บทสนทนาธรรม ตอนที่ 07


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๗

    ความหมายของปรมัตถธรรม


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ท่านผู้ฟังคะ เมื่อครั้งที่แล้ว เราได้พูดถึงสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เพราะเป็นที่ทราบชัดกันอยู่ทั่วไปนะคะ ว่า ทุกชีวิตย่อมปรารถนาความสุขจากการได้เห็นรูปที่ดีๆ ได้ฟังเสียงที่ไพเราะถูกใจ ได้ลิ้มรสอาหารที่ถูกปาก ได้กลิ่นหอมที่ถูกอัธยาศัย ได้สัมผัสความเย็นร้อนอ่อนแข็งที่พอเหมาะพอดี ซึ่งแม้ทุกคนจะปรารถนาอย่างนั้น แต่ก็มิใช่ว่าจะได้รับตามความปรารถนาทุกคนไป ความสุขความสำเร็จบางประการในชีวิตของเรา บางครั้งเราก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องบังเอิญ เป็นเรื่องโชคลาภ อย่างการถูกล้อตเตอรี่ การได้รับมรดก การได้ลาภของกินของใช้ แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุให้ไกลออกไปกว่านี้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยเหตุด้วยปัจจัยที่เป็นบุญกุศล หาได้เกิดขึ้นตามกำลังอำนาจแห่งความปรารถนาไม่ คราวนี้จึงมาถึงปัญหาที่ว่า เราจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการที่ได้ทราบว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ประโยชน์นั้นก็คือว่าในการดำรงชีวิตประจำวันของเรานี้ การที่ได้ทราบความจริงข้อนี้ แม้เพียงจากการฟัง และการคิดพิจารณาก็ช่วยให้เราสามารถบรรเทาความทุกข์ใจได้มากทีเดียว แต่ก็มีปัญหาที่ใคร่จะเรียนถามอาจารย์สุจินต์ เพื่อประโยชน์ของท่านผู้ฟังด้วยค่ะ คืออย่างนี้นะคะ อาจารย์คะ ถึงแม้ว่าเราจะได้ทราบจากการฟัง และการศึกษาแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่ทำไมล่ะคะ ในชีวิตประจำวันของเรานี่ ปัญญาของเราจึงได้ถูกปิดบังจากความจริงข้อนี้ และทำอย่างไรเราจึงจะได้รู้ชัดด้วยปัญญาของเราว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ที่ยังไม่รู้ชัดก็เพราะยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างนั่นเองค่ะ สภาพธรรมต่างๆ ที่รวมกันอยู่นั้นอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เช่นร่างกายที่ปราศจากจิตใจนั้นก็ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่รู้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่รู้สิ่งที่กระทบกาย ไม่คิดนึก ไม่รู้เรื่องราวอะไรต่างๆ เพราะร่างกายเป็นรูปธรรม ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่เมื่อรูปใดที่ร่างกายเป็นที่อาศัยของจิต จิตก็อาศัยรูปนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เช่นเวลาเสียงกระทบหู จิตก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงแล้วก็ดับไป แล้วจิตอื่นก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกขณะ ตามเหตุปัจจัย ทั้งรูปร่างกาย และจิตใจคือทั้งรูปธรรม และนามธรรมเกิดดับสืบต่อกันไปทุกๆ ขณะ คุณวันทนาก็คงจะเห็นนะคะ ว่า การเกิดดับสืบต่อกันของรูปที่เป็นร่างกายนั้น ทำให้ปรากฏเป็นการเจริญเติบโตตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงวัยหนุ่มสาว วัยกลางคน และวัยชรา ปรากฏเป็นการเจ็บไข้ วิกลวิการด้วยโรคภัยต่างๆ และสุดท้ายก็สิ้นสุดลงด้วยความตาย ที่แปรสภาพของรางกายจากสภาพที่มีชีวิตไปสู่สภาพที่ไร้ชีวิต เพราะไม่ได้เป็นที่อาศัยของจิตอีกต่อไป ส่วนการเกิดดับของนามธรรมที่เป็นจิตใจความรู้สึกนึกคิดนั้น ก็ปรากฏให้เห็นความไม่เที่ยง ปรากฏลักษณะที่ต่างกันของจิตใจแต่ละประเภท และความรู้สึกแต่ละอย่าง เช่น เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็รัก เดี๋ยวก็เบื่อ เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็เห็น เดี๋ยวก็ได้ยิน ซึ่งธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็ดับไปในขณะต่างๆ กัน ธรรมแต่ละชนิดนั้นมีลักษณะต่างกัน และเกิดจากเหตุปัจจัยต่างกัน โดยไม่มีใครสามารถบันดาลให้ธรรมแต่ละประเภทนั้น เกิดขึ้นตามชอบใจหรือตามความปรารถนาได้เลย ใครจะชอบหรือไม่ชอบ พอใจหรือไม่พอใจก็ตาม เมื่อธรรมแต่ละประเภทมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นขณะใด ธรรมนั้นก็ต้องเกิดขึ้นในขณะนั้น โดยใครจะห้ามหรือจะยับยั้งไม่ให้เกิดก็ไม่ได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา จริงด้วยค่ะอาจารย์ ดิฉันก็เพิ่งจะนึกขึ้นได้ อย่างการตีรันฟันแทงกัน การประทุษร้ายกัน และการทุจริตต่างๆ นานานั้น ก็คงไม่มีใครอยากจะทำอย่างนั้น แต่ก็ไม่มีใครสามารถยับยั้งได้ ถ้ามีเหตุปัจจัยให้เกิดก็ต้องเกิด

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ธรรมแต่ละอย่างมีลักษณะ มีกิจการงานตามประเภทของธรรมนั้นๆ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะ และกิจการงานของธรรมแต่ละอย่างได้เลยค่ะ ด้วยเหตุนี้ธรรมแต่ละอย่างนั้นจึงเป็นปรมัตถธรรมคือเป็นธรรมที่มีลักษณะ และกิจการงานตามประเภทของธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะเปลี่ยนแปลงหรือบังคับบัญชาให้เกิดขึ้นหรือให้เป็นไปตามความปรารถนาได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา เดี๋ยวค่ะ อาจารย์คะ เพื่อประกอบความเข้าใจ อาจารย์กรุณายกตัวอย่าง และกิจการงานของปรมัตถธรรมหน่อยซิคะ

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นคุณวันทนาต้องไม่ลืมว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม และธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ทุกสิ่งที่มีจริงทั้งหมดนั้นเป็นปรมัตถธรรมเพราะมีลักษณะ และมีกิจการงานตามประเภทของธรรมนั้นๆ ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงสภาพลักษณะ และกิจของธรรมต่างๆ ได้เลยค่ะ สี เสียง กลิ่น รส ความสุข ความทุกข์ ความรัก ความโกรธ เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง และมีลักษณะ และกิจตามประเภทของธรรมนั้นๆ เช่น สี เป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ด้วยตา ใครๆ ก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนลักษณะของสีให้เป็นสิ่งที่รู้ได้ด้วยหู หรือด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย ใช่ไหมคะ คุณวันทนาลองหลับตาซิคะเห็นอะไรไหมคะ

    คุณวันทนา หลับแล้วค่ะอาจารย์ ไม่เห็นเลยค่ะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาก็ยังมีหู มีจมูก มีลิ้น มีร่างกาย แต่ทำไมไม่เห็นอะไรล่ะคะ

    คุณวันทนา ก็เพราะหลับตาอยู่ค่ะ แต่อาจารย์คะตาก็ยังมีนี่คะ เวลาหลับตากับลืมตาทำไมเห็นไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ การเห็นรูปที่ปรากฏทางตาเป็นสีต่างๆ นั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างค่ะ เพราะถึงแม้ว่าจะมีตา ลืมตาแล้ว แต่ว่าอยู่ในห้องมืดก็มองไม่เห็นสีต่างๆ หรือถึงแม้ว่าอยู่ในห้องที่สว่างแต่หลับตาเสีย ก็มองไม่เห็นสีต่างๆ ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะขาดปัจจัยที่ททำให้เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีต่างๆ ค่ะ และปัจจัยที่ทำให้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีต่างๆ นั้น ก็คือแสงสว่างค่ะ

    คุณวันทนา แสงสว่างน่ะ เป็นรูปหรือนามคะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาอย่าลืมซินะคะ ว่า สิ่งที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดนั้น เป็นรูปทั้งหมด สิ่งที่ปรากฏเป็นสว่าง และมืดไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นรูปธรรมค่ะ ที่คุณวันทนาสามารถจะแยกลักษณะที่ต่างกันของสว่าง และมืดได้ก็เพราะคุณวันทนามีประสาทตา ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าตาบอดก็ไม่รู้ความต่างกันของสว่าง และมืด ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ เพราะคนตาบอดไม่เห็นอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ เสียงก็เป็นปรมัตถธรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนลักษณะของเสียงให้เป็นรูปที่รู้ได้ด้วยตา ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย จริงไหมคะ

    คุณวันทนา จริงค่ะ แล้วทางฝ่ายนามธรรมล่ะคะ จิตใจ ความรู้สึกนึกคิดก็เป็นสิ่งที่มีจริงแล้วเป็นปรมัตถธรรมอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ จิตใจ และความรู้สึกนึกคิดแต่ละอย่างก็มีลักษณะต่างกันไปแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของจิตใจ และความรู้สึกนึกคิดแต่ละอย่างได้เลย เพราะฉะนั้นจิตใจ และความรู้สึกนึกคิด ความสุข ความทุกข์ ความรัก ความโกรธ ก็เป็นปรมัตถธรรมแต่ละประเภทค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ ความพอใจ ความต้องการ ความปรารถนา ความรัก ความโลภ เหล่านี้เป็นธรรมประเภทเดียวกันหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมประเภทเดียวกันค่ะ ต่างกันที่ความแรงกล้าในอาการที่เกิดขึ้นปรากฏเท่านั้นค่ะ เพราะบางครั้งก็เกิดขึ้นมีอาการปรากฏเพียงเล็กน้อยไม่แรงกล้า บางครั้งก็เกิดขึ้นมีอาการปรากฏแรงกล้าถึงกับทำให้เกิดการกระทำทางกาย และวาจา ตามอาการที่แรงกล้าของความพอใจ และความปรารถนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ไฟร้อนไหมคะ

    คุณวันทนา ร้อนค่ะ

    ท่านอาจารย์ ร้อนมากหรือร้อนน้อยค่ะ

    คุณวันทนา แล้วแต่ขนาดของไฟค่ะ

    ท่านอาจารย์ ความพอใจ ความต้องการ ความปรารถนา ความรัก ความโลภ ก็เช่นเดียวกันค่ะ แม้ว่าจะเกิดขึ้นมีอาการปรากฏเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นความชอบ ความพอใจนั่นเอง ถ้าเกิดขึ้นมีอาการแรงกล้าขึ้นก็เป็นความต้องการอยากเห็น อยากได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากลิ้มรส อยากสัมผัสบ่อยๆ ถ้าเกิดขึ้นมีอาการแรงกล้ายิ่งกว่านั้นอีก ก็เป็นความปรารถนาที่อยากได้ไว้เป็นสมบัติ เพื่อจะได้สนองความต้องการได้ทุกครั้งที่ปรารถนา เวลาที่ความพอใจ ความชอบ ความต้องการเกิดขึ้นขณะใด ก็จะทำกิจยึดติดในสิ่งนั้น ทำให้หมกมุ่นมัวเมาในสิ่งนั้น ไม่สามารถจะหลุดพ้นไปได้เลยค่ะ สภาพอาการที่ปรากฏก็คือไม่มีสละ ไม่มีการละ ไม่มีการปล่อยสิ่งที่พอใจนั้นเลย

    คุณวันทนา ค่ะ อาจารย์พูดมาถึงตอนนี้ทำให้ดิฉันนึกขึ้นได้อย่างคนที่ตกเป็นทาสของความพอใจในทรัพย์สมบัติที่เขาหามาได้นี่นะคะ ก็ย่อมไม่ยินดีที่จะสละบริจาคทรัพย์นั้นเพื่อสาธารณประโยชน์หรือเพื่อช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยาก อาจารย์คะ ความต้องการหรือความปรารถนานี่ มีอะไรเป็นเหตุให้เกิดคะ

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นความน่าดูน่าพอใจ น่าชื่นชมในสิ่งที่เห็น และได้ยิน เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดค่ะ อย่างรูปที่ปรากฏทางตาที่เห็นเป็นสีสันวัณณะนั้น สภาพที่แท้จริงของรูปที่ปรากฏให้เห็นนั้นไม่เที่ยง แปรปรวนเสื่อมสลายอยู่ทุกๆ ขณะ แต่เวลาเห็นก็กลับพอใจในสีสัน ในรูปทรงที่น่าดู จึงเป็นเหตุให้พอใจในรูปที่ไม่เที่ยงนั้นได้ เวลาได้ยินเสียง เสียงก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นปรากฏเพียงชั่วขณะที่ได้ยินแล้วก็ดับไป แต่ว่าในขณะที่ได้ยินนั้นก็กลับเห็นความน่าพอใจ ความไพเราะในเสียงที่ได้ยินนั้น จึงเป็นเหตุให้เกิดความพอใจ ความต้องการที่จะได้ยินเสียงนั้นอีกเรื่อยๆ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เห็นความน่าพอใจในสิ่งใด ความต้องการความปรารถนาในสิ่งนั้นก็ต้องเกิดขึ้น ความทุกข์ก็ติดตามมา เริ่มตั้งแต่เกิดความกระวนกระวาย การดิ้นรน แสวงหาเพื่อให้ได้สิ่งที่พอใจนั้นมา พอได้มาแล้วก็ยังจะต้องระแวดระวังรักษาทะนุบำรุงให้คงสภาพที่น่าพอใจนั้นไว้ และเวลาที่สูญเสียสิ่งนั้นไปหรือสิ่งนั้นเสื่อมสลายแปรสภาพไปก็ต้องเป็นทุกข์ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ

    ท่านอาจารย์ ความกระวนกระวายเพราะความปรารถนาความพอใจนั้น ก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่งนะคะ แต่ว่าเป็นอันตรายที่ปกปิดไม่เหมือนกับอันตรายที่เปิดเผย ที่ปรากฏให้เห็นอย่างอันตรายที่เกิดจากโรคร้าย จากสัตว์ร้าย จากศัสตราอาวุธ จากน้ำท่วม จากไฟไหม้ แต่คุณวันทนาลองคิดดูซิคะว่า อย่างไหนจะเป็นอันตราย และน่ากลัวกว่ากันคะ

    คุณวันทนา เทียบกันไม่ได้หรอกค่ะ มันเป็นอันตายคนละอย่างกันนี่คะ

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นคนละอย่าง ก็เพราะว่าไฟไหม้นั้นมองเห็นใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ใช่ค่ะ

    ท่านอาจารย์ แต่ความเร่าร้อนที่เป็นไฟที่เกิดจากความปรารถนานั้น มองไม่เห็นใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา ค่ะ แล้วบางทีผู้ที่ถูกไฟอย่างนี้เผาก็ชอบเสียด้วยซิ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคิดว่า ไฟไหม้ที่มองเห็นได้นี่นะคะ จะดับง่ายยิ่งกว่าไฟที่เกิดจากความปรารถนาที่มองไม่เห็นไหมคะ

    คุณวันทนา ก็คิดว่าอย่างนั้นละค่ะ เพราะว่าไฟภายนอกนั้นน่ะ เมื่อได้เผาผลาญบ้านเรือนจนพินาศไปหมดแล้ว มันก็หยุด เพราะไม่มีเชื้อเพลิง ไม่มีปัจจัยให้ไฟนั้นเกิดขึ้นอีก ส่วนไฟภายในคือความรัก ความปรารถนา ที่เกิดขึ้นในใจของเรานี่ซิคะ แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง และดับไปแล้วครั้งหนึ่งก็ตาม เราก็หาเรื่องก่อไฟนั้นขึ้นมาเผาตัวเราได้เรื่อยครั้งแล้วก็ครั้งเล่า ด้วยการที่หมั่นคิดถึงอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของความปรารถนานั้นบ่อยๆ จึงกล่าวได้ว่าไฟภายในดับได้ยากกว่าไฟภายนอกค่ะ

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาทราบไหมคะว่า ถึงแม้ว่าความพอใจ ความต้องการ ความปรารถนานั้นจะมีโทษมากเหลือเกิน และก็เป็นเหตุที่ทำให้ต้องกระวนกระวายดิ้นรนเร่าร้อน ผลักไสให้ต้องไปแสวงหาสิ่งที่พอใจมา แต่ว่าเพราะอะไรคะ เราจึงไม่เห็นโทษของความพอใจ และความปรารถนาในสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเลย

    คุณวันทนา ยังมองไม่เห็นสาเหตุเลยค่ะอาจารย์ แต่เท่าที่พอจะนึกออกนะคะ ก็คือว่าความพอใจนั้นน่ะ มันมีอำนาจรุนแรงมากเหลือเกิน

    ท่านอาจารย์ ข้อนี้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกศลสังยุตต์ ปฐมวรรคที่ ๑ พันธนสูตรที่ ๑๐ ข้อ ๓๕๒ - ๓๕๓ ค่ะ สูตรนี้มีข้อความว่า สมัยหนึ่งที่พวกคนร้ายที่พระเจ้าปเสนทิโกศลให้จองจำไว้ด้วยเชือกบ้าง ด้วยขื่อคาบ้าง ด้วยโซ่ตรวนบ้าง ตอนเช้าพระภิกษุหลายรูปเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี เวลากลับจากบิณฑบาตหลังภัตตาหารแล้วก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อถวายบังคมแล้วก็ได้กราบทูลให้พระองค์ทรงทราบเรื่องคนร้ายที่ถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลจองจำไว้ พระองค์ก็ประทานพระโอวาทมีข้อความว่า นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ หรือเชือกที่ทำด้วยหญ้าว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง เพราะว่ามีโอกาสที่จะหลุดพ้นได้ แต่ว่านักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ความรักใคร่พอใจในแก้วมณี ในเครื่องประดับ และความห่วงหาอาลัยในบุตรภรรยาทั้งหลาย เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคง เป็นเครื่องจองจำที่หย่อนๆ แต่ก็ปลดเปลื้องได้ยากค่ะ คุณวันทนาก็คงจะเห็นแล้วนะคะ ว่า ลักษณะของความพอใจ ความต้องการ ความปรารถนานั้นเป็นเครื่องจองจำที่ไม่เหมือนกับโซ่ตรวนหรือขื่อคา เพราะเป็นเครื่องจองจำที่ผูกพันไว้แต่เพียงหลวมๆ แต่ก็ผูกพันไว้เสียมั่นคงแล้วก็ปลดปล่อยได้ยากเสียเหลือเกิน และคนที่ถูกจองจำไว้ด้วยความต้องการความปรารถนานี่นะคะ ไม่รู้ตัวเลยค่ะ เมื่อไม่รู้ตัวก็ย่อมไม่เห็นภัยไม่เห็นโทษของเครื่องจองจำนั้น และลักษณะของความพอใจ ความต้องการ ความปรารถนานั้น ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กหรือผู้ใหญ่ คนหรือสัตว์ ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับหรือบันดาลให้เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นเป็นอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้นลักษณะของความพอใจ ความต้องการ ความปรารถนานั้นก็เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ ถ้าอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงก็เป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรม ทั้งหมดซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ถูกแล้วค่ะ และปรมัตถธรรมแต่ละอย่างนั้นก็มีลักษณะต่างกันตามชนิด และตามประเภทของปรมัตถธรรมนั้นๆ ด้วยค่ะ แต่ว่าเวลาที่เกิดรวมกัน อย่างนามธรรมกับรูปธรรมที่เกิดรวมๆ กันทั่วๆ ไป ที่ทำให้เรามองเห็นเป็นรูปร่างลักษณะต่างๆ กัน ทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นคนบ้างเป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ บ้าง แต่แท้ที่จริงนะคะ ที่เห็นเป็นคน สัตว์ วัตถุสิ่งของต่างๆ นั้น ก็เป็นปรมัตถธรรมแต่ละอย่างแต่ละประเภทที่เกิดรวมกัน และอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นนั่นเองค่ะ

    คุณวันทนา คนเรานี่นะคะ จะบังคับไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บ ไม่ให้ตาย ไม่ให้ทุกข์ ไม่ได้เลยนะคะ เพราะปรมัตถธรรมแต่ละอย่างก็ต้องมีสภาพตามปรมัตถธรรมนั้นๆ เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงปรมัตถธรรมไว้ทั้งหมดหรือเปล่าคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทรงแสดงไว้ทั้งหมดเลยค่ะ

    คุณวันทนา แหม คงจะมีมากนะคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ทรงแสดงว่า ปรมัตถธรรมทั้งหมดนั้นต่างกันเป็น ๔ ประเภทค่ะ

    คุณวันทนา มีอะไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมทั้งหมดต่างกันเป็น ๔ ประเภท คือเป็นจิตปรมัตถ์ ๑ เป็นเจตสิกปรมัตถ์ ๑ เป็นรูปปรมัตถ์ ๑ เป็นนิพพานปรมัตถ์ ๑ รวมเป็นปรมัตถธรรม ๔ ประเภทค่ะ

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ การสนทนาของเราวันนี้ ก็ได้ดำเนินมาถึงเรื่องปรมัตถธรรมซึ่งหมายถึงธรรมชาติที่มีจริง มีลักษณะตามประเภทของธรรมชาติแต่ละอย่างนั้น ที่ไม่มีใครจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ไฟก็มีลักษณะร้อน ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ ประเภท ในวันนี้เราก็ได้พูดกันถึงเรื่องจิตซึ่งเป็นปรมัตถธรรมประเภทหนึ่ง สำหรับเรื่องจิตนี่นะคะ ท่านผู้ฟังก็คงจะทราบเพราะทุกๆ ท่านก็มีจิต แต่อาจจะไม่ทราบว่า จิตมีกี่ประเภท ต่างกันมากน้อยแค่ไหน และจิตแต่ละประเภทนั้นมีอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ก็เพราะการไม่ทราบเหตุปัจจัยนี่เองค่ะ จึงทำให้เกิดจิตแต่ละประเภทที่ไม่ต้องการ เช่นจิตประเภทอกุศลต่างๆ ฉะนั้นถ้าท่านผู้ใดสนใจจะได้รู้จักตัวของท่านเอง รู้จักจิตใจของท่านเอง ท่านก็มีโอกาสจะรู้ได้ด้วยการศึกษาพระธรรมของพระผู้มีพระภาค ซึ่งได้ทรงแสดงเรื่องปรมัตถธรรมไว้อย่างละเอียด

    ท่านผู้ฟังคะ สำหรับวันนี้ เวลาแห่งการสนทนาของเราได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ