สนทนาธรรม ตอนที่ 014


    ตอนที่ ๑๔

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทางมโนทวารเกิดต่อจากทางปัญจทวารทำให้มีโลกของความคิดนึกต่างๆ ขึ้น นี่เป็นสิ่งซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่เราเห็นได้ว่าทางตามีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ทางหูมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แล้วหลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของมโนทวารที่จะคิดจะเป็นคำ หรือไม่เป็นคำ ก็คือคิด แล้วก็ไม่จำกัดเชื้อชาติด้วย ชาติไหนเห็นแล้วก็เหมือนกัน คือต้องคิด ดูทีวีภาษาไหนก็ได้ เข้าใจ ไม่เข้าใจ ก็ตามทันทีที่ตาเห็น แล้วทุกคนที่หลังจากเห็นแล้วต้องคิด คิดต่างกันก็ได้ ธรรมที่สนทนาก็เพื่อความเข้าใจของทุกคนจริงๆ แล้วก็ต้องมีการทดสอบด้วยว่าที่ได้ฟังไปแล้วเข้าใจแค่ไหน เพราะไม่อย่างนั้นก็พูด พูดไปแล้วก็ไม่ทราบว่าฟังๆ กันไปเข้าใจได้แค่ไหนแล้ว

    เพราะฉะนั้น ทางทดสอบก็คือคำถาม การศึกษาธรรมจริงๆ แล้วคือการศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงถึง ๔๕ พรรษาโดยนัยต่างๆ จะใช้คำว่าธรรม ปรมัตธรรม อริยสัจธรรม ปฏิจจสมุปบาท ขันธ์ ๕ อายตนะ หรืออะไรก็ตามให้ทราบว่า ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจไม่ใช่ว่าเรา ไปเรียนชื่อตามตำรามากมาย แต่ไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร แล้วก็อยู่ที่ไหน แล้วฉะนั้นคำถามก็จะถาม ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตามก็จะต้องเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็ส่วนการที่จะขยายความต่อไปก็เพื่อที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง เพราะนี่เป็นความจริงที่สุดสิ่งที่ผ่านมาแล้วหมดไปแล้วไม่มีใครพิสูจน์ได้ แต่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าคือ อะไรทั้งๆ ที่ก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจแต่ก็ไม่ทราบว่าข้างหน้าคือเห็นขณะต่อไปจะได้ยิน หรือว่าจะคิดนึกเรื่องอะไรเพราะเหตุว่ายังเป็นสิ่งที่มาไม่ถึง

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นให้ทราบว่า ๔๕ พรรษาแล้วเราจะพูดกันไปอีกกี่เดือนกี่ปีก็ตามแต่ ก็ไม่พ้นความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือสิ่งที่มีจริงๆ ไม่เรียกอะไรเลยได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ามีจริงๆ

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ แต่ทำไมต้องเรียก

    ผู้ฟัง เพื่อเป็นการสื่อความหมายให้รู้ว่าสิ่งๆ นั้นมีจริง ถ้าหากว่าเราไม่ใช้คำๆ นี้แล้วเราจะอธิบายให้ใครทราบว่าสภาพธรรมที่มีจริงนั้นมีลักษณะอย่างไรมีสภาพอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แล้วสิ่งที่มีจริงต่อไปเราจะเห็นว่าใช้คำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่ออะไร เพื่อให้เราเข้าใจจริงๆ ละเอียดขึ้นในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นเพียงแต่พูดว่าธรรมคำเดียว หรือว่าสิ่งที่มีจริงคำเดียวทั้งๆ ที่สิ่งนี้กำลังปรากฏก็ไม่ได้ละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้เลย ต้องอาศัยพระธรรมเทศนาในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะค่อยๆ เพิ่มคำที่จะอธิบายความหมายของสิ่งที่มีจริงๆ อย่างที่ว่าสิ่งที่มีจริงไม่เรียกอะไรเลยได้ไหม ได้ เพราะเหตุว่าแม้ไม่เรียกสภาพธรรมนั้นก็เป็นอย่างนั้น ใครจะเปลี่ยนชื่อสภาพธรรมนั้นก็ยังคงเป็นอย่างนั้น อย่างเห็นจะใช้คำว่าเห็น หรือจะใช้คำอะไรก็ตาม สภาพธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วทำกิจเห็น ซึ่งดูเหมือนเป็นของตื้น ก็ทำกิจเห็นมาตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วต่อไปก็จะต้องทำกิจเห็นอีก ทำไมเราต้องพูดเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้รู้ว่าลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่กำลังเห็นว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เพราะเหตุว่าถ้าเป็นคนที่ไม่มีปัญญารู้ไม่ได้เลย เป็นเราหมดนั้นคือคนที่ไม่มีปัญญา แต่คนที่มีปัญญาคือคนที่ค่อยๆ เริ่มเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงทุกๆ ขณะ

    เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรม สิ่งที่มีจริงเป็นธรรม แล้วเป็นปรมัตถธรรมเพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะสภาพธรรมนั้นได้เลย แต่การที่เราต้องใช้คำเพื่อที่จะให้เข้าใจ คำที่เราใช้คือบัญญัติ จะเป็นภาษาอะไรได้หมด เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ นั้น

    เพราะฉะนั้น เราก็จะทราบได้ว่าโลกที่เราเกิดมา ก่อนฟังธรรมเราอยู่ในโลกของ สมมติบัญญัติทั้งหมดเลย เพราะเหตุว่าแม้ว่าปรมัตถธรรมมี เกิดทำกิจหน้าที่ตั้งแต่เกิดจนตาย คือทำกิจเห็นบ้าง ทำกิจได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึกบ้าง ก็ไม่รู้ความจริงว่า นั่นคือกิจหน้าที่ของปรมัตถธรรม ก็เป็นเราทั้งหมด เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่ไม่รู้เรื่องของปรมัตถ์ แม้ว่าสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์มีขณะนั้นก็เป็นโลกของบัญญัติ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าขณะใดที่ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ คือคิดนึกเรื่องของสิ่งที่มีทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้พูดก็ชัดเจนดี สติสัมปชัญญะเริ่มแยกออกหรือยังครับว่าในขณะใดที่เป็นสมมติบัญญัติ ในขณะใดเป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะไม่ต้องแยกถึงขั้นสติ เอาขั้นเข้าใจจริงๆ ว่าจริงๆ แล้วว่าถ้าเราจะแยกทางตาที่เห็น ยังไม่ทันคิดนึกอะไรเลยทั้งสิ้น เป็นปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่าเห็นก็มีจริงๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริง ก็เป็นปรมัตถธรรมในชีวิตประจำวัน ทางตาคือเห็นกับสิ่งที่ปรากฏ ทางหูคือได้ยินกับเสียง ทางจมูกก็คือกลิ่นกับการรู้กลิ่น ทางลิ้นขณะที่รสปรากฏ รสก็เป็นปรมัตถธรรม และสภาพที่กำลังลิ้มรสก็เป็นปรมัตธรรม ทางกายที่รู้เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ก็เป็นปรมัตถธรรม สภาพรู้ก็เป็นปรมัตถธรรม แต่วันหนึ่งๆ เราไม่ได้มีเพียงเท่านี้ พอเห็นปุ๊บเราคิดต่อทันที เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าขณะใดที่ไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏเป็นเรื่องการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นเรื่องของบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น เราก็จะแยกโลกออกได้ว่าเราอยู่ในโลกของปรมัตถ์กับในโลกของบัญญัติเมื่อไหร่ คือกำลังเห็นเป็นปรมัตถ์ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เป็นบัญญัติ ไม่ว่าจะคิดในเรื่องอะไรก็ตามทั้งสิ้นก็เป็นบัญญัติ ถ้าขณะนั้นไม่ได้มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แยกได้ใช่ไหมระหว่างปรมัตถ์กับบัญญัติ เพราะถ้ายังแยกไม่ได้ เรียนต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ว่าเราเรียนเพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพปรมัตถ์แท้ๆ ว่าทางตาเห็นกับสิ่งที่ปรากฏเป็นปรมัตถ์ ไม่ต้องเรียกชื่อก็เกิดขึ้นทำกิจการงาน สิ่งที่ปรากฏก็ต้องปรากฏทางหู ได้ยินกับเสียงเป็นปรมัตถ์ ทางจมูก การได้กลิ่นกับกลิ่นเป็นปรมัตถ์ ทางลิ้นรสกับสภาพที่ลิ้มรสเป็นปรมัตถ์ ทางกายขณะที่กระทบสัมผัสเป็นปรมัตถ์ ส่วนการคิดนึกเป็นของที่มีจริงเป็นจิตที่คิด โต๊ะเก้าอี้คิดไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นเราทราบว่าปรมัตถธรรมขณะที่คิดก็เป็นปรมัตถธรรม แต่คิดเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่ปรากฏ ขณะที่คิดเรื่องราวต่างๆ เป็นบัญญัติ แต่จิตที่คิดเป็นปรมัตถ์ เพราะฉะนั้นโต๊ะ เก้าอี้ หรือรูป จะรู้บัญญัติได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นโต๊ะเก้าอี้ก็รู้บัญญัติไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็จะเริ่มเข้าใจแล้วว่า ในสภาพของนามธรรม และรูปธรรมนั้นมีสภาพหรือลักษณะเป็นอย่างไร ตามที่ท่านอาจารย์ได้แสดงไว้ ถ้าเรายังไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้แล้ว อย่างที่ท่านอาจารย์ได้แสดงไว้ แล้วเราจะฟังธรรมต่อไปเข้าใจได้อย่างไรในเมื่อเบื้องต้นยังไม่เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมแล้วเราจะเข้าใจได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปก็เพิ่มมาอีก คือเพิ่มคำว่านามธรรมกับรูปธรรม เมื่อเรามีคำว่าปรมัตถ์กับบัญญัติ ตอนนี้คุณประทีปขยายความนามธรรมกับรูปธรรมซึ่งต้องอธิบาย

    ผู้ฟัง รูปธรรมก็คือเป็นสภาพธรรมที่ไม่รับรู้อารมณ์ คือไม่รู้อะไร ไม่ว่าจะเป็นอะไรเขาจะไม่รู้ทั้งสิ้น ส่วนนามธรรมนั้นก็คือเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่งที่รู้อารมณ์สามารถรับรู้อารมณ์

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปก็เพิ่มมาอีก คือเพิ่มคำว่าอารมณ์ ซึ่งก็ต้องอธิบาย เมื่อกี้พูดว่าโต๊ะเก้าอี้ไม่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่พูดต้องเข้าใจในสิ่งที่พูด

    ผู้ฟัง อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ แม้แต่จิตเองจิตก็รู้ ลักษณะของจิตก็เป็นอารมณ์เหมือนกัน อะไรก็ตามที่จิตรู้เราถือว่าสิ่งนั้นคืออารมณ์ อาจจะเป็นปรมัตถอารมณ์ หรือบัญญัติอารมณ์ได้ทั้งสิ้น ก็มีอยู่สองอารมณ์เท่านั้นคือปรมัตถอารมณ์ และบัญญัติอารมณ์ จิตรู้ทุกอย่าง แม้แต่ตัวจิตเองจิตก็รู้ เพราะฉะนั้นอารมณ์ถ้าจะแยกออกได้ก็เป็น ๒ อย่างคือปรมัตถอารมณ์ และบัญญัติอารมณ์

    อ.สมพร อารมณ์นั่นคือปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น ถ้าจิตไม่มีอารมณ์จิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ อารัมมณะแปลว่าเป็นที่ยินดีของจิตเจตสิก จิตที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีอารมณ์ ดังนั้นอารมณ์จึงเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น ถ้าไม่มีอารมณ์จิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องมีอารมณ์ จิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน

    คำว่ายินดี หมายความว่าท่านแยกคำจำกัดความว่า เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตอารมณ์ เหมือนกับคนแก่ที่ลุกไม่ได้ อาศัยไม้เท้าพยุงลุกขึ้น ถ้าไม่มีไม้เท้าก็ลุกขึ้นไม่ได้ ก็คือเป็นปัจจัยนั่นเอง แล้วที่คำว่ายินดีส่วนมากท่านเปรียบเทียบเหมือนคนที่ไปเที่ยวในสวนดอกไม้ก็เห็นอะไรก็เป็นยินดีทั้งนั้น ทั้งสี ทั้งทุกสิ่งทุกอย่างเป็นที่ยินดี ทั้ง ๒ อย่างนี้ภาษาไทยก็แปลว่า อารมณ์ อารมณ์หมายถึงว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของจิตทำให้จิตเกิดขึ้น พูดง่ายๆ ก็ว่าถ้าไม่มีอารมณ์ จิตดวงนั้นจะไม่เกิดขึ้น เช่นสีไม่กระทบตา จิตเห็นจะไม่เกิดขึ้น สีนั่นเองเป็นอารมณ์ เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ คุณประทีปเข้าใจทั้งหมดที่อาจารย์สมพรท่านพูดรึไม่

    ผู้ฟัง คิดว่าเข้าใจดีพอสมควร

    ท่านอาจารย์ เพราะคุณประทีปพูดเสมอเสมอว่าจำไม่ได้ จำไม่ได้ จำคำไม่ได้ ก็จะพยายามให้ทุกคนเห็นว่าคุณประทีปจำได้ หรือจำไม่ได้ ทุกอาทิตย์ก็พยายามจะทบทวนเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการเข้าใจธรรม ทำให้เราค่อยๆ จำคำนั้นไปด้วย หรือเปล่า หรือบอกแต่เพียงว่าเข้าใจ แต่จำอะไรไม่ได้เลยไม่ได้ เหมือนคำว่าปรมัตถธรรม ถ้าเข้าใจแล้วกับบัญญัติ ถ้าเข้าใจจริงๆ ๒ คำนี้ต้องหมายความว่าสามารถที่จะรู้ความหมายจริงๆ และไม่ใช่แต่เฉพาะรู้เพียงความหมายของชื่อ ยังรู้ว่าขณะใด ที่เป็นปรมัตถ์ และขณะใดเป็นบัญญัติด้วย

    เพราะฉะนั้นการที่เราศึกษาธรรม เราจะไม่เผิน หมายความว่าต้องเข้าใจจริงๆ คำที่ใช้ต้องไตร่ตรอง ไม่ใช่ว่าจำไม่ได้ จำไม่ได้ลืมไป แต่เข้าใจ แต่ต้องพิจารณาแล้วพิจารณาเล่า จนกระทั่ง ไม่มีความสงสัยเลยว่าบัญญัติคืออะไร ปรมัตถธรรมคืออะไรซึ่งคุณประทีปก็บอกว่าฟังอาจารย์สมพรแล้วเข้าใจ อาจารย์ก็พูดตั้งหลายอย่าง ซึ่งหน้าซักถามผู้ที่เข้าใจ ให้เข้าใจขึ้น ให้ไม่ลืมว่า ทำไมจิตต้องมีอารมณ์

    ผู้ฟัง เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่รับรู้อารมณ์ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมาจิตจะรู้ทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตเมื่อเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จะมีสภาพรู้เกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ อารมณ์ในภาษาไทยต่างกับภาษาบาลีอย่างไร เพราะว่าถ้าคุณประทีปจะไปบอกคนอื่นซึ่งเขาไม่ได้ศึกษาธรรมว่าอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ ไม่มีทางที่เขาจะเข้าใจได้เลย บางคนที่เข้าใจแล้วก็อาจจะคิดว่าน่าเบื่อหรือเปล่าไม่ทราบที่เราก็กล่าวซ้ำไปซ้ำมา แต่ความจริงไม่ใช่สิ่งที่เบื่อ แต่เป็นสิ่งที่เราจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น โดยที่ว่าเมื่อเป็นคำอะไรก็ตามที่เราเคยได้ยินได้ฟังมาในภาษาไทย แต่พอถึงภาษาบาลีเราต้องเปลี่ยนแล้วต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ นี่คือคำจำกัดความตายตัวเพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ ถ้าคุณประทีปจะแถมคำว่าปัจจัย เพราะว่าได้ยินคำนี้ก็ต้องรู้ทุกคำที่ได้ยิน ปัจจัยคืออะไร

    ผู้ฟัง คำว่าปัจจัยก็หมายถึงว่าสิ่งที่อุปการะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น คำว่าอารมณ์มี ๒ อย่างที่เป็นรูปก็มี เป็นนามก็มี คำว่าอารมณ์กับจิตเมื่อเราแยกจากกันได้แล้ว เราก็เข้าใจเรื่องอารมณ์ให้ชัดเจน หมายความว่าอารมณ์นั้นเป็นทั้งรูปทั้งนาม รูปเป็นอารมณ์ก็ได้ นามเป็นอารมณ์ก็ได้ แต่ว่าจิตนั้นเป็นนามอย่างเดียว เป็นผู้รู้อารมณ์ จิตที่รู้อารมณ์นั้นเองกลับมาเป็นอารมณ์ได้เหมือนกัน เพราะจิตมีลักษณะเพียงอย่างเดียวมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ ส่วนอารมณ์นั้นก็มากมาย ถึงจะมากอย่างไรก็เป็นของคู่กับจิต เพราะว่าอารมณ์เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น จิตจะเกิดขึ้น ก็เพราะมีอารมณ์

    ท่านอาจารย์ เราได้ยินชื่อธาตุ ๔ บ่อยๆ ใช่ไหมธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมแต่เฉพาะ ๓ ธาตุนี้เท่านั้นที่ปรากฏเมื่อกระทบกายคือเย็น หรือร้อนเป็นธาตุไฟ ๑ รูป อ่อน หรือแข็งเป็นธาตุดิน ๑ รูปตึง หรือไหวเป็นธาตุลม ๑ รูป รวม ๓ รูปปรากฎที่กาย เพราะฉะนั้นรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย กี่รูป เรายังไม่รู้รูป ๒๘ ก็ไม่เป็นไรเรารู้ ๗ รูป

    ผู้ฟัง ผมยังสงสัยว่าทำไมอีกธาตุหนึ่ง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ อาโปธาตุไม่ใช่ธาตุน้ำอย่างที่เราคิดว่าเราสัมผัสกระทบได้ เพราะเหตุว่ากระทบครั้งใดก็เย็น หรือร้อน หรืออ่อน หรือแข็ง หรือตึง หรือไหว เพราะฉะนั้นธาตุน้ำเป็นธาตุที่ซึมซาบ หรือเกาะกลุ่มรูปที่เกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ปรากฏเมื่อกระทบกาย เพราะกระทบขณะใดก็อ่อน หรือแข็งเย็น หรือร้อนตึง หรือไหว เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ารูปจะมีเท่าไรก็ตาม แต่ที่ปรากฏจริงๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ๗ รูป เป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นรูปขันธ์

    ท่านอาจารย์ รูปขันธ์ที่ปรากฏให้รู้ได้ แต่รูปขันธ์จริงๆ มีมากกว่านั้น แต่ที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ตลอดก็คือ ๗ รูป

    ผู้ฟัง ๗ รูปเราก็เรียงตามลำดับ รูปที่ ๑ คือสีเรียกว่า รูปารมณ์ รูปที่ ๒ คือ เสียงเรียกว่า สัทธารมณ์ รูปที่ ๓ กลิ่น กลิ่นเป็นอารมณ์เรียกว่า คันธารมณ์แล้ว รูปที่ ๔ รส ปรากฏทางลิ้น เป็นอารมณ์ เรียกว่ารสารมณ์ รูปที่ ๕ ทางกาย เกี่ยวกับการกระทบเรียกว่าโผฏฐัพพะ แปลว่ากระทบ สิ่งที่จะมากระทบกายมี ๓ อย่าง คือธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม เว้นธาตุน้ำ ที่อาจารย์อธิบายแล้วเว้นธาตุน้ำ จึงเรียกว่าโผฏฐัพพารมณ์ที่มากระทบมี ๓ อย่าง

    ผู้ฟัง วิสยรูป กับโคจรรูป เหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง วิสยก็แปลว่าอารมณ์ อารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะเฉพาะ

    ผู้ฟัง อารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะ เฉพาะทางใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่เฉพาะทางที่ปรากฏ เช่นสีที่ปรากฏทางตา เรียกวิสย แต่คำว่าโคจรเป็นชื่ออารมณ์ทั่วไป คำว่าวิสยก็แปลว่าอารมณ์ โคจรก็แปลว่าอารมณ์ คำว่าโคจรจึงมีความหมายกว้าง แต่ถึงอย่างนั้นก็แปลว่าอารมณ์เหมือนกัน ถ้าแยกศัพท์อีก ๑ มีความหมายอย่างอื่นก็ได้ คำว่าโคจรเป็นที่เที่ยวไปของโค เหมือนว่าดุจจะเป็นที่เที่ยวไปของโค คำว่าโคจรแปลว่าเที่ยวไป ดังนั้นคำว่าโคจร ซึ่งเราแปลกันว่าอารมณ์นั้นมีความหมายกว้างอารมณ์ทุกอย่างเป็นโคจรได้

    ผู้ฟัง ทั้งหมดก็ต้องทั้ง ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง หมดเลย อารมณ์ต้องมีทั้ง ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นวิสย วิสยรูป ๔ หรือ ๗ นี้เฉพาะทางปัจจทวารใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง วิสย จะเรียกทางอารมณ์ทางปัจจทวารโดยเฉพาะ เราจะเรียกโคจรก็ไม่ผิด ส่วนมากในพระสูตรใช้คำว่าโคจร พระอภิธรรมใช้ ๒ อย่าง วิสยกับโคจร แปลว่าอารมณ์

    ท่านอาจารย์ จะระ (จร) แปลว่าไป เที่ยวไป โคก็คือวัว เพราะฉะนั้นโคจรรูปหมายความถึงรูปซึ่งเป็นที่เที่ยวไปของจิต เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่โค

    ผู้ฟัง ไม่ใช่โคจริงๆ ตามที่เราเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นโคจรรูปคือรูปซึ่งเป็นที่เที่ยวไปของโคคือจิต โคจรรูปกับวิสยรูปนี้จำนวนเท่ากันหรือไม่ หมายความว่าถ้าพูดถึงโคจรคืออารมณ์กว้าง แต่ถ้ามีคำว่าโคจรรูป ต้องหมายความถึงวิสยรูป ๗

    ผู้ฟัง ก็ต้องเท่ากัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นวิสยรูป ๗ นั่นเองคือโคจรรูป หรือโคจรรูปก็คือวิสยรูป เพราะฉะนั้นรูปอื่นนอกจากนี้ไม่ใช่โคจรรูป คือนอกจากนี้อีก ๒๑ รูป

    ผู้ฟัง ท่านไม่เรียกอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่เรียก เพราะฉะนั้นโคจรรูปหมายเฉพาะรูปที่ปรากฏที่เที่ยวไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ๗ รูป ซึ่งใช้คำว่าโคจรรูปก็ได้ จะใช้คำว่าวิสยรูปก็ได้ เพราะเหตุว่าถ้าใช้วิสยรูปก็อย่างที่อาจารย์บอกว่าภาษาบาลีหมายความถึงรู้ได้เฉพาะทางเฉพาะทาง ลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ก็ปรากฏแต่ละทาง

    ผู้ฟัง คือยกตัวอย่างที่ โคเที่ยวไปอารมณ์ที่โคเที่ยวไป

    ท่านอาจารย์ รูปารมณ์สิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิต เพราะเห็นเรื่อยๆ เสียงที่ปรากฏทางหูก็เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิตเพราะปรากฏให้รู้ได้ทางหู กลิ่นคือคันธารมณ์ปรากฏให้รู้ได้ทางจมูก รสคือรักษารมณ์ปรากฏให้รู้ได้ทางลิ้น โผฏฐัพพะ ๓ คือธาตุดินอ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟเย็นหรือร้อน ธาตุลมตึงหรือไหว ๓ รูป นี้ปรากฏให้รู้ทางกายตลอด เพราะฉะนั้นรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิต จิตจะไม่รู้รูปอื่นเลยแม้ว่ามี จิตจะรู้ ๗ รูปเป็นประจำ เพราะฉะนั้นก็เป็นที่ท่องเที่ยวไปของจิต จึงชื่อว่า ๗ รูปนี้เป็นโคจรรูป หรือเป็นวิสยรูป เพราะว่ารู้ได้เฉพาะแต่ละทาง

    ผู้ฟัง ๗ รูปนี้เรียกว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ โคจรรูป หรือวิสยรูป ถ้าโคจรรูปก็หมายความถึงที่ท่องเที่ยวไปของโคคือจิต ถ้าวิสยรูปก็หมายความถึงรูปที่รู้ได้เฉพาะแต่ละทางแต่ละทวาร

    ผู้ฟัง ติดใจคำว่าขันธ์ที่คุณนิภัทรพูดถึงแปลว่า สูญได้

    อ.นิภัทร ตามรูปศัพท์จริงๆ มาจากคำว่าขันธ์ (ขํ) รูปบทหน้าถ้าธาตุ ขันธ์แปลว่าว่างเปล่า หรืออากาศธาตุ คำว่าธาแปลว่าคงไว้ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า เอาจุดกลมๆ เป็นน เป็นนหนู ก็เป็นขันธะ ธา ลบอาออกไปก็เป็นขันธะ ขันธะแปลตามตัวจริงๆ ตามธาตุแปลตามรากศัพท์แปลว่าทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า ซึ่งความสูญ ก็ไม่มีอะไร ถ้าเราจะเอามาใช้ในในสภาวธรรมก็ได้ใช่ไหม อย่างรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิณญาณขันธ์ ๕ เนี่ยสูญจากสัตว์ สูญจากสัตว์ จากชีวะ บุคคลจากนิสสัตโต นิชชีโว ไม่มีสัตว์ไม่มีชีวิตเป็นแต่สภาวธรรมแต่ละอย่างๆ คำว่าสูญก็คือ สูญได้ ในคำว่าขันธ์ ๕ ก็คงสูญจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา เป็นแต่สภาวธรรมแต่ละอย่างเท่านั้น ขันธ์ ๕ นี่เป็นปรมัตถธรรมได้เท่าไหร่

    ผู้ฟัง เป็นปรมัตถธรรมได้ ๓

    อ.นิภัทร ขันธ์มี ๕ ได้แก่ ปรมัตถ์ธรรม ๓ คือจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    15 ต.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ