บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
ครั้งที่ ๑๓
ร่างกาย และจิตใจอาศัยกันเกิดขึ้น
ควรพิจารณา และรู้จักจิตใจของตนเอง
คุณวันทนา สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง ในการสนทนาครั้งก่อน อาจารย์สุจินต์ได้ให้แง่คิดจากหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ สิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมเราอยู่แต่ละสิ่งไม่ว่าจะเป็นดินฟ้าอากาศ พืชพันธุ์ธัญญาหารหรือบุคคลต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยให้ชีวิตจิตใจ และร่างกายของเราเกิดความสุข ความทุกข์ ความยินดี ยินร้ายได้ทั้งสิ้น แสดงว่า แม้สิ่งแวดล้อมภายนอกก็เป็นเหตุปัจจัยให้จิตใจของเราเกิดเป็นสุขเป็นทุกข์ไปต่างๆ ได้ คราวนี้จึงมาถึงปัญหาเรื่องร่างกาย และจิตใจของเราเองคือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับร่วมกันอยู่นี้จะเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งกัน และกันใกล้ชิดว่าสิ่งภายนอกได้อย่างไรบ้างคะ ดิฉันของความกรุณาให้อาจารย์สุจินต์ตอบปัญหานี้ด้วยค่ะ
ท่านอาจารย์ สัตว์โลกทั้งหลายที่มีรูปร่างกายเช่นมนุษย์ และสัตว์ต่างๆ นั้น ร่างกายกับจิตใจต้องอาศัยกันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณวันทนาจะดูง่ายๆ อย่างรูปที่ปราศจากจิตใจ เป็นรูปที่ไม่ได้เป็นที่อาศัยเกิดของจิตอีกต่อไปนั้น ย่อมลักษณะไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ เพราะจะเคลื่อนไหวเดินเหิน ลุกนั่ง ยิ้ม หัวเราะ เหมือนตอนที่เป็นที่เกิดของจิตอย่างแต่ก่อนไม่ได้อีกแล้ว รูปที่มีชีวิตนั้นต้องอาศัยจิตใจจึงจะเป็นอยู่ได้ มิฉะนั้นก็ไม่สามารถดำรงสภาพของรูปที่มีชีวิตต่อไปได้ ถ้าขณะไหนจิตไม่ได้อาศัยรูปร่างกายเกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว ขณะนั้นรูปร่างกายนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับท่อนไม้ เพราะไม่ใช่รูปที่มีชีวิตอย่างแต่ก่อน
คุณวันทนา นามธรรมหรือจิตใจนี้จะต้องอาศัยรูปร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างไรคะจึงจะเกิดได้
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาแยกรูปร่างกายของคุณวันทนาออกเป็นส่วนๆ คุณวันทนาจะเห็นว่า รูปแต่ละส่วนแต่ละรูปนั้นเป็นปัจจัยของนามธรรมแต่ละชนิดต่างๆ กัน เช่นรูปที่สามารถรับกระทบสีได้นั้นเป็นรูปที่อยู่กลางตาเป็นจักขุปสาทรูป จิตที่เห็นสีที่ปรากฏทางตาก็อาศัยจักขุปสาทรูปเกิดขึ้นเห็นสีที่กระทบกับจักขุปสาทรูปนั้น จิตอาศัยปสาทรูปเกิดขึ้นเห็นสีแล้วก็ดับที่จักขุปสาทรูปที่อาศัยเกิดขึ้นเห็นสีนั่นเอง สำหรับจิตได้ยินก็เช่นเดียวกัน คืออาศัยโสตปสาทรูปเกิดขึ้นได้ยินเสียง แล้วจิตที่ได้ยินเสียงนั้นก็ดับที่โสตปสาทรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตได้ยินนั้น จิตดวงหนึ่งจะต้องเกิดดับที่รูปหนึ่งเท่านั้น เมื่อจิตดวงหนึ่งเกิดที่รูปหนึ่งแล้ว จะย้ายไปดับที่รูปอื่นไม่ได้เลย เช่นจิตเห็นเกิดขึ้นที่ตา ก็ต้องดับที่รูปตาซึ่งเป็นที่เกิดของจิตเห็นในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าจิตเห็นเกิดที่รูปตาแล้วย้ายไปดับที่รูปหูก็ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่รู้สภาพลักษณะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ แล้ว เวลาอ่านหรือศึกษาพระะรรมก็อาจะจเข้าใจเอาเองตามความคิดนึกหรือตามความคาดคะเนของแต่ละคน ซึ่งอาจเป็นความเข้าใจที่ผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เช่นในสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค นกุลปิตวรรค หลิททิกานิสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๑ - ๒๔ มีข้อความว่า สมัยหนึ่งท่านพระมหากัจจานะอยู่ที่ภูเขาชันข้างหนึ่งในแคว้นอวันตีรัฐ คฤหบดีผู้หนึ่งชื่อหลิททิกานิได้ไปหาแล้วขอให้ท่านอธิบายความหายของพระพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อ ท่านพระมหากัจจานะเป็นเอตทัคคะ คือเป็นสาวกผู้เลิศในการอธิบายความหายของพระพุทธภาษิตสั้นๆ ให้ละเอียดได้ ท่านพระมหากัจจานะก็ได้อธิบายความหมายของพระพุทธวจนะนั้นมีข้อความว่า รูปธาตุหรือร่างกายนั้นเป็นที่อาศัยของวิญญาณ ผู้ใดที่มีความเพลิดเพลิน ความยินดีพอใจในสี เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในนามธรรมต่างๆ ท่านกล่าวว่าผู้นั้นมีที่อยู่ที่อาศัยเที่ยวไป นี่เป็นโวหารเทศนาที่มีความไพเราะมากเพราะเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ ว่าธรรมดาของคนที่จะไปที่ไหนๆ นั้น ก็จะต้องมีที่พักในที่ๆ จะไปนั้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีที่พักก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าผู้ใดยังเกาะเกี่ยวยังพัวพันเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ในนามธรรมรูปธรรมต่างๆ ผู้นั้นย่อมมีที่พักเที่ยวไป โดยนัยของปรมัตถธรรมนั้น ที่พักที่เที่ยวไปก็ได้แก่นามธรรม และรูปธรรมซึ่งเป็นที่พักที่อาศัยจึงมีการเกิดเขึ้น มีการแก่ การเจ็บ การตาย มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ วนเวียนท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏฏ์ไม่มีวันหยุดนั่นเอง
คุณวันทนา จิตจะเกิดดับพร้อมกันหลายๆ ดวงได้ไหมคะ อย่างในขณะเดียวกันนั้นก็มีจิตเห็นด้วย และมีจิตที่ได้ยินด้วย อย่างนั้นจะได้ไหม
ท่านอาจารย์ จิตของคนหนึ่งๆ จะเกิดพร้อมกันทีละหลายๆ ดวงไม่ได้เลย แต่ที่ปรากฏให้ดูเหมือนกับเกิดพร้อมๆ กันนั้นก็เป็นเพราะจิตแต่ละดวงเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วเหลือเกิน คุณวันทนาเคยดูนักเล่นกลไหมคะ
คุณวันทนา เคยค่ะ นักเล่นกลเขาทำทุกอย่างที่มองดูแล้วก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เพราะความเร็วจึงทำได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ท่านอาจารย์ ที่นักเล่นกลสามารถทำอะไรๆ ให้เราหลงเชื่อได้นั้นก็เพราะว่าเขาทำเร็วๆ ใช่ไหมคะ ถ้าใครทำช้าๆ เราก็ต้องจับได้ การเกิดดับของจิตก็เหมือนกัน จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วเหลือเกิน ทำให้ไม่เห็นสภาพลักษณะที่แท้จริงที่ดับไป ที่เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงของจิตดวงหนึ่งๆ เพราะทันทีที่จิตดวงหนึ่งดับไป จิตอีกดวงหนึ่งที่เกิดขึ้นสืบต่อกันอย่างรวดเร็วทุกๆ ขณะ ทำให้หลงยึดถือจิตที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วนั้นว่าเป็นตัวตน เป็นเรา โดยไม่รู้สภาพการเกิดดับที่ไม่เที่ยงของจิตแต่ละดวงนั้นเลย เราจะรู้ก็ต่อเมื่อปรากฏสภาพการสิ้นสุดการเกิดดับของจิตในชาติหนึ่งด้วยความตายเท่านั้นเอง
คุณวันทนา อาจารย์คะ เจตสิกกับรูปคงจะเกิดดับรวดเร็วเช่นเดียวกันนะคะ เราจึงไม่สามารถเห็นการเกิดดับของเจตสิก และรูปได้เลย
ท่านอาจารย์ จิต เจตสิกที่เกิดพร้อมกันก็ดับพร้อมกัน ส่วนรูปนั้นเมื่อเปรียบกับจิต และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมแล้ว ก็หยาบกว่าจิต และเจตสิก เพราะฉะนั้นรูปจึงดับช้ากว่าจิต แต่ก็ช้ากว่าไม่มาก คือ รูปๆ หนึ่งที่เกิดดับนั้นมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะหรือ ๑๗ ดวง สำหรับดิฉันตอนนี้ดิฉันคิดว่า คุณวันทนาควรจะทราบว่า นามใดรูปใดที่เกิดขึ้น และดับไปแล้วนั้น นามนั้นรูปนั้นจะไม่กลับมาเกิดอีกเลยในสังสารวัฎฎ์ เหมือนกับวันเวลาที่ผ่านไทุกๆ ขณะนั้นก็ไม่มีใครสามารถเรียกร้องให้กลับคืนมาได้เลย เมื่อเช้านี้ คุณวันทนาตื่นขึ้นมีความรู้สึกว่าเหมือนกับตอนเช้าของทุกๆ วันหรือเปล่าคะ
คุณวันทนา เหมือนกันค่ะ
ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดูคล้ายๆ กัน หรือเหมือนๆ กันก็จริง แต่ว่าวันเวลาต่างกัน เมื่อวานนี้ก็วันหนึ่ง วันนี้ก็วันหนึ่ง และพรุ่งนี้เช้าก็เป็นอีกเช้าของอีกวันหนึ่ง ไม่ใช่วันเดียวกับวันนี้ คุณวันทนาเคยเห็นด้ามมีดที่สึกกร่อนไปเพราะรอยนิ้วมือที่จับไหมคะ ส่วนที่สึกกร่อนหายไปนั้น คุณวันทนาว่าหายไปไหน
คุณวันทนา หายไปอย่างไม่ปรากฏร่องรอยเลยค่ะอาจารย์ จะไปค้นคว้าหาที่ไหนก็ไม่พบ
ท่านอาจารย์ ส่วนที่สึกกร่อนของด้ามมีดนั้นหมดไปทุกๆ ขณะอย่างหาร่องรอยไม่ได้เลยฉันใด นามธรรม และรูปธรรมแต่ละขณะนั้นก็ดับไปหมดไปหาร่องรอยไม่ได้เลยทุกขณะฉันนั้น
คุณวันทนา ถ้าจะพูดอย่างสำนวนนักประพันธ์ก็คงจะพูดได้ว่า วันเวลาทำให้ชีวิตสึกกร่อนไปเหมือนกับการสึกกร่อนไปของด้ามมีด ฟังเข้าท่าดีไหมคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ ถ้าคนฟังเข้าใจว่า ชีวิตคือการเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันทุกๆ ขณะในชาติหนึ่งๆ ก็คงได้เหมือนกันค่ะ สำหรับการเกิดมาแล้วก็ต้องตายนั้นก็เป็นธรรมดาที่แน่นอนที่สุด แต่ว่าเมื่อตายจากการเป็นมนุษย์แล้วจะเกิดที่ไหนต่ไปนั้นก็เป็นสิ่งที่น่าคิดนะคะ เพราะว่าถ้าในที่ที่มีโอกาสได้พบพระพุทธศาสนา มีโอกาสได้ฟังธรรมอีก มีโอกาสที่จะเจริญกุศลได้อีก ความตายจากการเป็นมนุษย์ในโลกนี้ก็ไม่น่าหวาดหวั่นอะไร แต่ถ้าตายแล้วเกิดในที่ที่ไม่ดี ไม่มีโอกาสได้พบพระพุทธศาสนา ไม่มีโอกาสได้ฟังธรรม ไม่มีโอกาสเจริญกุศลอย่างในโลกมนุษย์นี้แล้ว ก็น่าเสียดายเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่า ทุกนาทีของการมีชีวิตเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างที่สุด ควรที่จะได้รู้ความจริงของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะ เพราะชีวิตก็สั้นมาก โดยมากก็ไม่ถึงร้อยปี และไม่มีใครประกันความตายได้เลยว่าจะมาถึงเมื่อไรแน่
คุณวันทนา อาจารย์คะ การเกิดดับของนามรูปซึ่งกล่าวกันว่า เกิดดับรวดเร็วนักหนานี้ เราทุกคนจะสามารถประจักษ์สภาพอย่างนี้ได้ด้วยตัวเองไหมคะ
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมใดมีจริงก็ย่อมพิสูจน์ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นได้ทุกขณะ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง พระองค์ก็ย่อมไม่ทรงสามารถดับกิเลส ความสงสัย ความไม่รู้ในธรรมทั้งปวง และไม่ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เพราะเหตุที่พระองค์ทรงรู้แจ้งลักษณะที่แท้จริงของธรรมทั้งปวง ทรงรู้หนทางปฏิบัติให้ประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย และทรงแสดงหนทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้ที่ปฏิบัติสามารถอบรมเจริยปัญญารู้ความจริงนั้นด้วย เพราะฉะนั้นพระองค์จึงได้ทรงพระคุณนามว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดประพฤติปฏิบัติตามทางที่จะอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้นจนคมกล้าก็ย่อมประจักษ์แจ้งลักษณะที่แท้จริงของนามธรรม และรูปธรรมที่ปรากฏได้
คุณวันทนา อาจารย์คงไม่ได้หมายความว่า ต้องการให้ดิฉันหรือท่านผู้ฟังพยายามปฏิบัติให้เห็นความเกิดดับของนามรูปจนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ภายใน ๓ วัน ๗ วันนี้นะคะ ดิฉันละกลัวเสียจริงๆ อาจารย์คะ เมื่อเราพูดถึงเรื่องนี้จะทำให้ท่านผู้ฟังที่อยู่ทางบ้านเข้าใจว่าเราสองคนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้วละกระมังคะ
ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังคงไม่คิดอย่างนั้นหรอกค่ะ ดิฉันคิดว่าคุณวันทนากับดิฉันก็คงเหมือนกัน ที่เรามาสนทนากันให้ท่านผู้ฟังได้ฟังด้วยนั้นก็ในฐานะกัลยาณมิตรที่มีความหวังดี มีความปรารถนาดีต่อผู้ฟังเพื่อให้ท่านผู้ฟังมีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมของพระผู้มีพระภาคเท่าที่เราได้ศึกษา และปฏิบัติมาบ้างแล้วเท่านั้น เป็นการถวายความนอบน้อมสักการะพระคุณของพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์ทางหนึ่งเท่าที่เราทั้งสองคนสามารถจะกระทำได้เท่านั้นเอง ส่วนประโยชน์ที่ท่านผู้ฟังจะได้รับนั้นถ้าเป็นไปอย่างที่คุณวันทนาพูดเมื่อตะกี้นี้ก็เป็นอานิสงส์อย่างสูงสำหรับการฟัง ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ธัมมัสสวนสูตร ข้อ ๒๐๒ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอานิสงส์ของการฟังธรรมไว้ด้วยค่ะ
คุณวันทนา มีอะไรบ้างคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงแสดง อานิสงส์ของการฟังธรรมไว้ ๕ ประการ ประการที่หนึ่ง ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ประการที่สอง ผู้ฟังย่อมเข้าใจชัดในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ประการที่สาม ย่อมจะบรรเทาความสงสัยเสียได้ ประการที่สี่ ย่อมทำความเห็นให้ตรง ประการที่ห้า จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส ถ้าคุณวันทนาพิจารณาอานิสงส์ของการฟังธรรมแล้ว ก็คงจะเห็นจริงนะคะ ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นเป็นพระธรรมที่ทรงแสดงจากการทรงตรัสรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทั้งหลาย ซึ่งแม้ว่าลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทั้งหลายจะเป็นจริงอย่างนั้น แต่เราก็ไม่เคยรู้ไม่เคยคิดมาก่อน เช่น เรื่องจิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรม เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคลตัวตน ดิฉันคิดว่าถ้าเราจะติดตามฟัง และศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้บ่อยๆ และมากขึ้นแล้ว ก็จะทำให้เข้าใจชัดขึ้น และสามารถบรรเทาความไม่รู้ และความสงสัยในสภาพธรรมทั้งหลายได้ โดยเฉพาะก็คือทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวเราได้ถูกต้องขึ้น ดิฉันคิดว่า การรู้จักตัวเองนั้นเป็นประโยชน์สูงสุดยิ่งกว่าการรู้จักสิ่งอื่นคนอื่นหรือว่าเรื่องอื่นทั้งหมดเลย
คุณวันทนา เพราะอะไรคะอาจารย์ ดิฉันเคยสังเกตว่าคนในโลกส่วนมากมักจะมีความเห็นไปในทำนองตรงกันข้าม คือถ้าเขายิ่งมีความรู้เรื่องของคนอื่นมากเท่าไร โดยเฉพาะเรื่องร้ายๆ ของคนอื่นแล้วแพร่กระจายข่าวอย่างนี้ต่อๆ ไป ก็จะเป็นการเพิ่มความสำคัญ เพิ่มความเก่งกาจของเขาเองมากเท่านั้น เขาไม่สนใจที่จะรู้เรื่องตัวของเขาเอง ซึ่งก็เข้าทำนองโลกนิติที่ว่า
โทษของผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา
ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น
โทษตนเท่าภูผา หนักยิ่ง
ป้องปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้าย หายสูญ
ท่านอาจารย์ จากโคลงโลกนิติบทนี้ คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วว่า การที่แต่ละคนเพ่งโทษคนอื่น และไม่พยายามรู้จักตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรจะทำ และเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะถึงแม้ว่าใครจะรู้เรื่องของคนอื่นมากสักเท่าไรๆ ก็ตาม แต่คนนั้นยังไม่รู้จักตัวเอง ก็ยังไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง และยังไม่ได้ทำประโยชน์ที่แท้จริงสำหรับคนอื่นๆ ด้วย เพราะการที่เรารู้จักตัวเองนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้แก้ไขขัดเกลาสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดีในตัวเรา ซึ่งคนอื่นไม่สามารถจะแก้ไขขัดเกลาจิตใจของเราได้เลย ถ้าจิตใจของเราดีแล้ว นอกจากเราเองจะเป็นสุข เราก็ยังไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ตรงกันข้าเรากลับจะช่วยให้คนอื่นมีความสุขด้วยก็ได้
คุณวันทนา ถ้าทุกคนได้ศึกษาธรรมก็จะเข้าใจว่าการศึกษาธรรมทำให้รู้จักตัวเอง ทำให้มีความสุขขึ้น และสังคมก็จะพลอยเป็นสุขขึ้นด้วย เพราะแทนที่จะเพ่งโทษคนอื่นก็คงจะหันมาแก้ไขปรับปรุงตัวเอง
ท่านอาจารย์ เวลาที่คุณวันทนารู้เรื่องจิต เจตสิก รูป แล้บางครั้งคุณวันทนาเคยรู้สึกบ้างไหมคะว่า เวลาเห็นอะไรหรือเห็นใคร ก็พิจารณาเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป เพราะถึงแม้ว่าเราไม่อาจรู้จิตใจของคนอื่นได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง แต่เราก็สามารถสังเกตลักษณะของจิตใจของใครๆ ได้จากกายหรือจากวาจาของเขา
คุณวันทนา ค่ะ อย่างเวลาที่เราเห็นคนกำลังทะเลาะวิวาทกัน ก็พอทราบได้ว่า จิตของเขาในขณะนั้นต้องเป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะ และในทำนองตรงกันข้าม เวลาเราเห็นคนใส่บาตรตอนเช้าๆ ก็คงจะพอเดาได้ว่าจิตใจของเขาในขณะนั้นย่อมเป็นจิตที่เป็นกุศลฝ่ายอโลภะ อะไรทำนองนี้
ท่านอาจารย์ เวลาที่เราพอจะรู้จิตใจของคนอื่นได้นี่นะคะ เราก็รู้เพียงเลาๆ เวลาเห็นการกระทำของเขาทางกายหรือทางวาจา ถ้าการกระทำทางกาย ทางวาจาไม่ปรากฏ ก็สุดที่จะหยั่งได้ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงเตือนให้เราแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ยิ่งกว่าการพิจารณาคนอื่นหรือเดาใจคนอื่น พระองค์ทรงเตือนให้เราหันมาพิจารณารู้สภาพจิตใจของเราเองซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถจะรู้ได้ยิ่งกว่าจิตใจของคนอื่น คุณวันทนาเคยพูดถึงเรื่องคนหนุ่มๆ สาวๆ ที่ชอบแต่งตัวรักสวยรักงาม พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถึงเรื่องนี้ไว้ในสจิตตสูตร
คุณวันทนา พระองค์ตรัสไว้ว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ สจิตตสูตร ข้อ ๕๑ มีข้อความว่า ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อไม่สามารถจะรู้จิตใจของผู้อื่นได้ ก็ควรฉลาดที่จะรู้จิตใจของตัวเอง เปรียบเหมือนคนหนุ่มๆ สาวๆ ที่มีปกติชอบแต่งตัวก็มักจะส่องดูหน้าของตัวเองในกระจกเงาใสๆ หรือในภาชนะที่มีน้ำใสบ่อยๆ ถ้าคราใดที่พบมลทินหรือจุดฝ้าดำที่หน้าก็ย่อมพยายามกำจัดให้หมดไป หรือเมื่อเห็นหน้าผ่องใสไม่มีจุดฝ้าดำก็ย่อมจะรู้สึกดีใจ ผู้ฉลาดก็ควรจะพิจารณาจิตใจของตนเองว่า มีโลภะมากไหม มีโทสะมากไหม มีความฟุ้งซ่านมากไหม มีความสงสัยมากไหม มีกิเลสมากไหม มีความเพียรหรือความเกียจคร้านมากไหม และพระองค์ทรงสอนว่าผู้ที่รู้จักจิตใจตัวเองก็ย่อมเพียรที่จะกำจัดสิ่งที่ไม่ดี และเพียรที่จะเจริญกุศลให้มากขึ้นจนกระทั่งสามารถทำให้กิเลสหมดสิ้นไปได้
ความจริงอรรถของพระสูตรนี้ไพเราะจับใจยิ่งกว่านี้อีกค่ะ แต่ที่ดิฉันนำมาเล่าให้คุณวันทนาฟังย่อๆ ก็เพื่อให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏนั้น ถ้าเราพิจารณาในทางที่ถูก ย่อมเกิดประโยชน์นำมาสอนจิตใจของเราเองได้ทุกอย่าง ถ้าตอนกลางวันเราไม่สามารถจะพิจารณาตัวเองเพราะมีกิจธุระที่จะต้องทำหรือมัวเพลิดเพลินพิจารณาดูคนอื่นๆ ดิฉันคิดว่า ก่อนนอนหรือก่อนที่จะหลับควรที่จะเป็นเวลาที่เราน่าจะพิจารณาตัวเอง พิจารณาจิต เจตสิก รูป คือการกระทำของเราในวันหนึ่งๆ ว่า วันนี้เราทำอะไรบ้าง จิต เจตสิก รูป ทำอะไรบ้างที่ไม่ดีน่ารังเกียจ หรือว่าจิต เจตสิก รูป ทำอะไรบ้างที่ดีน่าชื่นชมสรรเสริญ ถ้ามีโอกาสพิจารณาจิตใจของเราเองทุกๆ วัน เราก็คงพยายามพากเพียรละสิ่งที่ไม่ดี และพากเพียรที่จะเจริญธรรมฝ่ายดีที่เราเองก็ชื่นชม และเป็นที่นิยมของคนอื่นๆ เช่นเดียวกัน คุณวันทนาชื่นชมในคุณความดีของใคร หรือว่าคุณความดีอะไรบ้างคะ
คุณวันทนา หลายอย่างค่ะอาจารย์ ดิฉันชื่นชมในคุณงามความดีของลูกที่กตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ อย่างเช่นเรื่องของพระสุวรรณสามที่เลี้ยงพ่อแม่ซึ่งแก่เฒ่า และพิการตาบอด ดิฉันชื่นชมในคุณงามความดีของบุคคลที่มีความอดทน มีความขยันที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ของชีวิตโดยไม่ปริปากบ่น ไม่สู้ไปบ่นไป ดิฉันชื่นชมในคุณความดีของบุคคลผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยแก้ทุกข์ยากของบุคคลอื่นโดยสุจริตใจ ไม่หวังอะไรตอบแทนในเบื้องหน้า แล้วก็สำหรับคนหนุ่มๆ สาวๆ นั้น ดิฉันทายเอาว่าชื่นชมยินดีในความดีความกล้าหาญของพระเอกนางเอกในนวนิยายอย่างนั้นน่ะค่ะ
ท่านอาจารย์ สำหรับคุณความดีนั้น คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วว่า ไม่จำเป็นจะต้องมีเฉพาะในหนังสือนวนิยายต่างๆ เท่านั้น เพราะว่าคุณความดีนั้นมีได้กับคนทุกรุ่นทุกวัย เด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิงในชีวิตจริงๆ ถ้าผู้นั้นนิยมคุณความดี และพากเพียรที่จะเจริญคุณความดีให้มีในตนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คุณความดีต่างๆ ที่มีในหนังสือนวนิยายนั้นถ้าเป็นคุณความดีของคนในชีวิตจริงๆ ก็ยิ่งจะน่าชื่นชม และน่าสรรเสริญมากกว่าคุณความดีของพระเอกนางเอกในหนังสือนวนิยาย ซึ่งก็เป็นเพียงคุณความดีที่สมบูรณ์ในฝันเท่านั้น
คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาธรรมของเราวันนี้คงจะช่วยให้ท่านผู้ฟังพิจารณาตัวเองบ้างในวันหนึ่งๆ แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่นสิ่งอื่นซึ่งมีสาระน้อยกว่า เพราะการคิดถึงคนอื่นสิ่งอื่นไม่ทำให้ท่านรู้จักตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริงแก่ตัวท่าน และผู้อื่นเลย สำหรับวันนี้เวลาแห่งการสนทนาของเราก็สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในรายการหน้า สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔