บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
ครั้งที่ ๑๒
ปกตูปนิสสยปัจจัย สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัย
เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับร่างกาย และจิตใจ
คุณวันทนา สวัสดีค่ะท่านผู้ฟังที่เคารพค่ะ ดิฉันจำได้ว่า ดิฉันได้เสนอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาว่า การศึกษาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจะจำเป็นแก่บุคคลในวัยไหนมากกว่ากัน วัยหนุ่มสาวหรือว่าวัยแก่เฒ่า เหตุผลข้อหนึ่งที่ดิฉันได้เรียนเสนอแก่ท่านผู้ฟังคือธรรมเป็นประดุจอาหารหล่อเลี้ยงบำรุงจิตใจ ฉะนั้น เมื่อทั้งหนุ่มสาว และผู้เฒ่าผู้แก่ต่างก็มีหัวใจด้วยกันทั้งนั้น ธรรมจึงย่อมเป็นของจำเป็นแก่หนุ่มสาว และคนแก่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ท่านผู้ฟังคะ ในพฤติกรรมของเด็กๆ ดิฉันเคยเห็นเด็กบางคนเป็นลูกที่ดีอยู่ในโอวาทคำสอนของพ่อแม่เสมอ รู้จักช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ เวลาพูดกับท่านก็พูดด้วยน้ำเสียงเรียบร้อย มีคะ ขา ครับ ทุกครั้ง ขยันตั้งใจเรียน รู้จักประหยัดเงินทองเข้าของเครื่องใช้เพราะเห็นว่าพ่อแม่หามาได้ด้วยความเหนื่อยยาก พฤติกรรมเหล่านี้ ดิฉันคิดว่าไม่เพียงแต่ยังความปีติโสมนัสให้แก่จิตใจของพ่อแม่ที่มีลูกดีสมใจ แต่ยังพลอดให้ความรู้สึกแช่มชื่นยินดีเกิดขึ้นด้วยแก่ผู้ที่ได้พบเห็น เด็กที่ได้รับการฝึกฝนอบรมให้มีคุณธรรมเบื้องต้นดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็ย่อมจะเป็นหน่วยที่ดีของสังคม และเป็นมิตรที่ดีของเพื่อนฝูง เพราะย่อมเป็นผู้เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนฝูง มีวาจาอ่อนหวาน ไพเราะ มีอรรถมีสารถเป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง มีการประพฤติอันเป็นประโยชน์ต่อมิตรต่อหมู่คณะ ไม่ดูถูกเหยียดหยามคนอื่น ไม่ยกตนข่มท่าน เหล่านี้ เป็นคุณธรรมคือธรรมฝ่ายกุศลที่สร้างสรรความดีงามแก่ชีวิตของเด็กในปฐมวัย คราวนี้ก็จะหันมากล่าวถึงประโยชน์ของธรรมต่อชีวิตในวันหนุ่มสาวซึ่งถือกันว่า เป็นวัยแห่งความเจริญก้าวหน้า วัยหนุ่มสาวนับว่าเป็นวัยที่สำคัญมาก พ่อแม่ที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่ฉลาดทั้งหลาย จึงย่อมจะสนับสนุนทุกทางที่จะให้บทเรียนความรู้ความเข้าใจแก่ลูกเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิต ให้มีโอกาสได้ศึกษาเข้าใจหลักธรรมทางพุทธศาสนา เพราะพ่อแม่นั้นถึงแม้จะรักลูก จะมีความหวังดีต่อลูกเพียงใดก็ตาม ย่อมจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่คุ้มครองเป็นที่พึ่งของลูกได้ตลอดไป การให้โอกาสลูกได้ศึกษาธรรมจึงเปรียบเหมือนการได้ยื่นที่พึ่งอันประเสริฐอันถาวรให้แก่ลูก เด็กหนุ่มเด็กสาวส่วนมากหรือแม้แต่ตัวดิฉันเองในสมัยที่อยู่ในวัยนั้น มักจะชอบหาความสำราญจากการพักผ่อนด้วยการดูหนังดูละคร เพราะเห็นว่าการดูหนังดูละครโดยเฉพาะอ่างยิ่งละครประเภทชีวิตนั้น นอกเหนือไปจากความบันเทิงแล้ว ก็ยังมีคุณธรรมมีสาระประโยชน์แทรกอยู่ด้วย เช่นเป็นเรื่องความเสียสละ ความกล้าหาญ ความอดทน ความซื่อสัตย์ ก็ทำไมเล่าจิตใจของคนหนุ่มสาวในวัยนี้จึงต้องการได้รับรส ได้รู้คุณประโยชน์ของการประพฤติคุณธรรมเหล่านี้ หากมิใช่เป็นเพราะว่าชีวิตของเขาเหล่านั้นเกิดปัญหาเกี่ยวเนื่องกับสิ่งเหล่านี้ขึ้นแล้ว เขาต้องการที่พึ่งอันเป็นหลักใจ ต้องการกำลังใจสนับสนุนให้เขาดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงาม แต่เพราะเขาขาดความรู้ ขาดผู้ที่จะช่วยชี้แนะแนวทาง เขาจึงต้องแสวงหาสาระในสิ่งที่เขาพอจะแสวงหาเอาได้ เช่นจากคติธรรมในหนังบางเรื่อง จากหนังสือปรัชญาบ้าง เพราะเขายังไม่รู้ว่าการศึกษา และการปฏิบัติธรรมตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะแก้ปัญหาความทุกข์ความกังวลของเขาได้ ท่านผู้ฟังคะ ท่านผู้ฟังคงมีญาติผู้ใหญ่ที่สูงอายุ และในบรรดาญาติผู้ใหญ่เหล่านั้น ก็ย่อมมีทั้งผู้ที่ฝักใฝ่ในธรรม และไม่ฝักใฝ่ในธรรม ท่านผู้ฟังเคยสังเกตไหมว่า ท่านกราบไหว้ท่านผู้ใหญ่คนไหนด้วยความรักความเคารพอย่างสนิทใจ เพราะคุณธรรมเท่านั้นที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ในเด็ก หนุ่มสาว หรือผู้แก่ ย่อมทำให้ผู้นั้นเป็นบุคคลที่น่ารัก น่าเคารพ น่านิยมชมชื่น เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ความระลึกถึง ชวนให้เข้าใกล้ ชวนให้คบค้าสมาคม บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นโดยสภาพที่แท้จริงแล้วก็คือธรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง และรูปบ้าง นั่นเอง เพราะสภาพธรรมทั้งหลายที่มีจริงที่เกิดขึ้นปรากฏนั้นย่อมไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป สำหรับเรื่องของจิต เจตสิก รูปนั้น ถ้าจะกล่าวตามที่เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือกาย และใจนั่นเอง เรื่องของกาย และใจนี้ ดิฉันยังมีปัญหาใคร่จะเรียนถามอาจารย์สุจินต์ค่ะว่า จิตใจจะต้องเกิดที่ร่างกายเสมอไปหรือคะ
ท่านอาจารย์ โดยทั่วไปจิตจะต้องอาศัยรูปร่างกายเกิดขึ้นทุกครั้งค่ะ วิธีพิสูจน์ก็ง่ายไม่ยากเลย เพราะไม่ว่าคุณวันทนาจะอยู่ที่ไหน ก็จะได้ยินเสียงบ้าง ได้กลิ่นบ้าง คิดนึกบ้าง หรืออาจจะรู้สึกเจ็บปวดตามร่างกายบ้าง ซึ่งก็ย่อมจะรู้ได้ว่าจิตที่ได้ยินเสียง ได้กลิ่น คิดนึก เป็นต้น ก็อยู่ที่รูปร่างกายนั่นเองค่ะ ถ้าไม่มีรูปร่างกายแล้วเสียงก็ปรากฏไม่ได้ กลิ่นก็ไม่สามารถจะกระทบอะไรให้จิตเกิดขึ้นรู้ได้ ความรู้สึกเจ็บปวดเมื่อย และคิดนึกก็เกิดขึ้นไม่ได้เลยค่ะ และเวลาลืมตาขึ้นนะคะ ก็จะเห็นทันทีซึ่งก็ไม่มีใครสามารถจะบังคับว่าลืมตาแล้วก็อย่าเห็นอะไร ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา แล้วสิ่งอื่นที่ล้อมรอบตัวเราล่ะคะอาจารย์ อย่างลมฟ้าอากาศ สถานที่ และบุคคล จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับร่างกาย และจิตใจเราบ้างหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ มีค่ะ เพราะว่าทุกสิ่งที่เกิดร่วมกันเกี่ยวข้องติดต่อหรือกระทบสัมผัสกันย่อมจะเป็นปัจจัยกันด้วย ในทางธรรมเรียกว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งเป็นปัจจัยตามปกติตามสภาพของสิ่งนั้น เช่น ถ้าเราอยู่ในที่อากาศดีๆ อากาศบริสุทธิ์ โปร่งสบาย ร่างกายก็จะสดชื่นแข็งแรง และความรู้สึกของเราก็จะแจ่มใสปลอดโปร่งขึ้น หรืออาหารบางชนิดเหมาะสมกับร่างกายในฤดูกาลใด ถ้าร่างกายได้รับอาหารนั้นในขณะนั้นก็จะรู้สึกแข็งแรงมีกำลังวังชา ร่างกาย และจิตใจของแต่ละคนต้องการอาหารไม่เหมือนกัน อาหารชนิดหนึ่งอาจจะมีประโยชน์ และถูกปากสำหรับคนหนึ่ง แต่ถ้าอีกคนหนึ่งรับประทานก็อาจไม่อร่อยหรืออาจจะทำให้ปวดท้อง ท้องเสีย ก็ได้ค่ะ
คุณวันทนา อาจารย์คะ แล้วก็เรื่องอากาศร้อน หนาวล่ะคะ ดิฉันคิดว่าก็คงจะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งเหมือนกันนะคะ คือบางคนก็รู้สึกสบายเมื่ออากาศค่อนข้างจะเย็น แต่บางคนก็บอกว่าไม่ชอบ ต้องหาเสื้อผ้าหนาๆ มาใส่ เสียเวลาเสียเงินทอง สู้อากาศค่อนข้างร้อนหน่อยก็ไม่ได้ เพราะนึกอยากจะอาบน้ำ อยากจะทาแป้ง ทาน้ำอบไทยหอมๆ เมื่อไรก็ได้ เสร็จแล้วก็เย็นตัวเย็นกาย ชื่นใจดีกว่าอากาศเย็นเป็นไหนๆ ที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไรคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ เพราะส่วนผสมของรูปต่างๆ ที่เกิดรวมกันในร่างกายของคนเราแต่ละคนต่างกันค่ะ ซึ่งนอกจากจะทำให้คนเราสูงต่ำดำขาวต่างๆ กันแล้ว เวลากระทบกับอากาศภายนอกที่เย็นหรือร้อนก็ทำให้มีความรู้สึกต่างกัน ตัวอย่างที่คุณวันทนาจะเห็นได้ง่ายๆ ก็คนที่เป็นไข้ตัวร้อนจัด เวลามีลมอ่อนๆ กำลังสบายพัดมากระทบ ใครๆ ก็ชอบ แต่คนที่กำลังเป็นไข้จะรู้สึกตรงกันข้าม อาจจะหนาวสั่นต้องห่มผ้า ปิดหน้าต่างหรือต้องใส่เสื้อผ้าหนาๆ เป็นต้นค่ะ
คุณวันทนา แล้วสถานที่ล่ะคะ เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจิตใจร่างกายบ้างไหมคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ สถานที่ก็เหมือนกันค่ะ อย่างหน้าร้อนอย่างนี้ก็ยิ่งเห็นชัดใหญ่นะคะ บางคนก็ชอบไปตามชายทะเล ชอบอาบน้ำทะเล บางคนก็ชอบขุดทรายหรือชอบหมกตัวในทราย บางคนก็เดินเท้าเปล่าไปตามชายหาดบอกว่าทำอย่างนี้แล้วร่างกายจะแข็งแรงดี แต่บางคนก็กลับชอบไปตามป่าตามเขาตามถ้ำ ชอบดูดอกหญ้าดอกไม้แปลกๆ หรือฟังเสียงนก ดูกระรอกกระแต ชอบอยู่ตามป่าตามเขาค่ะ
คุณวันทนา ค่ะอาจารย์ ดิฉันเคยเห็นคนบางคนชอบอยู่เงียบๆ ห่างผู้คน ถ้าจะต้องไปอยู่ในกลุ่มของคนมากๆ ก็อึดอัดเวียนศีรษะไม่สบาย แต่คนบางคนก็ตรงกันข้ามเชียวค่ะ อยู่บ้านไม่ติด ต้องออกไปเที่ยวเตร่คบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงมากๆ จึงจะมีความสุข สิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเราตั้งแต่สิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจอย่างลมฟ้าอากาศ ภูเขา ทะเล ต้นไม้ ดอกไม้ ไปจนกระทั่งสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ สัตว์ต่างๆ ผู้คนเพื่อนฝูงก็นับว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตจิตใจของเรารวมทั้งร่างกายด้วยไม่น้อยเชียวนะคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ค่ะ สิ่งต่างๆ ที่ล้อมรอบตัวเราทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตล้วนเป็นปัจจัยทั้งนั้น เป็นส่วนประกอบที่ทำให้ร่างกาย และความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ กัน และสามารถทำให้เปลี่ยนแปลงไปในวิถีทางตางๆ ได้ด้วย เช่น ความร่มรื่นของป่าเขาลำเนาไพรก็ทำให้จิตใจของเราแช่มชื่นแจ่มใส แต่ว่าสิ่งที่เรามองเห็น และพูดมาแล้วก็เป็นเพียงปัจจัยชนิดหนึ่งเท่านั้นนะคะ คือเป็นปัจจัยตามสภาพปกติของสิ่งนั้นๆ ซึ่งเรียกว่า ปกติปนิสสยปัจจัย คือเป็นปัจจัยตามปกติธรรมดาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดรวมกันในที่เดียวกันหรือในที่ใกล้กันค่ะ
คุณวันทนา สำหรับปัจจัยอื่นที่ยังมองไม่เห็น และลึกซึ้งกว่านี้ก็คงมีอีกมากนะคะ อาจารย์ ดิฉันเคยสังเกตว่าแม้เราจะอยู่ในที่ที่เราพอใจตามอัธยาศัย เช่นตามชายทะเลหรือที่ห่างไกลจากเสียงเอะอะของผู้คน บางครั้งใจของเราก็อาจจะหงุดหงิด ไม่เป็นสุข ซึ่งไม่เห็นว่าจะเกี่ยวกับสถานที่สักนิดเดียว ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะมีปัจจัยอื่นๆ อีกด้วย ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นค่ะ และปัจจัยนี่ก็มีมาก ปัจจัยบางประเภทเป็นปัจจัยที่สุขุมลึกซึ้งมองไม่เห็นในปัจจุบัน เพราะเป็นปัจจัยมาแต่อดีตก็มี โดยประเภทใหญ่ๆ พระองค์ทรงแสดงไว้ว่ามี ๒๔ ปัจจัย
คุณวันทนา แหม น่ารู้จังค่ะ ถ้าหากว่าเราได้รู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปร่างของเรา จิต เจตสิก แต่ละชนิดของเราบ้างก็จะดีทีเดียว
ท่านอาจารย์ เรื่องปัจจัยที่น่ารู้มาก เพราะจะทำให้เราเห็นสภาพความเป็นอนัตตาของทุกสิ่งทุกอย่างชัดเจนขึ้นอย่างมากทีเดียว เพราะว่าที่เราหลงยึดว่าเป็นตัวตนเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นวัตถุสิ่งของตางๆ นั้น ก็เป็นรูปแต่ละประเภทที่เกิดรวมกันเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กัน เช่น รูปของคน และรูปของพวกสัตว์ต่างๆ นั้นก็เป็นที่อาศัยเป็นที่เกิดของจิต และเจตสิกประเภทต่างๆ กัน ซึ่งทั้งนามธรรม และรูปธรรมก็เกิดขึ้น และดับไปทุกๆ ขณะ คุณวันทนาก็คงจะเห็นนะคะ ว่า ธรรมทั้งหลายล้วนเป็นอนัตตาต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามสภาพของปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงหรือบังคับบัญชาได้เลย
คุณวันทนา แหม ฟังดูเหมือนกับว่า พระองค์ได้ทรงย่อย และทรงจำแนกส่วนตางๆ ที่มารวมกันเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ เสียเป็นชิ้นเป็นอันหมดเลยนะคะ ไม่มีอะไรเลยที่พอจะเหลือให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเขาเป็นเราได้เลยนะคะ
ท่านอาจารย์ ก็คุณวันทนายึดอะไรว่าเป็นตัวคุณวันทนาบ้างล่ะคะ
คุณวันทนา ถ้าเป็นรูปก็ยึดหมดเลยค่ะอาจารย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แขน ขา นี้ แล้วก็ถ้าเกี่ยวกับจิตใจก็ยึดความรู้สึกนึกคิด ความสุข ความทุกข์ ความชอบ ความไม่ชอบ เหล่านี้เป็นต้นค่ะ
ท่านอาจารย์ รูปที่เคยยึกถือว่าเป็นร่างกายของคุณวันทนาเมื่อตอนเป็นเด็กนั้นก็หายไปหมดแล้ว และรูปร่างกายในขณะนี้ก็ต้องเปลี่ยนไป ดับไปเสื่อมไปทีละเล็กทีละน้อยนะคะ แล้วต่อไปก็จะปรากฏเป็นรูปชารไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เลย แล้วก็นานกว่านั้นอีก รูปชรานั้นก็จะแตกดับหมดสิ้นไป ไม่เหลือสภาพเป็นคุณวันทนาเลยสักอย่างเดียว อย่างนี้จะยึดรูปไหนเป็นคุณวันทนาอีกได้ไหมคะ
คุณวันทนา ยึดไม่ได้ค่ะ ไม่มีอะไรจะยึดต่อไปอีกแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วว่า เมื่อยังไม่เห็นแจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ไม่รู้ปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพธรรมต่างๆ ก็ย่อมยังคงยึดถือสภาพธรรมต่างๆ เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นเราอยู่เรื่อยๆ และที่คุณวันทนาถามว่า จิตใจต้องเกิดที่ร่างกายคือต้องอาศัยร่างกายเกิดขึ้นเสมอไปหรือไม่ ก็คงเป็นเพราะคุณวันทนาสงสัยว่า จิตซึ่งเป็นนามธรรมนั้นก็น่าจะเกิดต่างหากจากรูปได้ ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ อย่างเวลาที่จิตคิดนึกอะไรเพลินๆ ขณะนั้นทำให้ดูเหมือนจิตไม่ได้อาศัยรูปร่างกายเกิดเลย
ท่านอาจารย์ เวลาคุณวันทนากำลังคิดอะไรเพลิน แล้วเข้าใจว่าจิตใจไม่ได้เกิดดับอยู่ที่ร่างกายของคุณวันทนา ก็ต้องจับตัวคุณวันทนาใส่โลงไปวัดแล้วละ ความจริงนะคะ จิตที่กำลังคิดนึกเรื่องต่างๆ เพลินนั้น ก็เกิดดับอยู่ที่ร่างกายของคุณวันทนานั่นเอง เพราะขณะที่คิดหรือเวลาที่หยุดคิด คุณวันทนาก็เคลื่อนไหวทำอะไรๆ ได้ ยังไม่ต้องไปอยู่ที่วัด ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ ยังนับว่าโชคดีมาก
ท่านอาจารย์ แต่ว่าคุณวันทนาอย่าเพิ่งเข้าใจว่า จิตทุกขั้นคือทุกภูมิ หรือจิตทุกประเภทนั้นจะต้องอาศัยร่างกายเกิดขึ้นเสมอไป เฉพาะในภูมิที่มีรูปร่างกาย เช่น ในภูมิมนุษย์ ภูมิสัตว์ ที่เรามองเห็น เป็นต้น ภูมิที่มีรูปร่างกายนั้นจิตที่เกิดขึ้นต้องอาศัยรูปร่างกายเกิดขึ้นทุกครั้ง แต่พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงประเภทของจิตต่างๆ ไว้ทุกประเภทโดยครบถ้วนทีเดียว และทรงแสดงปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตต่างๆ นั้นไว้ด้วยว่า จิตขั้นไหนคือจิตภูมิไหนจะเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยรูปเป็นปัจจัยเลย แต่ถึงแม้ว่าจะไม่อาศัยรูปเป็นปัจจัยก็มีสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยจึงจะเกิดขึ้นได้ ดิฉันคิดว่าเราจะยังไม่กล่าวถึงจิตประเภทนั้นนะคะ เพราะเป็นจิตที่เกิดยากห่างไกล และรู้ได้ยาก จะรู้ได้ก็โดยพิจารณาเหตุ และผลเท่านั้น
คุณวันทนา สำหรับการสนทนาของเราในวันนี้ ท่านผู้ฟังก็พอจะเข้าใจได้ว่า การศึกษาธรรมนั้นจะต้องศึกษาโดยตลอดถึงจิตทุกประเภท เพราะมิฉะนั้นก็อาจจะเข้าใจแต่เพียงว่ามีแต่จิตใจระดับมนุษย์ และสัตว์เท่าที่ปรากฏอยู่ในโลกนี้เท่านั้น ความสุขุมละเอียดละออของจิตจะรู้ได้ก็ด้วยการศึกษาพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป สำหรับวันนี้เวลาแห่งการสนทนาของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔