ปกิณณกธรรม ตอนที่ 437


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๓๗

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่ละขณะก็ เป็นสภาพธรรม ที่ปรากฏแต่ละทาง แต่ว่าสืบต่อกันเร็วมาก เช่นกำลังเห็น เหมือนกับได้ยินด้วย ซึ่งความจริง จะมีได้ยินในสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าจะมีเสียงในสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้เลย เช่นเดียวกับขณะที่เสียงปรากฏ สีสันวัณณะต่างๆ ก็จะปรากฏในเสียงนั้นไม่ได้ นี่คือการเริ่มที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง พระธรรมที่ทรงแสดงทำให้รู้จักตัวเราเอง หรือเปล่า ข้อสำคัญที่สุดไม่ใช่ไปรู้จักบุคคลอื่น หรือว่าธรรม คือ จิตเจตสิกไหนๆ แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงทำให้เราสามารถเข้าใจตัวเราเอง ตั้งแต่ขั้นต้นที่ว่าเราอยู่ตรงไหนในพระธรรม ข้อสำคัญที่สุดถ้าเราไม่เข้าใจ แล้วเราก็จะไปคิดว่า แล้วเราจะต้องรู้สิ่งนั้นไหม จะต้องรู้สิ่งนี้ไหม แต่เพียงถ้าได้กล่าวถึง จิตหนึ่งขณะที่มีเจตสิก เกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ดวง เรารู้จักตัวเราแล้ว รู้จักจริงๆ มีปัญญารู้อะไรอย่างนั้นแล้วหรือยัง ไม่ใช่รู้จักเจตสิก ๗ แค่สิ่งที่กำลังปรากฏที่ไม่ใช่เรา คือลักษณะที่เป็นนามธรรม กับลักษณะที่เป็นรูปธรรม รู้หรือยัง

    เราจะไม่ไปที่อื่นเลย พระธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ย้อนมาถึงตัวเราเองว่า ทำให้เรารู้จักตัวเราเองว่า เราสามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามที่ทรงแสดงได้ไหม เจตสิก ๗ ดวงไม่ต้องพูดถึงเลย เพียงแค่ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ขณะนี้ที่เห็น ขณะนี้ที่ได้ยิน จะทำให้เราเข้าใจอรรถของพระธรรมว่า เมื่อเราได้ศึกษาแล้ว ปัญญาของเรา คือ สามารถที่จะเข้าใจว่าจะอบรมเจริญอย่างไร จึงสามารถที่จะเห็นถูก แล้วการเห็นถูกของเรา ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่า แต่ละคนจะเห็นถูกระดับไหน ใครสะสมมาที่จะเป็นท่านพระสารีบุตร ตอนที่ท่านยังไม่ใช่ อัครสาวก ท่านไม่รู้เลย ว่าท่านจะเป็นท่านพระอัครสาวก เพราะเหตุว่าขณะนั้นท่านก็เป็นเพียงผู้ที่ ยังไม่ได้ฟังพระธรรม มีชีวิตตามปกติธรรมดา ไปดูมหรสพ แล้วเกิดความคิดที่ว่า แม้ผู้ที่เล่นให้ดู ร้องไห้บ้าง หัวเราะบ้าง ทำให้ผู้ที่ดูร้องไห้ตาม หรือหัวเราะตาม ก็ต้องจากโลกนี้ไปหมด นี่คือก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ก็เป็นปกติธรรมดา ท่านเองก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เมื่อฟังพระธรรมแล้ว ปัญญาของท่านถึงระดับไหน

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์สูงสุดก็คือว่า เมื่อเราได้ฟังพระธรรมแล้ว เรารู้ว่าเรายังไม่รู้อะไร แล้วเริ่มต้นจะต้องรู้อะไร ผู้ใดที่สามารถจะรู้เจตสิก ๗ ดวง หรือสามารถที่จะรู้การเกิดขึ้น และดับไปของวิตกเจตสิก วิจารเจตสิก นั่นคือท่านผู้นั้น แต่เรารู้จักตัวเราเองตามความเป็นจริงว่า ถ้ายังไม่รู้แม้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ยังไม่รู้แม้แต่หนทางที่ว่าขณะนี้ ก็ได้ยินได้ฟังว่า ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรม ฟังจนกระทั่งมั่นคงแน่ใจว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ในขั้นฟังก็ยังไม่พอ เพราะว่าเป็นความรู้ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ต้องรู้หนทางที่จะทำให้สามารถ ประจักษ์แจ้งลักษณะนั้นด้วยตัวเอง แต่หวังไม่ได้ ว่าจะรู้มากน้อยแค่ไหน จะรู้เจตสิกไหน หรือว่าไม่ใช่จะรู้ลักษณะของเจตสิกนั้น เจตสิกนี้ เช่น ชีวิตอินทริยเจตสิก ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปคิดเลยว่าแล้วเรา จะรู้ไหม เพราะเหตุว่าตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตอินทริยเจตสิก ไม่ว่าจะเป็นผัสสเจตสิก หรือว่าไม่ว่าจะเป็นเจตสิกใดๆ ทั้งหมด ๕๒ ลักษณะก็ คือนามธรรม เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นจะต้องรู้ ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก่อน แล้วต้องละความคิดหรือความอยาก หรือความต้องการ เพราะว่าบางกาลก็จะมีกลิ่นปรากฏ ธรรมดาปกติ หลงลืมสติ แต่พอมีการรู้ตรงลักษณะของกลิ่น ด้วยความเข้าใจที่ได้เข้าใจแล้ว ว่าสภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูกที่เป็นลักษณะของกลิ่น ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นลักษณะของรูปซึ่งมองไม่เห็นด้วย แต่สามารถกระทบฆานปสาทได้ บางท่านแล้ว ฆานปสาทเป็นอย่างไร นั่นก็คือกั้นอีกแล้ว คือไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปคิดไปหวัง ไปทำอะไรเลย หนทางละคือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏนั่นแหละ ก็จะทำให้ละความไม่รู้ ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วสิ่งใดจะปรากฏ ใครจะรู้ล่วงหน้า เราไม่ต้องไปคิดถึงลมหายใจเลย ไม่ได้มีการที่จะไปพยายามให้ลมหายใจเป็นอารมณ์เลย แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นปรากฏ ในขณะที่กำลังเป็นความสมบูรณ์ของปัญญา ขณะนั้นก็สามารถที่จะรู้ ได้ว่าไม่ใช่การเลือก ไม่มีตัวเรา สักขณะหนึ่งที่สภาพธรรมใด จะปรากฏเกินความคาดหมาย หรือความคิดของใครที่จะรู้ว่า ต่อไปจะเป็นจิตอะไร จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือว่ากำลังคิดนึก เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดนึกล่วงหน้าด้วยความเป็นเรา แล้วก็จะเริ่มเห็นเริ่มเข้าใจว่า ความเป็นเราหนาแน่นแค่ไหน จะไปตามไปตลอด ต้องเป็นปัญญาเท่านั้นที่สามารถจะทำกิจ ละสมุทัย คือ โลภะ แต่ว่าที่จะละ ต้องละตามลำดับ

    ถ้าเข้าใจผิด ไปละความติดข้องในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ละอย่างไรก็ละไม่ได้ เพราะว่าลึกมาก ต้องถึงระดับขั้นของพระอนาคามีบุคคล แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้เราเป็นผู้ประมาท เพราะเหตุว่าถ้าเรายังมัวเมาติดข้องในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ วันหนึ่งๆ จิตของเราก็หมกมุ่น แต่ในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ แต่ถ้าตรงกันข้ามเราเริ่มเห็น แม้แต่ขั้นฟัง ขั้นพิจารณาว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะติดข้อง แต่ห้ามไม่ได้ ก็จะรู้ว่าขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่งด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนา จึงเป็นไท เป็นอิสระ ไม่ใช่เป็นทาส โดยเฉพาะคือไม่เป็นธาตุของความติดข้อง คือโลภะ ด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อที่จะได้มีปัญารู้ความจริงว่า ขณะนั้นเรามีความติดข้องในอะไร ถ้าเราไม่ติดข้องในการที่เราอยากจะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้โผฏฐัพพะ ใจของเราก็หันไปติดปัญญา หรือกุศล เมื่อไรจะมีมากๆ อย่างนั้นอย่างนี้ ก็กระทำไป ด้วยความเป็นตัวตน นั่นก็คือไม่ใช่ปัญญาจริงๆ แต่เป็นการกระทำที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงกับเทวดาที่มาเฝ้าว่าพระองค์ ไม่พัก และไม่เพียร นี่ก็คือต้องเข้าใจอรรถ ความหมายของพระธรรมที่ทรงแสดง โดยนัยประการต่างๆ โดยโวหารต่างๆ จึงจะเป็น นิรุตติปฏิสัมภิทา ไม่ใช่เป็นผู้ที่รู้ภาษาบาลี คำนี้ มีไวยากรณ์ว่าอย่างนั้น แล้วจะใช้คำแปลได้หลายคำ แล้วเลือกใช้คำไหน แต่ว่าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว โวหารที่ทรงแสดง ทรงแสดงโดยนัยของอุปมา โดยนัยของพระสูตร โดยนัยของสมมติสัจจะ หรือว่าโดยนัยของปรมัตถสัจจะ

    แต่ทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง คือทำให้เราเข้าใจถูกว่า เราจะตั้งต้นอะไรเมื่อไร ถ้าเราตั้งต้นจากการฟังแล้ว เราก็ยังรู้ว่าไม่พอ ฟังอีกจนกว่าสติสัมปชัญญะ หรือ สติปัฏฐานเกิด เมื่อสติสัมปชัญญะ เกิดก็ยังไม่พออีก จะต้องมีการละ ไม่ใช่มีการไปเพียรทำ ด้วยความเป็นตัวตนอีก เพราะฉะนั้น จะเห็นโลภะ เมื่อมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตัวจริงของโลภะ ที่มีในขณะนั้น ก็จะปรากฏว่าเป็นลักษณะของธรรมชนิดหนึ่ง มิฉะนั้นเราก็เรียกชื่อธรรมอยู่ตลอดวัน เรียกชื่อผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก โลภเจตสิก โทสเจตสิก แต่สภาพธรรมทั้งหมด เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ลักษณะที่ปรากฏนั้นก็ดับไป โดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ในขณะนั้น ถ้ารู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม รูปธรรม ไม่ต้องไปสนใจเลย

    ผู้ฟัง เข้าใจตรงนี้ แต่พอดีไปติดตรงที่ว่า เกี่ยวกับเรื่องว่ารูป ที่กล่าวในลักษณะว่า รูปจะมีลักษณะของความใกล้ไกล ก็เลยคิดว่าอย่างเสียง ก็เป็นรูป แล้วก็มีลักษณะของใกล้ไกล มันก็ตรงกับลักษณะของเสียงที่เป็น ขอบเขตรูป

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องติดใจ เพราะเหตุว่า เราอ่านพระสูตรทั้งหมด กี่สูตร เราจำได้ไหม แต่เราสามารถจะเข้าถึงจุดประสงค์ การที่ทรงแสดงพระสูตรนั้นว่า เพื่อให้เข้าใจความจริง ของนามธรรม และรูปธรรม อยู่ตรงนี้เอง คือลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง อธิบายให้ฟัง What we mean to know the different between nama and rupa

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็ดี เพราะว่า เราจะต้องพูดถึงปัญญาในขณะนี้ เพราะเหตุว่าขณะนี้เราฟังว่า รูปธรรมไม่ว่าจะมองเห็น หรือมองไม่เห็นเลย แต่ลักษณะที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นคำที่เราใช้คำว่า รูปธรรม เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เพื่อแสดงความต่าง นามธรรมตรงกันข้ามเลย ไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น นามธรรมมืดสนิท ไม่สว่าง ไม่ดัง ไม่หอม ไม่เปรี้ยว ไม่เผ็ด เพราะเหตุว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ เวลาที่เราใช้คำว่า ธาตุ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ไหน วิชาไหนก็ตาม ก็อาจจะพอเข้าใจได้ว่า หมายความถึงสิ่งที่มี จริงๆ เราไม่ได้พูดถึงสิ่งที่เลื่อนลอยไม่มี เราพยายามจะไปเข้าใจสิ่งที่เลื่อนลอยไม่มี ไม่มีประโยชน์ แต่สิ่งที่มี ความรู้สาขาหนึ่ง ก็ใช้คำว่าธาตุ ทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่พูดถึงเรื่องธาตุหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งนั้นเกิดปรากฏ แต่ว่าคนที่อธิบายเรื่องธาตุโดยนัยอื่น ที่ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้จักธาตุทั้งหมดโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น เขาจะรู้จักเพียงบางชนิด เท่าที่ปัญญาของเขาสามารถที่จะคิด เรียกสิ่งนั้นว่านี่เป็นธาตุอะไร นี่เป็นไนโตรเจน ไฮโดรเจน หรือว่าออกซิเจน หรืออะไรก็แล้ว แต่ ตามความรู้ของเขาที่สามารถจะเข้าใจ เพียงเท่านั้น

    แต่ธาตุในพระพุทธศาสนา หมายความถึงทุกสิ่งที่มีจริง มีลักษณะซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น คำว่า ธาตุ กับคำว่า ธรรม เหมือนกัน ทางโลกอาจจะมีความสนใจ แล้วมีการคิดเรื่องรูปธาตุ แต่เขาลืมธาตุที่สำคัญ ว่าถ้าโลกนี้มีแต่เพียงรูปธาตุ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ เย็นหรือร้อน ก็เย็นไปร้อนไป ไม่ใครไปรู้เย็น ไม่มีใครไปรู้ร้อน แต่ว่าไม่ใช่มีแต่เฉพาะรูปธาตุเท่านั้น ยังมีธาตุอีกชนิดหนึ่ง คือ นามธาตุ เพราะฉะนั้น จะไม่มีปัญหาถาม ว่าใครสร้าง หรือเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่หมายความว่าเป็นสิ่งที่มี เหมือนกับถามว่า แข็งมี แล้วจะไม่ให้มีแข็งได้อย่างไร ในเมื่อแข็งมี ก็ต้องมี ฉันใด นามธาตุ คือธาตุรู้ จะให้ไม่มีได้อย่างไร ในเมื่อมีธาตุชนิดนี้ก็ต้องมี เหมือนกับเมื่อมีแข็งก็ต้องมีแข็ง จะไปถามว่า ไม่ให้มีแข็งก็ไม่ได้ หรือจะให้แข็งเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้

    นี่คือจะต้องมีความรู้ว่า ธาตุจริงๆ มี ๒ อย่าง ที่ต่างกันคือ เป็นรูปธาตุชนิดหนึ่ง และเป็นนามธาตุชนิดหนึ่ง การแสดงธรรมโดยนัยของธาตุ ก็คือเพื่อให้ผู้ฟังที่สะสมความเข้าใจในเรื่องธาตุ สามารถเข้าใจสภาพธรรม คือ สภาวธรรมในขณะนี้ได้ เพราะว่าทรงแสดงเรื่องธาตุแทนคำว่า ธรรม โลภะธาตุ ถูกหรือผิด ในเมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะว่า เป็นสภาพที่ติดข้อง โทสะธาตุ ไม่ผิดเลย เพราะว่าเป็นธาตุ เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เป็นสภาวธรรมที่ขุ่นเคืองใจ เดือดร้อน ความรู้สึกในขณะนั้นก็ไม่สบาย มีความรู้สึกว่าไม่สบาย ขณะที่ธาตุชนิดนั้น เกิดขึ้น ถ้าเราสามารถเข้าใจในความเป็นธาตุ เราก็จะเห็นว่า แม้ขณะนี้ก็เป็นธาตุทั้งหมด คือ นามธาตุ กับรูปธาตุ แต่ว่ายาก เพราะว่าเคยไม่รู้ ไม่รู้อะไร ทุกอย่างที่ปรากฏ ไม่เคยรู้เลย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นม่านที่ดำสนิท คือ อวิชชา ที่ปิดกั้นไม่ให้สามารถที่จะเข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ในขณะนี้ได้ แล้วปัญญาก็เหมือนแสงสว่างเล็กน้อยที่ กำลังจะส่องทะลุม่านที่ดำสนิท เพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของสภาวธรรมตามความเป็นจริง เพราะขณะนี้เป็นอย่างนั้น แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น

    ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะน้อมระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มิฉะนั้นไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังเลย ไม่มีโอกาสที่จะรู้ความจริงว่า ขณะนี้เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องอบรม เป็นผู้ตรง ต่อความหมายของคำว่า อนัตตา เป็นธรรม เป็นธาตุ ไม่ใช่เรา แล้วก็คงจะไม่ต้องถามใครว่าเรารู้แค่ไหน เพราะว่าแต่ละคนก็สามารถที่จะรู้ว่า กำลังฟังขณะนี้ เราเข้าใจอะไรขึ้นแค่ไหน แล้วเราจะต้องถึงการประจักษ์แจ้ง ซึ่งเป็นอริยสัจ จึงจะถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ ไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคลหลอกๆ ไม่รู้อะไรเลย นั่งไป นั่งมาก็ไปเป็นพระอริยบุคคล หรือสงสัยว่า เราเป็นพระอริยบุคคล หรือเปล่า ที่เพิ่งได้ฟังเมื่อเช้านี้เอง ว่ามีคนที่นั่งไป แล้วก็สงสัยว่า เราเป็นพระอริยบุคคลหรือเปล่า ถ้าเป็นปัญญา จะไม่เป็นอย่างนี้เลย เพราะปัญญา คือรู้ตามความเป็นจริง แล้วก็จะรู้ด้วย ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นพระอริยบุคคลไม่ได้

    ผู้ฟัง อยากจะทราบว่าปัญญาในทางโลก กับปัญญาในทางธรรม แตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ นี่คือภาษา ภาษาธรรมดา เราจะแยกปัญญาทางโลก คือคนที่สามารถเรียนรู้อะไรได้ ทำอะไรได้ ต่างจากคนอื่น เช่นอาจจะสร้างเครื่องมือที่สามารถจะไปถึงดาวอังคาร หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็เข้าใจว่านั่นคือปัญญาทางโลก เราใช้คำตามที่เราคิดในแต่ละภาษา แต่ถ้าเป็นภาษาบาลี หรือภาษาธรรมที่ทรงแสดง ขณะใดก็ตาม เช่น ในขณะนี้ที่ฟัง แล้วก็เข้าใจเรื่องธรรม แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ปัญญาทั้งหมดที่สามารถจะเข้าใจในสิ่งที่เกิดดับ เป็นโลกียปัญญา เพราะเหตุ คำว่า โลก หรือโล-กะ หมายความถึง สภาพธรรมที่แตกดับ เราไม่คิดเลยว่าสภาพธรรม ขณะนี้เกิดดับ แค่นี้ยังไม่รู้ แต่ว่าถ้ารู้ก่อนก็จะรู้เรื่องของสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับ

    ถ้าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับก็ยังเป็นโลกียปัญญา เป็นทางโลกอยู่ เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงโลกุตตระ เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะนั้นพ้นจากโลก คือพ้นจากการรู้ ว่าโลกนั้น มีแต่การเกิดดับ เพราะเหตุว่าได้ถึงภาวะ ที่เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่เกิด และไม่ดับ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นพ้นจากความเป็นโลก คือ พ้นจากการเกิดดับ ปัญญาขณะนั้นก็เป็นโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คำว่า ปัญญาทางโลก ปัญญา ทางธรรมก็คือภาษาไทย ที่เราใช้เอง เราคิดว่า ถ้าใครรู้เรื่องธรรม เขาก็มีปัญญาทางธรรม ถ้าใครรู้เรื่องหุงต้ม หรือว่าทำอาหาร หรือว่าสามารถที่จะมีปัญญา ทางโลกยิ่งกว่านั้น สร้างจรวด ทำอะไรได้ เขาก็เรียกปัญญาทางโลก แต่นั่นไม่ใช่ในคำสอนในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าคำว่า โลกในทางธรรม คือทุกอย่างที่เกิดดับ ถ้าเป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เกิดดับ ประจักษ์การเกิดดับก็ยังเป็นโลกียปัญญา ยังไม่ใช่โลกุตตรปัญญา จนกว่าจะมีนิพพานเป็นอารมณ์เมื่อไร ปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เป็น โลกุตตรปัญญา คือรู้ว่ามีสิ่งที่พ้นจากการเกิดดับ คือลักษณะของนิพพาน

    ผู้ฟัง ขณะนี้เรามาอยู่ที่ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็ท่านอาจารย์ได้พูดถึงเรื่อง อนุตริยทั้ง ๖ ซึ่งมี ทัสสนานุตริยะ สวนานุตริยะ ลาภานุตริยะ สิกขานุตริยะ สัทธาปาริจริยานุตริยะ อนุสสติ ขณะนี้ได้ฟังธรรม ก็ถือว่าไม่ใช่ธรรมที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงจากพระโอษฐ์ เป็นธรรมที่ท่านอาจารย์ได้ถ่ายทอดมา ก็เป็น สวนานุตริยะด้วย ใช่หรือไม่ เพราะว่าเป็นธรรมที่จะพาให้พ้น ให้ละให้พ้นได้

    ท่านอาจารย์ ทุกท่านที่รู้ธรรม กล่าวธรรม เป็นธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด ไม่มีของใครเลย เพราะว่า ถ้าไม่ทรงแสดง ใครจะรู้ เพราะฉะนั้น จะกล่าวไม่ได้เลย ถ้าเป็นธรรมที่ถูกต้อง แล้วจะไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าใครจะกล่าว ใครจะเขียน ใครจะอย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นสิ่งที่จริง ตามที่ได้ทรงแสดง ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ทุกคำเป็นของ พระองค์ ไม่ใช่คำของบุคคลอื่นเลย

    ผู้ฟัง การที่เราฟังธรรมจากหลายๆ ท่าน แล้วบางครั้ง บางท่านที่จะแสดงธรรม ท่านก็บอกว่า ธรรมของพระพุทธเจ้า ธรรมที่พูดตามพระพุทธเจ้าพูดต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น อย่างท่านพระอานนท์ ท่านก็จะบอกว่า เอวัมเมสุตัง ท่านอาจารย์ได้เคยกล่าวว่า เอวัมเมสุตัง คือ การเปลื้องตนจากพระศาสดา คือหมายความว่า ทำให้ศาสนาของเรา ผู้ที่ศรัทธาในศาสนานี้เจริญ ความศรัทธานี้เจริญยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่นำมากล่าว อันนี้ผมเปรียบเทียบกับท่านผู้อื่น ไม่ได้กล่าวล่วงเกินใคร ผู้ที่นำมากล่าว เราจะพิจารณาได้อย่างไรว่า สภาพ สิ่งที่เขานำมากล่าวนี้ถูกต้องหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์สูงสุด ที่สาวกบูชาพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง อันนี้สำคัญที่สุด ต้องรู้ว่าปัญญารู้อะไร ปัญญาเข้าใจอะไร ถ้าพูดถึงสิ่งอื่น ไม่ทำให้เข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าลักษณะของสภาพธรรมขณะนี้ ลักษณะหนึ่งเป็นรูปธรรม อีกลักษณะหนึ่งเป็นนามธรรม ถ้าไม่ใช่ปัญญาของตัวเองที่ค่อยๆ ฟังค่อยๆ เข้าใจ จะมีประโยชน์อะไรกับการฟัง เพราะเหตุว่าเป็นคำพูดของคนอื่น ที่ไม่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะอ่านคัมภีร์ใด พระไตรปิฎก หรือว่าอรรถกถา หรือบุคคลใดก็ตามแต่ ถ้าพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ พิสูจน์ได้ทุกกาล ไม่ต้องไปทำอะไรที่ไหนเลย เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยทำให้เห็นแล้ว ขณะที่เห็นนี้คือเห็นแล้ว ขณะที่ได้ยินก็ได้ยินแล้ว เพราะว่าได้ยินเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน ไม่มีใครสามารถไปทำอะไรได้เลย

    เพราะเหตุว่า ธรรมเป็นธรรม ให้เข้าใจความเป็นอนัตตาของ ธรรม แล้วก็ถ้ามีความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้นในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็จะละคลาย ความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรม ว่าเป็นตัวตนหรือว่าเป็นเรา ซึ่งเป็นความเห็นถูก ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็เพราะคำที่ถูกต้อง ถ้าเป็นคำที่ผิด จะไม่ ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนี้เลย เพราะฉะนั้น จะรู้ว่าคำใดถูก คำใดผิด คือว่า มีสภาพธรรม กำลังปรากฏ แล้วก็ทำให้เข้าใจถูกต้องในลักษณะนั้น เพื่อที่จะคลาย ความไม่รู้ และการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่า เป็นตัวตน คำนั้นจริง เพราะเหตุว่าพูดถึงลักษณะจริงๆ แต่ถ้าคำนั้นเป็นเรื่องอื่น เช่น อาจจะมีคำกล่าวว่า เราต้องทำสมาธิ เพื่อปัญญาจะได้เกิด ก็ถามบุคคลนั้นว่าปัญญารู้อะไร ผู้นั้นไม่รู้เลยว่า ปัญญาก็คือความเข้าใจถูกเห็นถูก ในลักษณะของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ถ้าไม่เริ่มต้นรู้ แล้วจะรู้เมื่อไร แล้วเวลาที่กำลังไปนั่งทำสมาธิ แล้วก็เข้าใจว่าภายหลังก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะที่กำลังเริ่มต้นนั่งทำสมาธิ จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นหรือไม่ ถ้าไม่เข้าใจ แล้วเมื่อไรจะเข้าใจขึ้น ไม่มีทางเป็นไปได้เลย ถ้าไม่เริ่มจากความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จะไปคาดหวังว่าแล้วจะเข้าใจ เป็นไปไม่ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567