บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
ครั้งที่ ๒๐
อปจายนะ การอ่อนน้อมด้วยกาย วาจา ใจ
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟัง ก่อนที่เราจะสนทนากัน ดิฉันมีเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ทั่วๆ ไป ที่ใคร่จะนำมาเล่าสู่ท่านผู้ฟัง เมื่อประมาณ ๔ - ๕ วันมานี้เองค่ะ ดิฉันได้พบเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่เคยเรียนหนังสือร่วมกันมา หลังจากที่เราได้คุยกันเรื่องต่างๆ ทั่วไปแล้ว เราก็หันมาคุยกันถึงเรื่องทุกข์สุข ความเป็นไปในชีวิตของกัน และกัน มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งเพื่อนผู้นั้นได้ปรารภกับดิฉันว่า “จริงๆ นะเธอ ฉันไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่า ชีวิตของเราเมื่อพ้นจากเป็นนักเรียนแล้วต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเอง รับผิดชอบในชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง จะเต็มไปด้วยปัญหาความขัดข้อง ความทุกข์นานัปการที่จะต้องแก้ไข จะต้องฝ่าฟันเอาชนะ เพราะมิฉะนั้นแล้วเราก็จะอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ น่าประหลาดนะ ที่ความรู้สึกอย่างนี้ไม่เคยเกิดกะเรามาก่อนเมื่อตอนที่เป็นเด็กเลย” ท่านผู้ฟังคะ ดิฉันได้ฟังแล้วก็รู้สึกว่าเพื่อนผู้นี้พูดตรงกับความรู้สึกของดิฉันเสียเหลือเกิน ดิฉันจึงพูดกะเขาว่า “จริงซินะ ไม่ใช่เธอคนเดียวหรอกที่มีความรู้สึกอย่างนี้น่ะ ฉันเองก็นึกอย่างนี้มานานแล้วเหมือนกัน ก็ตอนเป็นเด็กเราจะรู้สึกว่าชีวิตนี้เป็นภาระอันหนักของเราได้อย่างไร เพราะผู้ที่รับภาระอันหนักนี้แทนเราก็ได้พ่อแม่ของเรานั่นเอง ชีวิตของเรากว่าจะเติบโตหาเลี้ยงตัวเองได้ รับผิดชอบในชีวิตของเราเองได้ ก็ได้สร้างความลำบาก ความเป็นภาระแก่พ่อแม่ของเรามากมายเหลือหลายเชียวละ ท่านได้ทำหน้าที่เสียสละเพื่อเราทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนเทวดาที่ทำหน้าที่อารักขาให้ความสุขสวัสดีแก่ชีวิต เหมือนพระพรหมที่ประสิทธิ์ประสาทคุณธรรม คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เพื่อความสุขความอบอุ่นแก่ชีวิตของลูกๆ เหมือนพระอรหันต์ ด้วยเหตุที่เป็นผู้ทรงคุณอันเลิศแก่ชีวิตของลูกอย่างยากที่จะหาใครเหมือน สรุปแล้วเพราะเรามีทั้งพ่อแม่นี่เองเป็นที่พึ่งของชีวิตในปฐมวัย ชีวิตของเราจึงรู้จักแต่ความเบา ความสุขสำราญ ด้วยความรักความเมตตาที่ท่านมีต่อเราโดยสม่ำเสมอ ท่านจึงเป็นที่พึ่งที่ไม่เคยสร้างความผิดหวัง ความช้ำใจให้แก่เราเลย” ท่านผู้ฟังคะ เมื่อพูดถึงคำว่า ที่พึ่ง ท่านผู้ฟังก็จะเห็นด้วยกับดิฉันนะคะ ว่า คำๆ นี้มีความหมาย มีความสำคัญอย่างมากมายแก่ชีวิต การที่เราต้องพากเพียรอดทนทุ่มเทสติปัญญาความสามารถทำมาหากินเลี้ยงชีพทุกวันนี้ วัตถุประสงค์อันสำคัญที่ต้องอุทิศเวลาส่วนมากของชีวิตเพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างนี้ ก็เพื่อต้องการสร้างที่พึ่งกับตัวเอง ใช่ไหมคะ เพราะชีวิตจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยส่วนประกอบอันเป็นที่พึ่งที่อาศัย เช่นต้องมีบ้านเรือน อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้จัดเป็นที่พึ่งที่อาศัยภายนอก ผู้ที่มีปัจจัย ๔ เหล่านี้พร้อมมูล ก็ย่อมชื่อว่าได้ที่พึ่งทางกายอันมีผลทำให้ได้รับความเบาใจประการหนึ่ง ชีวิตแม้จะมีที่พึงที่อาศัยทางกาย ในด้านของรูปวัตถุโดยพร้อมมูลแล้วก็ตาม ความจำเป็นที่จะได้ประโยชน์จากที่พึ่งทางอื่นก็ยังมีอยู่ เพราะความจริงนั้นปรากฏว่าชีวิตที่มีความสมบูรณ์พูนสุขในรูปวัตถุนั้น หาเป็นความสุขอันแท้จริงไม่ เพราะจิตใจของผู้ที่เพลิดเพลินยินดีในวัตถุนั้นไม่เป็นอิสระจากกิเลส ยังติดข้อง ยังมีความยินดียินร้ายในทรัพย์สมบัติที่ตนรัก และหวงแหน ทำให้เกิดความทุกข์กังวล เช่นเกรงว่าจะเกิดพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรักบ้าง เกรงว่าจะประสบกับสิ่งซึ่งไม่เป็นที่รักบ้าง จิตที่มีสภาพเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นจิตที่ขาดที่พึ่งทางใจ คนเรานั้นเมื่อมีความทุกข์ ความกังวลเกิดขึ้นในใจก็ย่อมจะดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ช่วยคลายความทุกข์ความกังวลนั้น การศึกษาหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พากเพียรปฏิบัติธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงไว้ตามกำลังความสามารถ เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่ทำให้บุคคลได้ชื่อว่า ได้พบที่พึ่งทางใจอันประเสริฐแล้ว ได้พบสิ่งที่จะช่วยขจัดปัญหาความทุกข์ความขัดข้องใจในชีวิต เรื่องของการสร้างบุญสร้างกุศลเพื่อเป็นที่พึ่งที่อาศัยให้ความอบอุ่นใจแก่ชีวิตนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงจำแนกไว้หลายประการตามความสามารถของบุคคลในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเราได้สนทนากันมาแล้วในครั้งก่อนๆ เราได้กล่าวถึงเรื่องทานการให้ว่า การสละทรัพย์วัตถุเพื่ออนุเคราะห์บุคคลอื่นนั้น นอกจากจะทำให้เกิดความสุขความแช่มชื่นใจแล้ว ก็ยังขจัดขัดเกลาความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์สมบัติของผู้ให้อีกด้วย บุญญกิริยาวัถตุอีกประการหนึ่งนั้นได้แก่ศีล ซึ่งเป็นการขจัดขัดเกลากิเลสทางกาย ทางวาจา เช่นศีล ๕ เป็นต้น ศีล ๕ เป็นธรรมที่วัดระดับจิตใจของบุคคลว่าเป็นผู้มีเมตตามากน้อยเพียงใด สำหรับบุญญกิริยาวัตถุที่เป็นศีลนั้นท่านจำแนกไว้เป็น ๓ ในการสนทนาของเราครั้งที่แล้ว เราได้กล่าวไปแล้วเพียงข้อเดียวจึงยังเหลือบุญญกิริยาวัถตุอีก ๒ ประการที่รวมอยู่ในหมวดของศีล ซึ่งดิฉันขอเรียนถามอาจารย์สุจินต์ว่าบุญญกิริยาวัตถุอีก ๒ ประการนั้นได้แก่อะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ได้แก่อปจายนะ การอ่อนน้อมต่อผู้ควรอ่อนน้อม ๑ และเวยยาวัจจะ การช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น ๑
คุณวันทนา ดิฉันเข้าใจว่าคงจะมีผู้ฟังไม่น้อยเลยนะคะ อาจารย์ที่ไม่ทราบว่าการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมนั้นก็เป็นกุศลอย่างหนึ่ง และก็เป็นกุศลที่มีโอกาสจะเจริญได้มากๆ เสียด้วยซิ เพราะว่าบุคคลที่ควรจะได้รับความนอบน้อมนั้นก็มีอยู่ตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ มีใครบ้างล่ะคะ
คุณวันทนา นับกันตั้งแต่ผู้ที่ใกล้ที่สุดเลยนะคะ อาจารย์ ที่อยู่ในบ้านเรานี่ก็มีมารดา บิดา พี่ชาย พี่สาว ต่อจากนั้นก็เป็นญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ แล้วก็สมณพราหมณ์ ผู้ที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ และผู้ที่ทรงคุณอันอุดมเลิศที่สุดยิ่งกว่าใครก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์สาวกค่ะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนารู้สึกว่าการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมน่ะ ง่ายหรือยากคะ
คุณวันทนา ถ้าเป็นผู้ที่ฝึกอบรมจนเป็นนิสัยแล้วคงไม่ยากค่ะ อาจารย์ แต่ถ้าไม่ได้ฝึกอบรมมาก่อนนี่ซิคะเห็นจะยากหน่อยละ และก็คงขึ้นอยู่กับโอกาสอีกนะคะ บางครั้งเขาอาจจะขี้เกียจ บางครั้งเขาอาจจะรู้สึกไม่อยากแสดงความนอบน้อม ก็เลยไม่แสดงความนอบน้อมต่อผู้ที่ควรนอบน้อมค่ะ
ท่านอาจารย์ กิเลสเป็นสภาพธรรมฝ่ายไม่ดีที่เกิดขึ้นกับจิต ทำให้จิตไม่ผ่องใส เพราะฉะนั้นการขจัดขัดเกลากิเลสก็ต้องเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่ทำให้จิตใจสะอาดผ่องใส บุญญกิริยาวัตถุที่เป็นอปจายนะ คือการอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อมนั้นเป็นสภาพจิตใจที่ดีงามเป็นกุศล ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มังคลวรรคที่ ๕ วันทนาสูตร ข้อ ๕๙๔ แสดงว่า การไหว้หรือการนอบน้อมนั้นมี ๓ อย่าง คือ ไหว้ทางกาย ๑ ไหว้ทางวาจา ๑ ไหว้ทางใจ ๑
คุณวันทนา อาจารย์คะ การไหว้ทางกายซึ่งเป็นการนอบน้อมนั้นก็ไม่น่าสงสัยค่ะ แต่การไหว้ทางวาจา และการไหว้ทางใจนี่ซิคะ เป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ การไหว้ทางวาจาก็เป็นการแสดงความอ่อนน้อมทางวาจานั้นเองค่ะ เช่นที่เรากล่าวคำนมัสการพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “นโม ตัสสะ ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” ซึ่งมีความหมายว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายความนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ก็เป็นการแสดงความนอบน้อมด้วยวาจา
คุณวันทนา ค่ะ แล้วการไหว้ทางวาจาหรือการแสดงความนอบน้อมทางวาจาต่อบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่พระรัตนตรัยจะมีได้ไหมคะ
ท่านอาจารย์ มีได้ค่ะ เพราะกิริยามรรยาทอ่อนโยนเรียบร้อย เป็นการแสดงความอ่อนน้อมทางกาย วาจาที่สุภาพเรียบร้อย มีน้ำใจไมตรีก็เป็นการแสดงความอ่อนน้อมทางวาจา
คุณวันทนา แหม อาจารย์คะ กาย และวาจานี้ก็แสดงให้รู้ถึงสภาพลักษณะของจิตใจได้เหมือนกันนะคะ ว่า จิตใจในขณะนั้นๆ เป็นอย่างไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ถ้าคนช่างสังเกตละก็ ถึงแม้ว่าในยามปกติเพียงแววตาหรือสีหน้า น้ำเสียงหรือหางเสียงนิดเดียวก็รู้ได้ค่ะว่า จิตใจในขณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะว่าเสียงที่พูดออกมาเป็นรูปที่เกิดจากจิต บรรดารูปทั้งหลายนั้นบางรูปเกิดจากกรรม บางรูปก็เกิดจากจิต บางรูปก็เกิดจากอุตุคือความเย็น ความร้อน บางรูปก็เกิดจากอาหาร ตามที่เราได้เคยพูดกันมาแล้ว
คุณวันทนา อาจารย์พูดนี่นะคะ ทำให้ดิฉันนึกขึ้นมาได้ บางครั้งดิฉันเคยสังเกตบางคนเวลาโกรธ แม้ว่าตัวเขาเองจะพยายามระงับการแสดงออกทางกายทางวาจา แต่ถ้าเราเป็นคนใกล้ชิด แล้วก็ช่างสังเกตเสียหน่อยก็จะจับได้ทีเดียวว่า น้ำเสียงของเขาเปลี่ยนไป มันสั้นๆ ห้วนๆ ไม่นุ่มนวล เหมือนอย่างเคย แล้วก็บางคนเวลาดีใจหรือสมหวังอะไรสักอย่างหนึ่ง บางทีเรายังไม่ทันเห็นตัวเขาเลยค่ะ เพียงแต่ได้ยินเสียงอุทานหรือเสียงตะโกนของเขามาแต่ไกลๆ ก็พอจะรู้ได้ทันทีว่าเขาดีใจที่สมหวังแล้ว หรือบางทีพอเห็นหน้าเขาไม่ทันต้องรอให้เขาเล่าให้เราฟังถึงความสุขความสมหวังของเขาหรอก เราก็อาจจะสังเกตได้จากสีหน้าแววตาของเขาที่ส่องให้เห็นความสุขความสมหวังที่ได้รับ แต่อาจารย์คะ สำหรับคนที่ไม่รู้ขนบธรรมเนียม กิริยามรรยาที่แสดงออกถึงความนอบน้อมในท้องถิ่นที่ต่างกัน และชาติที่มีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้น การแสดงความเคารพของคนชาติหนึ่งกับอีกชาติหนึ่งอาจจะไม่เหมือนกัน ฝ่ายหนึ่งอาจจะถือว่าทำอย่างนั้นสุภาพแล้ว แต่อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะคิดว่าไม่เหมาะ อย่างนี้แล้วจะเป็นยังไงคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ เรื่องการถือว่ามรรยาทอย่างไหนสุภาพ และมรรยาทอย่างไหนไม่สุภาพ ที่ต่างกันไปของแต่ละชาติแต่ละวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องของความคิดนึกที่ต่างกัน และได้รับการฝึกอบรมมาในทางที่ต่างกัน แต่ว่าเรื่องของความอ่อนน้อมนั้นเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าจิตใจอ่อนน้อมเป็นกุศลแล้วละก็ ไม่ว่าจะแสดงมรรยาทตามขนบธรรมเนียมหรือประเพณีของชาติไหนภาษาไหน ก็จะยังคงเห็นลักษณะที่แสดงความอ่อนน้อมในกิริยาอาการนั้นๆ ได้
คุณวันทนา อย่างเวลาที่ชาวธิเบตนมัสการพระรัตนตรัยด้วยความอ่อนน้อมตามแบบของเขา เขาไม่ได้เพียงแต่นมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์อย่างพวกเราเท่านั้น แต่ยังได้แสดงความนอบน้อมยิ่งไปกว่านั้นค่ะ ด้วยการทิ้งตัวราบลงไปที่พื้น และถ้าเป็นบริเวณกว้างๆ อย่างที่ลานพระศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา เขาก็จะทำอย่างนั้นจนรอบบริเวณเป็นการแสดงความสักการะอย่างสูง อาจารย์คะ ถ้าอย่างนั้นการแสดงความนอบน้อมด้วยใจก็คงจะสำคัญกว่าการแสดงทางกาย วาจานะคะ เพราะแต่ละชาติแต่ละภาษาก็ย่อมมีกิริยาอาการที่แสดงความนอบน้อมต่างกันไป
ท่านอาจารย์ ผู้ที่เห็นโทษของกิเลสย่อมไม่ละเว้นโอกาสที่จะขจัดขัดเกลากิเลสค่ะ ขณะใดที่รู้ว่าจิตใจที่หยาบกระด้าง ถือตัว เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่ขาดเมตตาในผู้อื่น ผู้อื่นก็ย่อมจะฝึกอบรมตนเองให้มีจิตใจอ่อนโยน และอ่อนน้อมเป็นนิสัย และย่อมแสดงความอ่อนน้อมทางกาย ทางวาจา ต่อบุคคล และสถานที่ตามความเหมาะสมค่ะ
คุณวันทนา อย่างเวลาคนแน่นมากๆ แทนที่จะกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ เราก็อาจเพียงแต่ยกมือไหว้ หรือเพียงแต่จะน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อย่างนี้ก็คงไม่เป็นไรนะคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาต้องไม่ลืมค่ะว่า กุศลหรืออกุศลนั้นอยู่ที่จิตใจ จิตใจเป็นกุศลมีความนอบน้อมต่อบุคคล และสถานที่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แสดงความอ่อนน้อมต่อบุคคล และสถานที่นั้นด้วยกาย วาจา เพราะบุคคลที่ควรได้รับการแสดงความนอบน้อมอยู่ไกลเกินกว่าที่เราจะเข้าไปแสดงความนอบน้อมได้ หรืออย่างในวัดที่มีคนแน่นมากๆ ไม่สามารถที่จะแสดงความนอบน้อมด้วยการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ที่คุณวันทนาพูดถึงเมื่อกี้นะคะ แต่ในขณะนั้นจิตใจก็ย่อมจะนอบน้อมต่อบุคคล และสถานที่ที่ควรนอบน้อมสักการะนั้นได้ด้วยไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ แต่ถ้าใครเพียงแต่นอบน้อมด้วยกาย ด้วยวาจา เป็นครั้งราว หรือว่าเป็นมรรยาทตามขนบธรรมเนียม แต่ว่าเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลหรือสถานที่ที่ควรสักการะด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยใจบ้าง ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่การนอบน้อมอย่างแท้จริงค่ะ เพราะว่าการไหว้นั้น ไหว้เพราะกลัวก็ได้ ไหว้เพราะอยากได้ลาภ อยากได้ทรัพย์สิ่งของก็ได้ หรือว่าไหว้เพราะเป็นญาติพี่น้องก็ได้ หรือว่าไหว้เพราะเป็นการทักทายตามธรรมเนียมของสังคมก็ได้ค่ะ
คุณวันทนา การไหว้เพราะกลัวคงไม่ใช่กุศลจิตแน่นะคะ อาจารย์ มีอยู่วันหนึ่งค่ะ ดิฉันเห็นคนแก่หง่อมคนหนึ่งยกมือไหว้ท่วมศีรษะ ปากก็ร้องอ้อนวอนตำรวจที่พยายามจะจับแกไปเพราะแกมานั่งขอทานอยู่ อย่างนี้ก็เป็นการไหว้เพราะกลัวนะคะ อาจารย์ หรือบางทีคนขัดสนยากไร้ต้องการวัตถุปัจจัยจากผู้อื่นก็อาจจะยกมือไหว้เพียงเพื่อให้ได้ทรัพย์สิ่งของที่ตนต้องการ นี่ก็ไหว้เพราะอยากได้ แล้วก็ยังมีไหว้เพราะเหตุอื่นๆ อีก ซึ่งก็อาจไม่ใช่การไหว้เพราะกุศลจิตก็ได้นะคะ
ท่านอาจารย์ ขณะที่จิตใจหยาบกระด้างนั้นนะคะ ย่อมไม่เป็นสุข และถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้แสดงความหยาบกระด้างทางกาย ทางวาจา แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนที่พบเห็นหรือคนที่อยู่ใกล้เคียงมีความสุขได้เลยค่ะ เพียงแค่นี้ก็พอจะเห็นได้ว่าคนที่มีจิตใจหยาบกระด้างนั้นขาดเมตตาต่อคนอื่น เพราะขณะที่จิตใจหยาบกระด้างนั้นจะคิดให้คนอื่นเป็นสุข หรือจะคิดช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่นให้พ้นทุกข์ก็ไม่ได้ และถ้าจิตหยาบกระด้างมาก ก็ย่อมจะมีกิริยาวาจาที่ไม่สุภาพอ่อนโยน ไม่มีน้ำใจไมตรี ทำให้คนที่ได้รับกระทบกับกาย วาจา อย่างนั้น เดือดร้อนเป็นทุกข์ และเศร้าหมองได้ สำหรับการทำทุจริตกรรมต่างๆ เช่นการทำร้ายชีวิต และร่างกายของคนอื่น การแย่งชิงทรัพย์สมบัติของคนอื่น ประพฤติผิดในบุตรภรรยาของคนอื่น และการกระทำอื่นๆ ที่เป็นทุจริตกรรม คุณวันทนาก็คงจะเห็นชัดว่าเป็นการเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนฉันใด แม้การกระทำ และคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากจิตใจที่หยาบกระด้างนั้น ก็ย่อมตัดรอนความสุขของคนอื่นได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น คนที่มีเมตตาต่อคนอื่น และฝึกอบรมตนให้มีความอ่อนน้อม ก็ย่อมเป็นผู้ขจัดขัดเกลาโทสะกิเลสซึ่งเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้างให้ลดน้อยลงด้วย เพราะฉะนั้นความอ่อนน้อมจึงเป็นกุศลที่รวมอยู่ในหมวดของศีล เพราะการเจริญกุศลที่เป็นศีลนั้นระงับ และขจัดขัดเกลากิเลสที่ทำให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีงามทางกายทางวาจา
คุณวันทนา อาจารย์คะ กุศลจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้นคงจะขจัดขัดเกลาอกุศลธรรมอื่นๆ ที่ทำให้จิตใจไม่ดีงามในลักษณะต่างๆ กันด้วย ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ อย่างความอ่อนน้อมนี่นะคะ นอกจากจะขจัดโทสะความหยาบกระด้างของจิตใจแล้ว ก็ยังขจัดมานะถือตัว และการสำคัญตนด้วย ในขุททกนิกาย เถรคาถา ฉักกนิบาต เชนตปุโรหิตปุตตเถรคาถา ข้อ ๓๕๕ ก็เป็นเรื่องของท่านผู้หนึ่งค่ะ ที่ทะนงตัวเพราะชาติ สกุล โภคสมบัติ อิสสริยยศ ทรวดทรง ผิวพรรณ และรูปร่าง ท่านผู้นี้ไม่เห็นว่าจะมีใครเสมอกับท่านหรือยิ่งกว่าท่านเลย ฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่มีจิตหยาบกระด้างถือตัว และไม่เอื้อเฟื้อแก่ใครเลยทั้งสิ้น ไม่กราบไหว้ใครแม้แต่มารดาบิดา พี่ชายหรือพี่สาว หรือแม้แต่สมณพราหมณ์ที่โลกสมมติกันว่าเป็นครูบาอาจารย์ แต่ก็เป็นบุญของท่านที่ได้สะสมมาในอดีตค่ะ ท่านจึงได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด และละทิ้งมานะ และความมัวเมา เกิดจิตใจผ่องใสถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติธรรมจนเกิดปัญญาดับกิเลสมานะได้หมดสิ้น
คุณวันทนา ถ้าท่านผู้นั้นจะมีชีวิตอยู่ในสมัยนี้ ก็คงจะแย่หน่อยละค่ะ เพราะคงจะไม่มีผู้ใดที่จะทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใส ศรัทธาจนถึงกับไหว้ และลดความมานะของตนลงเสียได้ และในสมัยนี้จะมีใครมีมานะจัดเหมือนท่านผู้นั้นหรือเปล่า ก็ไม่ทราบนะคะ
ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็ยังคงมีมานะอยู่ด้วยค่ะ มานะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง บางคนก็มีกิเลสประเภทหนึ่งมากประเภทอื่นน้อย และกิเลสก็มีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ถ้าไม่ศึกษา และพิจารณาจิตใจให้ละเอียด ก็จะไม่รู้สภาพของกิเลสแต่ละชนิดที่มีอยู่ในจิตใจได้เลย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่พระองค์ก็ได้ทรงแสดงพระธรรมคำสอนไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์ ผู้ที่ถวายความนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวก ศึกษา และปฏิบัติธรรมด้วยความนอบน้อม ผู้นั้นย่อมจะขจัดขัดเกลากิเลสให้หมดสิ้นได้เป็นลำดับ
คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ วันนี้เราได้พูดกันถึงเรื่องอปจายนะ คือความอ่อนน้อมซึ่งเป็นบุญญกิริยาวัตถุประการหนึ่งในหมวดของศีล เพราะเป็นการขจัดขัดเกลากาย วาจา ที่ไม่ดีงาม ท่านผู้ฟังคงไม่ลืมนะคะ ว่า การขจัดขัดเกลากิเลสให้เบาบางลงนั้นควรจะได้กระทำทุกโอกาสที่สามารถจะกระทำได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นโอกาสของการสะสมธรรมฝ่ายอกุศล และการเจริญกุศลนั้นก็มีหลายประการ แม้ไม่มีปัจจัยคือทรัพย์วัตถุสิ่งของ จิตก็ย่อมเป็นกุศลได้ วันนี้เวลาแห่งการสนทนาของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในวันหน้า สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔