บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๑๙

    ศีล ๕ ขจัดโทสะ และเป็นมหาทาน


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังที่ได้ติดตามรับฟังการสนทนาของเรามาโดยตลอดก็คงจะพอจำได้นะคะ ว่า ในครั้งก่อนเราได้คุยกันเรื่องบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ทิฏฐุชุกรรม ๑ ทาน ๑ ปัตติทาน ๑ ปัตตานุโมทนา ๑ สำหรับการสนทนาของเราวันนี้ ก็จะได้พูดกันถึงบุญญกิริยาวัตถุประการต่อไป ซึ่งก็คงจะเป็นกุศลที่ทุกท่านสามารถจะเจริญได้ ใช่ไหมคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าการขจัดขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันเท่าที่ปรากฏนะคะ คุณวันทนาก็คงจะเห็นว่า การบริจาคทรัพย์สินวัตถุสิ่งของให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้างนั้น ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และบางคนก็นานเหลือเกินกว่าจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง แต่สำหรับท่านที่มีทานุปนิสัยคืออุปนิสัยในการให้ทานนั้น คุณวันทนาก็คงเห็นว่าท่านผู้นั้นบริจาคทรัพย์วัตถุสิ่งของเป็นประจำ

    คุณวันทนา ดิฉันเห็นคนที่ใส่บาตรทุกๆ วันค่ะ หรือบางคนก็ใส่บาตรเฉพาะวันเกิด อย่างคนเกิดวันจันทร์ก็ใส่วันจันทร์ เกิดวันเสาร์ก็ในบาตรวันเสาร์ หรือบางคนก็พอใจที่จะบำรุงการกุศลตามที่ต่างๆ เป็นประจำทุกเดือน หรือตามโอกาสที่จะกระทำได้ อย่างนี้ก็ย่อมเป็นการอบรมขจัดขัดเกลากิเลสด้วยการสละวัตถุจนเป็นอุปนิสัย ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ว่าเพียงการสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นนั้นก็ยังขจัดขัดเกลากิเลสไม่พอนะคะ เพราะว่ากิเลสมีมากมายหลายประเภทเหลือเกิน และกิเลสแต่ละประเภทก็เกิดบ่อยพอกพูนหนาแน่นมาก คนที่มีกิเลสพอกพูนหนาแน่นมากนั้นได้ชื่อว่า ปุถุชน

    คุณวันทนา มีใครบ้างล่ะคะอาจารย์ที่เป็นปุถุชน

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล เพราะยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ เป็นปุถุชนทุกคน

    คุณวันทนา เพราะอะไรจึงได้ชื่อว่าเป็นปุถุชนคะ

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย ความยินดียินร้ายก็เกิดขึ้นได้ทุกขณะที่ไม่เจริญกุศล เมื่อกุศลไม่เกิดกิเลสอื่นๆ ก็ต้องเกิด และกิเลสแต่ละขณะที่เกิดก็สะสมพอกพูนอยู่ในจิตที่เกิดดับสืบต่อกั้นอยู่ทุกๆ ขณะ ทำให้ปรากฏสภาพของกิเลสที่สะสมมาในลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งคุณวันทนาก็คงจะเห็นลักษณะของกิเลสที่ปรากฏทั่วๆ ไปนะคะ

    คุณวันทนา อาจารย์ค่ะ การสะสมของกิเลสนี่เองนะคะ ที่ทำให้แต่ละคนมีอุปนิสัยใจคอต่างๆ กัน ซึ่งดิฉันคิดว่าตัวดิฉันเองรวมทั้งท่านผู้ฟังด้วย ก็คงจะได้เคยสังเกตเห็นผู้ที่มีทานุปนิสัยมาในอดีต ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็จะเห็นว่าเขามีอุปนิสัยที่จะสละสิ่งของให้ใครๆ ได้ง่ายๆ มีน้ำใจเอื้อเฟื้ออยู่เสมอ นี่ก็คงเป็นอุปนิสัยในด้านดี นอกจากนี้แล้วนะคะ อาจารย์ ดิฉันยังสังเกตเห็นต่อไปค่ะว่า บางคนที่มีน้ำใจดีๆ อย่างนี้ที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่บางครั้งมีการแสดงออกทางกาย ทางวาจาไม่ดี เลยค่ะ อย่างทางวาจาก็ชอบพูดให้กระทบกระเทือนความรู้สึกของคนอื่น หรืออย่างที่เรียกกันว่าเป็นคนปากร้ายใจดี อย่างนี้แล้วก็น่าสงสัยว่า ทำไมนะมีส่วนที่ดีพร้อมแล้ว จึงได้มีส่วนที่ไม่ดีปนอยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่ากิเลสนั้นมีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด และก็มีทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจด้วยค่ะ บางคนก็ขจัดขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ แต่ว่ากิเลสอย่างกลาง และกิเลสอย่างละเอียดนั้นยังไม่ได้ขัดเกลา และบางคนก็ขจัดขัดเกลากิเลสทางกาย แต่ว่าไม่ได้ขจัดขัดเกลาทางวาจา เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงพระมหากรุณาคุณหาผู้เปรียบปานมิได้ จึงได้ทรงแสดงหนทางขจัดขัดเกลากิเลสทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไว้ครบถ้วนทีเดียวค่ะ พระองค์มิได้ทรงแสดงว่า การขจัดขัดเกลากิเลสนั้นมีแต่เฉพาะด้วยทาน การสละวัตถุสิ่งของให้ผู้อื่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเลย

    คุณวันทนา พูดกันไปนี่นะคะ อาจารย์ กิเลสนี่ก็ไม่ใช่ว่าจะเห็นยากเลย คนเราอยู่ที่ไหน เจ้ากิเลสมันก็อยู่ที่นั่น ขึ้นอยู่แต่ว่ามันจะปรากฏทางกาย ทางวาจา หรือว่าทางใจ เพียงแต่ว่าเวลาที่กิเลสเกิดกับคนอื่นเห็นง่ายเชียวค่ะ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันน่ารังเกียจเสียเหลือเกิน แต่พอมันเกิดกับตัวเราเองซิคะเห็นยาก เพราะเราชอบแล้วก็เข้าข้างตัวเองอยู่เสมอ ก็เลยไม่รู้สึกว่ากิเลสนั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจเหมือนเวลาที่เกิดกับคนอื่น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงสอนให้พิจารณาจิตใจของเราเองแทนการเพ่งโทษของคนอื่น เพราะการเพ่งโทษของคนอื่นย่อมทำให้จิตใจเป็นอกุศล และเป็นการเพิ่มพูนกิเลสอาสวะ ซึ่งจะทำให้ห่างไกลพระนิพพานออกไปทุกที

    คุณวันทนา เรื่องการพิจารณาจิตใจดูจะสำคัญมากเชียวนะคะ อาจารย์ เพราะว่าถ้าเราไม่พิจารณาจิตใจ ไม่รู้ว่ามีกิเลสหรือไม่รู้ว่ากิเลสเกิดขึ้นแล้วแก่เราในขณะใด เราก็เห็นจะไม่เพียรที่จะขจัดขัดเกลากิเลสกันเป็นแน่ทีเดียวค่ะ อาจารย์คะ แล้วก็การขจัดขัดเกลากิเลสด้วยวิธีอื่นที่ไม่ต้องสละวัตถุเป็นทานก็ยังมีอีก ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีค่ะ ไม่ต้องสละวัตถุก็จริง แต่ก็จะต้องสละหรือระงับกิเลสด้วย

    คุณวันทนา การเจริญทานกุศลก็เป็นสละหรือระงับกิเลสเหมือนกัน ใช่ไหมคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ การเจริญกุศลทุกอย่างเป็นการสละหรือขจัดขัดเกลากิเลสทั้งนั้น แต่ว่ากิเลสก็มีหลายอย่าง การเจริญกุศลเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสก็ต้องมีหลายอย่างด้วย เช่นกุศลที่เป็นทาน การให้นั้นเป็นการสละหรือขจัดความตระหนี่ ความติดข้องในโภคสมบัติ แต่นอกจากความตระหนี่แล้ว กิเลสที่จะต้องขจัดขัดเกลาก็ยังมีอีกหลายอย่าง ซึ่งถ้าขจัดขัดเกลาแต่ความตระหนี่อย่างเดียว ไม่ได้ขัดเกลากิเลสอื่น กิเลสอื่นก็ยังจะต้องเกิดขึ้นพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ

    คุณวันทนา การขจัดขัดเกลากิเลสด้วยวิธีอื่น ทำอย่างไรล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ต้องละการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนี้ก็ต้องรักษาศีล ๕ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้สำหรับผู้ครองเรือนอย่างนั้นซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วก็สำหรับศีล ๕ ก็คงไม่ต้องทบทวนก็ได้นะคะ ว่ามีอะไรบ้าง

    คุณวันทนา ทวนเสียหน่อยก็ดีค่ะ ท่านผู้ฟังจะได้ไม่ลืม หรือสำหรับท่านที่ได้รักษาศีล ๕ เป็นประจำนั้น เมื่อได้ฟังแล้วก็จะได้เกิดปีติในศีลที่ท่านรักษาได้ครบถ้วน ดิฉันขอทบทวนให้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอนุชนที่อาจจะยังสับสนว่า ศีล ๕ มีอะไรบ้าง ศีล ๕ ก็ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากการถือเอาทรัพย์สิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ ๑ เว้นจากประพฤติผิดในกาม ๑ เว้นจากการพูดปด ๑ เว้นจากการเสพของมึนเมา ๑ ข้อสำคัญนั้นก็คือว่า ศีล ๕ เป็นสิ่งที่ดีงามที่ทุกๆ คนต่างก็ยอมรับกันทั้งนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ศีล ๕ ก็ดูเหมือนว่าเป็นอุดมคติ เป็นเหมือนความฝันที่ไม่มีวันจะเป็นจริงขึ้นมาได้หรือไม่อาจจะสมบูรณ์ได้ ที่เป็นอย่างนี้ก็คงจะมีเหตุผลเหมือนกันนะคะ

    ท่านอาจารย์ การกระทำทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะต้องมีเหตุทั้งนั้นค่ะ และเหตุของการกระทำที่ไม่ดีทั้งหมดนั้นก็เกิดจากกิเลสเท่านั้น ถ้าตราบใดกิเลสยังมีอยู่ ตราบนั้นก็ยังจะต้องมีเหตุให้เกิดการกระทำที่ไม่ดี มากหรือน้อยก็แล้วแต่ขั้นหรือระดับของกิเลสที่ได้ละหรือที่ได้ขัดเกลาไปบ้างแล้ว

    คุณวันทนา สำหรับการรักษาศีลนั้น จะขจัดขัดเกลากิเลสอะไรได้บ้างคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ การเจริญทานกุศลนั้นก็เพื่อขจัดโลภะ ขจัดความตระหนี่ แต่ว่าในขณะที่ให้ทานนั้นก็จะต้องไม่มีโทสะเกิดขึ้นขัดขวางด้วยนะคะ การให้ทานนั้นจึงจะสำเร็จลงได้ ตามที่เราได้เคยพูดกันมาแล้ว สำหรับการรักษาศีลนั้นก็เพื่อขจัดโทสะ แต่ว่าในขณะที่มีเจตนาเว้นการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนนั้น ก็จะต้องไม่มีโลภะเกิดขึ้นขัดขวางด้วย จึงจะเว้นจากการกระทำทุจริตนั้นได้ เพราะว่าศีลย่อมขาดได้เพราะเหตุแห่งลาภยศบ้าง เพราะเหตุแห่งญาติบ้าง หรือว่าเพราะเหตุแห่งชีวิตบ้าง ซึ่งถ้าผู้ใดยังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสต่างๆ ความพอใจนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นขัดขวางการรักษาศีลได้ ตามโอกาส และตามกำลังของความยินดีติดข้องในวัตถุ และลาภยศต่างๆ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ ดูเหมือนว่าการกระทำทุจริตแต่ละอย่างจะเกิดขึ้นเพราะโลภะเป็นเหตุ เพราะฉะนั้นการเว้นทุจริตทางกาย ทางวาจา ก็น่าจะเป็นการขจัดความตระหนี่เช่นเดียวกับการให้ทานเหมือนกันนะคะ

    ท่านอาจารย์ โลภะเป็นมูลเพราะเป็นเหตุให้ปรารถณาติดข้องอยากได้ในวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็จริง แต่ก็ล่วงเป็นทุจริตแต่ละครั้งนั้นต้องเป็นเพราะขาดเมตตาในผู้อื่น และธรรมที่ตรงกันข้ามกับเมตตาก็คือโทสะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง และประทุษร้ายนั่นเอง

    คุณวันทนา อาจารย์คะกรุณายกตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจสักหน่อยไหมคะว่า การเว้นทุจริตทางกาย ทางวาจา เป็นการขจัดขัดเกลาได้อย่างไร เพราะส่วนมากเรามักจะเข้าใจกันว่า การฆ่าสัตว์ก็ดี การถือเอาทรัพย์สิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้ก็ดี การประพฤติผิดในกาม หรือการเสพของมึนเมาเหล่านี้ เป็นเพราะแต่ละคนอยากจะได้วัตถุสิ่งของต่างๆ หรืออยากจะได้รสที่ตนชอบ ซึ่งในเรื่องการละกายทุจริตนั้นก็น่าจะเป็นเรื่องของการละโลภะมากกว่า

    ท่านอาจารย์ คนที่อยากได้ทรัพย์ของคนอื่น แล้วประทุษร้ายคนอื่นเพื่อต้องการทรัพย์นั้น เห็นได้ชัดว่าขาดเมตตา เพราะเหตุว่าถ้ายังมีเมตตาคนอื่นอยู่ตราบใด ก็ไม่อาจประทุษร้ายคนนั้นเพื่อทรัพย์ได้ และถ้ามีเมตตาต่อคนอื่นก็ย่อมจะรู้ว่า การที่คนอื่นต้องสูญเสียทรัพย์ที่หามาได้นั้นไปย่อมจะเดือดร้อน ถ้ามีเมตตาเห็นใจผู้อื่นก็จะไม่ช่วงชิงทรัพย์ของคนอื่นมาเป็นของตนเลยค่ะ เพราะฉะนั้นคุณวันทนาก็คงจะเห็นได้นะคะ ว่า ถ้ายังมีเมตตาอยู่ตราบใด การที่จะกระทำทุจริต วจีทุจริต ที่จะเป็นเหตุให้คนอื่นเดือดร้อนก็จะมีไม่ได้เลย ขณะใดที่ขาดเมตตา ขณะนั้นก็จะต้องเป็นสภาพของจิตที่หยาบกระด้าง สามารถที่จะประทุษร้ายซึ่งก็เป็นลักษณะของโทสเจตสิกนั่นเองค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้น โทสะก็ไม่ได้แปลว่าความโกรธอย่างเดียวเท่านั้นซินะคะ เพราะว่าลักษณะของจิตใจที่หยาบกระด้าง ประทุษร้าย และขาดเมตตาในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโทสะทั้งนั้น ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ คุณวันทนาเคยได้ยินได้ฟังการแผ่เมตตาบ่อยๆ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ เคยได้ยินค่ะ อย่างเวลาไปฟังเทศน์ที่วัดนะคะ เวลาพระท่านเทศน์จบแล้ว ท่านก็มักจะนำพวกอุบาสกอุบาสิกากล่าวคำแผ่เมตตา แล้วเราก็กล่าวตามท่านค่ะ

    ท่านอาจารย์ การแผ่เมตตานั้นนะคะ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อจิตใจของผู้ที่แผ่เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตา แล้วจึงจะแผ่ความปรารถนาดี และความสุขให้แก่คนอื่นได้ และการที่จะรู้ว่าจิตใจของผู้ใดมีเมตตาเพียงพอที่จะแผ่ให้ผู้อื่นได้หรือไม่นั้นก็ต้องดูที่กาย วาจา ของผู้นั้นเอง ถ้าผู้นั้นไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วยกาย ด้วยวาจา ก็แสดงว่าผู้นั้นเจริญเมตตาถึงขึ้นที่สามารถจะขจัดกายทุจริต และวจีทุจริตได้

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้น ศีล ๕ ก็เป็นเครื่องวัดผลของการเจริญเมตตา และการแผ่เมตตาด้วยซิคะอาจารย์ว่า เป็นความจริงใจ และจะเกิดผลสมความตั้งใจของผู้แผ่มากน้อยสักแค่ไหน ศีลข้อ ๕ ซึ่งได้แก่เว้นการเสพของมึนเมานั้น จะเป็นการขจัดโทสะได้บ้างหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ สำหรับศีลข้อ ๕ นั้นก็เช่นเดียวกัน เพราะว่าคนที่ขาดสติก็ย่อมเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจาได้ เพราะฉะนั้นการรักษาศีลข้อ ๕ จึงเป็นการป้องกันไม่ให้ขาดสติซึ่งจะเป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน

    คุณวันทนา ดิฉันคิดว่าถ้ามีข้อคิดหรือข้อธรรมบางประการที่จะช่วยให้เราไตร่ตรองเหตุผล ก็คงจะทำให้มีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามศีลของผู้ครองเรือนได้มากนะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ข้อสำคัญก็คือจะต้องเห็นโทษของกิเลสเสียก่อน กิเลสเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกิเลสหยาบ กิเลสอย่างกลาง หรือกิเลสอย่างละเอียด เพราะว่านอกจากจะทำให้จิตใจเศร้าหมอง ไม่สงบแล้ว ก็ยังเป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีทางกาย และทางวาจาด้วย กิเลสเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เบียดเบียนทั้งตัวเอง และคนอื่นให้เดือดร้อนด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่จะต้องขจัดขัดเกลาให้เบาบาง และให้หมดสิ้นไป เพราะว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติ หรือลาภยศ แต่อยู่ที่การไม่มีกิเลสเท่านั้น คนที่มีทรัพย์มาก และมีกิเลสมากกับคนที่มีทรัพย์น้อยแต่มีกิเลสน้อย คุณวันทนาคิดว่าใครมีความสุขมากกว่ากัน

    คุณวันทนา โดยเหตุผลแล้ว คนที่มีกิเลสน้อย มีทรัพย์น้อย ย่อมจะมีความสุขกว่าคนที่มีกิเลสมาก มีทรัพย์มาก เพราะว่าคนที่มีกิเลสมาก มีทรัพย์มาก ย่อมจะจนอยู่เสมอ เพราะไม่รู้สึกพอ มีเท่าไรก็ไม่พอ ต้องดิ้นรน ต้องแสวงหาอยู่เรื่อยๆ ทำให้จิตใจไม่สงบ ทำตัวเองให้ลำบากแล้วทำให้คนอื่นลำบากไปด้วย

    ท่านอาจารย์ คนที่ทรัพย์มาก และมีกิเลสมาก กับคนที่มีทรัพย์น้อย และมีกิเลสน้อย ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน คุณวันทนาอยากคบหาสมาคมกับใครมากกว่ากันคะ

    คุณวันทนา คนที่มีกิเลสน้อย มีทรัพย์น้อย เห็นจะดีกว่าค่ะ อาจารย์ เพราะว่าเขาไม่เบียดเบียนเราให้เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก รุหกวรรค สาธุศีลชาดก ข้อ ๒๔๙ - ๒๕๐ ก็เคยมีเรื่องถามกันในครั้งอดีตเหมือนกันค่ะ

    คุณวันทนา หรือคะ ถามกันว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ถามว่า คนที่มีรูปงาม ๑ คนมีอายุมาก ๑ คนมีชาติสูง ๑ คนมีศีลดี ๑ ใน ๔ คนนี้จะเลือกเอาคนไหน คุณวันทนาจะตอบว่าอย่างไรคะ

    คุณวันทนา เอาคนสุดท้ายที่มีศีลดีค่ะ แล้วในสมัยนั้นท่านตอบว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านตอบสั้นๆ ค่ะ แต่ว่าความหมายของข้อความที่ตอบนั้นก็แสดงว่า ความสวยงามก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของร่างกาย ทำให้เจริญตาเจริญใจ คนที่มีอายุมากนั้นก็ย่อมเป็นที่เคารพนับถือ และการมีชาติตระกูลสูงนั้นก็ย่อมมีประโยชน์ แต่ว่าคนที่มีศีลนั้นย่อมเป็นที่รักที่พอใจของทุกคนค่ะ

    คุณวันทนา ก็แสดงว่า ไม่มีใครชอบกิเลสเลยซินะคะ

    ท่านอาจารย์ กิเลสเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และเป็นสิ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมองไม่สงบ ซึ่งจะมากน้อยเท่าไรก็ย่อมเป็นไปตามกำลังของกิเลส แต่ก็ไม่มีใครมีอำนาจบังคับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้เลย เพราะว่ากิเลสเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าธรรมอะไรตรงกันข้ามกับกิเลส และรู้ทางที่จะขจัดขัดเกลากิเลสแล้ว ก็ย่อมมีทางที่จะทำให้กิเลสเบาบางลงได้ค่ะ เพราะถึงแม้ว่าบุคคลใดจะถูกงูพิษกัดหรือเป็นโรคต่างๆ ก็ยังมียารักษาได้ แต่ยาที่รักษาโรคกายได้นั้นไม่สามารถจะรักษาโรคใจคือกิเลสให้หายได้เลย การขจัดขัดเกลากิเลสนั้นจะเป็นไปได้ก็ด้วยการเจริญกุศลเท่านั้นเอง

    คุณวันทนา เพราะฉะนั้น ถ้าหากรู้วิธีขจัดขัดเกลากิเลสทุกๆ ทาง ก็คงจะช่วยให้มีโอกาสขจัดขัดเกลากิเลสได้มากขึ้นนะคะ

    ท่านอาจารย์ การที่ผู้ใดจะเจริญกุศลเพื่อละกิเลสประเภทใดนั้น ผู้นั้นย่อมจะเห็นโทษของกิเลสประเภทนั้นเสียก่อน และในข้อนี้คุณวันทนาก็จะเห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระองค์ทรงแสดงธรรมต่างจากศาสดาอื่น ตามที่พระองค์ทรงแสดงกับนายบ้านชื่ออสิพันธกบุตร สาวกของนิครนถ์ค่ะ

    คุณวันทนา พระองค์ทรงแสดงไว้ว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คามณิสังยุตต์ อสังขาสูตร ข้อ ๖๐๘ - ๖๑๙ มีข้อความว่า ศาสดาอื่นไม่ได้แสดงโทษของกายทุจริต วจีทุจริต เป็นแต่แสดงผลที่ว่าจะต้องเกิดในอบาย และตกนรก พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งเหตุ และผลของธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงชี้โทษของกายทุจริต วจีทุจริต โดยประการต่างๆ เป็นอันมาก เพื่อให้สาวกพิจารณาเห็นโทษของบาปกรรม และประพฤติปฏิบัติในทางที่จะละบาปกรรม และขจัดขัดเกลากิเลสยิ่งๆ ขึ้น

    คุณวันทนา การรักษาศีลคงจะขจัดขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าขั้นทานนะคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าทานเป็นการอนุเคราะห์สงเคราะห์คนอื่นด้วยวัตถุเป็นครั้งคราว ส่วนศีลนั้นเป็นความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ต้องมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีการสละวัตถุสิ่งของให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น แต่ว่าไม่ละเว้นการเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนด้วยกาย วาจา ใจ การให้ทานของคนนั้นก็เป็นอนุเคราะห์คนอื่นที่ไม่สมบูรณ์ เพราะว่าเมื่อให้แล้วก็ยังเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน การให้ที่สมบูรณ์นั้น ผู้ให้ต้องละเว้นการเบียดเบียนคนอื่นด้วย จึงจะเป็นกุศลที่แท้จริง ในอังคุคตรนิกาย อัฏฐนิบาต ทานวรรคที่ ๔ ปุญญาภิสันทสูตร ข้อ ๑๒๙ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ศีลคือการเว้นปาณาติบาต การเว้นอทินนาทาน การเว้นกาเมสุมิจฉาจาร การเว้นมุสาวาท และการเว้นการเสพของมึนเมาซึ่งเป็นที่ตั้งของความประมาทนั้นเป็นมหาทาน เป็นทานอันเลิศ เพราะเหตุว่าชื่อว่าความไม่มีภัย ความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียนแก่สัตว์ทั้งหลายหาประมาณไม่ได้เลย

    คุณวันทนา ผลของศีลนี่ก็คงจะตอบสนองเช่นเดียวกันนะคะ เพราะว่าผู้ที่ให้ความไม่มีภัย ไม่มีเวร ไม่เบียดเบียนผู้ใด ก็ย่อมไม่ต้องได้รับภัยนั้น ดิฉันรู้สึกว่าการรักษาศีลนี้ถ้าฝึกจนเป็นนิสัยแล้วจะง่ายกว่าทาน เพราะว่าในเรื่องของทานนั้น ถึงแม้ว่าผู้ใดมีศรัทธาจะบริจาค แต่ถ้าโอกาสหรือปัจจัยไม่อำนวยให้ก็ย่อมจะบริจาคไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนที่ฝึกอบรมเจริญศีลจนเป็นนิสัย ผู้นั้นก็มีสีลุปนิสัย ซึ่งคุณวันทนาก็คงจะเห็นว่าท่านเหล่านั้นมีกายวาจาสะอาด ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อนเลย แม้ว่าการให้ทานของผู้นั้นอาจจะน้อยกว่าผู้ที่มีทานุปนิสัย และสำหรับผู้ที่เห็นโทษของกิเลส ก็ย่อมจะเจริญกุศลทุกทางที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประเภทไหน เช่นถ้าเป็นโอกาสของทานก็ให้ทาน ถ้าเป็นโอกาสของศีลก็รักษาศีล และเมื่อเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญภาวนาแล้ว ก็อบรมเจริญภาวนา

    คุณวันทนา ศีลนี่ก็เป็นบุญญกิริยาวัตถุหนึ่งในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซิคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ และยังมีบุญญกิริยาวัตถุอื่นอีกค่ะ ที่รวมกันในหมวดของศีล ซึ่งเราจะได้พูดถึงคราวต่อไปนะคะ

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาของเราในวันนี้ก็ได้ดำเนินมาด้วยเวลาสมควรแล้ว พบกันใหม่ในวันหน้าค่ะ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ