สนทนาธรรม ตอนที่ 012


    ตอนที่ ๑๒

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของความไม่รู้ ผมจึงเลยคิดว่า สิ่งที่จะเพิ่มความรู้ก็คือว่า จะเป็นการฟังการอ่าน การสนทนาก็สุดแล้วแต่ แต่ต้องเป็นความเข้าใจทีนี้ไม่สงสัยเรื่องปัญญาแล้ว เพราะเมื่อก่อนนี่ อยากเข้าใจเรื่องปัญญา ปัญญา ทีนี้พอท่านอาจารย์มาเน้นให้ฟังบ่อยๆ ถ้าเข้าใจก็คือตัวปัญญา ปัญญา ในที่นี้ ไม่ใช่ปุ๊บปั๊บจะประจักษ์เลย ไม่ใช่ ต้องเป็นความเข้าใจจากสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และจากการสังเกต ถ้าสังเกตแล้วยังไม่เข้าใจ ก็คือยังไม่มีความรู้นั่นเอง ความรู้คือตัวปัญญา

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าเรื่องธาตุที่ทำให้คุณศุกล มีความเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตน เดี๋ยวนี้พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมว่า เข้าใจคำ และความหมายเท่านั้น ไม่ได้เข้าใจลักษณะของธาตุ

    ผู้ฟัง ก็เป็นความจริงอย่างนั้น แต่ว่าผมก็เลยมาคิดว่า ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ มันเหมือนเป็นการได้แนวทางอีกแนวทางหนึ่ง เพื่อจะให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่ว่าไม่มี แต่ว่าเข้าใจว่าเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แท้ที่จริงถ้าพิจารณาโดยความเป็นธาตุแล้ว มันเห็นได้ง่ายกว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ อยู่ที่ความเข้าใจ ไม่ว่าจะใช้ศัพท์อะไร จะใช้คำว่า "ปรมัตถธรรม" มันก็เหมือนกันกับ ธาตุ เป็นธรรมใช้คำว่า ธรรม ศัพท์ก็มาจากธาตุก็มาจากคำเดียวกัน คือสิ่งที่มีเป็นสิ่งที่มีจริงๆ พูดแค่นี้แล้วเราก็สามารถที่จะเข้าใจได้จริงๆ ว่า จะใช้คำว่าธาตุ หรือจะใช้คำว่า ธรรม ความหมายก็คือ สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงนี้ต่างหาก ที่ยังเข้าใจไม่พอ เพียงแต่ได้ยินชื่อ ธรรม ได้ยินธาตุ เข้าใจ แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ได้เข้าใจตัวธรรมหรือตัวธาตุ เข้าใจแต่ความหมายของคำว่าธรรม หรือความหมายของธรรมว่าธาตุ เพราะว่าถ้าเข้าใจตัวธรรม กำลังเห็นนี่คือธาตุ กำลังเห็นนี้ก็คือธรรม

    เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่าธรรมหรือจะใช้คำว่าธาตุก็เหมือนกัน ไม่ได้ช่วยทำให้กิเลสของเราน้อยลงไป แต่ว่าทำให้เราเข้าใจ เริ่มเข้าใจว่า เมื่อใช้คำว่าธรรมแล้ว จะเป็นใครไม่ได้ จะเป็นไก่ จะเป็นแมว จะเป็นคนชื่อนั้นชื่อนี้ไม่ได้ ธรรมต้องเป็นธรรม คือคำที่ทรงแสดงมาจากการตรัสรู้ แล้วจะไม่มีการเปลี่ยน ถ้าพูดว่าธรรมสิ่งนั้นต้องเป็นธรรม แต่คนไม่ได้เข้าใจธรรมว่าเป็นธรรม แต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม แล้วก็ทรงแสดงธรรม พูดเรื่องธรรมทั้งหมดเลย เห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม ไม่ต้องใส่ชื่ออะไรเลย แล้วก็จะใช้คำว่าธาตุ จะใช้คำว่าอายตนะ หรือจะใช้คำว่าธรรม หรือจะใช้คำว่า "ปฏิจสมุปปาทะ" อะไรก็ตาม หมายความถึงสิ่งที่มี แต่ว่าพอฟังเล็กน้อยไม่เข้าใจ ก็ต้องแสดงโดยนัยอื่นอีก แสดงโดยนัยอื่นอีก แสดงโดยนัยอื่นอีก ให้ความเข้าใจของเรา ละเอียดแล้วก็ลึกลงไปถึงสภาพที่เป็นธรรมจริงๆ ทุกคำที่เราพูดมาทั้งหมด เป็นของจริง แล้วก็ประจักษ์ได้ อย่างคำว่า จิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวทีละขณะ รับฟังอยู่ใช่ไหม จิตเกิดขึ้นคนละ๑ ขณะ ทีละขณะ และขณะเดียวจริงๆ แต่ความเข้าใจของเรายังไม่พอใช่ไหม จึงไม่สามารถประจักษ์ว่าจิตเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวทีละ ๑ ขณะ แต่ลองคิดถึงสภาพที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ เช่นกำลังเห็น เห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่เสียงคนละขณะแล้ว แล้วเวลาที่มีเสียงปรากฎเสียงก็ไม่ใช่สีที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นก็เป็นคนละขณะ แล้วสภาพธรรมใดที่รู้เสียง ต้องมีเสียงเป็นสภาพที่กระทบกับโสตปสาท แล้วต้องมีจิตได้ยิน ถ้าไม่มีจิตได้ยิน เสียงไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นโลกที่เรารวมกัน หนาแน่น ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถึงเป็นโลกที่เหมือนกับยั่งยืน เพราะไม่ปรากฏว่าขณะไหนดับไปเลยสักขณะเดียว ทางตาก็ยังสืบต่อเห็นอยู่เรื่อยๆ และยังมีได้ยิน แล้วยังมีคิดนึก มีทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้นการที่เราฟังพระธรรม เราจะต้องเข้าใจถึงความหมายแท้ๆ เพื่อที่เราจะได้รู้จริงๆ เรากำลังพูดถึงเรื่องปรมัตถธรรม พูดถึงเรื่องธาตุ สังขารธรรม สังขตธรรม ซึ่งต่อไปเราก็จะพูดถึงเรื่องจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือ ธาตุรู้ หรืออาการรู้ ที่ว่าตายแล้วเกิด ถ้าไม่ใช่จิตเกิด ก็ไม่มีคนเกิด ไม่มีสัตว์เกิดเลย เป็นต้นไม้เกิด เป็นก้อนหินเกิด เป็นอะไรๆ เกิด แต่ว่าเมื่อมีสภาพรู้เกิด จึงกล่าวว่า มีสัตว์มีบุคคลต่างๆ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ สิ่งที่ปรากฏทีละอย่าง ต้องเรียกว่ารู้ทีละอย่าง แล้วถ้าขณะนี้ ขณะที่เสียงปรากฏจริงๆ มีใครนั่งอยู่ที่ไหนบ้าง เวลาที่เสียงปรากฏ มีใครนั่งอยู่ที่ไหนบ้าง ไม่มี

    ผู้ฟัง ก็มีรูปนามมาประชุมรวมกันเพื่อรับกระทบเสียง เพราะฉะนั้นก็สมมติโดยการที่บอกว่าคนนั้นนั่ง คุณหมอสัญชัยนั่งใกล้ๆ ด้านหลังท่านอาจารย์ ใช่ไหม นี่ก็ยังเป็นการรู้โดยสมมติว่า

    ท่านอาจารย์ รูปเนี่ยไม่ใช่ของคุณศุกล ทั้งตัวนั้นจะกล่าวว่าเหมือนของขอยืมก็ได้ แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เหมือนโต๊ะมีเหตุปัจจัยที่ยังเกิดดับสืบต่ออยู่จนกระทั่งเรากระทบเมื่อไหร่ ก็มีปัจจัยที่จะให้เกิดให้เรากระทบได้ แต่ในความรู้สึกของเราเหมือนโต๊ะนี่ยั่งยืนตลอดมา มีโต๊ะอยู่ตลอด แต่ความจริงเมื่อจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏทีละอย่าง เพราะฉะนั้นสิ่งนี้ถ้ายังไม่ปรากฏ หรือยังไม่กระทบ ไม่มีเลยตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าขณะที่เสียงปรากฏ ไม่มีใครนั่งนอน ยืน เดินอยู่ที่ไหนเลย รูปก็เกิดดับเพราะมีเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นรูปที่โต๊ะหรือรูปที่นี่ กรรมก็ทำให้รูปนี้เกิดดับ เหมือนอย่างผู้ที่เข้า"นิโรธสมาบัติ" ดับจิตเจตสิกก็มีกรรมทำให้รูปนี้เกิดอยู่เรื่อยๆ มีอุตุที่ทำให้รูปนี้เกิดอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็เหมือนรูปนี้ รูปนี้กับรูปนี้เหมือนกัน ตราบใดที่จิตไม่ไปรู้ส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย รูปทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏเลย นี่คือการรู้ทีละ ๑ ขณะ หรือว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะจริงๆ ที่จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ที่บอกว่ารูปที่ไม่ใช่รูปร่างกาย จะเป็นรูปที่โต๊ะ มองแล้วมีการเกิดดับจริงๆ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ คือว่าถ้าไม่เกิดขึ้นคุณศุกลจะกระทบได้ไหม รูปนี้ถ้าไม่เกิด คุณศุกลจะกระทบได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่กระทบก็ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้ารูปนี้ไม่เกิดขึ้นคุณศุกลจะกระทบรูปนั้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ เพราะไม่มีรูปให้กระทบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะใดที่กระทบหมายความว่า รูปนี่ต้องเกิด กำลังดับ

    ผู้ฟัง การเกิดการดับหมายถึงว่า ในขณะที่กระทบ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่ใช่ยั่งยืนเลย ทุกอย่างหมด เกิดดับสืบต่อกันอยู่ทุกขณะเหมือนกับผงที่มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ โลกทั้งก้อนจะเป็นโลกมนุษย์ ดาวพระศุกร์หรือว่าพระอาทิตย์อะไรก็ตาม จะต้องมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ เพราะฉะนั้นจะมี ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม กลาปที่เล็กที่สุด เอากล้องจุลทรรศน์ไปส่องอะไรก็ยังต้องเห็นมันอยู่ว่ามันเล็กขนาดไหน เพราะว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราคิดว่าหนาแน่นอย่างภูเขา โลกหรือต้นไม้ หรือว่าเก้าอี้ หรืออะไรก็ตามแต่ หรือแม้แต่ร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ก็มีอากาศธาตุแทรกคั่น แล้วก็มีกรรมทำให้รูปกลุ่มหนึ่งเกิด มีจิตทำให้รูปกลุ่มอื่นเกิด มีอุตุทำให้รูปอื่นเกิด มีอาหารทำให้รูปอื่นเกิด นี่คือรูปนี้ แต่ถ้ารูปนี้จะมีแต่อุตุที่ทำให้เกิด

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราไม่เอาความจำของเราทั้งหมดมาจำไว้ แต่ว่าจิตเรารู้แล้วนี่ ว่าเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวแล้วก็ดับ และจิตจะรู้อารมณ์ทีละ ๑ ขณะ หรือทีละ ๑ อย่าง เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังรู้แข็ง มีใครนั่งนอนยืนเดินอยู่ตรงนั้นที่กำลังรู้แข็งหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าพิจารณาอย่างตรงถูกต้อง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้นกว่าเราจะลืมเรื่องราวทั้งหมด แล้วก็มารู้ลักษณะของจิตซึ่งเกิด และก็รู้สิ่งที่ปรากฏทีละทาง แล้วก็ดับ และทีละอย่างจนไม่ต่อกัน เมื่อนั้นเราถึงจะรู้ว่าสภาพธรรมมี และกำลังเกิดขึ้น แล้วก็ดับด้วย ไม่อย่างนั้นการที่จะไถ่ถอนความเป็นตัวตน ไม่มีทางเลย เพราะว่าสิ่งใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นปรากฏ แล้วไม่รู้ความจริง ก็ทำให้ยึดถือด้วยความทรงจำไว้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอด แม้แต่เวลานี้ รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าไม่ได้ปรากฏเลยในขณะที่เสียงปรากฏ ไม่มี มีจิตขณะเดียวเกิดขึ้น และกำลังมีเสียงเป็นอารมณ์ ไม่มีการรู้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเลย เพราะฉะนั้นจะมีเราตรงไหน ในขณะที่สามารถจะรู้ได้ว่าจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละอย่างนี่คือลักษณะของธาตุ ไม่ใช่ไปอยู่ในหนังสือ และฟังดูก็เหมือนกับไม่ใช่เรา แต่ความจริงจักขุเป็นธาตุชนิด ๑ จักขุวิญญาณก็เป็นธาตุชนิด ๑ ในธาตุ ๑๘ แม้แต่ตัวจักขุปสาทรูปซึ่งเราไม่เคยสนใจเลย เพราะว่าเราเกิดมามีตา แล้วก็เห็นไปเรื่อยๆ เหมือนกับมันเป็นของเรา โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจักขุปสาทเกิดแล้วดับเพราะกรรมเป็นสมุฐาน อย่างอื่นไม่เป็นสมุฐานให้จักขุปสาทรูปเกิดนอกจากกรรม และก็มีอายุที่สั้นมาก คือเพียงชั่วขณะจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ซึ่งระหว่าง ๑๗ ขณะทางตาที่เห็น กับทางหูที่ได้ยินเหมือนพร้อมกันขณะนี้เกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นรูปจะดับเร็วแค่ไหน แต่แม้กระนั้นในขณะที่รูปยังไม่ดับกระทบกับรูปารมณ์เป็นปัจจัยให้จิตเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเห็นเกิดขึ้น ไม่มีใครนั่ง ใครนอน ใครยืน ใครเดิน ในขณะที่กำลังเห็น เพราะขณะนั้นเป็นจิตที่เกิดเห็นแล้วดับ นี่คือความหมายของธาตุ นี่ความหมายถึงปรมัตถธรรม นี่คือความหมายของธรรม นี่คือความหมายของอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ทั้งหมดจะรวมกันอยู่ที่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่เพราะเหตุว่าเมื่อไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็ทรงแสดงโดยนัยนั้น โดยนัยอื่นๆ เพื่อที่จะให้เข้าใจจริงๆ แม้แต่สังขารก็ให้รู้ว่าต้องปรุงแต่งจึงเกิดได้แม้แต่ชั่วขณะที่เกิดแล้วดับเร็วที่สุด มีปัจจัยหลายปัจจัยมากมาย แล้วใครก็ทำไม่ได้ นอกจากปัจจัยนั่นเอง เป็นสภาพที่ปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงคำว่าสังขารขันธ์ เน้นเฉพาะเจตสิกเท่านั้น แต่ถ้าจะพูดถึงจิตจะใช้คำว่าสังขารก็ไม่เคยได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ก็สังขารธรรม

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นเรื่องของสังขารขันธ์ต้องเป็นเรื่องของเจตสิก ล้วนๆ เลย

    ท่านอาจารย์ คือเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ก็มี ที่ไม่เป็นสังขารขันธ์ก็มี แต่เจตสิก และธรรมทั้งหลายที่เกิดทุกอย่างเป็นสังขารธรรมเพราะต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง หรือต้องเป็นปัจจัยปรุงแต่งซึ่งกัน และกัน

    ผู้ฟัง สติก็เป็นสังขารขันธ์เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เว้นสัญญาเจตสิกกับเวทนาเจตสิก ๒ ประเภทเท่านั้น เพราะฉะนั้นเรื่องธรรมก็คือเดี๋ยวนี้เอง แต่ให้เข้าใจจริงๆ ไม่ว่าจะพูดเรื่องธาตุ หรือพูดเรื่องอายตนะ หรือพูดเรื่องธรรม ปรมัตถธรรม ก็คือเข้าใจสิ่งที่มีในขณะนี้จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง ว่าสิ่งที่เราได้ฟัง เป็นอย่างที่เราได้ฟัง จริงๆ

    ผู้ฟังยอ่านพบว่าอย่างคำว่าธาตุก็แปลว่า เป็นธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสภาวธรรมของตนของตนไม่ผันแปร ไม่ทราบว่าจะถูกไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพที่ทรงไว้ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่ลักษณะของเขา ไม่เปลี่ยน ไม่สามารถจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้

    ผู้ฟัง เพราะเราเข้าใจว่า บัญญัติเป็นธาตุแน่ ไม่ยึดถือ

    อ.สมพร บัญญัติหมายถึงสิ่งที่เป็นชื่อ เพราะถ้าแปลจริงๆ หมายความว่าสิ่งที่ให้รู้ได้ ให้รู้จักว่าว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ มุ่งถึงชื่อเป็นใหญ่ ไม่มีสภาวะ ไม่มีสภาวธรรม แต่อาศัยสภาวธรรมมาบัญญัติได้ เช่น คำว่าคนก็เป็นบัญญัติเป็นสมมติ เป็นบัญญัติว่าอาศัยขันธ์ที่เรามีอยู่จริงๆ แล้วก็บัญญัติว่าเป็นคนเป็นสัตว์ อาศัยได้ แต่ว่าสภาวะของบัญญัติจริงๆ ไม่มีปรมัตถ์เลย แต่ว่าขันธ์ ๕ เป็นปรมัตถ์อาศัยปรมัตถ์ อะไรเราบัญญัติว่าเป็นคน คือสิ่งที่รวมๆ กัน อย่างที่เขาบอกว่าผม ขนเล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก รวมกันทั้งหมดนี้ เรียกว่าคน เรียกว่าคน คือร่วมกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็เป็นเสมือนหนึ่งว่าเป็นอัตตาจริงๆ จะยืนก็ยืนได้ จะเดินก็เดินได้ นั่งได้ แต่เขาไม่รู้ถึงปรมัตถ์ ไม่รู้ว่าที่ยืนได้เพราะมีปัจจัย นั่งก็เพราะปัจจัย เดินก็เพราะปัจจัย ถ้าขาดปัจจัยแล้วยืน เดิน นั่ง นอน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่รู้ถึงปรมัตถ์อย่างนี้

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าไปบวชจะต้องท่องขนผมเล็บฟันหนังอะไรพวกนี้

    อ.สมพร เมื่อคนที่บวชพระใหม่ๆ เข้าไป พระจะต้องให้กรรมฐานชนิดหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องป้องกัน เพราะว่าคนที่บวชใหม่เป็นคนหนุ่ม อารมณ์มักจะตกไปในกามอารมณ์คือในรูป เสียง กลิ่น รส ที่พอใจ ดังนั้นพระอุปัชฌาย์จึงให้กรรมฐานชนิดหนึ่งซึ่งเป็นเพียงสมถะก่อน ให้พิจารณาว่าผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกนั้นเป็นของปฏิกูล ไม่น่าดูน่าเกลียด เช่นผมเป็นปฏิกูลอย่างไร ผมขนเล็บฟันหนังเนื้อเอ็นกระดูกปฏิกูลอย่างไร โดยมาก ๕ อย่าง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ

    ผู้ฟัง แล้วไม่ทราบว่าเคยบอกหรือเปล่าว่าสิ่งเหล่านี้คือธาตุ

    อ.นิภัทร สภาวะจริงๆ คือผม ก็เป็นธาตุก็เป็นรูปเรียกว่าอวินิพโภครูป ๘ ธาตุดินธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา คือผม ประกอบด้วยรูป ๘ อย่าง ก็เป็นสภาวะแต่ละอย่าง ก็คือเป็นธาตุแต่ละอย่างรวมกัน ถ้าจะบอกว่าธาตุตั้งแต่ครั้งแรกอาจจะไม่เข้าใจนอกจากว่าคนๆ นั้นสะสมบารมีมามาก ก็ต้องพูดสิ่งที่เข้าใจไปก่อน อาศัยบัญญัติก่อน แล้วจึงจะเข้าถึงปรมัตถ์ได้ เพราะว่าปรมัตถ์เป็นของยากไม่มีชื่อโดยเฉพาะ แต่ว่าเรียกชื่อนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงปรมัตถ์เหมือนสภาวะที่กระทบแล้วทำให้มีความรู้สึกว่าแข็ง แท้จริงไม่ต้องเรียกชื่อ ปรมัตถ์ปรากฏ ถ้าเราเรียกชื่อซึ่งเป็นการเรียนการศึกษาเนี่ย เขาเรียกว่าอาศัยบัญญัติเพื่อต้องการให้รู้ว่าปรมัตถ์เป็นอย่างไร ถ้าไม่อาศัยบัญญัติ เราก็ศึกษาไม่ได้ เข้าใจยาก เพราะว่าปรมัตถ์เป็นของละเอียดลึกซึ้ง

    ผู้ฟัง ให้กรรมฐานเรื่องของสมถะ ผมขนเล็บฟันหนัง ผมฟังแล้วผมก็ยังไม่เห็นว่ามันจะเป็นสิ่งที่จะทำให้ลดความยินดี หรือพอใจเลย พอพูดถึงผมด้วยความรวดเร็วแล้วก็นึกถึงผมบนศีรษะ หรือผมในเรื่องของการโฆษณาสินค้าพวกต่างๆ โดยเฉพาะหนังก็เห็นเป็นสีขาวเลย ไม่ได้เห็นเป็นหนังจริงๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ให้เป็นกรรมฐานจริงๆ นะผมว่ามันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ จะท่องได้ เพื่อที่จะรับว่าได้มีการกล่าวตามที่เป็นผู้ที่จะบวชเท่านั้นแต่จริงๆ แล้วกรรมฐาน ๕ ผมขนเล็บฟันหนังเป็นสิ่งที่ยาก แต่ว่าสำหรับคนอื่นจะง่ายผมไม่ทราบนะ มองอย่างไรก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าจะเป็นความรู้ได้อย่างไร นอกจากเป็นเพียงว่าชื่อ ผมก็ผม ฟันก็ยังเป็นฟัน นึกถึงฟันที่อยู่ในปาก และมีรูปร่างมีฟันเรียงสวยงามต่างๆ มันปรุงแต่งเสียจนกระทั่งทุกอย่างสวยหมดเลย

    อ.นิภัทร ธรรมดา เป็นวิปลาส ถ้าเห็นเป็นงามก็เป็นวิปลาส แน่นอนที่สุด

    ท่านอาจารย์ เราไม่ได้ย้อนยุค คือคนในครั้งโน้นกับคนในครั้งนี้สภาพของปัญญาความรู้ความเข้าใจพระธรรมเสมอกันหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นคนในครั้งนี้พอพูดเรื่องธรรมเราก็ต้องมานั่งแปล พูดเรื่องธาตุเราก็ต้องมานั่งคิด พูดเรื่องปรมัตถ์ธรรมสังขารธรรม สังขตธรรม เป็นสิ่งซึ่งต้องตั้งต้นอนุบาลใหม่ แต่คิดถึงคนในครั้งโน้นที่ผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ แล้วท่านเหล่านั้นอบรมปัญญามาที่ได้ฟังพระธรรม บางท่านเป็นพระโสดาบันหลังจากที่ทรงแสดงธรรมจบ ทรงแสดงชาดกจบ ในชาดกจะมีผมมีเล็บมีฟันมีหนังหรือไม่มีอะไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่าระดับพื้นของความเข้าใจต่างกันมาก เพราะฉะนั้นเราจะเอามาเทียบไม่ได้ อย่างคนในครั้งโน้นได้ฟังพระธรรมเมื่อฟังแล้วเข้าใจ คิดถึงบารมีที่สะสมมา อย่างท่านพระสารีบุตรฟังท่านพระอัสชิพูดไม่กี่ประโยคเท่านั้นเอง สามารถที่จะปัญญาเนี่ยแทงตลอดลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฎประจักษ์การเกิดดับวิปัสสนาญาณเกิดเป็นพระโสดาบัน เพราะอะไรเพราะสภาพธรรมกำลังมี ไม่ว่าคำใดที่ได้ฟังเข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะว่าไม่ใช่เพียงคำ แต่ว่าพูดถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่พิสูจน์ได้ ที่สติระลึกได้ และเข้าใจได้ด้วย เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจจากการฟังพระธรรมแล้ว จึงได้ขอบวช เพราะฉะนั้นในขณะที่บวชจะพูดคำอะไรก็เข้าใจหมด จะพูดคำว่าผมก็เข้าใจ หรือจะไม่พูดคำว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จะพูดคำอื่น ท่านสามารถที่จะพูดเรื่องอะไรก็ได้ หรือว่าจะพูดเรื่องธรรมก็ได้ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าเราไม่ใช่ว่ามานั่งคิดสงสัยว่า คนสมัยโน้นพูดเรื่อง ผมขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วท่านรู้แจ้งได้ ก็คนสมัยนี้ทำไมเราไม่เห็นรู้เรื่องเลย บอกว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จะมาบอกอย่างไรมันก็อยู่ในปากบ้าง บุคคล ศีรษะบ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าระดับของความเข้าใจไม่เท่ากัน แล้วก็คนในยุคคนละสมัยด้วย ถ้ายุคโน้นสมัยโน้นท่านเข้าใจกันอยู่แล้ว เหมือนอย่างตอนที่เราไปที่ภูพิงค์เราก็เข้าใจธรรมกัน แล้วเรื่องปรมัตถธรรม เรื่องโลภะ เรื่องโทสะ เรื่องเจตสิก พอเห็นดอกไม้สวย คนหนึ่งบอกสวย อีกคนหนึ่งก็บอกว่าโลภะ เห็นไหมเราก็สามารถจะใช้คำอะไรก็ได้ เพราะเราเข้าใจ แต่ต้องมีความเข้าใจก่อน เมื่อมีความเข้าใจแล้วจะพูดคำว่าผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรือจะพูดอีก ๕ กองต่อไป หรืออีกทีละกอง ทีละกองต่อไปหรือจะแสดงธรรมเรื่องชาดก หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้นเมื่อมีความเข้าใจแล้ว

    อย่างเวลานี้ถ้าเรารู้แล้วว่าไม่มีตัวตน ถ้าทุกคนมีความเข้าใจเสมอกันว่าทุกอย่างเป็นธรรมหมด และจิตเกิดดับจริงๆ ทีละ ๑ ขณะ แล้วก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมใดเท่านั้นที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ สภาพธรรมอื่นที่ไม่ปรากฏเกิดแล้ว ดับแล้ว ๑๗ ขณะนี้จะเหลืออะไรระหว่างทางตากับทางหูเกิน ๑๗ ขณะแล้ว เพราะฉะนั้นรูปทั้งก้อน ไม่มีที่จะเป็นของเราจริงๆ แต่ว่ามีสมุฐานที่ทำให้เกิด เหมือนกับโต๊ะที่เราว่ากระทบก็แข็ง เพราะว่ามีสมุฐานทำให้เกิดฉันใด ที่กายก็มีสมุฐานต่างๆ ที่ทำให้รูปเกิดฉันนั้น แล้วก็นามธรรมก็เป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทีละอย่าง ทีละ ๑ ขณะ แล้วจะเหลืออะไร ขณะหนึ่งที่เห็นดับแล้ว ขณะที่ได้ยินชั่วขณะสั้นๆ นี่ดับแล้ว ก็ไม่มีอะไรเลยสักอย่างเดียว นอกจากเหตุปัจจัยที่ทำให้เมื่อจิตขณะหนึ่งดับไป ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะพูดเรื่องอะไรได้ทั้งนั้น จะพูดว่าผมก็ได้ ขน เล็บ ฟัน หนัง จะพูดตับก็ได้ หัวใจก็ได้ จะพูดอะไรก็ได้ทั้งนั้น ถ้าเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง กำลังฟังท่านอาจารย์ ก็มีเห็น มีได้ยิน แล้วคิดตามด้วย แต่ไม่เป็นขณะเลย ขณะไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่ายังเป็นตัวตนคิดอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรทั้งๆ ที่ฟัง แล้วก็ยังไม่รู้อย่างนี้

    ผู้ฟัง รู้โดยการศึกษาว่าจะไม่ใช่ ๒ ขณะแน่

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมเพราะอะไรยังคงเป็นรู้โดยการศึกษาอยู่แบบนี้ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะสติ และปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะสติไม่ได้ระลึก เพราะฉะนั้นคนที่จะรู้ความจริงก็รู้ว่าต้องสติปัฎฐานเท่านั้นหนทางเดียวจริงๆ แล้วก็ต้องรู้ลักษณะของสติว่าสติเกิดหรือหลงลืมสติ ถ้ามิฉะนั้น แล้วก็ไม่ได้เจริญปัญญา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    8 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ