บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
ครั้งที่ ๒๗
เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมเสื่อม
พุทธบริษัทควรพร้อมเพรียงกันศึกษาและเผยแพร่พระธรรม
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านที่ได้รับฟังการสนทนาของเรามาโดยตลอดคงจะจำได้นะคะ เราได้สนทนากันถึงเรื่องบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่ละประการ จนถึงเรื่องของการฟังธรรม และการแสดงธรรม ในครั้งที่แล้วในเรื่องของการแสดงธรรมนั้น อาจารย์ได้กล่าวถึงท่านจิตตคฤหบดี ผู้เป็นอุบาสกที่เป็นเอตทัคคะ คือเป็นเลิศในทางธรรมกถึก ท่านอุบาสกผู้นี้ได้กล่าวธรรม และอุปมาแก่พระภิกษุเถระ ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะแปลกใจว่า แม้พระภิกษุเหล่านั้นท่านเป็นพระเถระแล้ว ท่านก็ยังอนุโมทนาในธรรม และอุปมาที่อุบาสกแสดง นี่ก็แสดงให้เห็นความพร้อมเพรียง ความอุปการะกัน ทั้งอามิสปฏิสันถาร และธรรมปฏิสันถารของพุทธบริษัทในครั้งนั้น ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพในธรรมของพุทธบริษัทผู้ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน ซึ่งชวนให้ดิฉันสนใจใคร่จะทราบต่อไปว่า ในข้อนี้พระองค์ตรัสสอนไว้อย่างไรหรือเปล่าคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสสอนไว้มากเชียวค่ะ ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต เสขปริหานิยวรรคที่ ๔ กิมมิลสูตรข้อ ๓๑๑ เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เวฬุวัน ใกล้พระนครกิมมิลา ครั้งนั้นท่านพระกิมมิละได้เข้าไปเฝ้า และได้ทราบทูลถามถึงเหตุที่พระสัทธรรมจะไม่ดำรงอยู่นาน เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว
คุณวันทนา แล้วพระองค์ตรัสไว้ว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในปฏิสันถาร เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมไม่ดำรงอยู่นาน
คุณวันทนา ความไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในความไม่ประมาท ในปฏิสันถาร ได้แก่อะไรคะ
ท่านอาจารย์ ความไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระศาสดานั้น ก็ได้แก่การไม่ศึกษา ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมที่พระองค์ตรัสสอน เพราะว่าการบูชาพระผู้มีพระภาคนั้นมี ๒ อย่าง คือ อามิสบูชา ๑ ปฏิบัติบูชา ๑ ถ้าเพียงแต่จะบูชาพระองค์ด้วยอามิสคือเครื่องสักการะ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามที่พระองค์ตรัสสอน ก็ไม่ชื่อว่าเป็นการบูชาหรือยำเกรงในพระองค์อย่างแท้จริง
คุณวันทนา แล้วการไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระธรรม ได้แก่อะไรคะ
ท่านอาจารย์ การไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระธรรมนั้น ก็ได้แก่การศึกษาพระธรรมด้วยความประมาทค่ะ ไม่เคารพไม่ยำเกรงว่าจะทำให้พระธรรมคลาดเคลื่อน ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้พระธรรมลบเลือน และเสื่อมสูญได้
คุณวันทนา การไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระสงฆ์ล่ะคะ คืออะไร
ท่านอาจารย์ การไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระสงฆ์ หมายถึงการไม่เคารพไม่ยำเกรงในพระอริยสงฆ์ คือผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำกิจของสงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติ
คุณวันทนา การไม่เคารพไม่ยำเกรงในสิกขาล่ะคะ หมายความถึงอะไร
ท่านอาจารย์ คำว่า “สิกขา” ในพุทธศาสนานั้น ไม่ได้หมายความเพียงการศึกษา การฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งเป็นเพียงขั้นปริยัติเท่านั้น แต่หมายถึงการศึกษาด้วยการประพฤติปฏิบัติทั้งในขั้นศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสด้วย เพราะฉะนั้นการไม่เคารพไม่ยำเกรงในสิกขานั้น ก็หมายถึงการไม่ประพฤติปฏิบัติศีลสิกขา สมาธิคือจิตตสิกขา และปัญญาสิกขาให้ถูกต้อง เพื่อให้บรรลุผลตรงตามคำสอนของพระองค์นั่นเองค่ะ
คุณวันทนา และความไม่เคารพไม่ยำเกรงในความไม่ประมาทล่ะคะ ได้แก่อะไร
ท่านอาจารย์ ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ก็ได้แก่ความประมาทนั่นเองค่ะ เพราะว่าความประมาทย่อมทำให้ผลัดวันเวลา ทำให้ไม่ขวนขวายในการเจริญกุศล ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม และถ้าพุทธบริษัททุกๆ ท่านเป็นอย่างนี้นะคะ พระสัทธรรมก็เสื่อมสูญแน่ค่ะ
คุณวันทนา การไม่เคารพไม่ยำเกรงในการปฏิสันถาร ได้แก่อะไรคะ
ท่านอาจารย์ การไม่เคารพไม่ยำเกรงในปฏิสันถาร ได้แก่การไม่ต้อนรับเชื้อเชิญ ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในระหว่างพุทธบริษัท ทั้งในอามิสปฏิสันถาร คือวัตถุสิ่งของที่ทำให้สะดวกสบายกายใจ และในธรรมปฏิสันถาร คือการต้อนรับเชื้อเชิญ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในธรรม ซึ่งก็ย่อมจะทำให้ผู้รับรู้สึกสะดวกสบายใจยิ่งกว่าอามิสปฏิสันถาร เพราะว่าเวลาที่ใครได้รับฟังพระธรรมแล้ว ก็ย่อมจะหมดความสงสัยความข้องในใจธรรม ซึ่งก็เป็นการปลดเปลื้องความทุกข์ ที่มีมูลฐานมาจากความไม่เข้าใจธรรมให้หมดสิ้นไป
ท่านอาจารย์ ก็แสดงว่า ทั้งในการให้ ในการได้ และในการมีชีวิตอยู่ ธรรมนี้เป็นเลิศกว่าสิ่งใด
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ตติยปัณณาสก์ ข้อ ๓๘๖ - ๔๐๗ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงว่าในความเป็นเลิศทั้งหลายนั้น ธรรมเป็นเลิศเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น
คุณวันทนา อาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังได้ทราบบ้างพอสมควร ได้ไหมคะ
ท่านอาจารย์ เลือกแต่ข้อที่เข้าใจได้ง่ายๆ ดีไหมคะ จะได้ไม่ต้องอธิบาย อย่างข้อ ๓๘๖ ที่ว่า ทาน ๒ อย่าง อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑ บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทานเป็นเลิศ
ข้อ ๓๙๐ การบริโภค ๒ อย่าง คือการบริโภคอามิส ๑ การบริโภคธรรม ๑ การบริโภคธรรมเป็นเลิศ
ข้อ ๓๙๒ การจำแนก ๒ อย่าง คือการจำแนกอามิส ๑ การจำแนกธรรม ๑ การจำแนกธรรมเป็นเลิศ
ข้อ ๓๙๓ การสงเคราะห์ ๒ อย่าง คือการสงเคราะห์ด้วยอามิส การสงเคราะห์ด้วยธรรม ๑ การสงเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ
ข้อ ๔๐๓ ความสำเร็จ ๒ อย่าง ความสำเร็จคืออามิส ๑ ความสำเร็จคือธรรม ๑ ความสำเร็จคือธรรมเป็นเลิศ
ข้อ ๔๐๔ ความเจริญ ๒ อย่าง ความเจริญด้วยอามิส ๑ ความเจริญด้วยธรรม ๑ ความเจริญด้วยธรรมเป็นเลิศ
ข้อ ๔๐๕ รัตนะ ๒ อย่าง รัตนะคืออามิส ๑ รัตนะคือธรรม ๑ รัตนะคือธรรมเป็นเลิศ
ข้อ ๔๐๖ ความสะสม ๒ อย่าง คือ ความสะสมอามิส ๑ ความสะสมธรรม ๑ ความสะสมธรรมเป็นเลิศ
พอแล้วนะคะ
คุณวันทนา ท่านคงยกตัวอย่างให้เห็นละเอียดหมดทุกประการเลยนะคะ
ท่านอาจารย์ สำหรับเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมเสื่อม ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ กิมพิลวรรคที่ ๑ กิมพิลสูตร ข้อ ๒๐๑ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงแก่ท่านพระกิมพิละไว้อีกนัยหนึ่งด้วยค่ะ
คุณวันทนา พระองค์ทรางแสดงไว้เหมือนกันหรือต่างกันคะ
ท่านอาจารย์ เหมือนกันเป็นส่วนมากค่ะ คือพระองค์ทรงแสดงว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว เหตุที่ทำให้พระสัทธรรมเสื่อมนั้นก็คือ พวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในพระศาสดา
เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในพระธรรม
เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในสิกขา
เป็นผู้ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในกัน และกัน
คุณวันทนา ในเรื่องนี้ นอกจากไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในพระบรมศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์แล้ว พระองค์ยังทรงเน้นในเรื่อง ไม่มีความเคารพ ไม่มีความยำเกรงในกัน และกันไว้ด้วยนะคะ และที่อาจารย์กล่าวว่า พุทธบริษัทควรเคารพในธรรมของพุทธบริษัทผู้ซึ่งประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน อาจารย์คงไม่ได้หมายความว่าจะให้ภิกษุสงฆ์ท่านมาเคารพในอุบาสก อุบาสิกา เหมือนกับที่อุบาสก อุบาสิกา เคารพในพระภิกษุสงฆ์ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ อุบาสก อุบาสิกา กราบไหว้เคารพในพระภิกษุสงฆ์ ทั้งในคุณธรรมของเพศบรรพชิต และคุณธรรมของการประพฤติปฏิบัติค่ะ แต่พระภิกษุสงฆ์ท่านเพียงแต่เคารพในธรรมของอุบาสก อุบาสิกา และเคารพด้วยการอนุโมทนา ไม่ใช่ต้องเคารพด้วยการกราบไหว้ในเพศฆราวาส ซึ่งเป็นเพศที่ต่ำกว่า
คุณวันทนา อย่างในครั้งพุทธกาล ก็มีทั้งภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์ และอุบาสก อุบาสิกา ซึ่งทรงคุณเลิศในทางต่างๆ เช่นบางคนก็เป็นพหูสูต บางคนก็เป็นธรรมกถึก และที่ได้ฌานสมาบัติก็มี พระภิกษุท่านก็ไม่ต้องกราบไหว้ แต่ตรงกันข้าม ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายเหล่านั้น จะต้องกราบไหว้พระภิกษุ แม้ว่าจะบวชในวันนั้นเอง ก็ชวนให้น่าสงสัยนะคะ ว่า ทำไมจึงได้เป็นเช่นนั้น
ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะเหตุว่า พระภิกษุสงฆ์ท่านเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัทค่ะ ท่านเป็นผู้ที่ทำกิจของพระศาสดาได้มากกว่าพุทธบริษัทอื่นในพุทธบริษัท ๔ และเพศบรรพชิตนั้นก็สูงกว่าเพศฆราวาสมากทีเดียว เพราะระดับจิตใจของคนที่สละบ้านเรือน ทรัพย์สมบัติ หรือชีวิตฆราวาสไปสู่เพศบรรพชิตนั้น ต่างกับระดับจิตใจของผู้ครองเรือน และยังเป็นเพศฆราวาสอยู่มาก การสละเพศฆราวาสไปสู่เพศบรรพชิตได้นั้น เป็นจิตใจที่ขจัดขัดเกลาเบาบางจากกิเลสได้ขั้นหนึ่งแล้ว คุณวันทนาคิดดูซิคะว่าจริงไหม
คุณวันทนา จริงทีเดียวค่ะ จิตใจของท่านที่สามารถสละบ้านเรือนได้ก็นับว่าประเสริฐแล้ว และนอกไปจากนี้ถึงจะไม่พิจารณาให้ลึกซึ้ง เราก็พอจะเห็นได้ง่ายๆ เช่น ฆราวาสอย่างเรานี้ก็ยังมีความพอใจติดใจในสีสัณวัณณะต่างๆ เป็นต้นว่า สีแดง สีเขียว สีฟ้า แต่บรรพชิตท่านครองผ้าสีเดียวอยู่ตลอดกาล และสีผ้าที่ท่านครองก็ไม่ใช่สีสดใส สวยงาม ที่โจรจะพอใจลักเอาไป อย่างเราพอเย็นพอค่ำก็ยังเสพรสนั้น รสนี้ เป็นต้นว่า น้ำชา น้ำผลไม้ ขนมรสต่างๆ แต่บรรพชิตท่านก็มีแต่เพียงน้ำปานะ และสิ่งที่เหมือนยาที่พอจะเแก้ความทุกข์ที่เกิดจากความหิวเท่านั้น อาจารย์คะ อาจารย์คิดว่าใครเป็นผู้ที่ยินดีในกุศลธรรมมากกว่ากันคะ ฆราวาสหรือบรรพชิต
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระมหากรุณาประทานพุทธโอวาท เพื่อไม่ให้พุทธบริษัทแตกแยกกัน หรือแก่งแย่งกัน หรือเป็นผู้ประมาทเปรียบเทียบในคุณธรรมของกัน และกัน เพราะว่าจิตที่คิด อย่างนั้นเป็นอกุศลจิต ที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้นค่ะ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค สุภสูตรข้อ ๗๑๐ พระผู้มีพระภาคตรัสตอบสุภมานพว่า ในเรื่องนี้พระองค์ทรงแยกกล่าว พระองค์ไม่ทรงกล่าวรวม คือพระองค์ตรัสว่า คฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตามที่ปฏิบัติผิด ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ไม่ยินดีกุศลธรรม เครื่องนำออกไปจากทุกข์ เพราะว่าผู้นั้นปฏิบัติผิด ส่วนคฤหัสถ์หรือบรรพชิตที่ปฏิบัติชอบนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ยินดีกุศลธรรม เครื่องนำออกไปจากทุกข์ เพราะว่าผู้นั้นปฏิบัติถูก
คุณวันทนา ในข้อนี้ก็แสดงว่าพระองค์ทรงถือการปฏิบัติผิด และถูกเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียวค่ะ เพราะถ้าบรรพชิตปฏิบัติผิด ก็จะไม่สามารถบรรลุผลคือปัญญาที่ดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น แต่คฤหัสถ์ถ้าปฏิบัติถูก ถึงแม้ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ก็สามารถจะบรรลุธรรมได้ ก็เท่ากับพระองค์ทรงพระมหากรุณาด้วยการทั้งทรงสอน และทรงเตือนไม่ให้มีมานะ หรือไม่ให้มีช่องทางที่จะทำให้กิเลสเกิดขึ้นได้เลย ในครั้งนั้นภิกษุณีแสดงธรรมด้วยหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ เรื่องของภิกษุณีเป็นส่วนน้อยในพระไตรปิฎกค่ะ ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยักขสังยุตต์ ปฐมสุกกาสูตร ข้อ ๘๓๒ - ๘๓๓ มีเรื่องภิกษุณีแสดงธรรมด้วยค่ะ สูตรนั้นมีข้อความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่ให้เหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น ภิกษุณีชื่อสุกกาอันบริษัทใหญ่แวดล้อมแสดงธรรมอยู่
คุณวันทนา บริษัทใหญ่ที่แวดล้อมฟังธรรม จะมีใครบ้างคะ
ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกบอกแต่ว่าบริษัทใหญ่ค่ะ และข้อความต่อไปก็บอกว่า มียักษ์ฟังอยู่ด้วย ซึ่งยักษ์นั้นเมื่อฟังธรรมของสุกกาภิกษุณีแล้วก็เลื่อมใสในสุกกาภิกษุณีอย่างยิ่ง ถึงกับเที่ยวไปตามถนนต่างๆ ในกรุงราชคฤห์ แล้วกล่าวคำภาษิตสรรเสริญธรรมที่สุกกาภิกษุณีแสดงว่า ธรรมที่เป็นอมตะนั้น ใครๆ ก็ย่อมจะคัดค้านไม่ได้ เป็นของไม่ได้เจือปรุงแต่มีโอชา เมื่อผู้มีปัญญาได้ดื่มอมตธรรมนั้น ก็เหมือนคนเดินทางได้ดื่มน้ำฝน ฉะนั้น
สำหรับข้อความที่ว่า บริษัทใหญ่แวดล้อมฟังธรรมนั้น ถึงแม้ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม บางสูตรก็มีข้อความอย่างนั้นเหมือนกันค่ะ คือมีข้อความว่า พระผู้มีพระภาคอันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมทรงแสดงธรรมอยู่
คุณวันทนา ในสูตรไหนมีข้อความอย่างนั้นคะ
ท่านอาจารย์ ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ อุบาสกวรรคที่ ๒ มานัตถัทธสูตร ที่ ๕ ข้อ ๖๙๕ - ๗๐๐ ค่ะ ซึ่งเป็นเรื่องของพราหมณ์คนหนึ่งที่เมืองสาวัตถี ชื่อมานัตถัทธะมีมานะมากเหลือเกิน ไม่ยอมไหว้ใคร แม้แต่มารดา บิดาอาจารย์ และพี่ชาย เป็นต้น คุณวันทนาจำได้ไหมคะ
คุณวันทนา จำได้ว่าเราได้เคยพูดถึงกันมาแล้วครั้งหนึ่ง ในเรื่องของบุญญกิริยาวัตถุ ข้ออปจายะ แต่ในครุธรรม ๘ ของผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุณี ในพระวินัยบัญญัตินั้น ห้ามภิกษุณีว่ากล่าวตักเตือนภิกษุใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ภิกษุณี หรืออุบาสก อุบาสิกา ก็ไม่สมควรจะว่ากล่าวตักเตือนภิกษุ เพราะพระผู้มีพระภาคได้ประทานพระธรรมวินัยไว้อย่างละเอียด และครบถ้วนแล้ว สำหรับว่ากล่าวตักเตือนภิกษุแทนพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงอุปมาว่าพระองค์ทรงรักษาภิกษุ ดุจพี่เลี้ยงดูแลเด็ก เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า อุบาสกอย่างท่านจิตตคฤหบดีจะแสดงธรรมกับท่านพระภิกษุทั้งหลาย ก็ไม่ใช่เป็นไปด้วยความล่วงเกินหรือยกตนนะคะ แต่ว่าด้วยความนอบน้อมสักการะ ด้วยกุศลจิตที่จะอุปการะพุทธบริษัท เพื่อช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงต่อไปได้นานๆ เท่าที่สามารถจะทำได้ ซึ่งในข้อนี้ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต คหปติวรรคที่ ๓ อุคคสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๑๑ พระผู้มีพระภาคก็ได้รับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายทรงจำอุคคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลีว่า เป็นผู้ประกอบด้วยที่น่าอัศจรรย์ ๘ ประการ
คุณวันทนา ธรรมที่น่าอัศจรรย์ของอุคคคฤหบดีนั้น มีอะไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ ธรรมข้ออื่นจะไม่กล่าวถึงนะคะ จะกล่าวเฉพาะธรรมข้อ ๕ และข้อ ๖ เท่านั้น ธรรมที่น่าอัศจรรย์ข้อ ๕ ของท่านอุคคคฤหบดีก็คือ เวลาที่ท่านเข้าไปหาภิกษุรูปใดก็ตาม ท่านเข้าไปหาด้วยความเคารพนอบน้อมทุกครั้ง ซึ่งคุณวันทนาก็คงจะเห็นว่า เป็นความน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งนะคะ เพราะว่าบางท่านก็อาจจะไม่ได้เข้าไปหาพระภิกษุด้วยความเคารพนอบน้อมทุกครั้งก็ได้ ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ ก็อาจจะเป็นได้ อาจารย์คะ แล้วธรรมที่น่าอัศจรรย์ข้อที่ ๖ ของท่านอุคคคฤหบดี คืออะไรคะ
ท่านอาจารย์ ธรรมที่น่าอัศจรรย์ของท่านอุคคคฤหบดีก็คือ หากพระภิกษุที่ท่านเข้าไปหานั้นไม่แสดงธรรมแก่ท่าน ท่านก็แสดงธรรมแก่ภิกษุรูปนั้นค่ะ ซึ่งก็เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์นะคะ เพราะว่าท่านไม่ใฝ่ใจในการสนทนาเรื่องอื่นๆ เท่ากับเรื่องธรรม
คุณวันทนา ถ้าพุทธบริษัทจะได้เข้าใจกิจของพุทธบริษัท ที่จะต้องพร้อมเพรียงกัน อุปการะกัน และกัน และช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และแสดงธรรมแล้ว ก็คงจะขวนขวายศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม และแสดงธรรมตามความสามารถยิ่งขึ้นนะคะ เพราะว่าถ้าจะมีแต่ผู้ฟังธรรมเท่านั้น ไม่มีผู้แสดงธรรมเสียเลยก็เป็นไปไม่ได้ แล้วก็รู้สึกว่าจะมีไม่พอเสียด้วย
ท่านอาจารย์ สำหรับการแสดงธรรมนั้น ดิฉันอยากจะกล่าวถึงสูตรหนึ่ง ที่มีความไพเราะมาก เพราะแสดงว่าไม่ว่าพุทธบริษัทพวกไหนจะแสดงธรรมก็ตาม ธรรมที่แสดงนั้นก็ย่อมมาจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้อย่างละเอียด และไพเราะแจ่มแจ้ง เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรถือว่าผู้ใดกล่าว และไม่ควรถือว่าธรรมนั้นเป็นของผู้กล่าวธรรมนั้นด้วย
คุณวันทนา ในพระสูตรนั้นมีข้อความว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เมตตาวรรคที่ ๑ อุตตรสูตรข้อ ๙๘ มีข้อความว่า สมัยหนึ่งท่านพระอุตตระอยู่ที่วิหารชื่อ วัฏฏชาลิกา ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท ณ ที่นั้นท่านพระอุตตระกล่าวธรรมกะภิกษุทั้งหลาย เมื่อท้าวเวสสวัณมหาราช เทพผู้เป็นใหญ่องค์หนึ่งในสวรรค์ชั้นจาติมหาราชิกาได้ฟัง ก็ไปกราบทูลท้าวสักกะ คือพระอินทร์ผู้เป็นจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะก็เข้าไปหาท่านพระอุตตระ เมื่ออภิวาทแล้วก็ถามท่านว่า ธรรมที่ท่านกล่าวกะภิกษุทั้งหลายนั้น เป็นปฏิภาณของท่านเองหรือเป็นของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านพระอุตตระก็อุปมาให้ฟังว่า เปรียบเหมือนข้าวเปลือกกองใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลหมู่บ้านนัก ผู้คนพากันไปขนข้าวเปลือกจากกองข้าวเปลือกใหญ่นั้น ด้วยกระเช้าบ้าง ด้วยตระกร้าบ้าง ด้วยห่อพกบ้าง และบางคนก็กอบเอาไปด้วยมือบ้าง มีคนหนึ่งเข้าไปถามคนพวกนั้นว่า ขนข้าวเปลือกมาจากไหน คนพวกนั้นก็จะต้องตอบว่าขนมาจากข้าวเปลือกกองใหญ่นั้น ฉันใด คำสุภาษิตทั้งหมดก็ล้วนเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคทั้งนั้น ฉันนั้น
ท่านอาจารย์ ท้าวสักกะท่านฟังแล้ว ท่านว่ายังไงคะ
ท่านอาจารย์ ท้าวสักกะตรัสว่า ในหมู่มนุษย์ มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมทั้งหลายหาเป็นของบริษัทหมู่หนึ่งหมู่ใดไม่ เพราะฉะนั้นจึงควรจะเล่าเรียนศึกษา และจดจำธรรมที่ประกอบด้วยประโยชน์ทั้งหลายไว้
คุณวันทนา ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นด้วยกับคำของท้าวสักกะที่ตรัสกับท่านพระอุตตระ ซึ่งถึงแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะล่วงเลยมา ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว ก็ยังเป็นคำภาษิตที่เตือนใจพุทธบริษัททุกกาลทุกสมัยว่าเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ที่จะต้องพร้อมเพรียงกัน อุปการะกัน ในการศึกษาและเผยแพร่ธรรม เพื่อให้พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามั่นคงอยู่ชั่วกาลนาน
วันนี้เวลาแห่งการสนทนาของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔