บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
ครั้งที่ ๕
การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ และที่ประเสริฐ
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน
คุณวันทนา สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง วันนี้เราจะไสนทนาธรรมกันต่อจากที่ค้างไว้คราวก่อน อาจารย์สุจินต์ได้พูดถึงการฟังธรรม การศึกษาธรรม และการปฏิบัติธรรมว่า จะต้องอบรมเจริญการรู้สึกตัว พิจารณา ศึกษา สังเกตรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพื่อให้ปัญญารู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏนั้น อาจารย์จะมีอะไรเพิ่มเติมอีกไหมคะ ซึ่งท่านผู้ฟังก็คงจะสนใจฟังอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็ได้ฟังเรื่องการปฏิบัติธรรมแล้วนะคะ อบรมเจริญสติรู้สึกตัวบ้างแล้วหรือยัง ยากไหมคะ
คุณวันทนา ยากทีเดียวละค่ะ
ท่านอาจารย์ พอจะเจริญสติต่อไปไหวไหมคะ
คุณวันทนา ไหวเหมือนกันค่ะ แต่คิดว่าคงน้อยครั้งเหลือเกิน
ท่านอาจารย์ แต่ก็คงไม่รู้สึกว่ายากเกินไป จนถึงกับต้องรอไว้ในชาติต่อๆ ไปนะคะ
คุณวันทนา แหม รู้สึกว่าขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่มากระทบค่ะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคิดว่ามีเหตุอะไรบ้างคะที่ทำให้หลงลืมสติไม่รู้สึกตัว และบางครั้งก็ไม่ค่อยอยากจะอบรมเจริญสติทั้งๆ ที่รู้ว่ามีประโยชน์ที่สุด
คุณวันทนา ก็เห็นจะเป็นเพราะความรุนแรงของอารมณ์ที่มากระทบค่ะ เป็นต้นว่า เคยมีความยินดีชอบใจมากๆ มาก่อน ถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญสติรู้สึกตัวก็รู้สึกว่าจิตมันคัดค้านกันค่ะ
ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่ามีเหตุอยู่ ๒ ประการค่ะ ที่ทำให้การรู้สึกตัวไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ
คุณวันทนา อาจารย์กรุณากล่าวถึงเหตุนั้นซิคะ
ท่านอาจารย์ เหตุหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะยังไม่เห็นประโยชน์ที่แท้จริงของการรู้สึกตัวก็ได้นะคะ และอีกเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นธรรมที่อุปการะให้สติการรู้สึกตัวเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ค่ะ
คุณวันทนา แหม นั่นแหละค่ะ เหตุที่หนึ่งที่อาจารย์ว่านั่นแหละดิฉันคิดว่าสำคัญมาก และตรงกับใจของดิฉันพอดีเลย
ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่าทุกคนคงจะทำสิ่งที่เห็นว่าสำคัญในชีวิตนะคะ คุณวันทนาลองสังเกตดูซิคะว่าสิ่งที่คุณวันทนากำลังทำอยู่นั้น มักจะเป็นสิ่งที่คุณวันทนาคิดว่าสำคัญ และจำเป็นที่จะต้องทำ ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ ดิฉันเห็นด้วย แต่อาจารย์คะ สิ่งสำคัญในชีวิตซึ่งนอกเหนือไปจากการปฏิบัติธรรมนั้นก็มีนะคะ อย่างการประกอบอาชีพนี่ก็จำเป็นเหมือนกันนะคะ หรืออาจารย์เห็นว่าไม่สำคัญ การประกอบอาชีพนี่ดิฉันคิดว่าวันหนึ่งๆ ก็ได้เอาเวลาของเราไปเสียหมดทีเดียว เราต้องพยายามหารายได้เพื่อวันนี้ เก็บไว้เพื่อวันหน้า เก็บไว้เพื่อลูก เพื่อหลาน เพื่อความไม่ประมาทอย่างนี้น่ะค่ะ นอกจากนั้นก็ยังจะต้องมีเวลาพักผ่อน เพราะว่าถ้าเหนื่อยนักก็อาจจะเจ็บไข้ได้ป่วยได้
ท่านอาจารย์ ค่ะ รวมความว่าในชีวิตนี้นอกจากจะมีความสำคัญหรือความจำเป็นในเรื่องของการอาชีพ ทำงานเก็บเงิน แล้วก็ยังต้องใช้เงินนั้นเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานเป็นการพักผ่อนอีกด้วยใช่ไหมคะ คุณวันทนาคิดบ้างหรือเปล่าคะว่า วันเวลาที่ล่วงไปแต่ละขณะนั้นน่ะค่ะสำคัญที่สุด เพราะว่าเรียกร้องกลับคืนมาไม่ได้เลย เช่นเดียวกับนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏนิดเดียวแล้วก็ดับหมดไป จะเรียกร้องนาม และรูปสักนามเดียวหรือรูปเดียวให้กลับคืนมาไม่ได้เลย และก็ไม่มีใครรู้สักคนนะคะ ว่าความตายน่ะจะมาถึงเมื่อไหร่ การที่เราได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ปฏิบัติตาม ไม่อบรมเจริญสติ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ก็น่าเสียดายมากนะคะ
คุณวันทนา ค่ะ น่าเสียดาย
ท่านอาจารย์ คุณวันทนากลัวตายไหมคะ
คุณวันทนา เข้าใจว่าทุกๆ คนก็คงกลัวเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ความตายที่รู้จักกันนั้นนะคะ ถึงแม้ว่าจะน่าประหวั่นพรั่นพรึง เพราะเหตุว่าเป็นการสูญเสียสภาพของความเป็นบุคคลนี้ ในชาตินี้ ในภพนี้ อย่างที่ไม่มีวันกลับคืนมาอีกนะคะ แต่คุณวันทนาคิดถึงความจริงบ้างหรือเปล่าคะว่า แท้จริงการสูญเสียสภาพของความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ในภพนี้นั้นมีอยู่ทุกๆ ขณะ ทุกวินาทีที่กาลเวลาผ่านพ้นไป ซึ่งก็เป็นความตายของทุกๆ ขณะที่ไม่สามารถจะเรียกร้องกลับคืนมาได้เลยค่ะ
คุณวันทนา ฟังดูแล้วก็น่ากลัวนะคะ น่ากลัวว่าความตายที่เราเข้าใจกันเสียอีก ถ้าเราคิดถึงความตายในลักษณะนี้ก็ไม่น่าจะเสียเวลาแสวงหาสิ่งที่ไม่มีสาระ
ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่าถ้าทุกคนมีโอกาสมีเวลา ก็ควรที่จะแสวงหาสิ่งที่มีสาระยิ่งกว่าการแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่างๆ ในเรื่องของการแสวงหานั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงไว้ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค ปาสราสิสูตร ข้อ ๓๑๒ - ๓๒๘ คุณวันทนาอยากฟังไหมคะว่า พระองค์ทรงเทศนาว่ายังไงบ้าง
คุณวันทนา อยากฟังค่ะ
ท่านอาจารย์ ข้อความในปาสราสิสูตรมีว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ตอนเช้าพระองค์เสด็จเข้าไปยังกรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต ครั้งนั้นภิกษุหลายรูปเข้าไปหาท่านพระอานนท์เพื่อขอโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาค ท่านพระอานนท์ก็บอกให้ภิกษุเหล่านั้นไปที่อาศรมของพราหมณ์ชื่อ รัมมกะ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับจากบิณฑบาตในเวลาปัจฉาภัตแล้ว ก็ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา แล้วตรัสชวนไปพักผ่อนกลางวันที่ปราสาทของอุบาสิกาวิสาขาที่บุพพาราม เมื่อทรงพักผ่อนที่นั่นแล้ว ตอนเย็นเสด็จออกจากที่นั่น ตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา แล้วตรัสชวนท่านพระอานนท์ไปสรงน้ำที่ท่าบุพพาโกฏฐกะ ท่าอาบน้ำนี้มีหาดทรายขาวสะอาด เป็นที่อาบน้ำ ๔ ที่ สำหรับกษัตริย์ที่หนึ่ง ชาวเมืองที่หนึ่ง พวกภิกษุที่หนึ่ง และของพระผู้มีพระภาคที่หนึ่ง ไม่รวมกันนะคะ เมื่อพระผู้มีพระภาคสรงน้ำเสร็จแล้วก็ทรงจีวรประทับยืนผึ่งพระวรกายอยู่ ท่านพระอานนท์ก็กราบทูลว่า อาศรมของพราหมณ์ชื่อรัมมกะอยู่ไม่ไกลเป็นที่รื่นรมย์ ขอเชิญเสด็จพระองค์ไปที่นั่นเพื่อทรงอนุเคราะห์ภิกษุเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงรับโดยดุษณีภาพแล้วเสด็จไปที่อาศรมของรัมมกะพราหมณ์ ขณะนั้นพวกภิกษุกำลังนั่งสนทนาธรรมกันอยู่ พระผู้มีพระภาคประทับยืนที่ซุ้มประตูข้างนอก คอยให้ภิกษุเหล่านั้นสนทนาธรรมกันจบเสียก่อน เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นสนทนากันจบแล้ว พระองค์ก็กระแอมแล้วทรงเคาะบานประตู ภิกษุเหล่านั้นก็เปิดประตูรับ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้แล้วก็ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า สนทนากันเรื่องอะไร ภิกษุเหล่านั้นก็ทูลตอบให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า เป็นการสมควรแล้วที่ภิกษุเหล่านั้นสนทนาธรรมกัน เพราะเมื่อมีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ก็ควรทำกิจ ๒ อย่าง คือสนทนาธรรมกันหรือนั่งนิ่งแบบพระอริยะ คุณวันทนาจะต้องเข้าใจด้วยว่าการนั่งนิ่งแบบพระอริยะนั้น ไม่ใช่นั่งหลับหรือนั่งเฉยๆ แต่จะต้องมีสติรู้สึกตัว พิจารณา ศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นตามความเป็นจริง ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า การแสวงหามี ๒ อย่าง คือการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐอย่างหนึ่ง การแสวงหาที่ประเสริฐอย่างหนึ่ง การแสวงหาที่ไม่ประเสริฐนั้นก็คือ คนบางคนในโลกนี้โดยที่ตนเองก็มีชาติความเกิดเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีชาติเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองเป็นผู้มีชราเป็นธรรมดาก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีชราเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองเป็นผู้มีพยาธิเป็นธรรมดาก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีพยาธิเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองเป็นผู้มีมรณะเป็นธรรมดาก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีมรณะเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองก็เป็นมีโศกเป็นธรรมดาก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีโศกเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง ตนเองเป็นผู้มีกิเลสเป็นธรรมดาก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีกิเลสเป็นธรรมดาอยู่นั่นเอง คุณวันทนาทราบไหมคะว่า สิ่งที่มีชาติ มีชรา มีพยาธิ มีมรณะ มีโศก มีกิเลสเป็นธรรมดานั้น ได้แก่อะไรบ้างคะ
คุณวันทนา ได้แก่ชีวิตมนุษย์ และสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ พระองค์ทรงเทศนาว่า สิ่งที่มีชาติ มีชรา มีพยาธิ มีมรณะ มีโศก มีกิเลส เป็นธรรมดานั้นก็ได้แก่ บุตร ภรรยา ทาสชายหญิง แพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง ม้า เงิน ทอง พวกนี้ค่ะ เพราะว่าเมื่อตนเองเป็นผู้ที่มีชาติ ชรา มรณะ พยาธิ โศก เป็นธรรมดาแล้ว ก็ยังแสวงหาสิ่งที่มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โศก และมีกิเลสเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นก็เป็นการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเลย ส่วนการแสวงหาที่ประเสริฐนั้น คุณวันทนาคิดว่าเป็นการแสวงหาอะไรคะ
คุณวันทนา ก็ควรจะแสวงหาสิ่งที่พ้นจากชาติ ชรา อย่างที่อาจารย์พูดเมื่อกี้ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ พระองค์ทรงแสดงว่า การแสวงหาที่ประเสริฐนั้นนะคะ ย่อมแสวงหาสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อตนเองมีชาติเป็นธรรมดา ก็ทราบชัดซึ่งโทษของสิ่งที่มีชาติเป็นธรรมดา เมื่อตนเองมีชราเป็นธรรมดา ก็ทราบชัดซึ่งโทษของสิ่งที่มีความชราเป็นธรรมดา เมื่อตนเองมีพยาธิเป็นธรรมดา ก็ทราบชัดซึ่งโทษของสิ่งที่มีพยาธิเป็นธรรมดา เมื่อตนเองมีมรณะเป็นธรรมดา ก็ทราบชัดซึ่งโทษของสิ่งที่มีมรณะเป็นธรรมดา เมื่อตนเองมีโศกเป็นธรรมดา ก็ทราบชัดซึ่งโทษของสิ่งที่มีโศกเป็นธรรมดา เมื่อตนเองมีกิเลสเป็นธรรมดา ก็ทราบชัดซึ่งโทษของสิ่งที่มีกิเลสเป็นธรรมดา เมื่อทราบชัดในโทษของสิ่งต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็ย่อมจะแสวงหาสิ่งซึ่งไม่มีชาติ ไม่มีชรา ไม่มีพยาธิ ไม่มีมรณะ ไม่มีกิเลส ไม่มีโศก คุณวันทนาทราบไหมคะว่าสิ่งนั้นคืออะไร
คุณวันทนา ก็คงจะได้แก่นิพพานนะคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ค่ะ นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงยกตัวอย่างพระองค์เองให้สาวกฟังด้วยค่ะว่า เมื่อก่อนตรัสรู้นั้นพระองค์เองซึ่งเป็นผู้ที่มีชาติเป็นธรรมดา ก็ยังแสวงหาสิ่งซึ่งมีชาติเป็นธรรมดา แต่ภายหลังก็ทรงแสวงหาสิ่งซึ่งไม่มีการเกิด คือนิพพาน คุณวันทนาฟังแล้วรู้สึกว่าอยากจะแสวงหาอย่างไหนคะ
คุณวันทนา ด้วยเหตุผลแล้ว ก็คิดว่าควรจะแสวงหาสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา คือนิพพานค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่ก่อนที่คุณวันทนาจะแสวงหาพระนิพพานนั้น ก็จะต้องทราบก่อนใช่ไหมคะว่าการที่จะรู้แจ้งลักษณะของพระนิพพานได้นั้น จะต้องรู้ด้วยปัญญาขั้นสูง ถ้าปัญญาขั้นต้นยังไม่เกิดปัญญาขั้นสูงก็จะเกิดไม่ได้เลย และการที่จะเจริญปัญญาให้ถึงขั้นสูงนั้นได้ ก็จะต้องเจริญสติรู้สึกตัว พิจารณาศึกษา รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก่อน เพราะว่าถ้าปัญญาขั้นนี้ไม่มี ปัญญาขั้นสูงกว่านี้ก็มีไม่ได้
คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้น การอบรมให้เกิดสติรู้สึกตัวก็สำคัญ และมีประโยชน์มากซินะคะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ มีประโยชน์มากค่ะ
คุณวันทนา แต่ดิฉันเชื่อว่า ถึงแม้ว่าจะรู้อย่างนี้ ก็อาจจะมีอีกหลายคนรวมทั้งตัวดิฉันเองด้วยที่จะยังไม่สามารถสละเวลาเพื่อสิ่งนี้
ท่านอาจารย์ แต่ก็ไม่ควรท้อถอยค่ะ ไม่ควรปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกไปในการแสวงหาสิ่งที่ไม่ประเสริฐเพียงอย่างเดียว อย่างน้อยดิฉันก็คิดว่าเราควรอบรมเจริญสติรู้สึกตัวศึกษาพิจารณารู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏวันละเล็กละน้อยก็ยังดีค่ะ
คุณวันทนา อาจารย์คะ คำว่าอบรมการรู้สึกตัวกับการเจริญสตินี่ มีความหมายเหมือนกันไหมคะ
ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ ต่างกันที่ภาษาเท่านั้น สติเป็นภาษาบาลี การระลึกรู้หรือการรู้สึกตัวเป็นภาษาไทยที่เราเข้าใจกันอยู่ทั่วๆ ไปค่ะ
คุณวันทนา แล้วก็การรู้สึกตัวที่อาจารย์หมายถึงนี่นะคะ หมายถึงในขณะไหนคะ ขณะข้ามถนนเราก็ข้ามได้โดยปลอดภัย ขณะจะเขียนหนังสือเราก็เขียนได้โดยไม่ผิดพลาด อย่างนี้จะจัดเป็นการรู้สึกตัวที่เป็นการปฏิบัติธรรมไหมคะ
ท่านอาจารย์ การรู้สึกตัวมีหลายขั้นค่ะ เวลาที่คุณวันทนากำลังทำอะไร แล้วก็รู้สึกตัว นั่นก็เป็นความรู้สึกตัวขั้นหนึ่งที่เข้าใจกันทางโลก แต่ไม่ใช่สติในทางธรรม การรู้สึกตัวคือสติในการปฏิบัติธรรมนั้น จะต้องเป็นการระลึกได้ ไม่ลืมที่จะพิจารณา ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นให้ถูกต้องว่าเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม การอบรมสติระลึกรู้ และเจริญปัญญาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจึงจะเป็นการรู้สึกตัวที่เป็นการเจริญสติปัฏฐานค่ะ
คุณวันทนา อาจารย์คะ แล้วถ้าหากว่ารู้สึกเฉยๆ อย่างเช่นในขณะที่เห็นสี ก็รู้ทันในขณะที่เห็น การเห็นผ่านไปแล้วก็รู้ทัน แต่ทว่าไม่รู้ว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม อย่างนี้จะผิดไหมคะ
ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ก็ยังไม่ใช่ปัญญาค่ะ คุณวันทนาจะต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการเจริญสติซึ่งเป็นสติปัฏฐานเสียก่อนนะคะ ว่าเพื่ออะไร การเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อให้เกิดปัญญา รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะฉะนั้นถ้าขณะใดคุณวันทนารู้สึกตัว แต่ไม่พิจารณา ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นว่า เป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม ก็แสดงว่าการรู้สึกตัวขั้นนั้น ยังไม่ใช่ขั้นการเจริญสติปัฏฐาน
คุณวันทนา ยังสงสัยค่ะ อาจารย์คะ สงสัยว่าการรู้ลักษระว่าเป็นนามหรือเป็นรูปประกอบไปกับขณะที่รู้สึกตัว ความรู้ว่าเป็นนามหรือเป็นรูปนี่นะคะ เอามาจากไหน เอามาจากความจำที่ได้จากการศึกษา ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ไม่เหมือนกันเลยค่ะ ในขณะที่กำลังได้ยินนั้นสติปัฏฐานจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ลักษณะค่ะ ไม่ใช่เป็นการรู้ชื่อว่าสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร สิ่งนี้เรียกว่าอะไร
คุณวันทนา แหม ยากมากนะคะ อาจารย์ เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ประโยชน์ของการอบรมเจริญสติแล้ว และแม้ว่าจะมีสติรู้สึกตัวบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่รู้ชัดจริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏน่ะเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ การปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นการอบรมให้ปัญญาเจริญขึ้นอย่างแท้จริง แต่ก็ย่อมค่อยเป็นค่อยไปคือเจริญขึ้นทีละน้อยๆ จริงๆ คุณวันทนาลองคิดดูซิคะ ไม่ว่าจะในทางโลกหรือทางธรรม ไม่ว่าในเรื่องมรรยาททางกายหรือทางวาจา ตลอดจนกระทั่งความรู้ความชำนาญต่างๆ ก็ต้องอาศัยการฝึกหัดอบรมทั้งนั้น และแต่ละอย่างก็จะต้องใช้เวลามากน้อยต่างกัน ใช่ไหมคะ ยิ่งเป็นการปฏิบัติอบรมให้เกิดปัญญาที่สามารถรู้ชัดความจริงของสภาพธรรมที่กำลังในขณะนี้ก็ต้องยิ่งยาก และก็ต้องใช้เวลาอบรมเจริญนานกว่าความรู้ทางโลกอย่างมากทีเดียวค่ะ เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ทุกขณะนี้ก็เกิดดับหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน อย่างเสียงนี่นะคะ ก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบหู กลิ่นก็ปรากฏเพียงชั่วขณะที่กระทบจมูก ถ้าความไม่เที่ยงความเกิดดับของทุกสิ่งปรากฏให้รู้ง่ายๆ อย่างที่คิดหรือเข้าใจกัน ทุกคนก็คงจะหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์กันได้หมดแล้ว ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา อาจารย์คะ ถึงแม้ว่าจะได้รู้ประโยชน์ของการอบรมเจริญสติ และแม้ว่าสติจะเกิดบ้าง บางครั้งบางคราวนะคะ แต่ก็ไม่บ่อยเลยค่ะ อาจารย์คิดว่ามีทางไหนอีกไหมคะ ที่จะทำให้สติเกิดได้บ่อยๆ
ท่านอาจารย์ นี่เป็นเหตุประการที่สองที่เราได้กล่าวไว้ในตอนต้นค่ะ ที่ว่าที่แม้ว่ารู้ประโยชน์แล้วแต่สติก็ยังเกิดน้อยนั้น ก็เป็นเพราะไม่มีสิ่งที่อุปการะแก่สติค่ะ
คุณวันทนา อาจารย์หมายความว่า ถ้าไม่มีสิ่งแวดล้อมที่สะดวกสบายแล้วละก็ สติจะเกิดไม่ได้อย่างนั้นหรือคะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาอย่าลืมซิคะว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ทุกสิ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีเหตุปัจจัย สติปัฏฐานก็เช่นเดียวกันค่ะ ธรรมที่อุปการะแก่สติปัฏฐาน คือการฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้วบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมทั้งหลาย และหนทางปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงโดยละเอียดยิ่งขึ้น เมื่อมีความเข้าใจที่เกิดจากการฟังอย่างถูกต้อง และมั่นคงแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดขึ้นบ้างทีละเล็กทีละน้อย ในตอนแรกๆ สติมักจะเกิดในที่ที่ไม่มีผู้คนมากหน้าหลายตา คือที่ไม่พลุกพล่าน และในที่ที่ไม่มีสิ่งจะชักจูงความสนใจไปในเรื่องอื่นๆ ด้วย
คุณวันทนา อย่างในที่ชุมนุมชน โรงหนัง โรงละคร เหล่านี้สติคงจะเกิดไม่ได้หรือคะ
ท่านอาจารย์ ในตอนต้น ถ้าจะเกิดได้บ้างก็น้อยค่ะ
คุณวันทนา และเวลาที่อุปการะแก่สติล่ะคะ มีไหมคะว่าเวลาไหน
ท่านอาจารย์ ในตอนต้นสิตก็คงจะเกิดในเวลาว่างๆ นะคะ เช่นเวลาพักผ่อน เวลานั่งรถ รอใคร หรือเวลาอื่นสติก็ย่อมจะเกิดได้บ้าง เช่นในขณะที่ไม่รีบร้อนนั้นสติก็เกิดได้ค่ะ แต่ต่อไปจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าที่ไหน และเวลาใดสติก็เกิดได้ค่ะ แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาของสติ และธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น
คุณวันทนา อาจารย์คะ ในสมัยพุทธกาลนะคะ ชาวบ้านที่เขาต้องประกอบอาชีพอย่างพวกเรานี่นะคะ เขาเจริญสติปัฏฐานเหมือนสมัยนี้ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ในครั้งพุทธกาลนั้น ผู้ครองเรือนที่ได้ฟังพระธรรมของพระผู้มีพระภาคแล้ว ก็เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานกันทั้งนั้นค่ะ อย่างชาวกุรุที่กล่าวถึงกัน เป็นต้น การเจริญสติปัฏฐานย่อมเป็นชีวิตประจำวันของพุทธบริษัทที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว คุณวันทนาจำเรื่องคนเข็ญใจคนหนึ่งที่ไปรับจ้างทำงานที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ไหมคะ
คุณวันทนา เคยฟังมานานแล้วค่ะ แต่รู้สึกว่าจะเลือนลางไปบ้าง อาจารย์กรุณาเล่าทบทวนหน่อยซิคะ
ท่านอาจารย์ มีคนเข็ญใจคนหนึ่งไปรับจ้างทำงานที่บ้านของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พอถึงวันอุโบสถ ท่านเศรษฐีกลับมาจากวิหารแล้ว ก็ถามผู้คนในบ้านว่า มีใครบอกเรื่องอุโบสถให้ลูกจ้างคนใหม่รู้แล้วหรือยัง คนในบ้านก็ตอบว่ายังไม่ได้บอก ท่านเศรษฐีก็สั่งให้พวกนั้นหุงหาอาหารเย็นไว้ให้เขา ตอนเย็นวันนั้นลูกจ้างคนนั้นกลับจากทำงานในป่าก็แปลกใจที่ตามธรรมดาทุกคนก็ยุ่งเรื่องการรับประทานอาหารทุกมื้อ แต่วันนั้นไม่มีเสียอะไรเลย นอนกันหมด แล้วก็มีอาหารที่จัดเตรียมไว้สำหรับเขาคนเดียวเท่านั้น เขาถามคนอื่นๆ ว่ารับประทานอาหารแล้วหรือยัง คนอื่นก็ตอบว่าวันนั้นไม่รับประทาน เพราะว่าเป็นวันอุโบสถ ลูกจ้างคนนั้นก็ถามถึงเรื่องอุโบสถ แล้วก็ไม่ยอมรับประทานอาหารเช่นเดียวกับคนอื่นๆ พอตอนค่ำก็รู้สึกไม่สบาย แล้วก็สิ้นชีวิตลงในคืนนั้น แต่ก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดาค่ะ
คุณวันทนา ที่ได้ไปเกิดเป็นเทวดานั้น ก็เป็นผลของการเจริญศีลอุโบสถ ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ท่านแสดงไว้ว่าอย่างนั้นค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าการรักษาศีลอุโบสถ และการอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นแยกกันนะคะ เพราะสติย่อมจะเกิดขึ้นระลึกรู้ สังเกต พิจารณา ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะไหนก็ได้ค่ะ
คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ ผู้ครองเรือนก็เจริญสติปัฏฐานบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยสาวกได้ ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกนั้น คฤหัสถ์บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยสาวกมากมาย การอบรมเจริญสติปัฏฐานนั้นถึงแม้ว่าจะยากยิ่ง แต่ก็ควรปฏิบัติ เพื่อจะได้รู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏว่าไม่เที่ยง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ฉะนั้นท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงทางดำเนินไปสู่ความพ้นจากชาติ ชรา พยาธิ โศก และกิเลสทั้งหลายไว้แล้ว จึงขึ้นอยู่กับเราที่จะพิจารณา และตัดสินเอาเองว่า จะดำเนินตามทางที่พระองค์ทรงแสดงไว้ได้มากน้อยแค่ไหน
ท่านผู้ฟังคะ วันนี้เวลาแห่งการสนทนาของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔