สนทนาธรรม ตอนที่ 004


    ตอนที่ ๔

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นสมถภาวนาก็อย่างที่เห็นโทษของอกุศล และก็รู้ว่าอบรมเจริญกุศลเพิ่มขึ้นได้โดยการระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของจิต ซึ่งจะรู้ได้ก็ต้องเป็นสติสัมปชัญญะ ถ้าเป็นสติที่เป็นไปในทานไม่ต้องมีสัมปชัญญะเพราะว่าไม่รู้ลักษณะของจิต สติที่เป็นไปในศีลก็ไม่ต้องมีสัมปชัญญะ เพียงวิรัติแต่ไม่รู้ลักษณะของจิต แต่ว่าสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของสภาพของจิตที่เป็นกุศลว่าต่างกับอกุศล แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมไม่ใช่ตัวตน นี่คือช่วงที่ต่างกันของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา

    แน่นอนที่สุดว่าถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะจะเจริญภาวนาไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา เพราะเหตุว่าสมถภาวนาต้องสงบ เพราะเหตุว่ากุศลจิตเกิดจนกระทั่งกันอกุศลที่เป็นนิวรณ์ออกหมด เพราะฉะนั้นสติสัมปชัญญะต้องรู้ว่านิวรณ์แทรกเกิดขณะไหน จึงจะมีวิตกที่ตรึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบเพื่อที่จะกันนิวรณ์แต่ละประเภท แต่นั่นด้วยความเป็นตัวตน มีอุบายด้วยว่ามีความรู้ความฉลาดที่จะรู้ว่าระลึกอย่างไร และจิตเป็นกุศล เพราะฉะนั้นนี่เป็นระดับขั้นหนึ่ง ไม่ใช่ขั้นที่รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ ทั้งๆ ที่เป็นปรมัตถ์ธรรมเวลานี้เราก็ไม่รู้ นี่คิดดู ทางตานี้ที่กำลังเห็น ปรมัตถธรรมทั้งนั้น

    แน่นอน เพราะฉะนั้นสมถภาวนาดับความเป็นตัวตนไม่ได้ ดับกิเลสไม่ได้ เพียงแค่ระงับอกุศล เพราะว่ารู้หนทางที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้นโดยตรึกนึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาขั้นที่จะถึงอุปจารสมาธิ หรือไม่ถึง เพียงแค่ธรรมดาในชีวิตประจำวันอย่างที่คุณประทีปเล่า หรืออย่างที่คุณวลีพูด ก็คือขณะนั้นสติเห็นโทษของอกุศล

    ถ้าสติปัฎฐานก็ต้องมีสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นที่กำลังพิจารณา ที่กำลังคิดว่าเป็นแต่เพียงสภาพคิด ต่างกับรูปธรรมอย่างไร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่คือความต่างกันของกุศลขั้นสมถภาวนากับวิปัสสนา สัมมาทิฏฐิก็คือความเห็นถูกต้อง อย่างคนที่อบรมเจริญสมถภาวนาเขาต้องมีความเห็นถูกว่าขณะใดเป็นอกุศลจิต ขณะใดเป็นกุศลจิต ถ้าไปนั่งนิ่งเฉยๆ ขณะนั้นเขาจะไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่มีปัญญาที่รู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ทำไมไปนั่งนิ่งเฉยๆ แต่ว่าขณะใดก็ตามจิตซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยที่เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้างในวันหนึ่งๆ สติสัมปชัญญะระลึกตรงจิตนั้นได้ แล้วเห็นว่าเป็นโทษ นั่นคือสัมมาทิฏฐิ

    อ. สมพร การเจริญสติ ที่พระองค์ตรัสนั้น ที่แบ่งออกเป็น ๔ อย่าง ความจริงก็สติอันเดียวเรียกว่าสัมมาสติ สติอันเดียวเท่านั้นพระองค์จำแนกออกเป็น ๔ อย่าง เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายติดอยู่ในสิ่งทั้ง ๔ สิ่ง ทั้ง ๔ ที่พระองค์ให้มีสติ คือ หนึ่ง เรื่องกาย เพราะทุกคนเนี่ยที่ไม่ติดเรื่องกาย ก็คงไม่มีสำหรับปุถุชน ต่อจากนั้นก็คือเรื่องเวทนา ทุกคนต้องการสุขเวทนา คือความสุข ไม่มีใครเลยต้องการทุกข์ แม้แต่โลภะ ก็เป็นสุขเวทนา เพราะว่าคนส่วนมากต้องการโลภะที่เป็นสุขเวทนา ส่วนมากนะครับ มีส่วนน้อยที่เห็นตามความเป็นจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยั่งยืน ส่วนติดส่วนที่ ๓ ก็คือเรื่องจิตของเรา ก็เราเห็นว่าจิตนี่เป็นคนเป็นสัตว์ ความจริงเมื่อจิตเกิดขึ้น เราก็นึก และเราก็กล่าวว่าคนเกิดขึ้น จิตปฏิสนธิเราก็บอกว่าคนเกิด จิตจุติ เราก็บอกว่าคนตาย เราติดเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต และยังมีติดอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าเรื่องธรรม นอกจาก ๓ อย่างก็เรื่องธรรม เรื่องธรรมก็มีหลายประเภท การที่เราติดอย่างนี้นะครับ พระองค์จึงตรัสให่้เจริญสติ ไม่ได้แบ่งแยกออกเป็น ๔ อย่าง แต่บางครั้งนะครับ เราศึกษาเราก็ต้องจำแนกได้ รู้ลักษณะได้ว่า สิ่งนี้เป็นกาย คือรูป สิ่งนี้เป็นนาม คือเวทนา สิ่งนี้เป็นนามจิต หรือเป็นธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เราสามารถจะรู้ได้ แต่ขณะที่เราเจริญสติ เราไม่ต้องแบ่งแยก ไม่ต้องจำชื่อว่าสิ่งนี้เป็นกาย สิ่งนี้เป็นเวทนา สิ่งนี้เป็นจิต สิ่งนี้เป็นธรรม การที่เราระลึกได้อย่างนี้ สติปัฎฐานก็มีโอกาสเกิดขึ้นมาก แต่ถ้าเราบอกเมื่อเราเจริญสติอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเราก็ไปนึกถึงชื่อ ก็เป็นอันว่าบัญญัตินั้นเข้ามาแทรกในระหว่างปรมัตถ์ที่เรากำลังศึกษาอยู่

    ผู้ฟัง ก็เคยฟังวิทยุที่อาจารย์อาจารย์พูด กาย เวทนา จิต ธรรม ตัวดิฉันเองยังไม่เข้าใจ คือว่า หมายความว่าทั้ง ๔ นั้น ก็คือระลึกธรรมนั่นเองตัวเดียว แล้วทำไมต้องแบ่งเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม

    ผู้ฟัง เป็นความละเอียดของการแสดงธรรมของพระพุทธองค์นั่นเอง คือว่าถ้าจะพูดว่าทั้งหมดก็มีแต่รูปนามเท่านั้นใช่ไหม นี่ก็สรุปไปแล้ว บอกว่าเท่านี้ก็คลุมแล้ว พูดว่าทุกอย่างเป็นธรรมอย่างนี้นะ แต่ถ้าเผื่อว่าการที่จำแนกรายละเอียดให้เป็นลักษณะของขั้นตอน หรือว่าให้ละเอียดขึ้น หนึ่งคือสะดวกแก่การเข้าใจ แล้วก็ความละเอียดทุกอย่างนี่ถ้าเราพิจารณาให้ลึกซึ้งเข้าไปนั้นก็เป็นประโยชน์ต่อการเจริญสติปัฎฐานให้ละเอียดมากขึ้น ให้เข้าใจมากขึ้น นั่นเอง เพราะว่าทุกคนเนี่ยสะสมมาไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนมักจะคิดว่าเข้าใจพระไตรปิฏกว่าอย่างนี้ แล้วก็จะเจริญสติปัฎฐานตามนี้ บางคนก็ลุกขึ้นเดินค่อยๆ ทั้งที่กำลังนั่งนี่แหละเพราะว่าในนั้นก็มีอิริยาบถ ๔ เพราะฉะนั้นเขาคิดว่าเมื่อระลึกที่กายแล้วก็เดินบ้างนั่งบ้างก็ลุกขึ้นมาเดิน หรือว่านั่งอยู่เฉยๆ เวลาเอี้ยวปกติก็ไม่รู้ ต้องมาทำเอี้ยวกันอีกอะไรกันอีกตามสัมปชัญญะบรรพะ แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า ตามธรรมดานี่เราก็หลงลืมสติ แล้วเวลาสติเกิด สติจะระลึกที่ไหน เอาอย่างนี้ก่อน เอาตำราเก็บไว้ แล้วก็ต่อมาจะตรงกันกับตำรา ไม่ใช่ว่าเอาตำรามากางแล้วจะทำตามตำราว่าเวลานี้ฉันกำลังเจริญกายานุปัสสนา เวลานี้ฉันกำลังเจริญเวทนา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ว่าปกติที่หลงลืมสติ และเวลาที่สติเกิด ระลึกที่ไหน ต้องมีลักษณะของปรมัตธรรม เพราะฉะนั้นถ้าคุณสุรีย์ระลึกที่กายซึ่งเคยยึดถือ แล้วเวลานี้ก็มีส่วนของกายต้องปรากฏให้รู้ ถ้าไม่ปรากฏระลึกที่อื่นที่ปรากฏ ก็จะต้องอยู่ในสติปัฎฐานหนึ่งสติปัฎฐานใดใน ๔ สติปัฐาน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะระลึกที่ไหนก็จะต้องอยู่ในบรรพหนึ่งบรรพใดทั้งนั้น โดยที่ว่าเราไม่ใช่เอาบรรพมากางแล้วก็ทำตามนั้น แต่เมื่อสติระลึก เราจะรู้เลยว่าขณะนั้นน่ะเป็นกายานุปัสสนาเพราะว่าสติระลึกที่กาย หรือว่าเป็นเวทนานุปัสสนา สติระลึกที่เวทนา เป็นจิตตานุปัสนา เพราะสติระลึกที่จิต หรือว่าไม่ได้ระลึกที่กาย ที่เวทนา ที่จิต แต่ระลึกที่สภาพธรรมอื่นๆ นอกจากนี้ทั้งหมด คือธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน นี่นัยหนึ่ง อีกนัยหนึ่ง ก็คือว่าทุกอย่างไม่มีพ้นจากธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐานเลย เพราะเหตุว่าธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐานได้แก่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ แต่ละขันธ์นี่ครบหมด แต่ว่าไม่ได้แยกไปว่า ระลึกที่กาย หรือที่จิต หรือที่เวทนา หรือที่ธรรม ที่จะต้องมาแบ่งเป็นบรรพ เพียงรู้ลักษณะที่เป็นธรรมโดยนัยซึ่งไม่เที่ยง เพราะความหมายของขันธ์ คือ สภาพธรรมใดเกิดขึ้นสภาพธรรมนั้นดับไป จึงเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต ใกล้ ไกล หยาบละเอียด นี้ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เพียงรูปที่กำลังปรากฏ ปัญญาจะต้องรู้ไปถึงลักษณะของความไม่เที่ยง จึงเป็นขันธ์ ไม่อย่างนั้นเราก็เพียงแต่บอกว่าขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ แต่ลักษณะของขันธ์ต้องไม่เที่ยงเป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต ใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด คือเราเข้าใจในความหมายของขันธ์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ต่างกันไปเลย ถ้าเราพูดถึงไม้ เนี่ยนะคะ คุณสุรีย์ก็จะพูดถึงโต๊ะ แล้วก็อะไรอีกหลายอย่างที่ทำจากไม้ หน้าต่าง บานประตู อะไรก็แล้ว แต่ แต่ถ้าไม่พูดถึงหน้าต่าง บานประตู โต๊ะ ตู้ คุณสิรีก็พูดถึงไม้ แล้วมันก็คือไม้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่พ้นจากธัมมานุปัสสนาสติปัฎฐาน

    ผู้ฟัง ที่ผมเข้าใจว่า ที่ท่านสรุปว่า คล้ายๆ ว่า เป็นการสื่อความหมายให้เราเข้าใจว่าสภาพธรรมมีอะไรบ้าง แยกออกมา เพราะถ้าเราไม่ศึกษาอย่างนี้แล้ว เราจะเอาอะไรมาพูดกันว่าสติปัฎฐานระลึกที่ไหน ขึ้นมาในลอยๆ ได้อย่างไร แต่จะต้องเป็นทางใดทาง หนึ่ง

    ผู้ฟัง ถามว่าเมื่อเรากำลังเจริญสติปัฎฐานอยู่ แล้วที่ว่าเข้าครัวพอหม้อแกงไหม้ ก็เห็นธรรมขึ้นมา คำว่าเห็นธรรมนี้ ก็คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช่ไหม หรือว่าเห็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้นั้นบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง ที่ว่ารู้แจ้งคือรู้จุดไหน

    ท่านอาจารย์ อริยสัจ ๔ ถ้าใช้คำว่ารู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็คือ รู้แจ้งอริยสัจ ๔

    ผู้ฟัง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ทุกขสัจจ จริงๆ แล้วไม่อยากจะใช้คำว่าขณะที่เรากำลังเจริญสติปัฎฐาน เพราะว่าฟังดูเหมือนกับว่ามีช่วงเวลาที่เรากำลังทำอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ความจริงแล้วขณะไหนก็ได้ที่สติเกิด สติก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็หลงลืมสติ และสติก็เกิด แล้วก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาที่ห่างไกลกัน และก็ไม่มีการจำกัดเวลาด้วยว่าช่วงนี้กำลังทำวิปัสสนา หรือว่าช่วงนี้กำลังเจริญสติปัฎฐาน แต่สติเกิดแล้วสติก็เจริญขึ้นเพราะเกิดบ่อยๆ ไม่มีการจำกัด

    ผู้ฟัง มีความสงสัยว่า ที่เขาศึกษาธรรมโดยเข้าไปพิจารณาเฉพาะ เช่น ไม้ตก นี่เขาก็เห็นธรรม โดยไม่เห็นต้องเรียนอภิธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่น่าสนใจเลยเพราะเขาไม่ได้พูดเรื่องปัญญารู้อะไร แต่ว่าในพระพุทธศาสนาแสดงเรื่องของปัญญาทั้งหมด ตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เริ่ม ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยรู้เลยว่าเป็นปรมัตธรรม เป็นนามธรรม รูปธรรมไม่ใช่ตัวตน ก็รู้จากการฟัง แล้วก็รู้จักการระลึกจนกระทั่งประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นก็ไม่เหมือนกับคำพูดที่ลอยๆ หรือว่าเลื่อนลอยโดยที่ไม่ได้แสดงว่าปัญญารู้อะไร และอบรมเจริญอย่างไรปัญญาอย่างนั้นจึงจะเกิดขึ้น แต่ถ้าเราฟังว่าทุกอย่างเป็นปรมัตถ์ธรรมเป็นธรรม อยู่ในครัวก็ต้องเป็นธรรม อยู่ที่ไหนก็ต้องเป็นธรรม จะเห็นอะไรที่นี่ จะเห็นอะไรในครัวก็คือธรรมทั้งหมด เราก็ไม่มีความสงสัยว่า เวลาที่สติเกิด สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่ข้อสำคัญก็คือว่า ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือยัง ประจักษ์การเกิดดับ หรือไม่ ถ้าไม่ประจักษ์การเกิดดับก็ไม่มีทางที่จะถึงทุกขอริยสัจ เพราะเหตุว่านั่นเป็นข้อที่ ๑ ไม่ใช่ทั้ง ๔ ข้อ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นปัญญาตามลำดับขั้น เริ่มจากระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะว่าขณะนี้ถ้าเป็นตัวตนก็ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ว่าจริงๆ แล้วปรมัตถธรรมทั้งหมด ให้ทราบว่าปรมัตถธรรมทั้งหมดแต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็เริ่มฟังเพื่อที่จะให้ค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง การเจริญสติปัฎฐานนี้จำเป็นไหมว่าจะต้องเป็นอินทรีย์ทั้งหมด หรือไม่จำเป็น

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติเกิดพร้อมวิริยะ ศรัทธา สมาธิ ปัญญาที่ระลึกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมนั่นคืออินทรีย์

    ผู้ฟัง คงจะเหมือนๆ กับหลายๆ ท่านที่เคยปรารภว่า ก็รู้เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฎฐาน แต่ก็ยังมีความรู้สึกเหมือนกับเป็นคนป่วยที่ไม่มีกำลังในการที่จะเจริญสติปัฎฐาน มีปัญหาอย่างนี้กันหลายๆ ท่าน ท่านอาจารย์จะมีวิธีใดช่วยกรุณาแนะนำให้คนไข้มีกำลังเพิ่มขึ้น

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ก็ขอถามทุกคนที่ถามด้วยวิธี ลืมไป หรือเปล่าว่าขณะนั้นอะไรทำให้ต้องการวิธี

    ผู้ฟัง ความอยากเจริญ

    ท่านอาจารย์ นั่นก็เป็นเครื่องเนิ่นช้า โลภะคือธรรมครื่องเนิ่นช้า ไม่ต้องไปแสวงหาวิธี เพราะวิธีไม่มี แต่เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเรื่องของปัญญา แล้วรู้ว่าปัญญาไม่ใช่ว่าจะเกิดเอง หรืออยากจะให้เกิด หรือพยายามทำให้เกิดปัญญาก็จะเกิดไม่ใช่อย่างนั้น แต่ปัญญาคือความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ถ้ารู้ว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ปัญญาจะเกิดได้ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างไร ถ้าไม่มีความเข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรมแล้วไม่มีทางเลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่วิธี แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมโดยการฟัง โดยการพิจารณา โดยการไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นสังขารขันธ์ ที่ทำให้สติมีการเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ศึกษา เพราะฉะนั้นเลิกถามเรื่องวิธี ถ้าใครถามวิธีขณะใดขอให้กลับไปดูจิตที่ถามว่า ทำไมถึงได้ถามเรื่องวิธี เพราะอะไร ทุกครั้งถ้าจะต้องการวิธีแล้วก็ให้ทราบได้เลย ใครก็ตามที่จะถามเรื่องวิธี หรือใครก็ตามที่ถามว่าทำยังไงถึงจะรู้เร็ว เหมือนกันไหมคะ ลักษณะเดียวกันทั้งสิ้นคือเป็นเครื่องเนิ่นช้าของปัญญาทั้งหมด เพราะรู้สึกว่าพวกเราก็หลงลืมสติกันไปมาก ของธรรมดา ธรรมคือธรรมดา เพราะฉะนั้นเราก็พูดเรื่องธรรม เริ่มพูดเรื่องธรรม และสนทนาธรรมกันเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น แล้วก็ส่วนสติของใครจะเกิดระลึกได้ในขณะไหนก็เป็นธรรมดาอีก ซึ่งไม่มีใครที่จะไปกฎเกณฑ์ได้ แต่ให้ทราบว่าทุกขณะเป็นธรรม ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าแม้ขณะนี้ก็เป็นธรรม แล้วเราเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏนี้มากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจ ปัญญาคือเริ่มเข้าใจ แล้วก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟัง จนกว่าจะความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ๆ แต่ไม่พ้นจากขณะนี้เดี๋ยวนี้ ให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ทางตาเป็นธรรม ผ่านไปเมื่อครู่นี้ หลงลืมสติไม่ทราบว่าเป็นธรรมอย่างไร ก็พูดเรื่องทางตา เพื่อที่จะให้กำลังฟังอยู่นี่แหละ แล้วก็กำลังเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็เริ่มที่จะเข้าใจจริงๆ ว่านี่ก็คือเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏเฉพาะทางตา ซึ่งเราก็เห็นอยู่ เราก็ต้องพูดเรื่องนี้อยู่ แล้วก็ยังจะต้องพูดเรื่องนี้อีกเรื่อยๆ จนกระทั่งแม้แต่ขณะที่สติเริ่มระลึก หรือว่าถึงพูดไปอย่างไรก็ยังไม่ระลึกอยู่ดี เพราะว่าเป็นสิ่งซึ่งดูยากแสนยากที่จะรู้ว่าเป็นธรรม ต่อให้จะบอกสักร้อยครั้งพันครั้งว่ากำลังเห็นนี่เป็นธรรม และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม ก็ไม่ท้อถอย คือ วันนี้ฟังอย่างนี้ แล้ววันต่อๆ ไปก็ฟังอีก แล้วเราก็เห็นอีก แล้วเราก็เริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นแม้เพียงนิดหนึ่งๆ นั่นก็คือจุดประสงค์ของการที่จะทำให้เราได้เข้าใจว่า ที่เราเรียนมาแล้วเราก็ต้องพูดถึงธรรม ทั้งๆ ที่ธรรมปรากฏ ก็ไม่ใช่เพียงแค่ฟังเช้าค่ำ ก็ยังจะต้องมีการช่วยกันเตือน ช่วยกันบอกว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วก็ปัญญาไม่ใช่ไปรู้อื่นเลย ถ้าปัญญาจะเกิดก็คือระลึกรู้ลักษณะของธรรมขณะนี้ ถ้าปัญญาจะเจริญก็คือว่ารู้เพิ่มขึ้น ชินขึ้น ชัดขึ้น คมขึ้น ถ้าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ปกติในขณะนี้เองที่กำลังรู้ กำลังระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่เป็นอริยสัจธรรมเป็นธรรมที่เป็นจริง เป็นสัจธรรม แต่ยังไม่เป็นอริยะ เพราะเหตุว่าจะเป็นก็ต่อเมื่อผู้นั้นได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม จึงจะรู้จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่ทั้งหมด ก็ฟังไปอีก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็ขณะที่ฟังก็พิจารณาตาม แล้วก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้จริงๆ ด้วย แต่ว่าการที่จะเอาความเห็นผิดในความยึดถือว่าเป็นตัวตนออกไปหมดทีเดียว ครั้งเดียวที่ได้ยินได้ฟัง หรือครั้งเดียวที่สติระลึกเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเราไม่เคยรู้ลักษณะของสภาพธรรมมานาน แล้วเราก็เพิ่งจะได้ยินได้ฟัง เราก็อาจจะเคยได้ยินได้ฟังชาติก่อนๆ มาแล้วแน่นอน มากน้อยเท่าไรก็ไม่มีใครทราบ แต่ว่าชาตินี้ก็มีโอกาสได้ฟังเรื่องของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อีก ก็เป็นเครื่องเตือนให้เราเพิ่มเติมจากชาติก่อนๆ ที่เราได้เคยได้ยินได้ฟังมาแล้วบ้าง ให้รู้ว่าแม้ขณะนี้ก็ยังมีการเตือนกันให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะผ่านไป ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว และเราเกิดมาไม่ใช่แค่ ๒๕๐๐ กว่าปี ก่อนนั้นเราก็เกิดมาแล้วแสนโกฎกัป เพราะฉะนั้น เราไม่มีทางที่จะย้อนกลับไปรู้อดีตชาติได้ แต่ว่าขณะปัจจุบันชาตินี้ก็เป็นเครื่องวัดว่าการฟังพระธรรมของเราขณะนี้ทำให้เราเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามที่เคยได้ยินได้ฟังมามากน้อยแค่ไหน ถ้ายังน้อยอยู่ก็อบรมเจริญต่อไป เพราะการจะไปแสวงหาความจริงไม่ใช่ขณะอื่น ขณะนี้ที่กำลังเห็นความจริงอยู่ที่นี่ ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังคิดนึก ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส รวมความว่าทั้ง ๖ ทางเวลาที่ตื่นขึ้นแล้วเป็นทางที่จะพิสูจน์ธรรม และอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้นก็เตือนกันไปเตือนกันมาเรื่องตาหูจมูกลิ้นกายใจเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เรื่องการปฏิบัติผมเข้าใจว่าถึงแม้จะมีการฟังมาพอคิดว่าจะเข้าใจแล้ว แต่ถ้ามีผู้จะให้อธิบายเรื่องการปฏิบัติธรรมก็คงจะพูดได้ไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นในเรื่องที่เราควรจะได้ทำความเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรมควรจะเป็นอย่างไร หรือว่าจะต้องมีการไปทำอย่างที่เขาเคยทำกันมาว่าถึงเวลาจะต้องไปประพฤติปฏิบัติธรรม หมายความว่าแยกตัวออกไปจากชีวิตประจำวันที่จะต้องมีภาระรับผิดชอบ หรือว่าขณะที่กำลังฟังอยู่เดี๋ยวนี้ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม แล้วเวลาที่ไม่ฟัง ถ้ามีการให้ทานรักษาศีล อย่างนี้จะถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ต้องทราบด้วยใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็เจริญปัญญาไม่ได้ ต้องมีปัญญาตั้งแต่ขั้นต้น ขณะนี้เป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถ้าตอบโดยการศึกษาก็ต้องว่าเป็น เพราะว่าเคยได้ยินท่านอาจารย์พูดเสมอว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่ต้องไม่แสวงหาธรรม

    ผู้ฟัง ครับ ไม่ต้องไปแสวงหาธรรม ที่นี้ว่าการปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นปกติ คืออย่างไร และถ้าสมมติเกิดจะต้องมีการไปปฏิบัติพร้อมๆ กันอย่างนั้นจะถือว่าเป็นปกติอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นทิ้งปัญหานี้ให้หมด ขณะนี้เป็นธรรม ธรรมกำลังปรากฏเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้อง หรือยัง ตามความเป็นจริง ยังไม่ต้องพูดเรื่องปฏิบัติเลย ขณะนี้ธรรมกำลังปรากฏ เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือยัง

    ผู้ฟัง ยังครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทำยังไง จะต้องไปที่อื่น หรือว่าขณะนี้ทางเดียวก็คือว่าฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมให้ละเอียดขึ้น ให้มากขึ้น จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่านี่เป็นธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    3 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ