บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
ครั้งที่ ๔๗
ควรอบรมเจริญปัญญาในชาตินี้
การปรินิพพานของพระมหาปชาบดีโคตมีภิกษุณี
คุณประชุมพร สวัสดีค่ะ เราได้กล่าวถึงพระธรรมวินัยที่ทรงคุณอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิงมาพอสมควรแล้ว ทีนี้มาย้อนดูที่ตัวเรา ชีวิตเราดีไหมคะ เพราะแต่ละบุคคลในโลกจะเป็นสุขหรือสงบได้ ก็เพราะความรู้ความเข้าใจ และการประพฤติปฏิบัติของตนเองเท่านั้น
ท่านอาจารย์ คุณประชุมพรคิดว่าเวลาที่คุณไม่เป็นสุขสงบนั้น เป็นเพราะอะไรหรือเป็นเพราะใครคะ
คุณประชุมพร คงจะเป็นเพราะคนอื่น และสิ่งอื่นด้วยกระมังคะ และเป็นเพราะตัวเราเองด้วยค่ะ อย่างบางวันเราตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่นแจ่มใส แต่พอไปเจอคนอื่น คำพูดของเขาบ้าง หน้าตาของเขาบ้าง ทำให้เราหายแจ่มใสไปเป็นกอง อย่างนี้ก็แสดงว่าความสุขของเราก็ขึ้นอยู่กับคนอื่นไม่น้อยเหมือนกันนะคะ
ท่านอาจารย์ คุณประชุมพรจะบังคับคนอื่นสิ่งอื่นให้เป็นตามที่ต้องการได้ไหมคะ อย่างเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ ก็หวังจะได้อ่านแต่ข่าวดีๆ เรื่องดีๆ เป็นเรื่องบุญเรื่องกุศลที่จะทำให้จิตใจเบิกบานผ่องใส หรือเวลาพบใครก็ให้พบแต่คนที่อารมณ์ดีสดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส หรือเวลารับประทานอาหาร ก็ให้ได้รับประทานแต่อาหารที่มีรสกลมกล่อมเสียทุกอย่างๆ ได้ไหมคะ
คุณประชุมพร เป็นไปไม่ได้เลยค่ะ ถ้าเป็นอย่างนี้โลกนี้ก็คงยังกะสวรรค์เลยเชียวค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่โลกนี้เป็นโลกมนุษย์ค่ะ ไม่ใช่สวรรค์ โลกนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ และเราก็จะอยู่ในโลกนี้กันอีกไม่นาน ต่อจากนั้นถ้ายังเป็นปุถุชนก็ไม่มีใครรู้แน่ว่า จะเกิดเป็นใครในโลกไหนต่อไป
คุณประชุมพร คนที่ทำความดีมากๆ ล่ะคะ จะมีหวังไหมคะว่า เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วก็จะได้เกิดในสวรรค์
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผลของกรรมดีก็เป็นบุญกุศลก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ ซึ่งอาจจะเป็นในโลกมนุษย์นี่ก็ได้ หรือบนสวรรค์ซึ่งเป็นเทวโลกภูมิหนึ่งภูมิใดก็ได้ เวลานี้เรากำลังอยู่ในโลกมนุษย์ กำลังสนทนาธรรมกันในโลกมนุษย์ ได้เห็น ได้ยิน ได้พบ บุคคลต่างๆ ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกมนุษย์ ทั้งที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจเพียงชั่วครู่ชั่วขณะที่สิ่งเหล่านั้นกระทบตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกขณะ ทุกวัน เดือน ปี ตามบุญกรรมที่ได้ทำไว้ตลอดเวลาที่อยู่ในโลกมนุษย์นี้ ก็นับว่าเรามีประสบการณ์ในโลกมนุษย์พอสมควร คุณประชุมพรยังปรารถนาที่จะเกิดในโลกมนุษย์นี้อีกไหมคะ
คุณประชุมพร ถ้าจะถามดิฉันเอง ก็ไม่อยากจะเกิดในโลกมนุษย์นี้อีกหรอกค่ะ อยากจะอยู่บนสวรรค์จนนิพพานเลย แต่ถ้าจะถามคนส่วนมาก ความเคยชินความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่มีอยู่ในโลกนี้ ถึงแม้ว่าจะสุขบ้างทุกข์บ้างสักเพียงไหนก็คงจะยังพอใจที่จะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสดีๆ ในโลกนี้อยู่นั่นเอง สังเกตจากการปรารถนามีชีวิตยืนยาว ยิ่งถ้ามีทรัพย์มากมีคนรักเอาใจใส่มากด้วยแล้ว ถึงจะแก่เฒ่าก็พอใจที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ดีๆ ในโลกนี้อีกนานๆ แต่ถ้าจะเกิดในอบายภูมิหรือเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว คงไม่มีใครปรารถนาเลยนะคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ การไม่ปรารถนาที่จะเกิดในอบายภูมินั้นนะคะ ก็เหมือนการไม่ปรารถนาให้จิตใจมีกิเลสเศร้าหมองค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ปรารถนา แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็จะต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ
คุณประชุมพร ทำอย่างไรล่ะคะ จิตใจของเราจึงจะไม่มีกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้เราทำอกุศลกรรมที่จะต้องไปเกิดในอบายภูมิ
ท่านอาจารย์ กิเลสมีมากมายหลายประเภท และกิเลสแต่ละชนิดแต่ละประเภทก็มีทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด และถ้าไม่รู้ว่าต้องละกิเลสอะไรก่อน และไม่รู้วิธีที่จะละกิเลสด้วย กิเลสก็จะหมดไปไม่ได้เลย
คุณประชุมพร วิธีที่จะละกิเลสก็คงยากมาก เพราะเราคุ้นเคย และสะสมกิเลสอยู่ตลอดเวลาทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กล่าวได้ว่าตลอดเวลาที่กุศลจิตไม่เกิด และกุศลจิตก็เกิดน้อยกว่าอกุศลจิตเสียเหลือเกิน
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุนี้แหละค่ะ เรื่องของการละกิเลสจึงเป็นเรื่องที่สุขุมลึกซึ้ง ต้องศึกษาพิจารณาไตร่ตรองให้ได้เหตุผลตั้งแต่ในขั้นของการฟัง การศึกษา ตลอดไปจนกระทั่งถึงขณะปฏิบัติคืออบรมเจริญปัญญาด้วย จึงจะละกิเลสได้จริงๆ เพราะนอกจากกิเลสที่คุณประชุมพรเห็นในชาตินี้ที่สะสะมอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลาแล้ว ในอดีตอนันตชาตินับไม่ถ้วนนั้น เราก็ได้สะสมกิเลสสืบเนื่องมาจนถึงชาตินี้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาละกิเลสเสียแต่ในชาตินี้แล้ว ในชาติต่อๆ ไปกิเลสก็ยิ่งหนาแน่น และละยากขึ้นทุกที
คุณประชุมพร เพราะกิเลสมากนี่เองนะคะ จึงละหมดทีเดียวไม่ได้ ต้องละไปตามลำดับขั้นของกิเลส เพราะฉะนั้นผู้ที่ละกิเลสได้ จึงมีลำดับขั้นตั้งแต่พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคลจนถึงพระอรหันต์ กิเลสที่ละได้ในขั้นต้นเมื่อเป็นพระโสดาบันนั้น ละกิเลสอะไรก่อนคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ ละความไม่รู้ และความเห็นผิดในสภาพธรรมที่ปรากฏค่ะ
คุณประชุมพร เราไม่รู้ และเห็นผิดในอะไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ ที่ใกล้ที่สุดก็คือตัวเองค่ะ
คุณประชุมพร เห็นผิดยังไงคะ
ท่านอาจารย์ เห็นผิดว่ารูปร่างกายทั้งหมดเป็นตัวเรา ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้น และหมดไปเปลี่ยนไปทุกขณะนั้นก็เห็นว่าเป็นตัวเรา ซึ่งแท้ที่จริงทั้งรูปร่างกาย และความรู้สึกนึกคิด ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั้นก็หมดไปดับไป เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ ทุกๆ ขณะ ไม่มีอะไรสักอย่างที่ตั้งมั่นดำรงอยู่ถาวรพอที่จะมห้ยึดถือว่าเป็นตัวตน และเป็นเราได้
คุณประชุมพร ฟังดูแล้วก็เป็นความจริงซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ เรารู้อย่างนี้แล้วทำไมกิเลสไม่หมดล่ะคะ
ท่านอาจารย์ การรู้อย่างนี้เป็นการรู้ด้วยการคิดพิจารณาเท่านั้นค่ะ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของรูปธรรม และนามธรรมแต่ละชนิดที่กำลังเกิดปรากฏ และดับไปทุกๆ ขณะอย่างรวดเร็ว และถ้าไม่รู้แจ้งในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิดที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ก็ละกิเลสไม่ได้
คุณประชุมพร จริงนะคะ เพราะในขณะนี้นามอะไรเกิด รูปอะไรเกิด แต่ละรูปแต่ละนามที่เกิดดับนั้นก็ไม่รู้ว่ามีลักษณะต่างกันอย่างไร เพียงแต่รู้รวมๆ ไปว่า ร่างกายทั้งหมดเป็นรูป ความรู้สึกนึกคิดเป็นนาม ถ้ารู้รวมๆ อย่างนี้ คงไม่มีวันเห็นการเกิดดับของแต่ละรูปแต่ละนามที่มีลักษณะต่างๆ กันตามเหตุปัจจัยเลย
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิดที่ต่างกันแล้ว จะคลายความยึดถือนามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิดนั้นว่าเป็นตัวตนลงบ้างค่ะ และการรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิดที่กำลังปรากฏนั้นว่ามีปัจจัยที่ทำให้เกิดต่างกัน ก็ยิ่งจะทำให้คลายความยึดมั่นในนามธรรม และรูปธรรมลงไปได้อีก เมื่อคลายความยึดมั่นในนามธรรม และรูปธรรมลงแล้ว จะเห็นสภาพการเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิดในขณะที่นามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิดนั้นเกิดขึ้น และดับไป ปัญญาที่รู้อย่างนี้จึงจะละความไม่รู้ และความสงสัยในนามธรรม และรูปธรรมได้
คุณประชุมพร เพียงขั้นฟังก็ยากแล้ว ขั้นปฏิบัติจริงๆ จะยากสักเพียงไหนนะคะ
ท่านอาจารย์ แต่ถึงจะยากสักเพียงไหนก็น่ารู้น่าพิสูจน์ เพราะสิ่งที่จะให้รู้ได้นั้นก็อยู่ที่ตัวเองตลอดเวลา ลักษณะที่ไม่เที่ยงเกิดดับเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปของร่างกาย จิตใจ และความรู้สึกนึกคิดก็มีอยู่ตลอดเวลาค่ะ ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน นอกบ้าน ตามป่า ตามเขา ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน รับประทานอาหารหรือทำกิจการงานอะไรก็ตาม สิ่งที่มีจริงนั้นก็พร้อมที่จะให้พิสูจน์ให้รู้ความจริงได้ตลอดเวลา ถ้าคุณประชุมพรไม่พิสูจน์ให้รู้จริงๆ เสียในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ชีวิตก็ย่อมจะวนเวียนระหกระเหินไปตามความหมุนเวียนของกิเลส กรรม และวิบากในภพชาติต่างๆ เกิดเป็นบุคคลต่างๆ มีความสุข ความทุกข์ หมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ ไม่รู้จบสิ้น เพราะไม่รู้ความจริงของชีวิต ไม่รู้ความจริงของตัวเอง อย่างในชาตินี้แหละค่ะ
คุณประชุมพร วัฏฏะนี่ไม่มีที่สุดเลยนะคะ ถ้าไม่รู้ความจริงของชีวิต ตายจากโลกนี้ไปแล้วก็ไม่แน่ว่าจะมีโอกาสพิสูจน์ความจริงข้อนี้หรือเปล่า ถ้าเกิดในอบายภูมิก็หมดหวังที่จะพิสูจน์ เพราะนรกก็ต้องทนทุกข์ทรมาน เปรตก็ทนทุกข์เพราะหิวกระหาย สัตว์เดรัจฉานก็ไม่ได้เจริญกุศล หรือถ้าเกิดเป็นคนโง่ แม้จะมีโอกาสได้ฟังธรรมก็ไม่เข้าใจคำสอนของพระผู้มีพระภาค เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ไม่น่าจะละเว้นขณะที่จะเจริญปัญญาให้รู้ความจริงข้อนี้เลยนะคะ เพราะโอกาสของการที่จะเป็นมนุษย์ในโลกนี้ก็หมดสิ้นไปทุกวันคืน
ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ อากังขวรรคที่ ๓ อภัพพสูตร ข้อ ๗๖ พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้ไม่พึงมีในโลก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้แล้วไม่พึงรุ่งเรืองในโลก”
คุณประชุมพร ธรรม ๓ ประการ คืออะไรคะ
ท่านอาจารย์ ธรรม ๓ ประการ คือ ชาติ ๑ ชรา ๑ มรณะ ๑ พระองค์ตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรม ๓ ประการนี้มีอยู่ในโลก ฉะนั้นพระตถาคตอรหัสตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบังเกิดในโลก ธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้จึงรุ่งเรืองในโลก” และต่อจากนั้น พระองค์ก็ทรงแสดงเหตุที่จะละธรรม ๓ ประการนี้ เป็นลำดับๆ ว่า อาศัยเหตุใด เป็นลำดับอย่างไร จึงจะละธรรม ๓ ประการนี้ได้
คุณประชุมพร พระธรรมเทศนาของพระองค์นั้นช่างเป็นความจริงที่สุดนะคะ เมื่อมีการเกิดก็มีการแก่ การตาย ไม่ว่าใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะสูงส่ง จะทรงอำนาจหรือบริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สักเพียงใด ก็ไม่พ้นจากชรา มรณะ เลยสักคนเดียว และเพราะสภาพความจริงของธรรม ๓ ประการที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลานี้เอง พระธรรมของพระองค์จึงรุ่งเรืองในโลก เพราะถ้าทรงสอนเรื่องอื่นที่ไม่ปรากฏในโลก ก็ยากที่ใครจะติดตามเชื่อถือ และพิสูจน์ให้รู้ความจริงได้นะคะ
ท่านอาจารย์ แต่เพราะความจริง ๓ ประการนี้ มีปรากฏอยู่ตลอดเวลาก็เป็นได้นะคะ ที่ทำให้เราชิน และเห็นว่าเป็นของธรรม ไม่สนใจที่จะรู้ความจริง ๓ ประการนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
คุณประชุมพร จะมีอะไรบ้างไหมคะ ที่จะทำให้เราคิดถึงความจริงเรื่องนี้บ่อยๆ และหันมาสนใจศึกษา และเจริญกุศลเพื่อละกิเลสยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
ท่านอาจารย์ ก็คงจะมีอยู่ทางเดียวแหละค่ะ คือไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นกุศลที่เล็กน้อยสักแค่ไหน เช่นการสละแบ่งปันสิ่งของแม้จะเพียงเล็กน้อยให้คนอื่น มีเมตตาสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่นแม้วาจะเพียงนิดๆ หน่อยๆ ไม่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนด้วยกาย วาจา ใจ เท่าที่จะละเว้นได้ ฟังธรรม ศึกษาธรรม และอบรมเจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ เนืองๆ ตามปรกติตามความเป็นจริง เพราะถ้าจะคอยโอกาสใหญ่ๆ ที่จะเจริญกุศล อาจจะไม่มีโอกาสได้เจริญกุศลเลยก็เป็นได้นะคะ แต่ถ้าอาศัยการเจริญกุศลเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส กุศลเหล่านั้นที่ได้เจริญแล้วย่อมจะอุปการะส่งเสริมกุศลขั้นต่อๆ ไป จนถึงที่สุดได้ค่ะ
คุณประชุมพร วันคืนก็ผ่านไปรวดเร็ว และชาวโลกสมัยนี้ก็ปล่อยให้ผ่านไปพร้อมกับสิ่งที่ไม่เป็นสาระพร้อมกับการเพิ่มพูนกิเลส ไม่ใช่พร้อมกับการขัดเกลากิเลสอย่างบุคคลทั้งหลายในครั้งพุทธกาลเลย
ท่านอาจารย์ ความไม่เที่ยง ความแก่ ความตาย ของบุคคลในครั้งพุทธกาลนั้น ก็เป็นตัวอย่างที่เตือนใจเราให้คิดถึงความไม่เที่ยง ความแก่ ความตาย ของเราเองได้ และเมื่อพิจารณาแล้วก็ทำให้เราขวนขวายไม่รั้งรอในการเจริญกุศลด้วย อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดนั้น ถึงแม้พระองค์จะทรงมีพระรูปโฉมงามเลิศหาที่เปรียบมิได้เลย แต่ถึงอย่างนั้นความชราของพระองค์ก็ปรากฏ
คุณประชุมพร ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงเป็นผู้เลิศในโลก ทรงประกอบด้วยพระญาณต่างๆ และสามารถที่จะทำอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ได้ยิ่งกว่าใครๆ อย่างนี้แล้ว ความชราของพระองค์ก็ยังปรากฏหรือคะ
ท่านอาจารย์ ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ชราวรรคที่ ๕ ชราสูตร ข้อ ๙๖๒ - ๙๖๕ มีข้อความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของวิสาขามิคารมารดาในบุพพารามใกล้พระนครสาวัตถี สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น แล้วประทับนั่งผินพระปฤษฎางค์ผิงแดดในที่มีแสงแดดส่องมาจากทิศประจิมอยู่ ครั้งนั้นท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วบีบนวดพระวรกายของพระองค์ด้วยฝ่ามือ พลางกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว เวลานี้พระฉวีวรรณของพระผู้มีพระภาค ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนเมื่อก่อน พระสรีระก็หย่อนย่นเป็นเกลียว พระกายก็ค้อมไปข้างหน้า และความแปรปรวนของอินทรีย์คือ พระจักษุ พระโสต พระฆาน พระชิวหา พระกายก็ปรากฏอยู่” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร อานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ชราธรรมย่อมมีในความเป็นหนุ่มสาว พยาธิธรรมย่อมมีในความไม่มีโรค มรณธรรมย่อมมีในชีวิต ผิวพรรณไม่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนเมื่อก่อน สรีระก็หย่อนย่นเป็นเกลียว กายก็ค้อมไปข้างหน้า และความแปรปรวนแห่งอินทรีย์คือ จักษุ โสต ฆาน ชิวหา กายก็ปรากฏอยู่”
พระองค์ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า “ถึงท่านจะติความแก่อันเลวทราม ถึงท่านจะติความแก่อันทำให้ผิวพรรณทรามไป รูปร่างอันน่าพึงใจก็คงถูกความแก่ย่ำยีอยู่นั่นเอง แม้ผู้ใดพึงมีชีวิตอยู่ได้ ๑๐๐ ปี (ผู้นั้นก็ไม่พ้นความตายไปได้) สัตว์ทั้งปวงมีความตายเป็นเบื้องหน้า ความตายย่อมไม่ละเว้นอะไรๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว ฯ”
คุณประชุมพร ไม่มีใครหลีกเลี่ยงจุดจบของทุกสิ่งทุกอย่างได้เลย เมื่อมีความเกิดขึ้นก็ต้องมีความตายสิ้นสุดลงเป็นธรรมดา
ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องการจบสิ้นของชีวิตในสังสารวัฏฏ์นั้น การดับขันธปรินิพพานของพระนางมหาปชาบดีโคตมี สมควรที่จะได้นำมากล่าวเป็นอย่างยิ่งค่ะ เพราะพระนางเป็นผู้แสวงทางให้หญิงทั้งหลายผู้ที่ได้สะสมบุญบารมีมาแล้วในอดีต สามารถบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในเพศบรรพชิต ประดับพระศาสนาให้สมบูรณ์พร้อมทั้ง ๔ บริษัท คือทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
คุณประชุมพร การดับขันธปรินิพพานของพระนางมหาปชาบดีโคตมี มีอะไรแตกต่างกับบุคคลอื่นอย่างไรคะ
ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย เถรีอปทาน เอกุโปสถวรรคที่ ๒ มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทานที่ ๗ ข้อ ๑๕๗ มีข้อความว่า ในกาลครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคผู้เป็นประทีปแก้วส่องโลกให้สว่างไสว เป็นนายสารถีฝึกนรชน ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นพระมหาโคตมีภิกษุณี พระมาตุจฉาของพระพิชิตมาร อยู่ในสำนักของพระภิกษุณีในพระนครอันรื่นรมย์นั้นพร้อมด้วยภิกษุณี ๕๐๐ องค์ ซึ่งล้วนแต่พ้นจากกิเลสแล้ว เมื่อพระมหาปชาบดีโคตมีนั้นอยู่ในที่สงัด ตรึกนึกคิดอย่างนี้ว่า การปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคก็ดี ของคู่พระอัครสาวกก็ดี ของพระราหุล พระอานนท์ และพระนันทะก็ดี เราไม่ได้เห็น เราอันพระโลกนาถผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ทรงอนุญาตแล้ว พึงปลงอายุสังขารแล้วนิพพานก่อนเถิด พระภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ องค์ก็ได้ตรึกอย่างนั้นเหมือนกัน … พระมหาปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยภิกษุณีทั้งหมดนั้น ก็ออกจากสำนักพระภิกษุณีไปเฝ้าทูลลาพระผู้มีพระภาค ขณะที่กำลังเดินไปตามถนนนั้น อุบาสิกาทั้งหลายผู้มีศรัทธาได้พากันออกจากเรือนไปหมอบลงแทบเท้าแล้วกล่าวคำรำพันต่างๆ ซึ่งพระนางปชาบดีโคตมีก็พร่ำสอนอุบาสิกาเหล่านั้นให้ทุกคนมีความเพียร เพื่อความดำรงอยู่แห่งพระสัทธรรมว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันพระนางทูลอ้อนวอนจึงได้ประทานบรรพชาแก่สตรีทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพระนางยินดีฉันใด อุบาสิกาทั้งหลายก็จงเจริญรอยตามซึ่งความยินดีนั้นฉันนั้นเถิด และเมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วก็ได้กราบทูลพรรณาต่อพระผู้มีพระภาค มีข้อความว่า
พระนางเป็นมารดาของพระองค์ แต่พระองค์เป็นพระบิดาของพระนาง พระองค์เป็นผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรมให้พระนาง เป็นผู้ให้กำเนิดแก่พระนางในพระธรรมวินัย รูปกายของพระองค์พระนางทำให้เจริญเติบโต แต่ธรรมกายอันน่าเพลิดเพลินของพระนางนั้นพระองค์ทรงทำให้เจริญเติบโต พระนางให้พระองค์ดูดดื่มน้ำนมอันระงับเสียได้ซึ่งความอยากชั่วครู่ แม้น้ำนมคือพระสัทธรรมอันสงบระงับล่วงส่วน พระองค์ก็ให้พระนางดูดดื่มแล้ว และพระนางก็ได้ทูลขอให้พระองค์ทรงอดโทษแก่พระนางว่า ถ้าโทษอย่างใดอย่างหนึ่งของพระนางมีอยู่ และถ้าการที่พระนางทูลขอให้สตรีทั้งหลายได้บวชเป็นโทษของพระนาง ก็ขอให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรดอดโทษนั้นด้วย
พระผู้มีพระภาคก็ทรงอนุญาตให้พระนางทูลลาปรินิพพาน แล้วพระนางก็ไหว้ลาท่านพระราหุล ท่านพระอานนท์ ท่านพระนันทะ และตรัสปลอบท่านพระอานนท์ซึ่งเศร้าโศกรำพัน เพราะขณะนั้นท่านพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันบุคคลอยู่ แล้วพระผู้มีพระภาคทรงมีพระดำรัสให้พระนางแสดงอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ก่อนปรินิพพาน เพื่อละทิฏฐิของคนพาลที่สงสัยในการตรัสรู้ธรรมของสตรีทั้งหลาย
เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีแสดงอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์แล้ว พระภิกษุณีที่ไปพร้อมกับพระนางก็ทูลลาพระผู้มีพระภาคเพื่อปรินิพพาน และแสดงอิทธิฤทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ด้วย แล้วพระนางมหาปชาบดีโคตมี และภิกษุณีเหล่านั้นก็ถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งสุดท้าย แล้วกลับไปสู่สำนักพระภิกษุณี อุบาสิกาทั้งหลายก็พากันไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมี นมัสการแทบเท้าแล้วร้องไห้คร่ำครวญ พระนางมหาปชาบดีโคตมีก็กล่าวสอนอุบาสิกาเหล่านั้น แล้วก็ปลีกไปเข้าฌานตามลำดับโดยอนุโลม และปฏิโลม เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้วก็ดับไป เหมือนเปลวประทีปที่หมดเชื้อดับไปฉะนั้น พระเถรีทั้งหลายที่แวดล้อมพระนางมหาปชาบดีโคตมีก็พากันดับไป เหมือนเปลวประทีปที่หมดเชื้อดับไปฉะนั้น
คุณประชุมพร ปรินิพพานพร้อมๆ กันเลยนะคะ
ท่านอาจารย์ การถวายพระเพลิงพระสรีระก็น่าอัศจรรย์ และขบวนพระสรีระก็ไม่มีใครเหมือนเลยค่ะ
คุณประชุมพร น่าอัศจรรย์ยังไงคะ
ท่านอาจารย์ จิตตาธารที่ถวายพระเพลิงพระสรีระนั้นสำเร็จด้วยของหอมล้วน เทวดาทั้งหลายก็พากันมาบูชาด้วยของหอม และดอกไม้ทิพย์อันน่ายินดี และด้วยการขับร้องฟ้อนรำ ดีดสีตีเป่าที่เป็นทิพย์ พระอาทิตย์ถึงจะโคจรไปในเวลาเที่ยงก็เป็นเหมือนพระจันทร์ ไม่ทำให้ใครๆ เร่าร้อนเลย สรีระของพระภิกษุณีทั้งหมดนั้นเชิญไปข้างหน้า สรีระพระโคตมีเถรีเชิญไปข้างหลัง เทวดา และมนุษย์นำไปข้างหน้า ข้างหลังมีพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสาวกมีท่านพระสารีบุตร ท่านพระอานนท์ ท่านพระนันทะ ท่านพระราหุล เป็นต้น ซึ่งการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคไม่เหมือนการปรินิพพานของพระมหาปชาบดีโคตมี เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกมีท่านพระสารีบุตร เป็นต้น เพราะพระอัครสาวกทั้ง ๒ คือท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาโมคคัลลานะปรินิพพานก่อน ท่านพระราหุล และท่านพระยโสธราเถรีก็ปรินิพพานก่อนพระผู้มีพระภาค
คุณประชุมพร พระผู้มีพระภาคทรงดำรงพระชนม์เพื่อโปรดเวไนยสัตว์จนตราบเท่าถึงสมัยที่จะปรินิพพาน และถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงปรินิพพานไปแล้ว แต่พระธรรมคำสอนของพระองค์ก็ยังดำรงอยู่ เหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ก็ยังมีปรากฏในพระธรรมวินัยที่ได้รวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก ควรที่พุทธบริษัทจะได้ศึกษา และประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อดำรงสืบพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไป ดังเช่นที่พุทธบริษัทในสมัยโน้นได้ประพฤติปฏิบัติกันมาแล้ว
การสนทนาของเราก็สิ้นสุดลงด้วยเรื่องของพระนางมหาปชาบดีโคตมี ซึ่งก็คงเป็นอนุสรณ์เตือนใจ และเป็นแบบอย่างให้สตรีทั้งหลายในสมัยนี้ ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีโอกาสอุปสมบทเป็นภิกษุณี แต่ก็มีโอกาสจะศึกษา และปฏิบัติธรรมในฐานะอุบาสิกาซึ่งมีส่วนช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบต่อไป และการสนทนาของเราก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔