บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
ครั้งที่ ๔๖
สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ใจมนุษย์รู้ยาก
ลักษณะของคนพาล และนักปราชญ์
คุณประชุมพร สวัสดีค่ะ คราวก่อนดิฉันจำได้ว่าเป็นการสนทนาเรื่องพระมหากรุณาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระปัญญาคุณ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์แก่สัตวโลกโดยละเอียด พร้อมทั้งอุปมาที่ไพเราะชัดเจนมากค่ะ ทำให้ผู้ฟังได้เข้าใจในเหตุผลของธรรมที่พระองค์ทรงแสดงอย่างแจ่มแจ้ง เป็นเครื่องเตือนใจให้พุทธบริษัทใคร่ครวญพิจารณาเพื่อน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามนะคะ พระพุทธวจนะทุกคำย่อมมีประโยชน์กับพุทธบริษัทอย่างประมาณไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ ค่ะ ถ้าคุณประชุมพรสนใจศึกษาต่อไปก็จะยิ่งเห็นพระคุณอันประเสริฐของพระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคประทานไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะถึงแม้พระองค์จะปรินิพพานไปแล้ว ผู้ที่ศึกษาพระธรรมวินัยของพระองค์ก็ย่อมได้ความเข้าใจ และได้รับอรรถรสของพระธรรมซาบซึ้งด้วยความปีติเลื่อมใส เปรียบได้กับการฟังพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ของพระองค์ทีเดียวค่ะ
คุณประชุมพร ความซาบซึ้งในรสพระธรรมนั้น ก็คงจะเพิ่มขึ้นตามระดับความเข้าใจนะคะ เพราะเพียงรู้ว่าพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทรงพระปัญญาอย่างสูงสุดเหนือผู้ใดทั้งสิ้น เราก็กราบไหว้ สักการะ เคารพนอบน้อม ในพระคุณของพระองค์อย่างยิ่งแล้วนะคะ ถ้าได้ศึกษา และเข้าใจก็จะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม ขัดเกลากิเลส และเจริญกุศลยิ่งขึ้นจนหมดกิเลสด้วยแล้ว ก็ย่อมจะยิ่งเคารพสักการะนอบน้อมต่อพระองค์อย่างที่สุดจะประมาณทีเดียวนะคะ แต่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระปัญญาสูงสุด ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดโดยตลอด เพราะฉะนั้นพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นก็ย่อมจะละเอียดสุขุม และยากแก่การศึกษา และปฏิบัติตามอย่างยิ่งเชียวนะคะ
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงมีพระญาณหยั่งรู้อัธยาศัยของสัตวโลกโดยละเอียด พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาแสดงแก่สัตวโลกนั้นมีหลายระดับ ตามควรแก่อัธยาศัยของผู้ฟัง และตามความสามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ ถ้าผู้ใดได้ฟังพระธรรม และประพฤติปฏิบัติตามธรรมขั้นต้นแล้วมีความเลื่อมใสศรัทธาสนใจที่จะศึกษา และประพฤติปฏิบัติธรรมขั้นต่อๆ ไป ก็ย่อมจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมยิ่งๆ ขึ้น
คุณประชุมพร เมื่อศึกษาจนเข้าใจ และซาบซึ้งในอรรถรสของธรรมในขั้นต้นแล้ว ก็คงเกิดปีติเลื่อมใส และติดตามศึกษา และประพฤติปฏิบัติมากขึ้นอีก ดิฉันจำได้ว่าอาจารย์เคยพูดถึงความไพเราะของพระพุทธวจนะแม้ในเรื่องธรรมดาๆ ว่าเป็นความจริงที่เตือนใจ และน่าใคร่ครวญให้ระลึกถึงความจริงนั้นอย่างยิ่ง อาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังได้ทราบหัวข้อธรรมที่เป็นความจริงอย่างง่ายๆ นี้บ้างไหมคะ เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคนั้นสมบูรณ์พร้อมทั้งในเบื้องต้น และในที่สุด
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ โรหิตัสสวรรคที่ ๕ สุวิทูรสูตร ข้อ ๔๗ พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า สิ่งที่ไกลกันแสนไกล ๔ ประการ คือ ฟ้ากับดิน นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๑ ฝั่งนี้ และฝั่งโน้นแห่งสมุทร นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๒ พระอาทิตย์ยามขึ้น และยามอัสดงคต นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๓ ธรรมของสัตบุรุษ และธรรมของอสัตบุรุษ นี้เป็นสิ่งที่ไกลกันแสนไกลประการที่ ๔ และพระองค์ตรัสด้วยว่า นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าฟ้ากับแผ่นดินไกลกัน ฝั่งสมุทรก็ไกลกัน พระอาทิตย์ส่องแสงยามอุทัยกับยามอัสดงไกลกัน บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น การสมาคามกับสัตบุรุษมั่นคงยืนยาว ย่อมเป็นอย่างนั้นตราบเท่ากาลที่พึงดำรงอยู่ ส่วนการสมาคมของอสัตบุรุษย่อมจืดจางเร็ว เพราะฉะนั้นธรรมของสัตบุรุษจึงไกลจากธรรมของอสัตบุรุษ
คุณประชุมพร ไพเราะจริงๆ ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งไพเราะ แม้สิ่งที่แสนไกล ๔ ประการนั้น พระองค์ก็ยังทรงจำแนกว่า นักปราชญ์กล่าวว่าอย่างไร และบัณฑิตกล่าวว่าอย่างไร เพราะเมื่อนักปราชญ์กล่าวถึงความไกลกันก็ยกฟ้ากับดินบ้าง ฝั่งสมุทรบ้าง พระอาทิตย์ยามขึ้น และยามตกบ้าง แต่ผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้นกล่าวถึงสิ่งที่ละเอียดสุขุมกว่านั้นอีกนะคะ คือกล่าวถึงธรรมของสัตบุรุษ และธรรมของอสัตบุรุษ ซึ่งเมื่อเปรียบกับฟ้ากับดิน และฝั่งสมุทรแล้ว ก็ยิ่งเห็นได้ชัดนะคะ ว่า ธรรมของสัตบุรุษของธรรมของอสัตบุรุษนั้นยิ่งไกลกันยิ่งกว่านั้นอีก
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณประชุมพรคิดถึงความหมายของสัตบุรุษกับอสัตบุรุษ เพียงในลักษณะของคนดีกับคนชั่ว คุณประชุมพรก็คงจะเห็นว่าไกลกันมากแล้ว แต่ความหมายของคำว่า สัตบุรุษ ยังลึกซึ้งกว่านั้นอีก เพราะหมายถึงคนที่ขัดเกลากิเลสด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ เพราะฉะนั้นธรรมของสัตบุรุษที่รู้แจ้งอริยสัจจ์ ๔ ก็ไกลกับธรรมของอสัตบุรุษยิ่งกว่าฟ้ากับดิน
คุณประชุมพร ถ้าเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งของคำ และเข้าใจข้อปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งพระนิพพาน และอริยสัจจ์ ๔ ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ยาก และละเอียดสุขุมเพียงใด ก็จะยิ่งซาบซึ้งในพระพุทธวจนะที่ฟังดูเผินๆ ก็แสนจะธรรมดาได้ลึกซึ้งมากขึ้นอีกนะคะ อาจารย์จะกรุณาอธิบายด้วยไหมคะว่า ทำไมการสมาคมของสัตบุรุษจึงมั่นคงยืนยาว ส่วนการสมาคมของอสัตบุรุษจืดจางเร็วมาก
ท่านอาจารย์ สัตบุรุษย่อมมีแต่ความหวังดี และเป็นมิตรอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำหรือพูดสิ่งที่มีประโยชน์แก่กัน แต่จิตใจก็ย่อมเป็นมิตร และหวังดีต่อกันในทุกทาง เพราะฉะนั้นการสมาคมของสัตบุรุษจึงมั่นคงยืนยาว ส่วนการสมาคามของอสัตบุรุษนั้นย่อมจืดจางเร็ว เพราะอสัตบุรุษนั้นไม่เป็นมิตรกับใครอย่างแท้จริงเลย
คุณประชุมพร การที่จะรู้ว่าใครเป็นมิตรอย่างแท้จริง และหวังดีจริงๆ นั้น ก็แสนยากนะคะ
ท่านอาจารย์ ในมนุษย์นั้นรู้ยากจริงๆ บางคนก็เป็นอย่างนั้น บางคนก็เป็นอย่างนี้ และก็ไม่ใช่เพิ่งจะรู้ยากในสมัยนี้เท่านั้น รู้ยากมาไม่ว่าตั้งแต่สมัยไหนๆ แล้ว ซึ่งในขุททกนิกาย เตรสนิบาตชาดก ชวนหังสชาดก ข้อ ๑๗๕๑ - ๑๗๖๓ ก็ได้กล่าวไว้เพราะมากค่ะ
คุณประชุมพร เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรคะ
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องพญาหงส์ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงวิงวอนให้อยู่ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ค่ะ
คุณประชุมพร แล้วพญาหงส์ยอมอยู่ไหนคะ
ท่านอาจารย์ ไม่ยอมค่ะ
คุณประชุมพร แหม พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าแผ่นดินที่แสนจะสบาย ไม่ต้องลำบากเดือดร้อนในเรื่องการแสวงหาอาหารอะไรๆ เลยสักอย่าง ทำไมพญาหงส์ไม่ยอมอยู่ล่ะคะ แล้วพญาหงส์ชี้แจงเหตุผลยังไงบ้างหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ พญาหงส์กล่าวว่า คนบางคนย่อมเป็นที่รักของบุคคลบางพวก เพราะได้ฟัง อนึ่งความรักของบุคคลบางพวกย่อมหมดสิ้นไปเพราะได้เห็น และคนบางพวกย่อมเป็นที่รักเพราะได้เห็น และได้ฟังด้วย พญาหงส์ใคร่จะทราบว่า พระองค์ทรงรักใคร่พญาหงส์เพราะได้เห็นบ้างไหม
คุณประชุมพร พญาหงส์นี่ช่างฉลาดจริงๆ นะคะ รู้ด้วยว่า บางคนนั้นเป็นที่รักของผู้ที่ได้ฟัง แต่พอได้พบหรือได้เห็นความรักที่เคยมีเพราะได้ฟังนั้นก็หมดไป แต่บางคนนั้นก็เป็นที่รักเพราะได้เห็น และแม้เพราะได้ฟังด้วย ความจริงข้อนี้ก็เป็นจริงทุกกาลสมัยนะคะ อย่างบางคนเวลาที่เราได้ยินเขาพูดถ้อยคำสำนวนน่าฟัง เราก็คิดว่าเป็นคนที่น่าคบหาสมาคม แต่พอคุ้นเคยกันมากขึ้นหรือเห็นกันบ่อยๆ ก็อาจมีอะไรๆ หลายๆ อย่าง เช่น อัธยาศัย การกระทำที่ไม่น่าจะคบหาด้วย ทำให้หมดความนิยมในผู้นั้นก็ได้นะคะ แล้วพระเจ้าแผ่นดินตรัสตอบพญาหงส์ว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ พระเจ้าแผ่นดินตรัสว่า พญาหงส์เป็นที่รักของพระองค์เพราะได้ฟัง และเป็นที่รักของพระองค์ยิ่งนักเพราะอาศัยการเห็น
คุณประชุมพร พญาหงส์คงเสียงเพราะ และสวยมากนะคะ และก็เมื่อพญาหงส์เป็นที่รักของพระเจ้าแผ่นดินถึงอย่างนั้นแล้ว ทำไมพญาหงส์จึงไม่ยอมอยู่ในวังล่ะคะ
ท่านอาจารย์ พญาหงส์กล่าวว่า ถ้าพญาหงส์อยู่ในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว วันไหนพระองค์ทรงเมาน้ำจัณฑ์ ก็จะรับสั่งให้ย่างพญาหงส์ให้พระองค์ค่ะ
คุณประชุมพร แหม พญาหงส์นี่รอบคอบมากนะคะ เป็นห่วงถึงภัยในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเอง แล้วพระเจ้าแผ่นดินตรัสว่าอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ พระเจ้าแผ่นดินตรัสว่า การเสวยน้ำจัณฑ์เป็นที่รักของพระองค์ยิ่งกว่าพญาหงส์ แต่เอาเถอะ ตลอดเวลาที่พญาหงส์ยังอยู่ในวัง พระองค์จักไม่เสวยน้ำจัณฑ์เลย
คุณประชุมพร ถ้าการเสวยน้ำจัณฑ์เป็นที่รักของพระองค์ยิ่งกว่าพญาหงส์แล้วก็น่ากลัวนะคะ แล้วทีนี้พญาหงส์ทูลตอบว่ายังไงคะ
ท่านอาจารย์ พญาหงส์พูดว่า เสียงของสุนัขจิ้งจอกทั้งหลายก็ดี ของนกทั้งหลายก็ดี รู้ได้ง่าย แต่เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากกว่านั้น อนึ่งผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติเป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้
คุณประชุมพร แม้แต่พญาหงส์ซึ่งเป็นนก ก็ยังรู้ว่าใจมนุษย์รู้ยาก พญาหงส์ยังมีเหตุผลอื่นอีกไหมคะ ที่ไม่ยอมอยู่ในวังน่ะคะ
ท่านอาจารย์ พญาหงส์กล่าวว่า ใจจอดจ่ออยู่ในบุคคลใด แม้บุคคลนั้นจะอยู่ไกลก็เหมือนกับอยู่ใกล้ ใจเหินห่างจากบุคคลใด ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ใกล้ก็เหมือนกับอยู่ไกล
คุณประชุมพร คำตอบของพญาหงส์ทำให้รู้สึกว่า คำเปรียบเทียบของโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนต่างๆ ที่แสนจะไพเราะนั้น แท้จริงก็มีอยู่ในหลักพระพุทธศาสนาที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกนี่เอง แต่เราก็ไม่ค่อยจะรู้กัน
ท่านอาจารย์ แล้วพญาหงส์ก็กล่าวต่อไปว่า คนที่มีจิตเลื่อมใสรักใคร่กัน ถึงแม้จะอยู่คนละฝั่งสมุทรก็เหมือนอยู่ใกล้ชิดกัน แต่ถ้ามีจิตคิดประทุษร้ายกัน ถึงแม้จะอยู่ใกล้ชิดกันก็เหมือนกับอยู่กันคนละฝั่งสมุทร คนที่เป็นศัตรูกันถึงจะอยู่ร่วมกันก็เหมือนกับอยู่ห่างไกลกัน คนที่รักกันถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกันก็เหมือนกับอยู่ร่วมกันด้วยหัวใจ
คุณประชุมพร จริงๆ ด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นญาติมิตรพี่น้องหรือคนร่วมงานกันก็ตาม ถ้าไม่รู้ใจกัน ไม่เข้าใจกันแล้ว ถึงจะอยู่ใกล้ชิดกันสักเท่าไร ก็ไม่สามารถจะเข้าใจหรือร่วมใจกันได้ เพราะจิตใจ และความปรารถนาความต้องการนั้นไปคนละทาง ส่วนคนที่ใจตรงกันเข้าใจกัน และปรารถนาดีต่อกัน ถึงแม้จะอยู่ไกลกันก็เหมือนอยู่ใกล้ เพราะความหวังดีต่อกันนั้นเป็นความอบอุ่นใจอย่างยิ่ง ที่พญาหงส์กล่าวอย่างนี้ก็เท่ากับว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงรักใคร่พญาหงส์จริงแล้ว ถึงพญาหงส์จะอยู่ไกล ไม่อยู่ในวัง ก็เหมือนกับอยู่ในวังเหมือนกันนะคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วพญาหงส์ก็ยังได้กล่าวต่อไปว่า การอยู่ร่วมกันนานเกินควร คนรักกันย่อมกลายเป็นคนไม่รักกันก็ได้ เพราะฉะนั้นพญาหงส์ขอทูลลาไปก่อนที่จะกลายเป็นผู้ไม่เป็นที่รักของพระองค์
คุณประชุมพร วิสัยผู้ฉลาด แม้จะลาไปก็ยังมีเหตุผลนะคะ แล้วพระเจ้าแผ่นดินตรัสว่าอย่างไรหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ พระเจ้าแผ่นดินตรัสว่า เมื่อพระองค์ทรงวิงวอนอยู่อย่างนี้ ถ้าพญาหงส์มิได้รู้ถึงความนับถือของพระองค์ พญาหงส์ก็มิได้ทำตามคำวิงวอนของพระองค์ ซึ่งจะเป็นผู้ปรนนิบัติพญาหงส์ และเมื่อเป็นอย่างนี้พระองค์ก็ขอวิงวอนให้พญาหงส์หมั่นไปที่พระราชวังของพระองค์บ่อยๆ
คุณประชุมพร แล้วพญาหงส์รับคำไหมคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ พญาหงส์กล่าวว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดิน และพญาหงส์อยู่กันเป็นปกติอย่างนี้ อันตรายจักยังไม่มีทั้งแก่พระองค์ และแก่พญาหงส์ ก็เป็นอันแน่นอนว่า ทั้งสองคงได้พบเห็นกันในเมื่อวันคืนผ่านไปเป็นแน่
คุณประชุมพร เป็นนกแท้ๆ ยังฉลาดถึงแค่นี้นะคะ คงจะเป็นเพราะได้สะสมความรู้ความเข้าใจในอดีตชาติไว้มากนั่นเองนะคะ
ท่านอาจารย์ แท้ที่จริงพญาหงส์ ก็คืออดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ค่ะ
คุณประชุมพร ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจังนะคะ ไม่มีอะไรแน่นอน อะไรจะเกิดขึ้นแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น อาจารย์คะจะมี อะไรเป็นเหตุที่ทำให้มิตรแหนงหน่ายกันบ้างหรือเปล่าคะ เพราะพญาหงส์กล่าวกับพระเจ้าแผ่นดินว่า การอยู่ร่วมกันนานเกินควร คนรักกันกลายเป็นคนไม่รักกันก็ได้
ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย ปัญญาสนิบาตชาดก มหาโพธิชาดก ข้อ ๕๕ แสดงไว้ว่า มิตรทั้งหลายย่อมแหนงหน่ายกันด้วยเหตุ ๓ ประการนี้คือ ด้วยการคลุกคลีกันเกินไป ๑ ด้วยการไม่ไปมาหากัน ๑ ด้วยการาขอในเวลาไม่สมควร ๑ เพราะฉะนั้น บุคคลจึงไม่ควรไปมาหากันให้พร่ำเพรื่อนัก และไม่ควรเหินห่างไปให้เนิ่นนาน และควรขอสิ่งที่ควรขอตามเหตุ และกาลที่สมควร ด้วยอาการอย่างนี้ มิตรทั้งหลายจึงจะไม่แหนงหน่ายกัน
คุณประชุมพร พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประมวลไว้ละเอียดละออทุกขั้นเลยนะคะ แม้แต่ในเรื่องของมิตรสหายที่แหนงหน่ายกัน และไม่แหนงหน่ายกันก็มีเหตุ ซึ่งก็เป็นความจริงนะคะ อย่างบางคนคบกันมาตั้งหลายปี แต่ในที่สุดก็ห่างเหินกันไป ก็คงเป็นเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๓ ประการนี้ เรื่องของการคบหาสมาคมกันนั้น ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากนะคะ เพราะคนเราจะอยู่คนเดียวไม่มีมิตรสหายเพื่อนฝูงไม่ได้ และจิตใจของคนเรานั้นก็แสนที่จะรู้ยาก พระองค์ทรงแสดงลักษณะของคนที่ควรคบ และไม่ควรคบไว้ด้วยนะคะ เพราะแม้ในมงคลสูตรก็เว้นการคบคนพาลเป็นมงคลข้อที่ ๑
ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย เตรสนิบาตชาดก อกิตติชาดก ข้อ ๑๘๑๕ แสดงลักษณะของคนพาลไว้ว่า คนพาลผู้มีปัญญาทรามย่อมแนะนำสิ่งที่ไม่ควรจะแนะนำ ย่อมชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำชั่วเป็นความดีของเขา คนพาลนั้นถึงจะพูดดีก็โกรธ เขามิได้รู้วินัย การไม่เห็นคนพาลนั้นเป็นความดี ฯ และข้อ ๑๘๑๙ แสดงลักษณะของนักปราชญ์ไว้ว่า นักปราชญ์ย่อมแนะนำสิ่งที่ควรแนะนำ ย่อมไม่ชักชวนในสิ่งที่ไม่ใช่ธุระ การแนะนำดีเป็นความดีของนักปราชญ์นั้น นักปราชญ์นั้นเมื่อคนอื่นกล่าวชอบก็ไม่โกรธ ย่อมรู้จักวินัย การสมาคมคบหากันกับนักปราชญ์นั้นเป็นความดี ฯ
นอกจากนั้นยังแสดงลักษณะของคนดีคนชั่วไว้มากทีเดียวค่ะ แต่ก็ประมวลได้ว่าคนที่มีกาย วาจา ใจ ดี และแนะนำชักชวนในทางที่เป็นประโยชน์นั้น เป็นคนดีที่ควรคบ ส่วนคนที่มีความประพฤติทางกาย วาจา ใจ ไม่ดี และแนะนำชักชวนในทางที่ไม่ดีนั้นไม่ควรคบค่ะ
คุณประชุมพร จากเรื่องที่อาจารย์ยกมากล่าวนี้ ก็ทำให้เห็นข้อความในพระไตรปิฎกนะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดย่อมกอปรด้วยประโยชน์ทั้งสิ้น ข้อพระธรรมที่เป็นสาระ และมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันก็คงมีมากนะคะ เช่นเดียวกับข้อธรรมสำหรับประพฤติปฏิบัติในขั้นอบรมจิตใจจนหมดกิเลส ช่างเป็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคอย่างหาที่เปรียบปานไม่ได้เลยนะคะ
ท่านอาจารย์ ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค ภัททาลิสูตร ข้อ ๑๗๓ คุณประชุมพรจะเห็นพระมหากรุณาคุณที่มีต่อภิกษุอย่างมากทีเดียวค่ะ เพราะเมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว ในกาลภายหลังเมื่อพระองค์ทรงสอบถามถึงธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงแล้วนั้น ภิกษุจำไม่ได้ ถึงแม้พระองค์จะทรงทราบด้วยพระญาณว่า ที่ภิกษุจำไม่ได้นั้นเพราะไม่ตั้งใจฟัง พระองค์ทรงตักเตือนให้ตั้งใจฟัง และทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุนั้นซ้ำอีก
คุณประชุมพร พระองค์ไม่ได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากพระองค์ในการที่ต้องทรงแสดงธรรมซ้ำๆ แก่ภิกษุเลยนะคะ
ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่ออนุเคราะห์สัตวโลก ด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ อันประเสริฐสุด หามิใดเปรียบปานไม่ได้เลยค่ะ
คุณประชุมพร เมื่อกี้นี้อาจารย์กล่าวว่า ทรงพระมหากรุณาแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างมาก คงไม่ได้หมายความว่า พระมหากรุณาที่มีต่อภิกษุนั้นมากกว่าที่มีต่อคนอื่นๆ นะคะ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นพระองค์ก็ไม่มีพระทัยเสมอในสัตวโลกทั้งปวง
ท่านอาจารย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระทัยเสมอในสัตวโลกทั้งปวง แต่ที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาเทศนาขัดเกลาสั่งสอนภิกษุเป็นอย่างมากนั้น ก็เพราะเพศบรรพชิตเป็นเพศที่ทรงคุณควรที่จะได้รับการอนุเคราะห์จากพระองค์อย่างยิ่ง และการที่พระองค์ทรงอนุเคราะห์ผู้ใดนั้น ก็เป็นไปตามกำลังสติปัญญา และอัธยาสัยของผู้รับ ในเรื่องนี้แม้ในครั้งพุทธกาล ก็มีผู้ทูลถามพระองค์เหมือนกันค่ะ
คุณประชุมพร อาจารย์จะกรุณาเล่าให้ฟังด้วยไหมคะ
ท่านอาจารย์ ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คามณิสังยุตต์ เทศนาสูตร ข้อ ๖๐๒ - ๖๐๓ มีข้อความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้เมืองนาฬันทา ครั้งนั้นนายบ้านนามว่า อสิพันธกบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ฯ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วก็ได้ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์ทั่วหน้าอยู่มิใช่หรือ …. เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมโดยเคารพแก่คนบางพวก ไม่ทรงแสดงธรรมโดยความเคารพเหมือนอย่างนั้นแก่คนบางพวก” ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทวนถามนายบ้านด้วยปัญหาให้นายบ้านตอบว่า “…นาของคฤหบดีชาวนาในโลกนี้มีอยู่ ๓ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นนาดี ชนิดหนึ่งเป็นนาปานกลาง ชนิดหนึ่งเป็นนาเลวมีดินเหลวเค็ม พื้นดินเลว ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คฤหบดีชาวนาต้องการจะหว่านพืช จะพึงหว่านในนาไหนก่อนเล่า” คุณประชุมพรคิดว่า นายบ้านอสิพันธกบุตรจะทูลตอบว่าอย่างไรคะ
คุณประชุมพร ก็คงจะต้อหว่านในนาที่ดีก่อนละค่ะ เพราะถ้าหว่านในนาเลว ผลที่ได้รับก็น้อย ไม่คุ้มกับแรง และเวลาที่ต้องเสียไป ไม่เหมือนกับนาดีนะคะ เพราะถึงแม้จะใช้เวลา และแรงเท่ากัน และจำนวนพืชที่จะหว่านเท่ากัน ก็จะต้องให้ผลมากแน่นอนเชียวค่ะ
ท่านอาจารย์ เมื่อนายบ้านอสิพันธกบุตรทูลตอบอย่างนั้นแล้วนะคะ พระองค์ก็ทรงอุปมาการทรงอนุเคราะห์สัตวโลกตามลำดับว่า ภิกษุกับภิกษุณีนั้นเปรียบเหมือนนาดี อุบาสกกับอุบาสิกานั้นเปรียบเหมือนนาปานกลาง พวกอัญญเดียรถีย์ สมณพราหมณ์ ปริพาชกนอกศาสนานั้นเปรียบเหมือนนาเลว คนเหล่านั้นย่อมมีพระองค์เป็นที่พึ่งทั้งสิ้น พระองค์จึงทรงแสดงธรรมอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง แก่บุคคลเหล่านั้นเป็นลำดับ คือทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ ภิกษุณีก่อน อุบาสก อุบาสิกา เป็นที่สอง พวกอัญญเดียรถีย์นอกศาสนาเป็นลำดับสุดท้าย
คุณประชุมพร ที่ว่าทรงแสดงธรรมโดยเคารพ ก็คงหมายถึงการทรงแสดงธรรมแก่บุคคลใดก่อนหลังโดยลำดับ ตามควรแก่เพศ และอัธยาศัยของผู้รับนั่นเองนะคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่าพระภิกษุ และภิกษุณีนั้นเป็นเพศที่สะอาดด้วยศีลที่ชำระล้างความประพฤติที่ไม่ดีงามทางกาย ทางวาจา เป็นเพศที่ขัดเกลากิเลสหยาบแล้ว จึงพร้อมที่จะรับพระธรรมเทศนาที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ก่อนผู้อื่น ส่วนอุบาสก อุบาสิกา ยังไม่ใช่ผู้สละเรือน ยังมีบ้านเรือนเป็นภาระเป็นเครื่องกังวล ติดข้อง ไม่ปลอดโปร่งเหมือนเพศบรรพชิต จึงเป็นนาปานกลางที่เหมาะควรที่จะได้รับพระธรรมเทศนาเป็นที่สอง ส่วนพวกอัญญเดียรถีย์นอกศาสนานั้น มีความเห็นความเชื่ออื่นเป็นเครื่องยึดถือ จึงเป็นนาเลวควรที่จะได้รับพระธรรมเทศนาเป็นลำดับสุดท้าย ถ้าไม่เป็นไปโดยลำดับตามควรแก่เพศ และอัธยาศัยของผู้ฟังอย่างนี้แล้ว การประกาศพรหมจรรย์ของพระผู้มีพระภาคก็จะเสียเวลา และเสื่อมประโยชน์ไปมาก
คุณประชุมพร ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาวันนี้ก็ต้องขอจบลงเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔