บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
ครั้งที่ ๑๖
กรรม และผลของกรรม
ไม่ควรรอโอกาสที่จะเจริญกุศล
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคะ ในระยะสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ รู้สึกว่าดินฟ้าอากาศจะไม่เอื้ออำนวยความสุขดังที่เราปรารถนาเลยนะคะ แม้เพียงเรื่องอากาศ หากว่าจะได้นำมาพิจารณาก็ช่วยให้เราได้รับบทเรียนประการหนึ่งว่า ความสุขกายสบายใจ ความสมหวังของเรา ย่อมเกิดจากเหตุจากปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างทั้งภายใน และภายนอก เมื่อเหตุปัจจัยไม่เอื้ออำนวยให้ ชีวิตของเราจึงต้องประสบกับความทุกข์กายบ้าง ทุกข์ใจบ้าง เมื่อเอ่ยถึงคำว่าความทุกข์ ดิฉันเชื่อว่าคงจะไม่มีใครชอบ แต่ถึงแม้จะไม่ชอบทุกคนก็หนีความทุกข์ไปไม่พ้น เพราะว่าความทุกข์นั้นไม่ว่าจะเป็นทุกข์กายทุกข์ใจก็ตาม ย่อมมีมูลเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของทุกข์ใจนั้นย่อมมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากความรู้สึกนึกคิด เช่น ความกังวลใจ ความน้อยใจ ความอยาก ความโกรธ ความริษยา เป็นต้น ในการสนทนาของเราเมื่อครั้งที่แล้ว อาจารย์สุจินต์ได้ยกตัวอย่างจากชีวิตจริงมาเป็นเครื่องช่วยให้เกิดความเข้าใจว่า ความสุขของชีวิตนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินทอง รูปสมบัติ หรือลาภยศ แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจที่เป็นอิสระไม่ตกเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ และความหลง สำหรับการประพฤติธรรมให้พ้นจากความโลภนั้น ในครั้งก่อนอาจารย์สุจินต์ได้พูดถึงเรื่องทานคือการให้ซึ่งเป็นการสละทรัพย์สินสิ่งของเพื่อประโยชน์สุข เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ความขัดข้องของผู้อื่นนั้น เป็นเหตุหนึ่งที่ไม่เพียงแต่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่ผู้รับเท่านั้น แต่ยังเป็นการขจัดกิเลสคือความตระหนี่หวงแหนในจิตใจของผู้ให้อีกด้วย ทำให้เกิดปีติโสมนัสในขณะที่ให้ และเมื่อให้ไปแล้วความปีติโสมนัสที่เกิดขึ้นกับจิตใจของผู้ให้นี้แหละ ไม่ว่าจะเกิดระลึกขึ้นในกาลไหนๆ ในฤดูไหน ฤดูฝน ฤดูหนาวหรือฤดูร้อนก็ย่อมจะทำให้จิตใจเกิดความแช่มชื่นขึ้นได้อีก ทานคือการให้นี้เป็นกุศลกรรมอย่างหนึ่ง ตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ แต่ตามความเข้าใจของคนส่วนมากมักจะเข้าใจกันตามที่เห็นด้วยตาว่า การให้นั้นเมื่อให้ไปแล้ว ผู้ให้ก็ยิ่งจะหมดไป ยิ่งจะเสียไป เช่นให้เสื้อผ้าแก่คนขาดแคลน ให้หยูกยาแก่คนป่วยไข้เหล่านี้ ผู้ให้เป็นฝ่ายเสียไปเพราะวัตถุสิ่งของหมดไป ดิฉันขอความกรุณาให้อาจารย์สุจินต์ช่วยให้แง่คิดอันจะเป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ต่อไปสักหน่อยเถอะค่ะ
ท่านอาจารย์ เหตุที่ดีนั้นย่อมทำให้เกิดแต่ผลที่ดีเท่านั้นค่ะ เหตุที่ไม่ดีจะทำให้เกิดผลดีไม่ได้เลย และจิตใจที่ดีนั้นย่อมทำให้เกิดการกระทำที่ดีทางกายทางวาจา การกระทำที่ดีทางกาย วาจานั้น ก็ย่อมทำให้เกิดผลคือการได้รับสิ่งต่างๆ ที่ดี ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ นะคะ คนที่กาย วาจา ใจดี ทำสิ่งที่ดีนั้น นอกจากตัวเองจะไม่รู้สึกเศร้าหมองเป็นทุกข์แล้ว ก็ย่อมจะเป็นที่รักที่พอใจของทุกคนด้วย ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค สตุลลปกายิกวรรคที่ ๔ มัจฉริยสูตรที่ ๒ ข้อ ๘๖ - ๙๓ ได้กล่าวถึงเรื่องความตระหนี่ไว้ด้วย คือกล่าวว่า คนตระหนี่กลัวภัยใดย่อมให้ทานไม่ได้ ภัยนั้นแหละย่อมมีแก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน คนที่ตระหนี่ไม่ยอมให้อะไรใครก็เป็นเพราะเหตุว่า กลัวจะหมด ใช่ไหมคะ แต่ผลที่ปรากฏก็คือ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คนที่เข้าใจว่าถ้าบริจาคทรัพย์ ทรัพย์ก็จะหมด เลยไม่บริจาค แต่พอถึงคราวที่ทรัพย์จะหมด ถึงจะบริจาคหรือไม่บริจาคทรัพย์นั้นก็หมดไปได้ เช่นอาจจะถูกขโมยบ้าง ไฟไหม้บ้าง น้ำท่วมบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาไม่ให้เกิดขึ้นได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจให้ถูกว่า รูปสมบัติ ผิวพรรณวัณณะ ทรัพย์สมบัติ บริวารสมบัติ ลาภยศ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีนั้นเป็นอนัตตา จะเกิดขึ้นได้หรือจะได้มาก็เพราะเหตุที่ดี เพราะจิตใจที่ดีงามแล้ว คนที่เข้าใจถูกอย่างนั้นก็จะเพียรขจัดกิเลสด้วยการเจริญกุศลทุกๆ ทาง เท่าที่มีโอกาส และสามารถจะทำได้
คุณวันทนา อาจารย์คะ แล้วยังจะมีเหตุอื่นอีกไหมคะ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ถึงเหตุของการได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติก็ดี ลาภ ยศ สรรเสริญก็ดี เพราะว่าจากชีวิตจริงๆ ที่มองเห็น คนสองคนที่มีความขยันเท่ากัน แต่คนหนึ่งรวย อีกคนหนึ่งกลับตรงกันข้ามคือไม่รวย ที่เป็นอย่างนี้น่าจะมีเหตุอื่นอีกนะคะ นอกเหนือไปจากความขยันหมั่นเพียรเท่าที่มองเห็นกัน
ท่านอาจารย์ เหตุอื่นที่เรามองไม่เห็นในปัจจุบันที่ทำให้คนที่ขยันหมั่นเพียรเท่าๆ กัน มีความรู้ความสามารถพอๆ กัน แต่ว่าผลของานที่ได้รับนั้นต่างกันย่อมมีค่ะ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้กับท่านพระสารีบุตร ในอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต อปัณณกวรรคที่ ๓ วณิชชสูตร ข้อ ๗๙ มีข้อความว่า ท่านพระสารีบุตรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ เมื่อถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายขาดทุน และบางคนทำการค้าขายไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ และบางคนได้กำไรตามที่ประสงค์ และบางคนก็ได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงเหตุปัจจัยของผลที่ต่างกันเหล่านั้นว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเหตุว่า ในอดีตชาตินั้น บางคนได้ปวารณากับสมณะหรือพราหมณ์ให้บอกปัจจัยที่ประสงค์ แต่ว่าไม่ถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ เพราะฉะนั้นเมื่อทำการค้าขายจึงขาดทุน และบางคนก็ปวารณากับสมณะหรือพราหมณ์ให้บอกปัจจัยที่ประสงค์ แต่ถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ไม่เป็นไปตามประสงค์ เพราะฉะนั้นเมื่อทำการค้าขายจึงไม่ได้กำไรตามประสงค์ และบางคนก็ปวารณากับสมณะหรือพราหมณฺให้บอกปัจจัยที่ประสงค์แล้วถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ตามที่ประสงค์ เวลาที่ทำการค้าขายก็ย่อมได้กำไรตามที่ประสงค์ และบางคนปวารณากับสมณะหรือพราหมณ์ให้บอกปัจจัยที่ประสงค์ แล้วถวายปัจจัยยิ่งกว่าที่ปวารณาไว้หรือว่ายิ่งกว่าที่ประสงค์ เพราะฉะนั้นเวลาค้าขายจึงได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์
คุณวันทนา แหม น่าประหลาดนะคะ แม้แต่เรื่องการค้าขาย พระองค์ก็ได้ทรงแสดงไว้ด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา ถึงแม้ว่าพ่อค้าแม่ค้าทุกคนต่างก็ขยันหมั่นเพียร ใช้ความรู้ความสามารถเท่าที่มีอยู่เพื่อให้ได้ผลกำไรตามที่ปรารถนา แต่ถึงอย่างนั้นผลที่ได้รับก็ต่างกันเพราะเหตุในอดีต ซึ่งเป็นเพราะบุญกุศลที่ได้ถวายทานที่ได้ปวารณาไว้ต่างๆ กัน
คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้น เวลาเราเห็นใครทำอะไรจนสุดความสามารถแล้วซึ่งรวมทั้งตัวเราเองด้วย แต่ผลที่ได้รับต่างกันคือ บางคนก็ประสบความสำเร็จ บางคนก็ล้มเหลว นี่ก็ชี้ให้เห็นเหตุในอดีตที่ต่างกันของบุญกุศลหรือจิตใจที่กระทำกรรมสะสมมาต่างๆ กัน อย่างนั้นใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ สำหรับทานการให้นั้น นอกจากจะเป็นการขจัดกิเลสคือความตระหนี่ และโลภะซึ่งติดข้องในวัตถุสิ่งของนั้นแล้ว ก็ยังยับยั้งโทสะด้วย เพราะเหตุว่าในขณะที่คิดจะให้นั้นย่อมไม่ตระหนี่ ไม่เสียดายของที่จะให้ แต่ถ้าเกิดโกรธคนที่ตนจะให้ก็อาจจะไม่ให้ก็ได้ อย่างที่คุณวันทนาเคยพูดไว้เมื่อคราวก่อน เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะให้อะไรใครแล้วเกิดไม่ให้ขึ้นมาก็ลองสังเกตดูซิคะว่า นอกจากความตระหนี่แล้ว บางครั้งความโกรธก็ขัดขวางการให้หรือการบริจาคได้เหมือนกัน
คุณวันทนา ค่ะ อย่างตอนเช้าที่เราตื่นขึ้นมาเราตั้งใจไว้ทีเดียวว่าจะให้อะไรใคร แต่ก็บังเอิญที่ในเช้าวันเดียวกันนั้นเอง คนนั้นทำให้เราโกรธ เจตนาดีของเราก็เลยถูกโทสะขัดขวางเสีย การให้นั้นก็มีอันต้องเลื่อนไปพับไป หรือว่าบางทีเรามีจิตศรัทธาที่จะบริจาคทรัพย์เพื่อบำรุงการกุศลสาธารณะสักแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้รับความสะดวก มีเหตุขัดข้องก็เลยล้มเลิกความตั้งใจที่จะบริจาคนั้นเสีย
ท่านอาจารย์ เพราะผู้นั้นผู้ที่ต้องการเจริญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้น จะต้องหมั่นพิจารณาจิตใจของตัวเอง แล้วก็พยายามที่จะทำกุศลที่ได้ตั้งใจทำนั้นให้สำเร็จ ไม่ให้กิเลสมีโอกาสขัดขวางการเจริญกุศลนั้นๆ ได้ เพราะฉะนั้นถ้ารู้เหตุ และผล และรู้สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคของการเจริญกุศลแต่ละประเภท ก็ย่อมสามารถขจัดอุปสรรคของการเจริญกุศลนั้นได้
คุณวันทนา อาจารย์คะ การที่บางคนไม่สามารถจะบริจาคหรือว่าสละทรัพย์ของตนเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นบ้าง นี่เป็นเพราะอะไรคะ
ท่านอาจารย์ ในมัจฉริยสูตร แสดงว่า เพราะความตระหนี่ และความประมาท ทำให้บุคคลให้ทานไม่ได้
คุณวันทนา ค่ะ สำหรับความตระหนี่ก็พอจะเข้าใจว่าเป็นเหตุขัดขวางไม่ให้เกิดการสละได้อย่างไร แต่ความประมาทนี่ซิคะอาจารย์ ดิฉันยังไม่ค่อยเข้าใจเลยว่า ประมาทอย่างไรจึงให้ทานไม่ได้
ท่านอาจารย์ สำหรับความประมาทที่มีกันประจำที่ทำให้รั้งรอไม่เจริญกุศลนั้น ก็เป็นความประมาทในชีวิต ชีวิตที่ผ่านไปแต่ละนาทีแต่ละวันนั้น ย่อมผ่านไปพร้อมกับความหวังต่างๆ เช่น บางคนหวังลาภ บางคนหวังยศ หวังสรรเสริญ หวังสุขประการต่างๆ บางคนก็รอว่าเอาไว้ตอนแก่ๆ เอาไว้เมื่อนั่นเมื่อนี่จะทำบุญทำทานให้เป็นการใหญ่ อย่างนี้ก็มีอยู่ทั่วๆ ไปใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ดิฉันได้ยินบางคนหวังว่า รอไว้ให้อายุ ๕ รอบหรือ ๖ รอบเถอะ ไว้ให้ลูกหลานโตเป็นฝั่งเป็นฝากันให้หมด ตนก็จะได้หมดห่วงหมดอาลัยไปเสียทีหนึ่ง คราวนี้ละจะได้ทำบุญฉลองกันให้ครึกครื้นเป็นงานใหญ่ทีเดียว อย่างนี้ก็เป็นความคิดที่ดีไม่ใช่หรือคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ ดีค่ะ ถ้ามีโอกาสได้ทำหรือมีชีวิตอยู่จนกระทั่งได้ทำกุศลตามที่ปรารถนาไว้ แต่ถ้าผู้นั้นไม่เจริญกุศลทุกครั้งที่มีโอกาสหรือมีทางที่จะกระทำได้ มัวแต่รอวันคืนที่จะทำกุศลที่ปรารถนาได้เท่านั้น ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำกุศลที่รอคอยว่าจะทำนั้นก็ได้
คุณวันทนา ค่ะ ในเรื่องของความตายนี่ ดิฉันก็เห็นด้วยค่ะอาจารย์ มันเป็นของไม่แน่เลย ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร เด็กจะตายก่อนผู้ใหญ่หรือผู้ใหญ่จะตายก่อนเด็ก เพราะฉะนั้น อย่างที่ยกตัวอย่างมาเมื่อกี้นี้ถึงเรื่อการจะทำบุญในระยะยาวนั้น ถึงแม้จะเป็นความคิดที่ดี เป็นเจตนาที่เป็นกุศล แต่ก็เหมือนกับว่าเป็นการประมาทอย่างหนึ่งเหมือนกันนะคะ
ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย วีสตินิบาตชาดก อโยฆรชาดก ข้อ ๒๒๖๑ - ๒๒๘๔ เปรียบเทียบ และอุปมาเรื่องตายไว้หลายอย่างน่าฟังมากเชียวค่ะ
คุณวันทนา ท่านกล่าวไว้ว่าอย่างไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ ข้อความในอโยฆรชาดกมีทั้งหมด ๒๔ ข้อค่ะ ยาวเกินกว่าที่จะยกมาทั้งหมดได้ แต่ละข้อความนั้นก็ไพเราะจับใจมาก ดิฉันจะยกมากล่าวเฉพาะข้อความที่เราไม่ค่อยได้ยินบ่อยๆ นะคะ เช่นข้อที่ว่าเวลานักเล่นกลทั้งหลายกระทำมายากลย่อมสามารถที่จะลวงนัยน์ตาของประชาชนในที่นั้นให้หลงเชื่อได้ แต่ถึงแม้จะมีความเชี่ยวชาญชำนาญลวงใครๆ สักเท่าไร ก็ไม่สามารถจะลวงมัจจุราชได้เลย และในข้อที่ว่าพวกวิชาธรมีวิชาหายตัวได้นั้น ที่จะหายตัวไป ไม่ให้มัจจุราชเห็นนั้นก็ไม่ได้เลย
คุณวันทนา นี่ก็แสดงว่า ไม่มีใครพ้นจากความตายไปได้เลย
ท่านอาจารย์ สำหรับที่ว่าคนไม่ให้ทานเพราะความประมาทนั้น นอกจากว่าจะประมาทในชีวิตแล้ว ยังประมาทในทรัพย์ด้วยค่ะ
คุณวันทนา หรือคะ ประมาทในทรัพย์ก็มีด้วย ทำอย่างไรคะจึงได้ชื่อว่าประมาทในทรัพย์
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาทราบแล้วนะคะ ว่า กรรมจำแนกบุคคลให้ต่างกันตั้งแต่เกิด คือให้ต่างกันด้วยกำเนิด ชาติ ตระกูล ยศ ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น และกรรมของแต่ละคนที่ได้สะสมมาทั้งในอดีต และปัจจุบันชาตินั้นก็นับไม่ถ้วน การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรมอันหนึ่งซึ่งได้กระทำไว้ในอดีตชาติ แต่ว่ากรรมนั้นก็ให้ผลสั้นมาก เพราะเหตุว่าทำให้เกิดเป็นมนุษย์อย่างมากก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปี และในระหว่างที่เป็นมนุษย์อยู่นั้น ถ้ากรรมใดมีโอกาสให้ผล กรรมนั้นก็ย่อมจะให้ผลได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เช่นบางคนเกิดมามั่งมีแต่แล้วก็กลับยากจนลง บางคนก็ยากจนอยู่นานแต่ในที่สุดก็กลับมั่งมีได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจเหตุกับผลให้ตรงกันว่า กรรมที่ดีย่อมเป็นเหตุให้ได้รับผลดี ส่วนกรรมชั่วนั้นก็ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดี ถ้ารู้อย่างนี้เราก็ย่อมใช้ชีวิต และทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ในทางที่เป็นประโยชน์มากขึ้น ถ้าในขณะที่มีทรัพย์ก็รู้ว่า การที่ได้ทรัพย์มานั้นเป็นผลของบุญ และถ้าบาปที่ทำมานั้นมีโอกาสให้ผลเมื่อไร ทรัพย์ที่มีอยู่นั้นก็จะสูญหายหรือถูกทำลายหมดสิ้นไปเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้ารู้อย่างนี้ดิฉันคิดว่าทุกคนจะไม่ประมาทในทรัพย์สมบัติ ไม่รอโอกาสที่จะทำบุญให้ทานเพราะรู้ว่าถ้ารอไปทรัพย์ก็อาจจะหมด ไม่มีโอกาสจะทำบุญให้ทานเลยก็ได้
คุณวันทนา ค่ะ แต่อาจารย์คะ อาจารย์ว่าคนที่รู้อย่างนี้แล้ว ก็คิดอย่างนี้มีมากหรือน้อยคะ
ท่านอาจารย์ จะมีมากหรือน้อยนั้นก็รู้ได้จากการกระทำของแต่ละคนนั่นเอง เพราะเหตุว่าบางคนนั้นถึงแม้จะมีน้อยก็ไม่ตระหนี่ และไม่ประมาท เมื่อคิดจะแบ่งปันให้คนอื่นก็แบ่งให้ได้ แต่ว่าบางคนนั้นถึงมีมากก็ไม่ให้ สำหรับตัวอย่างของคนที่ไม่ประมาทในโภคทรัพย์ และในชีวิตนั้นก็มีอยู่ในสุปปวาสาสูตรค่ะ
คุณวันทนา ค่ะ รู้สึกว่ายังมีเวลาเหลืออยู่บ้าง อาจารย์จะกรุณาเล่าให้ท่านผู้ฟังได้ฟังเพื่อจะได้เตือนใจ และเป็นตัวอย่างแก่พวกเราสมัยนี้บ้างไหมคะ
ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย อุทาน มุจจลินทวรรคที่ ๒ สุปปวาสาสูตร ข้อ ๕๙ - ๖๒ มีข้อความว่าอุบาสกผู้หนึ่งซึ่งเป็นอุปัฏฐากของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุขฉันภัตตาหารไว้ก่อน ส่วนพระนางสุปปวาสานั้นนิมนต์ทีหลัง พระผู้มีพระภาคจึงมีรับสั่งให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะไปบอกให้อุบาสกนั้นทราบ อุบาสกนั้นก็บอกท่านพระโมคคัลลานะว่า ถ้าท่านพระมหาโมคคัลลานะประกันธรรม ๓ อย่างของอุบาสก อุบาสกก็จะยอมให้พระนางสุปปวาสาถวายภัตตาหารก่อนทั้ง ๗ วัน แล้วเขาจะยอมถวายภัตตาหารทีหลัง
คุณวันทนา ธรรม ๓ อย่างนั้นมีอะไรบ้างคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ธรรม ๓ อย่างที่อุบาสกให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะประกันก็คือ โภคสมบัติ ๑ ชีวิต ๑ ศรัทธา ๑
คุณวันทนา แล้วท่านพระมหาโมคคัลลานะท่านรับประกันให้หรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะประกันให้เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือโภคสมบัติ และชีวิต ส่วนศรัทธาของอุบาสกนั้นท่านให้อุบาสกประกันเอง เพราะเป็นสิ่งที่ท่านประกันให้ไม่ได้
คุณวันทนา เพราะจิตกลับกรอก แล้วก็โลเลง่ายเหลือเกินนะคะ ศรัทธาที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็อาจจะไม่เกิดอีกเลยก็ได้ แล้วทำไมท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ประกันโภคสมบัติ และชีวิตให้แก่อุบาสกนั้นได้ล่ะคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นพระสาวกผู้เลิศในทางอิทธิฤทธิ์ค่ะ และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านมาบอกแก่อุบาสกนั้น ก็เป็นที่แน่นอนที่พระองค์ทรงรู้อนาคตของชีวิต และโภคทรัพย์ของอุบาสกนั้นด้วยอนาคตังสญาณ ซึ่งเป็นญาณที่หยั่งรู้อนาคตของสัตวโลกทั้งหลายที่จะต้องเป็นไปตามกรรมของสัตว์โลกนั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ประกันโภคทรัพย์ และชีวิตของอุบาสกนั้นได้
คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาธรรมของเราวันนี้ คงจะช่วยให้ท่านผู้ฟังหายข้องใจในเรื่องการให้ทานซึ่งบางท่านอาจจะคิดว่าผู้ให้จะเสียทรัพย์สิ่งของ และโภคทรัพย์ไปเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวแล้ว บรรดาสิ่งที่ดีทั้งหลายที่ได้รับในชีวิตนั้น ต้องมาจากเหตุที่ดีคือกรรมดี การที่ชีวิตของคนเราต่างกันไปด้วยฐานะ ชาติ ตระกูล ความเป็นอยู่ แม้ตั้งแต่เริ่มเกิดมา และภายหลังก็เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำ และสะสมมาต่างๆ กัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันชาติบุคคลจะมีวิริยะอุตสาหะเสมอกัน มีความรู้เท่าเทียมกัน แต่เหตุที่มองไม่เห็นในอดีตก็ย่อมทำให้ผลที่เกิดจากการกระทำในชาตินี้ต่างกันไปด้วย สำหรับการทำกุศลกรรมแม้แต่ในเรื่องของทาน ท่านผู้ฟังก็เห็นแล้วว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และถึงแม้ศรัทธาเกิดแล้วถ้าไม่รีบกระทให้สำเร็จไปศรัทธานั้นย่อมจะหมดไป และอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกก็ได้ ด้วยเหตุนี้ชีวิต และโภคสมบัติซึ่งเป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำสำเร็จไปแล้ว ผู้มีอนาคตังสญาณก็อาจจะประกันได้ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจประกันศรัทธาของบุคคลที่จะกระทำกุศลกรรมได้ ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาของเราก็ดำเนินมาสมควรแก่เวลาแล้ว ขอยุติเพียงนี้ สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔