ปกิณณกธรรม ตอนที่ 464


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๖๔

    สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าตามพระวินัย จะอาบัติ เมื่อมีจิตยินดี แต่ใครจะถวายเท่าไรก็ตาม ก็ไม่มีจิตยินดีว่าเป็นของท่าน แต่เป็นสิ่งที่เขาให้สำหรับเพศบรรพชิต สำหรับพระภิกษุ สำหรับอาหารยารักษาโรค หรือสำหรับวัดวาอาราม แต่ไม่ใช่ของท่าน เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ยินดีในทรัพย์นั้นว่าเป็นของท่าน ท่านก็ปลอดโปร่งสบาย พ้นจากอาบัติ แล้วถ้าดิฉันทำอย่างนี้ ดิฉันผิดหรือเปล่า เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจอะไรก็ต้องควรพิจารณาด้วย ว่าการประพฤติอย่างใด สมควรที่จะติเตียนไม่ให้ดิฉันทำอย่างนี้ต่อไป ให้ถวายเงิน ถวายทองหรือ นั้นเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับดิฉัน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นไปตามพระวินัย พระจะได้รับทุกอย่างจากปัจจัยที่เราให้กับไวยาวัจกรไม่ใช่ไปมอบถวายท่าน

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้ว เท่าที่ผมฟังท่านอาจารย์ก็ไม่เคยว่าอะไรพระ

    ท่านอาจารย์ มีจุดอะไร ซึ่งเขาโจมตี หรือว่าเข้าใจผิด เราจะได้อธิบายให้เขาเข้าใจ

    ผู้ฟัง อย่างเช่นว่า อาจารย์บวชมา ๑๐ ปี ๒๐ ปีไม่ได้อะไรเลยจากวัด ไปบวชทำไม เหมือนกับว่า ไอ้ที่บวชมามันเสียรู้

    ท่านอาจารย์ พูดถึงเรื่องการบวช ในครั้งที่พระผู้มีพระภาค ยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่ได้ไปเฝ้าฟังธรรม แล้วก็เข้าใจธรรม ก็สามารถที่จะรู้จักตัวเอง ใจของตัวเอง ใครจะรู้จัก ใจตัวเอง เท่ากับตัวเอง เขารู้ว่าเขาสะสมอัธยาศัยมาที่จะอบรมปัญญาในเพศบรรพชิต อย่างท่าน พระรัฐปาล ท่านจะต้องบวช แม้ว่าบิดามารดาจะห้ามอย่างไร ท่านก็บวช อดข้าว ๗ วันเพื่อที่จะบวช นั่นคืออัธยาศัย อย่างหนึ่งแต่ว่าเราจะไม่กล่าวถึงท่านเฉพาะท่าน พระรัฐปาลหมายความว่าแต่ละคน เราทุกคนมีความจริงใจ และมีความตรงว่า เราสะสมอัธยาศัยมาที่จะเห็นประโยชน์ ว่า เราจะไม่ครองเรือน เราจะสละอาคารบ้านเรือน เราจะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต นี้คือในครั้งนั้นที่เข้าใจพระธรรม แต่ละคนที่บวช มีความจริงใจ เข้าใจตัวเอง อย่างนี้หรือเปล่า ที่จะละอาคารบ้านเรือนไป เพื่อที่จะอบรมปัญญา ที่จะขัดเกลากิเลสสูงยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ คือในเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้น เมื่อละแล้ว ก็ละจริงๆ แม้แต่ในครั้งพุทธกาล ก็มีผู้ที่ละ แล้วก็ยังรับเงินทองก็มี ซึ่งเป็นเหตุให้ทรงบัญญัติพระวินัยทั้งหมด เพราะเหตุว่าความประพฤติแต่ละท่านซึ่งบวช ในครั้งนั้นไม่สมควรแก่เพศสมณะ จึงต้องทรงบัญญัติพระวินัยไว้ มาก และมีการสวดปาฏิโมกข์ เพื่อ เตือนให้ระลึกถึงว่า เพศบรรพชิตนั้นคืออย่างไร ที่จะต้องต่างกกับคฤหัสถ์อย่างไร

    เพราะฉะนั้น การที่ใครจะบวช หรือไม่บวช ก็เป็นอัธยาศัยของเขา เราไม่มีสิทธิไปก้าวก่ายเลย แต่ว่าให้เป็นผู้ที่เข้าใจธรรมแล้วก็รู้ประโยชน์ จริงๆ ว่าบวชเพื่ออะไร แล้วก็จึงจะได้ประโยชน์ จากการบวช เพราะเหตุว่าแม้แต่ในครั้งพุทธกาลก็มีคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเอง มหาโจรที่ยิ่งกว่ามหาโจร แล้วทำไมตรัส แล้วมีใครโกรธพระพุทธเจ้าไหม ถ้าพระองค์ตรัสอย่างนี้ แต่ตรัสเพราะเตือน เพศนี้เป็นเพศที่สูงมาก ถ้ามีการเจตนาที่จะล่วง หรือไม่ประพฤติตามพระวินัย โทษแค่ไหน แล้วเราอย่างให้ใครได้รับโทษอย่างนั้นไหม ด้วยความจริงใจ อยากให้เขาเจริญงอกงามในธรรมวินัย หรืออยากจะให้เขาประพฤติผิดกันมากๆ แล้วก็โทษที่เขามองไม่เห็น ก็คือเจตนาที่จะล่วงศีล เพราะฉะนั้น จะเป็นความหวังดีหรือเปล่า ที่ว่าให้ทุกคนที่จะบวช ได้รู้จักตัวเอง ได้พิจารณาถ่องแท้ ได้เข้าใจว่าเขาสามารถที่จะละอาคารบ้านเรือนจริงๆ แล้วอบรมเจริญปัญญา ในเพศบรรพชิต ตามพระวินัย ถ้าบวชแล้วต้องตามพระวินัย ไม่ใช่ว่าบวชแล้ว ไม่ประพฤติตาม และคิดว่าไม่ประพฤติตามก็ได้ ถ้าอย่างนั้น หมายความว่าไม่เคารพในพระศาสดา ไม่เคารพในพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นความหวังดี เราจะชึ้แจงให้เขาเข้าใจไหม ให้เขาติดสินใจด้วยตัวเขาเอง หรือว่าเราก็ยินดีที่จะเห็นเขาตกลงไป ในที่ๆ ไม่ควรจะตกลงไป ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ แต่เราก็ไม่สามารถจะไปจัดการกับชีวิตของใครได้ เพราะว่าคนที่จะบวชก็มีมาก โดยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย

    เพราะฉะนั้น สำหรับยุคนี้สมัยนี้ การบวชอย่างในครั้งโน้นที่ว่า เพื่อที่จะบำเพ็ญชีวิตที่เป็นประโยชน์ ดุจสังข์ขัด เพื่อความเป็นพระอริยบุคคล ขั้นพระอรหันต์ เพราะว่าเพศของบรรพชิต เป็นเพศของพระอรหันต์ ที่ว่า แม้ว่าบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามี ไม่บวชก็ได้ แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว จะไม่มีชีวิตอย่างคฤหัสถ์เลย นี้ก็แสดงว่าเป็นเพศที่สำหรับการที่มีเจตนา ตั้งใจที่จะบรรลุธรรมถึงขั้นพระอรหันต์ นั่นคือผู้ที่เข้าใจ แต่ยุคสมัยผ่านมาถึงจนถึงสมัยนี้แล้ว การศึกษาพระธรรมวินัยก็น้อยเป็นส่วนน้อย เราต้องพูดความจริง ความจริงเป็นอย่างไรก็คืออย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า มีการบวชด้วยศรัทธา แต่ว่ายังไม่ได้มีการเข้าใจ พระธรรมวินัยเลย แล้วศรัทธา ตามประเพณีก็คือว่า เห็นว่าการบวชนี้มีประโยชน์ ในการที่จะได้มีโอกาส ที่จะได้มีเพศอย่างบรรพชิต โดยที่ว่าในเวลาจำกัด ก็ยังดีกว่าไม่มีเลย นี่เราเกิดในยุคสมัยซึ่ง ต่างกับสมัยพุทธกาล ความเข้าใจของคน หรือศรัทธาของคน ก็เป็นไปตามกาลสมัย เพราะฉะนั้น เราจะขัดขวางใคร เป็นไปไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าเมื่อใครจะบวช แล้วเขาเข้าใจธรรม และเข้าใจเหตุผล แล้วก็เห็นประโยชน์ ว่า จุดประสงค์คืออย่างนี้ แล้วเป็นเรื่องของเขาเอง ที่เขาจะตัดสินใจว่าจะบวช หรือไม่บวช เพราะเหตุว่าถึงไม่บวชก็ศึกษาธรรมได้ ไม่ใช่ว่าศึกษาธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคน พยายามรักษาเพศบรรพชิตให้สูงส่ง สมกับที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ ว่าความประพฤติอย่างนี้ๆ ควรแก่บรรพชิต ถ้าเราช่วยกันรักษา ช่วยกันปกป้องไว้ จะผิดหรือจะถูก ก็เป็นความคิดของแต่ละคน แล้วแต่ใครจะคิดอย่างไร แต่ตามความเป็นจริง พุทธบริษัทก็ต้องทำหน้าที่ของพุทธบริษัทด้วย

    ผู้ฟัง ผมฟังแล้ว ผมยังสรุปอะไรไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ กาลสมัยเป็นอย่างนี้ เราทำอะไรไม่ได้ ที่ว่าจะต้องให้ทุกคนเข้าใจธรรมก่อน หรือให้ประพฤติตามพระวินัยบัญญัติอย่างถูกต้องเพราะว่าส่วนใหญ่ ก็มีผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษา หรือบางส่วนศึกษา แต่คิดว่ายุคสมัย จำเป็นต้องเปลี่ยน อันนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ส่วนตัวของเรา เราไม่ได้ไปก้าวก่าย เราก็ยังเคารพในพระรัตนตรัย เราก็ยังกราบไหว้นอบน้อม แต่ในความเข้าใจธรรม และความเข้าใจวินัย เราก็ต้องรู้ว่าเราควรจะเกื้อกูลบุคคลที่เราสามารถจะเกื้อกูลได้ คือให้เขาเข้าใจเพศบรรพชิตได้ถูกต้อง ว่าเพศบรรพชิตนั้น สูงแค่ไหน อย่างไร และเพื่ออะไร เขาจะได้ตัดสินใจของเขาเอง ความเป็นผู้ตรงว่าเขาจะเป็นคฤหัสถ์ หรือเป็นบรรพชิต

    ผู้ฟัง มีหลายคน เขาเข้าใจ เขาอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ แต่การเข้าใจผิดอันนี้มันอันตรายอย่างมหันต์ คือเขากลัว เขาไม่กล้าเปิดเผยว่า ๑ ไปวัด ๒ ไปกราบไหว้พระ ๓ ทำบุญใส่บาตร

    ท่านอาจารย์ กลัวอะไร เขาทำสิ่งที่ดี ไหว้พระจิตของเขาก็นอบน้อม ทำบุญใส่บาตรก็เป็นกุศล

    ผู้ฟัง กราบขอบพระคุณทุกท่านที่มีเจตนาดีต่อท่านอาจารย์ ซึ่งผมก็เป็นท่านหนึ่งที่เคารพนับถือท่านอาจารย์ อะไรก็ตามที่ทำแล้วท่านอาจารย์ต้องหมองมัวผมก็ไม่สบายใจเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ขอให้ทราบทุกท่านว่า ถ้าใครจะไม่สบายใจ แล้วเป็นห่วงดิฉัน ดิฉันไม่สบายใจน้อยกว่าคนนั้นหลายร้อยเท่า คือไม่ต้องห่วงว่าดิฉันจะไม่สบายใจไม่เดือดร้อนใจจริงๆ อะไรจะเกิดก็คือเกิด ทุกอย่าง ไม่ใช่ว่าจะมีถูกทั้งหมด หรือว่าของเราจะต้องไม่มีใครติได้ ก็แล้วแต่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นวันไหน เมื่อไร เป็นอย่างไรก็เป็นไปแล้ว เพราะฉะนั้น หนทางที่ดีที่สุดก็คือว่า เราทุกคนก็จะได้ฟังธรรมกันต่อไปมากๆ แล้วก็เป็นธรรมล้วนๆ แล้วอย่าห่วงถึงดิฉันว่าจะไม่สบายใจ ไม่เดือดร้อนเลย ไม่ว่าใครจะมองไปในแง่ที่ว่าดิฉันคงจะพูดล่วงเกินหรือว่าพูดตรง หรือพูดจริงในสิ่งซึ่งคนอื่นไม่พูด เป็นต้นว่าในเรื่องของพระวินัยหรืออะไรก็ตาม แต่ทั้งหมดด้วยความหวังดี หวังดีจริงๆ จึงพูดไม่ใช่หวังร้ายเลย ทุกคนคงจะได้ฟังวิทยุ ช่วงนี้เป็นเรื่องของเมตตา ซึ่งไม่ควรจะจำกัด คำว่าไม่จำกัดนี้ บอกอยู่แล้ว ไม่ว่าใครที่ประพฤติผิด เราก็ต้องมีเมตตาได้ ไม่ใช่ว่าเราจะชักชวนกันติเตียนหรืออะไร แต่ถ้าสามารถจะทำประโยชน์ อะไรกับผู้นั้นได้ก็ทำ แต่ว่าในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ช่วยกันรักษาให้มีชีวิต แต่ว่าต้องรักษาให้เป็นพระภิกษุ

    ผู้ฟัง ทีนี้ผมขอถามอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องเจริญวิปัสสนา ในเรื่องของสติปัฏฐาน สภาพธรรม ที่ปรากฏขึ้นทางทวารไหนก็ตามแต่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่อาจารย์บอกว่า มีสติระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าไม่มีตัวไม่มีตน ขอให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยอธิบายด้วย

    ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ เพราะว่าส่วนมากจะทำ ถ้าจะทำหมายความว่าไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ การที่เราศึกษาธรรม ก็เพื่อที่จะรู้ตัวจริงของธรรม ไม่ใช่เพียงเรื่องราว แต่ตัวจริงของธรรมในขณะนี้ มี กำลังทำงานของธรรมนั้นๆ เช่น จิต ก็ทำหน้าที่ของจิต เจตสิกก็ทำหน้าที่ของเจตสิก แล้วรูปก็มี เพราะฉะนั้น จะไม่ต้องมีความรู้สึกว่าทำ ถ้ามีความรู้สึกว่าทำ เกิดขึ้น ก็ช่วยไม่ได้ เพราะเหตุว่าใครจะไปยับยั้งตัวตน ซึ่งหนาแน่น บางครั้งก็เกิด เหมือนกับมีความรู้สึกว่า จะทำ หรือจะดู หรือจะรู้ หรือพยายามที่จะเห็น ลักษณะที่เป็น อนิจจัง หรือทุกขัง หรืออนัตตา แต่ตามความเป็นจริง ปัญญาละเอียดมาก ต้องค่อยๆ เริ่มต้นทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ จากสิ่งที่กำลังปรากฏ ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่าจากสิ่งที่กำลังปรากฏ คือศึกษาธรรมศึกษาตัวจริงของธรรม ซึ่งในขณะนี้เรากำลังเริ่มอบรมปัญญา เพราะเหตุว่า การเจริญวิปัสสนา คือ การอบรมปัญญาที่สามารถ ที่จะประจักษ์แจ้งควาามจริง ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้เอง เพราะฉะนั้น แม้แต่การศึกษาปรมัตถธรรม หรืออภิธรรม เราก็ต้องศึกษาตัวธรรม เช่น พอพูดเรื่องเห็น ทุกคนกำลังเห็น เรายังไม่แคยคิดไม่เคยรู้มาก่อน ว่าเห็นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เราก็เห็นสิ่งอื่นข้างนอก แล้วก็บอก มีคน มีต้นไม้ มีอะไรจริง แต่ความจริงสิ่งต่างๆ เหล่านั้น จะไม่ปรากฏ ถ้าจิตเห็นไม่เกิดขึ้น ถ้าจิตที่สามารถจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ในขณะนี้ไม่เกิด สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ก็จะไม่เกิด นี่คือเรื่องราว เรื่องราวซึ่งพิสูจน์ได้ คือเดี๋ยวนี้เองที่กำลังเห็น เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ถ้าฟังจนกระทั่งสามารถเข้าใจได้ สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี แล้วก็จะไม่มีการไปคิดว่า เป็นอนิจจัง หรือเป็นอนัตตา หรือเป็นทุกขัง แต่ว่าในขณะใดที่เรารู้ว่าขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่ามีสภาพรู้ ซึ่งสภาพรู้ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น เจือปน เป็นแต่เพียงธาตุชนิด ๑ ซึ่งน่าอัศจรรย์ในความไม่มีรูปร่าง แต่ว่าเป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วรู้ แล้วยังสะสม ทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในธาตุรู้ หรือสภาพรู้ในขณะนั้นมากมาย ทันทีที่จิตเห็นดับ จิตอื่นก็เกิดจนกระทั่ง เป็นคิดนึกเรื่องราวต่าง ก็สืบต่อจากจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็มีการสะสม อย่างจิตก่อนศึกษาธรรม ไม่ได้สะสม เรื่องความรู้ ความเข้าใจเรื่องสภาพธรรม แต่ว่าในขณะนี้ เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ก็มีการสะสม ความรู้ความเข้าใจเรื่องธรรม แล้วขณะที่ได้ฟังว่าปรมัตถธรรม หรืออภิธรรม ก็คือขณะนี้ที่เรากำลังเห็น กำลังได้ยิน แล้วก็สติปัฏฐาน ก็ไม่ได้ผิดไปจากนี้เลย เพียงแต่ว่าสติจะระลึกในขณะที่กำลังเห็น กำลังพูดเรื่องเห็น กำลังเข้าใจเรื่องเห็น แล้วมีสภาพเห็น ที่กำลังเห็นด้วย แล้วก็มีปัจจัยพอที่สติจะระลึก และเข้าใจลักษณะที่เห็น ไหม เราค่อยๆ ไปอย่างนี้ ที่จะรู้ว่าลักษณะของธาตุชนิดนั้นมีจริงก่อน แล้วก็มีลักษณะอย่างไร เรียกว่าค่อยๆ พิจารณาสภาพนามธรรม หรือรูปธรรมก็แล้วแต่ สติจะระลึก จนกระทั่งเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้อง ว่าลักษณะของนามธรรมในขณะนี้คืออย่างนี้ ลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตาเป็นรูปหนึ่ง คืออย่างนี้ ลักษณะของรูป รูปหนึ่ง คืออย่างนี้ แทนที่เราจะไปเรียนรูปมี ๒๘ รูปแล้วยังจำชื่อไม่ได้ แต่เวลานี้รูป รูปหนึ่งกำลังปรากฏทางตามีจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจในภาวะหรือความเป็นรูปจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏว่า สิ่งนี้เพียงปรากฏ ความคิดนึกของเรา เคยทรงจำไว้หมดว่า เป็นคนโน้น คนนี้ ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ ถอนไป หรือยัง อย่าไปถึงว่าจะเห็น อนิจจัง หรือ อนัตตา หรือทุกขัง เพียงแต่ว่า แม้ขณะนี้เองการที่จะเข้าใจรูป ซึ่งกำลังปรากฏ ในขณะนี้ ค่อยๆ เห็นว่าเป็นเพียงรูปเท่านั้นจริงๆ หรือยัง ทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง รูปที่กำลังปรากฏ สติ ยังระลึกไม่ได้ มันก็ดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร คือก่อนที่คุณซิง จะพูดอย่างนี้ก็ดับ

    ผู้ฟัง ที่นี้เราจะจับอะไรกับสิ่งที่ดับไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ แต่มีสิ่งที่กำลังปรากฏ อีก เพราะฉะนั้น ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง

    ผู้ฟัง ถ้าพูดมันก็ล่วงไปอีกแล้ว เราจะระลึกตรงไหน

    ท่านอาจารย์ แต่พอพูดว่าล่วงไปแล้ว มันก็มีสิ่งที่ปรากฏ มันไม่ใช่หายไปเลย

    ผู้ฟัง มันปรากฏ เราลองพิจารณาดู ถ้ากำลัง บุ๊ป มันลัดนิ้วเดียวมากมาย

    ท่านอาจารย์ นั่นคือเราคิด แต่เรายัง ไม่รูลักษณะของสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องไปกังวลว่ามันดับไปแล้ว มันดับไปแสนโกฏิ แต่ละขณะแต่ว่าขณะนี้ที่กำลังปรากฏค่อยๆ เข้าใจ

    ผู้ฟัง มันจะเกิดอย่างนี้ พอสติจะระลึก ดับ คือมันเหมือนกับว่า ฟิล์ม มันหมุนไปเร็วๆ อย่างนั้นมันจะอะไรผ่านก็ผ่าน อะไรมาก็มา อยู่ตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ นั่นคือเราทั้งหมด ที่จะดู แล้วก็รู้ว่าเคยเป็นอย่างนี้ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเอาความรู้จากขั้นการฟัง มานั่งคิดหรือใช้ ว่ามันดับไปเร็วมาก แต่สิ่งที่กำลังมี เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องใช้คำว่า สติปัฏฐาน ไม่ต้องใช้คำว่า ภาวนา หรืออะไรเลย แต่ถ้าความรู้ ความเข้าใจเริ่มมี ในขณะนี้ ที่กำลังเข้าใจว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏสิ่งนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง จนกว่าจะไม่มีอะไรในสิ่งนี้

    ผู้ฟัง ถ้าไม่พิจารณาอย่างนั้น มันก็ จะไม่ มันก็เห็นอย่างเดียวไปตลอด

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เกิด ค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ เข้าใจ ความกังวล หรือความต้องการมีอยู่ ทำให้เราเกิดความคิดความต้องการที่จะรู้ ยังไม่ปล่อยเราไปง่ายๆ โลภะ ยังไม่เป็นอิสระพอที่จะรู้ว่านี้เป็นการฟังซึ่งเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจ แล้วไม่ต้องไปคิดเรื่องทำวิปัสสนา หรือห่วงที่จะไปรู้นามนี้ รูปนั้น เมื่อไรเลย เป็นหน้าที่ของสังขารขันธ์ จริงๆ ที่จะมีการค่อยๆ เกิด แล้วก็ค่อยๆ รู้ว่าขณะนั้น เป็นการคิดเรื่องราวผสมกับลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ก็เป็นสติระดับ ๑ จนกว่าจะมีความมั่นคง ที่จะเข้าใจว่า แม้ไม่คิดเลย สภาพนั้นก็มีแล้วก็กำลังปรากฏ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะชิน คือรู้ว่าสิ่งที่จะต้องละตั้งแต่ต้น แล้วก็รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เมื่อไร ขณะที่กังวล หรือต้องการ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะหนึ่งของโลภะ

    ผู้ฟัง ดิฉันขอเล่าอีกครั้งหนึ่ง กำลังนอนฟังวิทยุอยู่ แว๊ป อย่างว่า มันเป็นเสียงดังอย่างเดียว แล้วก็ความรู้สึกตรงนั้น คือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวดิฉัน มันเป็นคล้ายๆ กับว่ามัน เดี๋ยวเดียว อึดใจยังนานกว่า พอเขาปรากฏ ในขณะซึ่งปรากฏ มันจะเป็นสภาพดัง แล้วคือไม่ใช่ตัวเรา คือมันเป็นแต่เสียงซึ่งดังมา แล้วบุ๊ป หายเลย หลังจากหายก็คิดต่อ ความคิดนี้จะทำให้คนหลง ซึ่งอาจารย์บอก ไอ้แว็ปนั้น ไอ้แว็ปเมื่อกี้นี้มันใช่ เพราะมันตรงกับที่เราเรียน อาจารย์สอนมาตลอดว่า ธรรมเขาทำงานเขาเอง จิต จิตได้ยินคือโสตวิญญาณ เขาเกิดเขาเอง เขาก็ได้ยินเอง แล้วในขณะซึ่งเร็วมาก จะไม่ใช่เรามันจะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดเท่านั้น แต่ดิฉันยังอ่อนมาก จึงยังจับไม่ได้ว่า นามธรรมมันอยู่ตรงไหน รูปธรรมอยู่ตรงไหน เป็นแต่เพียงเสียงที่ปรากฏทางหูเท่านั้น อันนี้ไม่ทราบว่าจะใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เรื่องที่ละไปเรื่อยๆ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ที่จะลืมไม่ได้เลยว่าละจริงๆ คือขณะนี้ที่เสียงกำลังปรากฏ ความรู้ ถ้ารู้จริงแล้ว ต้องละ จะช้าหรือจะเร็วก็ตามแต่ จะมากหรือจะน้อยก็ต้องละ คือต้องรู้ว่าไม่ติดอยู่ตรงนั้น แล้วก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นเครื่องทดสอบว่าปัญญา รู้หรือยังๆ ตลอด

    ผู้ฟัง อย่างที่อาจารย์พูดผมเห็นด้วย มันมีความกังวลจริงๆ เหมือนกับว่า เราตั้งใจ คือชั่วโมงนี้ ไม่ได้หมายความว่า ๑ ชั่วโมง ตอนนี้เราว่างแล้ว จะลองพิจารณาดู มันเกิดความกังวลจริงๆ กังวลแล้วมันก็ แทนที่จะได้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรม มัน ผมว่ามันกลายเป็นฟุ้งไป

    ท่านอาจารย์ เรื่องสัจจญาณ นี่สำคัญมาก เพราะว่า อริยสัจ มี ๓ รอบ ถ้าเรายังมีโลภะ ที่แฝงอยู่ตรงนั้นตรงนี้ จะปิดกั้นเลย ไม่มีทางที่เราจะเป็นอิสระจากเขา เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่าโลภะ เป็นธรรมที่จะต้องละ แล้วเขาจะไม่ปรากฏตัว อย่างโลภะประเภทอื่น ขณะนั้นไม่ได้อยากรับประทานอะไร ไม่ใช่อยากทำอะไร ไม่อยากไปไหน แต่มีความต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้เราไม่รู้จริงๆ ว่า หนทางไม่ใช่ด้วยความต้องการ แต่ด้วยการอบรม ความรู้ความเข้าใจ และสภาพธรรม ก็ปรากฏ เป็นปกติอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงมีคำเตือนว่า มีปกติ ตามปกติ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วยังละด้วย คือไม่ต้องไปใส่ใจอีก ระลึกก็ระลึก แล้วยังไม่รู้ก็ระลึกใหม่ ปรารภใหม่ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ห้าม

    สภาพธรรม เป็นจริงอย่างไร ไม่ใช่เป็นจริงกับคุณสุรีย์คนเดียว คนอื่นก็ต้องเหมือนกันอย่างนี้ ตราบใดที่ยังคิดก็คิดกันไป จนกว่าจะเข้าใจขึ้น ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจพออย่างถูกต้อง ในเรื่องของสติปัฏฐาน ที่จะให้สัมมาสติระลึก เป็นไปไม่ได้เลย จะต้องมีเรากำลังพยายาม ซึ่งนั่นไม่ถูก ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ทุกอย่างอย่าตื่นเต้นๆ นั้นก็เป็นลักษณะหนึ่ง ของความพอใจ ความยึดมั่น ความต้องการ เป็นเรื่องละโดยตลอด แล้วเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่ต้องรู้ว่าเป็นปกติอย่างนี้ แต่เรามักจะต้องการสิ่งที่มันไม่ใช่ธรรมดา หรือไม่ใช่ปกติ แล้วคิดว่าอย่างนั้น คือถูก แต่ความจริงอันไหนจะถูก ถ้าเป็นปัญญาที่อบรม เขาจะละความไม่รู้ อย่างการฟังวันนี้ ทุกคนกำลังเห็นแล้วเราพูดถึงสภาพรู้ที่กำลังเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเราจะเข้าใจจริงๆ ลึกลงไปที่สภาพธรรมจะปรากฏ หมายความว่าในขณะนั้น เรามีความรู้มั่นคง ไม่มีสิ่งอื่นใดเลยทั้งสิ้น แต่ว่าจริงๆ แล้วทุกคนยังนั่ง แล้วยังคิดว่าเห็น แล้วก็ยังพยายามเข้าใจว่าขณะที่เห็น เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น โดยตัวนี้ยังอยู่ทั้งตัว

    เพราะฉะนั้น การที่สภาพธรรมจะปรากฏจริงๆ ทีละหนึ่งอย่างจะไม่มีความเป็นตัวในขณะนั้น แล้วก็จะต้องมีลักษณะของสัมมาสติที่ระลึกโดยความเป็นอนัตตา ขึ้นอยู่กับว่าปัญญาที่ได้อบรมมา ถึงระดับไหน เพราะสติเขามีหน้าที่อย่างเดียว คือหน้าที่ระลึก มีสิ่งที่กำลังปรากฏ สติจะระลึกทางตาก็ได้ สิ่งที่ปรากฏก็ได้ หรือว่าอ่อนแข็งที่กำลังกระทบสัมผัสก็ได้ หรือที่คิดนึกก็ได้ ล้วนเป็นสภาพธรรม แต่ละหนึ่งเท่านั้นจริงๆ แล้วแต่ละหนึ่งนั้น คือสภาพธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด ดับแล้วก็คือดับไม่ต้องไปกังวลถึง อันไหนที่หมดไปแล้วก็หมดไป แต่ว่าปัญญาต้องมีการที่จะรู้ว่า ละเมื่อไรแล้วรู้อะไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่รู้ว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจลักษณะของสัมมาสติ เป็นสภาพที่ระลึกเป็นปกติ แล้วคนที่สติเพิ่งเกิด จะรู้ได้ว่าสติระลึก แต่ไม่รู้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567