บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
ครั้งที่ ๔๓
ความต่างแห่งกรรมทำให้เกิดวิบากในภูมิต่างๆ
สังฆทาน
คุณวันทนา ในครั้งก่อนเราก็ได้พูดกันถึงอดีตกรรมของท่านพระเถระต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อยังไม่ถึงภพชาติสุดท้าย ที่จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านก็อุบัติ และจุติวนเวียนไปในภูมิต่างๆ และถ้าท่านผู้ฟังสังเกตก็คงเห็นว่า สวรรค์ ซึ่งเป็นสุคติภูมิที่กล่าวถึงนั้น ส่วนมากมักจะเป็นดาวดึงส์ ทำให้เกิดปัญหาที่น่าคิด ๒ ประการว่า ประการที่ ๑ เหตุใดส่วนมากของสุคติภูมิที่กล่าวถึงนั้น จึงเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประการที่ ๒ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นจะอยู่ไกลสักแค่ไหน
ท่านอาจารย์ คุณวันทนายอมรับว่า สวรรค์นั้นเรามองไม่เห็นใช่ไหมคะ เพราะว่าสวรรค์อยู่ห่างไกลจากโลก ห่างไกลจากจักรวาลดาวที่เรามองเห็นในตอนกลางคืน ออกไปตามลำดับชั้นของสวรรค์ แต่ก่อนที่คุณวันทนาจะคิดว่าสวรรค์อยู่ที่ไหน ก็จะต้องเชื่อเสียก่อนว่า สวรรค์มีจริงหรือไม่
คุณวันทนา ถ้าจะเชื่อ ก็คงจะคิดว่าเชื่อง่ายไป เพราะไม่มีใครมองเห็นสวรรค์ แต่ถ้าจะไม่เชื่อก็รู้สึกว่าจะตัดสินง่ายไปอีกเหมือนกันว่าไม่มีสวรรค์ เพราะยังไม่ได้ออกไปสำรวจจนทั่ว แม้นอกจักรวาลออกไปอีกแสนไกล เมื่อโลกนี้ยังมีได้ ทำไมสวรรค์ซึ่งเป็นที่เกิดของสัตวโลกในที่อื่นๆ จึงจะมีไม่ได้ เมื่อบุญกรรมจำแนกมนุษย์ และสัตว์เดรัจฉานที่เห็นๆ กันในโลกนี้ ให้ต่างกันไปทั้งในรูปร่าง ลักษณะ ลาภ ยศ ทรัพย์สมบัติ ความสุข ความทุกข์ บุญกรรมก็ย่อมจะจำแนกสัตวโลกให้เกิดในที่อื่นๆ นอกจากโลกนี้ได้ตามควรแก่กรรมนั้นๆ ซึ่งเป็นอนัตตา เป็นกฎของกรรมโดยตรง ไม่มีใครจะสามารถบังคับบัญชาได้ เมื่อคิดถึงการบำเพ็ญพระบารมีของพระผู้มีพระภาคก่อนที่จะประสูติ และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลกนี้ เมื่อบำเพ็ญพระบารมีในชาติต่างๆ พร้อมแล้ว ก็ย่อมจะได้รับผลของพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมานั้นโดยเกิดในสวรรค์ และเมื่อพิจารณาคุณธรรมพิเศษของบรรดาท่านพระอรหันต์ที่ระลึกชาติได้ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็เป็นผู้รู้ธรรมโดยสมบูรณ์ถึงความเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านไม่ได้สะสมบำเพ็ญบุญบารมีมาอย่างที่ท่านแสดงไว้ ท่านก็คงไม่ได้เป็นพระอรหันต์ สรุปแล้วถึงจะไม่ได้เห็นสวรรค์ก็เชื่อแล้วละค่ะ
ท่านอาจารย์ ตราบใดที่เรายังเป็นมนุษย์ และไม่มีจักษุทิพย์ ก็ไม่มีทางเห็นสวรรค์ได้เลยค่ะ เพราะผู้ที่เห็นสวรรค์ก็คือผู้ที่เกิดในสวรรค์ เหมือนกับที่เราเห็นว่าโลกนี้มีก็เพราะเราเกิดในโลกนี้ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็ล้วนเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น การที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี เป็นพระอรหันต์ก็ดี หรือเป็นมนุษย์ เป็นเทพในสวรรค์ชั้นต่างๆ นั้น ก็ต้องมีเหตุคือบุญกรรมทั้งสิ้น และพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงเรื่องนี้กับพราหมณ์ และคฤหบดี ชาวบ้านสาลา ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค อปัณณกสูตร ข้อ ๑๐๓ - ๑๐๔ ด้วยค่ะ
คุณวันทนา เรื่องนรก สวรรค์นี่ ดูเป็นปัญหาทุกกาลทุกสมัยทีเดียวนะคะ ที่เป็นอย่างนี้ก็คงเป็นเพราะเห็นว่าเมื่อโลกนี้มีก็เลยทำให้คิดว่าโลกอื่นๆ ที่สบายกว่านี้หรือทุกข์ทรมานกว่านี้จะมีไหม และถ้ามีก็อยู่ที่ไหนล่ะ ห่างไกลสักเท่าไรนั่นเอง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า คนที่เห็นว่าผลของกรรมดี กรรมชั่วไม่มี โลกหน้าไม่มี ก็เป็นอันหวังได้ว่าคนนั้นจะต้องเว้นจากกุศลกรรม คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต และผู้นั้นก็ย่อมจะประพฤติอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา และทางใจ และความเห็นที่ว่าโลกหน้าไม่มีนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นอย่างนั้นเป็นความเห็นที่ผิด วาจาที่พูดเช่นนั้นก็เป็นมิจฉาทางวาจา และการทำให้คนอื่นเข้าใจผิดเช่นนั้น ก็เป็นโทษอย่างมาก ส่วนการที่เชื่อว่าผลของกรรมดี กรรมชั่วมี โลกหน้ามี ก็จะทำให้ผู้นั้นเว้นจากอกุศลกรรม ๓ คือ เว้นจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต และเจริญกุศล ๓ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
คุณวันทนา ความคิด ความเชื่อ ของคนเรานี่ก็มีต่างๆ กันนะคะ อย่างคนที่คิดว่าการทำดี ทำชั่ว ไม่ให้ผลหรือไม่มีผลคงจะมีน้อย และคนที่เชื่อว่ากรรมดี กรรมชั่ว มีผลในปัจจุบันชาติเท่านั้นคงจะมีมากกว่า และบางคนก็อาจจะเชื่อว่าโลกหน้าคงจะมี แต่ก็คงจะเป็นโลกมนุษย์นี่แหละไม่ใช่โลกอื่น อย่างนี้เป็นต้น สำหรับในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่าอย่างไรหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑ นิพเพธิกสูตร ข้อ ๓๓๔ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องกรรมแก่ภิกษุทั้งหลายค่ะ พระองค์ทรงแสดงเหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบาก (คือผล) แห่งกรรม ความดับแห่งกรรม และปฏิปทา (คือข้อปฏิบัติ) ที่ให้ถึงความดับแห่งกรรม
คุณวันทนา ในเรื่องความต่างแห่งกรรม พระองค์ทรงแสดงว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ในเรื่องความต่างแห่งกรรมนั้น พระองค์ทรงแสดงว่า กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี กรรมที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี กรรมที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี กรรมที่ให้วิบากในมนุษยโลกก็มี กรรมที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งกรรม ส่วนวิบากแห่งกรรม พระองค์ทรงแสดงว่ามี ๓ ประการคือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑ กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิดคือภพที่ต่อจากปัจจุบันนี้ ๑ กรรมที่ให้ผลในภพต่อๆ ไป ๑ นี้เรียกว่าวิบากแห่งกรรมค่ะ
คุณวันทนา นอกจากที่กล่าวมานี้ พระองค์คงจะได้ทรงแสดงเรื่องของกรรมพร้อมทั้งเหตุ และผลของกรรมแต่ละชนิด และวิบากคือการรับผลของกรรมในภพภูมิต่างๆ อย่างละเอียด ทั้งในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก อาจารย์จะกรุณายกเรื่องอะไรมาประกอบให้ท่านผู้ฟังได้ทราบเรื่องโลกอื่นๆ หรือภูมิอื่นๆ อย่างเช่นสวรรค์เป็นต้น ได้ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โปสาลมาณวกปัญหานิเทส ข้อ ๔๖๘ มีข้อความว่า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงแม้อดีต ย่อมทรงแสดงแม้อนาคต ย่อมทรงแสดงแม้ปัจจุบันของพระองค์เอง และของผู้อื่น
ที่ว่าพระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงอดีตของพระองค์นั้นก็คือ พระองค์ย่อมทรงแสดงชาติหนึ่งบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง …. ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดกัปป์เป็นอันมากบ้าง ซึ่งเป็นอดีตของพระองค์ว่า ในภพโน้นพระองค์มีชื่ออย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น มีสุขมีทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น และเมื่อจุติจากภพนั้นแล้วก็เกิดในภพโน้นเป็นต้นค่ะ
คุณวันทนา สำหรับอดีตของคนอื่นก็คงจะเช่นเดียวกันนะคะ ด้วยพระญาณของสมเด็จพระผู้มีพระภาค พระองค์ย่อมจะทรงแสดงอดีตของผู้อื่นในอนันตชาติ ด้วยพระญาณของพระองค์ และพระองค์ก็ได้ทรงแสดงอนาคตของผู้ที่จะยังมีภพชาติต่อไป อย่างที่ได้ทรงพยากรณ์ท่านพระเทวทัตที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว
บุคคลในสมัยพุทธกาลเมื่อสิ้นชีวิตแล้วเกิดที่ไหนกันบ้างคะ อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นอุบาสกผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค และได้บำเพ็ญประโยชน์ในพระพุทธศาสนาอย่างมากมายทีเดียว เช่นได้สร้างอารามถวายพระบรมศาสดา ได้ถวายจตุปัจจัยอาหารบิณฑบาตเป็นจำนวนมากอยู่เป็นนิตย์ ท่านทำกุศลไว้มากอย่างนี้ ท่านสิ้นชีวิตแล้วท่านเกิดที่ไหนคะ
ท่านอาจารย์ ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สฬายตนวรรค อนาถบิณฑิโกวาทสูตร ข้อ ๗๓๘ มีข้อความว่า เมื่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
คุณวันทนา อาจารย์กรุณาอธิบายความหมายของคำว่า สุคติ เทวโลก และสวรรค์ ให้ท่านผู้ฟังได้ทราบสักเล็กน้อยได้ไหมคะ
ท่านอาจารย์ คำว่า สุคติ หมายถึงการเกิดในภูมิที่ดี เป็นผลของกุศล และคำว่า สุคติ นั้นแยกเป็น ๒ คือ มนุสสคติ และเทวคติ
มนุสสคติ คือการเกิดเป็นมนุษย์ในภูมิของมนุษย์คือในโลกมนุษย์
เทวคติ คือการเกิดเป็นเทวดา และพรหม เพราะฉะนั้นเทวคติหรือเทวโลกจึงแยกออกเป็น ๒ คือ
เป็นสวรรค์ ๖ ชั้น หรือ ๖ ภูมิ
เป็นรูปพรหม ๑๖ ภูมิ เป็นอรูปพรหม ๔ ภูมิ
รูปพรหม ๑๖ ภูมิ เป็นภูมิของผู้ที่เจริญสมถภาวนา และบรรลุรูปฌาน เมื่อฌานไม่เสื่อม คือฌานจิตเกิดก่อนจุติก็เป็นปัจจัยให้เกิดในรูปพรหมภูมิได้ตามขั้นของฌานนั้นๆ ส่วนอรูปพรหม ๔ ภูมินั้น เป็นภูมิที่เกิดของผู้ที่เจริญสมถาวนาแล้วบรรลุฌาน
คุณวันทนา อย่างสุทธาวาส ๕ ภูมิ ที่เราได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อนก็เป็นรูปพรหมภูมิพิเศษ สำหรับพระอนาคามีบุคคลที่ได้รับรูปปัญจมฌาน เพราะฉะนั้นสุทธาวาส ๕ ภูมิ จึงรวมอยู่ในรูปพรหมภูมิ ซึ่งเป็นเทวโลกด้วย เพราะฉะนั้นคำว่าเทวโลกหรือเทวคตินั้น ก็ไม่ได้หมายเฉพาะสวรรค์เท่านั้น เพราะหมายรวมถึงพรหมโลกซึ่งเป็นที่เกิดของพรหมทั้งที่มีรูป และไม่มีรูป และส่วนสวรรค์ ๖ ชั้นนั้น มีอะไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ สวรรค์ ๖ ชั้น มีจาตุมหาราชิกา ๑ ดาวดึงส์ ๑ ยามา ๑ ดุสิต ๑ นิมมานรดี ๑ ปรนิมมิตวสวัตตี ๑ ตามลำดับค่ะ
คุณวันทนา สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาก็ต่ำที่สุดหรือติดต่อใกล้ภูมิมนุษย์ที่สุด แล้วต่อไปก็เป็นดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมมิตวสวัตตี ซึ่งก็ไกลออกไปตามลำดับ ใช่ไหมคะ ความสุข ความประณีต ความมีอายุยืนของสวรรค์แต่ละชั้นก็คงเพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย
อาจารย์คะยังมีอีกท่านหนึ่งค่ะ ที่ดิฉันคิดว่าใครๆ ก็คงอยากจะทราบว่า ท่านเกิดที่ไหน วิสาขามหาอุบาสิกาน่ะค่ะ ท่านเลื่อมใส ศรัทธา และได้ทำคุณประโยชน์ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เช่นเดียวกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทีเดียว ท่านได้สร้างอารามถวายพระบรมศาสดา ได้ถวายจตุปัจจัยอาหารบิณฑิบาตเป็นจำนวนมากอยู่เป็นนิจ วิสาขามหาอุบาสิกาได้ทำกุศลไว้มากอย่างนี้ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วท่านเกิดที่ไหนคะ
ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย มัญชิฏฐกวรรคที่ ๔ วิมานวัตถุ วิหารวิมาน ข้อ ๔๔ มีข้อความว่า เมื่อวิสาขามหาอุบาสิกาสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
คุณวันทนา วิสาขามหาอุบาสิกาเกิดในสวรรค์ชั้นสูงกว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีอีกนะคะ ทั้งๆ ที่ได้ทำประโยชน์ไว้ในพุทธศาสนาคล้ายๆ กัน คือต่างก็ได้สร้างอารามถวายพระพุทธเจ้า ได้ถวายปัจจัยคืออาหารบิณฑบาตเป็นจำนวนมากอยู่เป็นนิตย์แก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก ดูแล้วใครๆ ก็คิดว่าน่าจะเกิดในที่เดียวกัน
ท่านอาจารย์ นอกจากพระผู้มีพระภาคแล้ว ไม่มีใครสามารถรู้ความวิจิตรของจิต และของกรรมได้อย่างถ่องแท้เลยว่า บุญกรรมใดจะให้ผลมากน้อยต่างกันอย่างไร ตามความต่างกันของจิตอย่างไรบ้าง อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิตนั้น ท่านเจ็บหนัก ท่านมีโอกาสได้ฟังธรรมจากท่านพระสารีบุตรด้วยความปีติเลื่อมใสซาบซึ้งแจ่มแจ้งจนน้ำตาไหล เมื่อท่านพระอานนท์ซึ่งไปกับท่านพระสารีบุตรเห็นอย่างนั้นก็ถามว่า “ยังอาลัยโลกนี้อยู่หรือ” ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ตอบว่า “ไม่ได้อาลัยโลกนี้ แต่เพราะไม่เคยได้ฟังธรรมเข้าใจแจ่มแจ้งอย่างนี้มาก่อน” ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีความซาบซึ้งในธรรมก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต เมื่อท่านสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตซึ่งเป็นภูมิของท่านที่มีปัญญาทั้งหลาย
คุณวันทนา สวรรค์ชั้นดุสิตเป็นภูมิของท่านที่มีปัญญาทั้งหลายนะคะ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ทำไมสวรรค์ชั้นดุสิตจึงเป็นภูมิที่อยู่ของผู้มีปัญญาเป็นอันมากล่ะคะ
ท่านอาจารย์ ถ้าจะกล่าวตามความวิจิตรของจิตนะคะ ผู้ที่มีปัญญา และมีอุปนิสัยฝักใฝ่ในธรรมอย่างมาก ก็ย่อมไม่ยินดีเพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ถึงแม้ว่าในสวรรค์ชั้นสูงกว่าชั้นดุสิต จะมีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ประณีตกว่าชั้นดุสิตสักเท่าไรก็ตาม แต่ด้วยอัธยาศัยที่ไม่ยินดีไม่เพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้น ก็ทำให้ผู้ที่มีปัญญา และมีบุญที่ได้กระทำไว้มากแล้วนั้น เกิดในภพดุสิตค่ะ
คุณวันทนา ชีวิตของวิสาขามหาอุบาสิกาในเมืองมนุษย์นี้ช่างเต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสที่น่าเพลิดเพลินยินดีเหลือเกิน ซึ่งก็เป็นผลของบุญในอดีตชาติที่ทำให้ท่านได้รับแต่อารมณ์ที่ดีๆ ในโลกมนุษย์ อย่างยากที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือนได้ และเพราะท่านได้สร้างกุศลอย่างประณีต และด้วยจิตใจที่เลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งทีเดียว จึงได้เกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
ต่อไปก็คงถึงปัญหาที่ว่า ทำไมพระอรหันตสาวกส่วนมากในสมัยพุทธกาลจึงได้แสดงอดีตกรรม ที่ทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มากกว่าชั้นอื่นๆ ล่ะคะ
ท่านอาจารย์ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานั้น ต่อจากภูมิมนุษย์ เพราะฉะนั้นความสุขหรืออารมณ์ของสวรรค์ชั้นนี้จึงมีระดับแตกต่างกันตามความวิจิตรของกรรม ซึ่งอารมณ์ต่างๆ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ในสวรรค์ชั้นนี้ยังอยู่ในระดับที่ประณีตไม่ทัดเทียมกับสวรรค์ชั้นสูงขึ้นไป เพราะฉะนั้นอานิสงส์ของกุศลกรรมที่มีกำลังที่ควรแสดงให้รู้เป็นตัวอย่างจึงได้กล่าวถึงผลกรรมที่ทำให้เกิดในดาวดึงส์เป็นส่วนมากค่ะ
คุณวันทนา อาจารย์จะกรุณากล่าวถึงผลของกรรมที่ทำให้เกิดในจาตุมหาราชิกาสักเรื่องหนึ่งไหมคะ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า กรรมที่ทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นกุศลกรรมที่มีกำลังน้อยกว่ากุศลกรรมที่ทำให้เกิดในดาวดึงส์
ท่านอาจารย์ ในฑีฆนิกาย มหาวรรค ปายาสิราชัญญสูตร ข้อ ๓๐๑ - ๓๓๐ มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง ท่านพระกุมารกัสสปเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เมื่อถึงพระนครเสตัพยะก็ได้พักอยู่ ณ ป่าสีเสียดด้านเหนือของพระนครเสตัพยะ สมัยนั้นเจ้าปายาสิผู้ครองพระนครเสตัพยะ ทรงพักผ่อนกลางวันอยู่ที่ปราสาทชั้นบน เจ้าปายาสิเห็นพวกพราหมณ์ และพวกคฤหบดีพากันออกจากเมืองบ่ายหน้าไปยังทิศอุดร ก็ตรัสถามนักการว่า ทำไมพวกพราหมณ์ และพวกคฤหบดีชาวนครเสตัพยะ จึงได้พากันออกจากเมืองเป็นหมู่ๆ อย่างนั้น นักการก็ทูลให้ทรงทราบว่าพวกนั้นไปหาท่านพระกุมารกัสสป เมื่อเจ้าปายาสิทรงทราบ ก็เสด็จไปหาท่านพระกุมารกัสสปด้วย เจ้าปายาสิไม่ทรงเชื่อเรื่องผลของกรรม และเรื่องโลกหน้า แต่เมื่อท่านพระกุมารกัสสปได้แสดงธรรมพร้อมด้วยเหตุ และผล และอุปมาเป็นอันมาก ชี้แจงถวายอย่างแจ่มแจ้ง พระองค์ก็ทรงเชื่อ และประกาศพระองค์เป็นอุบาสกถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะตลอดชีวิต และทรงเริ่มให้ทานแก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกทั้งหลาย แต่ทานที่เจ้าปายาสิให้นั้นเป็นทานที่ไม่ประณีตถึงเพียงนี้ คือเป็นปลายข้าวมีน้ำผักดองเป็นกับข้าว และได้ให้ผ้าเนื้อหยาบมีชายขอดเป็นปมๆ
อุตรมาณพซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในทานนั้น เมื่อทำหน้าที่ให้ทานแล้วก็อุทิศว่า “ด้วยทานนี้ขอให้ข้าพเจ้าร่วมกับเจ้าปายาสิในโลกนี้เท่านั้น อย่าได้ร่วมกันในโลกหน้าเลย” เมื่อเจ้าปายาสิทรงทราบก็ตรัสถามอุตรมาณพว่า “พ่ออุตร ก็เพราะเหตุไร เธอให้ทานแล้วจึงอุทิศอย่างนั้นเล่า พ่ออุตร พวกเราต้องการบุญ หวังผลแห่งทานแท้ๆ มิใช่หรือ” อุตรมาณพก็ทูลตอบว่า “ในทานของพระองค์ยังให้โภชนะเห็นปานนี้ คือเป็นปลายข้าวซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับเข้า พระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะถูกต้องแม้ด้วยพระบาท ไฉนจะทรงบริโภค อนึ่งเล่าผ้าก็เนื้อหยาบมีชายขอดเป็นปมๆ พระองค์ไม่ทรงปรารถนาจะถูกต้องแม้ด้วยพระบาท ไฉนจะทรงนุ่งห่ม พระองค์เป็นที่รักเป็นที่พอใจของพวกข้าพระพุทธเจ้า พวกข้าพระพุทธเจ้าจะชักจูงผู้ซึ่งเป็นที่รักที่พอใจไปด้วยสิ่งไม่เป็นที่พอใจอย่างไรได้” เจ้าปายาสิจึงรับสั่งให้อุตรมานพจัดทานด้วยโภชนะ และผ้าชนิดเดียวกับที่พระองค์ทรงบริโภค ทรงนุ่งห่มตั้งแต่นั้นมา แต่เพราะเจ้าปายาสิไม่ได้ทรงให้ทานโดยเคารพ ไม่ได้ทรงให้ทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ไม่ได้ทรงให้ทานด้วยความนอบน้อม แต่ให้ทานอย่างทิ้งให้ ครั้นสิ้นพระชนม์แล้วก็เกิดเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา มีวิมานที่ว่างเปล่า ส่วนอุตรมาณพซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในทานของเจ้าปายาสินั้น ให้ทานด้วยเคารพ และให้ทานด้วยมือของตน ให้ทานด้วยความนอบน้อม ไม่ได้ให้ทานอย่างทิ้งให้ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วอุตรมาณพก็เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
คุณวันทนา ถึงแม้ว่าจะให้ทานด้วยวัตถุที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ถ้าผู้นั้นสามารถจะให้ทานที่ประณีตกว่านั้นได้ แต่ก็ให้ทานที่ไม่ประณีต ให้ด้วยความไม่นอบน้อม และไม่เลื่อมใสยินดีในการให้ ความวิจิตรของจิตนั้นจำแนกให้ไปเกิดในสุคติภูมิก็จริง แต่ก็ไม่ประณีตเท่าภูมิอื่นๆ นี่ก็เป็นตัวอย่างของการให้ของคน ๒ คน คือเจ้าปายาสิ และอุตรมาณพ ที่จำแนกผลกรรมที่ต่างกันให้เกิดในภูมิที่ต่างกัน ยังมีตัวอย่างของกุศลกรรมที่จำแนกให้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างกันอีกไหมคะ
ท่านอาจารย์ ในขุททนิกาย วิมานวัตถุ ปาริฉัตตกวรรคที่ ๓ ทัลทัลลวิมาน ข้อ ๓๔ มีข้อความว่า ณ พิภพดาวดึงส์ ภัททาเทพธิดาเห็นเทพธิดาท่านหนึ่งรุ่งเรืองด้วยรัศมียิ่งกว่าเทพธิดาทั้งหมดในดาวดึงส์ และแปลกใจที่เทพธิดานั้นเรียกตนว่าภัททา ภัททาเทพธิดาก็ถามเทพธิดาผู้นั้นว่าเป็นใคร มาจากไหน เพราะไม่เคยเห็นมาก่อนเลย เพิ่งจะเห็นวันนี้เป็นวันแรก เทพธิดาผู้นั้นก็ตอบว่า ชื่อสุภัททา ในภพก่อนเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่นั้น เป็นน้องสาวของเทพธิดาเทพธิดา เมื่อจุติแล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ภัททาเทพธิดาทราบอย่างนั้นก็ถามว่า ด้วยผลกรรมใดล่ะ สุภัททาจึงได้เกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี สุภัททาก็ตอบว่า เมื่อชาติก่อนได้มีจิตเลื่อมใสถวายบิณฑบาต ๘ ที่แก่งสงฆ์ผู้เป็นทักขิเณยยบุคคล ๘ รูปด้วยมือของตน เพราะบุญกรรมนั้นจึงได้มีวัณณะงาม และรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ ภัททาเทพธิดาก็ถามต่อไปอีกว่า ตนนั้นก็ได้เลี้ยงดูภิกษุทั้งหลายผู้สำรวมดี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยมือของตนเองมากกว่าสุภัททา และให้ทานมากกว่า แต่ก็ยังเกิดในสวรรค์ชั้นต่ำกว่าสุภัททา ซึ่งได้ถวายทานเพียงเล็กน้อย เป็นเพราะเหตุใด สุภัททาก็ตอบว่า เมื่อชาติก่อนได้เห็นพระภิกษุผู้อบรมทางจิตใจเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ จึงได้นิมนต์ท่านรับภัตตาหารรวม ๘ รูปด้วยกัน มีท่านพระเรวตเถระเป็นประธาน ท่านพระเรวตเถระมุ่งจะให้เกิดประโยชน์อนุเคราะห์แก่สุภัททา จึงได้บอกให้ถวายสงฆ์ ซึ่งสุภัททาก็ได้ทำตามคำของท่าน ทานของสุภัททาจึงเป็นสังฆทาน เป็นทานซึ่งมีผลไม่อาจจะประมาณได้ ส่วนทานของภัททานั้นได้ถวายแก่ภิกษุด้วยความเลื่อมใสในบุคคลจึงไม่มีผลมาก เมื่อภัททาได้ทราบอย่างนั้นก็กล่าวว่า “พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานนี้มีผลมาก ถ้าว่าพี่ได้เกิดเป็นมนุษย์อีกจักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่ถวายสังฆทาน และไม่ประมาทเป็นนิตย์” เมื่อสนทนากันแล้ว สุภัททาก็ได้กลับไปสู่ทิพยวิมานของตนบนสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
คุณวันทนา การถวายทานแก่ภิกษุเป็นบุคคลกับการถวายทานแก่สงฆ์เป็นสังฆทานนั้น ต่างกันอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ การถวายทานแก่ภิกษุเป็นบุคคล คือการเจาะจงถวายแก่ภิกษุที่ตนเลื่อมใสค่ะ ส่วนการถวายทานแก่สงฆ์เป็นสังฆทานนั้นคือการถวายไม่เจาะจงแก่ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด เป็นการถวายด้วยจิตที่มุ่งตรงต่อพระอริยสงฆ์ ซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข
คุณวันทนา อาจารย์คะ เทวดาที่อยู่ในชั้นสูงอย่างชั้นนิมมานรดีลงมาชั้นอื่น อย่างชั้นดาวดึงส์ได้หรือคะ
ท่านอาจารย์ เทวดาที่อยู่ในชั้นสูงลงมาภูมิต่ำได้ค่ะ แต่ปกติเทวดาภูมิต่ำขึ้นไปภูมิสูงไม่ได้
คุณวันทนา จากการสนทนาในวันนี้ก็คงจะได้เห็นความวิจิตรของจิตซึ่งแสนจะละเอียด แม้ในเรื่องของบุญกรรมที่จำแนกบุคคลให้เกิดในภูมิต่างๆ ตามควรแก่เหตุ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด แม้เรื่องเทวดา และภพภูมิอื่นๆ จะอยู่ห่างไกลเกินที่จะคิดคำนวณหรือพิสูจน์ได้ในชาตินี้ แต่เมื่อกรรมมี ผลของกรรมก็ย่อมมี และผลของกรรมนั้นจะมีอยู่แต่เพียงแค่ภูมิมนุษย์เท่านั้นหรือ สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔