สนทนาธรรม ตอนที่ 016
ตอนที่ ๑๖
สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑
พ.ศ. ๒๕๓๘
ท่านอาจารย์ จิตได้ยินเสียง เจตสิกก็รู้เสียง แต่ว่าเจตสิกแต่ละชนิดไม่ใช่เป็นใหญ่ในการไปรู้แจ้งชัดเจนในลักษณะที่ต่างกันของอารมณ์ แต่ว่าเป็นสภาพที่ทำหน้าที่เฉพาะของตนๆ เช่น เวทนาเจตสิกเป็นความรู้สึก ทันทีที่มีการกระทบ และมีอารมณ์ปรากฏต้องมีความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใด ลักษณะที่รู้สึกเฉยๆ หรือว่าลักษณะที่รู้สึกดีใจ ลักษณะที่เสียใจ หรือลักษณะที่ทุกข์กาย ลักษณะที่สุขทางกาย นั่นคือสภาพของเวทนาไม่ใช่จิต
เพราะฉะนั้นจิตจะเกิดปราศจากเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกก็เกิดโดยปราศจากจิตไม่ได้ด้วย ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น นี่แสดงให้เห็นว่า เมื่อสภาพธรรมใดเกิดขึ้นจะต้องมีสภาพธรรมอื่นเกิดร่วมด้วย แล้วก็เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันด้วย แต่ให้ทราบว่าจิตนั้นเป็นเพียงธาตุรู้ เป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ แต่เจตสิกแต่ละชนิดมีถึง ๕๒ ประเภท ก็มีลักษณะ และมีกิจการงานของเจตสิกนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ก็จะมาถึงเรื่องที่ว่า ทำไมแยกเวทนาเจตสิก กับ สัญญาเจตสิกออกเป็นเวทนาขันธ์ และสัญญาขันธ์ ส่วนเจตสิกอื่นๆ ก็เป็นสังขารขันธ์
ผู้ฟัง ตามความเข้าใจของผม แล้วก็เคยได้ยินมาบ้าง สัตว์โลกติดในเวทนา และสัญญามาก เคยได้ฟังในพระสูตรหนึ่งว่า เวทนาเปรียบเสมือนความใคร่ ส่วนสัญญาเป็นเหมือนกับสมุฎฐานของความใครนั่นเอง เพราะฉะนั้น ๒ ตัวเป็นจุดใหญ่เป็นสภาพธรรมที่ทำให้สัตว์โลกติด สัญญาก็จำ จำอารมณ์ดี อารมณ์ร้ายทุกอย่าง จำแล้วก็แสวงหาในสิ่งที่ตัวจำ แสวงหาทำไม แสวงหาเพื่อให้ได้เวทนา คือสุขเวทนานั้นเอง ก็จึงเห็นความสำคัญของว่า เวทนานี้ก็เป็นสภาพธรรมที่ใหญ่ และมีความสำคัญ จึงทรงแยกเอาไว้เป็นขันธ์ๆ หนึ่ง และสัญญาก็อยู่ในลักษณะนี้ด้วยเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราก็ยึดขันธ์ทั้ง ๕ คือ ทั้งจิต เจตสิก รูป ทั้งปรมัตถ์ธรรม ๓ เป็นตัวตนแต่เหตุที่ทรงลำดับขันธ์ ๕ เป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็คือชีวิตประจำวัน ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ที่เราเกิดมาแล้วเห็น แล้วได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เราติดในสิ่งที่ปรากฏให้เราเห็น ให้เราได้ยิน เพราะฉะนั้น เราติดในรูปมาก มากจนบอกไม่ถูกว่าแต่ละคนติดแค่ไหน เพราะวันหนึ่งๆ ที่ทุกคนปรารถนาก็ปรารถนารูป สีสวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อย สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ต้องนุ่มสบาย แม้แต่เก้าอี้นั่ง หรือที่นอน หรือท่านอุปมาไว้ละแม้ไม่มีหมอนก็ยังใช้แขนหนุน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าเรานี่พอใจที่จะมีการกระทบสัมผัสที่สบาย
เพราะฉะนั้น รูปเป็นสิ่งเป็นที่พอใจ เป็นที่ยึดมั่น เป็นอุปาทานขันธ์ เป็นสิ่งซึ่งอุปาทานมีความยึดมั่น มีความติดข้อง มีความพอใจ มีใครไม่ต้องการรูปบ้าง มี หรือไม่ ก็ต้องการทุกคน ทุกคนต้องการ จะปฏิเสธไม่ได้เลย เพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อเวทนา
ท่านอาจารย์ เพื่อความรู้สึกที่สบาย หรือเป็นสุข เพราะฉะนั้นเรียงลำดับจากรูปขันธ์ ก็คือเวทนาขันธ์ ที่เราต้องการเห็นนี้เพื่อต้องการให้มีความรู้สึกชอบ สุขสบายพอใจโสมนัสยินดีในสิ่งที่เห็น ใครต้องการเห็นอะไรก็รู้เถอะว่าเขาแสวงหาความรู้สึกที่เป็นสุขที่เกิดจากสิ่งที่เขาเห็น หรือทางหูเสียง กลิ่น รสอาหารที่เราไปที่โต๊ะเมื่อครู่นี้ต่างคนก็ต่างเลือกสำหรับเวทนาของแต่ละคนที่จะรู้สึกโสมนัส หรือว่าเป็นสุขที่ได้รับรสอาหารที่พอใจ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าความสุขของเรานี่อยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็ไม่ใช่เพื่อใครเลย ถ้าไม่มีเวทนาสภาพที่รู้สึก ทันทีที่กระทบ หรือมีอารมณ์ปรากฏ เวทนาเป็นสภาพที่รู้สึก เพื่อตัวนี้ตัวเดียว เพราะฉะนั้น บางคนก็เรียกเจ้าตัวนี้ว่าเจ้าตัวร้าย แต่ความจริงก็ร้ายทุกตัว แต่เห็นว่าตัวร้ายก็คือว่าทำให้เรานี่ต้องการบ่อยๆ แสวงหาความรู้สึกที่จะให้เป็นสุข และความสุขที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ลบเลือนหายไปยังจำได้เพราะสัญญาความจำ
เพราะฉะนั้น สัญญาก็เป็นเจตสิกที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เราจำผิดจำถูก จำทุกข์เป็นสุข จำไม่ใช่ตัวตนเป็นตัวตน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของสัญญา เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าที่เรามีชีวิตอยู่ทุกวันต้องเพราะสัญญาด้วย ถ้าเราจำอะไรไม่ได้เลย จำอาหารไม่ได้ จำโต๊ะไม่ได้ จำเก้าอี้ไม่ได้จำเสื้อผ้าไม่ได้ เราก็มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่รูปขันธ์ซึ่งเป็นอุปาทานที่ยึดมั่นสำหรับให้เวทนาขันธ์เกิดขึ้นมีความรู้สึกสุข ทุกข์ ในสิ่งนั้น ก็ยังต้องมีสัญญาซึ่งเป็นสภาพที่จำเป็นขันธ์หนึ่ง นอกจากนั้นก็รวมเป็นสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นประเภทต่างๆ แล้วแต่ว่าถ้าโลภะเกิดขึ้นเป็นสังขารขันธ์ก็ปรุงแต่งให้มีการติดข้อง หมกมุ่นพอใจ เพลิดเพลินในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าเป็นโทสะ ก็เป็นสังขารขันธ์อีก ปรุงแต่งจิตให้ทุรนทุรายเกรี้ยวกราด โกรธ สารพัดที่จะทำไปด้วยกำลังของโทสะ
เพราะฉะนั้น ถ้าจะมีสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ ก็เห็นบทบาทของเจตสิกแต่ละประเภทซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานนั้น ไม่ใช่เราเลย เวลาโกรธนี่จะเป็นอย่างหนึ่ง แม้แต่ความคิด คำพูดห รือการกระทำ สีหน้าแววตาทุกอย่างหมด นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้จิตเป็นอย่างนั้นๆ ตั้งแต่ใจ จนกระทั่งถึงกาย และวาจาด้วย
ส่วนจิตก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ก็เป็นวิญญาณขันธ์ ขอให้คุณประทีปทบทวนขันธ์ ๕ อีกครั้ง
ผู้ฟัง ก็มีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
ท่านอาจารย์ รูปขันธ์ได้แก่อะไร
ผู้ฟัง รูปขันธ์ได้แก่สภาพที่ไม่รู้อารมณ์ ที่ไม่รับรู้อารมณ์
ท่านอาจารย์ รูปขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง ได้แก่รูปปรมัตถ์
ท่านอาจารย์ รูปทั้งหมดเลย เป็นรูปขันธ์ รูปทุกรูป ใช้คำว่ารูปทุกรูป เป็นรูปขันธ์
ผู้ฟัง ครับ รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์
ท่านอาจารย์ เวทนาขันธ์ได้แก่ปรมัตถ์อะไร
ผู้ฟัง ได้แก่เจตสิกปรมัตถ์ครับ
ท่านอาจารย์ กี่เจตสิก เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ชนิด แต่ละชนิดะจะมีลักษณะเฉพาะของเขา ที่เราใช้คำว่าเวทนาในภาษาบาลี ภาษาไทยเราก็คือ รู้สึก เป็นสภาพที่รู้สึก เสียใจเป็นอะไร
ผู้ฟัง เสียใจเป็นเวทนา
ท่านอาจารย์ รู้สึกดีใจเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นเวทนา
ท่านอาจารย์ ทุกข์
ผู้ฟัง ทุกข์ก็เป็นเวทนา
ท่านอาจารย์ เฉยๆ
ผู้ฟัง เป็นเวทนา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่เฉยๆ เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง สุขก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง ทุกข์ก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง โสมนัส โทมนัสก็เป็นความรู้สึก ได้แก่เวทนาเจตสิกประเภทหนึ่ง ใน ๕๒ แต่เขามีถึง ๕ ลักษณะ คือความรู้สึกนั่นเอง จะรู้สึกอย่างไรก็ตามแต่ ได้แก่เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึกซึ่งมี ๕ อย่าง แต่ก็คือเวทนาเจตสิกเท่านั้นเอง รูปขันธ์ได้แก่ปรมัตถ์อะไร
ผู้ฟัง รูปขันธ์ได้แก่รูป ๒๘ รูป
ท่านอาจารย์ ทุกรูป
ผู้ฟัง ครับ ทุกรูป
ท่านอาจารย์ เวทนาขันธ์ได้แก่ปรมัตถ์อะไร
ผู้ฟัง เวทนาขันธ์ ได้แก่เจตสิกปรมัตถ์ครับ
ท่านอาจารย์ ได้แก่เจตสิกกี่ดวง หรือกี่ประเภท
ผู้ฟัง หนึ่งประเภท
ท่านอาจารย์ เวทนาขันธ์ได้แก่เวทนาเจตสิกเท่านั้น
ผู้ฟัง ครับผม
ท่านอาจารย์ เหลืออีกกี่ดวงคะ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒
ผู้ฟัง เหลือ ๕๑ ดวง
ท่านอาจารย์ เหลือ ๕๑ ตอนนี้มาถึงสัญญาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ ลักษณะของเขาคือจะจำ หมายรู้สิ่งที่ปรากฏ จำได้ ขณะที่จำได้คือสัญญาเจตสิก เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ใน ๕๒ ชนิด ซึ่งเวทนานี่จำได้ไหม
ผู้ฟัง เวทนาจำไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ สัญญารู้สึกได้ไหม
ผู้ฟัง สัญญารู้สึกไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวทนาก็คือเวทนา คือรู้สึก จะไปทำหน้าที่อื่นมีลักษณะอย่างอื่นไม่ได้สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ จะทำอย่างอื่นอีกไม่ได้เหมือนกัน จำได้อย่างเดียว เพราะฉะนั้นสัญญาขันธ์ได้แก่เจตสิกอะไร
ผู้ฟัง สัญญาขันธ์ได้แก่สัญญาเจตสิก
ท่านอาจารย์ ได้แก่เจตสิกกี่ดวง
ผู้ฟัง หนึ่งดวง
ท่านอาจารย์ หนึ่งดวง เพราะฉะนั้นเหลืออีกกี่ดวง เหลือ ๕๐ ใช่ไหม เพราะว่าเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ ๑ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ได้แก่ปรมัตถ์อะไร
ผู้ฟัง สังขารขันธ์ได้แก่ ...
ท่านอาจารย์ ปรมัตถ์มี ๔ ที่เป็นขันธ์ได้แก่ปรมัตถ์ธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูปเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ได้แก่เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาขันธ์ได้แก่สัญญาเจตสิก ๑ เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร เวทนาขันธ์ได้แก่เวทนาเจตสิก ๑ ใน ๕๒ สัญญาขันธ์ได้แก่สัญญาเจตสิก ๑ ใน ๕๒ เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร
ปรมัตถธรรมมี ๓ รูปเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นเจตสิก ๕๒ จะเป็น ๓ ขันธ์ คือเวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร
ผู้ฟัง ผมยังไม่ค่อยเข้าใจคำถามอาจารย์
ท่านอาจารย์ คือปรมัตถธรรมมี ๔ ที่เป็นขันธ์ได้แก่ปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป เป็นขันธ์ ๕ รูปเป็นรูปขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ ก็เหลือเจตสิกอีก ๓ ขันธ์ต้องได้แก่เจตสิก เพราะว่ารูปเป็นรูปขันธ์ และจิตเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เจตสิก ๕๒ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ ๑ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ ๑ เหลือเจตสิกอีกเท่าไหร่
ผู้ฟัง เหลือ ๕๐
ท่านอาจารย์ เป็นเวทนาขันธ์ ๑ เป็นสัญญาขันธ์ ๑ อีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์
ผู้ฟัง สังขารขันธ์ ๕๐
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์ ได้แก่เจตสิกอะไร
ผู้ฟัง สังขารขันธ์ ก็ได้แก่เจตสิกทั้ง ๕๐ ครับ
ท่านอาจารย์ มั่นใจนะคะ หมายความว่าถ้าเข้าใจจริงๆ โดยจำนวน เราให้ทราบก่อนว่ามีเจตสิกใน ๕๒ ใช่ไหมคะ แต่เมื่อพูดถึงขันธ์ ๕ เราจะรู้เลยว่า ๕ ขันธ์ มีรูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์หนึ่ง ถ้าเอารูปขันธ์เป็นรูป วิญญาณขันธ์เป็นจิต ที่เหลือก็คือ ๕๒ เป็นเวทนาขันธ์ ๑ เป็นสัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์มีเจตสิกเท่าไหร่
ผู้ฟัง สังขารขันธ์มีเจตสิก ๕๐
อ.นิภัทร เหตุใดถึงเอาเวทนาเจตสิกมาเป็นเวทนาขันธ์ เอาสัญญาเจตสิกดวงเดียวมาเป็นสัญญาขันธ์ ที่ได้ฟังท่านอาจารย์ ผมเข้าใจว่าพระพุทธองค์ทรงจัดขันธ์ทั้ง ๕ และแสดงขันธ์ทั้ง ๕ แสดงตามความรู้สึก หรือความเป็นจริงที่ธรรมดาทั่วไปรู้สึกอยู่อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ ตามการยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตน เป็นอุปทานขันธ์
อ.นิภัทร แล้วก็มาปรากฏปรากฏที่ทั่วไปรู้สึกกันอยู่
ท่านอาจารย์ เท่าที่จะรู้ได้
อ.สมพร ขอเพิ่มเติมอีกนิดหน่อย ในจิตดวงหนึ่งที่เกิดขึ้น เอาดวงเดียวที่เกิดขึ้นจะมีเวทนาได้เพียง ๑ เวทนา จะมีสัญญาได้เพียง ๑ สัญญาในจิตดวง ๑ ที่เกิดขึ้น เวทนาขันธ์เพียงเวทนาเดียว จิตดวงหนึ่ง สัญญาก็เช่นเดียวกันมีสัญญาขันธ์เพียง ๑ ส่วนสังขารขันธ์นั้นมีได้มาก แล้วแต่ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ในขันธ์ ๕ นี้ มีนามมากกว่ารูป พระพุทธองค์ทรงแสดงปรมัตธรรมทั้งหมดมี ๔ ให้กับบุคคลที่ติดในนามก็แสดงขันธ์ ๕ ติดในนามมาก ถ้าติดในรูปมาก พระองค์ก็ทรงแสดงด้วยอำนาจอายตนะ ถ้าติดทั้งนามทั้งรูป คือ ยึดมั่นในนามในรูป ก็แสดงธาตุ ๑๘ ดังนั้น ธรรมทั้งหมด ชื่อว่าขันธ์ อายตนะ ธาตุ ก็คือนามรูป ก็คือปรมัตถธรรม
ผู้ฟัง สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา คำว่าสังขารในที่นี้เป็นภาษาไทย แปลว่าร่างกาย หรือว่าสังขารนี้บาลีแปลว่าเจตสิก ๕๐ ดวง
อ.สมพร สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา คำว่าสังขารนั้น ได้แก่นาม และรูป สังขารคือสภาวะที่มีการปรุงแต่งเกิดขึ้นก็คือรูป และนาม ๒ อย่างนี้ และพูดโดยย่อคือรูป และนาม รูปก็คือรูปในร่างกายของเราที่เรียกว่าเป็นปรมัตถ์ ทั้งหมดก็ต้องเกิดขึ้นต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา และนามก็เกิดขึ้นแล้วก็ต้องเปลี่ยนไป ไม่คงที่ พระองค์ตรัสรวมกันเลยทั้งรูปทั้งนาม เรียกว่าสังขาร คำว่าสังขารเป็นชื่อรวม ไม่ใช่เฉพาะเจตสิกทั้งหมด ทั้งรูป ทั้งจิต ทั้งเจตสิก รวมกันเรียกว่าสังขาร สังขารกับสังขารขันธ์ต่างกัน สังขารนั้นหมายถึงจิตด้วย เจตสิกด้วย รูปด้วย เรียกว่าสังขาร ถ้าสังขารขันธ์ หมายถึง ... เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ คือ ๑ เวทนา ๒ สัญญา ที่เหลือ ๕๐ เรียกว่าสังขารขันธ์
อ.นิภัทร ขอถามทำไมเราถึงมานั่งหลังขดหลังแข็งเรียนรู้เรื่องขันธ์มีประโยชน์อะไร เรียนไปทำอะไร
ผู้ฟัง เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นกับเรา และปรมัตถธรรมอะไรที่เรากำลังควรสนใจรู้ และทำความเข้าใจไว้ครับ
อ.นิภัทร เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ขันธ์ ๕ ก็คือเรียนรู้เรื่องตัวเองนี่ใช่ไหม
ผู้ฟัง ถูกต้องครับ
อ.นิภัทร เรียนนรู้เรื่องตัวเองนี้มีประโยชน์อะไร
ผู้ฟัง เพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าตัวเราไม่มี
อ.นิภัทร ที่ว่าเราแต่ละคนนี่รวมอยู่ใช่ไหม รวมอยู่เป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคล แล้วก็ยึดมั่นถือมั่น ติดอยู่ในตัวตนนี้ ที่การเรียนรู้ขันธ์ ๕ ก็เพื่อจะแตกกระจายที่ว่าเรานี่ ให้มันเป็นแต่ละอย่างๆ เพื่อให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าไม่มีตัวไม่มีตน จริงๆ แล้วไม่มีตัวมีตนนะ อย่าหลงยึดหลงติดอยู่นะ รีบๆ เรียนขันธ์ ๕ แล้วให้เข้าใจ
ผู้ฟัง มีใครจะสงสัยประเด็นนี้ไหมครับที่ อ.นิพัทธ์พูด ผมว่าเข้าท่าน่าฟัง ว่าเรามาเรียนทำไมเพื่อจะได้รู้ว่าเราไม่ได้แยกสภาพธรรมออกไปแล้ว แต่ละอย่างเขาจะทำหน้าที่แต่ละอย่างไม่ปะปนกัน แต่วันใดวันหนึ่ง ถ้าเราเกิดเข้าใจอย่างนี้แล้ว เริ่มรู้สภาพธรรมทีละอย่าง ทีละเล็กที่ละน้อย ถึงแม้ว่าในขณะนี้เรายังจะไม่รู้ แต่ว่าเราเริ่มเข้าใจ แล้วเราจะเริ่มเปรียบเทียบว่ารูปขันธ์เป็นอย่างไร เป็นสภาพที่ไม่รับรู้อารมณ์อย่างไร ผมว่ามหานิภัทรพูดทำให้เราคิดขึ้นมาได้ว่า เราไม่ได้เรียนทิ้งๆ ศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้อย่างที่ท่านอาจารย์พูดอยู่เสมอว่าอะไรกำลังปรากฏขึ้นอยู่กับเรา
ผู้ฟัง คงจะเป็นการเรียนเพื่อกระจายฆณะสัญญาให้เห็นว่าไม่มีตัวเราโดยความเป็นจริง วิญญาณขันธ์ซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ต่างๆ เช่น จักขุวิญญาณทำทัศนกิจ ทำกิจเห็น เพชรแท้ก็รู้ เพชรเทียมก็รู้ โสตะวิญญาณทำกิจได้ยิน รู้แจ้งอารมณ์ เสียงคน เสียงสัตว์ อย่างที่ท่านอาจารย์เคยอธิบายว่า แม้แต่เสียงคนที่เลียนเสียงสัตว์ โสตะวิญญาณก็ยังรู้ ทางจมูกรู้กลิ่น กลิ่นหอม กลิ่นเหม็น กลิ่นตุๆ กลิ่นอะไร รู้ไปหมดวิญญาณทางจมูก ชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้นก็รู้รสแกงเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อะไรต่างๆ รู้แจ้งซึ่งลักษณะของอารมณ์ต่างๆ ทางกายก็รู้เย็นพัดลม เย็นแอร์ เย็นน้ำฝนอะไรก็รู้ลักษณะของอารมณ์ต่างๆ ซึ่งพิจารณาดูเหมือนคล้ายๆ กับสัญญาซึ่งเกิดอยู่กับจิตทั้งหมด รวมทั้งปัญจวิญญาณทั้ง ๕ ด้วย มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร สัญญากับวิญญา
ท่านอาจารย์ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของอารมณ์อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน สัญญาก็จำอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนไม่ได้
ผู้ฟัง สัญญาจำตามที่จิตรู้
ท่านอาจารย์ ค่ะ โต๊ะมีกี่ขันธ์ คุณประทีป
ผู้ฟัง โต๊ะมีขันธ์เดียว
ท่านอาจารย์ ขันธ์อะไรคะ
ผู้ฟัง รูปขันธ์
ท่านอาจารย์ คุณประทีบบางวันจะมีสัก ๔ ขันธ์ ไม่มี ๕ ขันธ์ ได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ตัวผมเองใช่ไหม ถ้าตัวผมไม่ไม่ได้ครับ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกคนที่เกิดในภูมิที่มีนามรูป ต้องมีทั้ง ๕ ขันธ์ นามขันธ์แยกกับรูปขันธ์ได้ไหม
ผู้ฟัง นามขันธ์แยกกับรูปขันธ์ได้ หมายความว่าทีละขณะ หรือว่าต้องเกิดพร้อมกัน ทีลักษณะได้ครับ
ท่านอาจารย์ ถามว่าแยกกันได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้ครับ นามกับรูปแยกกันไม่ได้
ท่านอาจารย์ นามธรรมกับรูปธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แยกกันได้ไหม
ผู้ฟัง ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ นามธรรม กับรูปธรรม แยกกันไม่ได้ ต้องอยู่รวมกันหมด
ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้คำถามไม่ได้ว่าอย่างนั้น คำถามว่านามธรรมกับรูปธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ แยกกันได้ไหม คือนามขันธ์ ๔ แยกกันไม่ได้แน่นอน จะมีแต่จิตโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะมีแต่เวทนาขันธ์ ไม่มีสัญญาขันธ์ ไม่มีสังขารขันธ์ ไม่มีวิญญาณขันธ์ ไม่ได้ หรือจะมีแต่สัญญาขันธ์ คือสัญญาเจตสิก ไม่มีเวทนา ไม่มีสังขารขันธ์ หรือไม่มีวิญญาณขันธ์ ไม่ได้ นามขันธ์ ๔ แยกกันไม่ได้เลย ไม่ว่าจะอยู่ในภพไหนภูมิไหนทั้งสิ้น เกิดในมนุษย์นามขันธ์ ๔ ก็แยกกันไม่ได้ เกิดในสวรรค์นามขันธ์ ๔ ก็แยกกันไม่ได้ ในอรูปพรหมนามขันธ์ ๔ ก็แยกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นนามขันธ์ ๔ คือ จิต และเจตสิก แยกกันไม่ได้เลย แต่รูปขันธ์แยกได้ เพราะเหตุว่าที่นี่ไม่มีนามขันธ์ อย่างไรก็ตามแต่ หมายความว่ารูปไม่ใช่นามธรรม แต่นามธรรมเขาเกิดต้องเกิดพร้อมกัน
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่านามธรรมกับรูปธรรมแยกได้
ท่านอาจารย์ ค่ะ แยกได้ แต่นามขันธ์ ๔ แยกกันไม่ได้เลย
ผู้ฟัง การที่อาจารย์ให้เราเจริญสติปัฎฐาน ก็คือให้เรารู้ลักษณะของรูป และนาม ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเหตุว่า ถ้าพูดถึงขันธ์ ๕ อีกนัยหนึ่ง เป็นเครื่องเตือนให้เรารู้ว่า เราไม่รู้อะไรบ้าง และเรายึดมั่น ติดข้อง ในอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นบุคคลที่เจริญปัญญาที่จะไม่รู้ขันธ์ ๕ คือ ไม่รู้รูป ไม่รู้เวทนา ไม่รู้สัญญา ไม่รู้สังขาร ไม่รู้วิญญาณไม่ได้
- สนทนาธรรม ตอนที่ 001
- สนทนาธรรม ตอนที่ 002
- สนทนาธรรม ตอนที่ 003
- สนทนาธรรม ตอนที่ 004
- สนทนาธรรม ตอนที่ 005
- สนทนาธรรม ตอนที่ 006
- สนทนาธรรม ตอนที่ 007
- สนทนาธรรม ตอนที่ 008
- สนทนาธรรม ตอนที่ 009
- สนทนาธรรม ตอนที่ 010
- สนทนาธรรม ตอนที่ 011
- สนทนาธรรม ตอนที่ 012
- สนทนาธรรม ตอนที่ 013
- สนทนาธรรม ตอนที่ 014
- สนทนาธรรม ตอนที่ 015
- สนทนาธรรม ตอนที่ 016
- สนทนาธรรม ตอนที่ 017
- สนทนาธรรม ตอนที่ 018
- สนทนาธรรม ตอนที่ 019
- สนทนาธรรม ตอนที่ 020
- สนทนาธรรม ตอนที่ 021
- สนทนาธรรม ตอนที่ 022
- สนทนาธรรม ตอนที่ 023
- สนทนาธรรม ตอนที่ 024
- สนทนาธรรม ตอนที่ 025
- สนทนาธรรม ตอนที่ 026
- สนทนาธรรม ตอนที่ 027
- สนทนาธรรม ตอนที่ 028
- สนทนาธรรม ตอนที่ 029
- สนทนาธรรม ตอนที่ 030
- สนทนาธรรม ตอนที่ 031
- สนทนาธรรม ตอนที่ 032
- สนทนาธรรม ตอนที่ 033
- สนทนาธรรม ตอนที่ 034
- สนทนาธรรม ตอนที่ 035
- สนทนาธรรม ตอนที่ 036
- สนทนาธรรม ตอนที่ 037
- สนทนาธรรม ตอนที่ 038
- สนทนาธรรม ตอนที่ 039
- สนทนาธรรม ตอนที่ 040
- สนทนาธรรม ตอนที่ 041
- สนทนาธรรม ตอนที่ 042
- สนทนาธรรม ตอนที่ 043
- สนทนาธรรม ตอนที่ 044
- สนทนาธรรม ตอนที่ 045
- สนทนาธรรม ตอนที่ 046
- สนทนาธรรม ตอนที่ 047
- สนทนาธรรม ตอนที่ 048
- สนทนาธรรม ตอนที่ 049
- สนทนาธรรม ตอนที่ 050
- สนทนาธรรม ตอนที่ 051
- สนทนาธรรม ตอนที่ 052
- สนทนาธรรม ตอนที่ 053
- สนทนาธรรม ตอนที่ 054
- สนทนาธรรม ตอนที่ 055
- สนทนาธรรม ตอนที่ 056
- สนทนาธรรม ตอนที่ 057
- สนทนาธรรม ตอนที่ 058
- สนทนาธรรม ตอนที่ 059
- สนทนาธรรม ตอนที่ 060