บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๓๑

    อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ จากการสนทนาบางตอนในครั้งที่แล้ว ซึ่งได้กล่าวถึงธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ในเรื่องของการสรรเสริญ ทำให้ได้แง่คิดว่า เราจะรู้ว่าใครหรืออะไรควรสรรเสริญนั้น ก็น่าที่จะพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อนว่าผู้อื่นหรือสิ่งนั้นควรแก่การสรรเสริญหรือไม่ ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงลักษณะของบุคคลต่างๆ ตามสภาพของจิต เจตสิก ไว้โดยละเอียด เพื่อให้เห็นว่าบุคคลใดเป็นพาลหรือเป็นบัณฑิต มีคุณหรือมีโทษแก่ผู้ที่จะคบหาสมาคมประการใดบ้าง แต่พระองค์ก็คงจะไม่ได้ทรงมุ่งหมายให้พุทธศาสนิกดูหมิ่น ดูถูกหรือไปหวังร้ายต่อบุคคลเหล่านั้น ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ การดูหมิ่นดูถูก และหวังร้ายต่อบุคคลอื่นนั้นเป็นอกุศลธรรมค่ะ และถ้าคุณวันทนาตรวจดูในพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตลอดหมด จะไม่พบเลยว่ามีตอนหนึ่งตอนใดหรือคำหนึ่งคำใดที่พระองค์จะทรงสอนหรือสนับสนุนให้ผู้หนึ่งผู้ใดเกิดอกุศลจิต แม้ในทางหนึ่งทางใด แต่ว่าในทางตรงกันข้ามนะคะ ไม่ว่าใครจะเป็นอย่างไร พระองค์ก็ทรงสอนให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระองค์นั้น เว้นจากอกุศลจิต และให้เจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นในทุกๆ ทาง ด้วยการไม่ให้ใส่ใจเพ่งโทษบุคคลอื่น แต่ให้หมั่นพิจารณาตรวจตราตนเอง เพื่อให้เห็นสภาพลักษณะจิตใจของตนเองว่ายังมีกิเลสอะไรบ้างที่ควรจะขัดเกลาให้เบาบาง และให้หมดจดยิ่งขึ้นด้วย

    คุณวันทนา เพ่งโทษคนอื่นเป็นกุศลหรืออกุศลคะ

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลค่ะ

    คุณวันทนา ทำไมอย่างนั้นล่ะคะ การเพ่งโทษคนอื่นเป็นกุศลบ้างไม่ได้เลยทีเดียวหรือคะ ทำไมจึงจะต้องเป็นแต่อกุศลเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตนั้นรู้ว่าผู้ใดเป็นพาล ผู้ใดเป็นบัณฑิต ผู้ใดประพฤติผิด ผู้ใดประพฤติชอบ แต่การเพ่งโทษคนอื่นไม่ใช่กุศลจิตค่ะ เพราะว่าขณะที่สนใจใส่ใจหมกมุ่นในโทษผิดของบุคคลอื่นนั้น จิตใจย่อมจะเดือดร้อน เศร้าหมอง ขุ่นเคือง ไม่พอใจในการกระทำของคนที่คิดว่าไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง

    คุณวันทนา เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องละเอียดมากทีเดียวนะคะ ถ้าจะพิจารณากันจริงๆ แล้ว ก็จะเห็นโทษอีกประการหนึ่งด้วยว่า ผู้ที่มักเพ่งโทษของผู้อื่นนั้น ย่อมจะสะสมความไม่พอใจในบุคคลต่างๆ เอาไว้มากทีเดียว ซึ่งความไม่พอใจนี้ เมื่อมีมากๆ ขึ้นแล้ว ก็ย่อมจะทำให้ผู้นั้นติหรือไม่พอใจ แม้ในบุคคลอื่นที่กระทำความดี เขาก็จะกลับเห็นเป็นโทษ และพยายามเพ่งโทษว่า เป็นการกระทำที่ไม่ดีในแง่นั้นแง่นี้ไปจนได้เหมือนกัน ดิฉันรู้สึกว่าการเพ่งโทษคนอื่นนี้ นอกจากจะเสียเวลาอันมีค่าของชีวิตไปโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาแล้ว ก็ยังไม่เห็นว่าจะให้ผลดีแก่จิตใจของผู้ที่เพ่งโทษคนอื่นอย่างไรเลย

    ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘ ข้อ ๒๘ มีข้อความว่า “โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบ แต่ว่าปกปิดโทษของตนไว้ เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ฉะนั้น” นอกจากนั้นยังมีข้อความต่อไปว่า “อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น มีความสำคัญในการยกโทษเป็นนิตย์ บุคคลนั้นเป็นผู้ไกลขากความสิ้นอาสวะ”

    คุณวันทนา ดิฉันรู้สึกว่า คำสุภาษิตต่างๆ ที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมานั้น ส่วนมากมาจากข้อความในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้นเลยทีเดียวนะคะ อย่างที่ว่าโทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะคนที่ทำผิดแล้วก็มักพยายามปิดบังความผิดของตน คำอุปมาที่กล่าวนี้ก็รู้สึกว่าชัดเจนสามารถที่จะทำให้ผู้ฟังเห็นได้ทุกกาลทุกสมัย อย่างที่ว่าการปกปิดโทษของตนไว้นั้น ก็เหมือนพรานนกปกปิดอัตภาพด้วยกิ่งไม้ นี่ก็แสดงว่า การอำพรางตัวเองในป่า โดยใช้กิ่งไม้หรือใบไม้ ก็ทำกันนมนานทุกกาลสมัยมาแล้ว เพราะฉะนั้นพระธรรมคำสอน และอุปมาของพระองค์ ดูๆ ไปไม่มีวันเก่า และล้าสมัยเลย อย่างเรื่องการเพ่งโทษคนอื่น พระองค์ก็ได้ทรงแสดงว่าไม่ใช่โทษเล็กๆ น้อยๆ หรือผิวเผิน ซึ่งถ้าใครไม่รู้ก็ย่อมทำอยู่เสมอ และทำมากๆ เสียด้วย และพระองค์ก็ได้ทรงชี้ให้เห็นโทษภัยในการเพ่งโทษผู้อื่นว่ามีมาก เพราะว่าคนที่เพ่งโทษของผู้อื่น อาสวะของผู้นั้นย่อมเจริญ และเมื่ออาสวะของผู้ที่เพ่งโทษเพิ่มขึ้นแล้ว ผู้ที่เพ่งโทษของผู้อื่นก็ย่อมเป็นผู้ที่ไกลจากการสิ้นอาสวะ นี่ก็เป็นพระมหากรุณาที่ทรงเตือนให้เห็นโทษภัย แม้ในเรื่องที่ใครๆ คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย นะคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ คำอุปมาต่างๆ ในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาค นอกจากจะไพเราะเหมาะสมกับอัธยาศัยของผู้ฟังแล้ว สิ่งที่ไพเราะยิ่งกว่าอื่นใดก็คือความจริงของข้ออุปมานั้นๆ ซึ่งถ้าคุณวันทนาสนใจ เราจะได้พูดถึงภาษิต และข้ออุปมาที่ไพเราะต่างๆ ในตอนท้ายของการสนทนานะคะ

    คุณวันทนาจำอุบาสิกาที่เป็นอุปัฏฐายของปาฏิกาชีวกได้ไหมคะ ในพระธัมมปทัฏฐกถา ปุปผวรรควรรณนา เรื่องปาฏิกาชีวก ที่พระองค์ตรัสพระคาถาเตือนว่า “ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำของคนเหล่าอื่น พึงพิจารณากิจที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำของตนเท่านั้น”

    คุณวันทนา จำได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาเล่าให้ท่านผู้ฟัง ฟังหน่อยซิคะ

    คุณวันทนา ค่ะ เรื่องก็มีอยู่อย่างนี้ คือในสมัยพระพุทธกาล มีหญิงคนหนึ่งอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี หญิงคนนี้ได้ยินคนข้างบ้านกล่าวสรรเสริญคุณขององค์สมเด็จพระศาสดาว่า พระธรรมของพระองค์นั้นบริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยอรรถ และพยัญชนะยิ่งนัก นางจึงใคร่ที่จะได้ไปฟังธรรม ณ พระวิหารที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แต่ว่าโดยปกตินางเคยเลื่อมใสในอาชีวก ชื่อปาฏิกะมาก่อน ฉะนั้นก่อนที่นางจะไปฟังธรรมของพระผู้มีพระภาค นางก็แวะไปบอกความประสงค์ของนางแก่อาชีวกปาฏิกะ เมื่ออาชีวกปาฏิกะทราบแล้วก็พยายามห้ามปรามไม่ให้นางไป แต่ว่าด้วยความประสงค์อย่างแรงกล้าของนางที่จะได้ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จึงได้ให้ลูกชายไปนิมนต์พระผู้มีพระภาคมาเสวยภัตตาหารที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น

    ข้างฝ่ายบุตรคนนี้ก็เหลือเกิน ก่อนที่จะไปนิมนต์พระผู้มีพระภาคตามที่แม่สั่ง กลับนำเรื่องนี้ไปบอกกับอาชีวกปาฏิกะ อาชีวกปาฏิกะก็ได้ห้ามปรามอีก คราวนี้ถึงกับแนะอุบายแก่บุตรชายของหญิงผู้นี้ว่า ทั้งอาชีวกเอง และบุตรชายจะเป็นผู้กินอาหารที่มารดาทำถวายพระพุทธเจ้าเสียเอง แต่บุตรชายของหญิงผู้นี้ก็ยืนกรานว่าไม่ได้หรอก จะต้องไปนิมนต์พระพุทธเจ้าให้ได้ตามที่แม่สั่ง มิฉะนั้นแล้วกลับไปบ้านก็จะโดนแม่ดุเอา

    อาชีวกปาฏิกะเห็นว่าจะห้ามปรามบุตรของหญิงนั้นไว้ไม่ได้ ก็เลยออกอุบายต่อไปว่า “จะไปนิมนต์ก็ไปเถอะ แต่ไปแล้วก็ขออย่างได้บอกถนนหนทางตำบลที่อยู่โดยชัดแจ้งแก่พระบรมศาสดาเลยนะ พระองค์จะได้หลงทาง และมาไม่ถูก”

    บุตรชายก็ทำตามอาชีวกสั่งทุกประการ ในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่พระบรมศาสดาเสด็จมายังบ้านของหญิงผู้นี้ อาชีวกก็ถือโอกาสมาที่บ้านของหญิงผู้นี้ด้วย โดยคิดว่าถ้าพระพุทธเจ้าไม่เสด็จมาโดยมาไม่ถูก ตนก็จะได้ถือโอกาสกินอาหารนั้นแทน แต่แล้วอาชีวกก็ผิดหวังเพราะคาดคะเนเหตุการณ์ผิดหมดเลย เพราะชื่อว่ากิจ (เนื่อง) ด้วยผู้แสดงทาง ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะหนทางทั้งหมดแจ่มแจ้งแก่พระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้วว่า ทางนี้ไปนรก นี้ไปกำเนิดเดรัจฉาน นี้ไปเปรตวิสัย นี้ไปมนุษยโลก นี้ไปอมตมหานิพพาน เพราะฉะนั้นทางไปบ้านหญิงผู้นี้ ก็เป็นเรื่องง่าย และเล็กน้อยเสียเหลือเกินสำหรับพระองค์ พระผู้มีพระภาคเมื่อรับบิณฑบาต และเสวยภัตตาหารในบ้านของหญิงผู้นี้เสร็จแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงกระทำอนุโมทนากิจด้วยการแสดงธรรมแก่หญิงคนนี้ ซึ่งก็ได้ยังความโสมนัสปีติแก่นางเป็นอันมากทีเดียว ถึงกับทำให้นางเปล่งคำสาธุการออกมาในขณะที่พระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่

    ฝ่ายอาชีวกปาฏิกะซึ่งนั่งอยู่เบื้องหลับของห้องนั้นได้ยินเข้า ก็เกิดความโกรธแค้นในตัวนาง และมีความริษยาในองค์พระผู้มีพระภาคเป็นที่สุด ที่ได้รับความศรัทธาเลื่อมใสทั้งหมดจากหญิงผู้นั้น อาชีวกปาฏิกะจึงได้กล่าวบริภาษ ด่าว่า สาปแช่งหญิงผู้นี้ออกมาดังๆ และเดินจากไป

    คำด่า คำสาปแช่ง ทำให้หญิงผู้นี้เกิดความอับอาย และไม่อาจจะฟังธรรมต่อไปให้เข้าใจ และเกิดธรรมปีติต่อไปได้ พระผู้มีพระภาคทรงหยั่งรู้วาระจิตของนาง จึงได้กล่าวธรรมกถาเป็นการปลอบโยนว่า “บุคคลไม่ควรทำคำแสยงขนของคนเหล่าอื่นไว้ในใจ ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำของคนเหล่าอื่น พึงพิจารณากิจที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำของตนเท่านั้น”

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำของคนเหล่าอื่นนั้น ท่านอธิบายไว้ว่าอย่างไรคะ

    คุณวันทนา ในเรื่องนี้ ท่านอธิบายว่า คนที่ไม่แลดูกรรมที่ทำแล้วของตน คือทานตนได้บริจาคแล้วหรือยัง ศีลตนได้รักษาไว้ครบถ้วนหรือไม่ การเจริญภาวนา การศึกษาธรรม ตนได้อบรมบ้างแล้วหรือไม่ มากหรือน้อยประการใด แทนที่จะตรวจตรากุศลจิต และอกุศลจิตของตนเอง บุคคลเหล่านี้ก็กลับไปเพ่งดูการกระทำของคนอื่น เช่น อุบาสกคนโน้นไม่มีศรัทธาเลื่อมใส แม้แต่ข้าวทัพพีหนึ่ง ก็ไม่ถวายบิณฑบาต สลากภัตรก็ไม่ให้ ปัจจัยอื่นๆ อย่างจีวร เป็นต้น ก็ไม่ยอมถวาย ดูโทษของอุบาสกแล้วก็ยังไม่พอ ยังดูต่อไปอีกว่าอุบาสิกาคนโน้นก็ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส แม้แต่ข้าวสักทัพพีเดียวก็ไม่ถวายบิณฑบาต สลากภัตรก็ไม่ให้ ปัจจัยอื่นๆ เช่นจีวร เป็นต้น ก็ไม่ถวายแก่สงฆ์ ต่อไปผู้ที่เพ่งโทษคนอื่นนั้น ก็ไปดูพระสงฆ์องค์เจ้าต่อไปอีกว่า ภิกษุรูปนี้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใส ไม่ทำอุปัชฌายวัตร ไม่ทำอาจริยวัตร ไม่ทำอาคันตุกะวัตร ไม่รักษาธุดงค์ ไม่อุตสาหะในการเจริญภาวนา ซึ่งในสมัยนี้นะคะ กิเลสของผู้ที่ชอบเพ่งโทษคนอื่น ก็อาจจะขยายเพิ่มขึ้นจากในแง่ต่างๆ เหล่านี้ ไปในแง่อื่นๆ ต่อไปอีกก็ได้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ และตอนจบเทศนา อุบาสิกานั้นได้รับผลจากการเทศนาอย่างไรบ้างคะ

    คุณวันทนา อุบาสิกาผู้นั้นก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน นี่ก็แสดงว่าพระธรรมเทศนา และพระพุทธวจนะขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคกอปรด้วยประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะไม่อย่างนั้นแล้วจากตัวอย่างที่เล่ามาเมื่อครู่นี้ ถ้าอุบาสิกาผู้นั้นยังมีจิตกระสับกระส่าย และไม่ได้พระมหากรุณาที่พระองค์ประทานกถาเตือน อุบาสิกาผู้นี้ก็คงหมดโอกาสที่จิตใจจะได้รับรสของพระธรรมเต็มที่ จนได้รู้แจ้งธรรมบรรลุความเป็นพระโสดาบันบุคคลในที่สุด

    ในสมัยนี้ผู้ที่จะได้ฟังพระดำรัสจากพระโอษฐ์ของพระองค์โดยตรงอย่างอุบาสิกาที่เป็นอุปัฏฐานของปาฏิกะชีวก ก็เห็นจะไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้นในข้อนี้จะมีพระธรรมวินัยข้อไหนบ้างไหมคะ ที่จะเป็นเครื่องเตือนไม่ให้พุทธศาสนิกชนเกิดอกุศลฟุ้งซ่านในเรื่องของการเพ่งโทษความไม่ดีของคนอื่น มีบ้างไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ อาฆาตวรรคที่ ๒ อาฆาตวินยสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๖๒ ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงธรรมเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลายค่ะ

    คุณวันทนา ท่านกล่าวว่าอย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านกล่าวว่า บุคคลใดที่มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุก็ไม่ควรใส่ใจในความประพฤติทางกายที่ไม่บริสุทธิ์ แต่ควรใส่ใจในความประพฤติทางวาจาที่บริสุทธิ์ของผู้นั้น อุปมาเหมือนภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เห็นผ้าเก่าที่ถนนก็เหยียบผ้านั้นให้มั่นด้วยมือซ้าย คลี่ออกดูด้วยเท้าขวา ส่วนใดเป็นสาระก็เลือกถือเอาส่วนนั้น แล้วก็หลีกไป

    คุณวันทนา ที่ท่านให้ทำอย่างนั้นก็เพื่อไม่ให้ใจเดือดร้อนขุ่นเคือง อาฆาต ซึ่งเป็นอกุศลจิตเพราะเพ่งโทษหมกมุ่นสนใจในโทษของคนอื่น ตามที่อาจารย์ว่าเมื่อกี้นี้เองนะคะ สำหรับสูตรนี้ก็คงอธิบายได้ละเอียดมากนะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าบุคคลก็ย่อมต่างๆ กันไป คือบุคคลบางคนความประพฤติทางกายไม่ดี ทางวาจาดี บางคนความประพฤติทางวาจาไม่ดี ทางกายดี บางคนความประพฤติทางกายทางวาจาไม่ดี แต่ย่อมได้ทางสงบใจ และได้รับความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร และบางคนทั้งความประพฤติทางกายทางวาจาไม่ดี และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรด้วย

    คุณวันทนา บุคคลเหล่านี้ ท่านอุปมาไว้ต่างกันหรือเหมือนกันคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อบุคคลต่างกันอุปมาก็ต่างกันค่ะ

    คุณวันทนา อย่างบุคคลที่ความประพฤติทางวาจาไม่ดีเลย แต่ทางกายดี ท่านอุปมาไว้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านอุปมาว่า ภิกษุไม่ควรใส่ใจในความประพฤติทางวาจาอันไม่บริสุทธิ์ของผู้นั้น ควรใส่ใจแต่ความประพฤติทางกายที่บริสุทธิ์ของบุคคลนั้นเท่านั้น เหมือนสระน้ำที่ถูกสาหร่ายหรือแหนคลุมไว้ คนเดินทางที่ร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ ก็ลงไปในสระนั้นแหวกสาหร่าย และแหนด้วยมือทั้งสองกอบน้ำขึ้นดื่ม แล้วพึงไป

    คุณวันทนา ส่วนคนที่ความประพฤติทางกายก็ไม่ดี ทางวาจาก็ไม่ดี แต่ย่อมได้ทางสงบใจ และได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันควร ท่านก็คงให้ภิกษุใส่ใจแต่เฉพาะการที่บุคคลนี้ได้ทางสงบใจ และความเลื่อมใสเป็นครั้งคราว ไม่ให้ใส่ใจในความประพฤติทางกาย และทางวาจาที่ไม่ดีนะคะ และท่านอุปมาข้อที่ภิกษุควรจะทำในข้อนี้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านอุปมาว่า เหมือนน้ำเล็กน้อยที่มีอยู่ในรอยโคค่ะ คนเดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ และคิดว่าน้ำในรอยโคนั้นเล็กน้อยมาก ถ้าจะกอบขึ้นดื่มหรือใช้ภาชนะตักขึ้นดื่ม ก็จะทำให้น้ำไหวบ้าง ขุ่นบ้าง ทำให้น้ำนั้นไม่ควรดื่ม ฉะนั้นก็ควรคุกเข่าก้มลงดื่มอย่างโคดื่มน้ำ แล้วหลีกไป

    คุณวันทนา แล้วก็ผู้ที่ความประพฤติทางกายก็ไม่ดี ทางวาจาก็ไม่ดี ย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรล่ะคะอาจารย์ จะมีทางใดที่พุทธบริษัทจะระลึกถึงบุคคลนั้น โดยไม่ให้จิตใจเป็นอกุศลได้ สำหรับข้อนี้ท่านอุปมาไว้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านแสดงว่า ภิกษุไม่ควรขุ่นเคืองใจในบุคคลนี้ผู้เปรียบเหมือนบุรุษผู้อาพาธ เป็นทุกข์ มีไข้หนัก เดินทางไกล ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล ข้างหลังก็มีบ้านอยู่ไกล เขาไม่ได้อาหารที่สบายถูกกับโรค ไม่ได้ยาที่เหมาะ ไม่ได้พยาบาลที่สมควร และไม่มีใครนำทางไปสู่บ้านด้วย คนเดินทางที่มีจิตกรุณาก็ย่อมจะสงสาร และอนุเคราะห์บุคคลนั้นด้วยมีความคิดว่า เขาควรจะได้อาหารดีๆ ได้ยาที่เหมาะ ได้คนพยาบาลที่สมควร และได้คนนำทางไปสู่บ้านด้วย ไม่ควรที่จะตายหรือพินาศเสียในที่นี้เลย ฉันใด คนที่ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ ทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ความสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใส แม้ในกาลอันสมควร ก็ฉันนั้น ภิกษุควรจะมีความสงสาร กรุณา เอ็นดู อนุเคราะห์ เพราะเห็นว่า คนอย่างนั้นควรละกายทุจริต และอบรมกายสุจริต ควรละวจีทุจริต และอบรมวจีสุจริต ควรละมโนทุจริต และอบรมมโนสุจริต ควรคิดอนุเคราะห์ว่า เมื่อบุคคลนั้นตายไปแล้ว ก็อย่าได้ไปสู่อบายภูมิ ทุคติ และนรกเลย

    คุณวันทนา ก็แสดงว่าพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงสอน และไม่ทรงสนับสนุนให้เกิดอกุศลจิตในบุคคลใดๆ เลย ทั้งๆ ที่บุคคลนั้นๆ ไม่มีอะไรดีสักอย่างเดียว แต่พระองค์ก็ยังทรงสอนให้เราพิจารณาเพื่อให้เกิดกุศลจิต ซึ่งก็นับเป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่งทีเดียว เพราะมิฉะนั้นแล้ว ถ้าสาธุชนคนใดไม่หยั่งรู้ถึงความจริง คือกุศล และอกุศลของตนเอง และไม่เห็นโทษภัยของอกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะสั่งสม และเจริญโทษภัยของอกุศล ด้วยการรุ้เท่าไม่ถึงการณ์ ด้วยการหลงผิดไป ก็ได้นะคะ

    ท่านอาจารย์ นอกจากนั้น ท่านยังแสดงว่าภิกษุไม่ควรขุ่นเคืองในคนดี ผู้มีความประพฤติทางกาย และทางวาจาบริสุทธิ์ และได้ทางสงบใจ และได้ความเลื่อมใส โดยกาลอันสมควรด้วยค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าท่านไม่แสดงไว้ก็คงไม่มีใครคิดถึงความจริงข้อนี้นะคะ ว่า แม้คนดีๆ มีความประพฤติทางกาย ทางวาจา น่าชม น่าสรรเสริญ ก็อาจจะเป็นที่ขุ่นเคืองของผู้ที่มักจะเพ่งโทษคนอื่นได้ สำหรับข้อที่ท่านไม่ให้อาฆาตขุ่นเคืองในคนที่มีความประพฤติดี และจิตใจดีนั้น ท่านอุปมาไว้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านอุปมาว่า เหมือนสระน้ำที่มีน้ำใส มีน้ำอร่อย มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มีท่าน้ำราบเรียบน่ารื่นรมย์ ดาระดาดไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่างๆ คนเดินทางที่ร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ พึงลงสู่สระน้ำนั้น อาบบ้าง ดื่มบ้าง แล้วขึ้นมา นั่งบ้าง นอนบ้าง ที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำฉันใด ภิกษุที่ควรใส่ใจในความประพฤติทางกายทางวาจาบริสุทธิ์ และได้ทางสงบใจ และได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควรของบุคคลนั้น ไม่ขุ่นเคืองในบุคคลนั้น เพราะการที่จิตจะเลื่อมใสได้นั้น ต้องอาศัยบุคคลที่เป็นที่น่าเลื่อมใสโดยประการทั้งปวงค่ะ

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ วันนี้เวลาแห่งการสนทนาของเราก็สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ