ปกิณณกธรรม ตอนที่ 475


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๗๕

    สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เห็นการสะสม ซึ่งจริงๆ แล้วน่ารู้จริงๆ น่าดูบุญ และบาปของแต่ละคน กรรม และวิบากที่สะสมมา แต่ละคนเป็นหนึ่งๆ ๆ ซึ่งจะไม่ซ้ำกันเลย ในที่นี้เรามองเห็น ใช่ไหม เห็นแม้แต่ รูปร่างสัณฐาน หน้าตา สภาพของจิตใจที่คิดต่างๆ กัน เข้าใจต่างๆ กัน สนใจในเรื่องต่างๆ กัน หรือความซาบซึ้งในแต่ละอย่างต่างๆ กัน

    ผู้ฟัง สมมติว่าได้ยิน บางทีในหนังสือ เขาบอกว่า จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นประธาน บางที่คำอธิบาย เขาบอกว่าจิต คือแล้วแต่ปัจจัยที่ทำให้เราอยากจะเดิน อย่าเจ็บ อย่าป่วย แล้วแต่ปัจจัย

    ท่านอาจารย์ อันนี้ ๒ เรื่อง ถ้าเราพบคำว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ที่ ๑ หมายความว่าในขณะที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้ง ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ แต่จิตเท่านั้นที่เป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้แจ้ง ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น คำว่า เป็นใหญ่ เป็นมนินทรีย์ ที่นี่ หมายความว่าเป็นใหญ่ ในการรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไร ลักษณะของจิต คือเป็น สภาพหรือเป็นธาตุ ที่รู้แจ้งในลักษณะความต่างของเสียงนั้นๆ ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจว่าจิตสั่ง เราจะไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม จะมีความเป็นเรา คือจิต นั้นแหละสั่ง เอาจิตเป็นเราที่สั่ง มีความเป็นเรา แต่การที่จะละ ความเป็นตัวตนได้จริงๆ การรู้ลักษณะของสภาพธรรมต้องไม่คลาดเคลื่อน ลักษณะของจิต จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย แม้ว่าเป็นนามธรรมก็ไม่ใช่เจตสิก เพราะเหตุว่าเจตสิกเป็นนามธรรมจริง แต่มีลักษณะต่างกัน เป็น ๕๒ ชนิด แต่ละชนิดก็ไม่ก้าวก่ายกันเลย อย่างผัสสเจตสิก ลักษณะ และกิจคือ กระทบอารมณ์ สัญญาเจตสิกก็เป็นลักษณะที่จำหมายอารมณ์ เวทนาเจตสิกก็เป็นสภาพที่รู้สึกในอารมณ์ เพราะฉะนั้น เจตสิกแต่ละอย่างก็ทำหน้าที่เฉพาะของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งจิตทั้งหมด ไม่ว่าเป็นจิตไหนทั้งสิ้น จิตมีหน้าที่อย่างเดียวคือ เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ต่างกับลักษณะของเจตสิก เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะศึกษาสภาพธรรม รู้ความจริงของธรรม เราจะหาจิตสั่งไม่เจอเลย เพราะว่าจิต ขณะนี้ เป็นสภาพรู้ ธาตุรู้ที่เกิดขึ้นเห็น ขณะนี้เป็นสภาพที่เห็น ไม่ใช่สภาพสั่ง เพียงแต่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหูก็เหมือนกัน เวลาที่เสียงปรากฏ จิตได้ยินเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตไม่ได้สั่งเลย แต่จิตเป็นธาตุรู้ หรือสภาพที่รู้แจ้งเสียงที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นจิตอะไรทั้งหมดทุกชนิดทุกชื่อทำกิจอะไรก็แล้วแต่ แต่ลักษณะของจิตแล้ว เป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ จะหาจิตสั่งไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ถ้าเราเดินไป อะไรทำให้เราเดิน ถ้าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เรามีความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เราก็ยึดถือนาม คือ จิต และเจตสิกว่าเป็นเรา และรูปที่เกิดที่นี่ว่าเป็นร่างกายส่วนต่างๆ เหมือนกับว่ามีสิ่งที่แน่นอนเที่ยงแท้ ที่จะสั่งได้ แต่ถ้ารู้ความจริงว่า รูปเกิดจากอะไร เราจะหมดความสงสัยเลยว่าจิตสั่งไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นจิตตชรูป คือรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นเกิดเพราะอุปาทขณะของจิต เพราะว่าจิตหนึ่งขณะ จะมีขณะย่อย เรียกว่า อนุขณะ ๓ อนุขณะ คืออุปาทขณะ ขณะเกิด ฐีติขณะ คือขณะที่ยังไม่ดับ ภังคขณะ คือขณะที่ดับ จิตตชรูป คือรูปที่เกิดเพราะจิต เป็น สมุฏฐาน เกิดพร้อมอุปาทขณะของจิต แล้วจิตจะสั่งได้อย่างไร ไม่ใช่เกิดในขณะภังคะ ไม่ได้เกิดในขณะ ฐิติ แต่เกิด พร้อมในอุปาทขณะเลย ไม่มีทางเลยที่จิตจะไปสั่ง รูปอะไรได้เลย ทั้งสิ้น รูปไหนๆ ก็ไม่มีทาง เพราะทันทีที่จิตเกิด จิตเป็นสภาพรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายทางใจ หน้าที่ของจิตมีอย่างเดียว คือรู้แจ้งในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แล้วจิตจะไปสั่งรูปอะไรเมื่อไร ที่ไหน

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ผมเรียนถามว่า ถ้าอย่างนั้น เราเดิน อะไรทำให้เราดิน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต เดินได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ถ้าจิตไม่คิดจะเดินหรือไม่มีความต้องการ ไม่มีโลภะ รูปนี้เดินได้ไหม เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตต่างหากที่ต้องการ แม้ว่าเราจะไม่รู้สึกตัวเลย อย่างเวลาที่กะพริบตา เรารู้สึกตัวหรือเปล่า ทุกคนกะพริบตาทั้งนั้นเลย แต่ขณะที่กะพริบตา มี โลภะ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง อาจจะไม่มีก็ได้

    ท่านอาจารย์ เราคิดว่าไม่มี ใช่ไหม แต่ความจริง ถ้าไม่มีโลภะชวนะ รูปนั้นก็เคลื่อนไหวไม่ได้ ที่หนังตาข้างล่างจะไปกระทบข้างบนหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่จะทำให้มีการกะพริบเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่เราเคลื่อน ไม่ใช่เพราะจิต เป็นเพราะโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะจิต ต้องการทำให้รูปนั้นมีการที่จะไหวไป

    ผู้ฟัง แต่ไม่ได้สั่ง

    ท่านอาจารย์ สั่งไม่ได้เลย เพราะเกิดพร้อมกัน เกิดพร้อมกันทันที ไม่มีทางเลย ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น คือเพียงเข้าใจธรรมผิดนิดเดียว ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของจิต ไม่มีทางเลย แต่ว่าเพราะรู้ว่าจิต ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไร ขณะนั้นต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ ทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตาย ที่เหมือนกับทุกอย่างปรากฏ เพราะจิตรู้สิ่งนั้น ไม่ทางตา ก็ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะมีจิตตลอดเวลา จิตเป็นสภาพรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใดตลอดเวลา มีลักษณะอย่างเดียว คือรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ถ้ารู้อย่างนี้รู้ถูกประจักษ์แจ้งสภาพความจริงเมื่อไร ลักษณะของ มนินทรีย์ สภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ก็ปรากฏลักษณะที่รู้จริงๆ รู้อย่างเดียว ไม่ใช่ลักษณะของเจตสิกใดๆ ทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่าจิต คือสภาพรู้อย่างเดียวนี้ถูกกว่า

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของจิต เป็นสภาพรู้

    ผู้ฟัง รู้อย่างเดียว ไม่มีสิทธิสั่ง

    ท่านอาจารย์ สั่งไม่ได้ จะสั่งอะไร สั่งเมื่อไร สั่งอย่างไร ก็ไม่มีตัวอย่าง ออกมาสักอัน กำลังเห็นนี่สั่งอะไร กำลังได้ยิน สั่งอะไร กำลังคิด กำลังรู้คำสั่งอะไร ขณะนั้นจิต นึกถึงบัญญัติ คือเรื่องราว ขณะนั้นมีเรื่องราวเป็นอารมณ์สั่งอะไร จิตเป็นสภาพรู้เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การศึกษาโดยไม่ละเอียด ก็จะทำให้เข้าใจผิดได้

    หรือแม้ข้อความในพระสูตรที่อ้างว่าเป็นสุตตันตนัย โดยนัยของพระสูตรที่ว่า ร่างกายก็เหมือนหุ่น ถ้าไม่มีผู้เชิด หุ่นนั้น ก็เคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะฉะนั้น เขาก็เลยว่าจิต เป็นผู้ที่สั่งโดยการที่สรุปเอาว่าเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียดจริงๆ แม้แต่โดยลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ขณะนี้ ทุกคนมีจิต ถ้าไม่ศึกษา ตอบได้ไหมว่าจิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน ตอบไม่ได้เลย แต่ถ้าศึกษา จะรู้เลย จิตเกิดที่ไหน และจิตรู้อะไร เมื่อไร ทางตาหรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ คิดเอาเอง ก็เป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาแล้วก็เข้าใจว่า เขาได้รู้คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถูกต้อง แต่คนที่จะเข้าใจคำสอนได้จริงๆ ไม่ใช่คนที่เพียงอ่านแล้วคิดเอา ถ้าอ่านแล้วคิดเอา ง่ายมาก พระไตรปิฎก ไม่ต้องเรียน อ่านแล้วคิดเอา แต่ว่าเพราะต้องศึกษาอย่างละเอียดด้วย จึงสามารถที่จะเข้าใจถูกได้ แล้วก็พิสูจน์ได้กับความจริงขณะนี้ ซึ่งถ้าระลึกลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิตเมื่อไร ก็จะรู้ว่าขณะนั้น ที่อารมณ์กำลังปรากฏ เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้นเท่านั้น ไม่ได้ไปสั่งอะไรเลย

    . จิต เป็นสิ่งที่สั่ง หรือว่าเป็นปัญญาสั่ง

    ท่านอาจารย์ อะไรก็สั่งไม่ได้ สภาพรู้ อย่าลืม ธาตุรู้ ลักษณะรู้ เพราะเหตุว่า สภาพธรรม มี ๒ อย่าง ไม่ว่าจะในโลกนี้ หรือโลกไหน ออกไปนอกโลก ไกลสักเท่าไรก็ตาม สภาพธรรมที่ต่างกัน โดยประเภทใหญ่ๆ มี ๒ อย่างเท่านั้น คือ นามธรรมกับรูปธรรม ถ้ารูปธรรมก็หมายความถึง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มองเห็นหรือมองไม่เห็น ลักษณะใดก็ตามที่เกิดขึ้น แล้วไม่ใช่สภาพรู้ คือไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม ไม่เรียกชื่อก็ได้ แต่ลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง แล้วอะไรรับรู้ก่อน จิต หรือว่าปัญญา

    ท่านอาจารย์ จิต เป็นสภาพรู้ เจตสิกก็รู้ แต่ไม่ใช่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้อย่างจิต

    ผู้ฟัง อิริยาบถ ๔ กับวิญญัติรูป เป็นจิตตชรูป เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ กล่าวว่า อิริยาบถมี ต้องถามว่ามีเมื่อไร

    ผู้ฟัง มีเมื่อเคลื่อนไหว

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่เคลื่อนไหว มีอิริยาบถไหม

    ผู้ฟัง มีนั่ง

    ท่านอาจารย์ เมื่อไร เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่มีอิริยาบถ

    ผู้ฟัง ทำไมท่านถึงได้แยกออกมาว่า วิญญัติรูป คือรูป แต่อิริยาบถ ๔ ไม่ใช่รูป ตรงจุดนี้ ทำให้คน

    ท่านอาจารย์ ไม่ คุณสุรีย์ก็ต้องย้อนไปหาว่า ทำไมตึงคิดว่ามีอิริยาบถ เมื่อไรจึงคิด เพราะอะไรจึงคิด ทำไมจึงคิดว่ามีอิริยาบถ

    ผู้ฟัง เมื่อเราเป็นตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ถ้ารูปแต่ละรูป ไม่มาประชุมรวมกัน กระจัดกระจายออกไปละเอียดยิบ อิริยาบถมีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ต่อเมื่อใดที่รูปหลายๆ กลาป หลายๆ กลุ่ม มารวมกัน ก็ทำให้มีการยึดถือ ในรูปร่างสัณฐาน ที่ทรงอยู่ ตั้งอยู่ ว่าอยู่ในลักษณะใด อย่างนี้ อยู่ในลักษณะใด อย่างนี้อยู่ในลักษณะใด เพราะรูปมาประชุมรวมกัน แต่ถ้าเป็นฝุ่นละออง ละเอียดยิบ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า นั่น นะ นั่งหรือนอน หรือยืน หรือเดิน ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ที่เข้าใจว่าเป็นอิริยาบถ ก็เพราะเหตุว่ารูปหลายๆ รูปมาประชุมรวมกัน ก็ทำให้เกิดสัญญาความจำในกิริยาอาการ ท่าทางนั้นว่า อยู่ในลักษณะใด ที่จะใช้คำว่า นั่ง หรือนอน หรือยืน หรือเดิน แต่นั้นไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของรูป เพราะเหตุว่า รูปไม่ได้ปรากฏลักษณะที่เป็น อิริยาบถ แต่รูปรากฏลักษณะที่อ่อน หรือ แข็ง เมื่อกระทบสัมผัส เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ถ้ากระทบกาย เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าการที่เราอบรมเจริญปัญญา ก็จะเห็นความเป็นจริงของกัมมัสสกตาปัญญา หรือกัมมัสสกตาญาณ เพราะเหตุว่า เราจะรู้ความจริง แต่ละอย่าง ทีละอย่าง เช่นทางตาที่กำลังเห็น ขณะนี้ เป็นสภาพนามธรรม ถ้าไม่มีกรรม ซึ่งเป็นปัจจัย การเห็นขณะนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะ ไม่มีปสาทรูป

    ถ้าเราศึกษาโดยละเอียด แม้แต่จักขุปสาทรูปที่จะกระทบกับสีสันวัณณะ รูปนั้นต้องเกิดจากกรรมเป็น สมุฏฐาน ถ้าไม่มีกรรมที่จะให้ได้ยินเสียง ก็ไม่มีการได้ยินเสียง หรือแม้แต่โสตปสาทรูปซึ่งเป็นปัจจัย ที่จะให้เกิดการได้ยินก็ยังต้องมีกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้น ที่ตัวทั้งหมด ไม่พ้นจากกรรมเป็นสมุฏฐานให้มีตาให้มีหูให้มีจมูกให้มีลิ้น ให้มีกายที่กระทบสัมผัส แล้วปรากฏลักษณะของรูป เพราะฉะนั้น รูปที่มีลักษณะจริงๆ เกิดแล้วดับ ต้องเป็นรูปที่มีลักษณะ ที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ไม่มีลักษณะเลย แล้วก็ไปบอกว่ารูปนี้เกิด รูปนั้นดับ ไม่ได้ แล้วที่ว่าต้องมีลักษณะ เพราะว่ารูปแต่ละรูป เกิดแล้วดับเร็วมาก ขณะใดที่รูปที่กาย รูปหนึ่งรูปใด จะเย็น หรือจะร้อน จะอ่อนหรือจะแข็งก็ตาม ไม่ปรากฏ ให้ทราบว่า รูปนั้นเกิดแล้ว ดับแล้ว แล้วก็ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมีทางรับผลของกรรมได้ไหม ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีทางเลย ก็ต้องเหมือนท่อนไม้ ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีสติ ระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเห็นความต่างกันของขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ว่าไม่ใช่ขณะที่ชอบ หรือชัง หลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ความต่างกันของลักษณะของสภาพธรรม เช่น จิตแต่ละชนิด ซึ่งต่างกันไป แล้วก็แล้วแต่ว่าเจตสิกใดจะปรากฏ หรือไม่ปรากฏ เช่น ความรู้สึกต่างๆ

    ผู้ฟัง ผมเรียนถาม เพราะว่าข้อมูลมา ๒ ทาง รับรู้เฉยๆ กับสั่ง ถ้าไม่สั่งแล้วอะไรทำให้เราเคลื่อน คือ สิ่งที่เรากำลังวิเคราะห์ต่อไป อาจจะเป็นว่าเรายังไม่รู้ละเอียด ทำให้งงเท่านั้นเอง แต่เดี๋ยวนี้พอเข้าใจขึ้นบ้างแล้ว แต่จะไปอธิบายให้คนอื่น ก็คงยังยากอยู่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ประโยชน์ ของการฟังก็เฉพาะตน ถ้าเราเข้าใจแล้วเราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า คำพูดไหนถูก แล้วจะทำให้ปัญญาของเราเจริญขึ้น หรือคำพูดไหนจะทำให้ปัญญาไม่เกิดเลย เพราะว่าไปเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น แต่ละคนได้ประโยชน์ของตนเองจากการฟังแล้วพิจารณา แต่จะช่วยนอื่น เป็นการที่ยากมาก เพราะว่า ถึงแม้ว่า จะอธิบายเรื่องของจิต เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ สั่งไม่ได้ นานแสนนานบ่อยแสนบ่อย คนก็ยังจิตสั่งก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เรื่องของการสะสมของแต่ละคนจริงๆ สำหรับช่วยตัวเอง ก่อนอื่น ต้องขอถามหน่อย เวลาจะไปเข้าค่ายเรื่องสติปัฏฐาน หรืออะไรก็ตามแต่ ไปทำไม

    ผู้ฟัง เวลาไปเข้าค่าย ใช่ไหม ไปรู้จักธรรมชาติในตัวของเราเอง

    ท่านอาจารย์ ที่ตัวของเรามีธรรมชาติอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็มี ภาวะรู้ รู้รูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำไมต้องรู้ด้วย

    ผู้ฟัง ก็มันรู้ด้วยตัวของมันเอง มันรู้

    ท่านอาจารย์ ที่ตัวเรา มีธรรมชาติ แล้วทำไมถึงควรจะต้องรู้ด้วย เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่เราไม่เคยรู้เลย เราเข้าใจว่าเป็นเรา เป็นตัวตนเป็นอัตตา เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจทุกอย่างที่จะทำ ต้องมีเหตุผล แม้แต่การที่จะมาที่นี่ มาทำไม หรือว่าจะไปที่ไหน ไปทำไม ถ้าจะรู้สภาพธรรม ที่มีอยู่ที่ตัว ก็จะต้องรู้ว่า ที่ตัวมีสิ่งซึ่งเราไม่เคยรู้ แต่เราเข้าใจผิด คิดว่าเป็นเรา ยึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ไปเพื่อฟังให้เข้าใจว่าสภาพธรรม เป็น ธรรม จริงๆ เพราะเมื่อใช้คำว่า ธรรม หมายความว่า จะเป็นใครไม่ได้ นอกจากเป็น ธรรม นอกตัวมีธรรมไหม

    ผู้ฟัง นอกตัวมี

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง เป็นธรรม นอกตัว

    ผู้ฟัง ธรรมชาติ รอบๆ ตัวเรา

    ท่านอาจารย์ ธรรมชาติ คืออะไรก่อน ถ้าบอกว่าเป็น ธรรมชาติ

    ผู้ฟัง ธรรมชาติ คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ธรรมชาติ ชา-ติ แปลว่าเกิดสิ่งที่เกิด เป็นธรรม ขณะนี้ไม่ว่าอะไรก็ตามที่ปรากฏ หมายความว่า สิ่งนั้นต้องเกิดจึงได้ปรากฏ ถ้าไม่เกิดจะปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธรรมข้างนอกตัวมีไหม ธรรม หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มีจริง แล้วก็มีลักษณะเฉพาะของธรรมแต่ละอย่าง ปรากฏให้รู้ว่าเป็นธรรมชนิดไหน เพราะว่ามีธรรมหลายอย่างต่างๆ กัน ข้างในตัวมีธรรม เมื่อกี้บอกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ข้างนอกตัวมีธรรมไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ผมว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม เพราะมันมีสภาพอยู่จริงๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง หมายความถึง เข้าใจแล้ว แต่ทีนี้ ให้บอกมาทีละอย่าง ว่าทุกสิ่งอะไรบ้าง ที่เป็นธรรม ไม่อย่างนั้นก็รวมไปหมดเลย เอาทีละอย่าง ขณะนี้ ข้างนอกตัวมีธรรมไหม

    ผู้ฟัง มี

    . อะไร

    ผู้ฟัง มีรูปมีนาม คือว่ามีสภาวะที่เป็นรูป คือไม่รู้อะไร กับสภาวะที่มีทั้งรูปทั้งนาม เช่น โต๊ะ

    ท่านอาจารย์ ข้างนอกตัว มีธรรมคือ

    ผู้ฟัง โต๊ะ นอกตัวเรา

    ท่านอาจารย์ มองเห็น หรือเปล่า

    ผู้ฟัง มองเห็น

    ท่านอาจารย์ ข้างนอกตัวมีธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา นี่เป็นธรรม คือถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ อย่างนี้ สติปัฏฐาน ก็เกิดไม่ได้ ปัญญาเกิดไม่ได้ จะไปอบรมเจริญให้ปัญญาเจริญก็เจริญไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ แล้วก็รู้เพียงเงาๆ ว่าทุกอย่างเป็น ธรรม แต่ขณะนี้ จริงๆ ซึ่งทุกคนจะต้องฟังแล้วฟังอีก ก็คือว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นธรรม หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ ตกลงเป็นโต๊ะ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ทางตา อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ทางตารูปปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ทำไมว่าเป็นรูป ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง เพราะว่าตาไปรู้

    ท่านอาจารย์ พราะว่าสิ่งที่เป็นรูป หมายความถึง สิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย อันนี้เป็นคำจำกัดความที่ตลอดไปในพระไตรปิฎก รูปหมายความถึง สิ่งที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ขณะนี้ทางตา มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แน่นอน แล้วก็ไม่เคยรู้เลย คิดว่าเป็นคนนั้น คนนี้ แต่ถ้ากล่าวว่าเป็น ธรรม ก็หมายความว่า เป็นสภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งกระทบตา แล้วปรากฏขณะนี้เอง ที่จะต้องมีความรู้ว่า ลักษณะที่รู้ ที่เคยเป็นเรา แท้ที่จริงก็คือสภาพอย่างหนึ่ง ซึ่งกำลังเห็น ลักษณะซึ่งเป็นธาตุรู้อันนี้ คนตายไม่มี แต่ขณะนี้ไม่ใช่คนตาย จึงเห็น เพราะฉะนั้น ลักษณะเห็น เป็น ธรรมอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปอะไรอีก มีอะไรอีกที่เป็น ธรรมนอกตัว

    ผู้ฟัง คนนั่งฟัง ธรรมนในที่นี้

    ท่านอาจารย์ เหมือนเดิม ทางตา เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ก็เสียงอาจารย์ แล้วก็ แอร์ที่เย็น

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วรู้ตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น แต่ว่าต้องเป็นปัญญาของคนฟังที่ต้องเข้าใจประโยชน์ ว่าทำไมจึงต้องรู้ แล้วถ้าเราอยากจะรู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ แต่การฟังไม่พอ สติก็ไม่เกิด ขณะที่กำลังฟังอย่างนี้ สติปัฏฐาน ไม่เกิด เพียงแต่กำลังเริ่มจะเข้าใจว่าสิ่งที่มีจริง ที่สติจะต้องระลึกรู้ก็คือ สิ่งที่ปรากฏตามปกติตามธรรมดา จนกว่าจะรู้ขึ้น ยากหรือง่าย

    ผู้ฟัง ยาก ตอนอิริยาบถ กำลังเคลื่อน เราก็จะพอมีสติรู้ขึ้นมาปกติ เวลาในชีวิตประจำวัน เขาก็จะเดินของเรา ก็จะไม่ได้กำหนดอะไร แต่พอมาเข้าค่าย อย่างน้อยก็รู้จักสติ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สติ นี่โลภะ ต้องการที่จะก้าว ไม่ใช่สติ

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็น ความต้องการที่จะก้าว เพราะว่าตอนนั้น เราไม่ต้องการที่จะก้าว

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีควาาต้องการที่จะก้าว รูปนี้ เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วความต้องการที่จะก้าว เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นโลภะ ต้องการ

    ผู้ฟัง ถามว่าปกติเดินไหม คือไม่เดิน ถ้าจะให้มาเดินจงกรม ถ้าไม่เข้าค่ายก็คงไม่ทำแบบนี้อยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อเข้าค่าย ก็คือทุกคนก็ทำแบบนี้เหมือนกันหมด

    ท่านอาจารย์ ที่พระวิหารเชตวัน พระภิกษุท่านจะทำอย่างนี้ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง อันนี้ หรือ ผมไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่ทั้งหมดที่ผิดปกติ ปัญญาเกิดไม่ได้เลย เพราะว่าเป็นเราทำ แน่นอนมีความต้องการที่จะทำ

    ผู้ฟัง การเดินนี้ผิดปกติตรงไหน

    ท่านอาจารย์ เดินอย่างนี้ เมื่อกี้นี้ ปกติไม่ได้เดินอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ปกติไม่ได้เดินแบบนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเดินอย่างนี้ ก็คือผิดปกติ

    ผู้ฟัง แสดงว่าเดินจงกรมผิดปกติ

    ท่านอาจารย์ ก็อย่างนี้เป็นปกติหรือเปล่า ไม่ต้องไปแปล อีกแล้ว อย่างนี้ผิดปกติ หรือเป็นปกติ

    ผู้ฟัง อย่างนี้หรือ ถ้าเดินอย่างนี้ ทั่วๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ผิดปกติ

    ท่านอาจารย์ ก็ใช่

    ผู้ฟัง เพราะว่าไม่เดินอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นการขาดการศึกษาพระธรรม แม้แต่คำ เช่น คำว่า จัง-กัม-มะ หรือ ปฏิปัตติ ถ้าปฏิปัตติ เข้าใจกันอยู่แล้วเวลานี้ว่า ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่า ถึง

    เพราะฉะนั้น เวลาที่สัมมาสติเกิด ถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรม แต่ละอย่างๆ รู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ตามความเป็นจริง เป็นปกติ เพราะว่าข้อความในมหาสติปัฏฐาน บ่งไว้ทีเดียวว่า เป็นผู้มีปกติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่ง ไม่ใช่เรา แต่เป็นสติที่เกิดเพราะมีความเข้าใจพอสมควร ที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดได้ แต่ถ้ายังไม่มีความเข้าใจพอที่สติปัฏฐานจะเกิด ก็เป็นเราที่มีความต้องการ แล้วทั้งหมดก็เป็นการทำ ด้วยความต้องการ ซึ่งการรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะรู้ เพราะอย่างนี้ ไม่ได้เลย ไม่มีการที่จะไปทำผิดปกติ แล้วเกิดความรู้ขึ้น

    จังกัมมะ หมายความถึง การก้าวไปตามลำดับ ซึ่งคือการเดินตามปกติ เพราะเหตุว่า พระภิกษุท่านนั่งมาก ท่านไม่มีกิจธุระอย่างอื่น ท่านก็ต้องมีการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถโดยการเดิน เพื่อที่จะไม่ให้ร่างกาย ต้องเป็นทุกข์ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ท่านเป็นผู้ที่มีปกติ มีสติ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะทำอะไร ถึงเดี๋ยวนี้สติก็เกิดได้ ระลึกได้ ไม่ต้องมีอาการกริยาที่ผิดปกติเลย คนที่ไปเฝ้าฟังพระธรรมแล้วรู้แจ้ง อริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล คนอื่นรู้ไม่ได้ เพราะเป็นปกติ ไม่ต้องมาลุกขึ้นนั่งแล้วทำอย่างนี้ หรือเดินอย่างนั้น หรืออะไรอย่างนั้นเลย เป็นการไปทำ ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญา แล้วก็เป็นการทำ เพราะไม่รู้จึงพอใจ ว่าได้รู้ ได้ทำ แต่ตามความเป็นจริงแล้วไม่ได้รู้สภาพธรรม ขณะนี้ ตามปกติ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567