บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
ครั้งที่ ๓๒
บุคคลที่ควรเสพ (คบ) และไม่ควรเสพ
อกุศลธรรม ๑๐ ๒๐ ๓๐ ๔๐
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังเคยคิดบ้างไหมคะว่า ถ้าหากบุคคลที่อยู่แวดล้อมตัวเราปราศจากคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเมตตา ก็ย่อมเป็นของแน่เหลือเกินว่า ตัวเราจะต้องเดือดร้อนเพราะความประพฤติที่ขาดเมตตาของเขา และความประพฤติที่ขาดศีลไม่ว่าจะของผู้ใดนั้น ก็ย่อมจะทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อนทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ดังที่เห็นกันอยู่ทั่วๆ ไป และตามที่เป็นข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
การที่จะสามารถรู้ได้ว่า บุคคลเป็นผู้ที่มีเมตตา มีศีล มีธรรม หรือไม่นั้น ไม่ใช่ดูกันได้จากรูปร่างหรือความสวยงามของเครื่องแต่งกาย แต่จะต้องดูจากความประพฤติทางกาย ทางวาจาของบุคคลนั้น และต้องดูกันนานๆ บางครั้งท่านผู้ฟังมีความรู้สึกไหมคะว่า รูปร่างลักษณะอากัปกิริยาท่าทางที่งดงาม และเครื่องแต่งกายที่บ่งถึงรสนิยม และการศึกษาที่ได้รับการอบรมมาดีเลิศตามที่โลกนิยมกันนั้น ก่อให้เกิดความเจริญตาเจริญใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นก็จริง แต่บางครั้งบุคคลเดียวกันนี้ ก็ไม่อาจสร้างสรรความรู้สึกประทับใจในฝ่ายดีให้แก่ท่านต่อไปได้ เพียงจากคำพูด และการกระทำทางกาย ทางวาจา ที่แสดงออกมา เพราะบุคคลนั้นอาจมีวาจาที่ส่อให้เห็นถึงความเป็นผู้เพ่งโทษคนอื่น อาจพูดคำหยาบ คำเหน็บแนม ประทุษร้ายผู้ฟังให้เดือดร้อนใจ อาจพูดคำบิดเบือนคลาดเคลื่อนจากความจริงเพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตน ซึ่งมรรยาทในการแสดงออกทางวาจาเหล่านี้ ย่อมไม่ยังประโยชน์ให้เกิดแก่ตัวผู้ประพฤติเลยแม้แต่น้อย
โดยเฉพาะเรื่องวาจาที่เพ่งโทษผู้อื่น ตามที่เห็นกันอยู่ทั่วๆ ไปนั้น คนที่เพ่งโทษคนอื่น ก็ย่อมจะต้องกล่าวโทษของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้บุคคลที่ ๒ ที่ ๓ รับฟังกันต่อๆ ไป ซึ่งถ้าหากว่าผู้รับฟังนั้นเป็นบุคคลประเภทเดียวกันคือชอบเพ่งโทษคนอื่น ชอบรับฟังเรื่องราวที่เป็นโทษผิดของคนอื่น ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้อกุศลเจริญขึ้น แต่ถ้าผู้รับฟังการกล่าวโทษของผู้อื่น รับฟังด้วยใจเป็นกลาง พิจารณาเหตุ และผลตามคลองของธรรม เห็นโทษภัยของอกุศลทั้งหลาย และมีเมตตาอนุเคราะห์แม้บุคคลผู้มีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นอกุศลทุจริต ให้ละความประพฤติทุจริตทั้งหลายเสีย และอบรมความประพฤติสุจริตทางกาย วาจา ใจ ตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ผู้นั้นก็ย่อมจะเห็นพระมหากรุณาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ประทานพระธรรมโอวาทแก่พุทธบริษัทไว้โดยละเอียด
วันนี้ดิฉันคิดว่า เราน่าจะได้พูดกันถึงเรื่องประโยชน์ที่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้โดยละเอียดยิ่ง แม้ในเรื่องของอกุศลกรรม ประโยชน์เหล่านั้นมีอะไรบ้างคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ประโยชน์ก็สรุปรวมอยู่ในโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งก็มี ๓ ประการ คือ เพื่อเว้นจากการประพฤติชั่ว บำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสนั่นเองค่ะ เพราะคนที่จะเว้นจากการประพฤติชั่วได้นั้น ก็จะต้องรู้ก่อนว่าอะไรชั่ว อะไรไม่ดี จึงจะเว้นได้ และถ้าไม่พิจารณาจิตใจของเราเอง ก็ย่อมจะไม่รู้เลยค่ะว่าจิตใจของเรามีกิเลสอกุศลอะไรบ้าง ที่ทำให้ความประพฤติทางกาย ทางวาจาของเราไม่ดี และถ้าไม่รู้ก็ย่อมไม่ละการประพฤติชั่ว ไม่บำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และไม่ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลส
คุณวันทนา เรื่องของจิตใจนี่ก็รู้สึกว่าเป็นอนัตตานะคะ อาจารย์ จิตใจของใครก็ของคนนั้น คนอื่นๆ จะแก้ไขให้ก็ไม่ได้ แม้จิตใจของเราเองที่เราควรจะแก้ไขขัดเกลากิเลสอกุศลต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เรานึกหรืออย่างที่เราปรารถนาจะให้เป็นไป เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย และสิ่งแวดล้อมตามที่ได้ประสบพบเห็นบ่อยๆ หรือได้อยู่ใกล้ชิด เช่น เราไม่ชอบพูดถึงเรื่องความไม่ดีของคนอื่น ไม่ชอบพูดให้ร้ายใครเมื่ออยู่ลับหลัง แต่ถ้าเราจำเป็นจะต้องเข้าไปรวมอยู่ในกลุ่มของคนที่มีอุปนิสัยชอบพูดกันถึงแต่เรื่องราวที่ไม่ดีของคนอื่น ชอบเพ่งโทษของคนอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคนฟังจะทำอย่างไร จะพิจารณาอย่างไร จิตใจจึงจะไม่เศร้าหมองไม่เป็นอกุศลไปด้วย
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนามีจิตใจที่เมตตาต่อคนนั้น หวังดี และพยายามชักชวนให้เขาเข้าใจ และประพฤติในทางที่ดีได้ ก็เป็นกุศลอย่างมากค่ะ เพราะชื่อว่าคุณวันทนาได้ทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเองคอเจริญกุศลด้วยความเมตตาในผู้อื่น และยังได้สงเคราะห์ผู้อื่นให้ประพฤติปฏิบัติดี เป็นการช่วยให้ผู้นั้นได้เจริญกุศลด้วย
คุณวันทนา แต่ถ้าสุดวิสัยที่จะช่วยเขาได้ล่ะคะ หรือเพราะเขาไม่อยู่ในฐานะที่เราจะไปช่วยเขาได้ เช่น ถ้าเขาเป็นคนที่มีความเห็นอย่างแรงกล้าว่าเขาทำถูก เขาทำสมควรแล้ว และเขาเป็นคนมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากทีเดียวว่า เขาเป็นผู้เลิศกว่าบุคคลอื่น ทั้งในเรื่องสติปัญญาความสามารถในการทำงาน เมื่อเขาทำให้ใจของเรารู้สึกอย่างนี้ ใจของเราก็ห้ามไม่ให้เป็นอกุศลไม่ได้เสียด้วย เพราะว่าการได้เห็น ได้ยิน หรือได้ฟังคนอื่นกระทำสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ควรจะทำนั้น ย่อมเป็นเหตุให้เราเดือดร้อน เศร้าหมอง ไม่เป็นสุขใจ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น เราก็ต้องหลีกเลี่ยงการพบปะหรือการคบหาสมาคมกับบุคคลนั้น เพราะว่าการสมาคมกับบุคคลนั้น ย่อมจะทำให้ชีวิตสั้นๆ ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ของเรานั้นพลอยไร้ประโยชน์ไปด้วย
คุณวันทนา ที่ว่าไร้ประโยชน์ อาจารย์หมายความว่ายังไงคะ
ท่านอาจารย์ หมายความว่า นอกจากจิตใจของเราจะพลอยเป็นอกุศลไปด้วยแล้ว คนนั้นก็อาจจะชักนำเราไปในทางอกุศลยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นแทนที่การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ของเราในชาตินี้จะมีประโยชน์ เพราะได้เจริญกุศลมากยิ่งขึ้น ก็กลับจะไร้ประโยชน์ เพราะไม่ได้เจริญกุศลยิ่งขึ้นเลย
คุณวันทนา บุคคลก็มีความสำคัญต่อชีวิตของเรามากเหลือเกิน เพราะว่าเราจะอยู่คนเดียวในโลกก็ไม่ได้ ไม่ว่าใครๆ ทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกคฤหัสถ์อย่างเราก็ย่อมจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน บางครั้งก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันเมื่อเกิดขัดข้องทางความคิดสติปัญญาบ้าง ทางกิจการงานที่ต้องอาศัยแรงกายบ้าง หรือไม่บางครั้งแม้เราจะสามารถช่วยตัวเองได้ ทั้งในความสามารถ และสติปัญญา แต่บางครั้งเราก็ต้องการกำลังใจนะคะ ที่จะดำเนินงานสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้บรรพชิตก็เช่นกัน บางครั้งเราก็ต้องพึ่งพาอาศัยท่าน ให้ท่านช่วยแนะนำหลักการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามทางธรรมให้เรา ช่วยแนะนำเราให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสที่จะเจริญกุศล ช่วยแนะนำเราให้เห็นประโยชน์ในการเจริญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นได้ และแม้แต่บรรพชิตท่านก็ต้องพึ่งพาอาศัยชาวบ้านอย่างพวกเราเหมือนกัน ในเรื่องของปัจจัย ๔ เพื่อให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์ได้ตลอดไป
สรุปแล้วก็จะเห็นได้ว่า การที่เราจะอยู่คนเดียวในโลก ไม่เกี่ยวข้องกับใครในโลกเลยนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต เพราะฉะนั้น ในทางธรรมนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงลักษณะของบุคคลต่างๆ ทั้งที่เป็นพาล และเป็นบัณฑิต ทั้งที่ควรคบ และไม่ควรคบไว้โดยละเอียด ทั้งนี้นอกจากเพื่อให้แต่ละคนได้ตรวจดูลักษณะสภาพจิตใจอขงตนเองว่ามีกิเลสมากน้อยแค่ไหน มีความประพฤติไม่ดีทางกาย ทางวาจา อย่างใดบ้างแล้ว ก็ยังเพื่อให้เราได้เจริญกุศล ไม่เพ่งโทษของคนอื่น แต่ให้มีเมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่มีความประพฤติไม่ดีเหล่านั้นให้เข้าใจธรรม และให้ประพฤติดีด้วย ตามที่เราได้สนทนากันมาแล้วในคราวก่อน แต่ถ้าช่วยไม่ได้ เราก็จะต้องหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้จิตของเราเป็นอกุศลยิ่งๆ ขึ้น สำหรับในเรื่องความสำคัญของบุคคลที่เราคบหาสมาคม ที่จะทำให้จิตเป็นกุศลหรืออกุศลนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คงจะทรงแสดงไว้มากทีเดียวนะคะ
ท่านอาจารย์ ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค วนปัตถสูตร ข้อ ๒๓๔ - ๒๔๒ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุว่า ภิกษุเข้าไปอาศัยบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้วกุศลธรรมไม่เจริญ ก็ไม่ควรพัวพันกับผู้นั้นเลย ควรจะหลีกไปจากผู้นั้นโดยไม่ต้องบอก ไม่ว่าจะเป็นในเวลากลางวันหรือในเวลากลางคืนก็ตาม แต่ว่าบุคคลใดที่ภิกษุเข้าไปอาศัยแล้วกุศลธรรมเจริญก็ควรจะพัวพัน คือคบหาสมาคมกับบุคคลนั้นจนตลอดชีวิต ไม่ควรจะหลีกไป ถึงแม้จะถูกขับไล่ก็ตาม
คุณวันทนา ตามธรรมดาทางสอนให้บอกลาคนที่อยู่ด้วยกัน หรือเจ้าบ้านที่นิมนต์ไปเสมอทุกครั้ง แต่สำหรับผู้ที่ภิกษุเข้าไปอาศัยอยู่ด้วยแล้วกุศลธรรมไม่เจริญนั้นคงจะมีโทษมากนะคะ พระองค์จึงให้หลีกไปได้โดยไม่ต้องบอกลา และที่ว่าภิกษุเข้าไปอาศัยบุคคลใดแล้วกุศลธรรมไม่เจริญนั้น ก็เห็นจะไม่ได้หมายถึงกุศลทั่วๆ ไป หรือหมายถึงบุคคลทั่วๆ ไปเท่านั้น ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ข้อความในพระสูตรนี้มีว่า เมื่อภิกษุเข้าไปอาศัยบุคคลนั้นอยู่ สติที่ยังไม่ปรากฏก็ไม่ปรากฏ จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ไม่ถึงความสิ้นไป เพราะฉะนั้นบุคคลที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้ ก็หมายถึงบุคคลที่ภิกษุนั้นเข้าไปอาศัย เพื่อจะได้รับคำแนะนำในการเจริญกุศลธรรม เพื่อให้ถึงซึ่งความสิ้นกิเลสนั่นเองค่ะ
คุณวันทนา การที่เราจะรู้ว่า บุคคลใดจะให้คำแนะนำในข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงซึ่งความสิ้นกิเลสได้นั้น เห็นจะรู้ได้ยาก ถ้าไม่อาศัยการศึกษาพระธรรมวินัย และพิจารณาเหตุผลในการปฏิบัติอย่างละเอียดจริงๆ อย่างที่เราได้กล่าวไว้แล้วในครั้งก่อนว่า บางท่านก็แตกฉานในปริยัติแต่มีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติก็ย่อมจะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ย่อมจะเป็นทุกข์โทษแก่บุคคลทั้งหลาย ถ้ามิฉะนั้นแล้ว ในสูตรนี้พระองค์ก็คงไม่ทรงแสดงว่า ไม่ให้พัวพันกับบุคคลนั้น และให้หลีกไป ไม่ว่าจะเป็นในเวลากลางวัน และกลางคืนก็ตามนะคะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สัมโพธวรรคที่ ๑ เสวนาสูตร ข้อ ๒๑๐ ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี้แก่ภิกษุทั้งหลายด้วย เพื่อให้เห็นลักษณะของบุคคลที่ควรเสพ คือคบหาสมาคมด้วย และบุคคลที่ไม่ควรเสพ
คุณวันทนา ท่านแสดงไว้ว่ายังไงคะ
ท่านอาจารย์ ท่านแสดงไว้เหมือนกันค่ะว่า เมื่อคบหาบุคคลใดแล้วอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อม ไม่ถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนา ถ้ารู้อย่างนั้นในเวลากลางคืนก็ให้หลีกไปเสียในเวลากลางคืนนั้นโดยไม่ต้องบอกลา ถ้ารู้ในเวลากลางวัน ก็ให้หลีกไปเสียในเวลากลางวันนั้นโดยไม่ต้องบอกลา
คุณวันทนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นโทษภัยของการคบกับบุคคลที่ทำให้อกุศลธรรมเจริญ และกุศลธรรมเสื่อมอย่างมากทีเดียวนะคะ อาจารย์ ถ้าบุคคลนั้นไม่เป็นที่อาศัย และไม่ใช่ผู้นำประโยชน์มาให้อย่างแท้จริง แต่การที่สามารถจะรู้ได้ว่า บุคคลใดเป็นเช่นนั้นก็คงจะยากมากนะคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อาศัยการศึกษาพระธรรมวินัย และไม่พิจารณาเหตุผลในการปฏิบัติอย่างละเอียดรอบคอบจริงๆ แล้วละก็ไม่สามารถจะทราบได้เลยค่ะ แม้แต่ในเรื่องของอกุศลจิต และอกุศลกรรม ซึ่งท่านที่สนใจในธรรมก็คงจะทราบกันอยู่ทั่วไปแล้วว่ามีอะไรบ้างนั้น พระองค์ก็ได้ทรงแสดงไว้ทั้งส่วนหยาบ ส่วนละเอียด เพื่อให้เราได้พิจารณาจิตใจของเราเองอย่างละเอียดมากแค่ไหน ทั้งนี้ก็เป็นพระมหากรุณาคุณที่จะให้เราได้รู้ และขัดเกลาอกุศลธรรม ทั้งส่วนหยาบ และส่วนละเอียดให้เบาบางยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาทราบแล้วใช่ไหมคะว่า อกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น มีอะไรบ้าง
คุณวันทนา ทราบค่ะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาเคยได้ยินอกุศลธรรม ๒๐ ไหมคะ
คุณวันทนา ไม่เคยค่ะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ทุติยวรรคที่ ๒ ข้อ ๑๙๘ - ๒๐๒ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอกุศลธรรมไว้ ๒๐ ประการคือ
เป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑
ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑
ลักทรัพย์ด้วยตนเอง ๑
ชักชวนผู้อื่นในการลักทรัพย์ ๑
ประพฤติผิดในกามด้วยตนเอง ๑
พูดเท็จด้วยตนเอง ๑
ชักชวนผู้อื่นในการพูดเท็จ ๑
พูดส่อเสียดด้วยตนเอง ๑
ชักชวนผู้อื่นในการพูดส่อเสียด ๑
พูดคำหยาบด้วยตนเอง ๑
ชักชวนผู้อื่นในการพูดคำหยาบ ๑
พูดเพ้อเจ้อด้วยตนเอง ๑
ชักชวนผู้อื่นในการพูดเพ้อเจ้อ ๑
คิดปองร้ายด้วยตนเอง ๑
ชักชวนผู้อื่นในการปองร้าย ๑
มีความเห็นผิดด้วยตนเอง ๑
ชักชวนผู้อื่นในการเห็นผิด ๑
รวมเป็นอกุศลธรรม ๒๐ ประการ
คุณวันทนา นี่ก็ละเอียดกว่าที่เคยทราบกันมาแล้วนะคะ และรู้สึกว่าจะมีประโยชน์ในการพิจารณา และขัดเกลาจิตใจได้มากขึ้นด้วย นอกจากจะได้พิจารณาตนเองว่าได้กระทำอกุศลทั้ง ๑๐ ประการนั้นบ้างหรือเปล่า ก็ยังมีโอกาสรู้ข้อที่ควรจะได้ตรวจตราพิจารณาจิตใจตนเอง ให้รู้จักจิตใจตัวเองชัดขึ้นอีกว่า ถึงแม้ว่าจะไม่ได้กระทำอกุศลกรรมนั้นๆ ด้วยตัวเองก็ตาม แม้กระนั้นจิตใจก็ยังเป็นไปในอกุศลกรรมนั้นบ้างหรือเปล่า เช่น ถึงแม้จะไม่ได้กระทำอกุศลกรรมด้วยตัวเองแต่ก็ได้ชักชวนให้ผู้อื่นกระทำ ถ้ารู้อย่างนี้ นอกจากจะเว้นจากการทำอกุศลกรรมด้วยตัวเองแล้ว ก็ยังสามารถขัดเกลาละเว้นการชักชวนให้ผู้อื่นทำอกุศลกรรมได้อีกด้วยนะคะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาเคยได้ยินอกุศลธรรม ๓๐ ไหมคะ
คุณวันทนา ไม่เคยค่ะ ยังมีอีกหรือคะ
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอกุศลธรรม ๓๐ ประการต่อไปว่า อกุศลกรรม ๓๐ ประการนั้น ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจการฆ่าสัตว์ ๑ ส่วนในข้ออื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกันค่ะ รวมเป็นอกุศลธรรม ๓๐ ประการ
คุณวันทนา โดยมากเราก็พิจารณาจิตใจแต่เพียงว่า เราได้ทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ บ้างหรือเปล่า เพียงเท่านี้ ถ้าเราไม่รู้ว่าถึงเราไม่ได้กระทำอกุศลกรรมข้อหนึ่งข้อใด แต่การชักชวนหรือพอใจในอกุศลกรรมนั้นก็เป็นอกุศลธรรมด้วย เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม และการรู้ธรรมละเอียดขึ้นนั้นก็เป็นประโยชน์ และช่วยให้เราขัดเกลาจิตใจได้มากขึ้นอีกนะคะ อาจารย์คะ ท่านแสดงอกุศลธรรมไว้เพียงเท่านี้หรือมีมากกว่านี้อีก
ท่านอาจารย์ ท่านแสดงไว้ ๔๐ ประการ คุณวันทนาจะลองคิดไหมคะว่า อกุศลธรรมอีกประการหนึ่งที่เป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐ ข้อจะได้แก่อะไร
คุณวันทนา อาจารย์กรุณาบอกดีกว่าค่ะว่า อกุศลธรรม ๔๐ นั้นมีอะไรบ้าง
ท่านอาจารย์ ในข้อปาณาติบาต ก็คือเป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ กล่าวสรรเสริญในการฆ่าสัตว์ ๑ ส่วนในอกุศลกรรมข้ออื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกันค่ะ
คุณวันทนา มีสรรเสริญเข้ามาเกี่ยวอีกแล้วละค่ะ อาจารย์คะ พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นกว้างขวางละเอียดลึกซึ้ง และประกอบด้วยประโยชน์แก่ผู้ที่ศึกษา และปฏิบัติตามอย่างเหลือที่จะพรรณนาได้เลยนะคะ แม้ในเรื่องของการขัดเกลาอกุศลธรรม พระองค์ก็ได้ทรงแสดงไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ให้ได้ละอกุศลธรรมอันเป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์ ด้วยพระมหากรุณาอย่างยิ่ง
ท่านผู้ฟังคะ หมดเวลาแล้วค่ะ พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔