สนทนาธรรม ตอนที่ 005


    ตอนที่ ๕

    สนทนาธรรมที่หมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ ๑

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทำอย่างไร จะต้องไปที่อื่น หรือว่าขณะนี้ทางเดียวก็ถือว่าฟังให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมให้ละเอียดขึ้น ให้มากขึ้นจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่านี่เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ถ้ามีความเข้าใจอย่างนั่นหมายความว่าโอกาสที่จะหลงลืมสตินี่เกือบจะน้อยมากนะครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้เลย ต้องหลงลืมสติมากกว่ามีสติแน่นอน

    ผู้ฟัง เพราะว่าเวลาที่ไม่ได้นึกถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟังท่านอาจารย์พูด ทางตาเห็นก็เป็นสัตว์บุคคลตัวตน

    ท่านอาจารย์ นั่นคือหลงลืมสติ เพราะฉะนั้นหลงลืมสติ ต้องมากกว่ามีสติ

    ผู้ฟัง แต่บางครั้งนึกจะให้มีสติด้วยการระลึก

    ท่านอาจารย์ นึกจะให้มีสติ นั่นไม่ใช่สติ

    ผู้ฟัง เป็นความคิดเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวตนที่นึกที่จะให้มีสติ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็ต้องมีความมั่นคงในเรื่องของการฟังใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจจริงๆ เวลาฟังต้องเข้าใจ คือโดยมากปัญหามาที่คำว่าปฏิบัติ เพราะรู้สึกว่าเป็นปัญหาซึ่งถามกันบ่อยมาก ไม่ว่าจะที่ไหนในประเทศไทย เพราะอะไร เราต้องคิดว่าทำไมได้มีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น ที่ได้ถามกันเรื่องปฏิบัติๆ แล้วจะปฏิบัติธรรมกันอยู่นั่นแหละ ทำไมไม่เป็นเรื่องศึกษาธรรมนี่ไม่มีเลย ไม่มีใครบอกว่าเราจะศึกษาพระธรรมได้ที่ไหน หรือว่าเราจะศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจอะไร ไม่มี มีแต่ปฏิบัติ

    เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าทุกคนเริ่มจากการไม่รู้อะไรเลย แล้วก็ได้ยินคำว่าปฏิบัติ ด้วยความสนใจ เพราะว่ามีคำว่าปฏิบัติธรรม ก็เลยอยากปฏิบัติธรรม คุณธีรภัทรเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะว่าไม่รู้อะไรเลย แต่ว่าได้ยินคำว่าสมาธิ หรือว่าปฏิบัติธรรมก็อยาก แสดงให้เห็นว่าเราเริ่มต้นนี่ถูกต้อง หรือไม่ ที่เราใช้คำว่าปฏิบัติธรรมโดยที่ว่าไม่มีการศึกษา หรือไม่มีการเข้าใจอะไรเลย เพียงเขาบอกว่าปฏิบัติธรรมเราก็ตื่นเต้น เราอยากปฏิบัติ นี่ถูก หรือผิด ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่สนใจเลยว่าใครจะปฏิบัติ แต่ว่าเราไม่รู้จักธรรม แล้วเราควรที่จะเข้าใจธรรม ศึกษาธรรมนี่จะไม่เป็นประโยชน์กว่าจะไปสนใจกับสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะเขาปฏิบัติ เราก็จะไปปฏิบัติโดยไม่รู้ว่าปฏิบัติธรรมนั่นแหละคืออะไร และทำอย่างไร ปรากฏว่าพุทโธบ้าง ลมหายใจเข้าออก แต่ก็ไม่รู้อะไร พระธรรมอยู่ที่ไหน และพระธรรมกล่าวว่าอะไร ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ควรจะไปตื่นเต้นตามคำว่าปฏิบัติธรรม ก็เป็นความจริงที่ในพุทธศาสนามีคำว่าปฏิบัติธรรม แต่ต้องมีความเข้าใจคือปริยัติก่อน ถ้าไม่มีปริยัติคือการศึกษาให้เข้าใจแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าที่ปฏิบัติน่ะเป็นธรรม หรือเปล่า ที่ให้ไปนั่งกันแล้วก็ดูนั่นดูนี่ ดวงอะไรต่อดวงอะไร หรือว่าพุทโธ อะไรพวกนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระธรรม หรือเปล่า ถ้าเรายังไม่ได้ศึกษาเลย เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปตื่นเต้นตามคำที่เขาบอกว่าปฏิบัติๆ กัน เพราะว่าที่จริงแล้วเขาควรจะตั้งต้นว่าจะศึกษา หรือว่าจะเข้าใจธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เมื่อไหร่ อย่างไร ซึ่งไม่พ้นจากการศึกษา

    เพราะฉะนั้น ถ้าชวนกันศึกษาให้เข้าใจพระธรรม แล้วก็จะมีการปฏิบัติธรรมภายหลังที่ได้เข้าใจแล้ว ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้ศึกษาเลยแล้วปฎิบัติ ปฏิบัติอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะปฏิบัติ อย่างนี้ก็ไม่ใช่ศึกษา เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้ตั้งแต่ต้นว่า อย่าตื่นเต้นกับใครก็ตามที่จะปฏิบัติธรรม แต่ควรที่จะเป็นปัญญาของเราเองที่เราได้เข้าใจพระธรรมเสียก่อน แล้วเราถึงจะรู้ว่าปฏิบัติธรรมคืออย่างไร และที่เขาปฏิบัติกันนั้นผิดถูกอย่างไร

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ขอให้ท่านอาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ สูงสุดคือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สูงสุด

    ผู้ฟัง ถ้าเริ่มต้นล่ะครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมาจากขั้นต้นคือขั้นการฟังให้เข้าใจ

    อ.สมพร ประเด็นนี้ผมก็สนับสนุนทำปัญญาให้เกิด หรือว่าวุฒิปัญญา ปัญญาที่จะเจริญได้อาศัยเหตุ ๔ อย่าง ก็คือ ๑. การคบ คบนี่คือต้องคบกับสัตบุรุษ หรือคนที่มีปัญญา เข้าใจเรื่องธรรม เรียกว่าสมัยก่อนเรียกว่าสัตบุรุษ สมัยนี้ก็เรียกว่ากัลยาณมิตรก็ได้ ๒. ฟังธรรมของท่าน ธรรมของสัตบุรุษ หรือของกัลยาณมิตร เพราะจะต้องประกอบด้วยประโยชน์เท่านั้น สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ท่านจะไม่นำมาเลย เมื่อนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มา เราก็ได้สติเกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อได้สติเกิดขึ้นปัญญา คือความเข้าใจก็เกิดขึ้นพร้อมกัน อาศัยการฟัง ดังนั้นจึงต้องฟังบ่อยๆ ๓. มนสิการ เราฟังแล้วทุกคนๆ เราฟังแล้วต้องพิจารณา ใคร่ครวญหาเหตุผลว่าถูก หรือผิดอย่างไร ว่าอารมณ์ที่กล่าวเป็นบัญญัติ หรือเป็นปรมัตถ์ ข้อที่ คือปัญญาที่จะเจริญได้ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ที่เราศึกษาธรรมทุกวันนี้ในข้อของภาวนา ธัมมานุธัมมปฏิปัติก็ต้องเป็นภาวนา ไม่ใช่แค่เพียงศีล ศีลก็เป็นกุศล การให้ทานก็เป็นกุศล แต่ว่ากุศลที่ประกอบด้วยทาน หรือด้วยศีล บางครั้งก็มีปัญญา บางครั้งก็ไม่มีปัญญา ถึงบางครั้งจะมีปัญญาแต่ปัญญาก็ไม่คมกล้าเหมือนปัญญาที่ทะลุได้ถึงรูป และนาม

    ท่านอาจารย์ ขอย้อนสำหรับคำถามคุณศุกลอีกนิดหนึ่ง เรื่องของการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เพราะว่าที่ใช้คำนี้โดยที่อาจารย์ก็ได้ยกเหตุผลมาว่าจะต้องมีการคบสัตบุรุษ แล้วก็มีการฟังธรรมของท่าน แล้วก็พิจารณาธรรม แล้วจึงถึงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม นี่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ เป็นเรื่องของสติปัฎฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนทางถูกต้องนั้นคืออย่างไร เพราะเหตุว่าหนทาง ผิดนั้นมีมาก การปฏิบัติธรรมอย่างที่ว่านี่ จะปฏิบัติเรื่อยโดยที่ไม่มีปัญญาอะไรเลย ก็จะปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจะเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ได้ ส่วนข้อปฏิบัติที่จะเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นก็คือว่าต้องคบสัตบุรุษหมายความว่า รู้ว่าผู้ใดกล่าวถูกต้องมีเหตุผล และเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ว่าคนนี้ ชื่อนั่นเป็นสัตบุรุษ หรือคนนั้นชื่อนั้นเป็นสัตบุรุษ แต่ต้องเป็นเรื่องความเห็นถูก แล้วก็คำพูดที่ถูกต้องด้วย ที่เป็นเรื่องที่ไม่ใช่เหตุกับผลไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นนอกจากจะรู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษแล้วก็ยังฟังธรรมของสัตบุรุษ แล้วก็พิจารณาธรรมก่อนที่จะมีการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั่นไม่ใช่เรา หรือว่าไม่ใช่ตัวตนที่จะปฏิบัติ ฟังมาแล้ว แล้ววันนี้จะปฏิบัติเลย ไม่ใช่อย่างนั้น ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นปฏิบัติธรรมก็คือมรรคมีองค์ ๕ โดยปกติ คือสติมีการระลึกได้เกิดขึ้น ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ นี่คือได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ รู้ว่าสัตบุรุษพูดถึงสิ่งที่มีจริง แล้วก็แสดงหนทางที่ว่าปัญญาจะเจริญขึ้นได้ก็ด้วยการที่เมื่อฟังแล้วเข้าใจแล้ว ต้องเข้าใจแล้ว สติจึงจะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ มิฉะนั้นแล้วถ้ายังไม่เข้าใจ จะให้เป็นสัมมาสติระลึกอะไรก็ไม่ได้ทั้งสิ้น นอกจากเราใช้ชื่อ คือเรียกชื่อไปเรื่อยๆ ของไม่จริงก็เอาชื่อไปใส่เอาไว้ว่าเป็นสัมมาสติ หรือเป็นมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าเป็นสติปัฎฐาน แต่ปัญญาไม่เกิดเลย แล้วก็ไม่ได้เข้าใจจริงๆ ด้วย

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจจริงถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็ไม่ใช่ตัวเราที่วันนี้จะปฏิบัติ หรือว่าเมื่อไหร่จะปฏิบัติ แต่เป็นขณะใดที่สติเกิดขึ้น ขณะนั้นปฏิบัติธรรมสมควรกับธรรม คือ สติปฏิบัติกิจสมควรกับกิจของสติ สภาพธรรมแต่ละอย่างก็เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรมนั้นสมควรกับกิจของตนของตน ต้องเริ่มจากความเห็นถูกต้องในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ถึงจะเป็นการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่ก็ต้องฟังแล้วฟังอีก แล้วก็คิดไปอีก พิจารณาไปอีก จนกว่าสติระลึก

    ผู้ฟัง ปกติแล้ว ถ้าพูดถึงสติ ถ้ายังไม่ถึงขั้นการพิจารณานี่ยังไม่ถือว่าเป็นสัมมาสติใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สัมมาสติเกิดกับกุศลจิต เพราะเหตุว่าถ้าเป็นมิจฉาสติก็เกิดกับอกุศลจิต แม้แต่สมถภาวนาคือขณะที่จิตเป็นกุศล และกำลังอบรมเจริญความสงบเพราะเป็นกุศลเพิ่มขึ้นขณะนั้นก็เป็นสัมมาสติแต่ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ เป็นมิจฉาปฏิปทาเพราะว่าไม่ใช่หนทางที่จะออกจากสังสารวัฎ เพราะฉะนั้นศัพท์ที่ใช้ต้องระวัง ไม่ใช่ว่า เมื่อเป็นสัมมาสติแล้วก็ต้องเป็นสัมมาปฏิปทาทั้งหมด ถึงแม้เป็นสัมมาสติเพราะเหตุว่าเป็นกุศลก็จริง แต่เป็นระดับที่ยังเป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะเหตุว่าไม่ใช่หนทางที่จะออกจากสังสารวัฎฏ์

    ผู้ฟัง ปกติแล้วสัมมาสติก็คงจะเป็นการพูดเรื่องชื่อ แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่แม้จะสติขั้นคิดขั้นพิจารณาในบางครั้งก็ยังมีกำลังน้อยเหลือเกิน เมื่อวันที่ไปสนทนาธรรมที่โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ ผมก็ได้เรียนถามท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่าระหว่างปัญญากับทรัพย์นี่จะให้เลือกเอาอย่างไหน ซึ่งความจริงผมไม่อยากตอบเลยนะ โดยใจจริงนี่มีความรู้สึกว่าทรัพย์ก็มีความสำคัญ เพราะขณะที่ปัญญายังไม่เกิด หรือว่ายังไม่คมจริงๆ ถ้าได้ทรัพย์ก่อนก็ดี เพราะว่าทรัพย์นี่ใช้ประโยชน์ได้ทุกอย่าง ก็มานั่งพิจารณาผมไม่กล้าตอบอย่างนั้น แต่ถ้าจะพิจารณาในส่วนลึกจริงๆ นี่ แม้ผู้มีทรัพย์แต่ไม่มีปัญญาทรัพย์นั้นก็อาจจะละลายหายไปหมดสิ้นไปได้ หรือแม้ผู้ไม่มีทรัพย์แต่มีปัญญาก็สามารถที่จะมีเหตุผลพูดให้บุคคลอื่นได้มีความเข้าใจในเรื่องกุศล และเจริญกุศลได้ ทั้งหมดนี้ผมก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องของปัญญา

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ทรัพย์ไม่ได้ทำให้หมดทุกข์ คนจะมีทรัพย์มากมายสักเท่าไรก็ตามหมดทุกข์ไม่ได้เพราะทรัพย์ จะเอาไหม ทรัพย์เยอะๆ แล้วก็ไม่หมดทุกข์ ในเมื่อปัญญาเกิดขึ้นขณะใดขณะนั้นจะไม่เป็นทุกข์ ไม่ว่าคนนั้นจะอยู่ในสภาพสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าปัญญาเป็นโสภณธรรม เป็นสภาพที่รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง แม้ว่าจะมีอกุศลวิบาก เพราะว่าคนเราเกิดมาไม่ใช่ว่าเราจะได้รับกุศลวิบากเสมอไป อกุศลวิบากก็มี หรือถึงแม้ว่ากำลังได้รับกุศลวิบากได้รับสิ่งที่ดีทั้งทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ติด เป็นโลภะ คุ้มไหม ที่ต้องการเยอะๆ ต้องการทรัพย์มาสำหรับติด แล้วไม่มีทางจะออกด้วย ยิ่งติดก็ยิ่งยาก แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะหลุดไปได้เพราะทรัพย์ แต่ว่าการสะสมอบรมเจริญปัญญา แม้มีทุกข์ หรือว่ามีอกุศลวิบากผู้นั้นก็ไม่เดือดร้อน แต่คนที่มีกุศลวิบากแต่ไม่มีปัญญาคนนั้นก็เดือดร้อนเพราะกิเลส แล้วก็ยังจะเห็นภัยของการติดในสิ่งที่ได้รับด้วยถ้ารับไม่ถูกต้อง หรือปราศจากปัญญา เพราะฉะนั้นที่ดิฉันถามคุณสุกล เพราะว่าจริงๆ แล้วถ้าจะให้เลือกเอาระหว่างที่ว่ามีทรัพย์มากแล้วก็เอาปัญญาที่ได้ศึกษาธรรมได้เข้าใจธรรมในขณะนี้เอามาแลกกันจะเอาไหม คือว่าให้หายไปหมดเลย นี่เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะไม่ใช่แต่สมบัติในโลกมนุษย์ แม้สวรรค์สมบัติประณีตกว่านี้อีก แล้วจะมาแลกกับความรู้ความเข้าใจธรรมที่เริ่มมีบ้างแล้วกำลังเจริญ ให้หายหมดเลยไม่ให้เหลือเลยจะเอาไหมสวรรค์สมบัติ มนุษย์สมบัติ

    ผู้ฟัง ตรงนี้ผมอยากจะเน้นเลยครับว่า เป็นความจริงอย่างที่อาจารย์พูดว่า ถ้ามีปัญญาขอให้เป็นความเห็นถูก แม้เวลาที่มีทุกข์ เพราะใครทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้ว่าในชีวิตประจำวันจะมีแต่สุขตลอด บางครั้งอาจจะเกี่ยวข้องกับพวกลูกหลานวงศาคณาญาติ แต่พอหลงลืมสติ และเกิดความคิดเป็นตัวตน ทุกข์มากจริงๆ ครับเพราะไม่ได้ดังที่เราปรารถนา

    ท่านอาจารย์ แล้วยังจะต้องมาติดในสิ่งที่เรามีที่เป็นทรัพย์สมบัติอีก เพราะฉะนั้นกิเลสมีมากเหลือเกิน จริงๆ แล้วเราไม่ควรจะคิดว่าเราอยากได้อะไรเลย เพราะว่าถึงอย่างไรเราจะอยาก หรือไม่อยาก เมื่อมีเหตุปัจจัยสิ่งนั้นต้องเกิด อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านเกิดในสกุลศากยะก็ไม่ใช่ว่าเพราะว่าท่านตั้งความปรารถนาไว้ หรืออะไร แต่เป็นเพราะผลของกุศลที่ได้ทำแล้วมีปัจจัยที่จะเกิดเป็นอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้นคนที่เขาเกิดมาทุกข์ยากเขาก็ไม่เคยตั้งความปรารถนาไว้ว่าขอให้เขาเกิดทุกข์ยากลำบากๆ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นเหตุกับผลว่าไม่ต้องไปขอใครไม่ต้องหวังไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น เมื่อมีเหตุอย่างใดผลที่สมควรแก่เหตุนั้นก็ต้องเกิดอย่างนั้น แล้วมานั่งเสียเวลาขอในสิ่งที่ไม่ต้องขอ เพราะว่ามีเหตุแล้วทำไว้แล้ว เปลี่ยนแปลงเหตุนั้นก็ไม่ได้ แต่สิ่งซึ่งเราจะต้องเจริญอบรมคือปัญญา เพราะว่าไม่สามารถที่จะอยู่เฉยๆ แล้วก็ให้มีปัญญาเจริญขึ้นได้ ต้องเป็นเรื่องของการที่จะต้องอบรมเจริญให้เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เรียนถามว่าจะพิจารณาอย่างไรดีที่จะให้มีเมตตาขึ้นมาได้ ต่อเมื่อผู้ที่กำลังโกรธเราอยู่ โดยที่เราจะไม่โกรธตอบ บอกว่าเมตตาๆ คือคล้ายๆ ว่าเป็นแต่เพียงคำท่อง หรือคำรู้ เราจะเมตตาทันทีได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องการอบรม ได้อย่างไรทันทีน่ะหมดหวัง มีเหตุปัจจัยที่จะเกิดโทสะ โทสะก็ต้องเกิด แต่ว่าใครก็ตามที่ได้ศึกษาธรรมได้อบรมเจริญสติปัฎฐานนี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้ว่าโกรธอะไร ไม่มีอะไรที่จะโกรธ ทุกสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับหมด ไม่มีอะไรที่เหลือ ไม่มีอะไรที่เป็นตัวคนจริงๆ เลยสักอย่างเดียว เป็นเพียงความคิด ถ้าจิตไม่คิดจะไม่มีบุคคล ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่ปรมัตถธรรม ทางตาที่กำลังเห็นถ้าไม่คิดก็ไม่มีใคร ทางหูที่กำลังได้ยินเสียง ถ้าไม่คิดก็ไม่มีเรื่องราวที่เขากำลังพูดถึงเรา และจิตของคนที่กำลังพูดถึงเราที่ทำให้เราคิดว่าไม่ดี แล้วเราโกรธเขา จิตนั้นก็ดับไปแล้ว ก็ไม่มีตัวเขาเลยจริงๆ ไม่มีใครเลย มีแต่สภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ แล้วจะไปโกรธอะไร นอกจากว่าเราเองคิดเอง และขณะนั้นลืมส่องกระจก เพราะเหตุว่าพระธรรมคือแว่นส่องตัวเอง เหมือนกระจกเงา ถ้ามีสติขณะใดไม่เห็นอย่างอื่นนอกจากเห็นจิตของตัวเอง

    นั่นคือปัญญาที่พิจารณาว่าขณะที่พูด จิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ขณะที่คิดจิตเป็นกุศล หรืออกุศล ขณะที่กำลังโกรธ คนอื่นไม่เดือดร้อนเลย เพราะว่าไม่มีใคร นอกจากจิต โลกใบนี้ใบเดียวของแต่ละคนซึ่งกำลังเพิ่มเติมสีดำเข้าไปอีก ความสกปรกเข้าไปอีกทุกขณะจิต และยังต้องการให้จิตเป็นอย่างนั้น หรือ แล้วไม่มีทางที่จะซักฟอกเลยนอกจากปัญญา ซึ่งเห็นโทษจริงๆ แล้วพร้อมทั้งสติที่ระลึก แต่ไม่ใช่ว่าฉันไม่อยากโกรธเวลาที่มีคนว่าฉัน ไม่ได้ มีเหตุปัจจัยของโกรธ โกรธก็เกิด เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นเรื่องของการอบรมที่จะต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของธรรมว่าเป็นธรรม ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ความเห็นผิดความยึดมั่นในตัวเราก็ต้องมี ในบุคคลอื่นก็ต้องมี เมื่อมีก็ต้องมีความโกรธบ้าง ความโลภบ้าง จนกว่าจะไม่มีตัวเรา ถึงอย่างนั้นความโกรธก็จะดับได้ต่อเมื่อเป็นพระอนาคามีบุคคล นี่คือแสดงให้เห็นว่าความโกรธก็เป็นธรรม ซึ่งมีเหตุปัจจัยก็ต้องเกิด ถ้าเห็นว่าเป็นธรรมแล้วก็จบไปเลย จะไม่ต้องถามว่าอย่างไรๆ พิจารณาอย่างไร เพราะว่าเป็นธรรมเท่านั้น อะไรจะเกิดก็เกิด แล้วค่อยๆ รู้ไป

    ผู้ฟัง ดิฉันสังเกตว่าถ้าจะโกรธนี้นะคะ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่เราไม่ชอบอยู่แล้ว หรือบุคคลที่ไม่ชอบอยู่ใกล้เคียงเราจะโกรธมากง่ายกว่าคนที่เรารัก หรือคนที่เราชอบนี้

    ท่านอาจารย์ นี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เมตตาแต่เป็นโลภะ เพราะว่าเมตตาจะไม่ทำให้เราโกรธแน่นอนเลยถ้าเรามีเมตตา แต่ถ้าเรามีโลภะ ความใกล้ชิดจะทำให้เกิดความโกรธภายหลังได้

    ผู้ฟัง การปฏิบัติการสมควรแก่ธรรม ผมฟังธรรมแล้วเข้าใจว่าการคบสัตบุรุษ หรือคบกัลยาณมิตร ก็เพื่อฟังธรรมของท่าน แล้วก็มนสิการ หรือพิจารณาธรรม แล้าปัญญาก็เจริญขึ้นๆ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นสติก็เจริญตามไปด้วย นั่นก็คือเราได้ปฏิบัติธรรม ทีนี้จุดสำคัญตรงว่า เราจะรู้ได้อย่างไรครับว่าใครเป็นสัตบุรุษ ใครเป็นกัลยาณมิตร แล้วก็ฟังธรรมของท่านนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าธรรมของท่านนั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ถึงมนสิการผมฟังธรรมอยู่นานครับ ผมก็พยายามพิจารณา นั่งพิจารณาอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้เรื่องสักที จนวันหนึ่ง เราเริ่มเข้าใจธรรม คิดว่าอย่างนี้ใช่ไหมที่ว่าโยนิโสมนสิการ เพราะว่าไม่มีใครสามารถทำ ท่านอาจารย์พูดอยู่ตลอดเวลาว่าโยนิโสมนัสิการนั้นไม่มีใครสามารถทำได้ เว้นแต่ว่าโยนิโสมนัสิการก็จะทำหน้าที่ หรือเจริญโยนิโสมนัสิการก็จะเจริญเข้ามาเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อโยนิโสมนัสิการหมายความว่าพิจารณาธรรมโดยแยบคายแล้ว ปัญญาก็จะเริ่มเจริญขึ้น สติก็เริ่มเจริญโดยขึ้น สำหรับผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมใหม่ๆ เราจะทราบอย่างไรว่าสัตบุรุษ จะทราบอย่างไรว่าธรรมนั้นเป็นธรรมที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เข้ามาปฏิบัติธรรมใหม่ๆ หมายความอย่างไร

    ผู้ฟัง หมายความว่าเริ่มสนใจ

    ท่านอาจารย์ ต้องศึกษา เปลี่ยนจากคำว่าปฏิบัติเลย เพราะไม่มีความหมายอะไรถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างที่เขาตื่นเต้น และเขาใช้กัน แล้วเราจะไปใช้ตามเขา เหมือนอย่างที่เขาใช้คำว่าวิปัสสนาโดยเขาไม่รู้เรื่องเลย เขาก็ใช้คำว่าวิปัสสนารักษาโรค และเราก็จะไปใช้คำว่าวิปัสสนากับเขาด้วยนี่ก็ไม่ถูก เพราะฉะนั้นถึงใครจะใช้คำว่าปฏิบัติก็ปล่อยให้เขาใช้ไปเถอะ แต่สำหรับเราก็คือว่าจะต้องรู้ว่าศึกษาธรรมต้องมีความเข้าใจธรรม แล้วก็เมื่อเข้าใจแล้วก็รู้ว่าตัวตน หรือเรานี่ไม่มี ก็บอกแล้วว่ามีจิต มีเจตสิก มีรูป เพราะฉะนั้นที่ปฏิบัติธรรมนี่จะเป็นเราปฎิบัติได้อย่างไร เราจะมานั่งคิดว่าเราจะปฏิบัติวันนั้นวันนี้ก็ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของจิต เจตสิก เป็นเรื่องของนามขันธ์ ๔ เป็นเรื่องของสังขารขันธ์โดยเฉพาะ ที่ว่าสติมีปัจจัยเมื่อไหร่ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น เราก็ต้องให้ตรงกับสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังด้วย

    เพราะฉะนั้นเรื่องที่เขาจะปฏิบัติกัน พูดว่ามาปฏิบัติธรรม หรืออะไรนี่ทิ้งไปเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิบัติธรรมแบบเราปฏิบัติ แต่ว่าเป็นปัญญา และสติที่รู้ว่าไม่ใช่เราที่ปฏิบัติ แต่เป็นสติที่เกิดระลึกเมื่อไรก็ปฏิบัติกิจของสติเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง เราจะศึกษาธรรม จะรู้ได้อย่างไรว่า ใครเป็นสัตตบุรุษ

    ท่านอาจารย์ สัตบุรุษก็ต้องพูดจริง แล้วก็พูดเรื่องจริง พูดถึงสิ่งที่มีจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    3 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ