บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
ครั้งที่ ๓๗
ลักษณะของวาจาที่ดีไม่มีโทษ
ธรรมของผู้กล่าวโทษ และผู้ถูกกล่าวโทษ
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ จากการสนทนาในครั้งที่แล้ว คงจะทำให้ประจักษ์ชัดถึงพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงแสดงเรื่องลักษณะของการพูดเป็นเครื่องตัดสินบุคคล เพื่ออนุเคราะห์ให้เราได้รู้จักลักษณะการพูด ทั้งของเราเอง และผู้อื่นได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาขัดเกลาจิตใจ และงดเว้นอกุศลธรรมทางวาจาให้เบาบางลงได้ แต่ว่าเรื่องของการพูดนั้นก็เป็นเรื่องยาก และเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าผู้พูดไม่รู้ว่า อะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด ก็ย่อมจะทำให้เกิดการผิดพลาดในเมื่อพูดออกไป เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่าคำพูดอย่างไรไม่ดีควรละเว้นแล้ว ก็ควรรู้ต่อไปด้วยว่า คำพูดอย่างไรจึงจะเป็นคำพูดที่ดี ที่มีประโยชน์ สำหรับเรื่องลักษณะของคำพูดที่ดี ที่มีประโยชน์ พระองค์ก็ได้ทรงแสดงไว้ด้วยนะคะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๕ วาจาสูตร ข้อ ๑๙๘ แสดงว่าลักษณะวาจาที่ดีเป็นวาจาสุภาษิต เป็นวาจาที่ไม่มีโทษ ผู้มีปัญญาย่อมไม่สามารถติเตียนได้นั้น เป็นวาจาที่ประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ
คุณวันทนา องค์ ๕ ประการ มีอะไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ องค์ ๕ ประการ คือ วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑ เป็นวาจาที่กล่าวเป็นสัจจะ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑ เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑ เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑
คุณวันทนา ถ้าคำพูดของใครประกอบด้วยลักษณะทั้ง ๕ ประการนี้ ย่อมจะน่าฟัง น่าชม ไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัย แถมยังจะสร้างความรู้สึกประทับใจในทางที่ดีงามให้ผู้ฟังด้วยนะคะ เพราะอย่างในข้อ ๑ ที่ว่าถูกกาลนั้น ก็ต้องแสดงว่าผู้พูดจะต้องเป็นผู้ที่ใคร่ครวญก่อน คิดก่อนแล้วจึงได้พูดออกมา เช่น การพูดให้กำลังใจในขณะที่เพื่อนหรือคนใกล้ชิดกำลังท้อถอย เหน็ดเหนื่อยหรือป่วยไข้ เป็นต้น
ในข้อ ๒ ที่ว่าเป็นสัจจะ ก็ย่อมแสดงให้เห็นความเป็นผู้มีใจเที่ยงธรรมของผู้พูด เช่น ไม่กล่าวสรรเสริญการกระทำหรือความประพฤติของเพื่อนที่กำลังตกอยู่ในอบายมุข เป็นต้น
ในข้อ ๓ ที่ว่าเป็นคำพูดที่อ่อนหวาน คำอ่อนหวานใครๆ ก็อยากได้ฟัง และทั้งอยากได้เห็นการกระทำที่อ่อนหวานนุ่มนวลด้วย คำพูดอ่อนหวานย่อมแสดงถึงคุณธรรม และการฝึกฝนอบรมมาดีแล้วของผู้พูดด้วยนะคะ
ในข้อ ๔ ที่ว่าเป็นคำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์ ประโยชน์ในที่นี้คงจะหมายถึงคำพูดที่เป็นการแนะนำในทางที่ดี เพื่อความสุข ความเจริญของผู้ฟัง
ในข้อ ๕ ที่ว่าเป็นคำพูดที่ประกอบด้วยเมตตา ก็คงจะหมายความว่า ในขณะนั้นจิตของผู้พูดย่อมมีความหวังดี ปรารถนาประโยชน์สุขแก่ผู้ฟังนั่นเอง
สำหรับเรื่องของคำพูดที่ดีงามไพเราะ และน่าฟังด้วยเหล่านี้ คงไม่จำกัดบุคคลหรอกนะคะ เพราะไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร จะพูดที่ไหน จะพูดเมื่อไร เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ พี่หรือน้อง เป็นศิษย์หรืออาจารย์ก็แล้วแต่ คำพูดนั้นก็เป็นคำพูดที่ผู้มีปัญญาติเตียนไม่ได้เลย และถ้าเป็นเรื่องความประพฤติที่ไม่ดีที่จำเป็นจะต้องพูดเพราะต้องการให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นบาปเป็นอกุศลไม่ควรจะประพฤติปฏิบัติ เมื่อมีกุศลจิตที่จะอนุเคราะห์ให้ผู้ประพฤติผิดได้พิจารณา และเข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายให้ถูกต้อง และเลิกความประพฤติที่เป็นบาปเป็นอกุศลนั้นเสีย เมื่อเราจำเป็นจะต้องพูดเราก็อาศัยหลักของวาจาสุภาษิตนี้ก็ได้ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ อาฆาตวรรคที่ ๒ โจทนาสูตร ข้อ ๑๖๗ ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อมีเรื่องจะกล่าวโจทหรือพูดถึงความประพฤติที่ไม่ดีของคนอื่นพึงมีธรรม ๕ ประการนี้ก่อนคือ จักกล่าวโดยกาลที่ควร จักไม่กล่าวโดยกาลไม่ควร ๑ เพราะว่าความไม่ดีของคนอื่นนั้น ถ้าไม่จำเป็นแล้วก็ไม่ควรจะกล่าวถึง
คุณวันทนา แต่คนที่ยังไม่รู้ความจริงข้อนี้ก็ย่อมจะทำสิ่งที่ตรงกันข้ามทีเดียวนะคะ คือนึกแต่จะกล่าวถึงความไม่ดีของคนอื่น แต่ไม่คิดจะกล่าวถึงความดีของคนอื่น หรือถ้ากล่าวก็กล่าวน้อยกว่าความไม่ดี แล้วในข้อต่อไปล่ะคะ
ท่านอาจารย์ ข้อ ๒ จักกล่าวด้วยเรื่องจริง จักไม่กล่าวด้วยเรื่องไม่จริง
ข้อ ๓ จักกล่าวด้วยคำอ่อนหวาน จักไม่กล่าวด้วยคำหยาบ
ข้อ ๔ จักกล่าวด้วยเรื่องที่ประกอบด้วยประโยชน์ จักไม่กล่าวด้วยเรื่องที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
ข้อ ๕ จักเป็นผู้มีเมตตาจิตกล่าว จักไม่เป็นผู้เพ่งโทษกล่าว
คุณวันทนา ก็เป็นลักษณะของคนที่หวังดีจริงๆ ถ้าใครกล่าวโทษผู้อื่นด้วยลักษณะอาการอย่างนี้ ก็ต้องจัดว่าเป็นความหวังดีต่อผู้ที่ถูกกล่าวโทษแน่ และคนที่ถูกกล่าวโทษก็ไม่ควรจะโกรธผู้กล่าวโทษที่มีความหวังดีต่อตนอย่างนี้ด้วย แต่ถ้าการกล่าวโทษผู้อื่นไม่เป็นไปในลักษณะอย่างนี้ล่ะคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นไปในลักษณะตรงกันข้าม และสมมติว่าเป็นตัวคุณวันทนาเอง ถ้าถูกกล่าวโทษในกาลที่ไม่สมควร และเป็นเรื่องที่ไม่จริงด้วย และคนที่กล่าวโทษก็ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และเรื่องที่ยกมากล่าวก็ไม่ใช่เรื่องที่มีประโยชน์ มุ่งแต่จะเพ่งโทษเท่านั้น ไม่ใช่เพราะมีเมตตาหรือหวังดีเลย คุณวันทนาจะรู้สึกอย่างไรคะ
คุณวันทนา ก็คงจะต้องเสียใจมากทีเดียวค่ะ และความเสียใจนี้ถ้าจะนำมาแยกเป็นข้อๆ ก็ดูจะทำให้เสียใจ และน้อยใจว่าไม่ได้รับความยุติธรรม อย่างในข้อ ๑ ถ้าพิจารณาแล้ว การถูกกล่าวโทษในกาลที่ไม่สมควร เช่นในขณะที่กำลังหิวข้าวหรือกำลังเหน็ดเหนื่อยมา ยิ่งมาถูกกล่าวโทษก็ยิ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจรุนแรงยิ่งขึ้น และถ้าคนที่กล่าวโทษด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ก็ยิ่งจะทำให้ใจของเรารู้สึกรังเกียจในคำพูดอย่างนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นคนผิดหรือไม่ก็ตาม ในเรื่องที่ถูกกล่าวโทษ ถ้าหากว่าเป็นการถูกกล่าวโทษในเรื่องที่ไม่จริง เป็นการกล่าวโทษด้วยจิตที่ไม่มีเมตตาของผู้กล่าว ก็ดูจะยิ่งร้ายใหญ่ เพราะว่าเท่ากับเป็นการสร้างรอยร้าว อันยากแก่การที่จะประสานได้ในโอกาสหน้าทีเดียว
ท่านอาจารย์ สำหรับคนที่ถูกกล่าวโทษโดยไม่เป็นธรรมนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ไม่ควรจะเดือดร้อน เมื่อถูกโจทหรือกล่าวโทษโดยกาลที่ไม่สมควร ก็ไม่ควรเดือดร้อน หรือเมื่อถูกโจทด้วยเรื่องที่ไม่จริงก็ไม่ควรเดือดร้อน ถูกโจทด้วยคำหยาบไม่ใช่ถ้อยคำอ่อนหวาน ก็ไม่ควรเดือดร้อน หรือเมื่อถูกโจทด้วยเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ด้วยการเพ่งโทษ ก็ไม่ควรเดือดร้อน
คุณวันทนา คนที่จะเดือดร้อน ก็ควรเป็นคนที่โจทโดยไม่เป็นธรรมนะคะ เพราะไหนจะโกรธในกาลที่ไม่ควร ที่คนอื่นๆ เขาก็รู้ว่าไม่ควรจะโกรธ แล้วยังจะกล่าวโทษผู้อื่นในเรื่องที่ไม่จริง และไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และด้วยจิตใจที่เพ่งโทษเสียอีก
ท่านอาจารย์ คนเราก็ย่อมมีต่างๆ กันค่ะ อย่างบางคนถึงแม้ว่าจะถูกกล่าวโทษด้วยความเป็นธรรม คือโดยกาลที่ควรจะถูกกล่าวโทษ ด้วยเรื่องที่เป็นจริง ด้วยเรื่องที่เป็นประโยชน์ และด้วยเมตตาจิตของผู้กล่าวโทษ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังโกรธ
คุณวันทนา คนเราที่จะไม่เคยทำผิดเลยก็คงไม่มี เพราะเมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็ย่อมผิดพลั้งไปบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราถูกกล่าวโทษ เราควรจะคิดหรือพิจารณาอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า ถ้าถูกกล่าวโทษก็ควรจะตั้งอยู่ในธรรม ๒ ประการ คือ ความจริง ๑ และความไม่โกรธ ๑ ถ้าเราผิดจริง เราก็ควรจะยอมรับว่าผิด ถ้าเราไม่ได้ประพฤติอย่างนั้น คือเราไม่ได้ทำผิด เราก็บอกว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น ข้อสำคัญของคำสอนที่ถูกต้องนั้น คุณวันทนาก็คงจะเห็นว่าสอนไม่ให้โกรธ สอนไม่ให้จิตเป็นอกุศล ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น คำสอนที่บริสุทธิ์อย่างนี้เป็นคำสอนที่หวังดีต่อผู้ฟังโดยแท้จริง
คุณวันทนา แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่เคารพความจริงก็คงไม่ยอมรับ
ท่านอาจารย์ เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระสารีบุตรว่า ที่ถูกก็ควรจะเป็นอย่างที่ท่านพระสารีบุตรกล่าว แต่บางคนก็ไม่ยอมรับคำตักเตือนด้วยความเคารพ
คุณวันทนา แล้วท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า คนที่ไม่ยอมรับคำตักเตือนด้วยความเคารพนั้น เป็นคนที่ไม่ไดออกบวชด้วยศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติสมณธรรม แต่ผู้ที่ออกบวชด้วยศรัทธาเพื่อที่จะประพฤติปฏิบัติสมณธรรม เมื่อท่านกล่าวสอนก็ย่อมรับด้วยความเคารพ
คุณวันทนา แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า คนที่ออกบวชด้วยศรัทธาอย่างนั้น ท่านพระสารีบุตรควรพร่ำสอนเพื่อให้ผู้นั้นได้ละความประพฤติที่ไม่ดี และให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดี
คุณวันทนา เรื่องการพูดนี่ก็ยากเหลือเกินนะคะ หวังดี พูดดี แต่คนฟังไม่ยอมรับฟัง ก็ไม่มีประโยชน์ และเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงสอนเกี่ยวกับการพูดนั้น ถ้าใครประพฤติปฏิบัติตาม และอบรมให้เป็นนิสัยได้ ก็จะเป็นผู้ที่มีวาจางาม และมีประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วเรื่องการพูดที่เป็นการแสดงธรรมล่ะคะมีอะไรบ้าง เพราะว่าในคราวที่แล้วมา เราก็ได้พูดถึงหน้าที่ของพุทธบริษัทที่จะต้องช่วยกันศึกษา ช่วยกันเผยแพร่ธรรมเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่ากับบุคคลในครอบครัว ในหมู่ญาติมิตร และในที่ประชุมชนที่ใคร่จะฟังธรรม
ท่านอาจารย์ พูดถึงลักษณะของการแสดงธรรมก่อน แล้วจึงพูดถึงวิธีแสดงธรรมทีหลังนะคะ
คุณวันทนา ลักษณะของผู้ที่แสดงธรรมก็สำคัญมากเหมือนกันนะคะ เพราะย่อมจะทำให้เกิดความเลื่อมใสหรือไม่เลื่อมใสก็ได้ เพราะถ้าพูดถึงธรรมที่แสดงแล้ว ก็ย่อมจะมาจากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้เหมือนกันทั้งนั้น แต่ว่าลักษณะของการแสดงธรรมนั้นก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจ และความเลื่อมใสมากน้อยต่างๆ กันก็ได้
ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย เถรคาถา วิสาขปัญจาลีปุตตเถรคาถา ข้อ ๓๐๒ แสดงองค์ของธรรมกถึกไว้ ๕ ประการ
คุณวันทนา ถึงแม้ผู้แสดงธรรมจะไม่ใช่ภิกษุ ก็ควรประพฤติปฏิบัติด้วยใช่ไหมคะ เพราะท่านคงไม่แยกธรรมสำหรับผู้แสดงธรรมเป็นฆราวาส และบรรพชิตไว้ ไม่ว่าจะเป็นใครถ้าจะแสดงธรรมก็ควรจะมีหลักอย่างเดียวกัน และสำหรับองค์ของธรรมกถึกมีอะไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ พระธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ไม่พึงยกตน ๑ ไม่ข่มบุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่พึงกระทบกระทั่งบุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่กล่าวคุณความดีของตนในที่ชุมนุมชนเพื่อมุ่งลาภผล ๑ ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน กล่าวแต่พอประมาณ มีวัตร ๑ และข้อความต่อไปมีว่า ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก พึงเป็นผู้มีปกติเห็นเนื้อความอันสุขุมละเอียด มีปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติอ่อนน้อม มีศีลตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้านั้น พึงได้นิพพานไม่ยากเลย
คุณวันทนา ภิกษุที่เป็นธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ ๕ นี้ ย่อมมีศีล และวัตรที่งดงาม ทำให้ผู้ฟังเกิดความเลื่อมใสได้มาก ส่วนฆราวาสที่มีศีล และวัตรหรือองค์ของธรรมกถึกน้อยกว่า ก็ย่อมทำให้ผู้ฟังเลื่อมใสน้อยกว่าผู้ที่มีศีล และวัตร และองค์ของธรรมกถึกอย่างสมบูรณ์เป็นธรรมดา และวิธีแสดงธรรมมีอะไรบ้างคะ เพราะการที่จะให้ผู้ฟังเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ย่อมขึ้นอยู่กับวิธีแสดงธรรมเป็นสำคัญ
ท่านอาจารย์ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า การแสดงธรรมแก่คนอื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย
คุณวันทนา ในสูตรไหนคะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ สัทธรรมวรรคที่ ๑ อุทายีสูตร ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี ท่านพระอานนท์เห็นท่านพระอุทายีแสดงธรรมกับคฤหัสถ์หมู่ใหญ่ ท่านพระอานนท์ก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และกราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นนั้นไม่ใช่ทำได้ง่าย และเมื่อจะแสดงธรรมก็ควรมีธรรม ๕ ประการ คือ พึงตั้งใจว่าจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑ จักแสดงธรรมอ้างเหตุผล ๑ จักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑ จักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑ จักไม่แสดงให้กระทบตน และผู้อื่น ๑
คุณวันทนา ถ้าได้แสดงธรรมตามหลักที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ก็คงจะได้ผลมาก อย่างในข้อ ๑ พระองค์ทรงแสดงว่า ผู้แสดงธรรมพึงตั้งใจว่า จะแสดงธรรมไปโดยลำดับ ในข้อนี้ถ้าผู้แสดงธรรมแสดงสับสนกันถือเอาข้างต้นไปไว้ตอนกลาง เอาตอนกลางไปไว้ข้างท้าย ก็จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจยาก
ข้อ ๒ จะแสดงธรรมโดยอ้างเหตุผล สำหรับในข้อนี้ ถ้าหากว่าผู้แสดงธรรมไม่อ้างเหตุโดยชัดเจน ไม่กล่าวถึงผลโดยชัดเจน ผู้ฟังย่อมเข้าใจชัดเจนไปไม่ได้
ข้อ ๓ จะแสดงธรรมเพราะความเอ็นดู คือเพื่อต้องการให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์จากธรรมที่ตนแสดง
ข้อ ๔ จะแสดงธรรมด้วยการไม่เพ่งอามิส คือไม่แสดงธรรมเพื่อลาภผลหรือหวังในลาภผล
ข้อ ๕ ไม่แสดงธรรมกระทบตน และผู้อื่น เพราะเมื่อแสดงธรรมก็ควรแสดงแต่ธรรมเท่านั้น มิฉะนั้นแล้วก็ดูจะเป็นการแสดงเรื่องของตนเอง และเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่การแสดงธรรม เพราะการแสดงธรรมจะได้ผลตามต้องการหรือไม่นั้น นอกจากเพราะผู้ฟังประการหนึ่งแล้ว ก็ยังเพราะผู้แสดงธรรมอีกประการหนึ่งด้วย
ถ้าผู้แสดงธรรมคำนึงถึงหลักการแสดงธรรม ๕ ประการนี้ แล้วพยายามปฏิบัติตามเท่าที่สามารถจะกระทำได้ แม้จะได้ผลน้อยไม่เท่ากับที่หวังไว้ ก็ไม่น่าจะท้อใจหรือเศร้าหมองใจ เพราะได้กระทำดีที่สุดที่จะกระทำได้แล้ว
ท่านอาจารย์ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงนั้น นอกจากจะเป็นความจริงแล้วยังสมบูรณ์พร้อมทั้งเหตุ ผล อรรถ พยัญชนะ และความไพเราะลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้ผู้สนใจศึกษาใคร่ครวญพิจารณาเข้าใจแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นสามารถที่จะเปลี่ยนใจ เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความประพฤติของผู้ฟังจากทางที่ไม่ดีงามไปสู่ทางที่ดีงาม จากความเห็นผิดเป็นความเห็นถูกได้ จนกระทั่งเป็นที่เลื่องลือทั่วไปในครั้งพุทธกาลว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีมายา และทรงรู้มายากลับใจคนได้
คุณวันทนา คนที่พูดอย่างนี้คงไม่เคยฟังธรรมจากพระโอษฐ์เลยนะคะ เลยไม่ได้อรรถรสจากพระธรรมที่ทรงแสดง แล้วในสมัยนั้นก็คงเต็มไปด้วยเวทย์มนต์คาถาของพวกพราหมณ์บ้าง ของพวกอื่นๆ บ้าง ที่ทำให้เข้าใจว่าคนที่หันมาเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคนั้น เพราะพระองค์ทรงมีคาถาหรือมายาที่สามารถจะกลับใจใครได้ อาจารย์จะกรุณาเล่าเรื่องที่มีผู้กล่าวตู่พระองค์อย่างนี้ได้ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๕ ข้อ ๑๙๓ มีข้อความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ภัททิยลิจฉวีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และทูลให้พระองค์ทรงทราบว่า มีคนพากันกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีมายา และทรงรู้มายาที่สามารถกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือพระองค์ได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสกับภัททิยลิจฉวีว่า อย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา อย่าได้ถือโดยสืบต่อกันมา อย่าได้ถือโดยตื่นข่าว อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ถือโดยนึกเดาเองเอง อย่าได้ถือโดยคาดคะเน อย่าได้ถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าถูกกับลัทธิของตน อย่าได้ถือโดยเชื่อว่าสมณะนั้นเป็นครูของเรา
คุณวันทนา ช่างเหมือนกับในสูตรที่ใครๆ ก็รู้จักกันว่ากาลามสูตร เพราะฉะนั้นก็คงจะไม่ต้องอธิบาย เพราะคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ่อยๆ แล้ว
ท่านอาจารย์ ความจริงกาลามสูตรไม่มีค่ะ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงข้อความที่กล่าวมาแล้วนั้นกับพวกกาลามะที่เกสปุตตนิคมซึ่งเป็นนิคมของพวกกาลามะนั้นเป็นเกสปุตตสูตร ข้อ ๕๐๕ ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ ไม่ใช่กาลามสูตร
คุณวันทนา แต่คนโดยมากก็เรียกสูตรนี้ว่า กาลามสูตร
ท่านอาจารย์ เรียกกันเองค่ะ แม้บรรดาชาวพุทธประเทศอื่นๆ ก็เรียกตามๆ กันไป ซึ่งถ้าไม่แก้ไขให้ถูกต้องแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นชื่อของพระสูตร อย่างพระสูตรนี้ เป็นต้น ก็ย่อมทำให้คลาดเคลื่อนจากหลักฐานที่ถูกต้องไปได้ทีเล็กละน้อย
คุณวันทนา สำหรับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็มารวมกันเป็นเรื่องใหญ่ได้นะคะ ถ้าเป็นในลักษณะนี้ก็เท่ากับใครอยากจะเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนได้ และเปลี่ยนตามๆ กันไปเสียด้วย แต่ถ้าหากจะช่วยกันแก้ไขให้ถูกต้อง ก็จะทำให้พุทธศาสนายั่งยืนอย่างถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ตลอดไป และพระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องที่พระองค์ทรงถูกกล่าวหาว่าทรงมีมายากับภัททิยลิจฉวีว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงแสดงธรรม ทรงชี้ให้ภัททิยลิจฉวีได้พิจารณาเห็นเองว่า สิ่งใดเป็นโทษที่ควรละ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความแข่งดี และธรรมใดที่ควรเจริญ เช่น ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ความไม่แข่งดี เป็นต้น ซึ่งเมื่อภัททิยลิจฉวีได้เข้าใจแล้วก็รู้ว่า ที่คนอื่นเข้าใจผิดแล้วพากันกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีมายากลับใจคนนั้น ที่แท้แล้วมายาที่คนอื่นเข้าใจนั้นก็คือ อนุสาสนีปาฏิหาริย์นั่นเอง ซึ่งภัททิยลิจฉวีก็ถึงกับกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “มายา เครื่องกลับใจนี้ดีนัก งามนัก ถ้าญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์พึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่บรรดาญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์ตลอดกาลนาน ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวง… ถ้าพราหมณ์ทั้งปวง ….แพศย์…ศูทร์ทั้งปวงจะพึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้ ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่ศูทร์แม้ทั้งปวงตลอดกาลนานฯ”
คุณวันทนา จากพระสูตรนี้ ก็คงจะเป็นเครื่องยืนยันให้เห็นแล้วว่า ในปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ย่อมดีกว่า และประณีตกว่าปาฏิหาริย์อื่นใด
สำหรับวันนี้ ขอยุติเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔