บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
ครั้งที่ ๓
รูปเกิดดับรวมกันหลายรูป
อารมณ์ อายตนะ วัณณะ มัจฉริยะ
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟัง ท่านผู้ฟังคงจะจำได้นะคะ ว่า อาจารย์สุจินต์ได้กล่าวถึงสมัยพุทธกาลว่า ในสมัยนั้นมีการศึกษาหลักธรรมทั้งขั้นปริยัติ และขั้นปฏิบัติควบคู่กันไป เพราะการปฏิบัติธรรมคือ การพิสูจน์ธรรมที่ได้ฟัง และที่ตรองตามจนเข้าใจ แล้วน้อมมาพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง ดิฉันจึงคิดว่าเราควรจะได้พูดกันถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมด้วย แต่ว่าอาจารย์คะ ดิฉันยังมีข้อข้องใจบางประการที่ใคร่จะเรียนถาม อาจารย์จะขัดข้องไหมคะ
ท่านอาจารย์ ไม่ขัดข้องค่ะ
คุณวันทนา คืออย่างนี้ค่ะ ดิฉันยังข้องใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า เท่าที่พูดกันมาแล้วนะคะ ทำไมเราจึงต้องแยกสีว่าเป็นรูปๆ หนึ่ง จะเอาไปรวมเป็นรูปเดียวกับวัตถุที่สีอาศัยอยู่ ได้ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ เพราะว่ารูปสีกับวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของสีนั้น ถึงแม้ว่าจะแยกกันไม่ได้ก็จริง แต่ถึงกระนั้นรูปสีก็ไม่ใช่รูปเดียวกับวัตถุที่ตั้งของสี เช่นเดียวกับรสของสิ่งต่างๆ คุณวันทนาก็คงจะทราบนะคะ ว่ารสก็แยกออกจากสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของรสไม่ได้ แต่รสก็ไม่ใช่รูปวัตถุสิ่งนั้น ใช่ไหมคะ อย่างผลไม้นี่นะคะ ถ้าคุณวันทนาลองจับดูจะรู้สึกอย่างไรคะ
คุณวันทนา แข็งค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วถ้าลองชิมดูล่ะคะ รู้สึกยังไง
คุณวันทนา ถ้าเป็นมะม่วงดิบ ก็อาจจะรู้สึกเปรี้ยวค่ะ
ท่านอาจารย์ ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง หวานหรือเปรี้ยวนั้น ต่างกันหรือเหมือนกันคะ
คุณวันทนา ไม่เหมือนกันค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คุณวันทนาจะว่าลักษณะที่อ่อนนั้นเป็นรูปเดียวหรือมีลักษณะอย่างเดียวกับรสหวานหรือเปรี้ยวได้ไหมคะ
คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่ารูปหวานหรือรูปเปรี้ยว และรูปอ่อนหรือรูปแข็ง จะแยกกันไม่ได้ มีรวมกันอยู่ในที่นั้นก็จริง แต่ว่าทุกๆ รูปนั้นก็ต่างกันโดยลักษณะ ไม่ใช่รูปเดียวกัน สีก็เป็นอีกรูปหนึ่งที่รวมอยู่กับรูปวัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของสี คุณวันทนาจะสังเกตว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏขึ้น จะมีแต่เฉพาะสิ่งนั้นสิ่งเดียวไม่ได้ ต้องมีสิ่งอื่นๆ รวมอยู่ในสิ่งนั้นด้วย และสิ่งที่รวมกันอยู่นั้นก็เป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น อย่างรูปต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปนั้น ที่เราจะรู้ว่ามีรูปอื่นๆ รวมอยู่ในรูปนั้นด้วย ก็เพราะเหตุว่ามีทางที่สามารถจะรู้รูปอื่นที่รวมอยู่ด้วยได้ เช่น รสต่างๆ เป็นรูปที่รวมอยู่ในวัตถุ และอาหารต่างๆ ที่เราจะรู้ได้ว่ามีรูปรสรวมอยู่ในวัตถุ และอาหารนั้นก็เพราะอาศัยลิ้น ถ้าคุณวันทนาเพียงแต่เห็นอาหารไม่ชิมดู ไม่อาศัยลิ้น จะรู้ได้ไหมคะว่า อาหารนั้นเค็มหรือหวาน
คุณวันทนา ถ้าเพียงเห็นก็ไม่รู้รสของอาหารนั้น
ท่านอาจารย์ บางทีคุณวันทนาก็อาจจะเดาว่าของนั้นคงจะเค็มพอดีแล้ว แต่เวลาชิมจริงๆ อาจจะเค็มกว่าที่คิดไว้ก็ได้ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น การรู้รูปรสที่รวมอยู่ในวัตถุสิ่งต่างๆ นั้นก็ต้องอาศัยลิ้นจึงจะรู้ได้ กลิ่นก็เป็นอีกรูปหนึ่งซึ่งมีรวมอยู่ในวัตถุต่างๆ ด้วย คุณวันทนาก็คงจะได้กลิ่นของสิ่งต่างๆ อยู่เรื่อยๆ ในอาหารมีกลิ่นไหมคะ
คุณวันทนา มีค่ะ
ท่านอาจารย์ ในดอกไม้มีกลิ่นไหมคะ
คุณวันทนา ก็ต้องมีค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาเพียงแต่เห็นสีของดอกไม้ แต่กลิ่นของดอกไม้ไม่กระทบจมูก คุณวันทนาจะรู้กลิ่นไหมคะ
คุณวันทนา ไม่รู้ค่ะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วว่า ถึงแม้ว่ารูปกลิ่นจะเป็นอีกรูปหนึ่งที่รวมอยู่ในดอกไม้นั้น ก็เป็นรูปที่จะรู้ได้ โดยจะต้องอาศัยจมูก ส่วนสีก็เป็นรูปที่จะรู้คือเห็นได้โดยจะต้องอาศัยตา ถ้าตาบอดก็ไม่สามารถจะเห็นรูปสีซึ่งมีอยู่ในวัตถุต่างๆ ได้เลย เพราะถึงแม้ว่ารูปสีจะมีจริง แต่การที่จะเห็นสีได้ก็จะต้องอาศัยตา กลิ่นก็เหมือนกันนะคะ ถ้าจมูกเสียหรือวันนั้นเกิดเป็นหวัด คุณวันทนาก็ไม่สามารถจะรู้รูปกลิ่นที่มีอยู่ในวัตถุนั้น เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าในวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะมีรูปหลายๆ รูปรวมกันอยู่ แต่การที่จะรู้ลักษณะของแต่ละรูปได้ ก็ต้องอาศัยทางแต่ละทาง ไม่ใช่ว่าเมื่อมีตาแล้วก็จะทั้งเห็นสี ทั้งได้ยินเสียง ทั้งรู้กลิ่น รู้รสได้โดยอาศัยตาเพียงอย่างเดียว หรือไม่ใช่ว่าเมื่อมีหูก็สามารถจะมีทั้งได้ยินเสียง ทั้งเห็น ทั้งได้กลิ่น และทั้งรู้รสได้โดยอาศัยหูเพียงอย่างเดียว และก็ถ้าสีไม่เป็นอีกรูปหนึ่งต่างหากที่รวมอยู่ในรูปวัตถุต่างๆ แล้ว จะเห็นอะไรไหมคะ
คุณวันทนา ก็ต้องไม่เห็นอะไรเลยซิคะ
ท่านอาจารย์ เมื่อสีเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา สีก็ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง คุณวันทนาก็จะต้องสามารถจำแนกโดยลักษณะได้ว่า สีเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม
คุณวันทนา ก็ควรจะเป็นรูป เพราะไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีความรู้สึกนึกคิด อย่างที่อาจารย์เคยพูดไว้ในครั้งก่อน ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็คงเป็นที่ยอมรับแล้วนะคะ ว่า สีเป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะปรากฏให้เห็นได้ทางตา ถ้าใครตาบอดก็ไม่สามารถจะเห็นรูปสีได้เลย แต่ก็ยังคงสามารถที่จะรู้รูปอื่นได้ ถ้ามีทางสำหรับรู้รูปนั้นๆ
คุณวันทนา พวกที่ตาบอดสีนะคะ หรือไม่ก็พวกสัตว์ต่างๆ อาจจะเห็นสีไม่เหมือนกับคนธรรมดา เพราะฉะนั้นรูปสีที่คนตาบอดเห็น จะเป็นรูปเดียวกับที่คนตาดีเห็นไหมคะ
ท่านอาจารย์ รูปสีหมายถึงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรทั้งนั้น และการที่ปรากฏเป็นสีต่างๆ นั้นย่อมแล้วแต่ปัจจัยที่เป็นส่วนประกอบของการเห็น ถ้าเราใส่แว่นตาสีต่างๆ สีที่เห็นก็เปลี่ยนไป ถ้าแสงสว่างไม่พอ สีที่เห็นก็เปลี่ยนไป หรือถ้าประสาทตาบกพร่องไม่สมบูรณ์ สีที่เห็นก็เปลี่ยนไป แต่ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรๆ ก็ไม่สำคัญค่ะ ความสำคัญอยู่ที่ว่า สีเป็นรูปที่ปรากฏให้เห็นทางตา ถ้าหลับตาเสียถึงแม้ว่าจะมีวัตถุสิ่งใดที่รู้ได้ทางอื่น เช่น จับหรือสัมผัสดูก็ได้ ดมดูก็ได้ หรือชิมดูก็ได้ แต่ก็ไม่สามารถจะมองเห็นรูปสีที่รวมอยู่กับรูปอื่นๆ นั้นด้วย คุณวันทนายังมีข้อสงสัยเรื่องรูปสีอีกไหมคะ
คุณวันทนา ไม่มีค่ะ ดิฉันอยากเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับศัพท์ทางพระพุทธศาสนาบางคำ อาจารย์คงไม่ขัดข้องที่จะตอบนะคะ อย่างคำว่า รูปารมณ์ หมายความว่ายังไงคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาศึกษาพระธรรมต่อๆ ไปก็จะรู้ว่า คำว่ารูปนั้น นอกจากจะหมายถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งหมดทั้ง ๒๘ รูปแล้วนะคะ บางแห่งหมายถึงเฉพาะรูปสีซึ่งเป็นรูปที่ปรากฏทางตาเพียงรูปเดียวเท่านั้นค่ะ อย่างเช่น ขณะที่กำลังเห็นนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนั้นเป็นรูปารมณ์ คำว่า รูปารมณ์ ก็มาจากคำว่า “รูป” และคำว่า “อารมณ์” รวมกันเป็นรูปารมณ์ คำว่าอารมณ์หมายถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น และคำว่า รูป ที่เป็นรูปารมณ์ในขณะนั้นก็หมายเฉพาะรูปสีรูปเดียวเท่านั้น ฉะนั้นคำว่ารูปารมณ์จึงหมายถึงรูปสีที่จิตกำลังรู้หรือกำลังเห็นในขณะนั้นค่ะ
คุณวันทนา เมื่อกี้นี้อาจารย์อธิบายความหมายของคำว่าอารมณ์ อารมณ์แปลว่าสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะฉะนั้นเวลาเราเห็นถ้วยแก้วสักใบนี่นะคะ หรือเห็นดอกไม้ สิ่งที่ถูกเห็นนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ และคำว่า อารมณ์ นั้นก็มีความหมายกว้างนะคะ ไม่ได้หมายเฉพาะรูปสีที่คุณวันทนาเห็นทางตาเท่านั้น ไม่ว่าจิตชนิดไหนกำลังรู้อะไรขณะไหน สิ่งที่จิตกำลังรู้ขณะนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตทุกอย่าง
คุณวันทนา เพราะฉะนั้นเพื่อประกอบความเข้าใจนะคะ ดิฉันจะลองยกตัวอย่างอารมณ์ที่จิตรู้ทางทวารอื่นๆ บ้างนะคะ อย่างเวลาได้ยินเสียงเพลง เสียงเพลงก็เป็นอารมณ์ของจิตใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ
คุณวันทนา เวลาที่ได้กลิ่นน้ำอบหอมๆ กลิ่นนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิต ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ใช่ค่ะ
คุณวันทนา เวลารับประทานอาหาร รสอาหารที่เป็นอารมณ์ของจิตที่รู้รสนั้น ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ หรือแม้แต่เวลาที่คุณวันทนานอนหลับแล้วก็ฝันไปต่างๆ เรื่องที่คุณวันทนาฝันนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังฝัน ซึ่งกำลังรู้เรื่องที่ฝันในขณะนั้นนั่นเองค่ะ
คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า จิตจะต้องมีอารมณ์อยู่ตลอดเวลาซินะคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ถ้ามีจิตขณะใด ก็จะต้องมีอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ขณะนั้นด้วยทุกครั้ง
คุณวันทนา อาจารย์คะ ทีนี้อย่างนี้ค่ะ ในขณะที่เรานั่งรถไปทำงาน สมมติว่าจิตของเรามัวคิดไปในเรื่องต่างๆ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของคนทั่วๆ ไปที่นั่งรถ ใช่ไหมคะ เพราะไม่ใช่คนขับนี่จะได้รู้ว่าจะต้องระวังหรือจะต้องเห็นอะไรในสองข้างทางนั้นบ้าง ทีนี้อย่างเวลาที่เราเป็นคนนั่งนี่นะคะ เพราะใจเรามัวไปคิดในเรื่องอื่น ดิฉันจึงอยากจะทราบว่าในขณะนั้นมีอารมณ์หรือเปล่าค่ะ ถ้ามี มีอะไรเป็นอารมณ์
ท่านอาจารย์ ที่คุณวันทนานั่งรถ แล้วก็แทนที่จะดูสองข้างทาง ก็มัวคิดอะไรเพลิน ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคุณวันทนามองเห็นอะไรบ้างหรือเปล่าคะ หรือว่ามองไม่เห็นอะไรเลย
คุณวันทนา เห็น แต่ไม่ทราบว่าเห็นอะไร
ท่านอาจารย์ ถึงจะไม่ทราบว่าเห็นอะไร เพียงแต่เห็นสีต่างๆ ที่ปรากฏ ขณะนั้นก็เป็นจิตที่มีรูปสีเป็นอารมณ์ ไม่จำเป็นที่คุณวันทนาจะต้องรู้ว่าเห็นอะไร ขณะใดที่มีสีปรากฏขณะนั้นก็จะต้องมีจิตที่เห็นสีนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตเห็น สีก็ต้องเป็นอารมณ์ของจิตเห็น และขณะที่คุณวันทนาคิดถึงเรื่องอื่น โดยที่ไม่สนใจกับสิ่งที่คุณวันทนามองเห็น ขณะที่กำลังคิดถึงเรื่องอะไร เรื่องนั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตที่คิดเรื่องนั้นขณะนั้นค่ะ
คุณวันทนา ก็หมายความว่า อารมณ์ของจิตนี่สลับกัน อาจจะเห็นแล้วก็นึกคิด อย่างนี้ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เป็นอารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ในขณะนั้น ในขณะที่เห็น จิตมีสีเป็นอารมณ์ และขณะที่นึกถึงเรื่องอื่นก็มีเรื่องอื่นเป็นอารมณ์
คุณวันทนา ก็เปลี่ยนไปอย่างนี้เรื่อยๆ นะคะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาเข้าใจความหมายของคำว่าอารมณ์หรือยังคะ
คุณวันทนา เข้าใจขึ้นมากเทียวค่ะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ คำว่า รูปารมณ์ล่ะคะ เข้าใจหรือยังคะ
คุณวันทนา เข้าใจค่ะ
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจแล้ว คุณวันทนาบอกอีกครั้งซิคะว่า รูปารมณ์ หมายความถึงรูปทั้งหมด ๒๘ รูป หรือว่าหมายความถึงอะไรคะ
คุณวันทนา หมายถึงรูปสีอย่างเดียวเท่านั้นค่ะ
ท่านอาจารย์ เมื่อไรคะ
คุณวันทนา ขณะเห็นค่ะ
ท่านอาจารย์ และขณะที่กำลังรู้สีนั้นด้วยนะคะ
คุณวันทนา ค่ะ
ท่านอาจารย์ ยังมีคำอื่นอีกไหมคะที่คุณวันทนาอยากจะทราบ
คุณวันทนา ยังมีค่ะ ดิฉันคิดว่าคำต่อไปเห็นจะได้แก่ รูปายตนะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาอยากจะทราบเพราะเหตุว่ามีคำว่ารูปอยู่ด้วย ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาจะต้องทราบความหมายของคำว่า อายตนะก่อนนะคะ คำว่า อายตนะ หมายถึงสภาพธรรมซึ่งเป็นที่ต่อให้อารมณ์ปรากฏ ขณะนี้คุณวันทนาเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างหน้า เห็นรูปสีของวัตถุสิ่งของต่างๆ แต่คุณวันทนาไม่เห็นรูปของวัตถุสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างหลังคุณวันทนาเลย ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ไม่เห็นค่ะ
ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่ารูปสีจะมีอยู่ล้อมรอบตัวคุณวันทนาก็ตามนะคะ แต่ว่าถ้ารูปใดไม่กระทบกับตาในขณะใด รูปนั้นก็ไม่ต่อกับตาในขณะนั้นการเห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น คำว่ารูปายตนะนั้น ก็ได้แก่เฉพาะรูปสีที่กระทบกับตา แล้วทำให้เกิดการเห็นขึ้นในขณะนั้นเท่านั้น คุณวันทนาพอจะเข้าใจความหมายของคำว่ารูปายตนะแล้วหรือยังคะ
คุณวันทนา เข้าใจค่ะ
ท่านอาจารย์ ยังมีคำอื่นอีกไหมคะ
คุณวันทนา มีค่ะ
ท่านอาจารย์ คำอะไรคะ
คุณวันทนา คำว่า รูปาวจรจิต
ท่านอาจารย์ รูปาวจรจิต ก็เป็นจิตที่พ้นจากการรู้รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสถูกต้องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อได้เจริญความสงบมั่นคงขึ้นจนเป็นสมาธิถึงขั้นฌานคือขั้นอัปปนาสมาธิซึ่งเป็นสมาธิที่สงบมั่นคงแนบแน่นในอารมณ์เดียวทางใจ จิตที่สงบแนบแน่นมั่นคงในอารมณ์เดียวทางใจที่เป็นอัปปนาสมาธินั่นเองค่ะที่เป็นรูปาวจรจิต คุณวันทนาพอจะเข้าใจความหมายของคำว่ารูปาวจรจิตแล้วหรือยังคะ
คุณวันทนา แหม รู้สึกว่าคำนี้จะเข้าใจยากสักหน่อยนะคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็เอาไว้ศึกษาต่อไปทีหลังนะคะ ยังมีคำอื่นอีกไหมคะ
คุณวันทนา มีค่ะ คำว่า ปิยรูปสาตรูป
ท่านอาจารย์ คำว่า ปิยรูปสาตรูป ไม่ได้หมายเฉพาะรูปเท่านั้น คำว่าปิยรูปสาตรูปนั้น หมายถึงทุกอย่างที่เป็นที่รักที่พอใจทั้งนามธรรม และรูปธรรม เวลาที่ต้องการเห็น ต้องการได้ยิน หรืออยากจะมีความรู้สึกเป็นสุข และอะไรๆ ก็ตามค่ะซึ่งเป็นที่รักที่พอใจ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ทุกอย่างที่เป็นที่ยินดีพอใจนั้นก็เป็นปิยรูปสาตรูป เพราะฉะนั้นคุณวันทนาก็พอจะเห็นได้แล้วนะคะ ว่า คำว่ารูปในพระพุทธศาสนานั้น บางครั้งหมายถึงรูปทั้งหมดทั้ง ๒๘ รูป และในบางครั้งก็หมายเฉพาะรูปสีเพียงรูปเดียว และในบางครั้งก็หมายรวมรูปธรรม และนามธรรม เช่น คำว่า ปิยรูปสาตรูป
คุณวันทนา ถ้าจะเดาความหมายของคำแต่ละคำเอาเอง คงไม่ได้นะคะ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ ต้องแล้วแต่ความหมาย และวิธีใช้คำในภาษาหนึ่งๆ คำว่า น้ำ ในภาษาไทยคุณวันทนาคงทราบว่าหมายความถึงอะไร แต่ถ้าดิฉันจะพูดว่า น้ำมือ คุณวันทนาจะยังคิดว่าเป็นน้ำหรือเปล่าคะ
คุณวันทนา ไม่คิดอย่างนั้นหรอกค่ะ คิดว่าเป็นสิ่งอื่นที่มีความหมายไปอย่างอื่น
ท่านอาจารย์ หรืออย่างจะพูดว่า สิ่งที่คุณวันทนาชอบที่สุดหรือนิยมที่สุดนั้น ก็อาจจะเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรมก็ได้ ใช่ไหมคะ เช่นคุณวันทนาอาจจะนิยมความเสียสละ ความไม่เห็นแก่ตัว หรืออาจจะนิยมความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามของวัตถุสิ่งของต่างๆ ก็ได้ ดิฉันไม่จำเป็นที่จะต้องแยกถามว่าคุณวันทนานิยมรูปอะไรมากที่สุด หรือนิยมนามอะไรมากที่สุด แต่อาจจะถามรวมว่าสิ่งที่คุณวันทนานิยมที่สุดนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้นคำว่า ปิยรูปสาตรูป ในภาษาบาลีก็เช่นเดียวกันค่ะ ไม่ได้หมายเฉพาะรูป แต่หมายถึงทุกอย่างซึ่งเป็นที่รักที่ปรารถนา
คุณวันทนา ยังมีคำอื่นอีกไหมคะอาจารย์ ในภาษาบาลีที่มีความหมายหลายอย่างเหมือนอย่างคำว่า ปิยรูปสาตรูปที่อาจารย์ได้อธิบายมาแล้วน่ะค่ะ
ท่านอาจารย์ มีค่ะ ดิฉันจะยกตัวอย่างคำที่คุณวันทนาเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว อย่างคำว่า วัณณะ เป็นภาษาบาลีแปลว่าสีก็ได้ หรือแปลว่าคำสรรเสริญก็ได้ ที่แปลว่า คำสรรเสริญนั้นก็ได้แก่คำว่าวัณณมัจฉริยะ มัจฉริยะแปลว่าความตระหนี่ ความหวงแหน ไม่อยากให้เป็นของคนอื่น ไม่อยากให้คนอื่นได้ร่วมรับประโยชน์ในสิ่งที่ตนมีด้วย เพราะฉะนั้นคำว่า วัณณมัจฉริยะ ก็หมายถึงการตระหนี่คำสรรเสริญ ความตระหนี่เป็นอกุศลธรรมอย่างหนึ่ง คนที่สะสมความตระหนี่ไว้มากๆ คนที่มีความตระหนี่เป็นเจ้าเรือนนั้นก็มีความตระหนี่ไปในลักษณะต่างๆ กัน คุณวันทนาเคยสังเกตเห็นคนที่ตระหนี่คำสรรเสริญไหมคะ
คุณวันทนา เคยเห็นค่ะ คนบางคนเมื่อได้ทราบว่าคนอื่นทำความดี ได้รับบำเหน็จรางวัล ได้รับการสรรเสริญยกย่องแทนที่จะกล่าวชมเชยหรืออนุโมทนาก็กลับทำเฉย เพราะถือว่าเป็นคนอื่นไม่ใช่ญาติมิตรของตัว เมื่อเป็นอย่างนี้นะคะ แทนที่กุศลจิตจะเกิด ก็กลับเป็นอกุศลเกิดแทน
ท่านอาจารย์ นอกจากนี้ คุณวันทนายังสังเกตเห็นความตระหนี่ในอะไรอีกบ้างคะ
คุณวันทนา เคยเห็นความตระหนี่ในลาภที่ได้มาแล้วค่ะ บางคนเมื่อได้ลาภมาแล้ว ก็ไม่ยอมแบ่งปันให้คนอื่นเลย หรือว่าบางทีทั้งๆ ที่ยังไม่ได้นะคะ แต่ก็อุตส่าห์คิดว่า ถ้าได้มาแล้วตัวเองจะใช้เพื่อความสุขของตัวอย่างไรบ้าง ไม่เคยคิดจะแบ่งปันให้คนอื่นเลยเชียวค่ะ อย่างคนที่หวังรวยจากลอตเตอรี่ ก็หวังว่าถ้าถูกรางวัลที่หนึ่งละก็จะทำอะไรบ้างเพื่อประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น เช่นจะซื้อที่ดิน จะสร้างบ้าน ซื้อรถยนต์ สรุปแล้วก็หวังที่จะได้ทุกอย่างที่ตัวปรารถนาโดยไม่คิดแบ่งปันให้ใครเลย
ท่านอาจารย์ นอกจากการตระหนี่ในคำสรรเสริญ และการตระหนี่ในลาภแล้ว คุณวันทนาคิดว่ายังมีการตระหนี่ในอะไรอีกไหมคะ ที่พอจะสังเกตเห็นอยู่บ้างเหมือนกัน
คุณวันทนา มีค่ะ อย่างการตระหนี่ในอาหาร และของบริโภคต่างๆ ก็เห็นกันง่ายๆ นะคะ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการตระหนี่ที่นั่ง ที่นอน ซึ่งจะเห็นได้ทั่วๆ ไป ในรถประจำทางหรือรถไฟ ดิฉันเคยเห็นค่ะ บางคนนะคะ ได้ที่นั่งในรถประจำทางแล้ว ถ้าหากว่าตัวเองมีถุงกระเป๋าพะรุงพะรังแทนที่จะเอาวางไว้บนตักเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้โดยสารอื่นๆ ได้อาศัยนั่งด้วย ก็กลับเอากระเป๋านั้นวางไว้บนที่นั่ง ไม่ยอมเอื้อเฟื้อให้คนอื่นได้นั่ง แล้วก็บางทีนะคะ ในขณะที่โดยสารรถไฟ ผู้โดยสารบางคนจะจองที่นั่งไว้ทั้งด้านซ้ายด้านขวาของตัวรถหมดเลยค่ะ เผื่อว่าแดดร่มลมตกจะได้ย้ายที่นั่งตามอัธยาศัย ไม่สนใจใยดีว่าผู้โดยสารคนอื่นจะไม่มีที่นั่ง อย่างนี้ก็เป็นตัวอย่างของการหวงแหนที่นั่งที่นอนในรถโดยสารเท่านที่เคยเห็นมาค่ะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็ได้ยกตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังได้เห็นความตระหนี่ลักษณะต่างๆ แล้วนะคะ ยังมีความตระหนี่ในอะไรอีกบ้างหรือเปล่าคะ
คุณวันทนา เดี๋ยวค่ะ ลองคิดดูก่อน เท่าที่ยกตัวอย่างมาแล้ว ก็มีความตระหนี่ในลาภ ความตระหนี่คำสรรเสริญยกย่อง ความตระหนี่ที่นั่งที่นอนในรถ ความตระหนี่ในเรื่องของกินของใช้ ต่อไปก็เห็นจะเป็นความตระหนี่ในธรรมนะคะ อาจารย์ คือบางคนมีความรู้มาก แต่ก็ไม่อยากจะให้คนอื่นได้มีความรู้มากอย่างตนด้วย อย่างนี้เป็นต้นค่ะ
ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องความหมายของพยัญชนะแต่ละคำ เราได้กล่าวถึงแล้วนั้น คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ในการศึกษาพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะต้องมีความละเอียดรอบคอบ และก็จะต้องรู้จริงในความหมายของพยัญชนะแต่ละคำในที่แต่ละแห่ง เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นคำเดียวกัน แต่ก็อาจจะมีความหมายได้หลายอย่าง ถ้าใครประมาทหรือนึกเดาเอาเองก็จะทำให้เข้าใจธรรมผิดพลาดได้
คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นเรื่องสภาพธรรมทั้งหลายที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้โดยถ่องแท้สิ้นเชิง ฉะนั้นพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงจึงละเอียดสุขุมลึกซึ้ง และพยัญชนะบางคำก็มีความหมายหลายอย่างตามหลักภาษาที่ทรงใช้ ถ้าท่านผู้ฟังใคร่จะเข้าใจพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเข้าใจความหมายอันแท้จริงของพยัญชนะบางคำ ท่านก็คงไม่ด่วนที่จะเข้าใจด้วยการนึกเดา หรืออนุมานเอาเองตามความคิดของท่าน แต่คงจะสนใจ และศึกษาธรรมให้ละเอียดยิ่งขึ้นเพื่อท่านจะได้เข้าใจคำสอนของพระองค์โดยถูกต้องถ่องแท้
การสนทนาของเราในวันนี้ ได้ดำเนินมาด้วยเวลาพอสมควรแล้ว จึงขอยุติลงเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔