บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๒๒

    บุญญกิริยาวัตถุหมวดที่ ๓ : ภาวนา


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังเคยมีความรู้สึกไหมคะว่า ความพอใจ ความปรารถนา ความต้องการของท่านมีอยู่ในสิ่งใด ก็สิ่งนั้นแหละสิ่งที่เคยนำความสุข ความพอใจ มาให้แก่ท่านนั้นจะเป็นสิ่งที่นำความทุกข์โทมนัสมาให้ท่าน เมื่อถึงคราวที่จะต้องเปลี่ยนแปลง วิบัติ และเสื่อมสลาย ดังพุทธภาษิตบทหนึ่งที่ว่า “ทุกข์ โศก และภัย ย่อมเกิดจากความรัก ปราศจากเสียซึ่งความรัก ทุกข์ โศก และภัยจะมีมาแต่ที่ใดเล่า” แสดงว่า ความรัก ความพอใจ มีอยู่ในสิ่งใด ก็ย่อมมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ปรารถนาความสุข ความเที่ยงแท้ แน่นอนในสิ่งนั้น ความยึดมั่นถือมั่นนี่เองที่เป็นภัยที่บั่นทอนชีวิตประการหนึ่ง เพราะเมื่อมีความยึดมั่นก็ย่อมมีความกลัว ตราบใดที่ชีวิตนี้ยังเป็นที่รัก ตราบนั้นความรู้สึกกลัวภัยที่จะเกิดแก่ชีวิตของปุถุชนก็จะไม่มีวันหายไปได้เลย ผู้รักชีวิตย่อมกลัวภัยคือความยากจน ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา เป็นทุกข์ พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประดุจธรรมโอสถที่รักษาโรคใจ แม้กระทั่งโรคกลัวภัยต่างๆ ได้โดยเด็ดขาด พระองค์ทรงแสดงกฎของกรรมว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ซึ่งถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติตามก็เป็นที่แน่นอนว่าจะไม่เดือดร้อนใจเลยว่า ทำดีแล้วจะไม่ได้ดีเลย แต่ตรงกันข้าม เหตุที่คนส่วนมากต้องเดือดร้อนใจกันทุกวันนี้ก็เพราะตนไม่กระทำความดี และปรารถนาจะได้ดีต่างหาก หรือตนได้กระทำชั่วแล้วไม่ปรารถนาให้ผลแห่งกรรมชั่วนั้นปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้จิตของผู้นั้นจึงต้องเดือดร้อนเพราะความชั่วของตน ในเรื่องของกรรมคือการกระทำนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้เราดำรงชีวิตอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ คือเลี้ยงชีพชอบเพื่อขจัดภัยคือความกลัวอันเป็นผลเกิดจากการเลี้ยงชีพไม่ชอบ และพระองค์ทรงสอนให้เราเจริญกุศลกรรมทุกประการตามความสามารถ และอัธยาศัยของบุคคลด้วย สำหรับการสนทนาของเราวันนี้ ก็จะพูดกันถึงเรื่องบุญญกิริยาวัตถุข้อภาวนา อาจารย์คะ ก่อนอื่นอาจารย์จะให้ความหมายของการอบรมเจริญภาวนาที่เป็นบุญญกิริยาเสียก่อนได้ไหมคะ เพราะว่าภาษาไทยเรานี่นะคะ ก็บอกว่าภาวนาขอให้ฝนตกเวลาที่ฝนแล้งหรือว่าถ้าฝนตกก็ภาวนาขอให้ฝนหายเสียเร็วๆ เถอะ อย่างนี้จะเป็นภาวนาที่เป็นบุญญกิริยาวัตถุหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ ที่ภาวนาขอให้ฝนตกหรือขอให้ฝนหายนั้นไม่ใช่เป็นการภาวนาที่เป็นบุญญกิริยาวัตถุ เพราะเหตุว่าบุญญกิริยาวัตถุทั้งหมดเป็นการขจัดขัดเกลากิเลสให้เบาบางจากจิตใจเป็นขั้นๆ คือตั้งแต่ขั้นสละความติดข้องในวัตถุสิ่งของ ทรัพย์สมบัติด้วยการบริจาคให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่นเป็นทานกุศล และขั้นศีลซึ่งเป็นการขจัดขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ ที่เป็นเหตุให้เกิดกายทุจริต วจีทุจริต เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วยกายวาจาที่ไม่ดีงาม และขั้นสมถภาวนาซึ่งเป็นการอบรมเจริญความสงบกิเลสอย่างกลางไม่ให้เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว และขั้นวิปัสสนาภาวนาซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาละกิเลสอย่างละเอียดให้ดับหมดสิ้นไปเป็นประเภทๆ ตามระดับของปัญญาแต่ละขั้น

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นการอบรมเจริญภาวนาก็เป็นการขจัดขัดเกลากิเลสยิ่งไปกว่าขั้นทาน ขั้นศีล ซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าในขณะที่ตระเตรียมที่จะบำเพ็ญทานนั้น อกุศลจิตก็ย่อมจะเกิดแทรกได้ คุณวันทนาลองคิดดูซิคะว่า เป็นไปได้ไหม

    คุณวันทนา เป็นไปได้ค่ะอาจารย์ อย่างเวลาเราเตรียมเข้าของจะทำบุญใส่บาตร บางทีเราก็อาจจะหาอาหารผลไม้มาไม่ได้สมที่ตั้งใจไว้ หรือบางทีขณะที่ไปจ่ายของนะคะ มันหลายอย่างด้วยกัน เกิดอาการหลงๆ ลืมๆ ได้กลับมาบ้านไม่ครบอย่าง เมื่อเป็นอย่างนี้พอมาถึงบ้านใจของเราก็มีโทสะ คือความไม่พอใจเข้ามาแทรก ฉะนั้นในขณะที่ทำบุญให้ทาน ก็ไม่ใช่ว่ากุศลจิตจะเกิดได้ตลอดเวลา บางทีถ้าหากว่ารู้ไม่เท่าทัน อกุศลอย่างโทสะเสียอีกจะเกิดนานกว่ากุศลด้วยซ้ำไป แล้วเรื่องศีลล่ะคะอาจารย์ การเจริญภาวนาขจัดขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าขั้นศีลนั้นน่ะเป็นอย่างไรคะ เพราะว่าเท่าที่เคยสนทนากันมาแล้ว ศีลนั้นนอกจากจะละเว้นการกระทำทุจริตทางกาย ทางวาจาแล้ว ก็ยังสามารถละกาย วาจา ที่ไม่ดีด้วยการอ่อนน้อมซึ่งเป็นการขัดเกลามานะ การถือตน และยังทำให้มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งเป็นการขจัดขัดเกลากิเลสความเห็นแก่ตัวอยู่มากทีเดียวแหละค่ะ

    ท่านอาจารย์ เวลาคุณวันทนาชนะใครแล้วดีใจไหมคะ

    คุณวันทนา ดีใจซิคะ ถ้าลำพังตัวเองชนะ ก็ดีใจคนเดียวหรือว่าถ้าพวกพ้องของเราชนะ อย่างเวลาแข่งขันกีฬา เราก็ยิ่งจะดีใจใหญ่ และก็มีหลายคนมาช่วยกันดีใจด้วย

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ชนะแล้วก็ดีใจนั่น มีความสำคัญตนว่าเราชนะ ในขณะนั้น ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ เพราะขณะนั้นสำคัญว่า เราชนะ จริงๆ เลย

    ท่านอาจารย์ ความสำคัญตนว่าเราชนะนั่นก็เป็นมานะนะคะ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีการอ่อนน้อมต่อบุคคล และสถานที่ที่ควรนอบน้อมสักการะ ซึ่งเป็นการขัดเกลามานะอย่างหยาบๆ ที่ทำให้ยกตัวเอง และข่มคนอื่นด้วยกาย วาจา แล้วก็จริงนะคะ แต่ว่ามานะในเรื่องอื่น และไม่แรงเท่ากับการยกตน และข่มคนอื่นด้วยกาย วาจา ก็ยังมีได้ อย่างเวลาที่ดีใจว่าชนะ เป็นต้น เพราะฉะนั้นศีลก็เป็นการขจัดขัดเกลากิเลสหยาบ สมถภาวนาก็เป็นการระงับกิเลสอย่างกลาง และวิปัสสนาภาวนาก็ละกิเลสอย่างละเอียด

    คุณวันทนา อาจารย์คะ บุญญกิริยาวัตถุในประเภทของภาวนานั้น ก็หมายรวมทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาก็เหมือนกันในขอที่เป็นบุญญกิริยาประเภทภาวนา แต่ต่างกันที่ว่าอย่างหนึ่งเป็นสมถภาวนา และอีกอย่างหนึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา อาจารย์จะกรุณาอธิบายในข้อที่ทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาเป็นบุญญกิริยาประเภทภาวนาก่อนได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ การที่สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาเป็นบุญญกิริยาประเภทภาวนานั้น ก็เพราะเหตุว่าเป็นกุศลที่ขจัดขัดเกลาอกุศลธรรมที่ไม่เป็นไปทางกาย วาจา อย่างเวลาที่ดีใจสำคัญตนเองว่าชนะคนอื่นเป็นอกุศล หรือเวลาจิตใจไม่แช่มชื่น แม้ว่าจะเพียงนิดเดียวเท่านั้น ยังไม่ปรากฏให้ใครรู้แต่ก็เป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่เห็นโทษของกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย ซึ่งถ้าแม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดทุจริตทางกาย ทางวาจา แต่ก็ทำให้จิตใจไม่สะอาด ไม่ผ่องใสไม่บริสุทธิ์ ซึ่งอบรมเจริญภาวนาเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสอกุศลธรรมทั้งหลายให้เบาบาง และดับหมดสิ้นไป

    คุณวันทนา คำว่า ภาวนา ในภาษาไทยนี่นะคะ อาจารย์ จะมีอะไรเกี่ยวข้องหรือสืบเนื่องมาจากความหมายเดิมในทางศาสนาบ้างไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ก็มีบ้างค่ะ เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญภาวนาที่เป็นบุญญกิริยานั้น จะต้องระลึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตใจเป็นกุศลอยู่เรื่อยๆ เนืองๆ บ่อยๆ จนกระทั่งบรรลุผลของการเจริญภาวนาแต่ละประเภท และภาษาไทยก็ใช้คำว่า ภาวนา ในขณะที่จิตจดจ่อระลึกถึงผลที่ปรารถนาติดต่อกันหลายๆ ครั้ง

    คุณวันทนา อาจารย์คะ ที่อาจารย์ว่าการอบรมเจริญภาวนาที่เป็นบุญญกิริยานั้น จะต้องระลึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตใจเป็นกุศลอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งบรรลุผลของการเจริญภาวนาแต่ละประเภท แล้วสำหรับ บุญญกิริยาที่เป็นภาวนานั้นมี ๒ อย่างคือ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ถ้าอย่างนั้นผลของการเจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาก็ต้องต่างกันซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ต่างกันค่ะ เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญสมถภาวนาให้จิตสงบมั่นคงนั้น จะต้องระลึกถึงแต่สิ่งที่ทำให้จิตเป็นกุศลสงบแน่วแน่มั่นคงมากขึ้นจนเป็นสมาธิแต่ละขั้น

    คุณวันทนา อย่างที่เรียกกันว่าฌานหรือฌานจิต ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ฌานหรือฌานจิตนั้นก็คือจิตที่เป็นกุศลสงบมั่นคง เป็นสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิ คือสงบมั่นคงแน่วแน่แนบแน่นที่อารมณ์เดียวทางใจ ไม่รับรู้อารมณ์อื่นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เลย

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นสมาธิขั้นอื่นๆ เช่น สมาธิที่บริกรรมคาถารักษาโรคต่างๆ หรือขณะที่ทำสมาธิเห็นว่าอะไรอยู่ที่ไหน อย่างเห็นพระพุทธรูปฝังอยู่ใต้ดิน หรือพวกหมอดูที่รู้ว่าของที่หายไปอยู่ที่ไหน อย่างนี้ก็ไม่ใช่ฌานจิตซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ สมาธิพวกนั้นเป็นสมาธิขั้นต้นๆ ไม่ใช่การอบรมเจริญสมถภาวนาที่เป็นบุญญกิริยา เพราะฉะนั้นก็ไม่ถึงสมาธิขั้นฌาน

    คุณวันทนา เพียงแต่จะทำให้จิตใจสงบ ไม่คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้เพียงชั่วประเดี๋ยวหนึ่ง ก็ยากมากแล้วนะคะ การอบรมเจริญภาวนาจนกระทั่งจิตเป็นกุศลสงบเป็นสมาธิถึงขั้นฌานคงจะยากกว่าอย่างนั้นมากทีเดียวค่ะ

    ท่านอาจารย์ การที่จะอบรมเจริญภาวนาให้จิตเป็นกุศลสงบจนกระทั่งถึงขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นขั้นฌานนั้นต้องอาศัยการศึกษาให้เข้าใจเรื่องของสมถภาวนาอย่างละเอียดทีเดียว ต้องรู้ว่าจะระลึกถึงอะไรด้วยอาการอย่างไรจิตจึงเป็นกุศล สงบเป็นสมาธิแต่ละขั้นได้ แล้วก็ต้องรู้ด้วยว่าบุคคลประเภทไหนจะเจริญกุศลจิตให้สงบได้ถึงขั้นไหน ซึ่งก็เป็นเรื่องละเอียดมากเชียวค่ะ คุณวันทนาอยากจะเจริญสมถภาวนาให้ถึงขั้นฌานไหมคะ

    คุณวันทนา แหม ถ้าเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาละเอียดมากๆ และฌานก็สามารถระงับกิเลสได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ดิฉันก็อยากจะเจริญวิปัสสนาภาวนามากกว่าค่ะอาจารย์ เพราะว่าวิปัสสนาภาวนาละกิเลสให้ขาดเป็นสมุจเฉทไม่เกิดขึ้นอีกเลย

    ท่านอาจารย์ แต่ถึงอย่างไรเราก็ควรพูดถึงเรื่องสมถภาวนาบ้างนะคะ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจเรื่องการระงับกิเลสขั้นความสงบว่าต่างกับการขจัดกิเลสขั้นศีลอย่างไรบ้าง

    คุณวันทนา ถ้าหากว่าจะไม่มุ่งให้จิตสงบถึงขั้นสมาธิเป็นลำดับ เพียงแต่ว่าจะระงับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นโดยการระลึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบผ่องใสบ่อยๆ เป็นประจำทุกๆ วัน จนเป็นนิสัยอย่างนี้จะถือว่าเป็นการอบรมเจริญความสงบได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ได้แน่ค่ะ เพราะการระลึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบเป็นกุศลบ่อยๆ นั้นเป็นการระงับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้น แต่ว่าจะสงบได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็แล้วแต่สติ และปัญญาคือความรู้สึกตัวพร้อมกับการรู้ลักษณะของความสงบซึ่งเป็นกุศลที่ต่างกับขณะที่เป็นอกุศล และรู้หนทางคือการอบรมเจริญเหตุที่จะให้สงบได้ยิ่งขึ้นด้วย

    คุณวันทนา สิ่งที่ระลึกถึงแล้วจิตใจสงบเป็นกุศลนั้นคงจะไม่ใช่อะไรก็ได้นะคะ เพราะว่าบางอย่างคิดแล้วก็ทำให้เพลิดเพลินพอใจจึงไม่สงบแน่ เพราะคิดแล้วก็เดือดร้อนอยากได้ ต้องดิ้นรนขวนขวายไปเอามาให้ได้ อย่างเวลาที่เราอยากได้อะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วก็เอาไปคิด คิดไปคิดมาก็ตัดสินใจว่า ไปซื้อมาเถอะน่า ผ้าสวยๆ ชิ้นนั้นน่ะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่คิดแล้วจิตใจสงบเป็นกุศลนั้นมีอะไรบ้างคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ สำหรับการเจริญสมถภาวนานั้น อารมณ์ที่เมื่อจิตระลึกถึงอยู่เสมอแล้วย่อมสงบขึ้นจนมั่นคงเป็นสมาธิได้นั้น มีอยู่ ๔๐ อย่างค่ะ เรียกว่า สมถกรรมฐาน ๔๐ และในสมถกรรมฐาน ๔๐ ก็ยังแยกว่าอารมณ์ไหนทำให้เกิดสมาธิได้ขั้นไหน เพราะว่าบางอารมณ์ก็ทำให้เกิดสมาธิได้เพียงขั้นอุปจารสมาธิคือสมาธิที่ใกล้ฌานเท่านั้น ไม่ถึงขึ้นอัปปนามสมาธิ คือไม่ถึงขั้นฌาน และบางอารมณ์ก็ทำให้เกิดอัปปนาสมาธิขั้นฌานได้เพียงขั้นปฐมฌานซึ่งเป็นฌานที่หนึ่งเท่านั้น บางอารมณ์ก็ทำให้เกิดฌานได้ตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงจตุตถฌานซึ่งเป็นฌานที่ ๔ เท่านั้น และบางอารมณ์ก็ทำให้เกิดฌานได้เฉพาะปัญจมฌานคือฌานที่ ๕ ฌานเดียวเท่านั้น และบางอารมณ์ก็ทำให้เกิดฌานได้ตั้งแต่ฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๕ คือตั้งแต่ปฐมฌานจนถึงปัญจมฌาน และถึงแม้ในอารมณ์ที่เมื่อจิตระลึกถึงแล้วสงบเป็นกุศลจนเป็นสมาธิขั้นอุปจารสมาธิได้ แต่ไม่ถึงขั้นฌานนั้น ก็ยังจำแนกอีกด้วยว่า อารมณ์ใดสำหรับบุคคลพวกไหนบ้าง

    คุณวันทนา แหม อาจารย์คะ อารมณ์ที่จิตระลึกถึงแล้วเป็นกุศลสงบเป็นสมาธิได้นี้เป็นเรื่องที่ละเอียดเหลือเกินนะคะ และก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ และปฏิบัติอบรมกันจริงๆ จึงจะบรรลุความสงบที่มั่นคงเป็นสมาธิได้แต่ละขั้นโดยไม่ผิดพลาด สำหรับในชีวิตประจำวันอาจารย์คิดว่าเราควรจะระลึกถึงอะไรบ้างในอารมณ์กรรมฐาน ๔๐ ที่จะเป็นการระงับกิเลสด้วยการอบรมจิตใจให้สงบซึ่งเป็นการเจริญกุศลอีกขั้นหนึ่งนอกไปจากขั้นทาน และขั้นศีล

    ท่านอาจารย์ ตามประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานนะคะ อารมณ์สมถภาวนาที่พระภิกษุท่านพิจารณาอยู่เสมอเพื่อให้จิตสงบจากกิเลสที่จะเกิดขึ้นรบกวนจิตใจได้นั้น ก็มีอยู่ ๔ อย่างค่ะ ซึ่งฆราวาสก็ปฏิบัติได้เช่นเดียวกัน เพราะว่าศีลข้อใด ธรรมข้อใด ที่พระภิกษุท่านประพฤติปฏิบัตินั้น เมื่อฆราวาสพิจารณาเห็นควรที่จะประพฤติปฏิบัติตามเพื่อขจัดกิเลสให้ระงับลง ก็ย่อมประพฤติปฏิบัติตามได้

    คุณวันทนา อารมณ์สมถภาวนา ๔ อย่างนั้น ได้แกอะไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ได้แก่การระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ การเจริญเมตตา ๑ การพิจารณาความเป็นอสุภ คือความไม่งาม ๑ และการระลึกถึงความตาย ๑

    คุณวันทนา อย่างเวลาที่เราสวดมนต์ก่อนนอน สรรเสริญพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “อรหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจรณสัมปันโน สุคโต โลกวิทู อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ สัตถา เทวมนุสสานัง พุทโธ ภความ” อย่างนี้ ก็เป็นการเจริญภาวนาทำให้จิตสงบได้หรือคะ

    ท่านอาจารย์ ที่เราสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน โดยทั่วไปก็เป็นการถวายความนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นก็เป็นบุญญกิริยาวัตถุที่เป็นขั้นศีล เพราะว่าเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา แต่ว่าถ้าจะให้จิตเป็นกุศลสงบเป็นขั้นสมถภาวนานั้น จะต้องระลึกถึงพระคุณของพระองค์ด้วย ไม่เพียงแต่กล่าวคำสวดมนต์จบเท่านั้น

    คุณวันทนา จะระลึกในพระคุณของพระองค์ได้อย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ระลึกในพระปัญญาคุณที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ในพระบริสุทธิคุณที่ทรงหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง และในพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงพระธรรมอนุเคราะห์สัตวโลกโดยประการต่างๆ ขณะที่ระลึกถึงพระคุณของพระองค์นั้น จิตก็เป็นกุศล สงบระงับจากกิเลสเพราะไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นๆ ที่จะทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้ จิตที่ระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นย่อมเป็นจิตที่ผ่องใส และย่อมจะน้อมไปในทางที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว จิตที่ผ่องใสน้อมไปในการที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ย่อมเป็นจิตใจที่อ่อนโยน ไม่คิดเบียดเบียนให้ผู้ใดเดือดร้อน เป็นจิตใจที่มีเมตตา มีความหวังดี มีความต้องการให้คนอื่นเป็นสุขทุกๆ คน เมื่อมีความเมตตา และมีความหวังดีต่อคนอื่นๆ เป็นประจำอยู่ในใจแล้ว ก็ยังจะต้องระวังจิตไม่ให้เพลิดเพลินไปในอารมณ์ที่น่าพอใจด้วยการพิจารณาในความเป็นอสุภของตัวเอง และของคนอื่นด้วย ซึ่งถ้าไม่พิจารณาแล้วก็อาจจะหลงพอใจได้ และการที่จะยังยั้งจิตใจไม่ให้พะวงถึงอารมณ์ที่น่ายินดีที่น่าพอใจได้นั้น ก็จะต้องระลึกถึงความตายที่จะต้องมาถึงอย่างแน่นอน ซึ่งก็ไม่มีใครรู้เลยว่าจะเป็นขณะไหน ช้าหรือเร็ว ถ้าระลึกถึงความตายอยู่เสมอๆ ก็จะทำให้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลในทุกๆ ทาง เพราะว่าการได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นโอกาสที่สามารถจะเจริญกุศลได้ทุกๆ ทาง

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ จากการสนทนาของเราวันนี้ ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นทางที่จะเจริญกุศลได้ยิ่งขึ้นกว่าขั้นทาน และขั้นศีลแล้ว่า ขณะใดที่จิตไม่คิดนึกในสิ่งที่ดีงาม จิตย่อมเป็นอกุศล ในชีวิตประจำวันย่อมเป็นการยากที่จะอบรมเจริญกุศลจิตให้สงบเป็นสมาธิถึงขึ้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นขั้นฌานจิตได้ แต่ถึงอย่างนั้นท่านก็ยังมีทางที่จะระงับจิตไม่ให้ตรึกไปในสิ่งที่จะทำให้เกิดอกุศลด้วยการอบรมเจริญการระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตผ่องใส ซึ่งเป็นการไม่ประมาทในการเจริญกุศล นั่นก็คือ ระลึกถึงพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญเมตตา พิจารณาความเป็นอสุภ และระลึกถึงความตาย ท่านผู้ฟังที่เห็นโทษของกิเลสแต่ละขั้น และพากเพียรที่จะเจริญกุศลเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสแต่ละขั้น ก็คงจะได้พิจารณาเรื่องที่เราได้สนทนากันในวันนี้ และคงจะได้ประโยชน์แก่ท่านตามสมควร สำหรับวันนี้เวลาแห่งการสนทนาธรรมของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในคราวหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ