สนทนาธรรม ตอนที่ 015
ตอนที่ ๑๕
สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๓๘
อ.นิภัทร ถามว่าขันธ์ ๕ ขันธ์ เป็นปรมัตถธรรมอะไรได้บ้าง
ผู้ฟัง ทีละอย่างไม่ได้ หรือครับ
อ.นิภัทร รูปขันธ์เป็นปรมัตถ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นรูปปรมัตถ์
อ.นิภัทร เวทนาขันธ์เป็นปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง เป็นเจตสิกปรมัตถ์
อ.นิภัทร สัญญาขันธ์เป็นปรมัตถ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นเจตสิกปรมัตถ์
อ.นิภัทร เจตสิกปรมัตถ เป็นคำรวม หมายถึงเจตสิกทั้ง ๕๒ เวทนาขันธ์ เพียงขันธ์เดียวก็เป็นได้ ๑ ดวงใน ๕๒ เป็นเวทนาเจตสิก
ผู้ฟัง คือ ผมกำลังแยกไม่ออกว่า ถ้าหากว่าเป็นเวทนาขันธ์ ก็สามารถเป็นจิตปรมัตถ์ได้ด้วยใช่ไหมครับ
อ.นิภัทร ไม่ เราพูดเรื่องเจตสิก ยังไม่ถึงจิต เดี๋ยวจะถามจิต ถ้าพูดถึงจิตแล้ว สำหรับผู้ที่รู้เนี่ยนะ ถ้าพูดถึงจิตแล้วจะต้องให้หมายถึงเจตสิกด้วย เพราะว่าจิตจะเกิดโดดๆ โดยไม่มีเจตสิกประกอบนี้ไม่ได้ นั่นเป็นความรู้ทั่วไปที่เรารู้ คือจิตจะเกิดโดดๆ โดยไม่มีเจตสิกธรรมประกอบ นี่ไม่ได้ จะต้องมีเจตสิกประกอบทุกครั้ง พูดถึงจิตนี่ให้หมายถึงรวมถึงเจตสิกด้วย แต่ในที่นี้เราแยกขันธ์ ๕ ออกจากปรมัตถธรรม ๓ เพื่อที่จะให้ว่าขันธ์อะไรตรงกับปรมัตถ์อะไร ทำอะไรได้บ้าง เราต้องการจะแจงตรงนี้เท่านั้นเอง เราไม่ได้เอาไปถึงว่า จิตจะเกิดต้องเจตสิกอะไร หรือว่าเจตสิกต้องมีจิตอะไร ผมจะถามตรงนี้ว่า จิตคืออะไร
ผู้ฟัง จิตคือสภาพสภาพที่รู้อารมณ์
อ.นิภัทร และเจตสิก
ผู้ฟัง สภาพที่ปรุงแต่งจิต
อ.นิภัทร เจตสิกก็คือธรรมที่เกิดร่วมกับจิต มีลักษณะว่าต้องเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต อารมณ์เดียวกับจิต มีที่อาศัยเกิดอันเดียวกับจิต ๔ อย่าง
ผู้ฟัง ขอถามคุณนิพัทธ์ว่าคุณนิพัทธ์มีเหตุผลอะไรที่จะใช้คำถามโยงระหว่างเรื่องสังขารธรรมกับขันธ์ กรุณาอธิบายด้วยค่ะ
อ.นิภัทร ไม่ใช่เหตุผลของผม เป็นเหตุผลของท่านอาจารย์ที่ท่านพูดถึงเรื่องสังขารธรรมเสร็จแล้วใช่ไหม แล้วมาพูดถึงเรื่องขันธ์
ผู้ฟัง ทำไมโยง ๒ เรื่องมาหากัน
อ.นิภัทร ที่จริงนะชื่อต่างกันก็จริง คำว่าสังขารธรรมก็เป็นชื่อหนึ่ง คำว่าขันธ์ก็เป็นชื่อหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว คือสิ่งเดียวกัน สงเคราะห์เข้ากันได้เลย ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม ๓ อย่างนี้เป็นสังขารธรรม เป็นปรมัตถ์ธรรม ๓ คือจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ เป็นสังขารธรรม ส่วนขันธ์ ๕ รูปขันธ์ ก็เป็นรูปปรมัตถ์ เวทนา สัญญา สังขาร ก็เป็นเจตสิกปรมัตถ์ วิญญาณก็เป็นจิตปรมัตถ์ สิ่งเดียวกัน
ท่านอาจารย์ ปรมัตถ์ธรรม มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และที่คุณสุรีย์ถามว่าทำไมถึงต้องมาพูดโยงไปถึงเรื่องสังขารธรรม ก็เพราะเหตุว่า ถึงแม้ว่าปรมัตถ์ธรรมจริงๆ แล้วมี ๔ เท่านั้นก็จริงแต่ว่าก็ยังต่างกัน เป็นปรมัตถ์ธรรมซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น กับปรมัตถ์ธรรมซึ่งไม่อาศัยเหตุปัจจัยเกิด เพราะฉะนั้นก็ต้องแยกว่าอย่างไรก็ตามจะพูดเรื่องอะไรร้อยแปดพันเก้า ก็ต้องได้แก่ปรมัตธรรม ๔ แต่ถ้าพูดถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเป็นเพียงปรมัตถ์ธรรม ๓ เท่านั้น
เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่าสังขารธรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่า ปรมัตถธรรม ๓ เกิดเพราะมีเหตุปัจจัย ถ้าไม่เกิดขณะใดขณะนั้นหมายความว่าไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้น อย่างเวลาที่เงียบสนิทยังไม่มีเสียงใดๆ เลยก็ยังไม่มีปัจจัยพร้อมที่จะให้จิตได้ยินเกิด ส่วนใหญ่บางคนอาจจะคิดว่ามีจิตอยู่แล้วพร้อมที่จะเกิด แต่ความจริงไม่ใช่เลย ว่างเปล่าไม่มีอะไร นอกจากสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะเกิด ก็เกิดแล้ว ปรากฏทีละหนึ่งขณะจิตเท่านั้นเอง นี่แสดงให้เห็นว่าจิตไม่ได้ไปแอบแฝงอยู่ที่อื่น ไม่ได้ไปอาศัยอยู่ที่โน่นที่นี่แล้วก็คอยเวลาที่ปัจจัยพร้อมก็เกิด แต่ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยเมื่อไหร่ พร้อมเมื่อไหร่ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง
นี่แสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด เกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย และเมื่อเกิดแล้วก็ดับ เป็นสังขารธรรม ได้แก่ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรม ซึ่งมีเหตุปัจจัยเกิด เวลานี้ก็ไม่ใช่ว่ารูปอื่นที่เราเรียนมา ๒๘ รูป เกิดแล้ว แต่ต้องหมายความว่ามีปัจจัยใดเป็นสมุฎฐานให้รูปเกิด รูปนั้นก็เกิดแล้วก็ดับด้วย แสดงให้เห็นว่าทั้งจิตปรมัตถ์ ทั้งเจตสิกปรมัตถ์ ทั้งรูปปรมัตถ์ไม่ได้ไปพร้อมรออยู่ที่อื่น หรือว่าอยู่ที่หนึ่งที่ใด เพียงแต่ว่ามีสมุฎฐาน หรือมีเหตุปัจจัยให้ปรมัตถธรรมนั้นๆ เกิด ปรมัตถธรรมนั้นจึงเกิดแล้วดับอย่างเร็วมาก
นี่คือสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล เป็นอนัตตา พิสูจน์ง่ายๆ อย่างเสียงเงียบสนิทไม่มีปัจจัยให้เสียงเกิด ไม่ใช่ว่าเสียงไปแอบคอยอยู่ที่หนึ่งที่ใด ไม่มีเลย ไม่มีคือไม่มี แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเสียงเกิดแล้วดับ ฉันใด จิตก็ตาม เจตสิกก็ตาม รูปแต่ละรูปก็ตาม ก็เพียงอาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับชั่วขณะหนึ่ง ขณะหนึ่ง อย่างเร็วมาก แต่ว่าความทรงจำด้วยว่าสัญญาเจตสิกซึ่งจำสภาพธรรมโดยไม่รู้ความจริงจึงจำเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคล ทำให้เราที่ได้ฟังธรรมมามากมายสักเท่าไรก็ตามเมื่อยังไม่ประจักษ์ว่าสภาพธรรมใดยังไม่ปรากฏ สภาพธรรมนั้นมี ๒ อย่าง คือ ยังไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้นปรากฏ หรือเกิดแล้วดับแล้วโดยสติไม่ได้ระลึก หรือไม่ได้รู้ เพราะเหตุว่าที่ร่างกายของเรา รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ามีสมุฎฐานให้เกิด เราจะรู้ หรือไม่รู้ก็ตาม กรรมก็เป็นสมุฎฐานทำให้รูปเกิด จิตก็เป็นสมุฎฐานที่ทำให้รูปเกิด อุตุ ความเย็นความร้อนก็เป็นสมุฎฐานทำให้รูปเกิด อาหารที่เราเพิ่งรับประทานเมื่อครู่นี้ก็เป็นสมุฎฐานให้รูปเกิด เราก็ไม่รู้ขณะนี้รูปไหนเวลาที่ปรากฏ รูปไหนเกิดเพราะกรรม รูปไหนเกิดเพราะจิต รูปไหนเกิดเพราะอุตุ รูปไหนเกิดเพราะอาหาร เช่น กระทบแข็ง ที่ตัว ไม่มีทางรู้เลยว่า รูปแข็งนี้เกิดจากกรรม หรือเกิดจากจิต หรือเกิดจากอุตุ หรือเกิดจากอาหาร แต่เมื่อรูปปรากฏก็แสดงให้เห็นว่า มีปัจจัยทำให้รูปนั้นเกิดแล้วปรากฏแล้วดับด้วย
เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ประจักษ์ความจริงของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยแล้วเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ก็เลยไม่รู้ว่าปรมัตถธรรมใดเกิดแล้วดับ แต่โดยการฟังเราทราบว่าปรมัตถธรรมซึ่งเกิดดับมี ๓ อย่าง คือ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ หรือจะพูดว่าสภาพปรมัตถธรรม หรือสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดแล้วดับทันทีที่ปรากฏเพราะเกิด แล้วเมื่อเกิดแล้วก็ดับทันที นี่คือสภาพความจริงของปรมัตถ์ธรรมทั้ง ๓ ปรมัตถ์
แล้วคือคุณสุรีย์ถามต่อจากเรื่องของสังขารธรรมที่เราต้องรู้ เพราะเหตุว่าปรมัตถ์ธรรมมี ๔ จริง แต่ ๓ ปรมัตถ์นั้นเป็นสังขารธรรม ส่วนนิพพานนั้นเป็นวิสังขารธรรมปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีอะไรปรุงแต่งเลย เพราะฉะนั้น นิพพานก็ไม่ใช่สภาพที่เกิด และก็ดับ เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรม ๔ นั้นต่างกันเป็นสังขารธรรม และวิสังขารธรรม ซึ่งถ้าอาศัยโดยที่อาจารย์สมพรท่านบอกว่าสังขตธรรมคือเกิดแล้ว ก็คือที่เรากำลังเห็นคือเกิดแล้ว แต่ว่าเราไม่ประจักษ์การดับ และไม่ประจักษ์การเกิดด้วย ขณะนี้จิตเห็นกำลังเกิดแล้วดับ แต่ก็ไม่ประจักษ์ทั้งการเกิด และการดับ
แต่ก็ให้ทราบว่าสภาพปรมัตธรรม ๓ เกิดดับ เป็นสังขารธรรม ส่วนนิพพานเป็นวิสังขารธรรม สภาพธรรมคือจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์เกิดแล้ว ปรุงแต่งแล้วเป็นสังขารธรรมส่วนนิพพานนั้นเป็นอสังขตะธรรม นี้ก็ตอนหนึ่งที่จำเป็นที่ว่าเมื่อเราศึกษาเรื่องอะไรแล้วก็อย่าผ่านไป หรือว่ารู้เพียงชื่อ แต่พยายามเข้าใจให้ลึกลงไปถึงสภาพธรรมนั้นจริงๆ ว่าไม่ใช่มีอยู่พร้อมแล้วก็มาแสดงตัว หรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยเกิดนิดเดียวแล้วก็ดับไปเลย ต้องมีปัจจัยแต่ละปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างปรากฏ นี่คือความหมายของสังขารธรรม และสังขตธรรม และที่เราแยกเป็นขันธ์ ก็เพราะเหตุว่า สภาพธรรมที่ใช้คำว่าขันธ์ ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ลึก และกว้าง และก็แล้วแต่ที่ใช้ แล้วจะเอาความหมายทั้งหมดมาประกอบกันก็เป็นความหมายอันเดียวกัน คือจะใช้คำแปลของขันธ์ว่า "กอง" ก็มีที่ใช้ จะใช้คำว่างเปล่าอย่างที่คุณนิภัทรว่าว่างเปล่าก็ได้ คือ ถ้ารู้รากศัพท์ หรือว่าตัวศัพท์ของภาษาบาลี ก็จะไม่พ้นจากความจริงของปรมัตถ์ธรรมนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นขันธ์ซึ่งเป็นสภาพที่ว่างเปล่าจากตัวตน เป็นแต่ธรรมแต่ละชนิดๆ ซึ่งเกิดดับ แต่ว่าก็สามารถที่จะจำแนกเป็นประเภทๆ ต่างๆ ได้ เช่น รูปทุกชนิดต่างกับนามธรรม เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น สิ่งที่แข็งเราไปตีซักเท่าไหร่ ก็ไม่เจ็บ แข็งนั้นไม่มีความรู้สึกเจ็บ ไม่ปวด ไม่เมื่อย ไม่คิด ไม่จำ ไม่สุข ไม่ทุกข์ สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรมทั้งหมด เราจะมองเห็น หรือมองไม่เห็น สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาพระพุทธศาสนาก็จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เฉพาะโลกนี้ หรือตัวเรา หรือบุคคลใกล้เคียงเท่านั้นที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ไม่ว่ากี่จักรวาล จะพ้นจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้าแยกสภาพธรรมออกเป็น ๒ อย่างใหญ่ๆ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมก็เป็นประเภทหนึ่ง สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นรูปปรมัตถ์เป็นรูปขันธ์หมายความว่าเป็นส่วนของรูป เป็นฝ่ายรูป เป็นกองรูป เป็นประเภทรูป จะไม่เกี่ยวข้องกับนามหนึ่งนามใดเลยทั้งสิ้น เวลานี้ไม่ว่าเราจะเห็น จะได้ยิน จะกระทบสัมผัสอะไร รูปไม่สามารถที่จะรู้เลยว่ามีเรากำลังกระทบสัมผัส กำลังเห็น หรือว่ากำลังได้ยิน รูปเป็นสภาพที่ไม่รู้ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน อย่างไรๆ ก็ตาม ลักษณะของรูปเป็นสภาพที่ไม่รู้แต่ว่าลักษณะของจิต เจตสิก ซึ่งเป็นปรมัตธรรม เป็นนามธรรมนั้นเป็นสภาพรู้ นี้ก็ต้องแยกออกจากกัน เพราะเหตุว่า ขณะนี้จิต เจตสิก ก็เกิดร่วมกัน โดยที่แยกไม่ออก ไม่มีใครสามารถที่จะไปแยกนามธรรมซึ่งเกิดร่วมกันออกได้ แต่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมได้ว่า รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่โดยอาศัยการศึกษาก็จะทำให้เรารู้ว่า แม้แต่สภาพที่เป็นนามธรรมมองไม่เห็นเลย แต่ว่าอาการลักษณะกิจการงานต่างๆ ของนามธรรมนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกนามธรรมออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือจิตปรมัตถ์ และเจตสิกปรมัตถ์ เป็นนามธรรมด้วยการรู้อารมณ์ด้วยกัน แต่ต่างกัน นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าเราไม่ศึกษาอย่างนี้ เราไม่มีโอกาสจะเข้าใจความต่างกันของจิต เจตสิก แต่ว่าโดยการที่จะประจักษ์แจ้ง หรือการที่จะรู้ว่าสภาพนั่นไม่ใช่ตัวตน เราไม่จำเป็นต้องเอาชื่อมาเกี่ยวข้องเลย แต่หมายความว่าเราเริ่มรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมก่อน แต่การที่การจะศึกษาเรื่องของจิตซึ่งเป็นนามธรรมว่าต่างกับเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรม ก็เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาของเราไม่เจริญขึ้นไม่มีทางเลยที่ใครจะมาบอกเราว่านามธรรมไม่ใช่ตัวตน แล้วเราก็จะไปประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมว่าไม่ใช่ตัวตนได้
เพราะฉะนั้น การศึกษาปรมัตถธรรม ทำให้ปัญญาของเราเริ่มมองเห็นสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนยิ่งขึ้นทีละเล็กทีละน้อยๆ จนกว่าสติจะเกิด แล้วระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรม โดยที่เราไม่ต้องใส่ชื่อว่านี่เป็นจิต หรือนั้นเป็นเจตสิก แต่เราเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือ อาการรู้ว่ามีลักษณะต่างๆ นาๆ นามธรรมไม่ใช่มีอย่างเดียวเลย ความรู้ที่เราอาศัยการฟังทำให้เราสามารถจะเข้าใจในความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของนามธรรม และรูปธรรม เพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความรู้ขั้นต้นเลย แล้วบอกให้สติระลึก สติจะระลึกอะไร ไม่มีทางที่สติจะเกิดแล้วก็ระลึกได้เลย เพราะว่าไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ แต่พอมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเป็นปัจจัยให้มีการระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แทนที่จะฟังไปเฉยๆ ขณะนี้ก็มีสภาพรู้ ทางตาเป็นลักษณะอาการของนามธรรม เราก็พูดเรื่องนี้ แม้แต่ ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงในพระไตรปิฏก ก็จะไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะว่าผู้ฟังยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน
ด้วยเหตุนี้จึงทรงแสดงเรื่องของนามธรรม และรูปธรรมไว้โดยละเอียด และเราก็ไม่มีสักครั้งซึ่งมาที่นี่ หรือที่ไหนก็ตามที่จะไม่พูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็พูดซ้ำไปซ้ำมาเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นก็เป็นการที่เราจะค่อยๆ ศึกษาไปแม้แต่ขันธ์ ๕ ก็แยก ๑ รูปขันธ์ เป็นรูปเท่านั้นไม่ใช่นามเลย ได้แก่รูปปรมัตถ์อย่างเดียว ส่วนเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งทุกคนรู้สึกจะ ว่าชื่อไม่ลำบากเลย แต่ตัวจริงที่เรากำลังเอ่ย เช่น เวทนาขันธ์ก็ตาม สัญญาขันธ์ก็ตาม ตัวจริงกำลังทำงานอยู่ทุกขณะ แต่เราก็เอ่ยถึงเขาโดยที่ไม่รู้ลักษณะของเขาเลยว่านี่คือสภาพที่เรากำลังกล่าวถึง เพราะฉะนั้นโดยชื่อนี่ไม่ยาก แต่การที่จะให้เข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็แสดงให้เห็นว่า เราก็ต้องมีความเข้าใจว่า รูปส่วนรูป เป็นรูปขันธ์ ส่วนนามขันธ์ มี ๔ เพราะเหตุว่า ขันธ์มี ๕ ขันธ์ เป็นรูปขันธ์ ๑ ขันธ์ อีก ๔ ขันธ์ ต้องเป็นอะไรคุณประทีป
ผู้ฟัง เป็นนามธรรมครับ
ท่านอาจารย์ แน่ใจนะคะ
ผู้ฟัง แน่ใจครับ
ท่านอาจารย์ จิตเป็นนามขันธ์ หรือรูปขันธ์
ผู้ฟัง เป็นนามขันธ์ครับ
ท่านอาจารย์ แล้วก็เจตสิกเป็นนามขันธ์ หรือรูปขันธ์?
ผู้ฟัง นามขันธ์ครับ
ท่านอาจารย์ เสียงเป็นขันธ์อะไร
ผู้ฟัง เป็นรูปขันธ์ครับ
ท่านอาจารย์ โกรธเป็นขันธฺ์อะไร
ผู้ฟัง รูปขันธ์ครับ ..อ๋อ ความโกรกธ หรือครับ
ท่านอาจารย์ นี่แสดงว่าเสียงข้างนอกเข้าใจชัด คุณประทีปก็เข้าใจแต่สับสน
แต่ทุกคนก็รู้สึกจะเข้าใจเรื่องขันธ์ ๕ ดี แต่ต้องเข้าใจว่าขันธ์ ๕ ก็คือปรมัตถ์ธรรม ๓ ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ขันธ์ ๕ ก็คือปรมัตถ์ธรรม ๓ ครับผม
ท่านอาจารย์ และอีกปรมัตถธรรม๑ ทำไมไม่ใช่ขันธ์
ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นสภาวะที่ไม่มีการปรุงแต่งครับ
ท่านอาจารย์ ไม่มีการเกิดขึ้นไม่มีการดับไป
ผู้ฟัง อีกคำถามเดียวในเรื่องขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนากับสัญญาก็คือตัวเจตสิกซึ่งอยู่ในปรมัตถ์ ทำไมจึงแยกออกมา ๒ จากสังขาร ๕๐
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นอธิบายจิตกับเจตสิกต่างกันก่อน ก่อนที่จะถึงเวทนาขันธ์ กับสัญญาขันธ์ เวลานี้เราก็พูดปรมัตถ์ธรรม ๔ มาโดยเผินๆ ต้องใช้คำว่าเผิน คือโดยจำนวน โดยสภาพที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือโดยสังขารธรรม กับวิสังขารธรรม สังขตธรรมกับอสังขตะธรรม นามธรรมกับรูปธรรม นี้โดยกว้าง แต่ตอนนี้เราก็ใกล้เข้ามาอีกนิดหนึ่ง คือ เมื่อจิต เจตสิกไม่ใช่รูป เป็นนามธรรม แล้วต่างกันอย่างไร
ผู้ฟัง จิตคือเป็นสภาพรู้ เจตสิก คือ สิ่งปรุงแต่งจิต นั่นคือความต่างกัน จิตก็จะอยู่คนเดียวไม่ได้ เขาต้องมีตัวรู้
ท่านอาจารย์ ประเด็นนี้อยากจะให้เข้าใจความต่างกันของจิตเจตสิกให้มากกว่านี้ ก่อนที่จะไปถึงเรื่องเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งแยกออกไปจากเจตสิก ๕๒ กับ จิต ที่อยากจะให้เข้าใจลักษณะที่ต่างกันของจิตกับเจตสิกเสียก่อนว่าเมื่อเป็นนามธรรมด้วยกัน ทำไมจะเป็นอย่างเดียวกันไม่ได้ หรือ
ผู้ฟัง ไม่ได้เพราะจิตเป็นสภาพรู้ เจตสิกคือสิ่งปรุงแต่ง เป็นคนละตัว
ท่านอาจารย์ เจตสิกเป็นนามธรรม หรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ นามธรรมหมายความว่าอะไร
ผู้ฟัง ก็คือสภาพรู้เหมือนกันแต่เขาจะรู้ของเขาแยกกันไม่ได้ เขาต้องไปรวมกัน ก็ต้องสัมมปยุตต์กันเข้าไปร่วมกันอย่างสนิทเขาถึงจะรู้ได้
ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตามแต่ แต่ว่าแยกลักษณะของเขาให้ชัดๆ ออกมาเลยว่าเขาต่างกันอย่างไร
ผู้ฟัง เจตสิกเขาปรุงแต่งจิต ความต่างกันอยู่ที่ว่าจิตเป็นประธานเป็นใหญ่ในการรู้
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ขยายออกไปอีกหน่อย
ผู้ฟัง จิตเป็นประธานใหญ่ ใครจะรู้ดีกว่าจิตไม่ได้ แม้ว่าจิตจะเป็นนามธรรม นามธรรมคือสภาพรู้ ก็จริง แต่เจตสิกนั้นต้องเป็นลูกน้องจิต เป็นลูกน้องจิตในเรื่องของสภาพรู้ แต่เขาเป็นนายจิต ในเรื่องว่าถ้าจิตไม่มีเจตสิก จิตทำงานไม่ได้เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ นี่อธิบายความหมายของความเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ของจิต
ผู้ฟัง จิตรู้ทุกอย่าง จิต รู้แม้แต่ตัวของจิตเอง
ท่านอาจารย์ เจตสิกรู้มั้ย
ผู้ฟัง เจตสิกต้องไปอยู่กับจิตถึงจะรู้
ท่านอาจารย์ ไม่ค่ะ หมายความว่าเจตสิก เราพูดถึงเจตสิก
ผู้ฟัง เจตสิกแต่ละเจตสิกก็รู้ มีกิจของเจตสิกแต่ละกิจ
ท่านอาจารย์ จิตก็มีกิจ
ผู้ฟัง หมายความว่า กิจของจิตนั้น เป็นประธานในการรู้ ใหญ่ในการรู้ แต่เจตสิกเขาแยกออกไป ถ้าจะพูดละเอียด ๕๒ เจตสิก และ ๕๒ หน้าที่ แต่ละตัว ก็แต่ละกิจ เข้าใจ แต่ละตัวก็รู้แต่ละกิจ ไม่เหมือนกับจิตซึ่งเขาไม่ได้แยก แต่ก็ใหญ่ เขารู้คนเดียว
ท่านอาจารย์ ขอให้คุณหมอสันต์ชัยช่วยอธิบายความเป็นใหญ่ของจิต
ลักษณะความเป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ของจิตต่างกับเจตสิกอย่างไร
ผู้ฟัง จิตเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนของตนเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ แต่ในการรู้อารมณ์ เพราะว่าจิตก็รู้อารมณ์ เจตสิกรู้อารมณ์ แต่ที่ใช้คำว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะต่างๆ ของอารมณ์อย่างชัดเจน มันเป็นลักษณะของจิต เพราะว่าจิตเขาจะไม่ทำหน้าที่อื่นในเจตสิกเลย จิตรู้อย่างเดียว จิตไม่จำ จิตไม่โกรธ ไม่เมตตา ไม่อะไรหมด ลักษณะของจิตนั้น เป็นแต่เพียงว่าสภาพที่เป็นใหญ่เฉพาะในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ในความชัดเจนของลักษณะที่ต่างๆ กันของอารมณ์ที่ปรากฏ
ผู้ฟัง นี่ท่านอาจารย์กำลังพูดถึงจิตใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ลักษณะของจิตที่ว่าเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้ง เพราะเหตุว่า ไม่ใช่รู้ด้วยความเข้าใจว่าไม่ใช่ตัวตนอย่างปัญญา และก็ไม่ใช่ไปรู้อย่างจำไว้อย่างสัญญา แต่ว่าในขณะที่สภาพธรรมใดกำลังปรากฏก็ตาม อย่าลืมว่าอารมณ์ที่ปรากฏมีมากมายหลายอย่าง เช่น เสียง มีตั้งหลายเสียง พอได้ยินเสียงปุ๊บรู้เลยว่าใคร อย่างเครื่องดนตรีแต่ละชนิดที่รู้ได้ รู้ในลักษณะที่ต่างกันอย่างชัดเจนในความแตกต่างนั้นคือสภาพของจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะที่ต่างกันของอารมณ์ แต่ไม่จำ และก็ไม่สุขไม่ทุกข์ด้วย มีหน้าที่อย่างเดียว คือ รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ รู้อย่างชัดเจนในลักษณะที่ต่างๆ กันของอารมณ์ นั้นคือจิต แต่เจตสิกรู็อารมณ์เดียวกับจิต ไม่ว่าจิตรู้อะไร เจตสิกก็รู้อารมณ์นั้น จิตได้ยินเสียง เจตสิกก็รู้เสียง แต่ว่าเจตสิกแต่ละชนิด ไม่ใช่เป็นใหญ่ โดยการไปรู้อย่างชัดเจนในลักษณะที่ต่างกันของอารมณ์
- สนทนาธรรม ตอนที่ 001
- สนทนาธรรม ตอนที่ 002
- สนทนาธรรม ตอนที่ 003
- สนทนาธรรม ตอนที่ 004
- สนทนาธรรม ตอนที่ 005
- สนทนาธรรม ตอนที่ 006
- สนทนาธรรม ตอนที่ 007
- สนทนาธรรม ตอนที่ 008
- สนทนาธรรม ตอนที่ 009
- สนทนาธรรม ตอนที่ 010
- สนทนาธรรม ตอนที่ 011
- สนทนาธรรม ตอนที่ 012
- สนทนาธรรม ตอนที่ 013
- สนทนาธรรม ตอนที่ 014
- สนทนาธรรม ตอนที่ 015
- สนทนาธรรม ตอนที่ 016
- สนทนาธรรม ตอนที่ 017
- สนทนาธรรม ตอนที่ 018
- สนทนาธรรม ตอนที่ 019
- สนทนาธรรม ตอนที่ 020
- สนทนาธรรม ตอนที่ 021
- สนทนาธรรม ตอนที่ 022
- สนทนาธรรม ตอนที่ 023
- สนทนาธรรม ตอนที่ 024
- สนทนาธรรม ตอนที่ 025
- สนทนาธรรม ตอนที่ 026
- สนทนาธรรม ตอนที่ 027
- สนทนาธรรม ตอนที่ 028
- สนทนาธรรม ตอนที่ 029
- สนทนาธรรม ตอนที่ 030
- สนทนาธรรม ตอนที่ 031
- สนทนาธรรม ตอนที่ 032
- สนทนาธรรม ตอนที่ 033
- สนทนาธรรม ตอนที่ 034
- สนทนาธรรม ตอนที่ 035
- สนทนาธรรม ตอนที่ 036
- สนทนาธรรม ตอนที่ 037
- สนทนาธรรม ตอนที่ 038
- สนทนาธรรม ตอนที่ 039
- สนทนาธรรม ตอนที่ 040
- สนทนาธรรม ตอนที่ 041
- สนทนาธรรม ตอนที่ 042
- สนทนาธรรม ตอนที่ 043
- สนทนาธรรม ตอนที่ 044
- สนทนาธรรม ตอนที่ 045
- สนทนาธรรม ตอนที่ 046
- สนทนาธรรม ตอนที่ 047
- สนทนาธรรม ตอนที่ 048
- สนทนาธรรม ตอนที่ 049
- สนทนาธรรม ตอนที่ 050
- สนทนาธรรม ตอนที่ 051
- สนทนาธรรม ตอนที่ 052
- สนทนาธรรม ตอนที่ 053
- สนทนาธรรม ตอนที่ 054
- สนทนาธรรม ตอนที่ 055
- สนทนาธรรม ตอนที่ 056
- สนทนาธรรม ตอนที่ 057
- สนทนาธรรม ตอนที่ 058
- สนทนาธรรม ตอนที่ 059
- สนทนาธรรม ตอนที่ 060