยงแล้ว สิ่งที่มองเห็น เช่น เปลวไฟ และแสงสว่างนั้นก็ย่อมไม่เที่ยงเช่นเดียวกันด้วย คุณวันทนามีความเห็นอย่างไรบ้างคะ
คุณวันทนา ก็ต้องเป็นอย่างนั้นค่ะ เพราะว่าเปลวไฟก็ดีหรือแสงสว่างก็ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยน้ำมัน และไส้เป็นอุปกรณ์ซึ่งกัน และกัน
ท่านอาจารย์ ค่ะ เมื่อน้ำมันหมดไปแล้ว ไส้หมดไปแล้ว เปลวไฟ และแสงส่ว่างก็ต้องดับหมดไป และความจริงนั้น ถึงแม้ว่าในขณะที่เปลวไฟยังปรากฏอยู่นั้น น้ำมัน ไส้ เปลวไฟ และแสงสว่างก็ดับไป และเกิดต่ออยู่เรื่อยๆ ทุกขณะ จนกว่าน้ำมัน และไส้จะหมดสิ้นไป เปลวไฟ และแสงสว่างจึงดับหมดสิ้นไปด้วย ในนันทโกวาทสูตรท่านยังอุปมา ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นว่า เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีแก่นตั้งอยู่ รากก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ลำต้นก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา กิ่ง และใบก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา เงาก็ไม่เที่ยง แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ซึ่งก็เป็นความไพเราะของการอุปมาโดยละเอียดว่า นอกจากราก ลำต้น และกิ่งใบไม่เที่ยงแล้ว แม้เงาขอต้นไม้นั้นก็ย่อมไม่เที่ยงด้วย ซึ่งข้อนี้ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดที่ปรากฏให้เห็นได้ สิ่งที่ปรากฏให้เห็นนั้นก็ย่อมเป็นแต่เพียงสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้นเอง คุณวันทนาพอจะเห็นได้หรือยังคะว่า เราควรจะรู้ควรจะเข้าใจสภาพความจริงของสิ่งซึ่งเราประสบอยู่ทุกๆ วัน เช่นสีเป็นต้น
คุณวันทนา พอจะเห็นลางๆ ค่ะ
ท่านอาจารย์ คำว่า สีซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตานั้น ในภาษาบาลีใช้คำว่า วัณณะ หรือวณโน ซึ่งในภาษาไทยเราเข้าใจกันว่า วัณณะหมายถึงสีผิวหรือผิวพรรณ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจความจริงในเรื่องสีอย่างถูกต้องแล้ว ก็อาจจะมีความยึดถือตามลักษณะของสีที่ปรากฏแตกต่างกันเป็นบุคคลชาติต่างๆ ผิวพรรณวัณณะต่างๆ กัน แต่แท้ที่จริงไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตามซึ่งมีสีปรากฏให้เห็นนั้นก็จะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง เสื่อมสลายไปเหมือนกันทั้งหมด ไม่ควรที่จะเข้าใจผิดหลงยึดมั่นจนทำให้จิตใจเศร้าหมองเป็นอกุศล
คุณวันทนา เข้าใจผิดกันแท้ๆ ทีเดียวนะคะ จึงได้ถือกันเป็นเรื่องใหญ่ เกิดสงครามระหว่างชาติเรื่องผิวพรรณ ซึ่งถ้าบุคคลเหล่านี้จะมีความเข้าใจ และได้ศึกษาพระธรรมในเรื่องนี้ สงคราม และการแบ่งแยกระหว่างผิวก็คงจะไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ถึงแม้ว่าคุณวันทนาจะทราบอย่างนี้แล้ว คุณวันทนาก็ยังคงพอใจในสีอยู่ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ แหม ก็มันละยากนี่คะ เพราะความเข้าใจดั้งเดิมยังมีกำลังมากกว่า
ท่านอาจารย์ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมไว้เพื่อให้เราได้ประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้เห็นความจริงอย่างแจ้งชัดจนกระทั่งสามารถที่จะละความยึดมั่นได้เป็นลำดับ
คุณวันทนา ดิฉันก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาเรื่องนั้น แต่ดิฉันยังมีความสงสัยต่อไปอีกหน่อยหนึ่งค่ะ เรามีความจำเป็นอย่างไรคะ ที่จะรู้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นสีของวัตถุต่างๆ เราจะรู้รวมกันไปทีเดียวได้ไหมคะว่าเราเห็นอะไร
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็เคยรู้รวมๆ มาแล้วตลอดเวลาใช่ไหมคะ แล้วก็มีประโยชน์อย่างไรบ้างคะที่รู้รวมๆ อย่างนั้น
คุณวันทนา ประโยชน์เห็นจะหาไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นซิคะจึงจะต้องรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏรวมกันอยู่นั้นความจริงมีลักษณะต่างกันเป็นแต่ละลักษณะแต่ละประเภท การที่รู้รวมๆ กันว่าเป็นสัตว์ บุคคล เป็นวัตถุ สิ่งนั้น สิ่งนี้ จะทำให้เข้าใจผิด และยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นได้ ดิฉันได้เรียนให้ทราบแล้วว่า รูปในพระพุทธศาสนามี ๒๘ รูป ถ้าคุณวันทนาไม่รู้ลักษณะของรูปแต่ละรูป รู้รวมกันเป็นรูปเดียว คุณวันทนาก็ย่อมจะมีความยึดมั่นในรูปนั้นอย่างที่เคยยึดมั่นมาแล้ว
คุณวันทนา และก็ยึดมั่นเอามากๆ เสียด้วย อาจารย์จะกรุณาอธิบายต่อไปได้ไหมคะว่า ประโยชน์ และอานิสงส์ของการที่รู้ว่าสิ่งที่เรามองเห็นเป็นเพียงสีนั้นมีอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ค่ะ การรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงขณะใดก็เป็นปัญญาขณะนั้น เพราะปัญญาเป็นความรู้ที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะที่คุณวันทนาเห็น และรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นเพียงสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้นเอง ขณะนั้นก็จะรู้สึกว่าสีซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่มีสาระสำคัญอะไรอย่างที่เคยคิด ลองนึกดูซิคะว่าถ้ารู้สึกอย่างนี้แล้ว จะละคลายความต้องการในสีนั้นหรือในวัตถุนั้นลงได้บ้างไหมคะ
คุณวันทนา ละคลายลงได้บ้างค่ะ เพราะว่ามันเป็นเพียงสีเท่านั้น และเพราะว่ามันเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ด้วย
ท่านอาจารย์ การที่เรารู้ความจริงอย่างนั้นนะคะ จะทำให้เราคลายความยึดมั่นในสีสันวัณณะต่างๆ ในวัตถุต่างๆ ลงได้ ทำให้เรามีความสันโดษ มีความพอใจในสิ่งที่เราได้รับ ถ้าเราได้สิ่งที่ดีๆ สีที่ดีถูกใจ เราก็ไม่หลงใหลจนเกินไป เพราะรู้ว่าสีนั้นก็จะต้องเสื่อมสลายแปรปรวนแตกทำลายไป นอกจากนั้นก็จะทำให้ไม่ทะนงตัว ไม่โอ้อวดในเวลาที่ได้รับสิ่งต่างๆ ที่ดี คุณวันทนาอาจจะเคยสังเกตว่า บางครั้งพอเราได้รับสิ่งที่ดี และไม่รู้เท่าตามความเป็นจริง ก็เกิดหลงใหลทะนงตน และบางครั้งก็อาจจะโอ้อวดให้คนอื่นรู้ด้วย
คุณวันทนา เช่นที่ชาวโลกส่วนมากขณะนี้กำลังเป็นอยู่รวมทั้งเราด้วย ถ้าเราไม่รู้เท่าทันนะคะ
ท่านอาจารย์ และในขณะที่ได้สิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกใจ ก็ทำให้โทมนัสเสียใจ แต่ถ้ารู้ว่าเป็นเพียงสีที่ไม่ถูกใจเท่านั้น ความโทมนัสหรือความไม่พอใจที่ได้สีไม่ถูกใจนั้นก็จะไม่นาน
คุณวันทนา เมื่อเราได้เห็นประโยชน์ของการที่รู้ว่าเป็นเพียงสีที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ต่อไปเราก็จะปฏิบัติอย่างไรล่ะคะ จึงจะทำให้รู้ได้บ่อยๆ รู้ได้จริงๆ แน่ชัดว่าสิ่งที่เห็นนั้นน่ะเป็นสี เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เพราะโดยปกติเรามักจะเห็นเป็นวัตถุหรืออะไรต่ออะไรทำนองนั้น
ท่านอาจารย์ ข้อนี้ก็ต้องอาศัยการเห็นประโยชน์ของการรู้ว่าสิ่งที่เราเห็นนั้น เป็นแต่เพียงสีคือสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นก่อนนะคะ แล้วจึงปฏิบัติให้เกิดความรู้มากกว่านั้นขึ้นอีก ดิฉันของเพิ่มเติมในเรื่องประโยชน์ของการรู้ว่าสีเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาอีกเล็กน้อยค่ะ เวลาที่คุณวันทนารู้ว่าสีเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แล้วคลายความโทมนัสเมื่อได้สีที่ไม่ถูกใจ และคลายความหลงใหลเมื่อได้สีที่ถูกใจ ก็ย่อมจะทำให้คุณวันทนามีความสงบ มีความสันโดษ ไม่เดือดร้อน ไม่เป็นทาสของการที่จะต้องแสวงหาสิ่งซึ่งคุณวันทนาเข้าใจแล้วว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่แปรปรวนเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ซึ่งการแสวงหานั้นมีสองประการค่ะ ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ตติยปัณณาสก์ ข้อ ๓๙๘ มีข้อความว่า การแสวงหานั้นมีสองประการ คือการแสวงหาอามิสซึ่งได้แก่สิ่งที่ปรารถนาพอใจ ลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะต่างๆ ประการหนึ่ง และการแสวงหาธรรมอีกประการหนึ่ง ในการแสวงหาสองประการนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การแสวงหาธรรมเป็นเลิศ คุณวันทนาลองคิดดูนะคะ ว่า ถ้ายังติดหลงใหลอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่ไม่มีสาระ คุณวันทนาจะแสวงหาอะไรคะ
คุณวันทนา ก็ต้องแสวงหาสิ่งที่ไม่มีสาระเหล่านั้น
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทางที่จะช่วยให้คุณวันทนาแสวงหาธรรมซึ่งมีประโยชน์ยิ่งกว่าอามิสนั้น ก็จะต้องอาศัยการรู้ความจริงค่ะ ซึ่งก็จะช่วยให้คลายความติดในวัตถุทั้งหลายเสียก่อน คือจะต้องรู้ความจริงบ่อยๆ ว่าเมื่อได้รับวัตถุสิ่งของใดๆ ก็ตาม และเมื่อเห็นวัตถุสิ่งของใดๆ ก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงเห็นสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาของสิ่งต่างๆ ที่ไม่เที่ยง เสื่อมสลาย แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา และเมื่อรู้อย่างนี้บ่อยๆ นะคะ ก็จะคลายการติดในสีสันวัณณะทั้งหลาย และในวัตถุทั้งหลายลงบ้าง และคงจะเพิ่มการแสวงหาธรรมมากขึ้น
คุณวันทนา ค่ะ
ท่านอาจารย์ ประโยชน์อีกประการหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะคลายความติดหลงใหลในสีสันวัณณะต่างๆ และในวัตถุสิ่งของต่างๆ แล้ว ก็ยังอุปการะแก่อินทรียสังวรด้วย อินทรียสังวร คือการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดิฉันจะยกตัวอย่างเฉพาะในเรื่องการสำรวมในการเห็นเท่านั้น โดยมากเมื่อเห็นอะไรที่เราเคยชอบเคยพอใจ ก็ย่อมจะสนใจในสิ่งนั้นเป็นพิเศษ เช่น คุณวันทนาชอบดอกไม้ชนิดหนึ่ง เมื่อเห็นดอกไม้นั้นก็คงไม่ผ่านไปเฉยๆ แต่คงจะพิจารณาเปรียบเทียบสีที่ต่างกันของดอกนั้นกับดอกอื่น เปรียบเทียบ อนุพยัญชนะคือส่วนละเอียดต่างๆ ของสิ่งที่เห็นนั้นด้วยความสนใจ แต่ถ้าสังวรคือรู้ในขณะนั้นว่าสิ่งที่กำลังเห็นนั้นก็เป็นแต่เพียงสีของวัตถุสิ่งนั้นเท่านั้น ก็จะไม่ติดข้องหลงใหลยึดมั่นในวัตถุสิ่งนั้นจนเกินไป ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เพราะเมื่อมีความปรารถนาต้องการสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็ย่อมเป็นทุกข์
คุณวันทนา ค่ะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาอยากทราบไหมคะว่า อินทรียสังวร การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นจะมีประโยชน์อะไรอีกบ้าง
ท่านอาจารย์ ประโยชน์ของอินทรียสังวรการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น นอกจากเมื่อเห็นหรือได้ยินอะไรๆ เป็นต้น ก็ไม่หลงใหลยินดีพอใจในสิ่งนั้นๆ อย่างมากมาย หรือไม่ขัดเคืองขุ่นแค้นจนมากมายใหญ่โตแล้ว เมื่ออบรมเจริญปัญญารู้ความจริงของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยละเอียดอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว ก็จะขัดเกลา ละคลายกิเลสต่างๆ จนดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดอีกเลยด้วย
คุณวันทนา ค่ะ แล้วเราจะปฏิบัติยังไงล่ะคะอาจารย์ จึงจะรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นได้ เพราะที่จะรู้จริงแน่ชัดลงไปว่าสิ่งที่เห็นเป็นเพียงสีซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ปกติแล้วก็เป็นการยากเสียเหลือเกิน
ท่านอาจารย์ ที่สำคัญที่สุดก็ต้อง อบรมเจริญสติรู้สึกตัวในขณะที่เห็นนั้น ระลึกรู้ว่าสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏนั้นเป็นเพียงรูปธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เพราะว่าทันทีที่หลงลืมสติไม่ระลึกรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ก็ย่อมจะสนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เช่น ถ้าเห็นสีอะไรที่เคยชอบ ก็จะสนใจในวัตถุสิ่งนั้นทันที และเพลิดเพลินยึดมั่นในสิ่งที่เห็นนั้น เพราะฉะนั้น การมีสติรู้สึกตัวรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏจึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าใครต้องการจะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ความจริง ไม่ต้องการให้หลงใหลในสิ่งที่เห็น ไม่ให้เกิดความทุกข์ความโทมนัส ความยินดียินร้าย ผู้นั้นก็ต้องมีสติรู้สึกตัวบ่อยๆ เพื่อจะได้รู้สภาพธรรมที่แท้จริงของสิ่งที่เห็นนั้น
คุณวันทนา เป็นสติปัฏฐานไหมคะ
ท่านอาจารย์ คำว่า สติปัฏฐาน หมายถึงสิ่งที่สติระลึกรู้เพื่อให้ปัญญาพิจารณา ศึกษา รู้ชัดตามความเป็นจริง ในขณะที่คุณวันทนาเห็นแล้วก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง คือเป็นรูปธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น การรู้อย่างนี้เป็นปัญญาหรือเปล่าคะ
คุณวันทนา เป็นค่ะ
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานนั้นไม่ใช่รู้อย่างอื่นนะคะ การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นการอบรมเจริญสติ และปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปกติ นั่นเองคะ แต่ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เพียงแต่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง รู้เท่านี้ยังไม่พอค่ะ เพราะว่ามีสิ่งที่ยังไม่รู้อีกมาก และขณะใดที่ไม่รู้ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา
คุณวันทนา ค่ะ แหมนี่เรากำลังคุยกันถึงเรื่องที่น่าสนใจที่เดียวนะคะ แต่ก็น่าเสียดายเหลือเกินที่เวลาของการสนทนาของเราได้สิ้นสุดลงแล้ว จึงจำเป็นต้องยุติการสนทนาแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔