บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๓๓

    ความปรากฏแห่งบุคคล ๓ จำพวกหาได้ยาก


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ในเรื่องของการกระทำที่เป็นบาปอกุศลอันเนื่องด้วยกาย วาจา และใจ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ อันเป็นสิ่งควรงดเว้น สำหรับทางกายมี ๓ คือ ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติผิดในกาม ๑ ทางวาจา ๔ คือ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ และเพ้อเจ้อ ๑ ทางใจ ๓ คือ อยากได้ของคนอื่น ๑ ปองร้ายผู้อื่น ๑ เห็นผิด ๑ ผู้ใดงดเว้นการกระทำเหล่านี้ก็ได้ชื่อว่า เว้นจากการกระทำอันเป็นบาปอกุศล ๑๐ ประการ

    แม้กระนั้นท่านผู้ฟังก็คงเคยได้พบความจริงว่า บุคคลแม้ไม่ประกอบกรรมชั่วด้วยตัวเอง แต่ก็อาจใช้ให้คนอื่นกระทำด้วยเจตนาให้ตนพ้นผิด แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงสอนว่า บุคคลไม่พึงกระทำกรรมชั่วด้วยตัวเอง ทั้งไม่พึงใช้ให้ผู้อื่นกระทำด้วย ฉะนั้นจึงเป็นอกุศลธรรม ๒๐ ที่บุคคลพึงงดเว้น

    บุคคลนั้นแม้ไม่ได้กระทำชั่วด้วยตัวเองทั้งทางกาย ทางวาจา และใจ และไม่ได้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำด้วย แต่แม้กระนั้น เมื่อได้ทราบความสำเร็จในการกระทำความชั่วของผู้อื่น เช่นการฆ่าสัตว์ และลักทรัพย์ของผู้อื่นมาได้ หากเกิดความพอใจในบาปอกุศลที่คนอื่นได้กระทำ ความพอใจเช่นนั้นก็ชื่อว่าพอใจในสิ่งที่เป็นบาปอกุศล ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเช่นกัน ด้วยเหตุนี้อกุศลธรรมที่พระองค์ทรงแสดงจึงเป็นอกุศลธรรม ๓๐ ประการที่บุคคลพึงงดเว้นคือ ไม่กระทำความชั่วด้วยตัวเอง ไม่ยุยงให้คนอื่นกระทำ ไม่พอใจในความสำเร็จแห่งการกระทำชั่วของคนอื่น

    นอกจากนี้ก็อาจเป็นไปได้อีกที่ว่า บุคคลแม้จะไม่ได้ลงมือกระทำบาปด้วยตัวเอง เช่นคนที่ไม่ชอบพูดส่อเสียด ไม่ประชดประชันให้คนอื่นเจ็บใจ ไม่ยุยงให้ผู้หนึ่งผู้ใดพูดส่อเสียดหรือก้าวร้าวบุคคลอื่นหรือคนที่ตนไม่ชอบ และไม่พอใจเมื่อฟังคนอื่นๆ กล่าววาจาประทุษร้ายน้ำใจกัน แต่ก็อาจจะมีบางครั้งที่เมื่อได้ยินถ้อยคำของคนที่ชอบพูดส่อเสียดคนอื่นๆ บ่อยๆ เข้า ก็อาจทึ่งหรือประหลาดใจในความสามารถ หรือในศิลปะในการกล่าวส่อเสียดคนอื่น ถึงกับบางครั้งก็ได้กล่าวชมเชยคนที่ชอบส่อเสียดคนอื่นว่า ช่างมีศิลปะในการเหน็บแนมคนอื่นเสียจริงๆ ซึ่งในข้อนี้ก็จัดเป็นบาปอกุศลอีกประการหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า บุคคลไม่ควรทำแม้การสรรเสริญการกระทำชั่วของคนอื่น ซึ่งก็จัดเป็นอกุศลธรรม ๔๐ ประการ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ มีความละเอียดครบถ้วนทุกประการ

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ทรงแสดงพระธรรมวินัยไว้อย่างละเอียด สุขุม ครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่แม้กระนั้นในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตติยปัณณาสก์ อาปายิกวรรคที่ ๒ ทุลลภสูตร ข้อ ๕๕๔ พระองค์ก็ได้ทรงแสดงไว้ด้วยว่า ความปรากฏแห่งบุคคล ๓ จำพวกหาได้ยากในโลก คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ บุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว ๑ กตัญญูกตเวทีบุคคล ๑

    คุณวันทนา ก็ในเมื่อพระธรรมวินัยนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้จนครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมทั้งอรรถ และพยัญชนะแล้ว ทำไมบุคคลผู้แสดงธรรมวินัยที่พระองค์ทรงประกาศแล้วจึงหาได้ยากล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะว่าพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงนั้นละเอียดสุขุม และลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่ใครจะรู้ได้ทั่วถ้วนทั้งในขั้นปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ และถึงแม้ว่าพระองค์จะได้ทรงแสดงว่า ผู้ที่เป็นอริยสาวกไม่สงสัยธรรมที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์ และตรัสไว้ในคาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔ ข้อ ๑๔ ว่า พระอริยสาวกจักเลือกสรรบทธรรมที่พระองค์ทรงแสดงดีแล้ว ดุจนายมาลาการผู้ฉลาดเลือกสรรดอกไม้ฉะนั้น ก็ตามนะคะ แต่ถึงอย่างนั้น พระสาวกทั้งหลายก็ไปเฝ้ากราบทูลถามพระผู้มีพระภาค เพื่อให้ได้ความแจ่มชัดในสภาพของธรรมที่สุขุมลึกซึ้งยิ่งขึ้นอยู่เสมอ

    คุณวันทนา อย่างในมหาโคสิงคสาลสูตรที่ได้เคยพูดถึงกันมาแล้วใช่ไหมคะว่า ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ และพระสาวกองค์อื่นๆ ก็ได้พากันไปเฝ้ากราบทูลถามพระผู้มีพระภาค แม้ในเรื่องที่ผู้อื่นอาจจะคิดกันว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม นี่ก็แสดงว่าพระสาวกทั้งหลายนั้น ท่านมีความเคารพในพระศาสดา และในพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้อย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ ในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เวลาที่พระองค์ทรงแสดงธรรมโดยย่อ บางครั้งพวกพระภิกษุก็ไปขอให้ท่านพระสาวก เช่นท่านพระสารีบุตรบ้าง ท่านพระมหากัจจานะบ้าง ท่านพระอานนท์บ้าง จำแนกเนื้อความของธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยย่อ ซึ่งก่อนที่พระสาวกเหล่านั้นจะอธิบายเนื้อความของธรรมนั้น ท่านก็ได้สรรเสริญพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคก่อน แล้วกล่าวว่า ภิกษุเหล่านี้นควรจะทูลถามพระผู้มีพระภาคเพื่อให้ได้ความแจ่มแจ้ง ไม่ควรจะถามท่านซึ่งเป็นสาวก อุปมาเหมือนคนที่ต้องการแก่นไม้ และเที่ยวแสวงหาแก่นไม้ แต่คิดว่าควรหาได้ที่กิ่ง และใบ จึงละเลยราก และลำต้นของต้นไม้ที่มีแก่นต้นใหญ่ที่อยู่เฉพาะหน้า และเมื่อพระสาวกจำแนกเนื้อความให้พวกภิกษุฟังจบแล้ว ก็ให้ภิกษุผู้ประสงค์ความแจ่มแจ้งของธรรมที่ได้ฟังนั้นไปกราบทูลเนื้อความที่ได้ฟังนั้นให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ เพื่อว่าเมื่อพระองค์ทรงพยากรณ์อย่างไร ภิกษุจะได้ทรงจำที่พระองค์ตรัสนั้นไว้

    คุณวันทนา ความนอบน้อมสักการะในพระผู้มีพระภาคนั้น ดูจะเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลจนถึงปัจจุบันนี้ที่ว่า ก่อนจะแสดงธรรมก็ดี หรือเมื่อเรียบเรียงหนังสือธรรมก็ดี ก็จะต้องมีคำปณามซึ่งเป็นคำกล่าวนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค แม้ในการสังคายนาพระธรรมวินัยท่านพระอานนท์ก็ยังกล่าวว่า เอวัมเม สุตตัง เป็นการแสดงว่าคำซึ่งท่านพระอานนท์จะกล่าวต่อไปนั้น เป็นคำที่ได้สดับมาจากองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค

    ท่านอาจารย์ ในพระสูตร คุณวันทนาจะได้เห็นความนอบน้อมสักการะที่พระสาวก และผู้ที่เห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคแสดงต่อพระผู้มีพระภาคอย่างซาบซึ้ง เช่นในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค พาหิติยสูตร ข้อ ๕๔๙ - ๕๕๘ มีข้อความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า เมื่อท่านพระอานนท์กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เข้าไปยังบุพพราม ปราสาทของวิสาขามิคารมารดาเพื่อพักกลางวัน

    ขณะนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จประทับช้างออกจากพระนครสาวัตถี ทอดพระเนตรเห็นท่านพระอานนท์มาแต่ไกล ได้ตรัสให้คนไปหาท่านพระอานนท์ ได้กราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ตามรับสั่งของพระองค์ แล้วให้เรียนท่านพระอานนท์ว่า ถ้าท่านพระอานนท์ไม่มีกิจรีบด่วน ก็ขอให้ท่านพระอานนท์อนุเคราะห์รออยู่สักครู่หนึ่ง ซึ่งท่านพระอานนท์ก็รับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ

    เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปถึง เมื่อทรงอภิวาทแล้ว ได้ทรงอาราธนาให้ท่านพระอานนท์อนุเคราเห์ไปที่ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ได้ไปที่นั่น แล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ ถึงความประพฤติทางกาย ทางวาจา ของพระผู้มีพระภาค

    ท่านพระอานนท์ก็ได้ชี้แจงให้ทรงทราบ ซึ่งพระองค์ก็ทรงชื่นชมถึงกับตรัสว่า ถ้าช้างแก้ว ม้าแก้ว หรือบ้านส่วยพึงควรแก่ท่านพระอานนท์ พระองค์ก็จะถวายแก่ท่านพระอานนท์ แต่เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่สมควรแก่ท่านพระอานนท์ พระองค์จึงขอถวายผ้าพาหิติกา ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูส่งมาประทานแก่พระองค์ ครั้งแรกท่านพระอานนท์ไม่รับเพราะว่าไตรจีวรของท่านมีครบแล้ว แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงขอให้ท่านพระอานนท์รับด้วยการตรัสว่า ถึงแม้ว่าไตรจีวรของท่านพระอานนท์มีครบแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ให้ไตรจีวรที่มีอยู่นั้นแก่ภิกษุอื่นได้ ทั้งนี้เพื่ออนุเคราะห์ให้ทักษิณาที่พระองค์ถวายแด่ท่านพระอานนท์มีอานิสงส์มากดังแม่น้ำอจิรวดีล้นฝั่งเพราะฝนตกใหญ่ที่ภูเขาฉะนั้น และเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จกลับไปแล้วท่านพระอานนท์ก็ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลเรื่องทีได้เจรจาปราศรัยกับพระเจ้าปเสนทิโกศลให้ทรงทราบ และได้ทูลถวายผ้าพาหิติกานั้นแด่พระผู้มีพระภาค

    คุณวันทนา พระเจ้าปเสนทิโกศลคงได้ทรงทราบว่า ท่านพระอานนท์เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคเป็นอันมาทีเดียว และพระองค์คงเพิ่งจะได้ทรงทราบกิตติศัพท์ความประพฤติทางกาย วาจา และใจของพระผู้มีพระภาคนะคะ พระองค์จึงได้ตรัสถามท่านพระอานนท์

    ท่านอาจารย์ พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า ถ้าคนพาลไม่ฉลาด ไม่ใคร่ครวญ ไม่พิจารณา ยังกล่าวคุณหรือโทษของคนอื่น พระองค์ไม่ทรงยึดถือการกล่าวคุณ และโทษของผู้นั้นเป็นแก่นสาร แต่ส่วนคนที่เป็นบัณฑิตเป็นคนฉลาดเฉียบแหลมมีปัญญาใคร่ครวญพิจารณาแล้ว จึงได้กล่าวคุณหรือโทษของคนอื่น พระองค์ทรงยึดถือการกล่าวคุณหรือโทษของผู้นั้นเป็นแก่นสาร

    คุณวันทนา ดิฉันคิดว่าพวกเราก็ควรจะถือตามพระเจ้าปเสนทิโกศลนะคะ คือว่าไม่ควรจะเชื่อคำสรรเสริญหรือคำกล่าวโทษของใครง่ายๆ นัก เพราะเราก็ไม่รู้แน่นี่คะว่า บุคคลที่ถูกคนอื่นกล่าวคุณ และดทษนั้นจะมีคุณ และโทษจริงดังที่ถูกกล่าวหรือไม่ และเราก็อาจพลอยรังเกียจหรือพลอยนิยมชมชื่นในคนนั้นๆ ผิดๆ ตามคนอื่นไปก็ได้ ซึ่งการเข้าใจคนนั้นๆ ผิด ก็ทำให้จิตเป็นอกุศลต่อคนนั้นๆ โดยที่เรายังไม่รู้จักคนนั้นๆ เลยก็ได้ อาจารย์คิดว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคมากไหมคะ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พระองค์ทรงเข้าพระทัยในสภาพธรรมแจ่มแจ้งครั้งใด พระองค์ก็ทรงแสดงความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคอย่างยิ่ง เช่น ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค ปิยชาติกสูตร ข้อ ๕๓๕ - ๕๔๘

    คุณวันทนา พระองค์ทรงเข้าพระทัยธรรมเรื่องอะไร และทรงแสดงความนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคอย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ตอนแรกพระเจ้าปเสนทิโกศลยังไม่ทรงเข้าพระทัยในพระพุทธวจนะที่ว่า ความโศก ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ ย่อมเกิดจากสิ่งที่รัก เพราะโดยมากก็ย่อมเห็นกันว่าความสุขความโสมนัส ความยินดีย่อมเกิดจากสิ่งที่รัก และเมื่อพระนางมัลลิกาทูลถามให้พระองค์ทรงพิจารณา จนกระทั่งพระองค์ทรงเข้าใจความหมายของพระพุทธวจนะข้อนี้แล้ว พระองค์ก็รับสั่งให้พระนางมัลลิกาล้างพระหัตถ์ให้ แล้วจึงทรงประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วทรงเปล่งอุทานว่า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ถึง ๓ ครั้ง

    คุณวันทนา พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคนั้นจะคิดกันแต่เพียงผิวเผินโดยไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว ก็คงจะไม่เข้าใจ และอาจจะมีบางคนไม่เห็นด้วยก็เป็นได้ เช่นเรื่องของสิ่งที่ชอบ ที่พอใจ คนส่วนมากก็รู้กันว่า ย่อมจะทำให้จิตใจเกิดความโสมนัสยินดี ซึ่งก็เป็นความสุขเพียงชั่วครู่หรือชั่วขณะ แต่ว่าผลที่แท้จริงนั้นก็คือความทุกข์ ไม่ใช่ความสุขเลยสักนิดเดียว แต่ก็น่าคิดอยู่นะคะ ว่า เพราะอะไรสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข ความพอใจได้นั้น จะกลับนำความทุกข์มาให้

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่เที่ยง วัตถุซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจนั้นก็ไม่เที่ยง ความรู้สึกยินดีพอใจที่เกิดขึ้นก็ไม่เที่ยง ถ้าสภาพความไม่เที่ยงของความยินดีพอใจ และสิ่งซึ่งเป็นที่ยินดีพอใจยังไม่ปรากฏตราบใด ความยินดพอใจก็ยังมีอยู่ในสิ่งนั้นตราบนั้น และความทุกข์ก็ยังไม่ปรากฏให้รู้ได้ คุณวันทนาพอจะเข้าใจหรือยังคะ ถ้าเข้าใจแล้วก็ยกตัวอย่างให้ฟังหน่อยนะคะ

    คุณวันทนา อย่างอาหารที่เราชอบหรือผลไม้ที่เราชอบเป็นต้นค่ะ บางคนชอบรับประทานทุเรียนเพราะว่ารสหวาน มัน อร่อย ไม่มีผลไม้ที่ไหนเหมือนทีเดียว เพราะชอบนี่เองจึงต้องไปแสวงหาซื้อมารับประทาน พยายามหามารับประทานให้ได้บ่อยๆ แต่ว่า โดยธรรมดานั้น ของสิ่งใดก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะชอบมันมากสักเท่าใด แต่เราจะรับประทานอยู่ทุกๆ วัน ก็ไม่ได้ แม่ว่ารสชาดของมันจะคงเดิม จะอร่อยเหมือนเดิม แต่สภาพจิตอันไม่เที่ยงของเราก็ย่อมจะมีวันเปลี่ยนแปลง ย่อมจะเบื่อในรสที่เคยชอบนั้นได้ นี่ก็แสดงว่าความพอใจของเราในสิ่งใดย่อมไม่เที่ยง ส่วนในเรื่องอื่นๆ เช่น ความยินดีในการเห็นรูป อย่างหนังบางเรื่องที่แสดงโดยดาราที่เราชอบ บางคนก็ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง ๔ หรือ ๕ ครั้ง แต่ก็ไม่แน่ว่าความสนุก ความยินดี ในการดูหนังเรื่องนั้นแต่ละครั้งๆ นั้น จะมีระดับเท่ากันหรือไม่ นี่ก็แสดงว่า ความยินดีหรือความพอใจย่อมไม่เที่ยง ย่อมเปลี่ยนแปลงไป

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงเห็นแล้วนะคะ ว่า พระธรรมของพระผู้มีพระภาคทำให้ผู้พิจารณาไตร่ตรองเข้าใจความจริง และเปลี่ยนความเห็นผิดที่เคยมีมานั้นให้เป็นความเห็นถูกได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจพระธรรมเทศนาของพระองค์ ย่อมนอบน้อมเคารพสักการะในพระองค์ และเวลาที่แสดงธรรมที่ได้ศึกษา และฟังมานั้น ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการแสดงธรรมของตนเอง อย่างเรื่องข้าวเปลือกกองใหญ่ที่เราได้พูดถึงกันมาแล้ว

    คุณวันทนา สำหรับในครั้งนั้นก็รู้สึกน่าชื่นชม น่าอนุโมทนาที่พุทธบริษัท ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกาต่างก็สนทนาธรรมกัน ฟังธรรม และศึกษาธรรมซึ่งกัน และกัน เพราะต่างก็รู้ว่าพระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นกว้างขวาง ละเอียด สุขุม ยากแก่การที่จะรู้ได้ด้วยตนเองทั้งหมด และในสมัยหลังปรินิพพานแล้วเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ หลังปรินิพพานแล้ว พระสาวกก็กระทำกิจของพระศาสนา ด้วยความนอบน้อมในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่นเดียวกับในสมัยที่ยังไม่ปรินิพพานค่ะ

    คุณวันทนา คงจะไม่มีพระสาวกรูปใดที่คิดว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ก็ควรจะให้ท่านผู้นั้นท่านผู้นี้หรือตนเองเป็นที่นับถือหรือเป็นศาสดาแทน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีค่ะ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ราชวรรค มธุรสูตร ข้อ ๔๖๔ - ๔๘๕ เมื่อท่านพระมหากัจจานะแสดงธรรมกับพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรอย่างไพเราะ ชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว พระองค์ก็ทรงปีติเลื่อมใสอย่างยิ่ง ทรงประกาศพระองค์ขอถึงท่านพระกัจจานะ พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ และขอให้ท่านพระมหากัจจานะจงจำพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป

    คุณวันทนา ท่านพระมหากัจจานะว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านพระมหากัจจานะกล่าวว่า พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรอย่าทรงถึงท่านเป็นสรณะเลย จงทรงถึงพระผู้มีพระภาคที่ท่านถึงว่าเป็นสรณะนั้นว่าเป็นสรณะเถิด

    คุณวันทนา แล้วพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรตรัสว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรตรัสถามท่านพระมหากัจจานะว่า ขณะนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน ท่านพระมหากัจจานะก็ถวายพระพรว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานเสียแล้ว เมื่อทรงทราบเช่นนั้นพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรก็ตรัสว่า ถ้าแม้พระองค์พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่ไกลสักเพียงใด พระองค์ก็จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่เพราะพระผู้มีพระภาคปรินิพพานเสียแล้ว พระองค์จึงขอถึงพระผู้มีพระภาคแม้เสด็จปรินิพพานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ

    คุณวันทนา อาจจะมีผู้ฟังบางท่านสงสัยก็ได้นะคะ ว่า พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว จะถึงพระองค์เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งได้อย่างไร เพราะเมื่อยังไม่ได้ปรินิพพาน พระองค์ก็ยังพอเป็นสรณะเป็นที่พึ่งได้ เมื่อได้ไปเฝ้าไปกราบทูลถามถึงข้อที่ยังสงสัย และได้ฟังพระพุทธโอวาทที่ทรงตักเตือนในเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรม

    ท่านอาจารย์ การถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง แม้ว่าพระองค์ทรงปรินิพพานไปแล้ว ก็เหมือนกับการถึงพระองค์เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง แม้ในขณะที่ยังไม่ปรินิพพาน เพราะการถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งนั้น คือการถึงความนอบน้อมสักการะ ในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระองค์ ที่พระองค์ทรงเป็นพระบรมศาสดา เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่ว่าพระองค์จะยังไม่ปรินิพพานหรือปรินิพพานแล้ว ผู้ที่ถึงความนอบน้อมสักการะในพระคุณของพระองค์ ก็ย่อมนอบน้อมสักการะในพระคุณของพระองค์ได้ทุกกาลเวลา และทุกกาลสมัย

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ วันนี้เวลาแห่งการสนทนาก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในคราวหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ