บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
ครั้งที่ ๑๕
กิเลสเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ควรอบรมกระทำความดีเพื่อขจัดกิเลส
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคะ ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ แม้ว่าจะต่างกันด้วยเพศ วัย ฐานะความเป็นอยู่ แต่ทุกคนก็ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือทุกคนปรารถนาความสุข และกำลังแสวงหาให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เป็นความสุขนั้น นักปราชญ์บางคนกล่าวว่า ความสุขนั้นไม่ต้องไปแสวงหา มันไม่ได้อยู่ที่ไหนห่างไกลจากตัวเราเลย เพียงแต่ว่าเราพยายามขจัดเหตุของความทุกข์ไปให้พ้น ไม่ประกอบด้วยเหตุนั้น ความสุขก็จะเกิดขึ้นเอง จากการศึกษาหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ทำให้เราเกิดความเข้าใจขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า ความสุขนั้นเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงแล้ว ก็ย่อมจะกระทำเหตุที่ถูกต้องที่จะทำให้บรรลุความสุขที่แท้จริงได้ เพราะฉะนั้นการสนทนาของเราวันนี้ ดิฉันคิดว่า น่าจะได้พูดกันถึงเรื่องปัจจัยคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์ในปัจจุบันนี้ว่า นอกจากฐานะ ลาภ ยศ แล้ว จะยังมีสิ่งอื่นอีกไหมคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาจะสังเกตชีวิตของคนเรานะคะ ว่า นอกจากกรรมเก่าที่ได้กระทำไว้แล้วนั้น จำแนกคนเราให้ต่างกันทั้งรูปร่าง ผิวพรรณวัณณะ ฐานะ ลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ แล้ว บางครั้งคนที่ไร้ทรัพย์สมบัติหรือรูปสมบัติบริวารสมบัติเหล่านั้น ก็อาจจะมีความทุกข์น้อยกว่าคนที่สมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพย์สมบัติก็เป็นได้
คุณวันทนา ใช่ค่ะ บางคนถ้ามองดูจากสายตาบุคคลภายนอกที่มองดูกันแต่เพียงเผินๆ ก็จะเห็นว่า เขามีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม ไม่มีอะไรขาดตกบกพร่องเลย แต่ทว่าถ้าใครสามารถรู้ซึ้งถึงจิตใจของเขาแล้วละก็จะรู้ได้ทีเดียวค่ะว่า เขาไม่มีความสุขใจสมควรแก่ฐานะความเป็นอยู่ของเขาเลย
ท่านอาจารย์ ก็น่าแปลกนะคะ คุณวันทนาคิดว่าเป็นเพราะอะไรล่ะคะ
คุณวันทนา เป็นเพราะกิเลสค่ะ
ท่านอาจารย์ ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยซิคะว่าเป็นความจริง น่าเชื่อมากน้อยแค่ไหน
คุณวันทนา อย่างคนร่ำรวย ถึงจะรวยสักแค่ไหนก็จะรู้สึกว่ารวยไม่พอ อยากจะรวยยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คนสวยคนงามบางคน ถึงจะสวยมากแล้วก็ยังกลัวว่าคนอื่นจะสวยกว่า อดที่จะกลัวไม่ได้ว่าจะมีคนอื่นมาเทียบทำให้ความสวยความงามของตัวด้อยลง คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนเก่งมีสติปัญญาทางโลกมากมายก็อดที่จะกลัวไม่ได้ว่าจะมีคนอื่นเก่งกว่า อดกลัวไม่ได้ว่าจะมีคนปัดแข้งปัดขา เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็จัดได้ว่าความรวย ความสวย หรือความเก่ง ที่มีอยู่นั้นไม่ได้ช่วยให้เขามีความสุขใจได้เลย
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ความสุขไม่ได้อยู่ที่เงินทอง หรือรูปสมบัติ ลาภ ยศ แต่อยู่ที่จิตใจที่สงบจากกิเลส พ้นจากอำนาจของกิเลสที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใส เวลาโกรธกับเวลาที่ไม่โกรธ คุณวันทนาลองพิจารณาเปรียบเทียบดูซิคะว่า ขณะไหนจะแจ่มใสปลอดโปร่ง และเป็นสุขกว่ากัน
คุณวันทนา ก็ต้องขณะที่ไม่โกรธซิคะอาจารย์ จิตจึงจะแจ่มใส ไม่ขุ่นมัว ไม่เร่าร้อน ไม่มีการกระทำที่ละเมิดออกมาทางกายทางวาจา
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าใครยังไม่หมดกิเลส ความโกรธก็จะต้องเกิดแทรกคั่นความไม่โกรธอยู่เรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัย ห้ามไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้เลย ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา แน่นอนค่ะ
ท่านอาจารย์ สมมตินะคะ ถ้ามีใครสักคนหนึ่งที่ไม่โกรธเลย ไม่เสียใจเลย ไม่เดือดร้อนใจเลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนนั้นจะเป็นสุขสักแค่ไหนคะ
คุณวันทนา ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็คงจะเป็นสุขอย่างยิ่งทีเดียวค่ะ อันนี้เป็นเรื่องของความโกรธ ทีนี้เรื่องของความโลภ ความปรารถนา ความต้องการล่ะคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ สำหรับความปรารถนาความต้องการก็เช่นเดียวกัน ขณะใดที่ใครเกิดความปรารถนาความต้องการอะไรก็จะพะวงถึงแต่สิ่งนั้น ในขณะนั้นจิตตกเป็นทาสของสิ่งนั้นโดยไม่รู้ตัว แต่พอหมดความปรารถนาความต้องการ ก็จะไม่ต้องพะวงถึงสิ่งนั้นอีกต่อไป จิตใจในขณะนั้นเป็นอิสระปลอดโปร่งอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย ถ้าจิตใจต้องตกเป็นทาสของความปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เรื่อยๆ ผู้นั้นจะไม่มีโอกาสรู้สภาพของจิตใจที่ปลอดโปร่งผ่องใสซึ่งเป็นสภาพที่พ้นจากการเป็นทาสของความปรารถนาเลย ถ้าใครไม่ต้องตกเป็นทาสของความปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดอีกต่อไป คนนั้นก็จะมีจิตใจที่ผ่องใสไม่เศร้าหมอง และเป็นสุขมากทีเดียว ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา แล้วเรื่องโมหะ ความไม่รู้ล่ะคะอาจารย์ คนที่ต้องตกเป็นทาสของความไม่รู้ จะมีผลร้ายแรงมากสักแค่ไหน
ท่านอาจารย์ การไม่รู้ความจริงของสิ่งต่างๆ นั้นเป็นโทษมากค่ะ เพราะว่าการไม่รู้ความจริงของสิ่งต่างๆ นั้นเป็นมูลเหตุที่ทำให้เกิดความยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆ
คุณวันทนา อาจารย์กรุณายกตัวอย่างให้เข้าใจหน่อยซิคะ
ท่านอาจารย์ ตัวอย่างที่เห็นชัดทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ทุกรุ่นทุกวัยก็ได้แก่เรื่องรสอาหาร รสปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบลิ้น แล้วก็ดับไป แต่ว่าความยินดียินร้ายที่อาศัยรสซึ่งปรากฏเพียงชั่วครู่เดียวนั้นเกิดขึ้นได้
คุณวันทนา จริงซินะคะ การติดในรสถ้าบางครั้งไม่ได้มาซึ่งรสที่ต้องการก็ย่อมทำให้เกิดความโกรธความขัดเคืองถึงกับทะเลาะวิวาทหรือฆ่ากัน ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยๆ
ท่านอาจารย์ สำหรับทางตาก็เหมือนกันค่ะ รูปร่าง ทรวดทรง สีสันวัณณะต่างๆ ที่ว่าสวยงามหรือน่าดูสักเท่าไรนั้นก็ปรากฏเพียงแค่กระทบตาหรือชั่วขณะที่ลืมตาเท่านั้น ถ้าหลับตาเสียเมื่อไรก็หมดความหมาย ไม่เห็นความน่าดูน่าดูของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น อาหารทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นเป็นที่ตั้งอาศัยของความยินดียินร้าย ซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ความจริงของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นนั่นเอง ถ้ารู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ เมื่อไร อิทธิพลของสิ่งต่างๆ นั้นก็น้อยลงตามขั้นของความรู้ที่เกิดขึ้น แต่ในทางตรงข้ามยิ่งไม่รู้มากเท่าไร ความยินดียินร้ายในสิ่งเหล่านั้นก็ยิ่งหนาแน่นเหนียวแน่นมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกจากปัญญาความรู้จริงแล้วก็ไม่มีสิ่งอื่นใดที่สามารถจะขัดเกลาหรือละกิเลสต่างๆ เหล่านั้นได้เลย
คุณวันทนา อาจารย์คะ ความรู้ขั้นต้นนี้คงเกิดจากการฟังก่อน ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ความรู้ก็ต้องมีปัจจัยจึงจะเกิดได้ ไม่ฟังไม่ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่มีโอกาสที่จะเกิดศรัทธาที่จะน้อมใจไปในการเจริญกุศลเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสให้บรรเทาเบาบางลงได้เลยค่ะ
คุณวันทนา จริงซินะคะ เมื่อคราวก่อนๆ ดิฉันจำได้ว่า อาจารย์ได้พูดถึงเรื่องอานิสงส์ของการฟังไว้ว่ามีถึง ๕ ประการ คือ ๑ ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง ๒ ย่อมเข้าใจชัดในสิ่งที่ได้ฟังมาแล้ว ๓ สามารถบรรเทาความสงสัย ๔ ย่อมทำความเห็นให้ตรง ๕ จิตของผู้ฟังย่อมเลื่อมใส อาจารย์จะช่วยกรุณาอธิบายให้ท่านผู้ฟังได้เห็นสักหน่อยไหมคะว่า ศรัทธานั้นจะเกิดจากการฟังได้อย่างไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ฟังหรือไม่ศึกษาธรรมก็ไม่สามารถจะรู้โทษของกิเลส และไม่รู้ว่ากิเลสนั้นไม่ได้อยู่ที่คนอื่น แต่ว่าอยู่ที่ตัวเอง อยู่ที่ใจของเราเอง ถ้าคุณวันทนาไม่รู้อย่างนี้ ก็จะทำให้เพ่งโทษของคนอื่น แล้วก็หลงพิจารณาดูแต่การกระทำของคนอื่น ไม่พิจารณาตัวเองเลย แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็กลับพิจารณาตัวเองว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น จิต เจตสิก รูป ของเราทำอะไรบ้าง ในวันหนึ่งๆ นั้น กาย วาจาที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากหรือน้อย คุณวันทนานิยมคุณความดีของคนอื่นไหมคะ
คุณวันทนา นิยมมากค่ะอาจารย์ และนอกเหนือไปจากนั้น บางทีก็ยังอยากให้ตัวเองมีความดีเหมือนคนเหล่านั้นบ้าง แต่จะทำอย่างไรได้คะอาจารย์ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณความดีอย่างนั้นพร้อมทั้งทานุปสนิสัย สีลุปนิสัย และภาวนุปนิสัย
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจเหตุผลเสียก่อนค่ะ ธรรมที่ไม่ดีนั้นเป็นสภาพที่เศร้าหมอง และจะนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้ ทั้งในขณะที่เกิดขึ้น และในภายหลังด้วย ธรรมฝ่ายดีนั้นยิ่งมีมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้จิตใจผ่องใสเป็นอิสระพ้นจากการเป็นทาสของกิเลสอกุศล พ้นจากความติดข้องในสิ่งต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดความทุกข์ความเสียใจ เวลาประจวบกับสิ่งที่ไม่พอใจบ้าง หรือเวลาพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจบ้าง และสำหรับปัญญาซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีนั้นสามารถทำให้พ้นจากความเป็นทาสของความหลงซึ่งเป็นการไม่รู้ความจริงของสิ่งต่างๆ ได้
คุณวันทนา ธรรมฝ่ายดีก็มีหลายระดับ ใช่ไหมคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ ค่ะ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นมีมากทุกระดับ ทั้งนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อโปรดสัตวโลกให้ได้รับแสงสว่างจากพระธรรมที่พระองค์ทรงเทศนา ตามควรแก่อุปนิสัยปัจจัยของผู้ฟัง พระธรรมเทศนาของพระองค์นั้นงาม และไพเราะทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ทั้งในขั้นของทาน ขั้นของศีล ขั้นสมาธิ และขั้นปัญญา
คุณวันทนา ค่ะ อย่างธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแก่คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็มีมากนะคะ เช่นหน้าที่สามีภรรยาพึงปฏิบัติต่อกัน หน้าที่ที่บุตรธิดาพึงปฏิบัติต่อมารดาบิดา หรืออย่างอนุปุพพิกถาที่ทรงแสดงไว้เป็นลำดับตั้งแต่เรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ของการออกจากกาม ซึ่งทำให้ผู้ฟังที่พิจารณาตามเห็นโทษของกิเลสไปตามลำดับ จนกระทั่งเห็นคุณประโยชน์ของการพ้นจากกิเลสที่ติดข้องอยู่นั้นได้
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ถึงแม้พระผู้มีพระภาคจะทรงตรัสรู้ลักษณะที่แท้จริงของธรรมทั้งปวง และทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อสั่งสอนสัตวโลกให้อบรมเจริญปัญญาจนสามารถรู้แจ้งลักษณะของธรรมทั้งปวง และหมดกิเลสได้เช่นเดียวกับพระองค์ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงมุ่งเทศนาแต่ธรรมขั้นสูงที่เป็นการอบรมเจริญปัญญาขั้นละกิเลสเท่านั้น แต่พระองค์ทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูงสุดเพื่อให้เหมาะกับอัธยาศัยของผู้ฟัง เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ฟังขจัดขัดเกลากิเลสไปตามลำดับด้วย เพราะว่าถ้าจิตใจยังหนาแน่นหมกมุ่นในเรื่องของกิเลส และอกุศลทั้งหลายแล้ว กิเลส และอกุศลเหล่านั้นก็ย่อมผูกพันผู้นั้นไว้ ทำให้ไม่ศึกษา ไม่พิจารณา และไม่เจริญธรรมที่เป็นกุศลทั้งในขั้นต้นคือ ขั้นทาน ขั้นศีล และต่อไปถึงขั้นสมาธิ และขั้นปัญญา เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าการสนทนาของเราจะมีจุดมุ่งหมายที่จะกล่าวถึง เรื่องการอบรมเจริญปัญญาขั้นวิปัสสนาภาวนาก็จริง แต่ดิฉันคิดว่าเราก็ไม่ควรเว้นที่จะกล่าวถึงสภาพลักษณะที่แท้จริงของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นธรรมที่ปรากฏอยู่รอบๆ ตัวเรา และไม่ควรละเลยที่จะกล่าวถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดธรรมเหล่านั้นด้วย เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจตัวทาน และธรรมทั้งหลายที่ล้อมรอบตัวท่านด้วย เพราะเหตุว่าเมื่อท่านเข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงแล้ว ท่านก็ย่อมจะเกิดศรัทธาที่จะขจัดขัดเกลากิเลสให้เบาบางไปตามลำดับด้วย
คุณวันทนา อาจารย์คะ แล้วขั้นต้นนั้นพระองค์ทรงสอนให้ละกิเลสด้วยการทำอย่างไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ ขั้นต้นพระองค์ทรงสอนให้ขจัดกิเลสด้วยการให้ทาน ซึ่งเป็นการสละวัตถุหรือทรัพย์สมบัติสิ่งของที่สมควรให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
คุณวันทนา การสละทรัพย์สมบัติสิ่งของให้แก่ผู้อื่นจะได้ชื่อว่าเป็นการขจัดกิเลสของตัวเองได้อย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาชอบอะไรมากๆ คุณวันทนาจะให้ของนั้นคนอื่นได้ไหมคะ
คุณวันทนา ไม่ให้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาชอบของนั้นนิดหน่อย ไม่มากเท่าไรนะคะ ให้ได้ไหมคะ
คุณวันทนา คงจะพอให้ได้บ้าง
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาไม่ชอบของนั้นเลยล่ะคะ เวลาที่มีใครมาขอ จะให้ได้ง่ายๆ ไหมคะ
คุณวันทนา ให้ค่ะ แต่ว่าบางคนนะคะ อาจารย์ ถ้ามีคนที่เขาไม่ชอบ มาขอของของเขาละก็ เขาเห็นว่าเอาของนั้นทิ้งเสียดีกว่าจะให้ไป
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคงจะเห็นอำนาจของกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ แล้วนะคะ ว่า ถ้าเรามีความชอบหรือความพอใจอะไร เราก็ยังคงมีความติดข้องในสิ่งนั้น ไม่สามารถที่จะสละให้ใครได้ หรือถ้าคนที่มาขอนั้นเป็นคนที่เราไม่พอใจ เราก็อาจจะไม่ให้สิ่งนั้นเพื่อประโยชน์ของคนนั้นก็ได้ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองแล้ว
คุณวันทนา ค่ะ ถ้าหากว่าเราไม่โลภ ไม่โกรธ และคิดถึงคนอื่นว่า สิ่งที่เรามีอยู่แต่ว่าไม่ได้ใช้หรือว่าไม่เป็นประโยชน์อะไรแก่ตัวเรา อาจจะเป็นประโยชน์กับคนนั้นหรือคนนี้ ก็คงจะทำให้มีการสละให้ได้ มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สงเคราะห์กัน แล้วก็มีความเมตตารักใคร่กันกว่านี้อีก ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าผู้นั้นรู้ว่าการทำอย่างนั้นเป็นการขจัดกิเลสของตัวเองที่ติดข้องในวัตถุสิ่งนั้น ก็คงขวนขวายคิดที่จะสละสิ่งต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนอื่นมากยิ่งขึ้นอีกเป็นแน่ทีเดยวค่ะ
คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ ถ้าท่านผู้ฟังได้ทราบว่าการคิดถึงเรื่องที่ดีงาม การทำสิ่งที่งาม เช่น การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่นนันเป็นการขจัดกิเลสของท่านเองเพื่อให้จิตพ้นจากการเป็นทาสของกิเลสอกุศล ท่านก็คงยินดีจะสละสิ่งที่ท่านมีอยู่เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่นมากขึ้น การทำสิ่งที่ดีงามนั้น จะต้องฝึกอบรมทำความดีตั้งแต่ขั้นต้นไปจนถึงขั้นสูง มิฉะนั้นแล้วการกระทำความดีขั้นสูงย่อมไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้นได้เลย วันนี้เวลาแห่งการสนทนาของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔