ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
ท่านอาจารย์ วันนี้ก็รู้สึกยินดีมากที่ได้มีโอกาสมาคุยกัน อยากจะใช้คำว่าคุยกัน แต่ว่าคุยกันในอีกด้านหนึ่ง คือว่าโดยมากเราก็มักจะคุยกันในเรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง แต่ว่าวันนี้เราก็คุยกันในเรื่องชีวิตธรรมดาๆ แต่ว่าในอีกแง่หนึ่ง คือในแง่ของพระธรรม เพราะเหตุว่าต่างคนต่างใจ ต่างคนต่างความคิด แต่ว่าถ้าเราจะมองดูชีวิตของเรา และความคิดในทางธรรม ก็อาจจะเป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่า ถ้าเราไม่มีหลักในความคิดเลย เราก็อาจจะเชื่อมั่นในความคิดของเรา แต่ถ้าเราคิดว่า ความคิดของคนอื่นก็คงจะรับฟังได้ หรือว่าถ้าเป็นความคิดซึ่งเป็นแนวทางของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ผู้ประเสริฐสุด ซึ่งคำสอนของพระองค์ไม่เคยนำความทุกข์มาให้ใครเลย
ถ้าเราเข้าใจคำสอนของพระองค์มากเท่าไหร่ และก็สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้มากเท่าไหร่ เราก็จะเป็นผู้ที่มีความทุกข์น้อยลง เพราะว่าตามความเป็นจริงก็คงจะไม่มีใครเลย ซึ่งเกิดมาแล้วไม่มีความทุกข์ แต่ว่าความทุกข์ของแต่ละคน ก็แต่ละแบบ ถ้าจะถามคนที่นี่ เพียงในห้องนี้ แล้วก็ให้พูดถึงความทุกข์ของแต่ละคน ความทุกข์ของแต่ละคนนี่ก็คงจะต่างกันไป เพียงในจำนวนของคนในห้องนี้ ถ้ายิ่งกว้างออกไป ความทุกข์ก็ยิ่งมากมาย
เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสสอนเป็นความจริงที่ว่า เมื่อเกิดมาแล้วที่จะไม่มีความทุกข์นั้นไม่มีเลย แต่ว่าความทุกข์นั้นจะมากแล้วก็จะเพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่แก้ทุกข์ตามพระธรรม แต่ว่าถ้าเราแก้ด้วยความไม่รู้ของเรา และตามแนวทางของเรา แทนที่จะมีทุกข์น้อยลงก็อาจจะทำให้ความทุกข์นั้นเพิ่มขึ้นได้ เพราะฉะนั้นสำหรับวันนี้ ก็คงจะเป็นการคุยกันในเรื่องปัญหาซึ่งแต่ละท่านอาจมี เพราะเหตุว่าที่จะไม่มีปัญหาเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ ต้องมีปัญหาแน่นอน เพียงแต่ว่าเราจะมาช่วยกันคิดว่าในทางธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสสอนอย่างไร ที่จะแก้ปัญหาของเรา และก็ที่จะทำให้เรา มีความทุกข์ลดลงไปได้จริงๆ ถ้าเราเข้าใจคำสอนเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราไม่เข้าใจเลย ก็ไม่มีทางที่จะทำให้เราหมดความทุกข์ไปได้ ก็ขอเชิญท่านที่มีปัญหา เพราะว่าคงจะมีบ้าง ที่อยากจะทราบว่าตามแนวของพระธรรมพระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไรในเรื่องนั้น
ผู้ฟัง มีผู้สงสัยว่า พระพุทธศาสนาจะนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดความขัดแย้ง หรือว่าเกิดความไม่เห็นด้วยในลักษณะที่อยู่รวมกัน เพราะปกติในเรื่องของพระพุทธศาสนาแล้วทุกคนก็มักจะคิดว่าเป็นการสละ เช่นการทำบุญทำทาน หรือการสร้าง การบริจาคเงินจะเป็นผ้าป่าหรือกฐิน เมื่อพูดถึงธรรมส่วนที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ก็ยังไม่ทราบว่า จะควรจะนำธรรมส่วนไหนที่จะนำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ในการอยู่ร่วมกันเพื่อความสันติสุข และลดความขัดแย้งต่างๆ ลงไปได้ อันนี้ก็ขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้ให้คำแนะนำด้วย
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่าประโยชน์มี ๒ อย่าง คือ ประโยชน์ส่วนตน กับ ประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเราจะคิดถึงประโยชน์เพียงแง่เดียวคือประโยชน์ของเราส่วนตัว ต่างคนก็ต่างต้องการประโยชน์ส่วนตัวแล้วจะเป็นประโยชน์ส่วนร่วมได้อย่างไร เพราะฉะนั้นประโยชน์ของส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวม ก็จะต้องสอดคล้องกัน คือ ประโยชน์ของเราก็ต้องเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าถ้าเราได้ประโยชน์ และคนอื่นเสียประโยชน์ และประโยชน์ส่วนรวมเสียไปแล้วจะทำให้เราได้ประโยชน์อยู่คนเดียว นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่แท้จริง คือประโยชน์ส่วนรวมก็ต้องมาจากประโยชน์ส่วนตัวของแต่ละคนด้วย ถ้าแต่ละคนได้รับประโยชน์ส่วนตัวหมดทุกคนก็ทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์นั้นด้วย ถ้าประโยชน์ส่วนตัวนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าประโยชน์ของเราส่วนตัว ทำให้ส่วนร่วมได้ประโยชน์หรือเปล่า หรือว่าถ้าประโยชน์ส่วนตัวของเรานั้นไม่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมเลย อันนั้นก็ไม่มีทางสำเร็จได้ แต่ว่าถ้าประโยชน์ของเราซึ่งเป็นส่วนตัว เป็นประโยชน์ของส่วนรวมด้วยต่างคนต่างช่วยกัน ทำให้ได้ทั้งประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์ส่วนตัวด้วย อันนั้นก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ก่อนที่จะถึงขั้นนี้ได้ ก็จะต้องมีความขัดแย้งหรือมีปัญหา เพราะว่าคนเราคิดไม่เหมือนกัน
ก่อนอื่น ก็ต้องเริ่มด้วย มีความจริงใจต่อประโยชน์ส่วนรวม เมื่อมีความจริงใจต่อประโยชน์ส่วนรวม ก็รับฟังความเห็นของคนอื่น ไม่ใช่ความเห็นของตนเองเท่านั้น เพื่อประโยชน์ส่วนรวมจริงๆ ถ้าเราต้องการประโยชน์ส่วนรวม แต่เราไม่ฟังความเห็นของใครเลย และเราคิดว่านั้นถูกต้องแล้ว แล้วคนอื่นก็มีความคิดเหมือนกัน แล้วต่างคนก็ต้องการที่จะให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม ถ้าเราจะนึกถึงประโยชน์ส่วนรวม แล้วก็รับฟังความคิดเห็นเพื่อที่จะได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับส่วนรวม อันนั้นก็เป็นประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าทุกคนคิดว่าเราต้องชนะ หรือเราต้องถูก อันนั้นผิด เพราะเหตุว่า ชนะจริงๆ คือชนะด้วยเหตุผล แล้วก็ด้วยประโยชน์
ถ้าสมมติว่า เราอยากชนะใครสักคนหนึ่งทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย แล้วเราก็สามารถชนะได้จริงๆ แต่เราคิดว่านั่นคือเราชนะจริง แต่ทางพระธรรมไม่ได้แสดงเลยว่า นั่นชนะจริง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นไปด้วยความโกรธ หรือว่าถ้าเป็นไปด้วยความเห็นแก่ตัว เราไม่ชนะใครเลย เราแพ้กิเลสของเราเอง และความเห็นแก่ตัวของเรา จะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น จะมีความเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้นๆ และจะมีการต้องการชนะเพิ่มขึ้นๆ แต่ถ้าเราเป็นผู้แพ้ต่อเหตุผล ไม่มีใครชนะเป็นตัวตน แต่ว่า เหตุผลเป็นสิ่งที่สำคัญ และก็เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะยอมแพ้ ถ้าเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง หัดให้เราเอง เป็นผู้ที่มีเหตุผลมากขึ้น แทนที่จะเป็นผู้ที่ต้องการชนะ แล้วก็ไม่มีเหตุผล
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่พระธรรม จะสอนให้เราแก้ตัวเอง แล้วจะรู้ว่า ความสุข จริงๆ มันอยู่ที่ตัวเรา บางทีเราอาจจะคิดว่าเราชนะคนอื่น แล้วเราพอใจ แต่ในขณะเดียวกันความกระหยิ่ม ความสำคัญตน ความทะนงตนจะเพิ่มขึ้น จนกระทั่งในที่สุดเราไม่ยอมแพ้ใครเลย ขณะนั้นเราจะต้องเป็นทุกข์มาก เพราะเหตุว่า ไม่มีทางที่เราจะเป็นคนชนะตลอดกาลไปได้
ในพระไตรปิฏกมีข้อความที่ถ้าใครประพฤติปฏิบัติตามได้ จะเป็นสุข ตั้งแต่นาทีที่ปฏิบัติตามได้ คือ ท่านเปรียบ คนที่ไม่มีความสำคัญตน ไม่มีความทะนงตนว่า เหมือนกับผ้าเช็ดธุลี คือ ผ้าเช็ดฝุ่นละออง ที่เราเอามาเช็ดโต๊ะ เช็ดเก้าอี้พวกนี้ เพราะฉะนั้น ผ้านั้นสามารถที่จะรับทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง หรือว่าจะเป็นเลือด หนอง สิ่งสกปรกต่างๆ ผ้านั้นก็สามารถที่จะเช็ดได้ นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราสามารถที่จะทนต่อคำทุกอย่าง ที่เป็นคำที่ไม่เหมาะสม อาจจะเป็นคำที่เราไม่อยากจะฟังเลย แต่ใจเราไม่เดือดร้อนในขณะที่เราได้ยิน คิดดูสิว่าจะเป็นสุขสักแค่ไหน เราสามารถจะค่อยๆ ฝึกหัดเป็นไปได้
แต่ว่าการที่จะฝึกหัดที่จะทนคำของคนอื่น การกระทำของคนอื่น ก็ต่อเมื่อเราเป็นผู้ที่เริ่มเข้าใจความจริงของชีวิต ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราเลย ทุกคนคงจะชินกับคำว่า อนัตตา ในพระพุทธศาสนา ซึ่งศาสนาอื่นไม่มีคำนี้เลย อันนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเปรียบเทียบกับศาสนาอื่น แต่เป็นข้อเท็จจริงหรือความจริงที่ว่าคำว่า อนัตตา นั้นมีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัยบังคับไม่ได้
การที่ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะอยู่ในอำนาจของเรา เป็นไปตามความต้องการของเรา แต่ขึ้นอยู่กับสภาพธรรมนั้นๆ ความหมายนั่นคือ อนัตตา อย่างความโกรธ ทุกคนก็ดู แล้วก็รู้ว่าน่าเกลียด คนที่โกรธอาจจะไม่รู้ตัว แต่ว่าคนดู จะรู้ได้เลยว่า คนที่โกรธหน้าเปลี่ยน แทนที่จะยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนเดิม ก็อาจจะถมึงทึง มีสีหน้า มีอะไรซึ่งดูจริงๆ แล้วก็น่ากลัว ไม่น่ารัก ไม่น่าดูเลย แต่คนที่กำลังโกรธนี้ ไม่ทราบ เขาก็ไม่เห็นโทษของความโกรธ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง จะรู้ได้ว่า ธรรมฝ่ายใดเป็นฝ่ายดี ธรรมฝ่ายใดเป็นฝ่ายไม่ดี และถ้าเรามีธรรมฝ่ายดีเพิ่มขึ้น เราก็จะสามารถรถลดคลายทางฝ่ายอกุศลได้
แม้แต่ความโกรธ ถ้าเรารู้จริงว่าไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลยกับใคร แทนที่เราคิดว่า เราต้องโกรธ แต่พระพุทธเจ้าไม่มีเลย ในพระไตรปิฏก ไม่ว่าจะส่วนไหน บรรทัดไหน ข้อความไหน ที่จะกล่าวว่า ความโกรธเป็นสิ่งที่ดี นั่นต้องไม่ใช่ผู้ที่ตรัสรู้แน่นอน เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่ไม่ดี แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ก็เป็นโทษ และไม่ว่าสภาพธรรมที่ไม่ดีนั้นจะเกิดกับใคร ก็ต้องเป็นโทษในขณะนั้น
นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเข้าใจธรรมจริงๆ เข้าใจชีวิตจริงๆ เข้าใจเหตุผลจริงๆ เข้าใจปัญหาจริงๆ เราสามารถที่จะแก้ได้ แล้วก็เริ่มแก้ที่ตัวของเราเอง เพราะเหตุว่า ที่สังคมแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเหตุว่า แต่ละคนพยายามไปแก้คนอื่น บางคนก็บอกว่า พระพุทธสาสนาดีมาก มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ว่า ผู้ที่กล่าวว่าพระพุทธศาสนามีประโยชน์มาก อาจจะยังไม่ได้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาเลย เพียงแต่คิดว่า ต้องมีประโยชน์แน่ แต่ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้ ก็คือว่า ไม่มีใครศึกษาพระพุทธศาสนา แต่ก็เพียงกล่าวว่าพระพุทธศาสนาดี แต่ถ้าดีจริงต้องเริ่มศึกษา เพื่อที่จะได้รู้ว่าสมจริงอย่างที่เรากล่าวว่า พระพุทธศาสนาดี แล้วก็จะเห็นพระคุณของพระธรรมเพิ่มขึ้น แล้วก็จะเห็นด้วยมากขึ้น ซึ่งก่อนที่จะศึกษาอาจจะมีความเห็นผิดหลายๆ อย่าง
ผู้ฟัง ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องข้อปฏิบัติในพุทธศาสนา เช่น สมถะหรือสมาธิ และวิปัสสนา จะสงเคราะห์ในข้อปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาได้ไหม เพราะว่าปกติแล้วเท่าที่ได้มีโอกาสพบปะเพื่อนธรรม ก็มักจะพูดกันถึงเรื่องว่า ไปปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรม ที่มีโอกาสสอบถามก็ได้ความว่าก็คือ การไปนั่งแล้วก็ปฎิบัติตามที่มีผู้สอน ก็เลยมีข้อปฏิบัติที่ว่าน่าจะเป็น ๒ อย่างหรือ ๒ ลักษณะคือ ไปนั่งปฏิบัติที่เป็นสมาธิ กับการปฏิบัติที่เป็นแนวทางเจริญวิปัสสนา ก็อยากจะขอกราบเรียนอาจารย์ให้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าท่านผู้อื่นสนใจในเรื่องนี้หรือเปล่า ก็เป็นชีวิตประจำวัน ข้อสำคัญที่สุดคือ ก่อนอื่นต้องทราบว่า พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อประโยชน์แก่ทุกชีวิต ในชีวิตประจำวัน ทุกขณะ อันนี้ก่อน เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องของสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา เป็นเรื่องที่สูงมาก เป็นเรื่องของผู้ที่มีปัญญาเห็นโทษของกิเลสของตนเอง
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่เห็นกิเลสในวันหนึ่งๆ ว่ามีมากแค่ไหนซะก่อน อย่างเวลาที่เราตื่นนอนมาแล้วก็บางคนก็บอกว่า เขาไม่มีกิเลสเลย เขาไม่ได้อยากได้อะไรของใคร เขาก็ไม่โกรธใครด้วย นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ และก็ผู้นั้นเจริญสมถะก็ไม่ได้ เจริญวิปัสนาก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้ตัวเองว่า มีกิเลสตั้งแต่ลืมตาตื่น
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญความสงบจากกิเลส ต้องเห็นโทษ และต้องรู้จักกิเลสจริงๆ อย่างเวลาที่ตื่นมา เพียงลืมตาขึ้นมาเราอาจจะไม่รู้ว่า เรามีความต้องการเกิดขึ้นทันทีที่เราตื่น บางคนก็อาจจะอยากฟังเพลง เอื้อมมือไปเปิดวิทยุ บางคนก็รีบเข้าไปในห้องน้ำทำกิจธุระต่างๆ ทั้งหมด
ถ้าขณะใดไม่เป็นกุศล ไม่เป็นไปไหนทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปปัญญาที่รู้สภาพของจิตที่สงบว่าต่างกับจิตที่ไม่สงบ ไม่มีปัญญาที่รู้ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏพระพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงแสดงว่าอย่างไร ถ้าไม่มีปัญญาอย่างนี้ ไม่พ้นจากโลภะในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่า ความต้องการในวันหนึ่งมีหลายระดับ ความต้องการที่เรามีจนกระทั่งเราสังเกตเห็น อย่างเวลาที่เราไปตามห้างสรรพสินค้าหรือไปตลาด หรือเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วรู้สึกว่าสวย อยากจะได้ ชอบ เป็นสิ่งที่เรากำลังต้องการ ในขณะนั้นถ้าไม่พิจารณา เราก็อาจจะไม่เห็นว่าเป็นโลภะ หรือเป็นความต้องการแล้ว แต่ก่อนนั้นอีก ก็ยังมีความต้องการในชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ เรื่อยมา
ซึ่งผู้ที่จะเจริญความสงบ ก่อนอื่นต้องเห็นโทษของกิเลสของตนเอง และเวลาที่ภาษาไทยเรา ใช้คำภาษาบาลี เราไม่ได้เรียนจริงๆ เพราะฉะนั้นเรามักจะนึกเอาเองว่าคงจะหมายความว่าอย่างนี้ หรือว่าคงจะหมายความว่าอย่างนั้น แม้แต่คำว่า สมถะ และคำว่า วิปัสสนา ยังไม่ทันรู้ความหมายจริงๆ เลย ก็จะทำ และลองคิดดูสิว่า ยังไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แล้วจะทำ แล้วมันจะเป็นสิ่งที่เราต้องการที่จะให้เป็นอย่างนั้นได้ยังไง เพราะว่า สมถะ ก็ยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร หมายความว่าอะไร วิปัสสนาก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไร แล้วจะไปทำอะไร แล้วจะได้ผลตรงกับที่ทำหรือเปล่า เพราะว่าเรายังไม่มีความรู้เลย
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา หลังจากที่ตรัสรู้แล้วไม่นานเลย เสด็จจากสถานที่ตรัสรู้เพื่อที่จะทรงโปรดเวไนยสัตว์ เสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพื่อแสดงพระธรรม เห็นไหมว่าประโยชน์ของพระธรรมนี้จะมีมากสักแค่ไหน และหลังจากนั้นมา ทรงแสดงพระธรรมมากกว่าใครในโลก คือ เมื่อตื่นบรรทมแล้ว ก่อนที่จะเสด็จไปบิณฑบาต ก็ได้ตรวจดูด้วยพระญาณว่า ควรจะเสด็จไปโปรดใคร ถ้าเวลายังเช้านัก ก็เสด็จไปสนทนาธรรมกับคนนั้น ซึ่งรับฟังพระธรรม และเข้าใจได้ คุ้มต่อการที่จะเสด็จไปโปรด นี่ก่อนบิณฑบาต และเมื่อบิณฑบาตแล้ว หลังจากที่เสวยภัตรแล้ว ทรงพักผ่อนเพียงเล็กน้อย ก็จะมีการแสดงธรรมกับพระภิกษุ แล้วก็ตอนเย็นก็จะมีพวกคฤหัสถ์ไปเฝ้า ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน หรือที่ไหนก็ตามเพื่อฟังพระธรรม เมื่อคฤหัสถ์กลับไปแล้ว พระภิกษุก็มาทูลถามปัญหาอีก และหลังจากนั้นแล้ว เทวดาทั้งหลายซึ่งท่านก็มีปัญหา เพราะไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือพรหมถ้ายังมีกิเลสก็ล้วนแต่มีปัญหาทั้งนั้น ก็มาถามปัญหาของตนๆ แก่พระองค์ นี่แสดงให้เห็นว่าชีวิตประจำวัน ทรงแสดงธรรมเพื่อให้เราเข้าใจให้ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น พระธรรมมีประโยชน์มากที่เราต้องฟังก่อนที่เราจะปฏิบัติ แต่ถ้าเราไม่ฟังก่อน เราจะปฏิบัติผิด หรือว่าเข้าใจผิดได้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งนั้นขอให้ปรึกษา หรือว่าศึกษาพระธรรมดูซะก่อนว่าคำนั้นหมายความว่าอะไร อย่างสมถะ ถ้าจะให้เข้าใจถูกต้อง โดยศัพท์ภาษาบาลี เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วหมายความว่า สงบ เพียงแค่นี้ไม่พอเลย คนก็ไปตีความอีกว่า นั่งคนเดียวเงียบๆ แต่นั้นไม่ใช่ เพราะเหตุว่าสงบ ต้องสงบจากอกุศล สงบจากกิเลส จึงจะชื่อว่าสงบจริงๆ ถ้าเราไปตามท้องนาไกลๆ ไม่มีผู้คนเลย มีต้นตาล มีต้นข้าว มีฟ้า มีน้ำ แล้วจะบอกว่าที่นั่นสงบ ไม่ได้ ใจของเราต่างหาก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นจิตของเรามีโลภะมีความต้องการอะไรรึเปล่า มีโทสะมีความขุ่นเคืองใจไหม มีอกุศลธรรมใดๆ บ้างรึเปล่า มีความคิดนึกเป็นอกุศลเป็นไปในการเบียดเบียนประทุษร้ายบุคคลอื่นหรือเปล่า มีความคิดเรื่องการงานยุ่งๆ ทั้งวัน จะทำอย่างนั้นจะทำอย่างนี้ ขณะนั้นก็ ต้องมีปัญญาพอที่จะรู้ว่าขณะนั้น ไม่ใช่สงบจากกิเลส การที่จะนั่งเฉยๆ อยู่ในห้อง ก็ไม่สงบจากกิเลส แต่สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งจะสงบกิเลสได้ก็คือ ปัญญา
คำว่า ปัญญา ในพุทธศาสนา บางคนก็อาจจะคิดว่า รู้แล้วเข้าใจแล้ว แต่ถ้าศึกษาจริงๆ จะรู้ว่า นั่นปัญญาที่เราคิดเอาเอง ปัญญาภาษาไทย ปัญญาในสมุดพก ปัญญาที่ครูเขียนมาว่าคนนี้มีสติปัญญามากน้อย แต่ว่าไม่ใช่ปัญญาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สภาพนี้คือปัญญา ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ หมายความว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้นได้ นั่นจึงจะชื่อว่าปัญญา
ทุกคนมีจิตใจ แต่ไม่เคยพิจารณาจิต มีแต่ความต้องการ แม้แต่ได้ยินคำว่า สมถะ ก็ยังไม่รู้ว่าอะไร แต่อยากจะทำแล้ว ความอยากขณะนั้นไม่ใช่ความสงบ ความอยากมีหลายอย่าง บางคนก็ชอบรูปสวยๆ บางคนก็ชอบฟังเพลงเสียงเพราะๆ บางคนก็ชอบกลิ่นน้ำหอม เพราะฉะนั้นน้ำหอมนี้ราคาแพงมาก ตามความนิยมหรือตามโลภะของเรา ถ้าเราต้องการกลิ่นนี้ แต่ราคาแพงมาก อันนั้นก็เป็นเครื่องวัดโลภะของเราว่า เราต้องการขนาดไหน ต้องการที่จะซื้อ หรือต้องการเพียงแต่จะได้กลิ่นนิดหน่อยก็พอได้อะไรอย่างนั้น
นี่แสดงให้เห็นว่า โลภะไม่เคยห่างไกลเราตั้งแต่เกิด ทางตาต้องการเห็นสิ่งที่สวยงาม ทางหูต้องการเสียงเพราะ ทางจมูกต้องการกลิ่นหอม ทางลิ้นต้องการรสอร่อย ทางกายต้องการกระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย แม้แต่ในห้องนี้ เราก็ต้องการอากาศที่เย็นๆ สบายๆ เก้าอี้นุ่มๆ ไม่แข็งเกินไป นี่ก็เป็นความต้องการทางกาย ทางใจก็ยังต้องการเรื่องสนุกสนาน ดูทีวีดูละคร คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่แสดงให้เห็นว่า เรามีแต่ความต้องการทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้แต่ในเรื่องคำ เช่นคำว่า สงบ หรือคำว่า นิพพาน ยังไม่ทันรู้เลยว่าแปลว่าอะไร อยากจะได้ซะแล้ว อยากจะทำซะแล้ว อยากจะถึงซะแล้ว แล้วอย่างนี้จะเป็นปัญญาได้ยังไง
แต่ว่า นี่เป็นโลภะในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเหตุว่า โลภะบางครั้งก็ต้องการกุศล ต้องการอยากจะได้ผลของกุศล อยากจะเป็นคนดี อยากจะเป็นอะไร นั้นก็เป็นเรื่องของโลภะ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องของปัญญา ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาแล้วต้องรู้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ถ้ากำลังโกรธสภาพที่โกรธมีจริงๆ ปัญญาสามารถที่จะเห็นความกระด้างของจิตใจในขณะที่โกรธ และก็รู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมนี้ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น และก็มีกิจหน้าที่ที่จะกระทำตามกำลังของความโกรธนั้น ว่าโกรธมาก โกรธน้อย ยังไง เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นแม้แต่คำว่า สมถะ - วิปัสสนา
ขอให้มีปัญญาเข้าใจก่อน อย่าเพิ่งทำ เพราะเหตุว่า ถ้ายังไม่เข้าใจแล้วทำไม่ได้ สมถะ คือสงบจากอกุศลทุกประเภท วิปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริงในขณะนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ จะไปนั่ง แล้วก็จะไปเห็นอะไรก็ไม่ทราบ แต่กิเลสก็ยังเยอะ คือเห็นแล้วก็ยังกลัวบ้าง โกรธบ้าง ชอบบ้าง ถ้าเห็นนางฟ้าเทวดาก็ดีใจ ถ้าเห็นนรกเห็นอะไรก็ตกใจกลัว ขณะนั้นไม่ใช่ของจริงเลย เพราะเหตุว่าเป็นการนึกคิด เหมือนความฝัน เวลาฝันนี่จริงหรือเปล่า แต่เหมือนจริงฉันใด ขณะที่กำลังเห็นเทวดา เห็นนรก เห็นอะไรต่างๆ เหมือนจริงแต่ไม่ใช่จริง เพราะเหตุว่า ความจริงคือขณะนี้ ที่กำลังเห็นโดยไม่ต้องไปนึกฝัน หรือว่าสร้างอะไรขึ้นมา
เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ เจริญอบรมให้มีความเข้าใจในพระธรรมที่แท้จริงก่อน แล้วก็จะไม่ถูกความต้องการของเราชักนำไปให้เข้าใจผิด เพราะฉะนั้นก่อนอื่นใดท่านคิดว่าจะมีประโยชน์มากถ้าเราจะเริ่มฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อนแทนที่จะคิดเรื่อง การเจริญสมถะ หรือ วิปัสสนา ซึ่งเป็นกุศลขั้นที่สูงมาก สมถภาวนาสามารถที่จะทำให้จิตสงบ ไม่ใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างขณะที่ให้ทาน รักษาศีล ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าความสงบของจิต จะมั่นคงขึ้น ประกอบด้วยปัญญา พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นปัญญาจริงๆ สติสัมปชัญญะปกติจริงๆ นั่นเป็นความสงบที่สามารถจะทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิได้ แต่ว่าดับกิเลสไม่ได้
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงหนทางซึ่งผู้อื่นประพฤติปฏิบัติมาแล้วคือสมถภาวนา แต่ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม จนสามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องวันสองวัน หรือว่าชั่วโมงเดียวสองชั่วโมง เป็นเรื่องที่เราจะต้องเป็นผู้ตรงต่อตัวเราเองว่า การฟังแต่ละครั้ง ทำให้เรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นบ้างสักนิดหน่อยหรือเปล่า หรือเพิ่มขึ้นมาก เพราะว่าประโยชน์ของการฟัง คือ ความเข้าใจ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องของพุทธศาสนาแล้ว ก็คือว่า ต้องได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องจึงจะเป็นพระธรรม แต่ถ้าฟังแล้ว ไม่มีความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นมาเลย ขณะนั้นก็จะต้องฟังต่อไปอีก แล้วพิจารณาในเหตุผลนั้น ต่อไปอีก ว่า เป็นความถูกต้องหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นพระธรรมจริงพิสูจน์ได้ แม้ในขณะนี้ พระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ
ที่มา ...
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔