ปกิณณกธรรม ตอนที่ 480


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๘๐

    สนทนาธรรม ที่ ซอยนวลน้อย ถ.เอกมัย

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้องละเอียด แล้วต้องพิจารณาเหตุผล ใครพูดก็ได้ แต่คนฟังมีสิทธิที่จะพิจารณา ในเหตุผลที่ได้ยินได้ฟัง และก็ไม่คำนึงถึงว่า คนพูดเป็นใคร ถ้าถูกคือถูก ไม่ว่าเขาจะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ ถ้าผิดไม่ว่าเขาเป็นใครก็ผิด ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนบอกว่า การฟังพระธรรมแล้วเป็นโทษ ผิดหรือถูก การฟังพระธรรมจะกั้นความเจริญ ผิดหรือถูก เพราะว่าพระธรรมทรงแสดงไว้โดยละเอียด สำหรับทุกคน ทั้งบรรพชิต และคฤหัสถ์ ถ้าดูในพระไตรปิฎก คฤหัสถ์ก็ไปเฝ้า อย่างวิสาขานิคารมารดา เป็นพระโสดาบันก็ไปเฝ้าฟังพระธรรม มีธุรกิจต่างๆ เป็นพ่อค้า เป็นเสนาบดี เป็นอะไรทั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารก็ฟังธรรม แล้วใครเล่าที่จะไม่ฟังพระธรรม คือผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ ของพระธรรมเท่านั้น ที่จะไม่ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ เรานับถือใครสูงสุด ต้องเป็นคนที่ดีสุด เราถึงจะนับถือสูงสุดได้ ถ้าเป็นคนที่ดี อย่างพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ส่วนใดของท่านที่ดี เราเคารพในธรรม คือเราจะไม่มีบุคคลเข้ามา ถือว่า คนนี้เป็นพ่อเรา พี่เรา เพื่อนเรา แต่ว่าธรรมคือธรรม ถ้าธรรมที่ดีเกิดกับใครก็ดี ถ้าเป็นธรรมที่ไม่ดีเกิดกับใคร ก็ไม่ดี เราต้องเป็นคนตรง มารดา บิดาญาติ ผู้ที่มีพระคุณ มีคุณต่อเรา เราก็รู้ในคุณนั้น แต่ถ้าอกุศลเกิดกับบุคคลนั้น เราจะไปบอกว่าเป็นกุศล เราพูดไม่ได้ ไม่ถูกต้อง อกุศลเกิดเมื่อไร กับใครที่ไหนเมื่อไร ก็เป็นอกุศล แต่ผู้นี้มีคุณ ในฐานะเป็น บิดามารดา หรือว่าเป็นผู้อุปการะคุณอะไรก็แล้วแต่ ต้องเป็นผู้ที่ตรง เพราะฉะนั้น เหตุผล สำคัญที่สุด ถ้าเรานับถือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสูงสุดเหนือใครทั้งสิ้น แล้วเราไม่ฟังพระธรรม เราจะรู้จักพระองค์ไหม รู้จักไหมว่านี่คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเห็นก็แต่พระพุทธรูป แล้วก็มีคนบอกเรา เตือนเราว่านี้คือพระพุทธเจ้า แต่เราไม่รู้จัก ไม่มีการที่จะเข้าใจพระคุณเลยสักนิดเดียว ใน สังฆาฎิสูตร ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมว่า บุคคลใดก็ตามซึ่งเดินตามหลังพระองค์ไป แล้วก็จับชายมหาจีวร แล้วก็ทอดเท้าลงไป ตรงลอยพระบาทที่พระองค์ทรงยกขึ้น ผู้นั้นก็ไม่ชื่อว่าเห็นเรา ถ้าไม่เข้าใจธรรม

    เพราะฉะนั้น ไม่มีทางเลยที่เรา เกิดในครอบครัวชาวพุทธ แล้วก็บอกว่านับถือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่ศึกษา แล้วก็จะรู้ว่าพระองค์ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไร เพราะฉะนั้น เราจะตายเมื่อไรไม่มีใครรู้ อายุ ๑๗ ก็ตายได้ ๙๐ ก็ตายได้ ขวบหนึ่งก็ตายได้ แล้วเราจะอยู่ในโลกนี้เพื่ออะไร เพราะว่าเราไม่ได้มีความรู้ในสิ่งซึ่งเราสามารถ จะรู้ได้ เข้าใจได้ ถ้าเรามีการฟัง ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น โอกาสที่ประเสริฐสุด ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร วัยไหนก็ตามทั้งสิ้น พระธรรมมีค่าเหนือรัตนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าแก้วแหวนเงินทอง ไม่ได้นำความสุขมาให้เราอย่างแท้จริง เราอาจจะชอบเพลินไป สวยดี โดยเอากิเลส ของเราประมาณในสิ่งที่เราชอบ ก็ตั้ง ราคาตามกิเลสของเรา แต่ว่าเวลาที่เรามีความทุกข์ สิ่งนั้นช่วยได้ไหม ไม่มีทางที่รัตนอื่น จะทำให้เราคลายจากความทุกข์ได้ แล้วคนเราหนีความทุกข์ได้ไหม ถ้ายังมีกิเลส เพราะเหตุว่า ทุกข์มีหลายแบบ ทุกข์กายก็มี ทุกข์ใจก็มี แค่ขุ่นใจนิดเดียว สุขหรือทุกข์ แล้วมีใครบ้างที่จะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้หนทางที่จะทำให้เรา หมดทุกข์ โดยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษา ใครจะบอกว่าไม่ศึกษาแล้วก็ ก้าวหน้าๆ ทางไหน ที่เวลานี้ทุกคน หรือโลกทั้งโลก มีคนเก่งมากมาย ไปที่ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวอะไร ก็ไปกันได้ ทำอย่างโน้นได้ ทำอย่างนี้ได้ ทางวัตถุ แต่ทางจิตใจ จะมีใครที่จะสอนโดยละเอียด ถึงขณะจิตตั้งแต่เกิดจนตายทุกขณะ ทั้งๆ ที่เป็นนามธรรม จิตใจทุกคนรับรองว่ามีแต่มองไม่เห็น แล้วถามจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร รู้แต่ว่ามี แต่ทรงแสดงไว้โดยละเอียดมาก แม้แต่ว่า จิตมีกี่ชาติโดยการเกิดขึ้น เป็นเหตุ หรือเป็นผล มีกี่ภูมิ มีระดับต่างๆ กันอย่างไร แล้วก็มีปัจจัยที่จะให้เกิดทางไหนบ้าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งเราสามารถที่จะรู้จักตัวเรา พร้อมกันนั้นก็รู้จักโลกชัดเจน แล้วก็รู้จักทุกสิ่งทุกอย่าง ตามความเป็นจริงได้ แล้วเราจะเกิดกี่ภพกี่ชาติ เราก็ต้องเห็น ต้องได้ยิน แต่ด้วยความไม่รู้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม แต่เมื่อไรที่มีโอกาสได้ฟัง พระธรรม เมื่อนั้นเริ่มมีตา ที่จะเห็นสภาพธรรม โดยความเข้าใจอย่างถูกต้องว่าเป็นอะไร เพราะฉะนั้น เริ่มเรียนเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น เร็วเท่าไรยิ่งดี ไม่มีโทษเลย หาโทษสักนิดหนึ่งก็ไม่เจอ จากพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ต้องนับว่าเป็นบุญมาก สำหรับทุกท่าน ที่มีโอกาสที่กุศลที่ทำมาแล้ว จะผันปรุงแต่งให้ถึงขณะนี้ได้ฟังพระธรรม เพราะว่าไม่มีโอกาสที่ใครทุกคนจะได้ยินได้ฟัง เพราะว่าคนที่ไม่ได้สะสมบุญมาแล้ว ก็ไม่ได้ฟัง แล้วคนที่สะสมบุญมาแล้ว บางคนก็ต้อง ตั้งนาน บางท่านบอกว่าตั้ง ๖๐ ปี กว่าจะได้ฟัง เพราะฉะนั้น ถ้าใครมีโอกาสที่จะได้ฟัง เร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น ยิ่งเป็นประโยชน์ เป็นกำไรมหาศาล เป็นบุญเก่าที่ได้สะสมมา แล้วถ้ามีศรัทธา มีความมั่นคงที่จะเห็นประโยชน์ก็จะไม่ทอดทิ้งพระธรรมเลย แล้วอีก ๑๐ ปีก็จะรู้ว่าเป็นอย่างไร ประโยชน์แค่ไหน แล้วต่อไปอีก ๒๐ ปี อีก ๓๐ ปี อีก ๔๐ ปี ถึงชาติหน้าก็จะรู้ได้ ว่าคนเราที่ต่างกันๆ กันเพราะการสะสม

    เราจะบอกได้ไหมว่า ศึกษาพระอภิธรรม ถ้าใครสามารถที่จะให้เราเข้าใจ เราก็จะรู้ว่า อภิธรรม คืออะไร แล้วก็ขณะนี้เป็น อภิธรรม หรือเปล่า พร้อมกันนั้นเราต้องพิจารณาผู้พูดด้วย ไม่ใช่ว่าผู้พูดจะพูดถูกไปหมด ธรรมถูก แต่ว่าผู้ศึกษาอาจจะมีการเข้าใจ ผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็จะทราบได้ว่า เราต้องเป็นปัญญาของเรา ที่จะฟังว่าสิ่งนั้น มีเหตุมีผลหรือไม่ อย่างถ้าจะไปทำสมาธิ เรายังไม่รู้เลยว่า สมาธิ คืออะไร เรามีสิทธิที่จะถามเพื่อความรู้ไหมว่า สมาธิ คืออะไร แล้วถ้าคนนั้น ไม่ให้สิทธิเราที่จะถาม ไม่ให้เราตอบ ก็คือว่า ไม่ให้ปัญญา แล้วให้เราทำอะไรในสิ่งที่เราไม่รู้แล้วเราจะทำไหม แต่ละคนก็เป็นตัวเอง คือ ถ้าเพื่อนๆ จะไป เพื่อนๆ ไม่เคยได้ยินได้ฟัง เพื่อนๆ ไม่มีใครที่จะให้แนวคิด แต่ว่าสำหรับเรา เราจะทำสิ่งซึ่งเราไม่รู้ไปเรื่อยๆ ใครเขาบอกอะไรก็ทำ อย่างนั้นเราจะเป็นคนที่มีหตุผลไหม แต่ถ้าเขาสามารถที่จะบอกเราได้ว่า สมาธิ มีจริงๆ เป็นสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรม ขณะใดที่จิตตั้งมั่นที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้น เป็นลักษณะของสมาธิ เพราะฉะนั้น การตั้งมั่นคงที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี อย่างเวลาที่เรากำลังใจจดใจจ่อ จะเย็บปักถักร้อย จำทำอะไรให้สวยให้ไม่พลาด ไม่ผิด ขณะนั้น ก็เป็นลักษณะของสมาธิ เดินระวังดีๆ นะ คนบางคนก็จะบอกว่า ถ้าไม่มีสติก็จะหกล้ม หรือจะตกถนน หรือจะตกคูคลอง อะไรก็ได้ นั่นเขาใช้คำผิด เพราะไม่ได้เรียน

    ถ้าเราไม่มีธรรมที่ศึกษาโดยตรง เป็นที่พึ่ง ที่จะให้เข้าใจสภาพธรรม เราก็ผิดตามไปด้วย ใช้คำตามๆ ผิดๆ กันตามๆ เพราะฉะนั้น เราก็เป็นผู้ที่จะไม่ ทำสิ่งซึ่งไม่มีเหตุผลโดยการ ที่ว่าเราไม่พิจารณาให้เข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน เวลานี้ ถ้าเราเข้าใจแล้วเราไม่ไป ถ้าเพื่อนฝูงถามเราว่าทำไมเราไม่ไป ทำสมาธิกับเขา เราก็บอกเขาว่าสมาธิ คืออะไร ช่วยอธิบายให้เราเข้าใจก่อน เพราะว่าเราจะไม่ทำสิ่งที่เราไม่เข้าใจก็ได้ แต่ถ้าเราอยากจะตามเขาไป ก็เป็นการสะสมของเรา ที่เราก็จะเหมือนคนอื่นคือ ใครเขาพาไปทางไหนก็ไปทั้งนั้น โดยที่ว่าไม่มีเหตุผลสำหรับตัวเอง ที่จะตอบคนอื่นด้วย แล้วคนที่ไม่มีเหตุผลจะชื่อว่ามีปัญญา หรือว่ามีความเห็นถูกได้ไหม ใครเขาพอใจก็เป็นเรื่องเขาสะสมมาที่จะทำ แต่สำหหรับเรา ถ้าไมมีความเห็นถูก ไม่มีความเข้าใจถูก เราจะทำหรือไม่ทำ ก็เป็นเรื่องที่เราจะพิจารณา ชอบอะไร เวลาไปนั่งทำสมาธิ

    ผู้ฟัง ชอบความสงบที่ได้

    ท่านอาจารย์ ชอบความสงบ โดยที่ยังไม่ทราบว่า สงบ ต้องสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นความพอใจ ความต้องการ มี เพราะฉะนั้น ความพอใจ ความต้องการไม่ใช่กุศล ไม่ใช่ความสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการบอกเล่าให้เข้าใจ เราคิดว่า เวลาที่เราอยู่เฉยๆ แล้วทำอะไรสักอย่างซึ่งไม่วุ่นวาย เป็นระเบียบเรียบร้อย เราก็เข้าใจว่าขณะนั้นสงบ แต่พระพุทธเจ้า ไม่ได้บอกว่านั่นคือ สมถะหรือความสงบ เพราะความสงบมาจากภาษาบาลีว่า สมถะ ซึ่งหมายความถึงสงบจากอกุศล ขณะนั้น ต้องไม่มีโลภะ ไม่มีความติดข้องต้องการ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แล้วถ้าเป็นการอบรมเจริญภาวนา ต้องประกอบด้วยปัญญาทุกครั้ง ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นความสงบขั้นสมถะ หรือวิปัสสนา ต้องประกอบด้วยความเห็นถูก ไม่อย่างนั้นก็อบรมให้กุศลจิตเกิดตั้งมั่นไม่ได้ ไม่ทราบความสงบตอนนี้พอที่จะเข้าใจกันหรือยัง ว่าไม่ใช่เรานั่งเฉยๆ ไม่ใช่เราไปจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด แต่ต้อง ขณะนั้น ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ แล้วข้อสำคัญคือ ถ้าเป็นการอบรมเจริญความสงบให้ตั้งมั่นคง ที่ใช้คำว่า ภาวนา จะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ขอเสริมนิด รู้สึกว่าหลานชายโชคดีมากเลย แล้วก็มีบุญ เพราะว่าสมัยก่อนตอนเด็กๆ ไม่เคยได้อย่างนี้เลย จะเรียนแต่แข่งขันกันตลอด เคยเรียนดีมาตลอด เคยได้ ที่ ๑ พอถึงมีอยู่จุดหนึ่ง เขาก็แข่งกันเรื่อง บอร์ด กะว่าต้องได้แน่นอน ทีนี้ตอนนั้น คุณพ่อป่วย แล้วก็เลยลืมทำข้อสอบไปข้อ แล้วขาดไป ๑ เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ที่จะติดบอร์ด ทุกข์เสียไม่มีดีเลย การพลาด ถ้าเรารู้ธรรม ตั้งแต่ตอนนั้น ก็คงอายุประมาณ ๒๐ อะไรทำนองนี้ ไม่ได้เรียนไม่ได้ทราบเลย เรื่องนี้มา ความทุกข์มันก็เกิดมากมายเลย เพราะฉะนั้น คิดว่าการเรียน ธรรม จะไม่ทีทางได้ปิดกั้น ทางด้านวิชาการแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ฟังอย่างนี้แล้ว ไม่ทราบว่าอยากจะเจริญรุ่งเรืองทางโลก ถึงระดับไหน กับการ ที่จะรู้ ธรรมลึกซึ้งลงไปจนกระทั่งเกิดปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรม บางทีอย่างเด็ก ความคิดก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่ถ้าสะสมมาแล้ว เห็นประโยชน์จริงๆ เราจะรู้ได้เลยว่า อะไรที่มีค่ากว่ากัน เราจะเก่งทางโลกสักเท่าไร จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเคมี เป็นนายแพทย์มีชื่อเสียง ผ่าตัดหัวใจอะไร เราก็ไม่พ้นจากเกิดแก่เจ็บตาย ที่จะไม่ต้องเกิดแล้ว เกิดเล่า แล้วเกิดมาก็อะไรบ้าง ก็เห็น ก็ได้ยิน ก็ได้กลิ่น ก็ลิ้มรส ก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตั้งแต่เกิดมากี่วันๆ ก็วนเวียนอยู่อย่างนี้ แล้วเรื่องราวก็เปลี่ยนไปตามความคิดนึก ทั้งๆ ที่เห็นก็เห็น วันนี้เรานั่งอยู่ที่นี่ กำลังคิดอย่างนี้ ถ้าพรุ่งนี้เรากลับมาที่นี่อีก เราก็อยู่ตรงนี้อีก เห็นอย่างนี้อีก แต่ความคิดเราเปลี่ยนอีกเรื่องหนึ่งแล้ว นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย มีอยู่ไม่ได้หายไปไหน ต้องมี แล้วก็เรื่องราวต่างๆ ก็มาเรื่อยๆ แต่ว่าปัญญา ที่จะรู้ความจริงเมื่อไรเราจะรู้ เพราะฉะนั้น เราจะเกิดกี่ภพกี่ชาติ เมื่อวานนี้ก็เห็น วันนี้ก็เห็น ต่อไปก็เห็น แล้วก็คิดไป ก็อยู่แค่นี้ คิดเรื่องแพทย์ก็ได้ คิดเรื่องไหนก็คิดได้ทั้งนั้น คิดเรื่องวิชาการต่างๆ แต่ไม่ใช่ปัญญาที่จะรู้ ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ต่อไปก็คงจะทราบว่า อะไรที่จะมีค่าที่สุดในชีวิต ยิ่งกว่าอย่างอื่น อะไรมาแลกก็ไม่เอา ทั้งโลก ไม่ใช่ แต่จะเป็นวิชาหนึ่ง วิชาใดเท่านั้น

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ เรียนธรรม แล้วมันจะช่วยในทางโลกหรือให้เรารู้มากขึ้น เราจึงเป็นคนที่ละเอียดมากกว่าคนอื่นเขา

    ท่านอาจารย์ มีวิชาความรู้หลายอย่าง แต่ความรู้ที่ทำให้เรารู้จักตัวเราเอง จะดีไหม คือโดยมากเรารู้ไกลตัว เรื่องราวต่างๆ วิชาต่างๆ แต่ตัวเราอยู่ที่นี่แท้ๆ ไม่เคยรู้จักเลย ถ้าเราสามารถ ที่จะรู้จักตัวเรา เราก็จะรู้จักว่าเราฉันใด คนอื่นก็ฉันนั้น ความติดข้องเหมือนกันหมดเลย ไม่ว่าเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ สุนัข สัตว์ต่างๆ เวลาที่มีโลภะ มีความต้องการ มีความติดข้อง ก็คือลักษณะอย่างนี้แหละ คือไม่ปล่อย มีความต้องการในสิ่งนั้น ถ้าเป็นลักษณะโทสะ เป็นความขุ่นใจ อยู่ที่ไหนก็เหมือนกันหมด แล้วความขุ่นใจ ไม่พอใจ ไม่สบายใจ มีรูปลักษณ์อาการต่างๆ หลายอย่าง ความกลัว ความตกใจ ความรังเกียจ ความเจ็บ อะไรก็สารพัดอย่าง ซึ่งก็เป็นสภาพธรรม ที่มีจริง แล้วทุกคนก็มีเหมือนกันหมด โลภะ ของคนนี้จะเป็นอย่างหนึ่ง แล้วของอีกคน จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้ โลภะ คือความติดข้อง แต่ว่าอาจจะติดข้องในหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งต่างกันได้ แต่ถ้าเรารู้จักสภาพธรรม ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา โดยละเอียดทะลุปรุโปร่ง เราก็สามารถจะรู้จักคนอื่นชัดเจน ว่าเราอย่างนี้ เรารู้จักสภาพธรรมอย่างนี้ เมื่อสภาพธรรมอย่างนี้ เกิดกับใครก็คือ เราเข้าใจแล้วว่าขณะนั้นเขาเป็นอะไร เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จักตัวเอง ก็จะทำให้เรา แก้ตัวของเราได้ โดยที่เรารู้ว่า ตรงไหนที่ไม่ดี แล้วยังอยากจะเป็นคนที่ไม่ดี ซึ่งจะทำให้มีความทุกข์ หรือว่าอยากจะเป็นคนที่ดีขึ้นๆ ดีจนกระทั่งสามารถที่จะหมดกิเลสได้ นี้ก็เป็นเรื่องที่ว่าวิชาอื่นไม่สามารถจะทำให้เรารู้จักตัวเอง แต่พระธรรมจะทำให้เรารู้จักสภาพธรรม ไม่เฉพาะแต่ที่ตัวเราทุกอย่าง ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราให้สิ่งของ ให้คนนั้น ก็คือไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า ที่ให้เขาไป เพราะว่ากลัวว่า ถ้าเราให้ไป สุดท้ายก็ยึดมั่นในสิ่งของนั้น มันต้องทำอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ โดยมากเราจะคิดถึงคนอื่น แต่ว่าเราไม่ได้คิดถึง เรา หรือสภาพจิตของเราในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เรื่องที่เวลามีคนอื่น เป็นเรื่อง คิดนึกทั้งหมด แล้วก็จริงๆ แล้วไม่มีใครสามารถที่จะละ ความติดข้องได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดตามลำดับขั้น ถ้าไม่ถึงความเป็นพระอนาคามี ละความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสไม่ได้ อันนี้เป็นของที่แน่นอน จะเกิดขึ้นช้าหรือเร็ว มากหรือน้อย ตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่ได้หมายความว่า การที่เราให้เขาน้อย ให้เขาของไม่ดี หรือไม่ให้เขา แล้วเขาจะไม่มีความติดข้อง และข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า เรามักจะลืม ว่าแท้ที่จริง เราอยู่คนเดียว โลกของเราใบเดียว ขณะนี้กำลังเห็น ชั่วขณะหนึ่งดับ แล้วก็มีการคิดนึกเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดนึกเรื่องอื่น ขณะนั้นจะมีความเป็นเราเป็นเขา เป็นตัวเป็นตน ต้องอบรมปัญญาจริงๆ จนกว่าจะรู้ว่า ความจริงแท้คือทุกคน กำลังอยู่ในจิตแต่ละขณะที่กำลังเกิดดับเท่านั้นเอง จุดประสงค์ของการให้คืออะไร

    ผู้ฟัง อยากให้เขามีความสุข

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า เป็นกุศลหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เวลาที่กุศลจิตเกิด เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ดี แต่บางครั้งเราให้เขา แต่เราก่อปัญญหาให้เขา

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจิตที่เป็นกุศลดับแล้ว แล้วมีจิตเห็นแล้ว แล้วก็คิดนึกเรื่องต่างๆ เราไปยุ่งเกี่ยวกับโลกอื่น แล้วเราก็ไปพยายามจัดการโลกอื่น แต่เราลืมว่าโลกไหนๆ ที่จะหมดกิเลสได้ ต้องเพราะปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาเกิดก็ไม่มีทาง ไม่ว่าโลกเขา โลกเรา

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราให้เขามาก สุดท้ายกลายเป็นว่า เขาเป็นคนที่เปลี่ยนเลย เพราะเขา ต้องการ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าเรา ไม่ใช่เรื่องของเรา

    ผู้ฟัง ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่เราเป็นคนที่ก่อสาเหตุ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ถึงเราไม่ให้ เขาก็เป็นอย่างนั้นได้ ทำไมจะไปคิดว่าเพราะเรา เพราะเขามีเชื้อของความติดข้อง ที่จะเกิดขึ้นมากน้อยเท่าไร ตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง เราเป็นคนที่ก่อปัจจัยนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เราคิดถึงว่าขณะนั้น จิตเราเป็นอะไร ถ้าเป็นกุศลก็จบ ไม่ต้องไปคิดอื่นอีก ถ้าขณะไหนกังวลเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศล ต้องทราบลักษณะของจิตที่เป็นกุศล หรืออกุศล ไม่อย่างนั้น ปัญหาไม่จบ คุณชิน จากคนหนึ่งไปอีกคน ไปอีกคน ไม่มีวันจบเลย แต่ถ้าเราหยุดอยู่ที่สภาพธรรม แล้วรู้ความจริงของสภาพธรรม จะค่อยๆ แก้ปัญหาทุกอย่าง ว่าเราจัดการใครไม่ได้ ไม่ว่าคนนั้น จะเป็นที่รัก หรือที่ชัง ทุกคนเป็นไปตามการสะสม เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีจิตที่เป็นกุศล คือมีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา ขณะนั้นก็เป็นโลกที่เป็นกุศล โลกอื่นจะเป็นอย่างไร เขาก็จะต้องสะสมกุศลของเขาไป ถึงแม้ว่าจะเป็นกุศลประเภทที่ทำให้เกิด ด้วยทาน ด้วยศีล พวกนี้ ก็ไม่สามารถที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ เพราะฉะนั้น กุศลที่ประเสริฐกว่ากุศลอื่น ก็คือกุศลที่สามารถที่จะทำให้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วไม่ต้องมีปัญหาอย่างนี้อีก เมื่อเห็นสภาพธรรม ตามความเป็นจริงคุณชิน ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องคนโน้น คนนี้จะไปติดไปข้องเพราะเราหรืออะไรๆ ก็ไม่มีเลย

    ผู้ฟัง ชินพยายามอธิบายให้ทุกคนฟัง แต่เขาก็ไม่ฟัง สุดท้ายเราก็ทำอะไรไม่ได้ แต่อะไรที่เป็นกุศลพื้นๆ ก็คิดว่า เราทำได้เราก็ให้เขาไป แต่ก็กลายเป็นว่าทำให้เขาเสียนิสัย

    ท่านอาจารย์ ไม่ เขาเสียแน่นอน เพราะเขามีเหตุที่จะให้เสีย จะเราให้ หรือไม่ให้ก็เหมือนกัน

    ผู้ฟัง มื่อเช้าก่อนจะออกจากบ้าน กำลังจะรับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ จากญาติผู้หนึ่ง ที่เขาป่วยมาก ตอนนี้เขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คือสาเหตุลูกเขา ๒ คน สามีภรรยา เขาจะไม่พูดกัน เวลาเขาทำอะไร จัดการไม่ถูกต้อง คือลูกเขาเป็นลูกชาย แต่สะใภ้ เขาจะมาขอความช่วยเหลือ แต่ฉันเองว่า ป้าช่วยพูดให้หน่อยได้ไหม เขาทำตัวไม่ถูก อะไรอย่างนี้ เราก็มานั่งนึก ได้ยินตรงนี้ว่า มันก็ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับเขา แต่นี้มัน ในเมื่อว่าเราเคยทำมาจนเคยชินแล้ว จะหาทางออกได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ได้หมายความว่า เราจะขาดเมตตาหรือว่าไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับใคร แต่หมายความว่าเรา จะต้องเข้าใจถูก การยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น การเกี่ยวข้องกับคนอื่น มี ๒ สถาน โดยฐานะที่เราผูกพัน ซึ่งจะทำให้เราเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง เพราะว่าเวลาที่เราเกี่ยวข้องกับใคร พอมีเพื่อนเราก็รักเพื่อน มีพี่มีน้องก็รักพี่รักน้อง รักไปหมด เกี่ยวข้องไปหมด ทำให้เราเป็นทุกกข์ แต่ถ้าเราเข้าใจการเกี่ยวข้อง ไม่มีทางที่ ใครเกิดมาในโลก แล้วจะไม่เกี่ยวข้องกับใคร แต่ว่าเกี่ยวข้องด้วยกุศลจิต หรือด้วยอกุศลจิต ก่อนนี้เราเคยเกี่ยวข้องด้วยอกุศลจิต ด้วยความผูกพัน แต่พอเราศึกษาธรรมแล้ว เห็นโทษ แล้วก็รู้ว่า ขณะใดที่เราผูกพัน วันหนึ่ง เราต้องเป็นทุกข์ เพราะความผูกพันนั้น แต่ถ้าเรามีเมตตาเราจะไม่มีความทุกข์เพราะเมตตาเลย เพราะขณะนั้น เป็นความหวังดีที่จะช่วยคนอื่น ให้ได้รับความสุข อะไรจะเกิดขึ้น จบ เพราะว่าเมื่อจิตของเราเป็นกุศลแล้ว ทำแล้ว พอแล้ว ไม่ต้องคิดก้าวไกลไปจนถึงว่าแล้วต่อไปเขาจะเป็นอย่างไร เราจะเป็นทุกข์ หรืออะไรต่างๆ นั่นคือความคิด แต่ว่าถ้าเราไม่มีความผูกพัน เราช่วยด้วยเมตตา แล้วเราไม่หวังสิ่งหนึ่ง สิ่งใด นั้นคือเมตตา แต่ถ้ามีความผูกพัน เราหวัง อย่างน้อยที่สุดให้เขาเชื่อเรา ให้เขาทำอย่างที่เราบอก หรือว่าให้เขาเป็นคนดี หรืออะไรก็ตามแต่ นั่นคือความหวัง แต่ถ้าเราทำโดยไม่หวัง แล้วเรารู้ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็คือ ตามการสะสมของเขา เราก็ไม่มีทางจะเป็นทุกข์ เพราะใครทั้งนั้น

    ผู้ฟัง แต่จริงๆ เจตนา ก็คิดว่าทำเพื่อว่าเป็นความผูกพัน แต่ไม่ได้หวังอะไร แต่เพียงแต่ว่า จะว่าไม่หวัง

    ท่านอาจารย์ ผูกพันนั่นหวัง ถ้าไม่ผูกพัน คือ อะไรจะเกิดกับเขา ก็ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ถ้าผูกพัน คืออยากจะให้เขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตามที่เราช่วยเขา นั่นคือผูกพัน

    ผู้ฟัง คือว่าเราทำมากับมืออย่างนี้ จนชินอย่างนี้ สมควรจะ

    ท่านอาจารย์ เราค่อยๆ เข้าใจว่า แต่ก่อนนี้เรามีโลภะ ความผูกพัน เดี๋ยวนี้เราจะมีเมตตา

    ผู้ฟัง ถูกต้องทุกอย่างที่อาจารย์ พูดมาเลย

    ท่านอาจารย์ เพราะเรารู้ว่าจะทำให้เกิดทุกข์ ถ้าเรายังผูกพันอยู่ แล้วการที่จะไม่ผูกพันก็รู้ว่าแต่ละคน ก็เป็นสภาพธรรม ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 100
    23 มี.ค. 2567