บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๓๘

    อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ดีกว่าประณีตกว่าปาฏิหาริย์อื่น

    บุคคลเลื่อมใสต่างกัน


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ครั้งที่แล้วอาจารย์ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องปาฏิหาริย์ ๓ ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๑ สังคารวสูตร ข้อ ๕๐๐ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ คือความสามารถในการแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ หายตัวได้อย่างนี้เป็นต้น อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์คือรู้จิตใจคนอื่น อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ในบรรดาปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ นั้น อนุสาสนีปาฏิหาริย์ดีกว่า และประณีตกว่า ที่ว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์ดีกว่า และประณีตกว่านั้นเพราะสามารถกลับใจ กลับความประพฤติได้ อาจารย์จะกรุณาชี้แจงให้ทราบได้ไหมคะว่า เพราะอะไรจึงเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะปาฏิหาริย์อื่นนอกจากอนุสาสนีปาฏิหาริย์แล้ว ไม่มีประโยชน์แก่ผู้ฟังผู้เห็น เช่นเห็นอิทธิปาฏิหาริย์ หรือเห็นของแปลกๆ ตั้งแต่ของเล็กๆ น้อยๆ ไปจนกระทั่งเห็นคนเหาะเหินเดินอากาศได้ คุณวันทนาว่ามีประโยชน์ไหมคะ

    คุณวันทนา ก็คงมีบ้าง อย่างเราเห็นคนกำลังมุงดูอะไรกันอยู่ เราก็เกิดสนใจอยากจะรู้ว่าเขาดูอะไรกัน ก็พลอยเข้าไปดูกับเขาบ้าง ก็เห็นคนเล่นกล และถ้าใครทำกลมายาได้แปลกๆ เช่นเอาของอย่างหนึ่งใส่เข้าไปในกล่อง พอเปิดออกมาใหม่ก็ปรากฏว่าของนั้นหายไป หรือพอเปิดออกมาของที่อยู่ในกล่องก็ไม่ใช่ของที่ใส่เข้าไป กลายเป็นนก หนู กระต่าย บินออกมา อย่างนี้แหละค่ะ ยิ่งเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านที่ได้อภิญญาเหาะเหินเดินอากาศได้ หายตัวได้ ก็ย่อมจะน่าดูน่าอัศจรรย์ใจเป็นที่สุด และอย่างน้อยก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสในคุณธรรมของท่านผู้นั้น อย่างพระเจ้าอชาตศัตรูที่ทรงมีความเลื่อมใสในท่านพระเทวทัต เป็นต้น

    ท่านอาจารย์ การเห็นของแปลกๆ หรือมีโอกาสได้เห็นอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งยากที่จะเห็นได้ในสมัยนี้ จะช่วนให้คุณวันทนาได้รู้จักตัวเอง จะช่วยให้คุณวันทนาไม่แก่ ไม่ป่วย ไม่ตาย ไม่พลัดพรากจากสิ่งที่รัก และช่วยให้ไม่ประจวบกับสิ่งที่ไม่รักได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ไม่ได้เลยค่ะ เพราะอย่าว่าแต่คนที่ได้เห็นอิทธิปาฏิหาริย์จะต้องตายเป็นธรรมดาเลย แม้แต่คนที่สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นั้นก็ต้องตายเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ว่า การเห็นหรือการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นั้นไม่ได้ทำให้พ้นจากความแก่ ความตาย และความทุกข์ต่างๆ ได้เลย แต่ว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์นั้นสามารถทำให้ผู้ฟังได้รู้จักตัวเองซึ่งเป็นต้นทุกข์ และสามารถทำให้ผู้ฟังซึ่งประพฤติปฏิบัติตามพ้นทุกข์ได้เป็นลำดับ

    คุณวันทนา ถ้าหากใครๆ พากันสนใจในพระธรรมของพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ แทนที่จะสนใจในอิทธิปาฏิหาริย์ ก็จะต้องได้รับประโยชน์อย่างยิ่งทีเดียว ผิดกันกับปาฏิหาริย์อื่นๆ มาก อย่างพระเจ้าอชาตศัตรู เป็นต้น ครั้งแรกพระองค์ทรงเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านพระเทวทัตเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับท่านพระเทวทัตจะบอกอะไรก็เชื่อฟัง และทำตามทุกอย่าง ท่านพระเทวทัตจะบอกให้พระองค์ช่วงชิงพระราชสมบัตจากพระบิดาหรือพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ก็ทรงเชื่อ ทรงจับพระเจ้าพิมพิสารไปคุมขังไว้ พยายามกีดกันไม่ให้คนอื่นเข้าไปเยี่ยม แม้แต่พระราชมารดา ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูมีพระราชโอรส จึงได้ทรงหวนระลึกว่า “แม้พระราชบิดาของพระองค์ คือพระเจ้าพิมพิสารก็ย่อมจะทรงมีความรักในพระองค์ เหมือนความรู้สึกของพระองค์ที่ทรงรักพระราชโอรสอยู่ในขณะนี้เหมือนกัน” จึงเสียพระทัยว่าพระองค์ได้ทรงกระทำปิตุฆาต คือเป็นเหตุใหพระราชบิดาต้องสิ้นพระชนม์ในที่คุมขัง ก็เลยทรงเป็นทุกข์มากทีเดียว เพราะได้ทรงสร้างความผิดอันใหญ่หลวง แม้ว่าจะเสด็จดไปหาครูบาอาจารย์อื่นๆ ก็ไม่สามารถทำให้พระองค์ทรงคลายทุกข์ลงได้ ในที่สุดจึงรับสั่งให้หมอชีวกโกมารภัจจ์พาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงแสดงธรรมเป็นปาฏิหาริย์ ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูคลายความทุกข์โศกลงได้

    อาเทสนาปาฏิหาริย์ก็คงจะเช่นเดียวกับอิทธิปาฏิหาริย์ จึงไม่ใช่ปาฏิหาริย์ที่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ เลย เพราะไม่สามารถจะทำให้รู้จักตัวเองหรือพ้นทุกข์ได้อย่างพระธรรมที่เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์

    ที่พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ สามารถกลับใจ กลับความเห็นผิด กลับความประพฤติของผู้ฟังให้เป็นความเห็นถูก ให้เป็นจิตใจที่ดีงาม และให้ประพฤติในทางที่ดีได้นั้นเป็นเพราะอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ เพราะพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเป็นความจริงทุกประการค่ะ ไม่ว่าจะเป็นในเบื้องต้น คือขั้นศีลธรรมที่เป็นหลักของการประพฤติปฏิบัติทั่วๆ ไป ที่ทรงสอนให้เว้นจากการประพฤติอย่างไร และทรงสอนให้ประพฤติอย่างไร เพราะเหตุใด และในขั้นที่ทรงแสดงสภาพลักษณะที่แท้จริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่มีปรากฏอยู่ทั่วๆ ไป ตลอดจนถึงขั้นที่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม สามารถที่จะดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

    คุณวันทนา พระองค์ทรงตรัสรู้สภาพลักษณะของสิ่งทั้งปวงแล้วนี่เอง จึงทรงสามารถแสดงสภาพลักษณะ เหตุ และผลของทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยชอบตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ จนกระทั่งคนฟังมีความเลื่อมใส และประพฤติปฏิบัติตาม

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคิดว่ามีอะไรที่ประเสริฐกว่าปัญญาที่รู้ความจริงไหมคะ

    คุณวันทนา ถ้าพูดกันตามหลักแล้วก็ไม่มีค่ะ เพราะเพชรนิลจินดา แก้วแหวนเงินทอง ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่มีราคาที่ถือกันว่าประเสริฐ เป็นรัตนะ เป็นเครื่องทำให้เกิดความปลาบปลื้มพอใจ ซึ่งทุกคนก็มุ่งแสวงหากันอยู่ในชีวิตประจำวันตามที่เห็นๆ กันอยู่นั้น คนส่วนมากเข้าใจว่าถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ เช่นไม่มีแหวนเพชรสวยๆ ไม่มีรถยนต์คันงามๆ ใช้ ไม่มีเครื่องบำรุงบำเรอความสุขอื่นๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ก็ดูจะเป็นการน้อยหน้าคนอื่น แต่ถ้าจะคิดกันด้วยเหตุผลแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถจะติดตามไป หรือช่วยให้คนนั้นพ้นทุกข์ได้เหมือนกับการมีปัญญา ปัญญาย่อมเป็นรัตนะที่ประเสริฐเหนือรัตนะใดๆ สามารถนำมาซึ่งความปลาบปลื้มในยิ่งกว่ารัตนะอื่น และช่วยให้คลายทุกข์ดับทุกข์ได้ด้วย ขณะใดที่ใจของเราเกิดมีความทุกข์ร้อนมากๆ มีความกังวลมากๆ หรือโกรธมากๆ แก้วแหวนเงินทองที่มีอยู่จะช่วยให้เราคลายทุกข์ร้อนได้อย่างไร ต้องอาศัยปัญญาที่ได้จากธรรมของพระผู้มีพระภาคจึงจะคลายทุกข์ได้ อย่างเวลาทุกข์เพราะโกระ พระองค์ก็ได้ทรงสอนว่า “ฆ่าความโกรธเสียได้ย่อมอยู่เป็นสุข” แต่ก็น่าสงสัยนะคะ ว่า เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ทำไมมนุษย์เราจึงแสวงหารัตนะอื่น เช่น แก้ว แหวน เงินทอง ทรัพย์สมบัติอื่นๆ ยิ่งกว่าจะแสวงหาปัญญาล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อยังไม่ได้ฟัง และยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมจนกระทั่งเห็นคุณค่าอันประเสริฐของพระธรรมที่มีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็ย่อมจะต้องแสวงหาสิ่งอื่นเป็นธรรมดาค่ะ

    คุณวันทนา เพราะฉะนั้น เกื้อกูล ผู้ที่รู้คุณค่าอันประเสริฐของพระธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรม จนเกิดความเข้าใจในอรรถรสของพระธรรมแล้วซินะคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อศึกษา และเข้าใจพระธรรมมากขึ้นก็ยิ่งเห็นคุณค่าอันประเสริฐ และเกิดศรัทธาที่จะประพฤติปฏิบัติตามมากขึ้น

    คุณวันทนา การที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมได้นั้น ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจพระธรรมเสียก่อน ก็จะไม่รู้ว่าการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมนั้นมีอะไรบ้าง และจะปฏิบัติอย่างไรนะคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ฟัง และศึกษาธรรมก่อน ก็ย่อมไม่เกิดศรัทธา และความเข้าใจที่จะประพฤติปฏิบัติ คนที่ศึกษา และรู้คุณค่าของพระธรรมแล้ว ก็ย่อมจะนอบน้อมสักการะ และเห็นคุณของพระรัตนตรัยว่าประเสริฐยิ่งกว่ารัตนะอื่นใดทั้งสิ้น เหมือนอย่างที่ปิงคิยานีพราหมณ์กล่าวกับการณปาลีพราหมณ์ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต จตุตถปัณณาสก์ พราหมณวรรคที่ ๕ การณปาลีสูตรข้อ ๑๙๔

    คุณวันทนา ปิงคิยานีพราหมณ์กล่าวกับการณปาลีพราหมณ์ว่ายังไงคะ

    ท่านอาจารย์ การณปาลีพราหมณ์ถามปิงคิยานีพราหมณ์ว่า “ท่านปิงคิยานีย่อมเข้าใจพระปรีชา (ความฉลาดด้วยปัญญา) ของพระสมณโคดมว่าเห็นจะเป็นบัณฑิตนั้นอย่างไร” ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไรจึงจักรู้พระปรีชาของพระสมณโคดม ผู้ใดพึงรู้พระปรีชาของพระสมณโคดม แม้ผู้นั้นพึงเป็นเช่นกับพระสมณโคดมนั้นแน่นอน”

    คุณวันทนา ก็แสดงให้เห็นว่า ปิงคิยานีพราหมณ์มีความนอบน้อมในพระปัญญาของพระผู้มีพระภาคเหลือเกินนะคะ แต่ก็เป็นความจริงที่ย่อมจะไม่มีใครพึงรู้พระปัญญาของพระผู้มีพระภาคได้เลย เพราะพระปัญญาของพระองค์ย่อมไม่สามารถจะประมาณหรือวัดได้ พุทธบริษัทจะรู้ได้ก็เพียงรู้ตามที่พระองค์ทรงแสดงเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น จะประมาณว่ามีมากน้อยเท่าไรด้วยปลายหญ้าคาได้ไหมคะ

    คุณวันทนา ก็ขนาดของหญ้าคาใครๆ ก็รู้ว่าเล็กนิดเดียว และปริมาณน้ำในมหาสมุทร ความลึก ความกว้างของมหาสมุทรใหญ่โตสักแค่ไหนใครๆ ก็รู้ แล้วจะเอาหญ้าคาไปวัดน้ำในมหาสมุทรได้อย่างไรคะ ถ้าใครคิดจะทำอย่างนั้นก็คงจะต้องตายเสียก่อน

    ท่านอาจารย์ แล้วแผ่นดินหรือโลกของเรานี้ พอจะชั่งดูได้ไหมคะว่าหนักเท่าไร

    คุณวันทนา คงจะชั่งได้กระมังคะ ถ้าหากว่ามีเครื่องชั่งใหญ่ขนาดนั้น แต่สักวันหนึ่งคงจะทำได้ถ้าวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้า

    ท่านอาจารย์ อากาศล่ะคะ เอาเชือกวัดได้ไหมคะ

    คุณวันทนา อากาศออกเป็นสิ่งว่างเปล่า กว้างขวางไม่มีที่สุดออกอย่างนั้น จะเอาเชือกที่ไหนมาวัดได้ ทำไมวันนี้อาจารย์จึงได้พูดถึงแต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่มีใครทำ เพราะไม่สามารถจะทำได้ล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ก็เพื่อให้คุณวันทนาได้ทราบว่า ท่านผู้ที่ซาบซึ้งในพระพุทธคุณนั้น ท่านสรรเสริญพระผู้มีพระภาคด้วยความรู้สึกที่มีอยู่ในใจของท่านอย่างไรบ้าง

    คุณวันทนา การเปรียบพระพุทธคุณ เหมือนเอาปลายหญ้าคาไปวัดน้ำในมหาสมุทรก็ดี หรือจะเอาตาชั่งมาชั่งความหนักของแผ่นดินหรือโลกเรานี้ก็ดี หรือจะเอาเชือกมาวัดความกว้างของอากาศเหล่านี้ก็ดี เป็นการสรรเสริญพระพุทธคุณของผู้ใดคะ

    ท่านอาจารย์ เป็นการสรรเสริญของท่านพระญาณถวิกเถระในอดีตชาติ ครั้งที่ท่านเกิดในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธ ในขุททกนิกาย อปาทาน ปังสุกูลวรรคที่ ๔๙ ข้อ ๗๔

    คุณวันทนา การบรรลุความเป็นพระอรหันต์ต้องสะสมปัจจัยบารมีมากมายเหลือเกินนะคะ ทั้งๆ ที่รู้ในพระพุทธคุณ และสามารถที่จะกล่าวสรรเสริญได้ถึงแค่นี้แล้ว ก็ยังต้องสะสมปัญญาบารมีมาตั้งแต่สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสุเมธ มาจนกระทั่งถึงสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ การสะสมปัญญาเพื่อบรรลุความเป็นพระอรหันต์นี้ ก็ต้องน้อยกว่าการสะสมบารมีเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหมคะ เพราะเมื่อผลคือการตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นใหญ่กว่าการบรรลุเป็นพระอรหันตสาวก เหตุก็ต้องใหญ่กว่า มากกว่า ตามควรแก่ผลด้วย

    เมื่อคิดถึงความเพียร ความอดทน และพระบารมีอเนกประการ ที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญมาในชาติต่างๆ เช่นในเรื่องพระเจ้าสิบชาติ ซึ่งพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๑๐ ประการนั้น ในขุททกนิกาย มหานิบาตชาดก มหาชนกชาดก ข้อ ๔๔๒ - ๔๘๑ มีเรื่องว่า พระมหาชนกได้กระทำความเพียรว่ายน้ำจากกลางทะเลลึกเข้าสู่ฝั่ง เพราะเรือที่อาศัยไปนั้นแตกอับปางลง ในขณะที่ว่ายน้ำอยู่นั้นก็มีเทวดาองค์หนึ่งมาถามพระองค์ว่า “ใครนี่ เมื่อมองไม่เห็นฝั่งก็ยังกระทำความเพียรว่ายอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้”

    พระมหาชนกก็ตอบว่า “ดูกรเทวดา เราพิจารณาเห็นวัตรของโลก และอานิสงส์แห่งความพยายาม เพราะฉะนั้นถึงจะไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ในท่ามกลางมหาสมุทร”

    เทวดาก็ถามว่า “ฝั่งมหาสมุทรอันลึกประมาณไม่ได้ย่อมจะไม่ปรากฏ ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่านย่อมเปล่าประโยชน์ ท่านยังจะไม่ถึงฝั่งก็จะต้องตายเป็นแน่”

    พระมหาชนกก็ตอบว่า “บุคคลผู้กระทำความเพียรอยู่ แม้จะตายก็ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้หรือไม่ถูกติเตียนในระหว่างหมู่ญาติ และเทวดาทั้งหลาย”

    จากเรื่องนี้ย่อมจะเป็นตัวอย่างได้อย่างดีในการบำเพ็ญเพียรที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญมาเพื่อจะโปรดสัตว์โลก ซึ่งก็จะทำให้เห็นพระมหากรุณาคุณของพระองค์มากเหลือเกิน สมกับที่กล่าวว่าเอาปลายหญ้าคาไปประมาณน้ำในมหาสมุทร เอาเชือกไปวัดอากาศ

    ท่านอาจารย์ ที่ท่านเปรียบเทียบนั้น ท่านเปรียบเทียบให้เห็นว่า แม้น้ำในมหาสมุทร อากาศ และแผ่นดิน ก็ยังพอประมาณได้ แต่พระคุณของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่มีผู้ใดจะสามารถประมาณได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา น้ำในมหาสมุทร แผ่นดิน อากาศ ก็ยังพอแลเห็น จับต้องสัมผัสได้ แต่พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคนั้น เป็นนามธรรมซึ่งสะสมบารมีมามากมายหลายอสงไขยกัปป์ ก็ย่อมจะประมาณไม่ได้เลยนะคะ

    ท่านอาจารย์ ในบางแห่งก็ได้กล่าวว่า ถึงแม้จะได้สรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาคมากมายสักเพียงใดก็ตาม เมื่อเปรียบพระคุณของพระองค์ดุจน้ำในมหาสมุทรแล้ว พระคุณที่มีผู้สรรเสริญแล้วนั้นก็เปรียบเหมือนน้ำส่วนน้อยที่ไหลผ่านช่องเข็มที่จุ่มลงในมหาสมุทรเท่านั้น หรือถ้าจะอุปมาพระคุณของพระองค์ดุจอากาศที่กว้างใหญ่หาที่สุดไม่ได้ พระคุณที่มีผู้สรรเสริญแล้วนั้น ก็เป็นเพียงส่วนของอากาศที่ถูกปีกนกเล็กๆ กระทบเมื่อบินไปเท่านั้น

    คุณวันทนา ท่านก็อุปมากันสุดที่จะอุปมา และพรรณนากันให้เห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถจะประมาณได้เลยนะคะ แล้วปิงคิยานีพราหมณ์ และการณปาลีพราหมณ์สนทนากันต่อไปอีกหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ การณปาลีพราหมณ์ก็ได้กล่าวกับปิงคิยานีพราหมณ์ต่อไปว่า “ได้ยินว่าท่านปิงคิยานีสรรเสริญพระสมณโคดมยิ่งนัก” ปิงคิยานีพราหมณ์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าคือใคร และเป็นอะไรจึงจักสรรเสริญพระสมณโคดม และท่านพระสมณโคดมพระองค์นั้นอันเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายสรรเสริญแล้วๆ ว่า เป็นผู้ประเสริฐที่สุดกว่าเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย”

    คุณวันทนา ปิงคิยานีพราหมณ์ดูเคารพสักการะนอบน้อมในพระผู้มีพระภาคมากทีเดียวนะคะ เพราะถึงแม้จะสรรเสริญก็ยังกล่าวว่าตัวท่านเองนั้นไม่สมควรจะสรรเสริญพระองค์

    ท่านอาจารย์ การณปาลีพราหมณ์ก็ถามต่อไปว่า “ก็ท่านปิงคิยานีเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงเลื่อมใสยิ่งนักในพระสมณโคดมอย่างนี้” ซึ่งปิงคิยานีพราหมณ์ก็ได้ตอบโดยอุปมามีข้อความโดยย่อว่า “ผู้ที่ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธรรมที่ทรงแสดงโดยลักษณะใดๆ ย่อมไม่ปรารถนาที่จะฟังธรรมของผู้อื่น เปรียบเหมือนคนที่อิ่มในรสอันเลิศแล้วก็ย่อมไม่ปรารถนารสอื่นๆ ที่เลว เหมือนคนที่หิวที่อ่อนเพลียได้รวงผึ้ง ก็ย่อมจะลิ้มรสอันไม่มีอะไรเจือปนจากรวงผึ้งด้วยความดีใจ หรือเหมือนความดีใจปราโมทย์ของคนที่ได้กลิ่นหอม เหมือนคนไข้หนักที่นายแพทย์ผู้ฉลาดสามารถรักษาให้หายได้อย่างรวดเร็ว เหมือนคนเหนื่อยร้อนได้ลงไปอาบ และดื่มน้ำในสระที่ใสสะอาด”

    คุณวันทนา การฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้วได้รสที่เลิศกว่าการฟังธรรมของคนอื่นนั้น ก็เป็นเพราะพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นเป็นความจริงทุกอย่างทุกประการทีเดียว ที่อาจารย์ได้พูดถึงเมื่อตอนต้นแล้วว่า รสของพระธรรมอิ่มเข้าไปถึงในใจ ไม่อิ่มเพียงแค่ลิ้น แค่ปาก แค่ท้อง และยังสามารถเก็บไว้ได้ชั่วชีวิตทีเดียว

    ท่านอาจารย์ จุดประสงค์ของผู้ฟังธรรม และใคร่ในธรรมนั้น ก็ย่อมต้องการความรู้ ความเข้าใจความจริงจากการฟังธรรม ใช่ไหมคะ คนที่ฟังธรรมไม่ต้องการที่จะได้ความรู้ผิดๆ หรือความไม่จริงของธรรมที่ฟังใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา คงไม่มีใครต้องการอย่างนั้นหรอกค่ะ แต่คนที่ฟังธรรมเพื่อต้องการบุญกุศลล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ บุญกุศลมีหลายทาง ไม่ต้องฟังธรรมก็ได้ค่ะ อย่างให้ทาน รักษาศีล หรือเว้นทุจริตกรรมขณะไหน ขณะนั้นก็เป็นบุญกุศล

    คุณวันทนา แต่ถ้าต้องการเจริญกุศลในด้านการฟังธรรมด้วย และไปฟังเพื่อให้จิตใจสบาย สงบ ไม่เป็นอกุศล แทนที่จะนั่งเล่น นอนเล่น พักผ่อนหย่อนอารมณ์อยู่กับบ้าน หรือไปหาเพื่อนเล่นเพื่อนคุยที่ถูกในนอกบ้าน ไปเที่ยวเตร่ ดูหนัง ดูละคะ หรือทำอะไรอื่นๆ อย่างนี้ล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าฟังธรรมเพียงเพื่อต้องการบุญกุศล บางทีอาจจะไม่ได้กุศลเท่าที่ต้องการก็ได้นะคะ เพราะเพียงแต่ได้ยินเสียงซึ่งแสดงธรรม และไม่เข้าใจความหมายของธรรมที่แสดงนั้น จิตใจก็อาจจะไม่เป็นกุศลก็ได้ เช่นถ้าเสียงนั้นน่าฟัง แต่ไม่เข้าใจธรรม จิตใจก็อาจจะพอใจในเสียงนั้นก็ได้ หรือถ้าเสียงนั้นไม่น่าฟัง และไม่เข้าใจธรรมที่แสดงด้วย ก็ย่อมจะไม่พอใจในเสียงนั้น จิตใจก็เป็นอกุศลไม่เป็นกุศลค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าเสียงก็น่าฟัง และธรรมที่แสดงก็สามารถทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ดีด้วย ก็ย่อมทำให้เกิดกุศลปลาบปลื้มโสมนัส ทำให้เกิดเลื่อมใสศรัทธาได้มากใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ปัตตกรรมวรรคที่ ๒ รูปสูตร ข้อ ๖๕ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงบุคคล ๔ จำพวก ที่มีความเลื่อมใสต่างกันค่ะ

    คุณวันทนา บุคคลมีความเลื่อมใสต่างกันอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ผู้ถือประมาณในรูป เลื่อมใสในรูป ๑ ผู้ถือประมาณในเสียง เลื่อมใสในเสียง ๑ ผู้ถือประมาณในความเศร้าหมอง เลื่อมใสในความเศร้าหมอง ๑ ผู้ถือประมาณในธรรม เลื่อมใสในธรรม ๑

    คุณวันทนา จริงๆ ด้วยนะคะ ถ้าสังเกตดูก็จะทราบได้ว่า บางคนก็เลื่อมใสคนนี้ บางคนก็เลื่อมใสคนนั้น ซึ่งก็ย่อมจะไม่พ้นไปจากประเภทของบุคคลต่างๆ ที่ทรงแสดงไว้ เพราะที่เลื่อมใสต่างกันไปนั้นก็ในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง ในธรรมบ้าง ตามอัธยาศัย และจิตใจที่ได้สะสมอบรมมา ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ เพราะสะสมเหตุปัจจัยมาอย่างนั้น

    การสนทนาในวันนี้ก็อยู่ในหลักที่แสดงให้เห็นว่า ธรรมคืออนุสาสนีปาฏิหาริย์ย่อมดีกว่า และประณีตกว่าปาฏิหาริย์อื่น คืออิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์ เพราะปาฏิหาริย์อื่นไม่สามารถทำให้เข้าใจในเหตุผลของชีวิต และสภาพธรรมทั้งหลายได้ แต่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทะเจ้านั้นประเสริฐสุด เพราะสามารถทำให้บุคคลที่ได้ศึกษา และเข้าใจธรรม ประพฤติในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อผู้อื่น นำความปลาบปลื้มมาสู่ผู้ที่รู้คุณค่ายิ่งกว่ารัตนะใดๆ ทั้งสิ้น สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ