บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
ครั้งที่ ๒๘
พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติให้ละเว้นการฉันโภชนะในเวลาวิกาล
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ชีวิตของเราเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ เพื่อช่วยตัวเอง และเพื่อหน้าที่ เมื่อเอ่ยถึงคำว่าหน้าที่ ท่านที่เป็นผู้ใหญ่ต้องรับผิดชอบ และท่านที่เป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็ย่อมจะเข้าใจถึงความหมายของคำว่าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ท่านผู้ฟังคะ ชีวิตอันเป็นที่รักของเรานี้ แม้จะดำรงอยู่นานต่อไปเพียงไรก็ตาม ชีวิตกับหน้าที่ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไปเสมอ ยิ่งมีการทำงานประกอบสัมมาอาชีวะ ก็ย่อมต้องใช้ทั้งกำลังกาย และกำลังสมอง ความเหน็ดเหนื่อยก็ย่อมมีเป็นธรรมดา เมื่อมีความเหน็ดเหนื่อยก็ต้องมีการพักผ่อน ซึ่งก็ดูจะเป็นหน้าที่อีกประการหนึ่ง สิ่งที่จะช่วยให้การพักผ่อนได้รับผลสมบูรณ์อาจหมายรวมถึงสิ่งแวดล้อม อากาศ อาหาร และผู้คนที่อยู่ใกล้เคียง การอยู่ใกล้คนที่มีกิเลสไม่ช่วยให้จิตใจได้พักผ่อน การพักผ่อนที่แท้จริงคือการพักผ่อนใจ ใจที่สะสมหมักดองไว้ด้วยกิเลสคือ ความโลภ โกรธ หลง ย่อมเป็นใจที่ไม่ได้พักผ่อนเพราะกิเลสมี ๓ ขั้น คือ กิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด ถึงพยายามพักผ่อน ไม่ทำกิจการงานอะไรทางกาย ทางวาจา แต่กิเลสอย่างกลางก็อาจจะกลุ้มรุมให้ใจนั้นตื่นอยู่เสมอ วุ่นวายอยู่เสมอ บางครั้งก็ฟุ้งซ่านไปด้วยความผูกโกรธในผู้หนึ่งผู้ใด บางครั้งก็ด้วยความลังเลใจ เป็นต้น ซึ่งสภาพของจิตเช่นนี้ย่อมไม่เป็นสิ่งน่าปรารถนา ไม่อำนวยประโยชน์คือความสงบสุข เป็นจิตที่เบียดเบียนตนเองให้เศร้าหมองขุ่นมัว ผู้ที่ศึกษาธรรม และเห็นโทษของกิเลสแต่ละขั้น จึงเพียรพยายามเจริญกุศลทุกประการตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ในบุญญกิริยาวัตถุ
สำหรับบุญญกิริยาวัตถุข้อฟังธรรม และแสดงธรรมนั้น ก็ได้กระทำสืบต่อกันมาแต่ครั้งพุทธกาล จนถึงปัจจุบันนี้สำหรับในยุคสมัยก่อนๆ เราจะไม่กล่าวถึง เพราะเป็นอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับปัจจุบันนี้เหตุการณ์ และสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของโลก ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปนั้น ดิฉันเกรงไปว่าจะทำให้ชาวพุทธประพฤติปฏิบัติธรรมลดน้อยลง ในข้อนี้จะมีทางใดบ้างไหมที่จะทำให้พุทธศาสนิกชนได้ประพฤติปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น
ท่านอาจารย์ พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคนั้น สมบูรณ์ และสุขุมลุ่มลึกเป็นลำดับขั้นค่ะ คือ มีทั้งขั้นละความประพฤติชั่ว ขั้นบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และขั้นชำระจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส พุทธศาสนิกชนที่ใคร่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคจริงๆ นั้นจะต้องหมั่นตรวจตรา พิจารณาจิตใจของตนเองเพื่อให้รู้ว่า ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมในข้อใดบ้าง เช่น ถ้าขาดการประพฤติปฏิบัติในศีลข้อใด ก็จะต้องศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงสอนให้เข้าใจ และเห็นโทษของการล่วงละเมิดศีลข้อนั้น และให้เห็นคุณประโยชน์ของการเจริญกุศลทุกอย่าง จึงจะเป็นเหตุให้มีศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมมากขึ้นเป็นลำดับ
คุณวันทนา พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค คงจะมีครบหมดทุกอย่างทุกขั้นเลยนะคะ ทั้งสำหรับบรรพชิต และสำหรับคฤหัสถ์ด้วย เพราะว่าการอุบัติของพระองค์นั้น ย่อมเป็นประโยชน์อย่างไพศาลทีเดียวแก่ชาวโลก เปรียบประดุจดวงประทีปที่ให้ความสว่างแก่คนที่มีปัญญาทั่วไปไม่เลือกหน้า และตลอดเวลา ๔๕ พรรษานั้นก็ได้ทรงแสดงธรรมโปรดสัตวโลกให้เป็นสุข พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ตั้งแต่ขั้นต้นไปจนถึงขั้นสูง ทรงสอนกุลบุตรกุลธิดา ทั้งในข้อที่จะพึงปฏิบัติต่อกันในฐานมิตร ข้อที่กุลบุตรกุลธิดาจะพึงปฏิบัติต่อบิดามารดาผู้มีพระคุณของตน และต่อครูบาอาจารย์ ทรงสอนทั้งสตรีที่จะไปสู่สกุลสามี ให้ประพฤติตนเป็นสะใภ้ที่ดี ทรงสอนราชเสวกในการปฏิบัติราชการ ดิฉันรู้สึกว่าถ้าหากผู้ใดได้ศึกษาพระธรรมอยู่เสมอไม่ว่างเว้น ก็จะได้หลักการดำเนินชีวิตในทางที่ดีงามโดยครบถ้วน และสำหรับคนที่รู้สึกว่าชีวิตขาดความสุข ขาดความสงบ ก็เห็นจะเป็นเพราะขาดความเข้าใจในหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงสอนไว้นั่นเอง แต่ดิฉันเข้าใจว่าความสามารถของแต่ละคนที่จะรับ และปฏิบัติธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงสอนไว้นั้น ก็ย่อมจะมีระดับต่างกัน ตามเหตุตามปัจจัย และตามกำลังของสติปัญญา และผู้ที่ไม่อาจจะเข้าใจธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้เลย ก็ย่อมจะต้องมี
ท่านอาจารย์ มีค่ะ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค มธุปิณฑิกสูตร ข้อ ๒๔๓ - ๒๕๐ มีข้อความว่าสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ในสักกชนบท ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ครั้นเสร็จจากการเสด็จบิณฑบาตแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวันเพื่อทรงพักในเวลากลางวัน ขณะพระองค์ประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม ทัณฑปาณิศากยะกำลังเสด็จเที่ยวเดินเล่น ได้เสด็จเข้าไปยังป่ามหาวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังต้นมะตูมหนุ่ม เมื่อผ่านการปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็ได้ยืน ยันไม้เท้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามว่า พระสมณะมีปรกติกล่าวอย่างไร มีปรกติบอกอย่างไร และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสตอบแล้ว ทัณฑปาณิศากยะก็สั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากย่นเป็น ๓ รอบ ถือไม้เท้าแน่นแล้วหลีกไป
คุณวันทนา น่าเสียดายจริงๆ มีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์ ได้พบ ได้เฝ้า ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค มีโอกาสได้ฟังธรรม แต่ไม่เลื่อมใส อาจารย์คะ นอกจากคฤหัสถ์ที่ขาดการพิจารณาไตร่ตรองในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จึงไม่เกิดความเลื่อมใส แล้วผู้อื่นล่ะคะ อย่างบรรพชิตผู้ขาดการพิจารณาไตร่ตรองในธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แล้วก็เลยเข้าใจผิด เห็นผิด ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงนั้น จะมีบ้างไหมคะ
ท่านอาจารย์ ผู้ที่ขาดการพิจารณาไตร่ตรองธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จึงไม่เข้าใจในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ไม่เกิดความเลื่อมใส ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้นั้น ก็มีได้ทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต
คุณวันทนา สำหรับคฤหัสถ์ อาจารย์ก็ได้ยกตัวอย่างทัณฑปาณิศากยะมาให้ฟังแล้ว และสำหรับบรรพชิตล่ะคะ อาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังได้ฟังอีกสักเรื่องหนึ่งไหมคะ
ท่านอาจารย์ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทให้เว้นการฉันในเวลาวิกาล ภิกษุบางรูปที่ไม่เห็นคุณของการเว้นการฉันในเวลาวิกาล ไม่เชื่อในพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค ที่พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทนี้เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุ แต่เชื่อความคิดของตนเอง ไม่ยอมประพฤติปฏิบัติตามจนพระผู้มีพระภาคต้องรับสั่งให้เข้ามาเฝ้า และทรงเทศนาว่ากล่าวตักเตือน จึงได้ประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทข้อนี้ และพระภิกษุบางรูปนั้นแม้จะไม่เข้าใจในพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ มีความน้อยใจ เสียใจ ที่ทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ แต่เพราะความรัก ความเคารพ ความละอาย ความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงได้ประพฤติปฏิบัติตามก็มีค่ะ และภิกษุบางรูป ตอนแรกไม่ยอมปฏิบัติตาม แม้ขณะที่พระผู้มีพระภาคกำลังจะทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้ และหลบไม่ให้ประสบพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค ตลอดไตรมาสคือระห่างพรรษานั้น แต่ภายหลังเมื่อเห็นโทษของตน ก็ได้เข้าไปเฝ้าทูลขอให้พระองค์ทรงรับโทษของท่านโดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปก็มีค่ะ
คุณวันทนา นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น ผู้ประพฤติปฏิบัติจะต้องมีศรัทธา ความเลื่อมใส และมีปัญญาเข้าใจในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระองค์ด้วย จึงจะทำให้พุทธบริษัทปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้มากน้อยตามกำลังของศรัทธา และปัญญา อาจารย์จะกรุณาให้ท่านผู้ฟังได้ทราบไหมคะว่า ภิกษุที่อาจารย์ยกตัวอย่างมากล่าวอ้างนั้น เป็นใครบ้าง
ท่านอาจารย์ เรื่องของภิกษุเหล่านั้น อยู่ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค ทั้งหมดค่ะ และในกีฏาคิริสูตร ข้อ ๒๒๒ - ๒๓๙ นั้น กล่าวถึงสมัยที่พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวจาริกไปในกาสีชนบทโดยลำดับ เสด็จถึงนิคมของชนชาวกาสีชื่อว่า กีฏาคิรี สมัยนั้นมีภิกษุชื่ออัสสชิ และภิกษุชื่อปุนัพพสุกะ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ในกีฏาคีรีนิคม ครั้งนั้นภิกษุเป็นอันมากได้เข้าไปหาอัสสชิภิกษุ และปุนัพพสุกะภิกษุถึงที่อยู่ และกล่าวว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์เว้นการฉันโภชนะในเวลาราตรี และท่านก็จงเว้นด้วย แต่ท่านทั้งสองตอบว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาค และพระภิกษุสงฆ์เว้นการฉันโภชนะในเวลาราตรี และท่านก็จงเว้นด้วย แต่ท่านทั้งสองตอบว่า ท่านเห็นคุณของการฉันโภชนะทั้งในเวลาเย็น ทั้งเวลาเช้า ทั้งเวลาวิกาลในกลางวัน เพราะฉะนั้นท่านจะไม่เว้น ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะให้อัสสชิภิกษุ และปุนัพพสุกภิกษุยินยอมได้ จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์รับสั่งให้ภิกษุทั้ง ๒ รูปนั้นมาเฝ้า และทรงเทศนาว่ากล่าวตักเตือน ท่านทั้ง ๒ จึงได้ประพฤติปฏิบัติตาม
คุณวันทนา การไม่ยอมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาค เพราะไม่เข้าใจพระคุณของพระธรรมวินัย ก็มีมาตั้งแต่ในครั้งพุทธกาลเลยนะคะ ถึงแม้ว่าพระภิกษุท่านจะไม่ยินดีประพฤติปฏิบัติตามในตอนแรก แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงชี้แจงตักเตือนให้เห็นโทษของการไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จนท่านพระภิกษุเหล่านั้นเห็นโทษโดยความเป็นโทษ และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้ในภายหลัง ซึ่งก็ต้องนับเป็นบุญลาภของพระภิกษุในสมัยนั้นทีเดียวละคะ
แล้วภิกษุที่ท่านน้อยใจ และเสียใจที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบท ให้เว้นการฉันในเวลาวิกาล แต่ด้วยความเคารพ ความละอาย รวมทั้งความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค จึงได้ประพฤติปฏิบัติตาม ท่านเหล่านั้นมีใครบ้างคะ
ท่านอาจารย์ ในลฑุกิโกปมสูตร ข้อ ๑๗๕ ๒ ๑๘๕ มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอังคุตตราปชนบท มีนิคมของอังคุตตราปะ ชื่อ อาปนนิคม ครั้นเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในอาปนนิคมแล้ว เวลาปัจฉาภัตรกลับจากบิณฑบาตในอาปนนิคมแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว พระองค์เสด็จเข้าไปในป่าแห่งหนึ่ง เพื่อประทับพักกลางวันที่โคนต้นไม้ เช้านั้นแม้ท่านพระอุทายี ก็เข้าไปบิณฑบาตยังอาปนนิคม และเวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็ได้เข้าไปในป่าแห่งนั้น นั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้เช่นเดียวกัน ขณะที่อยู่ในป่าเงียบสงบตามลำพัง ท่านก็ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ที่ทรงเป็นเหตุให้ความทุกข์ และอกุศลธรรมของท่านขจัดไป เป็นเหตุให้ท่านถึงความสุข และกุศลธรรมเป็นอันมาก ในตอนเย็นนั้นเมื่อท่านออกจากป่าแล้ว ท่านก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ เมื่อได้ถวายบังคมแล้ว ก็ได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบถึงความคิดในใจของท่านแล้วกราบทูลว่า เมื่อครั้งที่ภิกษุเคยฉันได้ทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลาวิกาล ในกลางวันนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทให้เว้นการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวันนั้น ท่านมีความน้อยใจเสียใจว่า คฤหบดีทั้งหลายผู้มีศรัทธาจะให้ของควรเคี้ยว ควรบริโภค อันประณีตในเวลาวิกาลในกลางวัน พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ละให้เว้นเสีย แต่เพราะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค ภิกษุทั้งหลายก็ได้เว้นการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในกลางวันตามพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และฉันแต่เฉพาะในเวลาเช้า และเวลาเย็น และสมัยต่อมาพระองค์ก็ตรัสให้ละเว้นการฉันโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีอีก ท่านก็มีความน้อยใจเสียใจว่า โภชนะย่อมมีรสในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันนั้นมีรสน้อย เพราะตามธรรมดาคนทั้งหลายก็ย่อมเก็บของดีๆ อร่อยๆ ไว้ปรุงบริโภคในตอนเย็น แต่เพราะความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัวในพระผู้มีพระภาค ภิกษุทั้งหลายจึงได้เว้นการบริโภคโภชนะในเวลาวิกาลในราตรีเสีย และตัวท่านเองก็ได้รับรู้โทษของการที่ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในเวลามืดค่ำว่า ย่อมได้รับอันตราย และไม่สะดวกต่างๆ เช่น ย่อมเดินไปในบ่อน้ำครำบ้าง ลงไปในหลุมโสโครกบ้าง บุกฝ่าหนามบ้าง เหยียบแม่โคที่กำลังหลับบ้าง พบโจรกำลังทำโจรกรรมบ้าง พบหญิงที่ชักชวนให้ประพฤติในทางที่ไม่สมควรบ้าง และครั้งหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเที่ยวบิณฑบาตในตอนค่ำนั้น หญิงคนหนึ่งกำลังล้างชามอยู่ พอฟ้าแลบเห็นท่านเข้าก็ตกใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้ท่านระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นเหตุให้ความทุกข์ และอกุศลกรรมของท่านขจัดไป เป็นเหตุให้ท่านถึงความสุข และกุศลธรรมเป็นอันมากด้วยพระธรรมวินัยของพระองค์
คุณวันทนา แล้วภิกษุที่ตอนแรกท่านไม่ยอมปฏิบัติตามสิกขาบทข้อนี้ แต่ภายหลังท่านก็รู้ว่าท่านทำผิดแล้วจึงได้ยอมปฏิบัติตามนั้นคือใครคะ
ท่านอาจารย์ ในภัททาลิสูตร ข้อ ๑๖๐ - ๑๗๔ มีข้อความว่า ณ พระวิหารเชตวัน ขณะที่พระผู้มีพระภาคจะทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้นั้น ท่านพระภัททาลิได้กราบทูลว่า ท่านไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้ และขณะที่ภิกษุทั้งหลายปฏิบัติตามสิกขาบทที่พระองค์ทรงบัญญัติแล้วนั้น ท่านพระภัททาลิก็หลบไม่ให้ประสบพระพักตร์พระผู้มีพระภาคตลอดไตรมาส ครั้งนั้น ภิกษุมากด้วยกันช่วยกันทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค เพื่อพระองค์จะเสด็จจาริกไปเมื่อล่วงไตรมาสแล้ว ท่านพระภัททาลิก็เข้าไปหา และปราศรัยกะภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวเตือนให้เห็นโทษของท่าน ท่านก็รับคำ และได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลขอให้พระองค์ทรงรับโทษของท่านโดยความเป็นโทษเพื่อความสำรวมต่อไป
คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ วันนี้เวลาของเราก็สิ้นสุดลงแล้วนะคะ พบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔