บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
ครั้งที่ ๒๙
ประโยชน์ และความสำคัญของการศึกษาธรรม
เหตุที่ฟังพระธรรมไม่เข้าใจ
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ในครั้งที่แล้วอาจารย์ได้นำพระสูตรต่างๆ มาเล่าให้ฟังเพื่อให้เห็นว่า ผู้ที่ขาดการไตร่ตรองพิจารณาพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ย่อมไม่เห็นคุณของพระธรรมวินัย จึงไม่เลื่อมใสศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้น แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงพระมหากรุณา บัญญัติพระธรรมวินัยข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่พุทธบริษัทก็ตาม ฉะนั้นพุทธบริษัทที่ขาดความสนใจไม่ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจยิ่งขึ้นแล้ว ก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมวินัยเท่าที่ควรจะได้รับ เพราะว่าการศึกษาธรรมก็เสมือนกับการได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์โดยตรงจากพระองค์ นะคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และการเผยแพร่พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้นั้นเป็นบุญญกิริยาที่มีประโยชน์อย่างยิ่งค่ะ เพราะว่าจุดประสงค์ของการแสดงธรรมของพระองค์นั้น ก็เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจสภาพธรรมที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ที่พระองค์ตรัสรู้ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจเหตุ และผลของธรรมทั้งหลายอย่างถูกต้อง และเกิดความเลื่อมใสศรัทธาที่จะละเว้นการประพฤติชั่ว บำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดกิเลส
คุณวันทนา ถ้าเราไม่ศึกษาธรรม นอกจากไม่เกิดศรัทธาที่จะละการประพฤติชั่วแล้ว ก็ยังไม่รู้ด้วยว่าจะทำความดีได้อย่างไร เช่น ถ้าไม่รู้ว่าการอ่อนน้อมเป็นกุศล ไม่รู้ว่าการอนุโมทนายินดีในคุณความดีที่ผู้อื่นได้กระทำแล้วเป็นกุศล หรือไม่รู้ว่าการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกันเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นกุศล ก็คงไม่เกิดกุศลทั้งๆ ที่มีโอกาสที่จะเกิดได้ง่ายๆ เสียด้วย และการที่จะชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดกิเลสด้วยตนเองโดยไม่อาศัยการศึกษาข้อปฏิบัติที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และได้ทรงแสดงไว้ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งการศึกษาและเผยแพร่ธรรม จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในการสืบต่อพระศาสนาให้ตั้งมั่นอยู่ต่อไปได้นานนะคะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต สมณวรรคที่ ๔ ปังกธาสูตร ข้อ ๕๓๑ พระผู้มีพระภาคก็ได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุชื่อกัสสปโคตร ผู้เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ณ ปังกธานิคม ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อภิกษุกัสสปโคตรเข้าไปเฝ้ากราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงรับโทษของท่านโดยความเป็นโทษ เพราะว่าในขณะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่เนื่องกับสิกขาบทนั้น ภิกษุกัสสปโคตรขัดใจ ไม่แช่มชื่น และมีความคิดว่าพระองค์ทรงแสดงธรรมที่ขัดเกลามากเหลือเกิน
คุณวันทนา พระองค์ประทานโอวาทแก่ภิกษุกัสสปโคตร เรื่องการศึกษาธรรมว่าอย่างไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า ถ้าภิกษุปูนเถระเป็นผู้ไม่ใคร่ต่อการศึกษา ไม่สรรเสริญการสมาทานการศึกษา ภิกษุนั้นย่อมจะไม่ชักชวนภิกษุผู้ไม่ใคร่ต่อการศึกษาให้ศึกษา และไม่แสดงคุณที่มีจริงเป็นจริงของภิกษุรูปอื่นๆ ที่ใคร่ต่อการศึกษาตามกาล
คุณวันทนา จริงค่ะ ถ้าผู้ใดไม่เห็นความสำคัญของการศึกษาก็ย่อมไม่สนับสนุนให้คนอื่นได้ศึกษา และคงจะไม่กล่าวสรรเสริญคุณธรรม ความรู้ความเข้าใจของผู้ที่ศึกษาด้วยแล้วพระองค์ตรัสว่าอย่างไรอีกหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า ภิกษุปูนเถระเช่นนั้น พระองค์ไม่ทรงสรรเสริญ เพราะว่าถ้าพระองค์สรรเสริญ ภิกษุพวกอื่นๆ ก็จะคบหาภิกษุรูปนั้นเพราะพระองค์ทรงสรรเสริญ และภิกษุที่คบหาภิกษุรูปนั้นก็จะถือภิกษุรูปนั้นเป็นแบบอย่าง ซึ่งก็ย่อมจะไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ แต่ว่าจะเป็นไปเพื่อทุกข์โทษสิ้นกาลนาน
คุณวันทนา พระผู้มีพระภาคตรัสถึงแต่ภิกษุปูนเถระเท่านั้นหรือคะ ที่ไม่ใคร่ต่อการศึกษา
ท่านอาจารย์ ต่อไปก็ตรัสถึงภิกษุปูนกลาง ภิกษุใหม่โดยนัยเดียวกันค่ะ และโดยนัยตรงกันข้ามพระองค์ตรัสว่า ถ้าภิกษุปูนเถระ ภิกษุปูนกลาง และภิกษุปูนใหม่ เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา และสรรเสริญการสมาทานการศึกษา ก็ย่อมชักชวนภิกษุอื่นๆ ที่ไม่ใคร่ต่อการศึกษาให้ศึกษา และย่อมแสดงคุณที่มีจริงเป็นจริงของภิกษุอื่นๆ ที่ใคร่ต่อการศึกษาตามกาลด้วย พระองค์ตรัสว่า พระองค์สรรเสริญภิกษุที่ใคร่ต่อการศึกษา เมื่อทรงสรรเสริญ ภิกษุอื่นๆ ก็ย่อมคบหาภิกษุนั้น และจะพึงถือภิกษุนั้นเป็นแบบอย่าง ซึ่งก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ และเพื่อความสุขสิ้นกาลนานค่ะ
คุณวันทนา และสำหรับคฤหัสถ์ และบรรพชิตที่ได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้วไม่เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ดูๆ ก็น่าจะมีเหตุนะคะ และดิฉันคิดว่าเหตุนั้นก็คงจะสำคัญ และน่ารู้มาก เพราะว่าถ้ารู้แล้วก็จะได้มีโอกาสพิจารณาดูตัวเองว่า การฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจ หรือว่าไม่เกิดศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามนั้น เป็นเพราะเหตุใด หรือเป็นเพราะขาดเหตุปัจจัยในข้อไหน เมื่อรู้แล้วจะได้แก้ไขตัวเอง แต่ถ้าไม่รู้เหตุก็ย่อมไม่สามารถแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้นได้เลย
ท่านอาจารย์ เหตุที่คนฟังธรรมแล้วจิตใจไม่เป็นกุศลนั้น พระองค์ทรงแสดงไว้ต่างกัน ตามประเภท และลักษณะของบุคคลที่ฟังธรรมค่ะ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สัทธรรมวรรคที่ ๑ สัทธรรมนิยามสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๕๑ พระองค์ทรงแสดงว่า ผู้ที่ฟังสัทธรรมแล้วจิตใจไม่เป็นกุศล ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องในกุศลธรรมนั้น เป็นเพราะว่าบุคคลนั้นย่อมพูดมาก ๑ พูดคำพูดที่ผู้อื่นพูดแล้วมาก ๑ ข้อนี้ก็หมายความถึงเล่าเรื่องที่คนอื่นพูด พูดปรารภตน (คือพูดถึงตัวเอง) ๑ เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่านฟังธรรม ๑ เป็นผู้มีจิตไม่แน่วแน่มนสิการ (พิจารณา) โดยอุบายไม่แยบคาย ๑
ส่วนในสัทธรรมนิยามสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๕๒ มีข้อความต่างกันเล็กน้อยค่ะ คือมีข้อความว่าบุคคลย่อมพูดมาก ๑ พูดคำพูดที่ผู้อื่นพูดแล้วมาก ๑ พูดปรารภตน ๑ เป็นผู้มีปัญญาทรามโง่เง่า ๑ เป็นผู้ที่มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ๑
คุณวันทนา จริงค่ะ ดิฉันรู้สึกว่าพระองค์ได้ทรงแสดงถึงเหตุต่างๆ ไว้โดยครบถ้วนทีเดียว ที่บุคคลฟังธรรมแล้วไม่เกิดศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติหรือฟังแล้วไม่เข้าใจ ดิฉันเองก็เคยพบประสพการณ์เหล่านี้มาด้วยตนเอง อย่างเช่นในข้อ ๑ ที่พระองค์ตรัสว่า บุคคลนั้นย่อมพูดมากก็จริงซินะคะ คนพูดมากก็ย่อมพูดไปพร้อมๆ กับที่พระท่านกำลังแสดงธรรมบนธรรมาสน์ แล้วจะไปรู้เรื่องที่พระท่านเทศน์ได้อย่างไรล่ะคะ
ข้อ ๒ ที่พระองค์ตรัสว่า พูดคำพูดที่คนอื่นพูดแล้วมาก คนบางคนขณะที่กำลังฟังธรรมอยู่ ก็มักจะพูดคุยกับผู้ที่ร่วมฟังธรรมอยู่ด้วยกันถึงเรื่องของคนนั้นคนนี้ที่เคยรู้จักว่า คนนั้นคนนี้เขาพูดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ หรือพูดว่าอย่างไรบ้าง
ข้อ ๓ ที่ว่าพูดถึงตัวเองขณะฟังธรรม ดิฉันรู้สึกว่าเป็นเหตุสำคัญมากที่จะทำให้ฟังธรรมไม่รู้เรื่อง เพราะว่าคนส่วนมากแม้จะพูดเรื่องราวของคนอื่น ก็คงจะไม่ถนัด ไม่สนุก ไม่เพลินเท่ากับพูดเรื่องของตัวเอง บางคนสังเกตดูก็จะเห็นได้ว่ามีความสุขที่จะคุยอวดคนอื่นถึงความมั่งมีหรือความสำเร็จที่คน และผู้ใกล้เคียงของตนได้รับ พอพูดมาได้สักหน่อยหรือพอพูดๆ ไปก็เพลิน ถึงแม้ว่าพระท่านจะเทศน์จบแล้ว อุบาสกหรืออุบาสิกาผู้นั้นก็ยังคุยเรื่องตัวเองไม่จบ พอถึงเวลากลับบ้านก็นึกออกว่าตัวคุยไว้กับคนอื่นอย่างไรบ้างในขณะที่ฟังธรรม แต่ไม่รู้ว่าวันนั้นพระท่านแสดงธรรมเรื่องอะไร
ข้อ ๔ ทีว่ามีจิตฟุ้งซ่านในขณะฟังธรรมนั้นก็จริงอีกละค่ะ ก็เพราะมัวฟุ้งซ่าน มัวนึกคิดเรื่องอื่นๆ อย่างคิดว่าก่อนจะออกากบ้านมาถึงวัดนี่ มีใครทำอะไรให้ขัดใจไว้บ้าง เดี๋ยวเถอะ เดี๋ยวกลับไปจะเล่นงาน นี่ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้จิตใจไม่เป็นอันที่จะฟังธรรม เลยฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อไม่รู้เรื่องแล้วศรัทธาก็ไม่เกิด
ข้อ ๕ ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายซึ่งทรงแสดงว่า เพราะผู้ฟังไม่มนสิการคือไม่พิจารณาด้วยความแยบคาย ซึ่งก็หมายความว่าเพราะผู้ฟังนั้นขาดความสนใจ ขาดความตั้งใจ ประกอบกับทั้งเป็นผู้มีปัญญาน้อย จึงเป็นการยากสำหรับผู้นั้นที่จะเข้าใจ และเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในธรรมที่ตนได้ฟัง เพราะบางทีข้อความบางข้อที่เคยได้ยินได้ฟังแล้วนั้น แท้จริงตัวเองก็ไม่ค่อยจะเข้าใจดีหรอก แต่เข้าใจว่าตัวเองเข้าใจแล้ว ก็เลยทำให้ขาดการพิจารณาให้สุขุมยิ่งขึ้น ก็เลยไม่เข้าใจหรือยังคงเข้าใจไม่ถูก ก็อาจจะเป็นได้นะคะ นอกจากนั้นพระองค์ยังได้ทรงแสดงเหตุอื่นไว้อีกหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ในสัทธรรมนิยามสูตรที่ ๓ พระองค์ทรงแสดงว่า บุคคลที่ฟังสัทธรรมแล้วจิตไม่เป็นกุศล ไม่เข้าใจอย่างถูกต้องในกุศลธรรมนั้นเป็นเพราะบุคคลเป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ฟังธรรม ๑ เป็นผู้อันความลบหลู่ครอบงำ มีจิตแข่งดี ฟังธรรม ๑ เป็นผู้แสวงโทษ มีจิตกระทบในผู้แสดงธรรม มีจิตกระด้าง ๑ เป็นผู้มีปัญญาทรามโง่เง่า ๑ เป็นผู้มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ๑
คุณวันทนา ค่ะ บุคคลที่กล่าวมาแล้วนี้ เห็นจะรู้ตัวเองได้ยากสักหน่อยนะคะ ถึงแม้ว่าคนอื่นจะพอรู้บ้าง แต่ในเมื่อตัวเองเป็นคนเพ่งโทษ ฟังธรรม ก็ย่อมจะไม่รู้ว่าจิตใจของตัวเองในขณะนั้นเป็นอะไร อาจารย์คะ ในครั้งพุทธกาลมีเรื่องอย่างนี้ไหมคะ อย่างเป็นต้นว่าเวลาฟังธรรมแล้วไม่พิจาณาให้แยบคาย ก็เลยเข้าใจธรรมไม่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ มีค่ะ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาฆาตวรรคที่ ๒ นิโรธสูตรข้อ ๑๖๖ มีข้อความว่า เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ท่านพระอุทายีคัดค้าน แม้ท่านพระสารีบุตรจะกล่าวซ้ำอีก ท่านพระอุทายีก็คัดค้านอีก รวมถึง ๓ ครั้ง เมื่อท่านพระสารีบุตรเห็นว่าท่านพระอุทายีคัดค้านคำของท่านถึง ๓ ครั้ง และภิกษุบางรูปก็ไม่อนุโมทนาภาษิตของท่าน ท่านจึงเห็นควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ เมื่อท่านได้เข้าไปเฝ้าถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรแล้วก็ได้กล่าวธรรมนั้นกับภิกษุทั้งหลายอีกครั้งหนึ่ง ท่านพระอุทายีก็ได้คัดค้านท่านอีก ถึงแม้ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวธรรมนั้นซ้ำอีก ท่านพระอุทายีก็คัดค้านอีกถึง ๓ ครั้ง เมื่อท่านพระสารีบุตรเห็นว่าท่านพระอุทายีคัดค้านถึง ๓ ครั้ง แม้เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค และพระภิกษุบางรูปก็ไม่อนุโมทนาต่อท่าน ท่านก็นิ่ง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามความเห็นของท่านพระอุทายี และตำหนิท่านพระอุทายีว่าเป็นผู้ไม่ฉลาด แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า ทำไมพวกพระภิกษุจักวางเฉยดูดาย เมื่อพระภิกษุเถระถูกเบียดเบียนอยู่ แล้วพระองค์ก็ได้กล่าวธรรมที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวนั้นซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่าเป็นธรรมที่เป็นไปได้
คุณวันทนา สำหรับในครั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะมีธรรมที่ลึกซึ้งยากเย็นสักแค่ไน ก็ยังมีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง ทรงอนุเคราะห์ประทานความกระจ่างแก่ผู้ที่ยังสงสัยหรือเห็นผิดไปได้ แต่สมัยนี้ก็เห็นจะต้องอาศัยพระธรรมวินัยที่พระองค์ประทานไว้ สำหรับเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาอย่างละเอียดสุขุม และรอบคอบ จึงจะไม่ผิดพลาดได้ อาจารย์คะ นอกจากนี้แล้วผู้ที่ฟังธรรมแล้วใจไม่เป็นกุศล จะมีเหตุอื่นอีกไหมคะ
ท่านอาจารย์ มีค่ะ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า คนฟังธรรมแล้วจิตใจไม่เป็นกุศลนั้น เพราะว่าบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สัทธรรมวรรคที่ ๑ ทุกถาสูตร ข้อ ๑๕๗ พระองค์ทรงแสดงว่า ถ้อยคำนั้นเมื่อเทียบกับบุคคลแล้ว ย่อมเป็นถ้อยคำชั่วสำหรับคน ๕ จำพวก คือ
ถ้อยคำปรารภศรัทธา เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ไม่มีศรัทธา ๑
ถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล ๑
ถ้วอยคำปรารภพาหุสัจจะ (การเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก) เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ได้สดับน้อย ๑
ถ้อยคำปรารภจาคะ เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ตระหนี่ ๑
ถ้อยคำปรารภปัญญา เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทรามปัญญา ๑
คุณวันทนา พระองค์ทรงแสดงไว้เสียทุกอย่างเชียวนะคะ ถึงแม้ว่าจะเป็นความจริงที่แสนจะธรรมดา และสามารถเห็นกันได้ชัดๆ ทั่วไป แต่ถ้าพระองค์ไม่ทรงยกมาตรัสไว้ เราก็ไม่ค่อยจะได้คิดถึงกันเลย แล้วในพระสูตรนี้พระองค์ได้ทรงแสดงไว้หรือเปล่าคะว่า เพราะเหตุใดถ้อยคำที่ปรารภศรัทธาจึงเป็นถ้อยคำชั่วแก่คนไม่มีศรัทธา
ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงแสดงว่า ผู้ที่ไม่มีศรัทธา เวลาที่ใครพูดเรื่องศรัทธา จิตใจก็ไม่สบาย ขัดข้อง โกรธพยาบาท กระด้าง แสดงความโกรธ และความขัดใจให้ปรากฏ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าผู้ที่ไม่มีศรัทธา ก็ย่อมจะไม่เห็นความถึงพร้อมด้วยศรัทธาในตน และย่อมจะไม่ได้ปีติปราโมทย์ซึ่งมีการถึงพร้อมด้วยศรัทธาเป็นเหตุ
คุณวันทนา จริงด้วยนะคะ อาจารย์ อย่างผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค จึงกล่าวสรรเสริญคุณของพระพุทธองค์ ผู้ที่ไม่มีศรัทธาในพระองค์ก็ย่อมจะเดือดร้อน อย่างพวกเดียรถียปริพาชก และนิครนถ์นาฏบุตรผู้เป็นเจ้าลัทธิหนึ่งที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย พอได้ยินได้ฟังคำสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเข้าก็เดือดร้อนถึงกับไม่สบายไปเลย
สำหรับถ้อยคำปรารภศีล เป็นถ้อยคำชั่วแก่ผู้ทุศีล อันนี้หมายความว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ คือผู้ที่ทุศีลนั้น เวลาที่ใครพูดถึงเรื่องศีล จิตใจก็ไม่สบาย ขัดข้อง โกรธ กระด้าง แสดงความขัดใจให้ปรากฏ เพราะว่าคนทุศีลก็ย่อมจะไม่เห็นความถึงพร้อมด้วยศีลในตน และย่อมจะไม่ได้ปีติปราโมทย์ซึ่งมีการถึงพร้อมด้วยศีลเป็นเหตุ
คุณวันทนา ถ้าคนที่อุปนิสัยอย่างไรก็คงมีความพอใจที่จะได้ฟังคำพูดชนิดที่ตรงกับอุปนิสัยของตน อย่างคนที่มีอุปนิสัยในการรักษาศีล ก็คงจะยินดีที่จะได้คบหาสมาคมหรือสนทนากับผู้ที่มีศีลด้วยกัน เพราะว่าต่างผ่ายต่างก็มีคำพูดซึ่งยังกัน และกันให้เกิดปีติโสมนัสในคุณความดี คือการรักษาศีลที่ต่างฝ่ายต่างประพฤติ เพราะฉะนั้น คนที่มีศีลย่อมจะทำความคุ้นเคยหรือชอบพอกับคนที่ไม่มีศีลได้ยาก เพราะชอบไม่ตรงกัน ส่วนผู้ที่มีอุปนิสัยหนักไปในทางอื่นๆ ก็เช่นกัน อย่างผู้ที่มีศรัทธามีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ก็ย่อมจะทนฟังคำพูดของผู้ที่ลบหลู่คุณพระรัตนตรัยไม่ได้ ผู้ที่มีพาหุสัจจะคือสดับตรับฟังมาก ก็กล่าวธรรมตามที่ได้ฟังมามาก ซึ่งก็ย่อมไม่เป็นที่พอใจของผู้ที่สดับตรับฟังน้อย ส่วนผู้ที่มีอุปนิสัยในการสละทรัพย์สิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ก็อดไม่ได้ที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่น ซึ่งก็ย่อมจะไม่เป็นที่พอใจของคนที่มีอุปนิสัยตระหนี่หวงแหน ทีนี้ผู้ที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็มีคำพูดที่เป็นเหตุผลละเอียดลึกซึ้ง ซึ่งก็ย่อมจะไม่เป็นที่พอใจของผู้ที่มีปัญญาทราม
ท่านผู้ฟังคะ จากการสนทนาของเราในวันนี้ ก็คงจะได้ทราบว่าคำพูดที่ดีมีประโยชน์นั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะมีประโยชน์สำหรับทุกๆ คนไปหรือทุกสถานที่ไป เพราะว่าบางครั้งก็อาจจะทำให้ผู้ฟังขุ่นเคืองใจ แต่ถ้าท่านจะได้พิจารณาไตร่ตรองให้ลึกซึ้งก็จะเห็นได้ว่า แท้จริงคำพูดที่เป็นเหตุให้เจริญกุศลก็ยังคงเป็นคำพูดที่ดีทุกกาลสมัย และทุกสถานที่ แต่ผู้ที่เห็นผิดก็ย่อมเห็นว่า คำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์นั้นไม่ตรงกับอัธยาศัย ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามได้แล้ว ก็ยังทำให้จิตใจขุ่นเคืองไม่เป็นสุข แต่ถ้าจะได้หวนมาพิจารณาไตร่ตรองเหตุผล และได้รู้ความจริงแล้ว ก็คงจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงจิตใจที่เห็นผิด และเป็นอกุศลให้ผ่องใสเป็นกุศลได้ เมื่อได้ฟังคำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์นั้น ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะได้เห็นประโยชน์อันเกิดจากพระมหากรุณาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ประทานพระธรรมวินัยไว้ ให้พุทธบริษัทได้ประพฤติปฏิบัติ และขัดเกลาจิตใจครบทุกขั้นอย่างสมบูรณ์ สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔