สนทนาธรรม ตอนที่ 056


    ตอนที่ ๕๖


    ผู้ฟัง สิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ปรากฏโดยที่ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนอย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญไม่ลืมว่าขณะนี้เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่อวิชชาไม่สามารถที่จะรู้ความจริงนั้นได้ แสดงให้เห็นว่าอวิชชามากแค่ไหนที่กำลังบังอยู่ในขณะนี้ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทุกคนก็รู้ว่ากระทบจักขุปสาทจึงได้ปรากฏ แล้วก็ต้องมีจิตที่กำลังเห็นด้วย เพราะเหตุว่าคนตายไม่เห็นแน่ เพราะว่าคนตายไม่มีจิต เพราะฉะนั้นเป็นจิตคือธาตุชนิดหนึ่งนั่นเองซึ่งเป็นธาตุเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ฟังแค่นี้กว่าจะเอาเราออกแล้วเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งอาศัยสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดกระทบกับจักขุปสาทธาตุชนิดนี้จึงเกิดขึ้น ธาตุทั้งนั้นเลย ละเอียดยิบไป ทุกขณะเป็นธาตุแต่ละธาตุทั้งหมด

    ผู้ฟัง นี้โดยการศึกษาของภาคปริยัติก็บอกว่าจักขุวิญญาณทำหน้าที่เห็น แต่ไม่รู้ ถ้าจะเน้นในจุดนี้เพื่อให้ผู้ฟังใหม่ๆ ให้เกิดความเข้าใจนี้จะเป็นประโยชน์บ้างเพราะว่าก็ไม่ใช่จิตดวงเดียว คือเวลานี้เรามองเหมือนเป็นจิตดวงเดียวที่เห็น ก็รู้เลย พอลืมตาก็เห็นเป็นคนเป็นสัตว์เป็นสิ่งของ แต่จริงๆ แล้ว จักขุวิณญาณมีหน้าที่เห็น แต่ไม่มีหน้าที่จะไปรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ เพียงเห็น ใช้คำว่าเพียงเห็น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็เป็นจิต ขณะต่อๆ ไป และที่รู้ก็ยังไม่ใช่จิตที่ขณะเห็นด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ละจิตก็มีลักษณะ แล้วก็มีกิจการงานเฉพาะของตนของตน

    ผู้ฟัง ตรงนี้ผมขอความกรุณาท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ต้องยาวไปถึงจิตแต่ละขณะ และก็หน้าที่ของจิต

    ผู้ฟัง ก็พอสังเขป

    ท่านอาจารย์ สังเขปแล้วไม่สามารถที่จะจำชื่อได้ เพียงแต่ว่าขณะนี้กำลังเห็นขณะนี้ทุกคนไม่ปฏิเสธ ใช่ไหม ก็รู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าใช้คำว่าธาตุต้องหมายความว่าเป็นตัวธรรมสิ่งที่มีที่เกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่เห็น จิตเห็น ต้องเกิดขึ้นเห็น แล้วดับ ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าไม่ใช่จิตได้ยิน คนละขณะอีกแล้ว ก็พอจะตามได้เข้าใจได้ โดยขั้นเข้าใจแต่ไม่ประจักษ์ แต่เมื่อสภาพความจริงเป็นอย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่า แต่ละคนมีอวิชชามากเท่าไหร่ คือเริ่มรู้จักตัวเองแล้วก็เห็นอวิชชาว่าคืออะไร อวิชชาคือไม่รู้ของจริงตามความเป็นจริง ไม่รู้ว่าเห็นเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ นี่คืออวิชชาไม่สามารถที่จะประจักษ์ หรือว่ารู้ความจริงเช่นนี้ได้ แต่ขณะใดที่เกิดเข้าใจเพราะการฟัง ขณะนั้นไม่ใช่อวิชชา เป็นกุศลจิต เป็นจิตชาติหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นกุศลแล้วก็ประกอบด้วยปัญญา เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่เราที่เข้าใจเป็นสภาพที่สามารถเข้าใจในสิ่งที่กำลังมี แม้ว่าจะเป็นเรื่องราว ก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นคนในครั้งพุทธกาลหลังจากที่ฟังพระธรรมแล้ว มีการกล่าวขึ้นมาบอกว่า ธรรมของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ หมายความต้องเป็นผู้ที่ประจักษ์สภาพธรรมตามที่ได้ยินได้ฟังในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ตามระดับขั้นของปัญญา

    ผู้ฟัง ทุกวันเนี่ยถ้าเราฟังอย่างนี้ โอกาสที่จะพูดอย่างนี้คงจะไม่มี

    ท่านอาจารย์ ก็คุณสุกลก็อาจจะนึก เพราะว่าแต่ก่อนไม่เคยเข้าใจอย่างนี้ใช่ไหม ไม่เคยรู้เรื่องจิตที่กำลังเห็นเลย ว่าเป็นชั่วขณะหนึ่งในสังสารวัฎ เห็นเดี๋ยวนี้เป็นเพียงขณะหนึ่งในสังสารวัฎ ได้ยินก็เป็นขณะหนึ่งในสังสารวัฎ ภาพที่เที่ยงแล้วก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ต่างๆ เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยินบ้างนั้น ผิดค่ะ ไม่มีเลยที่จะใช้คำว่าอัตตา หรือชีวะเลยชีพหรืออะไรที่เป็นสิ่งที่เที่ยง เพราะเหตุว่า ตามที่เคยกล่าวว่า เวลาที่เราเห็นไฟป่า ตอนแรกที่เราเข้าป่า ไม่เห็นไฟป่าเลย แล้วเกิดเห็นไฟป่า ไฟนั้นมาจากไหน ไม่ใช่คอยอยู่ก่อน ไม่ใช่มีอยู่แล้ว ถ้ามีเราก็ต้องเห็น แต่นี้ไม่มี แต่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นได้ยินเป็นชั่วขณะหนึ่ง ขณะนี้สั้นมากเลย เราจะเอาวินาทีไปวัด หรือเอาเสี้ยววินาทีไปวัดก็ไม่ได้ เพราะเหุตว่าเป็นเพียงชั่วขณะสั้นๆ ซึ่งอาศัยเสียงซึ่งอายุสั้นมาก แล้วโสตปสาทซึ่งอายุสั้นมาก กระทบกัน แล้วยังไม่ดับ เป็นปัจจัยให้ธาตุชนิดนี้เกิด ต้องใช้คำว่าเป็นปัจจัยให้ธาตุได้ยินเกิด เพราะเหตุว่า ไม่ได้มีจิตชนิดนี้มาก่อน ไม่ได้เตรียมพร้อมไม่ได้รอคอยอยู่ที่หนึ่งที่ใด เพียงแต่ว่าเมื่อมีสิ่งที่กระทบกันเหมาะสม ธาตุได้ยินก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงที่กระทบแล้วดับ นี่คือชีวิตแต่ละขณะ เป็นความจริงอย่างนั้นที่ว่า ความไม่เที่ยง ต้องไม่เที่ยงอย่างนี้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกว่าไม่ใช่ว่ามีสิ่งนั้นรอคอยไว้ก่อน คือ สมมติผมเปรียบเทียบอย่างนี้ ผมหลับตา แล้วผมลืมตา ผมก็มองเห็นว่ามีของที่มีอยู่แล้ว ให้เรามองเห็นแล้วเสียงที่ท่านอาจารย์พูดกระทำให้ได้มีการได้ยินเกิดขึ้นมา ก็เหมือนเป็นสิ่งที่มีแล้วทำให้มีการกระทบมีการได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเสียงไม่เกิด ได้ยินเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง เสียงไม่เกิด ได้ยินเกิดได้ไหม ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าโสตปสาทรูปไม่เกิด ได้ยินเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี้แสดงให้เห็นถึงปัจจัย ว่าต้องมีปัจจัยหลายอย่างเกิดพร้อมกันอาศัยกันอย่างเช่นเสียง เสียงได้ไม่ต้องอาศัยจิตก็ได้ใช่หรือไม่ เพราะว่าเสียงมีสมุฎฐาน ๒ อย่าง คือเสียงที่เกิดเพราะจิตก็มี เสียงที่เกิดเพราะอุตุก็มี เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่กล่าวถึงเสียงที่เกิดเพราะจิต เสียงที่เกิดเพราะอุตุ เวลานี้ที่ไหนก็มีเสียง ในครัวก็มีเสียง ในห้องน้ำ ที่ไหนๆ ก็มีเสียง เพราะมีปัจจัยให้เกิดเสียง แต่ได้ยิน ถ้าไม่มีโสตประสาทรูปเกิด ไม่มีเสียงที่เกิด และกระทบกับโสตปสาทรูป จิตได้ยินไม่มี ที่จะเกิดได้ยินขึ้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าไปมีจิตได้ยินรอไว้ให้เสียงมากระทบ แล้วก็จิตได้ยินเกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ยิน ไม่ใช่อยางนั้น อาศัยปัจจัยที่พร้อมเมื่อไรก็มีธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นชั่วขณะเดียวแล้วดับ นี่คือการเกิดขึ้นของจิตแต่ละขณะซึ่งไม่เที่ยง และเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง แล้วรู้เช่นนี้จะมีประโยชน์อะไรตรงที่ว่ามีทั้งเสียง มีทั้งได้ยิน มีทั้งเห็น มีทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดซึ่งจะเกิดลอยๆ โดยไม่มีเหตุปัจจัยไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง แล้วจะถ่ายความเป็นตัวตนออกมาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเป็นใครที่ได้ยิน นอกจากธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดเพราะอาศัยเหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ตอนนี้ยังเป็นเราได้ยินอยู่ เราเห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องฟังไปๆ แล้วพิจารณาไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้นไม่มีคำถามว่าสติทำอย่างไร รู้แล้วรู้สึกทำอย่างไร จะให้ทำอย่างไร ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นเรื่องความเข้าใจโดยตลอด ในพระพุทธศาสนาพุทธคือปัญญา เบิกบาน ตื่นจากการไม่รู้ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งหมดเป็นเรื่องของการเข้าใจขึ้น ไม่ใช่เรื่องการทำ ไม่ใช่เรื่องเป็นการที่พยายามด้วยความเป็นตัวตน มีทางเดียวคือฟังพระธรรม และมีความเข้าใจแค่ไหน ถ้ามีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน และก็มีการอบรมเจริญปัญญามามากไม่มีอุปสรรคเลยที่จะเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในขณะนี้ที่เกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ ถ้าเราจะบอกว่าคนที่เขาหลงลืม เช่นหลงลืมไม่ดูเวลาบ้าง หลงลืมขับรถฝ่าไฟแดงบ้าง หรือหลงลืมนัดหมายสำคัญที่นัดเพื่อนไว้แล้วลืมไม่ไปตามนัด จะว่าคนเหล่านี้ไม่มีสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่ คือบังเอิญสติของเขาสัมปชัญญะเขากำลังจดจ่ออยู่ในเรื่องอื่น

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว เวลาที่เราใช้ภาษา เราปนภาษาธรรมกับภาษาไทยของเรามากทีเดียว ต้องเข้าใจว่าเวลาที่ศึกษาธรรมเป็นลักษณะของปรมัตธรรมซึ่งแม้ไม่เรียกชื่อ หรือจะเปลี่ยนชื่อ ภาษาอังกฤษใช้อย่างหนึ่ง ภาษาบาลีใช้อย่างหนึ่ง ภาษาไทยใช้อย่างหนึ่ง ก็ตามแต่ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่เรายังคงใช้คำบาลี ก็เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่เข้าใจ ต่างคนต่างเข้าใจ เวลาที่ย้อนกลับมาหาความหมายแท้ๆ ที่เป็นสภาพธรรม ส่วนภาษาเราเปลี่ยนไปได้ตามความคิดเห็น เช่นตอนเป็นเด็ก บอกว่าเด็กคนนี้สติปัญญาดี ความจริงไม่ใช่สติไม่ใช่ปัญญา แต่เราก็ใช้ว่าสติปัญญา เพราะว่าเขาอาจจะฉลาดเรียนเก่ง เพราะฉะนั้น สำหรับสติสัมปชัญญะในภาษาไทยเราก็ใช่แบบที่เราเคยเข้าใจ แต่ไม่ใช่ตัวสภาพธรรมที่เป็นสติ และสภาพธรรมที่เป็นสัมปชัญญะ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นสัมปชัญญะนี้ หมายความถึงตัวปัญญา และปัญญาที่เป็นสภาพธรรมไม่ใช่คำปัญญา หรือเรื่องของปัญญาที่เราใช้ในภาษาไทย เช่นคนที่คิดพวกเครื่องมือวิทยาศาสตร์เก่ง หรือหมอ หรือยารักษาโรค หรืออะไรต่างๆ พวกนี้ไม่ใช่ปัญญาเลย ปัญญาที่เป็นตัวสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถ์ธรรมต้องเป็นสภาพที่เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า ความเข้าใจตัวสภาพธรรมกับความเข้าใจเรื่องราวนี่ต่างกัน อย่างนักวิทยาศาสตร์อาจจะพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ต่างๆ คือเรื่องราวไม่ใช่ตัวจริงของธรรมเลย เป็นแต่เพียงเรื่องราวเท่านั้นเอง ใช้คำสมมติเรียกสิ่งนี้ซึ่งปรากฏแล้วไปผสมไปรวมกันกับสิ่งนั้น ก็แยกออกมาแล้วเป็นอย่างนี้ คือใช้คำสมมติบัญญัติตลอด โดยที่ว่าไม่เข้าใจลักษณะตัวแท้ๆ คือตัวธรรม เพราะฉะนั้นที่พูดมาทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงการเกิดดับอย่างเร็วมากของจิต เป็นเครื่องพิสูจน์ว่านโปเลียนทำอย่างไร คนนั้นทำอย่างไรดูเหมือนว่ามีประสิทธิภาพมีความสามารถเป็นพิเศษ แต่เขาไม่รู้เลยค่ะว่าจิตมีอายุที่สั้นมาก คือที่เราเห็นว่ากำลังเห็นกำลังได้ยินเหมือนพร้อมกัน เวลาที่เขาทำงานอย่างนั้น ก็ยังไกลกว่าจิตเห็นกับจิตได้ยินของเขาใช่ไหม ขณะที่เขาฟังโทรศัพท์ด้วย แล้วก็พูดกับเพื่อนด้วย แล้วก็อ่านรายงานด้วย แต่ถ้ามาย่อดูว่าอะไรจะเร็วกว่ากันระหว่างจิตเห็น กับจิตได้ยิน ซึ่งดูเหมือนเสมือนพร้อมกันนั้น ยังช้า คือยังตอบ ใช่ไหม เราก็ยังฟัง แต่นี่เดี๋ยวนี้เองกำลังเห็น กำลังได้ยิน เหมือนพร้อมกัน แต่ความจริงห่างกันมาก นี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าจิตเกิดดับเร็ว และอายุของจิตสั้นมาก คือจิตขณะหนึ่งซึ่งเราเห็นว่าเกิดดับแสนเร็ว จะมีอายุที่แบ่งแยกออกเป็น ๓ ขณะย่อย คืออุปาทะขณะ ขณะที่เกิด ฐีติขณะ คือขณะที่ยังไม่ดับ ภังคะขณะ คือขณะที่ดับ เร็วแค่ไหนก็คิดดูนะว่ากำลังเห็น กำลังได้ยินก็ไม่รู้ว่าจิตเท่าไหร่แล้ว และก็ถ้าเอาจิตที่สั้นๆ มาวิเคราะห์ดูแล้ว ก็มีความต่างกันคือขณะที่เกิดไม่ใช่ขณะที่ดับไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ เพราะฉะนั้นจะเป็นจิตของใคร ทำหน้าที่อะไร มีความสามารถมีศักยภาพมีอะไรอย่างไรก็ตามแต่ ก็จะต้องมีอายุเพียงเท่านั้นเองคือสั้นมาก

    แต่ว่าการที่จะเป็นสติสัมปชัญญะที่เป็นโสภณหรือเป็นกุศลนั้นต้องเป็นไปในเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นไปในเรื่องราวของบัญญัติ เพราะฉะนั้นก็ไม่ปนกัน คือถ้าเป็นสติสัมปชัญญะต้องเป็นฝ่ายโสภณฝ่ายดี แล้วถ้าเป็นสัมปชัญญะก็เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้ารู้อื่นสักเท่าไหร่ก็ตามก็ยังไม่ใช่ตัวปัญญา แล้วก็จะไม่มีใครใช้สติ จะไม่มีใครใช้ปัญญาได้เลย เพราะเห็นว่าสภาพธรรมเกิดตามเหตุตามปัจจัย และดับเร็วมาก

    ผู้ฟัง พวกใจลอยป้ำเป๋อ พวกนี้จะแก้ไขอย่างไรเพื่อที่จะปรับปรุง

    ท่านอาจารย์ ก็คงต้องมีคนเตือน แล้วค่อยๆ จำเองต่อไป แต่ตอนแรกๆ ก็คงจะต้องอาศัยคนเตือนก่อน ถ้านึกไม่ออก

    อ.นิภัทร เขียนใส่กระดานดำไว้ข้างฝา

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ดูอีก

    อ.นิภัทร คือเขียนไว้ตรงหน้า

    ผู้ฟัง คือผมกำลังคิดว่ามีอุบายอบรมจิตตนเอง อบรม หรือฝึกจิตตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนที่จะอบรมจิต หรือฝึกจิต หรือพัฒนาจิตกันอย่างไรดี เพื่อแทนที่จะไปจับอยู่ที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนลืมเรื่องอื่น บางครั้งต้องจับหลายเรื่องพร้อมกันจะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีทำให้ใจเราเศร้าหมอง ถ้าไม่จำไว้ก็คงจะดี นี่ดิฉันไม่ได้พูดถึงเรื่องธุรกิจการงาน หรือการที่จะไปพบปะกับใคร คือ พูดถึงประโยชน์ที่ว่าเราจะลืมเก่ง เราจะจำแม่น เราควรจะจำแม่นในเรื่องอะไร เราควรจะลืมในเรื่องอะไรบ้าง เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสิ่งที่ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์ก็อย่าไปพยายามเป็นคนช่างจำ เกิดจำเก่งแล้วไปจำพวกนี้เข้ามากๆ ก็คงจะแย่ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องๆ ไปว่าเราเห็นว่าสิ่งใดที่สมควรจะจำ ถ้าเป็นสิ่งในทางที่เป็นฝ่ายดีเป็นประโยชน์ ถ้าเราขี้ลืมถึงขนาดนั้นถึงคุณนิภัทรจะบอกว่าให้เขียนเอาไว้ก็คงไม่ไปดูหรอก ก็คงอย่างว่าคงต้องมีคนเตือนบ้าง แล้วเราก็ค่อยๆ จำของเราไปเองบ้าง หรืออะไรอย่างนั้น แต่ก็ควรจะดูว่าสิ่งใดที่มีสาระประโยชน์เราก็ควรจะเห็นความสำคัญสิ่งนั้นแล้วก็จำสิ่งนั้น ถ้าเราจะลืมว่าตอนเด็กๆ เราไปวิ่งเล่นที่ไหนทำอะไรบ้าง ดิฉันก็ว่าไม่สำคัญหรอกถ้าเราจะลืมอย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่ลืมที่จะรู้ว่านามธรรมเป็นสภาพที่กำลังรู้ หรือเป็นสภาพรู้ คือเริ่มเห็นสิ่งใดว่าควรจะจำเป็นสาระมีประโยชน์ และเราต้องไม่ไปสนใจที่จะไปพัฒนาความจำในเรื่องของอกุศลต่างๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจการงานต่างๆ เหล่านี้ก็จำเป็น แต่ถ้าจะเป็นคนจำแม่นอย่างเดียวจำเก่งอย่างเดียวก็ระวังอย่าไปจำสิ่งที่ไม่ดี

    อ.สมพร สติอบรมได้เจริญได้ ไม่ใช่เจริญไม่ได้ ก็ทางตาแล้วก็เจริญสติได้ ทางหูเราก็เจริญสติได้ ทางจมูกก็เจริญได้ ทางลิ้น ทางกายก็เจริญได้ แม้ทางใจเราก็เจริญได้อบรมได้ให้มีสติได้ แต่ว่าการที่จะไม่ให้หลงลืมเป็นไปไม่ได้ คนที่ไม่หลงลืมก็มีประเภทเดียวคือพระอรหันต์ มีสติสมบูรณ์แล้ว อย่างพวกเรานี้ก็เรียกว่ามีความหลงลืมมาก แต่ว่าอบรมได้ แต่ว่าเราต้องสำคัญธรรมให้ตรง ถ้าความจำอย่างเดียวเรียกว่าสัญญาที่เราจำได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเรียกว่าสัญญา สตินั้นเมื่อเกิดขึ้นสัญญาก็ต้องเกิดขึ้นด้วย แต่สตินั้นมีสภาพระลึก ระลึกถึงสิ่งที่ไม่เลอะเลือนคือเป็นประเภทกุศล ถ้าเราระลึกแล้วนึกถึงแล้วจิตฟุ้งซ่านอย่างนั้นไม่ใช้สติ แต่เราเข้าใจว่าเป็นสติ คลาดเคลื่อน อย่างนั้นเป็นประเภทวิตก วิจาร อุทธัจจะ นึกขึ้นมาก็ฟุ้งซ่าน ดังนั้นสตินั้นเราอบรมทำให้มี ให้เป็นได้ คำว่าเจริญ คือภาวนาอบรมทำให้เกิดขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่คนจะคิดว่าจะทำ แล้วก็มุ่งหน้าไปที่ว่าจะให้สติเกิดอย่างไรเวลาสติเกิดจะทำอย่างไร จะระลึกอย่างไร มุ่งไปที่จะทำที่จะพยายามไปทำขึ้นจะรู้อย่างไร ทั้งๆ ที่ขณะที่ถามก็แปลว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่ว่าจริงๆ แล้วทำไมไม่มีใครคิดว่าเข้าใจธรรมอย่างไรใช่ไหม ดีกว่าที่จะทำอย่างไร เพราะว่าถ้าเราไม่เข้าใจเลย เราจะทำอะไรได้ คิดดูว่าขณะนี้นามธรรมเป็นอย่างไร รูปธรรมเป็นอย่างไร ก็ยังไม่เข้าใจแล้วก็จะไปทำ ไม่มีทางที่จะสำเร็จ หรือว่าไม่มีทางที่จะถูกต้อง ฃ

    เพราะฉะนั้นอบรมความเข้าใจว่า เราได้เข้าใจขึ้นหรือยังในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในเรื่องของสภาพธรรม นี่คือบันไดขั้นแรก ไม่ต้องชวนใครไปทำ หรือว่าไม่ต้องไปบอกให้ใครทำ เพียงแต่ว่าให้เขารู้ว่าการรู้ธรรมมีหลายระดับขั้น ซึ่งต้องเป็นไปตามขั้นด้วย ไม่ใช่ประจักษ์แจ้งธรรมก่อนใช่ไหม โดยที่ไม่รู้อะไรเลย แบบที่ว่านั่งๆ ไปแล้วก็จะเห็นนั่งๆ ไปแล้วก็จะรู้ แต่ว่าเข้าใจธรรมขณะนี้หรือไม่ ถ้ายังไม่เข้าใจธรรมขณะนี้ ไม่ต้องพูดเรื่องทำเลย ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่จะทำ สติทำกิจของสติ ปัญญาทำกิจของปัญญา สัญญาทำกิจของสัญญา เจตนาทำกิจของเจตนา เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งทำกิจของเขาอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจ ก็อบรมเจริญธรรมฝ่ายโสภณหรือฝ่ายดีไม่ได้ โดยเฉพาะปัญญา ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ นั่งๆ แล้วก็เห็น เห็นอะไรเห็นแล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่อย่างนั้นก็ยังอยากจะไปเห็น แล้วก็ยังไปถามเขาอีกว่าทำอย่างไร ถึงจะเห็นก็ไม่รู้ว่าจะเห็นอะไร และเห็นแล้วมีประโยชน์อะไร เห็นเพื่ออะไร แต่ว่าขณะนี้ธรรมที่กำลังมีปรากฏเข้าใจหรือยัง อย่างนี้เป็นประโยชน์กว่าหรือไม่ ที่จะเริ่มจากการที่เข้าใจในสิ่งที่กำลังมีโดยขั้นการฟังก่อน แล้วก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการปฏิบัติ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัจจัยให้เสียงกระทบหู ได้ยินก็เกิดไม่ได้ฉันใด ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นการฟังเรื่องของสภาพธรรม สัมมาสติก็เกิดไม่ได้ จะเกิดได้อย่างไรในเมื่อไม่รู้เลยว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ลักษณะใดเป็นนามธรรม ลักษณะใดเป็นรูปธรรม และไม่ใช่ตัวตนอย่างไร เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไปเป็นห่วงเรื่องการทำเลยเพราะเหตุว่าไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องอบรมความรู้ความเข้าใจตามลำดับขั้น ซึ่งจะผ่านขั้นต้นนี่ไม่ได้เลย

    ขอทบทวนชาติของจิต เพราะว่ามีใครอาจหลงลืมไปบ้าง คุณหมอรจนาจะช่วยทบทวนตอบ กำลังนอนหลับ ต้องถามถึงเรื่องกำลังนอนหลับ เพราะว่าถามว่าตอนนี้เรากำลังเห็นมีจิตไหม ก็ต้องตอบว่ามีใช่ไหม มีอารมณ์ไหมก็ต้องตอบว่ามีใช่ไหม แล้วทีนี้ตอนนอนหลับ มีอารมณ์หรือไม่

    ผู้ฟัง หลับสนิท

    ท่านอาจารย์ หลับสนิท

    ผู้ฟัง หลับสนิทก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ มีจิตหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะค้านกันไหม ถ้าตอบว่ามีจิตแต่ไม่มีอารมณ์

    ผู้ฟัง มีจิตแต่ไม่มีอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ใช้ได้ไหม คำนี้ถูกต้องรึเปล่า

    ผู้ฟัง มีจิตแต่ไม่มีอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ได้ไหม มีสภาพรู้โดยไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ตรงนั้นก็เป็นภวังค์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตัดเรื่องภวังคไปก่อน คือว่ามีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้โดยไม่มีอารมณ์คือสิ่งที่ถูกรู้ได้ไหม มีแต่ตัวจิตเกิดขึ้น โดยไม่รู้อารมณ์ได้ไหม จิตเกิดขึ้นขณะใดก็ตามโดยไม่รู้อารมณ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ตอนปฏิสนธิจิตได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย ต้องยืนยันเลยว่าจิตเป็นสภาพรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล หมายความว่าจิตจะรู้อะไรได้หมดทุกอย่าง เมื่อจิตเป็นสภาพรู้เกิดขึ้นแล้วต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ ประการนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น เพื่อความแน่ใจเพื่อความมั่นใจว่าจิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ เป็นอาการรู้เป็นลักษณะรู้ เพราะฉะนั้นรู้นี่ไม่ใช่รู้อย่างอื่น มีสิ่งหนึ่ง สิ่งใดให้จิตรู้จึงชื่อว่ารู้อารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใด ไม่ใช่รู้อย่างปัญญา

    ผู้ฟัง คือถ้ารู้ว่าต้องมีอารมณ์

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ถูกรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ในเมื่อมีสภาพรู้ เพราะฉะนั้นตอนนอนหลับมีอารมณ์หรือไม่

    ผู้ฟัง ภวังคจิตก็ต้องมี

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีจิตแล้ว จิตต้องรู้อารมณ์ อารมณ์นี้จะเป็นอารมณ์ลอยๆ ไม่ได้ ต้องเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้อารมณ์นั้นด้วย นี่ต้องจำกัดลงไปเลย เช่นเสียงที่กำลังได้ยิน เสียงที่กำลังได้ยิน เป็นอารมณ์เฉพาะของจิตที่ได้ยินเสียง ต้องกล่าวเจาะจงตายตัวไปเลยว่าเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังได้ยินเสียง หรือจิตที่เกิดภายหลังก็ได้ที่กำลังมีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราจะทราบว่า อารมณ์ซึ่งเป็นรูปไม่ได้มีเฉพาะจิตได้ยินเท่านั้นที่ได้ยิน ยังมีจิตอื่นซึ่งเกิดต่อแล้วก็มีเสียงนั่นแหละเป็นอารมณ์ เพราะเรามีความชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น แม้แต่โลภะหรือโทสะ ก็มีเสียงเป็นอารมณ์ได้ ประการนี้ก็จะต่อไปทีหลัง หลังจากที่เราจะรู้จิตประเภทอื่นมากขึ้น แต่ว่าเราต้องมีความมั่นใจในลักษณะของสภาพธรรม ถ้ามีจิตไม่ว่าจะที่ไหนอย่างไรก็ตาม อรูปพรหมมีจิตหรือไม่ มีอารมณ์ไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มี ประการนี้ต้องยืนยัน จะไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ เกิดขึ้นรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้เสมอ และสิ่งที่ถูกรู้นี้จะเป็นอะไรก็ได้โดยมากเราไปคิดถึงอารมณ์ในภาษาไทย เช่น คนนี้ไม่มีอารมณ์ หรืออาจจะอารมณ์ไม่ดี แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น นั่นเป็นอารมณ์ภาษาไทย ที่คุณหมอบอกว่าตอนนอนหลับไม่มีอารมณ์ หมายความว่าไม่มีอารมณ์ปรากฏ ต้องเติมคำว่าไม่มีอารมณ์ปรากฏ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 10
    30 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ