ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔


    เมื่อมุทิตาเกิด กำจัดความไม่ยินดีในขณะนั้น คือ พลอยยินดีด้วยทันทีในขณะใด ขณะนั้นเป็น มุทิตาเจตสิก

    ข้าศึกใกล้ของมุทิตา คือ โสมนัสด้วยโลภะ

    คือ ถ้าเป็นผู้ที่ใกล้ชิด และได้รับความสุข ความสำเร็จ ความเจริญ อย่างมากมาย ขณะนั้นก็พลอยดีใจมากมายเกินกว่ามุทิตา ซึ่งเป็นโลภะแล้ว เวลาที่ ดีใจมากๆ ขอให้พิจารณาดูว่า ยังคงเป็นมุทิตาอย่างมากขึ้น หรือขณะนั้นเป็น โลภะแล้ว

    ข้าศึกไกล คือ ความริษยา

    เพราะว่าความริษยาเกิดร่วมกับมุทิตาเจตสิกไม่ได้

    มีการสงบระงับความไม่ยินดีเป็นสมบัติ

    แม้แต่รู้สึกเฉยๆ ก็คือไม่ยินดีด้วย

    มีการเกิดความร่าเริงเป็นวิบัติ

    นี่เป็นความละเอียดซึ่งตัตรมัชฌัตตตาต้องตรงจริงๆ ที่จะพิจารณาจิต เพื่อจะได้เป็นกุศลยิ่งขึ้น

    ท่านเป็นผู้ที่ยินดีง่าย หรือยินดียากในความสุข ในสมบัติของบุคคลอื่น เป็นเรื่องที่ผู้ที่เจริญกุศลจะเพิ่มความเข้าใจตัวเองยิ่งขึ้น

    สำหรับพรหมวิหารที่ ๔ คือ อุเบกขาพรหมวิหาร ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ถ้าเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันขณะใด ขณะนั้นเป็นความสงบของจิต เพราะว่าเป็น กุศลจิต

    ลักษณะของอุเบกขาพรหมวิหาร คือ

    มีความเป็นไปโดยอาการเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายเป็นลักษณะ

    มีความเห็นความเสมอกันในสัตว์ทั้งหลายเป็นรสะ

    มีการเข้าไปสงบระงับความยินดี และความยินร้ายเป็นปัจจุปัฏฐาน

    มีการเห็นความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตนเป็นปทัฏฐาน

    คือ มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมมีกรรมเป็นของของตน ไม่ว่าสัตว์เหล่านั้นจะมีสุข หรือจะพ้นจากทุกข์ จะไม่เสื่อมจากสมบัติ ก็ไม่ใช่เป็นไปตามความพอใจหรือความต้องการของใคร ขณะที่รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ขณะนั้น เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร

    ต่างกับขณะที่เห็นอะไรก็เฉย ใช่ไหม เพราะในขณะนั้นไม่ได้รู้เลยว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน ใครกำลังได้ลาภ เพราะอะไร เพราะกรรมของบุคคลนั้น ใครกำลังเสื่อมลาภ เพราะอะไร เพราะกรรมของบุคคลนั้น ใครกำลัง เป็นทุกข์ประสบความทุกข์ยากต่างๆ เพราะอะไร เพราะกรรมของบุคคลนั้น ใครกำลังประสบความสุข เพราะอะไร เพราะกรรมของคนนั้น ขณะที่รู้อย่างนี้ จิตเป็นกลางอย่างนี้ สม่ำเสมอในสัตว์ทั้งหลาย ในขณะนั้นเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร คือ รู้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เพราะฉะนั้น ก็เป็นกลางในสัตว์ทั้งหลายโดย ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย

    ข้าศึกใกล้ของอุเบกขาพรหมวิหาร คือ อุเบกขาอาศัยเรือน

    ในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และอุเบกขา คือ เฉยๆ โดยที่ไม่ได้พิจารณาด้วยความเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย

    ข้าศึกไกลของอุเบกขาพรหมวิหาร คือ โลภะ และโทสะ

    เพราะว่าโลภะ และโทสะเกิดร่วมกับอุเบกขาพรหมวิหารไม่ได้

    ถ. ในพรหมวิหาร ๔ นี้ อุเบกขาเป็นพรหมวิหารที่สำคัญมาก อย่าไปเห็นว่า เฉยๆ ไม่เอาเรื่องเอาราว เพราะอาจารย์บอกว่าจะต้องมีการพิจารณาว่า มีกรรมเป็นของของตน ความจริงก่อนศึกษาธรรม หรือเริ่มศึกษาธรรมแต่ยังไม่มีความเข้าใจมาก ขณะนั้นก็เคยพิจารณาว่า ทำไมคนนี้ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต ทำไมคนนี้ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เราก็พิจารณาว่า เขามีกรรมเป็นของตัว และเขาก็ได้รับ ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ว่านี่คืออุเบกขาพรหมวิหาร เมื่อมาฟังจากอาจารย์บอกว่า ต้องพิจารณาว่า สัตว์นั้นมีกรรมเป็นของของตน มีความเป็นกลางในสัตว์ แต่ผมว่าไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เนื่องจากอุเบกขาเป็นทั้งบารมี เป็นทั้งสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ของการตรัสรู้ได้ เพราะฉะนั้น อุเบกขาสำคัญมาก แต่ใจเป็นอย่างไรจึงจะเรียกว่า เป็นกลาง ที่เป็นกุศล ที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ที่มีอะไรลึกซึ้งกว่านี้

    สุ. ถ้าเป็นเรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่อุเบกขาพรหมวิหาร แต่เป็นตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกซึ่งมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ เป็นเรื่องของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งต้องเป็นกลางต่อลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นจนสามารถรู้ชัดขึ้นในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    เพราะฉะนั้น ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกมีหลายระดับ และอาการหนึ่งลักษณะหนึ่ง คือ เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ซึ่งในขณะใดที่เป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ขณะนั้นต้อง มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ แต่เวลาที่เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ของการตรัสรู้ ในขณะนั้นไม่ใช่มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

    นาที 6.58

    ถ. ผมเข้าใจผิด นึกว่าอุเบกขาพรหมวิหารเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อาจารย์ก็กรุณาชี้แจงแล้ว ส่วนอุเบกขาบารมีที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญนั้นเป็นอย่างไร

    สุ. ตัตรมัชฌัตตตานั่นเอง เป็นเจตสิกซึ่งมีลักษณะอาการแล้วแต่จะเกิดกับจิตขณะไหน ถ้าขณะใดที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ขณะนั้นกำลังมีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์ ก็เป็นอาการของอุเบกขาพรหมวิหาร

    ในชีวิตประจำวัน สามารถที่จะรู้ได้ว่ามีเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา ถ้าอุเบกขายังไม่เคยมีเลย ก็เริ่มที่จะมีอุเบกขาโดยเห็นกรรมของสัตว์ทั้งหลาย สามารถช่วยใครก็ได้ แต่ขณะนั้นก็รู้ถึงกรรมของบุคคลนั้นด้วย จึงเป็นผู้ที่เป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จะช่วยได้หรือช่วยไม่ได้ ต้องแล้วแต่กรรม ขณะที่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม ขณะนั้นก็ไม่หวั่นไหว จึงเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1628


    นาที 8.20

    สำหรับอุเบกขาพรหมวิหารในชีวิตประจำวัน ที่ค่อยๆ อบรมเจริญไป ทีละเล็กทีละน้อยจะมีกำลังขึ้น แต่ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ คือ ความมั่นคงที่สงบ จนกระทั่งเป็นฌานจิต เพราะสำหรับพรหมวิหาร คือ เมตตาพรหมวิหาร กรุณาพรหมวิหาร มุทิตาพรหมวิหาร จะทำให้บรรลุถึงปฐมฌานฌานที่ ๑ ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ ตติยฌานฌานที่ ๓ จตุตถฌานฌานที่ ๔ โดยปัญจกนัย แต่จะไม่ถึง ปัญจมฌาน

    เฉพาะอุเบกขาพรหมวิหารเท่านั้นที่จะถึงปัญจมฌาน คือ หลังจากที่เจริญ เมตตาพรหมวิหาร หรือกรุณาพรหมวิหาร หรือมุทิตาพรหมวิหารจนถึงจตุตถฌานแล้ว ฌานขั้นต่อไป จึงจะเจริญอุเบกขาพรหมวิหารเป็นปัญจมฌานได้

    แต่ถ้าคนนั้นเจริญกสิณ หรืออารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานอารมณ์อื่นๆ ไม่สามารถที่จะให้อุเบกขาปัญจมฌานพรหมวิหารเกิดได้ ที่จะเป็นอุเบกขาพรหมวิหารถึงขั้นปัญจมฌานได้นั้น ต้องต่อจากเมตตาพรหมวิหาร กรุณาพรหมวิหาร มุทิตาพรหมวิหารซึ่งถึงจตุตถฌานเท่านั้น จึงจะเจริญอุเบกขาพรหมวิหารเป็น ปัญจมฌานได้

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อาจจะเป็นเมตตามาก หรือบางท่านเป็นกรุณามาก บางท่านเป็นมุทิตามาก แต่ควรจะพิจารณาถึงอุเบกขาพรหมวิหารด้วย ซึ่งถ้าเห็น สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน จะทำให้จิตใจละคลายความเศร้าหมองลงไปได้มาก ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์อย่างไร ก็ชั่วขณะที่กรรมนั้นๆ ให้ผลเท่านั้นเอง ถ้าหมด ผลของกรรมนั้นแล้ว คนที่เป็นสุขก็เป็นทุกข์ หรือคนที่เป็นทุกข์ก็เป็นสุข แล้วแต่ว่า จะเป็นผลของกรรมใดต่อไป ซึ่งทุกคนโดยมากก็ไม่ได้พิจารณาเลยสักนิดว่า ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ามีมาได้อย่างไร มาจากไหน อะไรเป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิด รูปวัตถุร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณา จะรู้ได้จริงๆ ว่า กรรมเป็นปัจจัย

    ใครจะไปเอาดิน เอาน้ำ เอาไฟ เอาลมที่ไหนมาทำให้เป็นรูปร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่ได้เลย แต่กรรมซึ่งทุกคนมองไม่เห็น และไม่รู้ว่ากรรมอะไร แต่กรรมนั้นได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้รูปนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แม้ว่ารูปตั้งแต่ ศีรษะตลอดเท้าเมื่อวานนี้ก็ดับหมดไปแล้ว รูปเมื่อกี้ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็ดับหมดไป โดยที่ไม่มีใครรู้ แต่อะไรทำให้ยังคงรู้สึก เมื่อกระทบสัมผัสยังมีอยู่ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ก็เพราะว่ากรรมยังคงเป็นปัจจัยทำให้รูปนี้เกิด และดับ เกิด และดับ ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสเท่านั้นเอง ขณะใดที่ไม่กระทบสัมผัสรูปนั้นมีก็เสมือนไม่มี โดยสมุฏฐานต่างๆ คือ โดยกรรมบ้าง โดยจิตบ้าง โดยอุตุบ้าง โดยอาหารบ้าง

    นี่คือความไม่รู้ในชีวิตชาติหนึ่งๆ คือ ไม่รู้แม้แต่สิ่งซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่มายึดครองว่าเป็นเรา โดยที่ไม่ได้สอบสวนใคร่ครวญเลยว่า ที่ว่าเป็นเรานั้น มาจากไหน อะไรเป็นปัจจัยทำให้รูปแม้แต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แข็ง อ่อน เย็น ร้อน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าเกิดขึ้น หรือแม้แต่การเห็น การได้ยิน ซึ่งจะต้องยังคงมีอยู่ ตลอดชีวิต

    ใครที่มีชีวิต และจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ใคร่ครวญว่า แม้แต่เห็น แม้แต่ได้ยินนี้ มีปัจจัยเกิดได้อย่างไร เพราะต้องอาศัยจักขุปสาท ซึ่งกรรมอีกนั่นแหละเป็นสมุฏฐานก่อตั้งให้จักขุปสาทเกิดขึ้น และดับไป เกิดขึ้น และดับไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่เห็นกรรม และไม่รู้ว่ามีชีวิตมาในโลกนี้ ได้อย่างไร และอยู่ในโลกนี้แต่ละขณะได้อย่างไร แต่ถ้าพิจารณาเรื่องของกรรม จะเห็นได้ว่า ทุกคนล้วนมีกรรมเป็นของของตน ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่มีชีวิตอยู่ จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง ทุกภพทุกชาติ ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ อุเบกขาพรหมวิหารจะเพิ่มขึ้น ไม่หวั่นไหวในสุขในทุกข์หรือในความเดือดร้อนต่างๆ

    ข้อความในอรรถกถาถามว่า

    เพราะเหตุใดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเหล่านี้จึงเรียกว่า พรหมวิหาร ตอบว่า เพราะว่าเป็นธรรมที่ไม่มีโทษ เพราะอรรถว่าประเสริฐ

    ถ้าพิจารณาจริงๆ และเป็นผู้ที่มีพรหมวิหาร ๔ จริงๆ ในชีวิตประจำวัน บุคคลนั้นสบายมาก และประเสริฐจริงๆ

    ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่อันประเสริฐ เพราะเป็นข้อปฏิบัติโดยชอบในสัตว์ทั้งหลาย พวกพรหมมีจิตปราศจากโทษอยู่ฉันใด ผู้ประกอบด้วยพรหมวิหาร ๔ เหล่านี้ก็ฉันนั้น ย่อมเป็นอยู่เสมอกันกับพรหม ดังนั้นจึงตรัสเรียกว่า พรหมวิหาร

    ถ้านับถือกราบไหว้พระพรหม อย่าลืมว่า จริงๆ แล้วนับถือกราบไหว้อะไร ต้องนับถือกราบไหว้คุณธรรมของพระพรหม ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะบันดาล ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่าต้องเป็นผู้ที่รู้เรื่องของกรรมตั้งแต่ขณะเกิดจนกระทั่งขณะจุติ เพราะฉะนั้น ถ้าจะนับถือพรหม ก็คือนับถือคุณธรรมของพระพรหม ซึ่งได้แก่ เมตตาพรหมวิหาร กรุณาพรหมวิหาร มุทิตาพรหมวิหาร อุเบกขาพรหมวิหาร ซึ่งไม่มีประมาณ ไม่ใช่แต่เฉพาะกับบางคน เว้นบางคน หรือคนนี้ได้ คนนั้นไม่ได้ แต่ต้องเป็นไปในอารมณ์อันหาประมาณมิได้ จึงจะชื่อว่าอัปปมัญญา หรือ อัปปมาณารมณ์ ซึ่งเป็นไปโดยกว้างขวาง

    ใครที่มีพรหมวิหารกับบางบุคคลได้ วันหนึ่งๆ ก็ยังรู้สึกขัดเคือง ไม่แช่มชื่น เวลาที่พรหมวิหารเหล่านี้ไม่เกิด ใช่ไหม แต่ถ้ากว้างออกไปๆ จนประมาณไม่ได้ บุคคลนั้นต้องมีความสงบเย็นสบาย ไม่เร่าร้อนเดือดร้อนด้วยอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น

    ข้อเปรียบเทียบของพรหมวิหาร ๔ ที่มีในสัตว์ทั้งหลาย ๔ ประการ คือ

    ๑. เมตตา มีการนำเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูล

    ๒. กรุณา มีการนำออกซึ่งสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล

    ๓. มุทิตา มีการพลอยยินดีต่อสมบัติของผู้อื่น

    ๔. อุเบกขา มีการไม่ผูกใจในสัตว์ทั้งหลาย

    อุปมาเหมือนอย่างว่า ในบุตร ๔ คน คือ ลูกที่ยังเล็กคนหนึ่ง ลูกที่ป่วยไข้ คนหนึ่ง ลูกที่กำลังเป็นหนุ่มสาวคนหนึ่ง และลูกที่เติบโตทำการงานได้แล้วคนหนึ่ง

    สำหรับลูกที่ยังเล็ก มารดาย่อมหวังให้เจริญเติบโต เลี้ยงดูทะนุบำรุง อุปถัมภ์ เกื้อกูลทุกอย่าง นั่นคือลักษณะอาการของเมตตา

    สำหรับลูกที่ป่วยไข้ มารดาย่อมบำบัดความป่วยไข้ให้ลูกที่ป่วยไข้หาย เวลาที่ลูกเจ็บไข้ได้ป่วย หน้าที่ของมารดา คือ รักษาพยาบาลบำบัดให้หายจากโรคภัยนั้น นี่คือสภาพของกรุณา

    สำหรับลูกที่เป็นหนุ่มสาว มารดาย่อมหวังที่จะให้ลูกที่เป็นหนุ่มสาวสมบูรณ์ด้วยความเป็นหนุ่มสาวนานๆ ชื่นชมยินดีในสภาพที่สมบูรณ์เป็นหนุ่มสาว นั่นคือลักษณะของมุทิตา

    สำหรับลูกที่เติบใหญ่ทำการงานได้แล้ว มารดาบิดาไม่ต้องขวนขวายในกิจธุระ เพราะว่าเลี้ยงตัวได้ ไม่ต้องเกื้อกูลอุปถัมภ์อีกต่อไป นั่นคืออาการของ อุเบกขาพรหมวิหาร

    เพราะฉะนั้น อาการของมารดาที่ปฏิบัติต่อลูกทั้ง ๔ ฉันใด ก็เป็นอาการของพรหมวิหาร ๔ ฉันนั้น แต่ต้องรู้ข้าศึกใกล้ ข้อสำคัญที่สุด คือ เมื่อฟังแล้วต้องตรงอีก ที่จะรู้ว่าเป็นเมตตา หรือว่าเป็นโลภะ

    สำหรับการเจริญพรหมวิหาร ๔ จะต้องเจริญเมตตาก่อน เพราะเวลาที่เกิดความรู้สึกเป็นไมตรี เป็นเพื่อน ย่อมมีความรู้สึกที่จะเกื้อกูลผู้ที่ตนเมตตานั้นให้พ้นทุกข์เมื่อบุคคลนั้นมีทุกข์ และพลอยยินดีด้วยเมื่อบุคคลนั้นมีสุข และเมื่อหมดหน้าที่แล้ว ก็พึงปฏิบัติโดยอาการเป็นกลาง คือ ไม่มีกิจที่จะต้องกระทำ ก็วางเฉย เพราะว่า หมดธุระภาระที่จะต้องกระทำแล้ว เพราะฉะนั้น อุเบกขา จึงชื่อว่ามีความเป็นไป โดยอาการวางตัวเป็นกลางเป็นลักษณะ

    ท่านที่เคยได้ยินคำว่า อุเบกขา และเข้าใจว่าเป็นความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนาเท่านั้น ควรจะทราบว่า อุเบกขามี ๑๐ อย่าง ไม่ใช่มีเพียงอย่างเดียว

    อุเบกขา ๑๐ ได้แก่ ฉฬังคุเปกขา พรหมวิหารุเปกขา โพชฌังคุเปกขา วิริยุเปกขา สังขารุเปกขา เวทนุเปกขา วิปัสสนูเปกขา ตัตรมัชฌัตตุเปกขา ฌานุเปกขา และปาริสุทธุเปกขา

    นี่คือความละเอียดของธรรมที่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าไม่ศึกษาอาจจะ ใช้คำที่ไม่สามารถเข้าใจได้ชัดเจนว่าคำว่า อุเบกขา หมายความถึงสภาพธรรมอะไร เพราะลักษณะอาการของอุเบกขานั้นมีถึง ๑๐ ประการ

    สำหรับอุเบกขาที่ ๑ คือ ฉฬังคุเปกขา ฉะ คือ ๖ เพราะฉะนั้น ฉฬังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกซึ่งเกิดกับมหากิริยาชวนจิตของพระอรหันต์ในขณะที่ รู้อารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนาทางทวารทั้ง ๖

    นี่คือความต่างกันของผู้ที่เป็นพระอรหันต์กับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

    พระอรหันต์ดับกิเลสหมดไม่มีเชื้อของกิเลสใดๆ เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจหรือไม่น่าพอใจ กุศลจิตก็ไม่เกิด อกุศลจิตก็ไม่เกิด

    สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น คือ พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล ยังยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ เวลาเห็นอารมณ์ที่น่าพอใจก็ชอบ เวลาเห็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ไม่ชอบ แม้ว่าท่านเป็น พระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ขั้นพระสกทาคามีแล้ว แต่ความละเอียดยิ่งขึ้นของผู้ที่ละคลายกิเลสเช่นพระอนาคามี ไม่ยินดี ไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ไม่มีความยินดีพอใจ ไม่มีโลภมูลจิตในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และไม่มีโทสมูลจิต เพราะว่า พระอนาคามีดับโทสมูลจิตเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดเลย

    แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ แม้โลภะก็ไม่มี สำหรับพระอนาคามีไม่มีโลภะ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะจริง แต่ยังมีความพอใจในภพ ในขันธ์ ซึ่งพระอรหันต์ดับความพอใจทั้งหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่พระอรหันต์ดับกิเลสหมด แต่ท่านยังไม่ปรินิพพาน ยังเห็นเหมือนคนธรรมดาทั้งหลาย ยังได้ยินเหมือน คนธรรมดาทั้งหลาย ไม่ว่าคนธรรมดาเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไร สัมผัสอะไร ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ก็ได้ยินอย่างนั้น เห็นอย่างนั้น ได้กลิ่นอย่างนั้น ลิ้มรสอย่างนั้น รู้โผฏฐัพพะอย่างนั้น แต่จิตที่เป็นชวนวิถีเป็นฉฬังคุเปกขา เพราะเป็นมหากิริยาจิต

    ขอให้คิดถึงสภาพที่ต่างกันมากของผู้ที่ยังหวั่นไหวไปกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยยับยั้งไม่ได้ อย่างเสียงดัง ที่ปรากฏเมื่อกี้ ถ้าเป็นผู้ที่ไวจะรู้ถึงความรู้สึกแล้วใช่ไหมว่า เวทนาขณะนั้น ชอบหรือไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบ เพียงความไม่ชอบนิดเดียวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ยับยั้งไม่ได้ นั่นคือสภาพของกิเลสซึ่งยังไม่ได้ดับ แต่สำหรับพระอรหันต์ ถ้าได้ยินเสียงอย่างนั้น ก็เห็นถึงความที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ซึ่งชวนจิตเป็นฉฬังคุเปกขา เพราะเป็นมหากิริยาจิต

    เพราะฉะนั้น สำหรับพระอรหันต์ ไม่ว่าจะเห็นจะได้ยินคำที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจต่างๆ ไม่ว่าจะอารมณ์อะไรทั้งสิ้น จิตของท่านเป็นมหากิริยา แต่สำหรับปุถุชนยังหวั่นไหว กับเรื่องที่น่าตื่นเต้นก็ตื่นเต้น เรื่องที่น่าโศกเศร้าก็โศกเศร้า เป็นไปตามอารมณ์ที่ปรากฏจริงๆ มีใครไม่เป็นอย่างนั้นบ้าง ต้องเป็นผู้ที่ค่อยๆ อบรม ด้วยกุศลจิต โดยเฉพาะสติปัฏฐาน ซึ่งจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ ข้อ ๓๐๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ๒ จำพวกนี้เมื่อฟ้าผ่าย่อมไม่สะดุ้ง ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ พระภิกษุขีณาสพ ๑ ช้างอาชาไนย ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ๒ จำพวกนี้แล เมื่อฟ้าผ่าย่อมไม่สะดุ้ง

    ข้อ ๓๐๓ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ๒ จำพวกนี้เมื่อฟ้าผ่าย่อมไม่สะดุ้ง ๒ จำพวกเป็นไฉน คือ พระภิกษุขีณาสพ ๑ ม้าอาชาไนย ๑

    ข้อ ๓๐๔ ได้แก่ พระภิกษุขีณาสพ ๑ และพญาราชสีห์ ๑

    เห็นความต่างกันได้จริงๆ ระหว่างผู้ที่อบรมเจริญความไม่หวั่นไหวกับผู้ที่ยังต้องหวั่นไหวอยู่

    ธรรมพิสูจน์ได้ เวลาที่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฝนตก น้ำท่วม สิ่งที่ไม่น่าพอใจต่างๆ จะตกใจมากน้อยสักแค่ไหน

    ฉฬังคุเปกขาใครมีบ้าง ไม่มี

    อุเบกขาเวทนา มี อุเบกขาพรหมวิหาร มี แต่ฉฬังคุเปกขา ไม่มี เพราะต้องเป็นไปเมื่อกระทบกับอารมณ์ทั้ง ๖ ทางทวารทั้ง ๖ โดยเป็นมหากิริยาชวนจิตของ พระอรหันต์เท่านั้น ซึ่งดับเชื้อของกิเลสหมด ไม่มีกิเลสเหลือเลย

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1629


    นาที 27.30

    อุเบกขาที่ ๒ ในอุเบกขา ๑๐ คือ พรหมวิหารุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกซึ่งเกิดกับโสภณจิต เป็นสภาพที่วางตนเป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย

    บางคนสะสมความเป็นกลางตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้น ตัตรมัชฌัตตตาซึ่งเป็นอุเบกขาพรหมวิหาร ไม่จำกัดวัยว่าจะต้องเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะบางคนก็เป็นกลาง และเป็นคนที่ยุติธรรมมากแม้ว่ายังเป็นเด็กอยู่ นั่นคือสภาพของอุเบกขาพรหมวิหาร

    อุเบกขาที่ ๓ ในอุเบกขา ๑๐ คือ โพชฌังคุเปกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิกที่เกิดในการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อข้อปฏิบัติที่ตรง ด้วยตัตรมัชฌัตตตาตั้งแต่ต้น เพราะต้องเป็นการพิจารณาข้อปฏิบัติโดยรอบคอบจริงๆ ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน โดยรอบคอบ จะไม่ทราบเลยว่า ความต้องการผลอย่างรวดเร็ว โลภะจะทำให้ข้อปฏิบัตินั้นเพี้ยนไป หรือว่าเขวไป ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะต้องการให้เกิดสติมากสักเท่าไร พยายามหาทางอื่นอีก สักเท่าไร ก็ต้องคิดว่า ถ้าเป็นคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตามพระไตรปิฎกแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    นี่เป็นหนทางเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น ถ้าตราบใดยังไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน แสดงว่าไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความเป็นจริง ซึ่งปัญญาจะต้องตรงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น และค่อยๆ เพิ่มความรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน จนสามารถที่จะคลายความยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ เป็นปกติอย่างนี้ นามธรรมที่เกิด เกิดเพราะเหตุปัจจัย รูปธรรมที่กำลังปรากฏ เกิดเพราะเหตุปัจจัย สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที นี่เป็นหนทางเดียว ไม่ใช่ไปพยายามทำอย่างอื่นขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่ปกติ

    ขอให้พิจารณาจริงๆ และต้องระลึกอยู่เสมอว่า ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญ สติปัฏฐานเท่านั้น

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1630


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    11 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ