บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
ครั้งที่ ๖
ความหมายของ สังขาร และ ธรรม
สพเพ ธมมา อนตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟัง เราได้สนทนากันมาแล้วในครั้งก่อนนะคะ ว่า คำสอน และข้อประพฤติปฏิบัติต่างๆ ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบัญญัติไว้นั้น ทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตย่อมสามารถจะประพฤติปฏิบัติตามได้ตามสติปัญญา ความสามารถของแต่ละคน สำหรับท่านสาธุชนที่ยังยินดียังติดใจในความสุขความสนุกสนานที่ได้รับอารมณ์ที่ดี เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็อาจเลือกประพฤติปฏิบัติธรรมข้อที่จะสร้างสรรประโยชน์สุขให้แก่ตัวเอง ทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป ส่วนท่านสาธุชนที่มีความคิดว่า ความยินดี ความเพลินในอารมณ์ เช่น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เหล่านี้ไม่เป็นทางให้ได้มาซึ่งความสุขอันแท้จริงเลย เพราะยังทำให้จิตต้องหวั่นไหว ต้องทุกข์ร้อน เศร้าโศกกับการที่จะต้องประสบกับความพลัดพรากจากสิ่งที่รักบ้าง ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่รักบ้างนั้น ก็ย่อมจะเลือกเฟ้นธรรมที่เมื่อปฏิบัติแล้ว ก็จะทำให้ประสบกับสันติสุขอันแท้จริง เพราะว่าลักษณะอันแท้จริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงเทศนาสั่งสอนไว้นั้น ย่อมมีสภาพคือความเปลี่ยนแปลง ทนอยู่ไม่ได้ และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เมื่อถึงคราวถึงสมัย ทั้งสิ่งอันเป็นที่รักที่ชอบใจหวงแหนของเรา และสิ่งซึ่งตรงกันข้ามคือไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจก็จะต้องวิบัติเปลี่ยนแปลงไป
ท่านผู้ฟังคะ ดิฉันรู้สึกว่ายังมีปัญหาข้องใจที่ใคร่จะเรียนถามอาจารย์สุจินต์แทนท่านผู้ฟังด้วยค่ะ อาจารย์คะ ตามที่กล่าวกันว่า ตัวตนไม่เที่ยงนั้น ดิฉันสงสัยว่า ตัวตนในที่นี้หมายถึงสังขารไม่เที่ยงใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ที่คุณวันทนาว่า ตัวตนหมายถึงสังขารไม่เที่ยงนั้น ก็คงจะเป็นเพราะเคยได้ยินได้ฟังเวลาที่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยสิ้นชีวิตแล้วก็พูดกันว่าสังขารไม่เที่ยง ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ นอกจากนี้แล้ว ดิฉันยังเคยสังเกตท่านผู้เฒ่าผู้แก่ที่อายุมากๆ ค่ะ เนื้อหนังท่านเหี่ยวย่น หลังโกง กำลังวังชาก็น้อยลง ดิฉันเลยอดที่จะเอามาคิดเปรียบเทียบกับรูปร่างกายของหนุ่มๆ สาวๆ ไม่ได้ค่ะ แล้วก็เลยเกิดความคิดว่า สังขารไม่เที่ยง
ท่านอาจารย์ คำว่า สังขาร ที่ใช้กันในภาษาไทยซึ่งหมายถึงร่างกายนั้น มีความหมายไม่เท่ากับความหมายของคำว่า สังขารในพระพุทธศาสนา เพราะว่าคำว่าสังขารในพระพุทธศาสนานั้นหมายความถึงสิ่งอื่นๆ ด้วยค่ะ ไม่ได้หมายแต่เฉพาะรางกายเท่านั้น
คุณวันทนา สิ่งอื่นๆ นั้นได้แก่อะไรบ้างคะ
ท่านอาจารย์ ได้แก่สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏทั่วไป เพราะว่าที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะปรากฏให้รู้ได้ในขณะนี้ สิ่งนั้นก็จะต้องเกิดขึ้น ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ
ท่านอาจารย์ สิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏให้รู้นั้น ก็ปรากฏเพียงชั่วขณะ แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นสังขารทั้งหลายจึงไม่เที่ยงค่ะ ดิฉันอยากจะให้คุณวันทนาได้เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรม เสียก่อนนะคะ เพราะจะทำให้เข้าใจความหมายของคำว่าสังขารดีขึ้นค่ะ
คุณวันทนา สุดแต่อาจารย์จะเห็นควรค่ะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาเคยทราบความหมายของคำว่า ธรรมบ้างแล้ว ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา นิดหน่อยค่ะ
ท่านอาจารย์ คำว่า ธรรม เท่าที่เรารู้กันก็มีหลายความหมายนะคะ เช่น ธรรมในความหมายของคุณความดีต่างๆ คุณวันทนาเคยได้ยินแล้วนะคะ ที่ว่า ธรรมย่อมชนะอธรรม ธรรมในความหมายของคุณความดีนั้น มีอะไรบ้างคะ
คุณวันทนา เท่าที่พอจะนึกออกในขณะนี้นะคะ ก็มีความกตัญญู ความเมตตา ความอดทน ความไม่ทะนงตน และการชนะใจตนเองค่ะ
ท่านอาจารย์ ที่คุณวันทนากล่าวมาแล้วทั้งหมดนั้น ก็ล้วนเป็นธรรมในความหมายของคุณความดีที่เราควรจะประพฤติปฏิบัติกัน แต่คำว่าธรรมก็ยังมีความหมายอื่นอีกค่ะ เช่นคำว่า ธรรมหมายถึงคำเทศนา คุณวันทนาก็คงจะได้ยินบ่อยๆ นะคะ ที่ว่าไปฟังธรรม ก็คือไปฟังเทศน์หรือไปฟังเทศนา และที่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมนั้น ก็คือพระองค์ทรงเทศนานั่นเองค่ะ
คุณวันทนา คำว่า ธรรม ยังมีความหมายอื่นอีกไหมคะ
ท่านอาจารย์ คำว่า ธรรม ยังมีความหมายอื่นอีกค่ะ แต่ดิฉันคิดว่าความหมายที่ควรจะทราบนั้นก็คือ ธรรม หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง
คุณวันทนา อาจารย์หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เว้นอะไรเลยหรือคะ
ท่านอาจารย์ ไม่เว้นเลยค่ะ คุณวันทนาทราบความหมายของธรรมที่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงแล้วนะคะ ยกตัวอย่างของธรรมในความหมายนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ อย่างรูปร่างกายของคน และสัตว์ก็มีจริง แล้วก็ปรากฏให้รู้ได้ด้วย ความรู้สึกนึกคิด ความรัก ความชัง ความริษยา ความตระหนี่ อย่างนี้ก็มีจริงเหมือนกันนะคะ แล้วก็ปรากฏให้รู้ได้เสียด้วยว่ามีลักษณะรู้สึกยังไง อาจารย์คะ ถ้าอย่างนั้นความหมายของคำว่าธรรมในประการหลังนี้ก็กว้างมากนะคะ แล้วก็ยังจะมีความหมายรวมไปถึงนิพพานด้วยไหมคะ
ท่านอาจารย์ รวมค่ะ เพราะธรรมหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง พระนิพพานก็เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สิ่งที่สมมติขึ้น เพราะฉะนั้นพระนิพพานก็ต้องเป็นธรรมด้วย คุณวันทนาคงจะจำได้นะคะ ที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
คุณวันทนา เคยได้ยินค่ะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่า เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจความหมายของพระธรรมข้อนี้ชัดเจนขึ้น เราควรจะยกตัวอย่างธรรมบางประการ แล้วก็แสดงลักษณะที่เป็นอนัตตาของธรรมนั้นๆ ด้วย ดีไหมคะ
คุณวันทนา ดีค่ะ
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้คุณวันทนายกตัวอย่างธรรมที่ปรากฏทั่วๆ ไป เช่น รูปร่างกาย วัตถุสิ่งของต่างๆ ความรู้สึกนึกคิด ความสุข ความทุกข์ ความรัก ความชัง ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา เหล่านี้เป็นต้นนะคะ ทุกสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏให้เห็นหรือปรากฏให้รู้นั้น เป็นธรรมที่มีลักษณะแตกต่างกันตามประเภทของธรรมนั้นๆ ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ
ท่านอาจารย์ ความรักก็ไม่เหมือนกับความชัง ความตระหนี่กับความริษยาล่ะคะ เหมือนกันไหมคะ
คุณวันทนา ไม่เหมือนกันค่ะ คนละอย่างค่ะ
ท่านอาจารย์ ที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรมแต่ละประเภทต่างๆ กันนั้น ก็เพราะลักษณะของธรรมที่ปรากฏแต่ละชนิดนั้นต่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ
ท่านอาจารย์ สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ และมีจริงนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นธรรมแต่ละประเภทก็จริงค่ะ แต่ธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมนั้นๆ คุณวันทนาเห็นด้วยไหมคะ
คุณวันทนา ก็เห็นด้วยตามที่ท่านแสดงไว้แหละค่ะอาจารย์ แต่ดิฉันคิดว่าถ้าอาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างมาประกอบก็คงจะเพิ่มความเข้าใจได้ดีขึ้นค่ะ
ท่านอาจารย์ เวลาคุณวันทนาเห็นต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้สีต่างๆ นะคะ คุณวันทนาสามารถจะเปลี่ยนสีของต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ แต่ละชนิดนั้น ได้ไหมคะ
คุณวันทนา สีของต้นไม้นั้นน่ะคงจะเปลี่ยนไม่ได้แน่ๆ ละค่ะ แต่ถ้าหากว่าเราไปหาแว่นกันแดดมาใส่นะคะ ดิฉันคิดว่าสีก็คงจะเปลี่ยนไปแน่ๆ เชียว อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนสีไหมคะ
ท่านอาจารย์ เวลาคุณวันทนาใส่แว่นกันแดด คุณวันทนาก็ไม่ได้เปลี่ยนสีที่เป็นธรรมชาติของต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้นี่คะ สีของต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้นั้นก็ยังคงสภาพเดิม คุณวันทนาเพียงเห็นสีของต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้นั้นเปลี่ยนไป เพราะว่าคุณวันทนาเพิ่มสีอื่นขึ้นหรือว่าบังไว้ด้วยสีอื่นเท่านั้น ใช่ไหมคะ ถ้าเอาสีอื่นที่เพิ่มขึ้นที่บังสีธรรมชาตินั้นออก อย่างเวลาที่ถอดแว่นกันแดดออกแล้วนะคะ คุณวันทนาก็จะเห็นสีต่างๆ ตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ เพราะฉะนั้นคุณวันทนาจะบอกว่า คุณสามารถเปลี่ยนสีของต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ได้ไหมคะ
คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยค่ะ ธรรมแต่ละชนิดต่างกันเพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดธรรมนั้นๆ ต่างกัน คุณวันทนาเห็นด้วยหรือยังคะว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะว่าไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนสภาพลักษณะของธรรมนั้นๆ ได้เลยค่ะ
คุณวันทนา อาจารย์จะมีตัวอย่างอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเข้าใจอีกไหมคะ
ท่านอาจารย์ ผลไม้ชนิดเดียวกัน แต่รสไม่เหมือนกัน เพราะอะไรคะ
คุณวันทนา เพราะว่าปลูกในที่ต่างกัน ดินฟ้าอากาศก็ต่างกัน จึงทำให้รสของผลไม้ต่างกัน อย่างนี้ถูกไหมคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ ถูกค่ะ เสียงต่างๆ ก็เช่นเดียวกันนะคะ เสียงก็เป็นธรรม เพราะเสียงมีจริง เสียงสัตว์ เสียงคน เสียงดนตรี เสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย ก็ต่างกันไปไม่เหมือนกัน ตามเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเสียงนั้นๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยค่ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นเสียงของคนๆ เดียวกัน แต่เวลาอารมณ์ต่างกันเสียงก็ผิดไป ใช่ไหมคะ
คุณวันทนา ค่ะ อย่างคนที่โกรธ เสียงก็ไปอย่างหนึ่ง คนที่กำลังมีความสุข เสียงก็ไปอีกอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ค่ะ แม้แต่เสียงของวัตถุต่างๆ เช่น เครื่องดนตรีแต่ละชนิดแต่ละอันนั้น ที่ราคาต่างกันมากบ้างน้อยบ้างนั้น คุณวันทนาทราบไหมคะว่า เป็นเพราะอะไร
คุณวันทนา เป็นเพราะวัตถุต่างๆ ที่นำมาประกอบเป็นเครื่องดนตรีนั้นผิดแผกแตกต่างกันค่ะ อาจารย์คะ ดิฉันสังเกตดูตัวอย่างที่อาจารย์ยกมาล้วนแต่เป็นสิ่งภายนอกทั้งนั้น เช่น รูปก็ดี เสียงก็ดี ทีนี้สำหรับสิ่งภายในล่ะคะ อย่างความรู้สึกนึกคิดนี่ค่ะ จะเป็นอนัตตาไหมคะ เพราะเวลาเราอยากจะคิดอะไร เราก็คิดได้นี่คะ
ท่านอาจารย์ ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นอนัตตาค่ะ ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนก็จะต้องต่างกันไปตามเรื่องราว ตามสิ่งที่เห็น ตามเสียงที่ได้ยิน ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัสที่แต่ละคนได้รับ จะให้คุณวันทนามาคิดนึกถึงเรื่องราวในชีวิตของดิฉันก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเราได้พบได้เห็นสิ่งที่ต่างกัน ไม่เหมือนกันนะคะ หรือว่าจะให้ดิฉันมีความรู้สึกนึกคิดในเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตของคุณวันทนาก็ไม่ได้เช่นเดียวกันค่ะ เพราะถึงแม้ว่าบางครั้งเราจะได้พบได้เห็นสิ่งเดียวกันก็จริง แต่ว่าการคิดนึกถึงสิ่งนั้นๆ ของเราก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นคุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ถึงแม้ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ต้องเป็นไปตามเรื่องราว และสิ่งที่แต่ละคนได้ประสบ และได้รู้สึกในขณะที่ได้เห็นได้ยินสิ่งต่างๆ เหล่านั้น คุณวันทนาเคยสังเกตหรือเปล่าคะว่า วันหนึ่งๆ คุณวันทนาคิดถึงอะไรมากที่สุด
คุณวันทนา คิดหลายอย่างค่ะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ความพอใจ ความต้องการ ความปรารถนามีอยู่ในสิ่งใดจิตก็ย่อมจะคิดถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ คุณวันทนาคิดว่าเป็นความจริงหรือเปล่าคะ
คุณวันทนา ท่านว่าอย่างนั้นหรือคะอาจารย์ ดิฉันคิดว่าก็คงจริงค่ะ และคิดว่าท่านผู้ฟังก็คงจะยอมรับความจริงอันนี้ด้วยว่า ความพอใจ ความปรารถนา ถ้ามีอยู่ในสิ่งใดเราก็จะคิดถึงสิ่งนั้น แต่อาจารย์คะ ถ้าหากว่าบางวันงานเรายุ่ง เราก็ไม่มีเวลาจะคิดถึงเรื่องราวที่เราปรารถนานี่คะ
ท่านอาจารย์ เวลาอยู่ที่ที่ทำงาน ก็ย่อมมีแต่เรื่องงาน ซึ่งธรรมดาก็ย่อมจะสนใจที่งานเท่านั้นค่ะ แต่ว่าความจริงนะคะ การต้องการทำงานให้เสร็จก็เป็นลักษณะของความต้องการอย่างหนึ่ง แต่เพราะเป็นงานที่จะต้องทำ ก็เลยไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นความต้องการ และอีกอย่างหนึ่งก็เพราะตอนที่กำลังทำงานอยู่นั้น ไม่มีความเพลิดเพลินพอใจเท่ากับเวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาทำงานด้วยค่ะ ตอนที่กำลังทำงานอยู่นั้นจิตไม่มีโอกาสไม่มีปัจจัยที่จะให้คิดถึงสิ่งต่างๆ ที่พอใจได้ แต่พอพ้นเรื่องงานที่กำลังอยู่เฉพาะหน้าหรือพอพ้นจากที่ทำงานไปแล้ว จิตก็คงจะไม่รีรอที่จะคิดถึงเรื่องที่ปรารถนาที่พอใจทันทีเลย ใช่ไหมคะ อย่างบางคนนะคะ ก็อาจจะคิดว่า เย็นนี้จะรับประทานอะไร บางคนก็คิดว่าวันนี้หนังฉายเรื่องอะไร หรือไม่งั้นนะคะ ถ้าความปรารถนาความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีกำลังแรงมาก ถึงจะอยู่ในที่ทำงาน ทั้งๆ ที่กำลังมีงานเฉพาะหน้า จิตก็คงจะวอกแวกเผลอไป คิดเพลินไป ตามเรื่องที่ปรารถนาที่พอใจก็ย่อมเป็นได้นะคะ
คุณวันทนา ตอนที่จิตกำลังเผลอไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ ที่ปรารถนาสลับกับการทำงานอย่างนี้ ใช่ไหมคะ ที่เป็นที่ล้อเลียนกันในหมู่เพื่อนฝูงว่า ใจลอย ฝันกลางวัน
ท่านอาจารย์ ซึ่งก็เป็นเพราะความปรารถนานั่นเองค่ะ คุณวันทนาก็คงจะเห็นด้วยแล้วนะคะ ว่า ความต้องการ ความปรารถนามีอยู่ในที่ใด จิตก็ย่อมจะคิดถึงเรื่องนั้นบ่อยๆ
คุณวันทนา ค่ะ ก็จากตัวอย่างที่เราได้พูดกันมาแล้วนี่นะคะ
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงจะทราบโทษของความปรารถนา ความต้องการ ความเพลิดเพลินยินดี พอใจในสิ่งต่างๆ แล้วนะคะ ว่า ความปรารถนา ความเพลิดเพลิน ความยินดีพอใจมีในสิ่งใด ก็ย่อมนำความทุกข์มาให้เพราะสิ่งนั้น คุณวันทนาจะห้ามตัวเองไม่ให้พอใจ ไม่ให้ปรารถนาอะไรๆ เลยได้ไหมคะ
คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ ความโกรธล่ะคะ ห้ามได้ไหมคะ
คุณวันทนา ไม่ได้ค่ะ แม้ว่าจะเห็นโทษ แต่ก็ยังโกรธอยู่
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ถึงแม้จะรู้ว่าความปรารถนาความพอใจในสิ่งต่างๆ นั้นเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ทั้งๆ ที่รู้ว่าความโกรธ และกิเลสอกุศลต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีใครอยากมีกิเลสอกุศลเหล่านั้น แต่กิเลสเหล่านั้นก็เป็นธรรมแต่ละชนิด และธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เมื่อมีเหตุปัจจัยของธรรมประเภทใด ธรรมประเภทนั้นก็เกิดขึ้น คุณวันทนาลองบอกซิคะว่า สภาพความเป็นอนัตตาที่ปรากฏให้รู้ให้เห็นอยู่ทุกวันนี่ค่ะ มีอะไรบ้างคะ
คุณวันทนา ถ้าสังเกต และหมั่นพิจารณาดู ก็จะเห็นได้นะคะ ว่า เราไม่อยากจะแก่ เราก็ต้องแก่ ความแก่นี้นะคะ แม้ว่าเราจะพยายามหาเครื่องสำอางมาช่วยบำรุง มาช่วยอำพรางความแก่ ความเสื่อมของรูปร่างกาย แต่ในที่สุดก็หนีความแก่ไม่พ้น เราไม่อยากจะเจ็บ แต่ในที่สุดก็ต้องเจ็บเมื่อมีเหตุมีปัจจัย ถ้าหนาวเกินไปร้อนเกินไป รูปร่างกายของเราทนไม่ได้ เราก็ต้องป่วยไป และก็อาจจะตายไปในที่สุด ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะตาย นอกจากนี้แล้วนะคะ ในขณะที่มีชีวิตเป็นๆ อยู่นี่นะคะ ก็ยังจะต้องรับผลความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย เป็นต้นว่า เราไม่อยากจะพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักเลย แต่ก็หนีไม่พ้น ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักอยู่นั่นเอง บางทีสิ่งที่เรารักพลัดพรากจากเราไปเสียก่อน หรือไม่ตัวเรานี่เองพลัดพรากจากสิ่งที่รักไปก่อนด้วยการล้มตายไป บางครั้งนะคะ จิตของเราก็ปรารถนาที่จะได้ประจวบกับสิ่งที่รักที่พอใจ แต่เราก็ไม่ได้รับสิ่งเหล่านี้เสมอไปหรอกค่ะ เพราะบางครั้งสิ่งที่ผ่านเข้ามาในความรู้สึก ก็เป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม คือเป็นสิ่งที่เราไม่รัก ไม่พอใจเลย แต่เราก็ต้องพบต้องรับอารมณ์เหล่านี้ ในบางครั้งเราอยากจะมีความสุข แต่ก็ไม่สุขสมใจค่ะ เพราะต้องได้รับความทุกข์ อันเป็นอารมณ์ตรงกันข้ามกับที่เราปรารถนา อย่างนี้เป็นต้นค่ะ อาจารย์
ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคงจะเห็นจริงแล้วนะคะ ว่า ความสุขความทุกข์ของแต่ละคนในแต่วันนั้น ย่อมเกิดจากการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การได้กลิ่นบ้าง การลิ้มรสบ้าง การสัมผัสสิ่งต่างๆ บ้าง และทุกสิ่งที่เกิดปรากฏกระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นประจำอยู่ทุกวันนั้น ก็เป็นอนัตตาทั้งนั้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เลือกไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของธรรมนั้นๆ และเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดธรรมแต่ละประเภทนั้นก็มีมากมายหลายอย่างค่ะ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงลักษณะของธรรมแต่ละประเภท ไม่ทรงแสดงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดธรรมแต่ละประเภทนั้น ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถรู้ลักษณะ เหตุ และผลของธรรมทั้งหลายได้เลยค่ะ
คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาของเราวันนี้ ก็ได้พูดกันถึงเรื่องธรรมที่เป็นอนัตตาพร้อมด้วยตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจ คำว่าธรรมนั้นหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง และลักษณะที่แท้จริงของธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา สมดังพระพุทธวจนะที่ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด สำหรับวันนี้เวลาแห่งการสนทนาธรรมของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้วพบ กันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 01
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 02
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 03
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 04
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 05
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 06
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 08
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 10
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 11
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 12
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 13
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 14
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 15
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 16
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 17
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 18
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 19
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 20
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 21
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 22
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 23
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 24
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 25
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 26
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 27
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 28
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 29
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 30
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 31
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 32
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 33
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 35
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 36
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 37
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 38
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 40
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 41
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 42
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 43
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 44
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 46
- บทสนทนาธรรม ตอนที่ 47
- ตอนที่ 48 คุยกันในเรื่องชีวิต
- ตอนที่ 49 วันสถาปนากรมตำรวจ
- ตอนที่ 50 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 51 พรหมวิหาร ๔
- ตอนที่ 52 พรหมวิหาร ๔